เดือนสิงหาคมเป็นเดือนของแม่ในเมืองไทย หลายๆ ที่มีโปรโมชั่นจัดกิจกรรมให้คุณแม่คุณลูกทั้งเดือน ถ้าพาแม่มาร้านด้วย ได้ลดราคา อะไรทำนองนั้น หรือสำนักพิมพ์ต่างๆ ร้านหนังสือต่างๆ ก็จัดหนังสือเข้าเทศกาลวันแม่ บางเว็บอาจจะชื่นชมตัวละครคุณแม่ที่น่ารัก เลี้ยงดูลูกอย่างเหนื่อยยาก หรือแม้แต่เสียสละเพื่อลูกได้แม้แต่ชีวิต ยกนิทานสุภาษิตต่างๆ อะไรก็แล้วแต่ขึ้นมา พูดถึงความรักของแม่ที่มีต่อลูก บลาๆๆๆ
ดิฉันก็คงไม่ขอเถียง ถ้าแม่คนไหนรักลูก หรือลูกคนไหนรักแม่ จะมากน้อยแค่ไหน สุดแท้แต่จะรักกันไปเถิด ดิฉันก็รักแม่ของดิฉันมากๆ เหมือนกัน แต่สิ่งที่ดิฉันเห็นว่าสำคัญไม่แพ้กันคือ ไม่ว่าเราจะรักใคร เราไม่ควรจะเอาบทบาทอะไรไปกำกับเขาให้มากจนเกินไปนัก และยอมรับ (ยอมรับไม่ได้แปลว่าตำหนิไม่ได้นะคะ) ว่าเขามีข้อเสีย มีปัญหา เหมือนกัน ปัญหาของความรักแม่ที่ทุกคนพูดกันเป็นเพราะทุกคนมอบหน้าที่แม่ให้ผู้หญิง ชื่นชมแม่ที่เสียสละ เข้มแข็ง อ่อนโยน จิตใจงดงาม และเป็นผู้สอนศีลธรรมจรรยาให้แก่ลูก (บางที เมื่อออกโทรทัศน์แล้วล่ะก็ จะต้องสวยด้วย ที่สำคัญ ต้องสวยแบบเรียบๆ ไม่ใช่ทาปากแดง ชุดแซกสั้นสีดำ) ในขณะที่ผู้หญิงในโลกความเป็นจริงจำนวนมาก ทำตามที่สังคมกำหนดอุดมคติเรื่องแม่ไม่ได้
พูดมาอย่างนี้แล้ว และจากชื่อหัวข้อของดิฉันเอง ทุกคนก็คงจะพอเข้าใจแล้วว่าดิฉันหยิบผีเสื้อสมุทร แม่ของสินสมุทมาพูดถึงเพราะอะไร เวลาเราพูดถึงแม่ในวรรณคดีไทย หลายๆ คนก็อาจจะนึกถึง นางวันทอง โดยเฉพาะในตอนที่ต้องจากลากับพลายงามไป พระนางมัทรี ที่เจ็บปวดต้องสูญเสียลูกรักไป นางพันธุรัตที่ทำทุกอย่างให้ลูกและทิ้งมนตร์เรียกเนื้อเรียกปลาให้พระสังข์ หรือพระนางบุญเหลือ แม่ของพระลอ ผู้หาทางช่วยลูกให้พ้นจากคุณไสยมนตร์ดำ แต่สุดท้ายก็ไม่อาจห้ามลูกได้ และต้องจำใจปล่อยลูกไป
แต่เราก็อาจจะลืมไปว่ายังมีแม่ที่อาจมองได้ว่าเป็นภัยหลายคน เช่นนางไกยเกษี จากรามเกียรติ์ ซึ่งหาทางให้ลูกได้เป็นกษัตริย์และขับไล่พระรามให้ออกไประหกระเหินเดินป่า 14 ปี หรือนางศรีประจันที่หาทางดันให้ลูกได้แต่งกับขุนช้างทั้งๆ ที่ลูกไม่รัก
จริงๆ แล้วแม่ในวรรณกรรมมีมากมาย เราควรเคารพและเข้าใจว่าตัวละครแม่แต่ละตัวนั้นมีลักษณะหลากหลาย และแม่ในความเป็นจริงก็เช่นกัน
ผีเสื้อสมุทรคือตัวละครแม่ที่ไม่มีใครเชิญมางานวันแม่ ถ้าเปรียบเป็นวันเกิดยัยเจ้าหญิงนิทรา เธอก็คือแม่มดที่ไม่ได้รับเชิญ เพราะไม่เป็นสิริมงคลกับการเกิดขึ้นของชีวิตใหม่ ผีเสื้อสมุทรนั้นเป็นตัวละครที่ไม่มีใครนึกถึงเมื่อเราพูดถึงคำว่าแม่ ดิฉันคิดว่าไม่ใช่เพราะเราลืมว่าเธอรักลูกแค่ไหนหรอกค่ะ แต่เป็นเพราะคำว่าแม่ของเรามันพ่วงค่านิยมหรืออุดมการณ์สารพัดจนผีเสื้อสมุทรถูกเขี่ยตกออกไปจากตัวละครที่เป็นแม่ที่ดีได้ หรือจริงๆ แล้วการเป็นแม่ได้ หรือการเป็นแม่ที่ดี อาจเป็นคุณสมบัติที่กำลังสร้างภาระให้ผู้หญิงบางคนมากจนเกินไปหรือเปล่า ผีเสื้อสมุทรคงเป็นตัวแทนของผู้หญิงคนหนึ่งที่เลือกที่จะเป็นตัวเธอเอง มากกว่าจะเป็นแม่
