“ทำไมถึงร้อนได้ขนาดนี้” คงเป็นประโยคที่หลายๆ คนมักจะพูดกันในช่วงนี้ อย่างไรก็ดี เชื่อว่าพวกเราส่วนใหญ่น่าจะรู้กันดีว่าเพราะเหตุใด ซึ่งก็คือภาวะโลกเดือดนั่นเอง นอกจากนี้ นักวิจัยเพิ่งออกมาประกาศว่า ภูมิภาคที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ เอเชีย แอฟริกา และอเมริกาตะวันตก
อย่างไรก็ตาม The MATTER ขอรับหน้าที่พาทุกคนไปหาคำตอบอย่างละเอียดว่า ทำไมจู่ๆ ปี 2024 ถึงมีอากาศที่ร้อนได้ถึงเพียงนี้ พร้อมกับพาไปสำรวจวิธีการปรับตัวและหยุดยั้งไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปกว่านี้
1. 2024 เป็นปีที่โลกของเรากำลังรับมือกับปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่าง ‘เอลนีโญ (El Niño)’ ที่เกิดขึ้นมาสักระยะหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์นี้ทำให้อุณหภูมิในมหาสมุทรอุ่นขึ้น จนไปกระตุ้นให้เกิดภัยพิบัติมากมาย เช่น อุทกภัย ภัยแล้ง
ซึ่งประเทศที่อยู่ในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกที่เน้นทำเกษตรกรรมเป็นหลัก จะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะในเดือนเมษายนและพฤษภาคม หรือ ช่วงเวลาที่ร้อนที่สุด
2. ทว่าความรุนแรงของความร้อนในปีนี้ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยกให้ปี 2024 เป็น ‘จุดเปลี่ยนของสิ่งแวดล้อม’ เนื่องจากเดิมทีที่โลกของเราประสบกับภาวะโลกเดือดอยู่แล้ว
แต่ยังไปผนวกเข้ากับกลไกความร้อนของเอลนีโญ ที่ถือเป็นปัจจัยสําคัญในการกำหนดระบบภูมิอากาศโลก จนส่งผลให้วิกฤตภูมิอากาศทวีความรุนแรงขึ้นหลายเท่าตัว
3. ดังนั้น นักวิจัยจึงคาดการณ์ว่า 2024 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมาในรอบ 1 หมื่นปี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเอลนีโญที่เป็นตัวการสำคัญในการช่วยเพิ่มอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก จนตอนนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรม (ก่อนปี 1760) เกือบ 1.5 องศาเซลเซียสแล้ว
แต่นักวิจัยคาดเดาว่า อุณหภูมิโลกอาจจะสูงถึง 1.7 องศาเซลเซียสในปี 2025 และหลังจากนั้นอาจลดลงเหลือ 1.4 องศาเซลเซียส เพราะปรากฏการณ์เอญนีโญสิ้นสุดลง อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิก็ยังจะสร้างผลกระทบมหาศาลต่อรูปแบบสภาพอากาศ ระบบนิเวศ และการใช้ชีวิตของมนุษย์อยู่ดี
4. และขณะนี้คลื่นความร้อนดังกล่าวกำลังแผดเผาผู้คนในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนมีการแจ้งเตือนให้ระวังคลื่นความร้อนที่พุ่งสูง เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งประเทศที่รัฐบาลได้ประกาศคำเตือนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ไทย บังกลาเทศ และอินเดีย
5. ฉะนั้น ตอนนี้มีผู้คนหลายล้านคนกําลังเผชิญกับอุณหภูมิที่ร้อนระทม โดยอากาศที่ร้อนผิดปกติ ทำให้โรงเรียนหลายพันแห่งทั่วฟิลิปปินส์จำเป็นต้องหยุดการเรียนการสอน และกว่าอีก 40 จังหวัดทั่วประเทศกําลังเผชิญกับภัยแล้ง
6. ส่วนทางการไทย ออกมากล่าวว่า ในปีนี้มีผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดด 30 รายแล้ว และคาดการณ์ว่าตัวเลขอาจเพิ่มสูงขึ้นกว่านี้ ทำให้รัฐบาลจึงจำเป็นต้องให้ประชาชนพยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง อย่างเมื่อวันพุธ (24 เมษายน) ที่ผ่านมา กรุงเทพฯ มีอุณหภูมิสูงถึง 40.1 องศาเซลเซียส และอีกวันถัดมาดัชนีความร้อนอยู่ที่ 52 องศาเซลเซียส
7. ทั้งนี้ อุณหภูมิที่สูงผิดปกติส่งผลกระทบกับผู้คนในกลุ่มคนเปราะบางมากที่สุด เพราะพวกเขาไม่อาจจะหลีกเลี่ยงอากาศที่ร้อนจัดได้ เช่น คนยากจน คนไร้บ้าน แรงงานก่อสร้าง
“ผู้นำทั่วโลกจําเป็นต้องลดอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นอย่างเร่งด่วน เพราะความยากจน ความไม่เท่าเทียมกัน และการเลือกปฏิบัติ มีแนวโน้มแย่ลงกว่าเดิม” ชูมอน เซนกุปตา (Shumon Sengupta) ผู้อํานวยการ Save the Children International ของบังกลาเทศ กล่าว
8. ล่าสุดองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ระบุว่า “เอเชียเป็น ‘ภูมิภาคที่ประสบภัยพิบัติมากที่สุดในปี 2023’ เนื่องจากสภาพอากาศและสภาพภูมิอากาศ ที่แปรปรวน” ซึ่งน้ําท่วมและพายุทําให้เกิดการบาดเจ็บล้มตาย รวมถึงกระทบกับระบบเศรษฐกิจมากที่สุด ซึ่งในปีนี้เอเชียก็กำลังพบกับชะตาคล้ายเดิม
แนวทางการปรับตัวและแก้ไข?
9. เริ่มต้นที่ ‘เอลนีโญ’ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่ผลกระทบของมันสามารถบรรเทาได้ด้วยการมีมาตรการในการปรับตัว อาทิ ระบบพยากรณ์และการเตือนภัยล่วงหน้า ที่ถือมีบทบาทสําคัญในการคาดการณ์เอลนีโญและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ ด้วยการให้ผู้คนทําความเข้าใจรูปแบบและกลไกของมัน
10. นอกจากนี้ รัฐบาลสามารถดําเนินการเชิงรุกเพื่อลดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ เช่น การจัดการทรัพยากรน้ําอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตร
ไม่เพียงเท่านั้น ความร่วมมือระหว่างประเทศก็มีความสําคัญเช่นกัน เพราะทั่วทุกมุมโลกต่างได้รับผลกระทบจากเอลนีโญ ดังนั้นการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง
11. ท้ายที่สุดแล้ว วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่มีปรากฏการณ์เอลนีโญรวมอยู่ด้วย เป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้เห็นถึงความจําเป็นในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกเดือดอย่างยั่งยืน เช่น ควรเอาจริงเอาจริงกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนแทน
ทั้งนี้ อาจพูดได้ว่า ปี 2024 ทำให้มนุษย์ (บางส่วน) เห็นถึงผลกระทบจากการเมินเฉยต่อโลก ที่ถือเป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตนับไม่ถ้วน ดังนั้น การร่วมมือกันในทุกภาคส่วนจึงเป็นสิ่งจำเป็น และต้องรีบลงมือทำอย่างเร่งด่วน ไม่งั้นในอนาคตอันใกล้โลกของเราจะเกิดภัยพิบัติที่ร้ายแรงมากขึ้น ตั้งแต่คลื่นความร้อนไปจนถึงน้ําท่วมและไฟป่า
อ้างอิงจาก