เมื่อความเสมอภาคทางเพศ เป็นแนวคิดกระแสหลักของโลกสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโลกที่เจริญแล้ว จะด้วยกระแสเรียกร้องสิทธิสตรี กระแสสตรีนิยมคลื่นลูกใหม่ กระแสสิทธิมนุษยชน หรือแม้แต่ปรากฏการณ์ของกระแส #MeToo อันเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิดการปฏิวัติบรรทัดฐานและการต่อสู้กับการกดขี่คุกคามจากสังคมชายเป็นใหญ่ และความเหลื่อมล้ำทางเพศในทุกๆ วงการอย่างกว้างขวาง ไม่เว้นแม้แต่วงการศิลปะ
สถาบันทางศิลปะอย่างพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ย่อมต้องหันมาทบทวน ปรับเปลี่ยนทิศทางและทัศนคติในการคัดสรรและจัดแสดงผลงาน จากพื้นที่ที่แสดงแต่เพียงผลงานของศิลปินเพศชายเป็นหลัก ก็หันมาเริ่มให้พื้นที่แก่ศิลปินเพศหญิง ผู้เคยถูกมองข้ามหรือเบียดบังไปจากโลกศิลปะกระแสหลักมากขึ้น
ไม่เพียงศิลปินหญิงร่วมสมัยจะมีโอกาสทางวิชาชีพ มีบทบาทและที่ทางในโลกศิลปะมากขึ้นเท่านั้น หากแต่เหล่าบรรดาศิลปินหญิงในอดีต ผู้เคยถูกเพิกเฉย ละเลย และบดบังอยู่ภายใต้เงื้อมเงาของศิลปินเพศชาย จนตกสำรวจไปในหน้าประวัติศาสตร์ศิลปะ ก็ถูกกลับไปเสาะแสวงหา สำรวจ ตรวจสอบ และพลิกพื้นคืนชีวิตแก่ผลงานและเรื่องราวของพวกเธอให้กลับมาเป็นที่รู้จักกันในหมู่สาธารณชนอีกครั้งด้วยเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็น ในปี 2018 ที่หอศิลป์แห่งชาติ (National Gallery) กรุงลอนดอน ที่ซื้อภาพวาด Self-Portrait as Saint Catherine (1615 – 17) มูลค่า 3.6 ล้านปอนด์ หรือ 4.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ของศิลปินหญิงชาวอิตาเลียนยุคบาโร้ก (Baroque) อาร์ทิมีเซีย เจนทิเลสกี (Artemisia Gentileschi) จิตรกรหญิงผู้มักวาดภาพตัวละครเอกหญิงสุดเข้มแข็งที่เปี่ยมความรุนแรงจากตำนานศาสนาและเทพปกรณัมคลาสสิกโบราณ
ผลงานของเธอมักจะเล่นกับการตัดกันระหว่างแสงสว่างกับความมืดอย่างจัดจ้าน ซึ่งได้รับอิทธิพลอย่างมากจากจิตรกรชั้นครูในยุคบาโร้กอย่าง คาราวัจโจ (Caravaggio) หนำซ้ำเธอยังวาดภาพ Judith Slaying Holofernes (1620) ที่หยิบเอาเหตุการณ์ในคัมภีร์ไบเบิ้ลของจูดิธ วีรสตรีชาวยิว ผู้ตัดหัว โฮโลเฟอร์เนส แม่ทัพชาวบาบิโลนบนที่นอน เช่นเดียวกับที่คาราวัจโจเคยวาดจนกลายเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของเขา แต่เวอร์ชั่นของเธอนั้นนองเลือดและดูสมจริงสมจังกว่า (ว่ากันว่าเธอศึกษาลักษณะการกระฉูดของเลือดจากบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ กาลิเลโอ (Galileo Galilei) ซึ่งเป็นคนร่วมยุคร่วมสมัยเดียวกันกับเธอ) ถามว่าสมจริงแค่ไหน? ก็ขนาดที่ผู้ว่าจ้างเธอให้วาดภาพนี้ไม่กล้าเอาภาพของเธอขึ้นแสดงบนผนังน่ะนะ!