เรามาทบทวนเรื่องราวของแม่ผีเสื้อสมุทรดู เผื่อลืมประวัติของเธอ ถ้าให้เล่าตามลำดับการกำเนิดของเธอ นางผีเสื้อสมุทรตนนี้ถือกำเนิดจากหิน เพราะได้พรจากพระอิศวรกับพระลักษมีเมื่อชาติที่แล้ว ให้ถอดจิตไว้กับหินได้ (จริงๆ ส่วนตัวคิดว่า ‘พระอิศรารักษ์พระลักษมี’ ในกลอน ถ้าดูจากรูปคำอาจจะหมายถึงพระอิศวร แต่คำว่า ‘อิศร’ แปลว่ามีอำนาจ พระอิศรารักษ์อาจจะมีความหมายแค่เทวดาผู้ใหญ่ ซึ่งอาจจะหมายถึงพระวิษณุก็เป็นได้ หากเรามองว่าสุนทรภู่รู้เรื่องเทพเทวดาฮินดู หรือว่าสุนทรภู่อาจจะรู้ แต่ไม่อยากให้ตรงตามที่นับถือจริงๆ) เมื่อเธอเกิดจากหิน เธอได้ท้าพระอัคนีสู้จนถูกไฟกรดเผาผลาญ กลับกลายเป็นหินอีกครั้ง แต่แล้ว ลมฟ้าลมฝนไอทะเลก็ได้ทำให้เธอรอดชีวิตออกมาอีกครั้ง เธอได้ยินเสียงพระอภัยมณีเป่าปี่แล้วรัญจวนใจ เลยไปลักพระอภัยมาเป็นสามี แล้วจำแลงกายเป็นสาวงามอยู่กินกับพระอภัย พระอภัยจำใจอยู่ด้วยเพราะไม่เห็นช่องทางหนี แต่บอกผีเสื้อว่าถ้ารักจริงก็อย่าคิดจับเรากินเด็ดขาด ขอให้สาบานเอาไว้ นางผีเสื้อตกลง ทั้งคู่มีลูกด้วยกันชื่อสินสมุทร ซึ่งหน้าออกไปทางพ่อ แต่ผมหยิก ตาแดง มีเขี้ยว มีกำลังมากกว่ามนุษย์ คล้ายแม่ พระอภัยมณีก็รักเพราะเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขตัวเอง
วันหนึ่งสินสมุทรบังเอิญเลื่อนหินที่ปิดปากถ้ำออก แล้วออกไปวิ่งเล่น จับเงือกมาให้พ่อดู พระอภัยตกใจมากคิดว่านางผีเสื้อจะโกรธแน่ ถ้ารู้ว่าสินสมุทเปิดปากถ้ำได้เพราะพระอภัยจะมีทางหนี พระอภัยจึงบอกสินสมุทว่าแท้จริงแล้วแม่เป็นนางยักษ์ สินสมุทเสียใจร้องไห้ ส่วนเงือกก็อาสาว่าจะพาพระอภัยหนีให้ได้ และจะพาไปอยู่กับพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร เงือกผู้เฒ่าบอกให้พระอภัยหาทางถ่วงเวลาให้นางผีเสื้อเดินทางตามไล่ไม่ทัน
นางผีเสื้อที่ใกล้จะประสบเคราะห์ก็ฝันว่าถูกเทวดาทำร้าย ตื่นมาพระอภัยก็แสร้งทายฝันว่าจะมีเคราะห์ ต้องไปถือศีล บำเพ็ญพรต อดข้าวอดน้ำสามวัน เพื่อสะเดาะเคราะห์ เมื่อนางยักษ์เดินทางกลับ ทั้งพ่อลูกก็พากันหนีไปแล้ว แต่เวลาผ่านไปสักพัก นางยักษ์ก็ไล่ตามมาทัน สินสมุทรเพิ่งได้เห็นร่างที่แท้จริงของแม่จึงเริ่มหวาดกลัวแม่ระคนสงสาร แต่แล้วก็ตัดสินใจไปอยู่กับพ่อ นางยักษ์ตามมาไล่จับ กินเงือกตายายพ่อแม่นางเงือกได้ แต่นางเงือกรอด สุดท้ายพระฤๅษีมากันไว้ แล้วบอกว่าทั้งพระอภัยและนางผีเสื้อมีเวรมีกรรมต่อกันเท่านี้ อย่าได้ตามมาอีก แต่นางผีเสื้อไม่ยอม ส่วนพระอภัยขึ้นฝั่งมาได้ก็เกี้ยวพาราสีนางเงือกและได้นางเงือกเป็นเมียอีกคน
สินสมุทรเพิ่งได้เห็นร่างที่แท้จริงของแม่จึงเริ่มหวาดกลัวแม่ระคนสงสาร
ขณะนั้น ท้าวสิลราชเจ้าเมืองผลึกพาลูกสาวชื่อสุวรรณมาลีออกเดินทางเที่ยวทะเลเพื่อสะเดาะเคราห์ เนื่องจากนางสุวรรณมาลีฝันว่าได้เดินทางไปเที่ยวทะเล ดูเกาะแก่ง แล้วเห็นดวงแก้วงดงามอยู่ เธอก็ลอยไปคว้าไว้ได้ โหรทำนายว่าสุวรรณมาลีจะต้องจากบ้านไปเป็นเวลานาน ส่วนดวงแก้วที่เห็นนั้นคือคู่สร้างของนางสุวรรณมาลี ท้าวสิลราชเห็นว่านางสุวรรณมาลีใกล้จะอภิเษกกับอุศเรน เจ้าชายแห่งลังกาอยู่แล้ว จึงคิดจะพาเดินทางเที่ยวทะเลแก้เคราะห์เสียเลย แต่แล้วลมทะเลก็ปั่นป่วนรวนเร พัดพาขบวนเรือทั้งหลายหลงทาง ไปถึงเกาะแก้วพิสดาร
