ปีนี้เป็นปีค่อนข้างหนักหน่วง เราเจอโรคระบาด พบพานความสูญเสีย สังคมไทยเองนอกจากโรคระบาดแล้วเราเองดูจะอยู่ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในมิติของความคิด และมุมมองต่อโลกในหมู่คนรุ่นใหม่ เกิดความคิดใหม่ๆ ขึ้นตามมา
วรรณกรรม จึงเป็นทั้งสิ่งที่สัมพันธ์กับความเป็นจริง ทั้งในแง่ที่วรรณกรรมงอกงามขึ้นจากบริบทร่วมสมัยของสังคม หรือบางครั้งวรรณกรรมงานเขียนทั้งหลาย ก็ทำหน้าที่ทำนาย-ก้าวนำสังคมหรือภาวะปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ร่วมขับเคลื่อนสังคมและก่อให้ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ไม่มากก็น้อย
ในขวบปีที่สังคมไทยทั้งหยุดนิ่งและเคลื่อนไหวไปพร้อมๆ กัน แต่ในโลกวรรณกรรมและวรรณกรรมวิจารณ์เองก็ยังดำเนินกันต่อไป ล่าสุดรางวัลซีไรต์ หนึ่งในรางวัลวรรณกรรมระดับนานาชาติที่สำคัญระดับต้นๆ ของไทย ซึ่งปีนี้เป็นปีของงานเขียนประเภทเรื่องสั้นก็ได้ประกาศรายชื่องานเขียนเข้ารอบ shortlist ประจำปี พ.ศ.2563 ออกมาเป็นรวมเรื่องสั้นทั้งสิ้น 8 เล่ม
สำหรับงานเขียนประเภทเรื่องสั้น ด้วยความสั้นและการร้อยเรียงของแต่ละเรื่องสั้นที่ทั้งสอดประสานแต่ก็มีอิสระต่อกันนั้น เรื่องสั้นถือเป็นงานเขียนที่สำคัญรูปแบบหนึ่ง ความสั้นของเรื่องสั้นจึงทำให้เรื่องสั้นสามารถแสดงได้ทั้งเทคนิคทางการประพันธ์ ในขณะเดียวกันการเรียงร้อยของเรื่องราวก็มักสัมพันธ์กับประเด็นทางสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย
ดังนั้นรวมเรื่องสั้นเป็นงานที่สัมพันธ์กับสภาวะในปัจจุบัน ตัวเรื่องสั้นมักเป็นงานเขียนที่นำไปสู่การทดลอง การตั้งคำถาม ไปจนถึงการใช้เทคนิคและความเป็นเรื่องแต่งท้าทายตั้งแต่ขนบของการประพันธ์ไปจนถึงความเป็นจริงของสังคม
จากรายชื่อหนังสือที่เข้ารอบสุดท้ายทั้ง 8 เล่ม แม้ว่าปีนี้ทางคณะกรรมการจะระบุว่า ด้วยภาวะโรคระบาดและความขัดข้องอื่นๆ ทำให้การส่งประกวดมีผู้ส่งหนังสือเข้าประกวดน้อยลงกว่าปีอื่นๆ แต่ในที่สุดแม้ว่าปริมาณจะน้อย แต่ก็ไม่ได้ทำให้คุณภาพด้อยลงแต่อย่างใด
เรื่องสั้นทั้ง 8 ชุดที่ผ่านการคัดเลือกของปีนี้ จึงอุดมไปด้วยลักษณะและความน่าตื่นตาตื่นใจของงานเขียน ที่แพรวพราวไปด้วยเทคนิคการเขียนและการเล่าถึงประเด็นร่วมสมัยที่สังคมกำลังให้ความสำคัญ สำหรับปีนี้มีงานเข้ารอบทั้งของนักเขียนมือเก่าตั้งแต่จเด็จ กำจรเดช หรือวิภาส ศรีทอง ตำนานเช่นแดนอรัญ แสงทอง นักเขียนเทคนิคแพรวพราวเช่นภาณุ ตรัยเวช ไปจนถึงงานเขียนของนักเขียนมือรางวัลเช่น วัฒน์ ยวงแก้ว ไปจนถึงแพรพลอย วนัช