ที่สำคัญ เจนทิเลสกียังเป็นผู้หญิงไม่กี่คนในยุคนั้น ที่กล้าขึ้นศาลฟ้องร้องผู้ชายที่ข่มขืนเธอในวัย 18 ปี ผู้ชายคนนั้นก็ไม่ใช่คนอื่นไกล เป็นศิลปินที่พ่อของเธอจ้างมาทำงานและสอนเธอวาดภาพ หลังจากผ่านการพิจารณาคดี การตรวจสอบทางสูตินรีเวชอันเจ็บปวดและน่าอับอายเพื่อพิสูจน์หลักฐานการถูกข่มขืนต่อหน้าผู้พิพากษา และการประณามหยามเหยียดจากชายที่ข่มขืนเธอ ในที่สุดเธอก็ชนะคดี ถึงแม้ผู้ต้องหาที่ข่มขืนเธอจะติดคุกไม่ถึงปี และถูกว่าจ้างให้กลับมาทำงานกับพ่อของเธออีกในภายหลังก็ตาม
ภาพวาด Self-Portrait as Saint Catherine ที่ว่านี้ เป็นภาพวาดตัวเองของเจนทิเลสกี ผู้สวมบทบาทเป็น นักบุญแคเธอรินแห่งอเล็กซานเดรีย นักบุญมรณสักขี (คริสต์ศาสนิกชนที่ถูกทรมานจนตายหรือถูกประหารชีวิตเพราะไม่ยอมละทิ้งศรัทธาทางศาสนา) ในศตวรรษที่ 4 ยืนพิงกงล้อดาบ ซึ่งเป็นเครื่องมือทรมานที่มีตำนานเชื่อมโยงกับนักบุญผู้นี้ (ตำนานกล่าวว่าอเล็กซานเดรียถูกสั่งให้ลงทัณฑ์ทรมานและประหารชีวิตด้วยเครื่องมือชิ้นนี้ แต่เมื่อเธอสัมผัสกงล้อก็หักสะบั้นลง ท้ายที่สุดเธอจึงถูกประหารด้วยการตัดศีรษะแทน) ผลงานชิ้นนี้ถูกวิเคราะห์ว่าเป็นการอ้างอิงถึงประสบการณ์ที่เธอต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงทางเพศ และความเจ็บปวดอับอายที่เธอได้รับจากการพิจารณาคดีดังกล่าว
การซื้อและสะสมผลงานของเจนทิเลสกีในหอศิลป์แห่งชาติ ถือเป็นการรื้อฟื้นคืนชื่อเสียงของเธอในฐานะศิลปินหัวก้าวหน้าผู้เปี่ยมสีสันที่สุดในยุคสมัยของเธอ และเป็นหนึ่งในผู้หญิงไม่กี่คนที่สามารถทำลายกรอบข้อจำกัดในยุคนั้น ด้วยการเอาชนะความเหลื่อมล้ำและค่านิยมอันคับแคบที่มีต่อเพศหญิงในวงการศิลปะและประสบความสำเร็จในฐานะจิตรกรได้ในที่สุด
เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์รอแด็ง (Musée Rodin) ที่สะสมและจัดแสดงผลงานของประติมากรเอกแห่งยุคโมเดิร์นและอิมเพรสชันนิสม์ โอกุสต์ รอแด็ง (Auguste Rodin) ที่เพิ่งจัดนิทรรศการพิเศษในปีนี้ที่มีชื่อว่า FACE TO FACE
ด้วยความที่ในปี 2024 เป็นปีครบรอบ 160 ปีชาติกาลของ คามิล คลอเดล (Camille Claudel) ประติมากรหญิงผู้สมัครเข้าทำงานในสตูดิโอของรอแด็งในช่วงต้นยุค 1880 หลังจากนั้นไม่นาน ลูกศิษย์และผู้ช่วยสาวเลอโฉมผู้นี้ก็กลายเป็นทั้งผู้ช่วย นางแบบคนโปรด และชู้รักของรอแด็ง การได้คลุกคลีกับประติมากรระดับปรามาจารย์ผู้นี้ ทำให้คลอเดลได้พัฒนาพรสวรรค์ของเธอยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนกล่าวได้ว่าฝีไม้ลายมือของเธออาจเทียบเคียงกับรอแด็งได้เลยด้วยซ้ำ