พระเจ้าตาฤๅษีประจำเกาะก็ได้เล่าพระอภัยมีวิชาปี่ แต่เป่าไม่ได้เพราะถือเพศฤๅษี สินสมุทอาสาเป่าแทนเพราะเคยเรียนวิชานี้กับพ่อมาบ้าง โดยขอเสื้อผ้าเครื่องทรงแบบพระธิดาเป็นการแลกเปลี่ยน สินสมุทได้เล่าให้สุวรรณมาลีฟังว่า แม่ตัวจริงน่าเกลียด ตัวใหญ่ อัปลักษณ์ อยากมีแม่สวยๆ มากกว่า ความคิดแบบนี้สอดคล้องกับแผนที่พระอภัยตั้งใจจะเกี้ยวสุวรรณมาลี ขอแหวนขอสร้อยพระธิดาผ่านสินสมุทตามขนบ (คล้ายๆ อิเหนา) พระฤๅษีเองก็อยากให้พระอภัยโดยสารเรือของท้าวสิลราชกลับไปกรุงรัตนาอยู่แล้ว พระอภัยจึงลานางเงือกที่ท้อง และสัญญาว่าจะกลับมาหาถ้าเดินทางกลับไปได้โดยปลอดภัย (แต่ กว่าจะมาเยี่ยมก็…) ก่อนจะโดยสารไปกับท้าวสิลราชและนางสุวรรณมาลี
สินสมุทได้เล่าให้สุวรรณมาลีฟังว่า แม่ตัวจริงน่าเกลียด ตัวใหญ่ อัปลักษณ์ อยากมีแม่สวยๆ มากกว่า
เมื่อเรือเดินทางมาถึงเขตที่ผีพรายบริวารผีเสื้อสมุทรอาศัยอยู่ ผีพรายบริวารจึงรายงานนางผีเสื้อ นางผีเสื้อจึงออกอาละวาดพังเรือของท้าวสิลราช สุวรรณมาลีและสินสมุทหนีไปทางหนึ่ง พระอภัยหนีไปอีกทางหนึ่ง นางผีเสื้อเดินทางตามมา แต่พระอภัยร่ายมนตร์กันไว้ไม่ให้นางผีเสื้อตามมาได้ จนพระอภัยพาพรรคพวกขึ้นบนเขา นางผีเสื้อทั้งปลอบทั้งขู่ เพราะตามไปไม่ได้ แต่เมื่อพระอภัยมณีเริ่มเทศนาเรื่องธรรมะ นางผีเสื้อกลับไม่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์อะไรทั้งนั้น ก่อนจะให้ภูตพรายบันดาลให้ฝนและลูกเห็บกระหน่ำตกลงบนเขา ให้พระอภัยมณียอมแพ้
ณ ตอนนั้นเอง พระอภัยตัดสินใจสึกก่อนจะเป่าปี่สังหารนางผีเสื้อ เมื่อนางผีเสื้อสิ้นลม พระอภัยมณีก็ร้องไห้เสียใจ นึกถึงคราวที่เคยปรนนิบัติดูแลตัวเองตอนอยู่ในถ้ำ แต่แล้วก็เกิดอัศจรรย์นางยักษ์กลายเป็นหิน และมีน้ำไหลออกมา พราหมณ์คนหนึ่งที่ตามมาด้วยบอกให้ใช้ไฟเผาหินเสีย แต่เทพารักษ์ประจำเกาะนามมหิงข์สิงขรมาห้ามไว้ บอกว่าไฟจะทำให้นางยักษ์ฟื้นคืนชีพได้ (นางก็เล่าไปด้วยว่านางผีเสื้อมีชาติกำเนิดยังไง บลาๆ) และให้ทุกคนดื่มน้ำที่ไหลจากปากนาง เพราะจะทำให้มีกำลังวังชา
สิ่งที่เราต้องการจะนำเสนอ คือ การชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงทุกคนที่ให้กำเนิดลูกไม่อาจเป็นแม่ตามที่สังคมกำหนดได้ทุกคน ผีเสื้อสมุทรก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำตามหน้าที่แม่และเมียเท่าที่ตัวเองทำได้ แต่การมีปากมีเสียงหรือการพยายามเป็นเจ้าเข้าเจ้าของทำให้เธอกลายเป็นผู้หญิงนอกคอก อาละวาด เถียงผู้ชายและสถาบันทรงอำนาจ นอกจากนี้ดิฉันต้องการจะชี้ให้เห็นว่าความพยายามจะหนีและกำจัดผีเสื้อสมุทรเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมผู้หญิงและธรรมชาติในช่วงเวลาของการพัฒนาและสร้างความเป็นสมัยใหม่ (modernization) ทั่วโลก (ยิ่งใหญ่อะไรเบอร์นั้น)