24 ชั่วโมง, แพรพลอย วนัช
เราต่างใช้ชีวิตประจำวันอยู่บนความธรรมดา ในห้องนอน ห้องครัว ในความสัมพันธ์ของผู้คน และในห้วงเวลา 24 ชั่วโมงเท่าๆ กัน แต่ 24 ชั่วโมงอันแสนสามัญ ในนามของเวลา แต่บางครั้งนาฬิกาชีวิตของเรานั้นกลับเดินไม่เท่ากัน 24 ชั่วโมงของแพรพลอย ถักสานเรื่องสั้นและเรื่องราวอันแสนธรรมดาที่ในที่สุด เรื่องสามัญและโครงข้างความสัมพันธ์นั้นค่อยๆ เปิดเผยความไม่ธรรมดาในห้วงเวลาและนาฬิกาชีวิตที่เร็วช้า หรือบางครั้ง
ในเรื่องสั้นบางเรื่องเวลาก็เดินย้อนกลับหลังไปสู่อดีตได้ เรื่องราวที่ค่อยๆ ถักสานซับซ้อนขึ้นนั้นร้อยรัดอยู่บนประเด็นทางสังคมร่วมสมัยเช่นความรุนแรงในครอบครัว เกียรติยศและความตาย ความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเรื่องราวที่อาจจะเคยถูกเล่ามาแล้วนั้นถูกนำมาเล่าใหม่อีกครั้งด้วยเทคนิคของการรับรู้เรื่องราวผ่านสายตา การจ้องมองและความนึกคิดของตัวละครอื่น
คืนปีเสือ และเรื่องเล่าของสัตว์อื่นๆ, จเด็จ กำจรเดช
การกลับมาอีกครั้งกับผลงานรวมเรื่องสั้นของจเด็จ กำจรเดช หลังจากแดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ รับรางวัลซีไรต์ไปในปี พ.ศ.2554 ในคืนปีเสือจึงเป็นอีกชุดงานเขียนที่ใช้ความเป็นเรื่องแต่ง เล่นล้อทั้งกับงานเขียน บริบทร่วมสมัย เข้ากับประวัติศาสตร์และสถานที่จริง โดยทั้งหมดนั้นมีสัตว์
ในหลายความหมายเป็นศูนย์กลางของการเล่าเรื่องและเชื่อมโยงองค์ประกอบต่างๆ เข้าด้วยกัน ตัวงานนั้นยังอาจสัมพันธ์กับการใช้วรรณกรรมทั้งเพื่อแสดงความสามารถในทางการประพันธ์ และเป็นการสำรวจทบทวนความคิด ความสับสน ความหมายและความเป็นไปของโลกของตัวผู้เขียนเอง
ในโลกเล่า, วัฒน์ ยวงแก้ว
เป็นอีกครั้งที่รวมเรื่องสั้นของ วัฒน์ ยวงแก้ว เข้าสู่รอบสุดท้ายซีไรต์ ถ้าเทียบกับชื่ออื่นๆ วัฒน์ ยวงแก้ว อาจจะไม่คุ้นหูนัก แต่ผู้เขียนเป็นเจ้าของผลงานเรื่องสั้นที่มีชื่อติดโผรางวัลวรรณกรรมสำคัญของไทยแทบทุกเวทีมาแล้ว ซึ่งในปี พ.ศ.2554 ผลงานบันไดกระจก ก็ได้ผ่านเข้ารอบสุดท้าย เป็นรอบเดียวกันกับที่ปีนี้ผลงาน ‘ในโลกเล่า’ ของเขาก็ได้เข้ารอบตัดสินอีกครั้ง