แต่ชะตากรรมของเธอช่างน่าเศร้า เพราะที่แทนที่เธอจะมีโอกาสในการสร้างชื่อเสียงในฐานะศิลปิน รอแด็งกลับตัดหนทางในการเป็นศิลปินของเธอ จะด้วยความริษยา กลัวดังข้ามหน้าข้ามตา หรืออะไรก็แล้วแต่ ว่ากันว่าคลอเดลถูกรอแด็ง Gaslighting หรือปั่นหัวจนเสียสติ เธอยังกล่าวว่ารอแด็งขโมยไอเดียของเธอไปใช้ทำงานชิ้นสำคัญหลายชิ้นอีกด้วย หลังจากมีอาการป่วยทางจิต เธอทำลายผลงานของตัวเองหลายชิ้น และใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายในโรงพยาบาลผู้ป่วยทางจิตและจบชีวิตที่นั่นในท้ายที่สุด
หลังจากที่เธอเสียชีวิตอย่างน่าเศร้าและไร้ชื่อเสียง อีกหลายทศวรรษต่อมา มีนักประวัติศาสตร์ศิลปะสายสตรีนิยมรื้อฟื้นเรื่องราวและผลงานของเธอจนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เรื่องราวของเธอถูกเอาไปเขียนเป็นนวนิยาย และสร้างเป็นหนังหลายเวอร์ชัน ที่โด่งดังที่สุดคือ Camille Claudel (1988)
ในปี 2017 ยังมีการสร้างพิพิธภัณฑ์ Musée Camille ขึ้นที่เมือง Nogent-sur-Seine บ้านเกิดของเธอ และผลงานของเธอยังได้รับการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำหลายแห่งทั่วโลก รวมถึงพิพิธภัณฑ์รอแด็ง ของศิลปินที่อาจารย์ผู้ตัดโอกาสทางอาชีพและผลักเธอก้าวสู้ความสิ้นหวัง
การจัดแสดงผลงานของคลอเดลเผชิญหน้า (FACE TO FACE) กับผลงานของรอแด็งในพิพิธภัณฑ์รอแด็งเช่นนี้ ราวกับจะเป็นการกู้ชื่อเสียงและรื้อฟื้นความเป็นอัจฉริยภาพของเธอให้เป็นที่รับรู้ของผู้คนก็เป็นได้
หรือพิพิธภัณฑ์แห่งชาติปิกัสโซ-ปารีส (Musée National Picasso-Paris) ที่จัดแสดงผลงานของ ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ชาวสเปน ก็มีนิทรรศการที่นำเสนอเรื่องราวและผลงานของศิลปินหญิงที่เผชิญหน้ากับภาวะชายเป็นพิษจากปิกัสโซด้วยเหมือนกัน
ไม่ว่าจะเป็น ดอรา มาร์ (Dora Maar) ศิลปินหญิงชาวฝรั่งเศสผู้เป็นนางแบบและคู่รักของปิกัสโซ เธอถูกศิลปินใหญ่ผู้มากรักหลายใจผู้นี้ย่ำยีจิตใจจนต้องหลั่งน้ำตาด้วยความชอกช้ำระกำทรวงเสมอ จนเธอกลายเป็นนางแบบในภาพวาด The Weeping Woman (1937) หรือ ‘ผู้หญิงร่ำไห้’ อันลือเลื่องของเขา ปิกัสโซยังเคยกล่าวถึงเธอว่า
“สำหรับผม เธอเป็นผู้หญิงเจ้าน้ำตา ตลอดเวลาหลายปีที่ผมวาดรูปเธอในรูปร่างบิดเบี้ยว ผมไม่ได้วาดเธอด้วยความซาดิสม์ หรือความพึงพอใจ ผมแค่เคารพภาพลักษณ์ของเธอที่แสดงตัวตนออกมาให้ผมเห็น มันเป็นความจริงอันเที่ยงแท้ ไม่ปรุงแต่งผิวเผิน สำหรับผม ดอรามักจะเป็นผู้หญิงเจ้าน้ำตา… และนั่นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะผู้หญิงเป็นเครื่องจักรสำหรับความทุกข์ทรมาน”
อันที่จริงแล้ว ดอรา มาร์ เป็นอะไรมากกว่าแค่คู่รักและนางแบบของปิกัสโซ เพราะเธอเป็นทั้งช่างภาพ จิตรกร และกวีผู้มีผลงานโดดเด่น ก่อนที่จะพบกับปิกัสโซ ดอรา มาร์ เป็นศิลปินภาพถ่ายหัวก้าวหน้า ผู้ใช้เทคนิคการตัดต่อภาพ (Photomontage) ในการสร้างผลงานอันหาญกล้า แหวกแนว และน่าพิศวง ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความฝันและจิตใต้สำนึก เธอเป็นศิลปินภาพถ่ายรุ่นบุกเบิกของกลุ่มเซอร์เรียลลิสม์ แต่ชื่อเสียงและผลงานของเธอกลับถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย เพียงเพราะเธอได้ชื่อว่าเป็นผู้หญิงของปิกัสโซเท่านั้น