แต่ไม่ว่าดิฉันจะปรับมุมมองเกี่ยวกับผีเสื้อสมุทรอย่างไร ดิฉันไม่ได้จะสนับสนุนความรุนแรงที่ผีเสื้อทำกับพระอภัยนะคะ ไม่ใช่อ่านจบแล้วจะชวนให้ทุกคนเจอใครหล่อๆ ไปเจอฟิลิป เจออติลา แล้วอุ้มกลับบ้าน ผิดนะคะ แล้วดิฉันก็ไม่ได้จะบอกว่าเธอเป็นยักษ์ที่ดี น่ารัก อ่อนโยน เป็นยักษ์คิวต์ ไม่ใช่อีกเหมือนกันค่ะ แค่ต้องการจะชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่นางผีเสื้อทำ แม้จะไม่ถูก แต่มันตั้งคำถามกับความเป็นแม่ ความเป็นหญิงและทัศนคติเกี่ยวกับธรรมชาติอย่างไร
สุนทรภู่เคยกล่าวไว้ในนิราศพระบาท “สตรีหึงหนึ่งแพศยาหญิง ทั้งสองสิ่งอย่าใกล้ชิดพิสมัย” เราอาจมองได้จากประวัติหรือสิ่งที่ผู้เขียนเคยพูดไว้ในงานชิ้นอื่นว่า สุนทรภู่ไม่ชอบผู้หญิงที่ท้าทายผู้ชาย ผู้หญิงที่ชอบไม่ควรจะหึงหวงหรือ ‘แพศยา’
ซึ่งอาจจะหมายถึงผู้หญิงร้ายกาจ มารยา ผีเสื้อสมุทรได้เป็นทั้งสองอย่างที่สุนทรภู่ไม่ชอบ ทั้งหึงหวง ทั้งมารยา หลอกลูกหลอกผัวบ้าง แปลงร่างบ้าง เป็นต้น การแสดงความเป็นเจ้าของอาจเป็นการลดทอนผู้ชายให้เป็นเพียงวัตถุ นั่นคือสิ่งที่พระอภัยมณี ผู้อยากจะไหลไปหาผู้หญิงคนนั้นคนนี้เรื่อยไปนั้นไม่มีทางชอบ การจับผู้ชายมาขังไว้ในบ้าน เอาหินปิดปากถ้ำไว้ เป็นการทำลายอิสรภาพ ลดทอนอำนาจของผู้ชายและทำให้เขากลายเป็นวัตถุทางเพศอย่างเห็นได้ชัดที่สุด
เราลองเทียบจากนิทานผจญภัยเรื่องก็ได้ ผู้ชายหลายเรื่องมักเป็นตัวเอก ออกผจญภัยสร้างบารมี แต่พระอภัยโดนขังในถ้ำตั้งหลายปี ไม่ได้ออกไปไหนเลย หากเรามองเรื่องพื้นที่ ผู้หญิงชนชั้นกระฎุมพี (เช่นเดียวกับแม่สุนทรภู่ เข้าใจว่าเธอเป็นชาววัง) ก็มักจะอยู่ในอาคารอยู่ในพื้นที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ ถ้าจะไปไหนๆ ก็ต้องตามเสด็จ แหล่งจับจ่ายใช้สอยอย่างมากก็มีเรือมีตลาดบ้าง การเดินทางไปไหนต่อไหนไกลๆ ก็อาจจะน้อย
เพราะฉะนั้นเราอาจจะกล่าวได้ว่าพระอภัยมณีแทบจะถูกลดทอนอำนาจตามแบบผู้ชาย ถูกขังอยู่ในพื้นที่พื้นที่หนึ่งและทำหน้าที่เลี้ยงลูก จนแทบจะกลายเป็นผู้หญิง (ด้วยบทบาท) ในขณะที่นางผีเสื้อเป็นเหมือนผู้ชายที่เดินทางออกไปหาอาหารเข้าถ้ำ เมื่อพระอภัยมณีหนีได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรถ้าผีเสื้อสมุทรจะอาละวาด หึงหวง ทวงสัญญารักที่จริงๆ แล้วพระอภัยมณีจำใจให้เพราะไม่อยากตาย ความหึงหวงของเธอเป็นการแสดงบทบาทว่าเธอก็มีสิทธิ์เป็นเจ้าเข้าเจ้าของ ไม่ใช่ว่าผู้หญิงจะเป็นวัตถุของผู้ชายแต่อย่างเดียว เทียบเธอกับนางเงือกก็ได้ นางเงือกมีเหรอจะมาตามหึงหวง ได้แต่ว่ายน้ำในสระหลังกุฏิเป็นปลาทองในอ่างแก้ว ร้องไห้คร่ำครวญ กว่าผัวจะมาเจอก็โน่นแน่ะ นางเงือกมีหลานแล้วอะค่ะ (สุดสาครมีลูกนั่นเอง) ซึ่งเอาจริงๆ ตอนเจอกัน ไม่ใช่ส่วนที่สุนทรภู่ตั้งใจจะเขียนต่อด้วยซ้ำ
ความหึงหวงและการขังผู้ชายไว้ในบ้านเป็นการท้าทายกรอบชายเป็นใหญ่อย่างเห็นได้ชัด ผู้ชายกลับเป็นฝ่ายถูกขังอยู่ในพื้นทีบ้าน ไม่ใช่คนออกเดินทาง ความหึงหวงก็เป็นเครื่องท้าทายความเป็นชาย แสดงให้เห็นว่าผู้ชายไม่ได้เป็นฝายเดียวที่จะเป็นเจ้าเข้าเจ้าของได้
สิ่งที่ทำให้นางยักษ์ดูไม่เหมือน ‘แม่’ ตามแบบที่สังคมมองและเชิดชูก็คือการแสดงความปรารถนาทางเพศอย่างชัดเจน
