จากเด็กสาวที่เคยวาดรูปด้วยความรู้สึกหลงใหลและใจเต้น กลายเป็นหญิงสาวที่รู้สึกว่างเปล่า หัวใจของเธอถูกกัดกินด้วยความกลัวและความสงสัยในตัวเอง
“ไม่รู้เหมือนกันว่ามันเริ่มขึ้นตั้งแต่ตอนไหน อยู่ๆ เราก็รู้สึกกดดันตัวเองว่า ถ้าเราไม่วาดวันนี้ แล้วเราจะสู้คนอื่นเขาได้ไหม… การเอาความชอบมาทำแล้วได้เงิน บางครั้งก็มีความกดดันตัวเองค่อนข้างสูง เพราะมันเป็นสิ่งที่เรารักและทำมันมาทั้งชีวิต ถ้าเราทำมันไม่ได้ ไม่มีใครมาซื้องานเรา มันทำให้เรารู้สึกหมดคุณค่า เหมือนเอาเงินมาเป็นตัววัดคุณค่าของตัวเอง เราตั้งคำถามกับตัวเองตลอดเวลา เราไม่ชอบให้มันเกิดอะไรอย่างนี้ขึ้นมา ก็เลยทำเป็นธีสิสเรื่องนี้เพื่อหาคำตอบให้ตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้น”
‘ฝ้าย-พลอยนภรัตน์ ศิริกรโภคกุล’ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ สาขามีเดียอาตส์ เอกการออกแบบกราฟิก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เล่าถึงที่มาของปริญญานิพนธ์ในหัวข้อ ‘ศิลปะภายใต้ระบบทุนนิยม’
“เราอยากสื่อสารให้คนรู้ว่า ทุนนิยมกับศิลปะมันเกี่ยวข้องกันยังไง มันมีคนทำงานศิลปะที่ตายจากทุนนิยมจริงๆ ตายในที่นี้ไม่ได้หมายถึงตายทางร่างกายค่ะ แต่หมายถึงตายทางจิตใจ ตายทางตัวตนซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงๆ เหมือนกัน”
“อย่างการทำงานเป็นบล็อกเดียวกันตามกระแสตลาด เช่น เราอยากจะวาดรูปปกหนังสือ แต่ลายเส้นเราไม่ใช่แบบที่คนทั่วไปจะชอบมากขนาดนั้น มันก็จะส่งผลต่อยอดขาย บางสำนักพิมพ์เลยเลือกลายเส้นอีกแบบมากกว่า เราเลยรู้สึกว่าเราต้องเปลี่ยนตัวตนของตัวเองเพื่อให้ถูกรับเลือกไปวาดปกหนังสือหรือเปล่า แต่พอทำไปสักพักก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ เพราะเหมือนเราเอาตัวเองไปทรมานในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเรา”
“จริงๆ มันเกี่ยวกับเรื่องการเมืองด้วย อย่างธีสิสเราก็จะพูดถึงว่า เราต้องหาเงินตัวเป็นเกลียวเพื่อมาใช้จ่ายหนี้สิน แต่ก็ยังต้องหาเช้ากินค่ำต่อไปเรื่อยๆ จนบางทีไม่มีเวลามานั่งเสพงานศิลปะ ดูหนัง ฟังเพลง เราเลยคิดว่าสิ่งนี้มันก็ทำให้หัวใจคนว่างเปล่าเหมือนกัน”
“แม้ว่าศิลปะมันไม่ใช่ปัจจัยสี่ ไม่ใช่พื้นฐานในการดำรงชีวิตขนาดนั้น แต่ในความรู้สึกเรา ศิลปะมันเป็นสิ่งที่เติมเต็มความเป็นมนุษย์ ทำให้จิตวิญญาณเรายังคงเป็นจิตวิญญาณอยู่ มันคงช่วยทำให้เรารู้สึกว่าเราอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป แต่ประเทศเรา เรื่องปากท้องยังกินอยู่ไม่สุขสบาย แล้วเราจะเอาเวลาไหนไปเสพงานศิลปะเหล่านี้”
ฝ้ายเล่าว่า แม้เธอจะเจ็บปวด แต่คำตอบที่ได้จากธีสิสนี้ก็ทำให้เธอรู้สึกโล่งใจมากขึ้น
“เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น เราเข้าใจว่าโลกหมุนแบบนี้ สังคมเป็นแบบนี้ กลไกราคาของงานมันเป็นแบบนี้… ส่วนตัวคิดว่ายังไงก็ทิ้งไม่ได้ค่ะ เราชอบวาดรูปมาตั้งแต่จำความได้และคิดว่าจะอยู่กับมันไปทั้งชีวิต แต่คงจะหาทางปรับตัวให้เข้ากับโลกปัจจุบันมากขึ้น”
“หลายคนก็พูดประมาณว่า เหมือนเข้ามาอยู่ในใจเราเลย เขาก็เจอความรู้สึกนี้อยู่เหมือนกัน เราเลยรู้สึกดีที่ทำเรื่องนี้ออกมา เพราะอยากให้ทุกคนรู้ว่าสิ่งนี้ (ทุนนิยมที่กระทบต่องานศิลปะ) มันมีอยู่จริง ซึ่งไม่ได้มีแค่คุณที่ทรมานจากสิ่งนี้ด้วยตัวคนเดียว และไม่ได้เกิดจากความผิดของคุณคนเดียวด้วย แต่เพราะสังคมมันเป็นแบบนี้ และเราแค่ได้รับผลกระทบจากสังคมที่เราอยู่เท่านั้นเอง”
ติดตามผลงาน ‘ศิลปะภายใต้ระบบทุนนิยม’ ได้ที่