ในฐานะช่างภาพผู้เปี่ยมพรสวรรค์ ดอรา มาร์ สร้างผลงานที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดจากเรื่องราวความเป็นจริงบนท้องถนนอันเฉียบคมราวกับบทกวี ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงเหล่านั้นให้กลายเป็นเรื่องเหนือจริงอันหลุดโลก เธอมีความสามารถอันยิ่งยวดในการใช้แรงขับจากสภาวะอันยุ่งเหยิงที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจ และความปรารถนาที่จะหลุดพ้นจากมัน ให้กลายเป็นผลงานอันน่าพิศวง น่าเสียดายที่เธอเลิกทำงานถ่ายภาพนับตั้งแต่ครั้งที่เธอเริ่มมีความสัมพันธ์กับปิกัสโซ เพราะเขายืนกรานว่า ช่างภาพทุกคนเป็นเพียงแค่จิตรกรผู้รอคอยที่จะเปิดเผยตัวเองออกมาเท่านั้น การเป็นชู้รักของปิกัสโซ ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่และทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งตั้งแต่ช่วงปี 1935-1945 ทำให้มาร์กลายเป็นเพียงนางแบบและแรงบันดาลใจในการทำงานให้เขาแต่เพียงเท่านั้น
น่าเศร้าที่หลังจากความสัมพันธ์ 9 ปี อันแสนทรมานของเธอกับปิกัสโซสิ้นสุดลง จิตใจของเธอก็พังทลายอย่างกอบกู้ไม่ได้ เธอหลีกหนีหายหน้าออกจากสังคม ย้ายจากปารีสไปอาศัยอยู่ในชนบทอันห่างไกล ปลีกตัวทำงานศิลปะอย่างโดดเดี่ยวลำพัง โดยทำแต่งานภาพวาดนามธรรม ภาพทิวทัศน์ และภาพหุ่นนิ่งอันเศร้าสร้อย เธอกลายเป็นคนสันโดษและอุทิศตัวให้กับความเป็นคริสต์ศาสนิกชนอย่างเคร่งครัด ผลกระทบจากความสัมพันธ์อันเลวร้ายกับปิกัสโซ ทำให้เธอใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ภายใต้เงื้อมเงาของถ้อยคำกดขี่หยามเหยียดของเขา และไม่เคยกลับไปทำงานถ่ายภาพอันเป็นสื่อทางศิลปะที่ส่องประกายอัจฉริยภาพอันน่าพิศวงของเธอให้เจิดจ้าอีกเลย จนกระทั่งเธอเสียชีวิตในปี 1997
ถึงแม้ ดอรา มาร์ จะถูกจดจำอย่างผิดๆ ในฐานะนางแบบ และชู้รักผู้ตกเป็นเหยื่อในความสัมพันธ์อันทุกข์ทรมานกับปิกัสโซ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผลงานของเธอส่งอิทธิพลทางความคิดต่อคนรุ่นหลังอย่างมาก ดอรา มาร์ ถูกยกให้เป็นศิลปินภาพถ่ายเซอร์เรียลลิสต์ที่โดดเด่นที่สุดในยุคสมัย ด้วยการนำเสนอความงามแบบเซอร์เรียลลิสม์อันน่าพิศวง พรั่นพรึง เต็มไปด้วยความหลอนหลอกราวกับฝันร้าย หรือเปี่ยมด้วยความแฟนตาซีเหนือจินตนาการ ในขณะเดียวกันภาพของเธอก็ยังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยความงามด้วย ภาพของเธอสะท้อนตัวตนของเธออย่างเต็มเปี่ยม ในฐานะหนึ่งในศิลปินหญิงรุ่นใหม่ที่เสาะหาที่ทางของตัวเองในโลกศิลปะที่ถือครองโดยเพศชาย