แล้วมันเกี่ยวกับการเป็นแม่ยังไง นี่คือประเด็นสำคัญที่จะพูดต่อ สิ่งที่ทำให้นางยักษ์ดูไม่เหมือน ‘แม่’ ตามแบบที่สังคมมองและเชิดชูก็คือการแสดงความปรารถนาทางเพศอย่างชัดเจน นางผีเสื้อสมุทรเลือกจะเป็นเมีย มากกว่าเป็นแม่ หรืออย่างน้อย ตามที่สุนทรภู่เล่า เราไม่ค่อยเห็นนางผีเสื้อมีบทบาทในฐานะแม่ที่ดีตามขนบ แต่เราเห็นนางผีเสื้อในฐานะเมียที่ออกตามผัวให้กลับมา เห็นบทบาทการวิงวอนและการข่มขู่ของเธอ มากกว่าจะเห็นเธอดูแลลูก (ต่างจากนางเงือกมากๆ) การออกอาละวาดเฝ้าเรียกร้องให้ผัวกลับมา มากกว่าให้ลูกกลับมา เป็นเครื่องยืนยันการแสดงความปรารถนาทางเพศของเธอ ความรุนแรงในการอาละวาดยิ่งเป็นการตอกย้ำความปรารถนาที่รุนแรง ไม่อดทนสยบยอม ดิฉันมองว่าความเป็นแม่ตามที่สังคมกำหนดและความปรารถนาทางเพศไม่อาจจัดวางไว้ด้วยกันได้
เรื่องตลก (ที่ขำไม่ค่อยออก) ก็คือ ความปรารถนาทางเพศอาจเป็นส่วนหนึ่งของการปรนนิบัติสามีตามขนบ แต่การเป็นแม่ที่ดีที่สังคมกำหนดจะถูกกลบให้หายไปด้วยการแสดงตัวว่ามีอารมณ์ทางเพศ เพราะเรามักจะเชื่อมโยงความเป็นแม่กับความเสียสละ และความสัมพันธ์ที่ดีต่อลูกและสามี ไม่มีบทบาทที่มีเรื่องทางเพศมาเกี่ยวข้อง ความรักของแม่ต้องเชื่อมโยงกับลูก หรือถ้าเชื่อมโยงกับสามีคือการปรนนิบัติที่แทบจะไม่มีเรื่องทางเพศ ผีเสื้อสมุทรจึงไม่ใช่มารดาที่ทุกคนนึกถึง และอาจเป็นมารในสายตาผู้ชายบางกลุ่ม เพราะเธอทั้งหึงหวงและแสดงอารมณ์ทางเพศอย่างรุนแรง ความขัดแย้งระหว่างความหึงหวงและความเป็นแม่ตามที่สังคมกำหนด ชัดเมื่อผีเสื้อสมุทรคิดจะหักคอสินสมุทเพราะโกรธที่ล่อหลอกไม่ให้ตัวเองไปเจอพระอภัยมณี (“จะจับไว้ให้พาไปหาพ่อ แล้วหักคอเสียให้ตายเมื่อภายหลัง”)
เราอาจตีความได้ว่าอารมณ์ทางเพศอันรุนแรงนี้สอดคล้องกับร่างกายอันอัปลักษณ์ของนางผีเสื้อที่ออกมาตามล่าหาพระอภัยมณีในร่างนั้น เราอามองตามตรรกะของเรื่องได้ว่า ถ้านางผีเสื้อไม่ใช้ร่างนี้ นางจะตามลูกผัวไม่ทัน แต่ถ้ามองอีกแง่ และสังเกตการใช้คำอธิบายทางพุทธศาสนาตลอดเรื่อง เราอาจมองได้ว่าความอัปลักษณ์ของนางผีเสื้อที่เกิดขึ้นในยามโกรธแค้นเป็นเหมือนการอธิบายคนที่ตกอยู่ในโทสจริต โกรธเป็นฟืนเป็นไฟจนกลายเป็นยักษ์เป็นมาร ไม่รู้จักดับอารมณ์โกรธของตัวเอง ร่างกายอัปลักษณ์เป็นทั้งสัญลักษณ์และเครื่องตอกย้ำความรุนแรงของอารมณ์โกรธและความปรารถนาทางเพศ แต่ถ้าเราเข้าข้างนางยักษ์สักหน่อย จะไม่ให้เราโกรธได้ยังไง ก็ผัวหายไปนี่นา
ความโกรธ ความหึงหวงถูกเชื่อมโยงกับร่างอัปลักษณ์ ความงามที่เชื่อมโยงกับร่างจำแลง แต่ถ้าเราจะมองสิ่งเหล่านี้ในสายตาของลูก หรือมองตามกรอบสังคม ผีเสื้อสมุทรไม่ใช่แม่ เพราะความโกรธความหึงหวงและการท้าทายอำนาจผู้ชายของเธอ
ถ้ามองจากมุมสินสมุทร ความอัปลักษณ์กลายเป็นคุณลักษณะสำคัญที่ทำให้นางผีเสื้อสมุทรไม่ใช่แม่ที่ตนรู้จักและไม่ใช่แม่ที่ตนอยากจะให้เป็น ณ ช่วงเวลาของการลังเล ไม่รู้จะรักหรือเกลียดแม่ดีนี้เอง เป็นช่วงเวลาที่เรือท้าวสิลราชหลงมาพอดี๊ พอดี อะไรจะปานนั้น ราวกับว่าตัวเรื่องหาแม่ใหม่ให้สินสมุทได้แล้ว และไม่ใช่ใครที่ไหน (ไม่ใช่นางเงือกด้วย) แต่เป็นแม่สุวรรณมาลีนั่นเอง ความลังเลนี้น่าสนใจ หลายๆคนน่าจะเคยได้ยินวรรคหนึ่งในพระอภัยมณีที่ว่า “สินสมุทรสุดแสนสงสารแม่” อยู่บ้าง แม่ผีเสื้อของสินสมุทรนั้นไม่ใช่ว่าสินสมุทรจะไม่รัก (ถึงแม้จะรักพ่อมากกว่าก็ตาม) เพราะสินสมุทรอดร้องไห้เสียใจไม่ได้ เวลาแม่ถูกทำร้าย
แต่กระนั้น ความอัปลักษณ์ของแม่และความจริงที่ว่าแม่เป็นยักษ์กลายเป็นสิ่งที่ทำให้สินสมุทรลังเล บรูโน เบทเทิลไฮม์ (Bruno Bettelheim) นักทฤษฎีจิตวิทยาที่สนใจเรื่องนิทานเคยกล่าวว่า นิทาน ซึ่งมักจะมีแม่มดใจร้ายและนางฟ้าใจดีอยู่ในเรื่องเดียวกัน หรือมีนายพรานผู้โหดเหี้ยมกับกษัตริย์ผู้อบอุ่นอยู่ในเรื่องเดียวกัน สะท้อนให้เห็นปัญหาการอธิบายพ่อแม่ของเด็ก เด็กจะคิดว่าพ่อแม่ที่ดุ และคอยควบคุมพวกเขา เป็นคนละคนกับพ่อแม่ที่ดูแลและจัดหาสิ่งต่างๆ ให้ตัวเอง นิทานเด็กจึงเป็นการตอบสนองจินตนาการการแยกพ่อแม่ใจร้ายออกจากพ่อแม่ใจดี
ในกรณีสินสมุทร สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ แม่ใจดีและแม่ใจร้าย (ในกรณี เธอไม่ใช่แม่ตามขนบแล้วด้วย เธอเป็นผู้หญิงหึงผัวอาละวาดจนกลายเป็นยักษ์) กลายเป็นคนเดียวกัน แปลงร่างสลับกันไปมา นอกจากนี้ นางผีเสื้อก็แกล้งสลับขั้วตรงข้าม โดยบอกสินสมุทรว่า ร่างยักษ์นั้นเป็นร่างใช้ออกเดินทาง ไม่ใช่ร่างจริงของตัวเอง (“จึงตอบโต้โป้ปดโอรสราช มิใช่ชาติยักษ์มารชาญสมร เจ้าแปลกหรือคือนี่แลมารดร เมื่อนั่งนอนอยู่ในถ้ำไม่จำแลง ออกเดินทางอย่างนี้ต้องนิมิตต์ รูปจึงผิดไปกว่าเก่าเจ้าจึงแหนง ไม่ปิดงำอำพรางอย่าคลางแคลง แม่แกล้งแปลงตัวตามเจ้างามมา”)
สิ่งที่น่าสนใจคือ คนที่ย้ำกับสินสมุทรว่าตัวจริงของแม่คืออะไร และน่าเกลียดแค่ไหน เป็นผู้ชายทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นพระอภัยเอย หรือพระฤๅษี ความน่ารังเกียจหรือน่าขยะแขยงของร่าง(เกือบ)เปลือยของแม่นั้นเป็นสิ่งที่ผู้ชายหรือสังคมชายเป็นใหญ่กำหนด เป็นสิ่งที่สอนขึ้นไม่ใช่สิ่งที่รู้สึกได้เอง เพื่อให้เด็กผู้ชายไม่เลือกเอาผู้หญิงเป็นแบบอย่าง และเทียบตัวเองกับพ่อแทน (ใครสนใจฟรอยด์ ร่างยักษ์ของแม่ที่สินสมุทรเห็นคือสิ่งที่ก่อให้เกิดความกังวลเรื่องการตอน หรือ castration anxiety นั่นเองค่ะ) การลังเลไม่หนีแม่เสียทีเดียวทำให้การนิยามแม่ตามแบบสังคมชายเป็นใหญ่สั่นคลอน
สินสมุทยังรักแม่ได้ถึงแม้แม่จะน่าเกลียดน่ากลัว ถึงแม้ผู้อ่านจะรู้มากกว่าสินสมุทรว่าแม่จะจับสินสมุทหักคอ แม่ที่คนคนหนึ่งรักอาจไม่ใช่แม่ที่ดีตามสังคมกำหนด และแม่ทุกคนก็ไม่ได้เดินตามศีลธรรมกันเป๊ะๆ กันหมด
สุวรรณมาลีถึงต้องมาปรากฏตัวเพื่อจะเป็นแม่ใหม่ให้กับสินสมุท สุวรรณมาลีไม่ได้มาเป็นแม่ใหม่เฉยๆ แต่เป็นแม่ใหม่ในนามของอารยธรรม หมายความว่ายังไง ตรงนี้แหละที่ประเด็นคน-สัตว์/สิ่งแวดล้อมเข้ามา สินสมุทรเรียกสุวรรณมาลีว่าแม่ทุกคำๆ แล้วตอนจะเป่าปี่ให้ฟังก็ขอเสื้อผ้าขอชุด เอามาถมใส่ตัวเสียจนเต็มที่ ดิฉันมองว่าเสื้อผ้าเป็นเครื่องแสดงอารยธรรม แสดงความเหนือกว่าของมนุษย์ มากกว่าสัตว์ที่เปลือยเปล่า หรือคนป่าเถื่อนที่นุ่งลมห่มฟ้า ตัวละครป่าเถื่อนเหล่านี้ถูกมองว่าต่ำกว่าสัตว์หรือชั่วร้ายแทบจะทั้งนั้นในพระอภัยมณี เช่นย่องตอด ชีเปลือย และแน่นอนผีเสื้อสมุทร ผีเสื้อสมุทรรวมความเถื่อนหรือความใกล้เคียงสัตว์หลายประการ ไม่ว่าจะอยู่ถ้ำ กินอาหารแบบไม่มีพิธีรีตองใดๆ (“ฉวยฉนากลากกุมภีล์”) และที่สำคัญ รูปร่างน่าเกลียดแทบจะไม่ห่มผ้าผ่อนท่อนสไบใดๆ อย่างน้อยก็ไม่มีผ้าแถบคาดนมเอาไว้ (พระฤๅษีบอก “นมสองข้างอย่างกระโปรงดูโตงเตง”)