ชื่อของ ดอรา มาร์ กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้งในฐานะศิลปินหญิงผู้บุกเบิกภาพถ่ายเซอร์เรียลลิสต์ ในนิทรรศการ Dora Maar ที่จัดแสดงผลงานย้อนหลัง ของเธอ ณ พิพิธพิพิธภัณท์ศิลปะ เทต โมเดิร์น (Tate Modern) ลอนดอน ในปี 2019 – 2020 ทำให้คนรักศิลปะหลายคนได้ชื่นชมอัจฉริยภาพอันเปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเธอ และจดจำเธอใหม่ในฐานะศิลปินช่างภาพผู้พลิกโฉมศิลปะภาพถ่ายแห่งยุคโมเดิร์น ผู้เป็นมากกว่าแค่ชู้รักเจ้าน้ำตาของปิกัสโซเท่านั้น
ในปี 2024 นี้ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติปิกัสโซ-ปารีส นอกจากจัดแสดงภาพวาดที่ปิกัสโซวาดเธอในฐานะนางแบบแล้ว ยังอุทิศพื้นที่ส่วนหนึ่งให้กับผลงานภาพถ่ายเซอร์เรียลลิสม์อันน่าพิศวงของเธออีกด้วย
ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติปิกัสโซ-ปารีส แห่งนี้ ยังจัดแสดงผลงานของ ฟรองซัวส์ จิโล (Françoise Gilot) คู่รักอีกคนของปิกัสโซ ที่ประสบกับภาวะชายเป็นพิษจากเขา เมื่อจิโลพบกับปิกัสโซครั้งแรกในปี 1943 ในช่วงที่นาซียาตราทัพบุกฝรั่งเศส เธอมีอายุ 21 ปี ส่วนปิกัสโซอายุ 61 ปี ในช่วงเวลานั้นปิกัสโซทิ้ง ดอรา มาร์ มาคบหาศิลปินที่สาวและสดกว่าอย่าง จิโล ผู้เป็นทั้งจิตรกรและศิลปินเซรามิคที่กำลังเบ่งบานในอาชีพ เธอประสบความสำเร็จกับนิทรรศการแสดงเดี่ยวก่อนหน้าที่จะพบกับปิกัสโซด้วยซ้ำ
ถึงแม้จะมีความสัมพันธ์กับศิลปินผู้ยิ่งใหญ่และเปี่ยมไปด้วยอัจฉริยภาพอย่างปิกัสโซ แต่จิโลก็ไม่ตกอยู่ภายใต้เงื้อมเงาของเขา เธอทำงานในสไตล์ของตัวเองด้วยความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยม ถึงแม้ปิกัสโซจะพยายามชี้นำให้เธอทำงานในสไตล์ของเขาอย่างแข็งขันก็ตาม เธอกล่าวว่า “ฉันยอมรับในสิ่งที่เขาทำ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าฉันต้องทำแบบเดียวกันกับเขา” เธอยังเป็นศิลปินหญิงเพียงไม่กี่คนที่ได้เซ็นสัญญากับนายหน้าค้างานศิลปะชื่อดังอย่าง แดเนียล-อองรี คานไวเลอร์ (Daniel-Henry Kahnweiler)
ทั้งคู่ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันเกือบ 10 ปี ถึงแม้จะไม่ได้แต่งงานกัน แต่พวกเขาก็มีลูกด้วยกัน 2 คนคือ โคล้ด(Claude) และ ปาโลมา (Paloma) ช่วงเวลาที่ทั้งคู่อยู่ร่วมกัน จิโลวาดภาพหนึ่งที่บรรยายความสัมพันธ์ของเธอกับปิกัสโซอย่าง Adam Forcing Eve to Eat the Apple II (1946) ที่เป็นภาพอดัมในท่าทีถมึงทึง ซึ่งเป็นตัวแทนของปิกัสโซ กำลังยัดผลแอปเปิ้ลเข้าปากอีฟ ซึ่งเป็นตัวแทนของเธออยู่ จิโลเรียกปิกัสโซว่า Bluebeard (เคราน้ำเงิน) ซึ่งไม่ใช่ชื่อที่เรียกด้วยความเสน่หา แต่ได้มาจากชื่อของฆาตกรต่อเนื่องชื่อดังชาวฝรั่งเศส เพื่อเสียดสีปิกัสโซว่าเขาต้องการตัดหัวของผู้หญิงทุกคนที่เขาคบหาเพื่อสะสมเอาไว้ในคอลเล็กชั่น