การเลือกแม่ของสินสมุทรส่วนหนึ่งอาจเป็นการพยายามจัดการกับความเจ็บปวดของตัวเองที่มีต่อแม่จริงๆ โดยการพยายามซ่อนส่วนที่เหมือนนางผีเสื้อของตัวเองด้วยเสื้อผ้าแบบผู้หญิง พยายามจะให้ตัวเองเหมือนแม่ใหม่มากกว่าแม่เก่า พยายามลบล้างภาพของแม่เก่าที่น่าหวาดกลัวและป่าเถื่อนออกไป และสร้างตัวตนใหม่ให้แก่ตัวเอง แม่ร่างเปลือย คล้ายสัตว์กลายเป็นสิ่งที่ถูกทำให้น่าเกลียดน่ากลัวและไม่อยู่ในสารบบของการโตขึ้นของสินสมุทรและความอารยะในแบบมนุษย์ เป็นสิ่งที่ต้องกำจัดเพื่อให้โตขึ้นเป็นผู้ชายมีอารยธรรม ไม่ใช่คนเถื่อนที่ปล่อยให้แม่หรือผู้หญิงมีอำนาจเหนือตัวเอง
การวิ่งหนีแม่ผู้ป่าเถื่อนเข้าสู่แม่ผู้อารยะเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการปราบธรรมชาติเพื่อสร้างอารยธรรมชายเป็นใหญ่ดังที่กล่าวไปแล้ว ณ ช่วงเวลาที่สุนทรภู่เขียนงานนั้นอยู่ใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่เรียกว่ามนุษยสมัย (Anthropocene) ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาที่มนุษย์เริ่มมีอิทธิพลต่อสภาพธรรมชาติอย่างมาก จนอาจกล่าวได้ว่าปรากฏการณ์ทางธรรมชาติหลายประการถือกำเนิดขึ้นมาได้ด้วยน้ำมือมนุษย์ นักวิชาการส่วนใหญ่กำหนดให้ ค.ศ. 1784 เป็นช่วงเวลาเริ่มต้นของมนุษยสมัย เพราะเป็นช่วงเวลาที่พบปริมาณคาร์บอนในดินอันมาจากการสันดาปในเครื่องจักรไอน้ำทั่วโลก (ซึ่งเป็นผลพวงของการล่าอาณานิคมและระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีนิยม ที่ทำให้เครื่องจักรเหล่านี้ไปอยู่ตามทุกมุมโลก)
พระอภัยมณีนั้นเริ่มเขียนใน พ.ศ. 2364 หรือ ค.ศ. 1821 อันเป็นช่วงเวลาไม่นานนักหลังจากนั้น อาจกล่าวได้ด้วยซ้ำว่าสุนทรภู่เกิด ณ ช่วงเวลาที่โลกถูกมนุษย์บุกรุกโลกในแทบทุกหย่อมหญ้าเพื่อใช้ธรรมชาติเป็นทรัพยากรอย่างเต็มที่ ความเชื่อมโยงของมนุษยสมัยกับพระอภัยมณีอยู่ที่การตั้งชื่อตัวละครหรือเมืองที่เกี่ยวพันกับธรรมชาติ หรือหินดินแร่อย่างเห็นได้ชัด เช่นอภัย‘มณี’ ศรี‘สุวรรณ’ สินสมุทร สิลราช (สิละ = ศิลา = หิน) เป็นต้น แม้แต่ข้อสันนิษฐานขอสุจิตต์ วงษ์เทศที่ว่าเมืองผลึก (ของท้าวสิลราช พ่อนางสุวรรณมาลี) น่าจะหมายถึงภูเก็ต เพราะเป็นเมืองเจริญ ทำเหมืองแร่ดีบุกมาก ก็ยิ่งสอดคล้องกับปรากฏการณ์มนุษยสมัย ที่มนุษย์เข้าไปใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมหาศาลอันมีที่มาจากการเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจโลกและการล่าอาณานิคม
แล้วผีเสื้อสมุทรเกี่ยวอะไร ผีเสื้อสมุทรคือตัวแทนของธรรมชาติ คือตัวแทนของผืนแผ่นโลก (เพราะเธอมาจากหินและกลับไปเป็นหิน) ของคนเถื่อนอยู่ในถ้ำไม่สวมเสื้อผ้า ตัวแทนของผู้หญิงที่พยศจนผู้ชายต้องสยบ เธอคือสิ่งที่จะขัดขวางอำนาจของมนุษย์ผู้ชาย เป็นปีศาจให้มนุษย์ผู้ชายสังหารเพื่อเอาผลประโยชน์ไป เธอเป็นมารร้ายเพศหญิงที่เป็นตัวแทนของธรรมชาติ ไม่ใช่มารดาแห่งธรรมชาติอันอ่อนโยน สวยงาม ทำนุบำรุงเยียวยามนุษย์ เธอคือธรรมชาติที่เป็นระบบตอบโต้ต่อสู้ป้องกันตัวเอง เธอรักได้ เกลียดได้ เธอหิวโหย เธอเอาตัวรอด เธอมีเหตุผลพอที่จะดุร้าย เธอคือตัวแทนแห่งธรรมชาติที่เราควรรู้จัก และเธอไม่ใช่แม่ที่จะดูแลลูกๆ เสมอไป ตามกรอบสังคมชายเป็นใหญ่
การเผานางผีเสื้อซึ่งเป็นตัวแทนของธรรมชาติอันเป็นอุปสรรคอาจชวนให้นึกถึงการเผาถ่านหินเพื่อขับเคลื่อนมนุษยชาติให้เจริญรุ่งเรืองไปข้างหน้า
พราหมณ์ที่เสนอให้เผาซากนางยักษ์ที่กลายเป็นหินนั้นกล่าวว่า “อันอัคคีนี้เป็นการผลาญพิภพ เอาเผาศพให้สิ้นที่กินแหนง” วรรคแรกนั้นอาจสื่อถึงการล้างโลกแบบไตรภูมิพระร่วงที่จะมีไฟล้างโลกให้มอดไหม้เมื่อถึงคราวสิ้นโลก พราหมณ์จึงเสนอให้ใช้ไฟเพราะไฟคือธาตุที่จะกวาดล้างทุกอย่างได้ แต่สิ่งที่อาจจะลืมไปก็คือเส้นเวลาการล้างโลกแบบไตรภูมิพระร่วงนั้นเป็นวงกลม เมื่อโลกถูกผลาญเผาจนหมดสิ้น สุดท้ายโลกใหม่ก็จะถือกำเนิด พรหมจะลงมาเกิดเป็นมนุษย์ เช่นเดียวกัน
สุดท้ายไฟจะเป็นเครื่องชุบชีวิตนางยักษ์ให้ “คืนไล่กินมนุษย์ปุถุชน” ไฟที่ใช้เผาผลาญธรรมชาติเพื่อขับเคลื่อนมนุษย์กลับเป็นไฟที่จะทำลายมนุษย์ในที่สุด การดื่มกินน้ำเลือดของนางผีเสื้ออาจมองได้ว่ายังเป็นการหาประโยชน์จากธรรมชาติและยังมองธรรมชาติเป็นแม่ผู้บำรุง (เหมือนดื่มน้ำนมแม่ น้ำที่ไหลออกมานั้น “มีสีขาวราวกับน้ำตาลโตนด ออกจากโอษฐ์นางมารเหมือนธารไหล” ชวนให้นึกถึงน้ำนมและอาหารที่นางได้กินเข้าไป) แต่กระนั้นก็ไม่อาจลบล้างอำนาจและความน่าหวาดกลัวของผีเสื้อสมุทรไปได้
ซากนางผีเสื้อที่กลายเป็นหินผาตั้งตระหง่านอยู่นั้นก็เป็นเหมือนอนุสรณ์ให้เรานึกถึงความคิดเรื่องแม่ ทั้งแม่ของลูกก็ดี มารดาแห่งธรรมชาติก็ดี ความคิดเรื่องแม่ที่สังคมชอบกำหนดให้สวยงาม อ่อนโยน และบริสุทธิ์นั้นเป็นความคิดที่ตีกรอบผู้หญิงตามแบบสังคมชายเป็นใหญ่ ผีเสื้อสมุทรเธอค้านทุกอย่าง และเปิดโปงว่าเป็นมายา เธอคือแม่ที่แสดงให้เห็นว่าความงามคือการจำแลงกาย ความบริสุทธิ์ทางเพศของแม่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ความหึงหวงสามีนั้นเป็นเรื่องปกติ เธอท้าทายความคิดว่าธรรมชาติคือมารดาผู้ทะนุถนอมมนุษย์ เพราะเธอคือธรรมชาติที่พร้อมตอบโต้การกระทำของมนุษย์ทุกประการ
ดิฉันไม่เชื่อว่าทุกคนจะไม่เคยมีปากเสียงกับแม่ หรือไม่พอใจแม่ของเราบ้างเล็กๆน้อยๆ และไม่เชื่อว่าทุกคนจะรักและพึงใจจะไปอยู่กับธรรมชาติไปเสียหมด ความรักนั้นไม่ว่าเราจะมีต่อใคร ดิฉันมองว่า สุดท้ายก็คือการอดทน อยู่คู่กับความเป็นจริง(ที่เปลี่ยนแปรไปได้ทุกขณะ)ของคนคนนั้น ไม่ใช่บุคคลในจินตนาการตามที่สังคมกำหนด
อย่าให้เทศกาลแห่งความรักแม่ ทำให้เราลืมหินผาผีเสื้อสมุทร เครื่องเตือนใจถึงชีวิต จิตใจ และแรงพลังภายในของผู้หญิงคนหนึ่งที่อาจขัดแย้งกับสิ่งที่สังคมเรียกว่าแม่