หลังจากต้องทนกับพฤติกรรมอันโหดร้ายทารุณทั้งร่างกายและจิตใจจากเขามาเนิ่นนานหลายปี ในที่สุด ในปี 1953 เธอก็กลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่กล้าเดินออกจากชีวิตเขา โดยพาลูกทั้ง 2 คนไปด้วย หลังจากแยกทางกัน ปิกัสโซทำลายข้าวของของเธอจนหมดสิ้น ทั้งผลงาน หนังสือ และจดหมายสำคัญจากมิตรสหาย เขาบอกเธอว่าเธอกำลังมุ่งหน้าไปยังทะเลทราย และพยายายามทำลายวิชาชีพศิลปินของเธอ เขาสั่งให้นายหน้าค้างานศิลปะทุกคนไม่ซื้อผลงาน และใช้เส้นสายของตัวเองบังคับให้หอศิลป์ไม่รับแสดงงานของเธอ จนเธอไม่สามารถแสดงผลงานในสมาคมศิลปินในปารีสหรือ Salon de Mai ราวกับเป็นอันธพาลในคราบศิลปินก็ไม่ปาน
11 ปี หลังจากแยกทางกัน เธอย้ายจากจิโลเขียนหนังสือ Life with Picasso ร่วมกับนักวิจารณ์ศิลปะ (Carlton Lake) ที่เล่าเรื่องราวชีวิตคู่ของเธอกับปิกัสโซออกมา และขายไปได้มากกว่า 1 ล้านเล่ม และถูกแปลออกมาในหลายภาษา ถึงแม้ปิกัสโซจะพยายามฟ้องร้องให้ยุติการจัดพิมพ์ และแบนหนังสือ แต่ก็ไม่เป็นผล ทำให้ปิกัสโซตัดสินใจตัดขาดจากลูกของเขาโดยสิ้นเชิง ในขณะที่จิโลใช้กำไรจากการขายหนังสือในการต่อสู้ฟ้องร้องเพื่อให้โคล้ดและปาโลมา เป็นทายาทที่ถูกต้องตามกฏหมายของปิกัสโซ
ในปี 1970 จิโลถอนตัวจากแวดวงศิลปะในฝรั่งเศส ย้ายไปอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา และเริ่มต้นอาชีพศิลปินใหม่ที่นั่น ด้วยผลงานที่เป็นการผสมผสานระหว่างภาพวาดแบบรูปธรรมและนามธรรมอันเปี่ยมสีสันและการใช้สัญลักษณ์ต่างๆ
หลังจากถูกบดบังภายใต้เงื้อมเงาของศิลปินผู้ได้ชื่อว่าเป็นศิลปินคนสำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 20 อย่างปิกัสโซ มาเนินนาน ในที่สุด ชื่อเสียงของเธอก็ค่อยๆ ถูกกู้คืนสู่สายตาสาธารณชน ไม่ว่าจะเป็นจากนิทรรศการที่จัดแสดงผลงานของเธอในหลากหลายแกลเลอรี่ ทั้งในยุโรปและอเมริกา
10 ปีให้หลังจากการปรับปรุงครั้งใหญ่ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติปิกัสโซ-ปารีส ได้ทำการเปิดนิทรรศการที่รวบรวมผลงานของจิโลเข้าไปจัดแสดงด้วย โดยทางโฆษกของพิพิธภัณฑ์กล่าวว่า
“เราไม่ได้นำเสนอจิโลในฐานะ Muse (เทพีแห่งแรงบันดาลใจ) ของปิกัสโซ และไม่มีแม้แต่ภาพวาดที่เขาวาดเธอในฐานะนางแบบ หากแต่นำเสนอเธอในฐานะศิลปินคนหนึ่ง”
นิทรรศการของ ฟรองซัวส์ จิโล ถูกจัดแสดงในห้องแสดงงานหมายเลข 17 บนชั้น 3 ของอาคารพิพิธภัณฑ์ โดยคาดว่าจะจัดแสดงต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี โดยทางผู้อำนวยการของพิพิธภัณฑ์กล่าวว่า “เป็นการคืนสถานภาพแห่งความเป็นศิลปินที่เธอสมควรจะได้รับมานานแล้ว”
เหตุการเหล่านี้ไม่ทำให้เราอดรู้สึกไม่ได้ว่า สถาบันทางศิลปะชั้นนำของโลกเหล่านี้อาจจะกำลังทำการไถ่บาปให้เหล่าบรรดาศิลปินหญิงผู้ถูกทำร้ายจากภาวะชายเป็นพิษในโลกศิลปะก็เป็นได้ ถึงแม้จะเป็นการอุทิศแค่เพียงพื้นที่เล็กจ้อย ในสถาบันเหล่านั้นก็ตาม
อ้างอิงจาก
พิพิธภัณฑ์รอแด็ง
พิพิธภัณฑ์แห่งชาติปิกัสโซ-ปารีส