ความโดดเด่นของผลงานของวัฒน์ ยวงแก้วอยู่ที่การเล่นบริบทร่วมสมัย กับเหตุการณ์และประเด็นปัจจุบันที่ในที่สุดแล้ว เรื่องเล่าของวัฒน์มักจะทำให้เส้นแบ่งของความจริงและความลวงสลายไปด้วยการเชื่อมโยงอดีต ความคิด ความเชื่อเข้ากับเหตุการณ์และความขัดแย้งของโลกความจริง
แพรกหนามแดง, แดนอรัญ แสงทอง
แค่ชื่อผู้เขียน และชื่อเรื่อง ก็เรียกได้ว่าเล่มนี้เป็นอีกหนึ่งตัวเต็ง แน่นอนว่างานของแดนอรัญเป็นงานเขียนที่เต็มไปด้วยหนักแน่น บอกเล่าเรื่องราวทั้งความซับซ้อนของตัวตน บริบทภาคอีสานและพื้นที่ชนบทที่ทั้งโรแมนติกพร้อมกับการเผชิญความขัดแย้ง แพรหหนามแดงเป็นชื่อตำบลที่มีบริบทเฉพาะทั้งในโลกความจริงที่ต้องเผชิญกับการพัฒนา และเป็นฉากสำคัญในเรื่องเล่าชุดอื่นๆ ของแดนอรัญเอง
ความโดดเด่นหนึ่งของแพรกหนามแดงคือความงดงามของภาษา และเรื่องราวที่ผู้เขียนพาเรากลับไปมองเห็นชีวิตของเด็กหนุ่มในบรรยากาศอันละเอียดลออของชีวิตท้องทุ่ง เป็นงานเขียนที่แสนเรียบง่าย แต่ในความธรรมดานั้นกลับทรงพลังได้อย่างเหลือเชื่อ
รยางค์และเงื้อมเงา, วิภาส ศรีทอง
วิภาส ศรีทอง เจ้าของผลงานสำคัญเช่น คนแคระ และหลงลบสาบสูญ เป็นอีกหนึ่งนักเขียนผู้จริงจังกับอาชีพนักเขียนคนหนึ่ง พร้อมด้วยความตั้งใจที่จะทำงานเพื่อขยับเพดาน และนำตัวเองไปสู่จุดที่กระทั่งตัวเองก็คาดไม่ถึง งานของวิภาสจึงก้าวไปข้างหน้าและชยเพดานตัวเองเสมอ ซึ่งผลงานรวมเรื่องสั้นล่าสุดนี้ก็ดูจะเป็นไปในทำนองเดียวกัน
รยางค์และเงื้อมเงา เป็นอีกหนึ่งงานที่จริงจัง หนักแน่นและทรงพลัง โดยยังคงสไตล์ของผู้เขียนคือการรักษาความแปลกประหลาด เปล่าเปลี่ยว เดาทางได้ยาก ที่ทั้งหมดนั้นประกอบขึ้นด้วยบนความละเมียดละไม หลายครั้งตัวงานใช้ความแปลกประหลาดอย่างสุดขั้วเปิดเผยให้เห็นความไม่ปกติ ของความปกติที่เราเจออยู่ในทุกๆ วัน
ไร้สัญชาติ และตัวละครอื่นๆ, บัญชา อ่อนดี
เสียงของคนไร้สัญชาติ ของผู้คนที่อยู่ในระหว่างเส้นแบ่งของชายแดน บัญชา อ่อนดีเป็นทั้งนักเขียน กวี และเป็นผู้มีสายตาอันคมคาย ที่คมคายมาพอจะเลือกฉายชีวิตและเรื่องราวของกลุ่มคนที่เรา หรือรัฐไม่เคยมองเห็น นับรวมและค่อยๆ ขุดลึกลงไปยังเรื่องราวของคนเหล่านั้นในระดับปัจเจก พาเราไปมองเห็นชีวิตชาวบ้าน นักเลง ที่ในที่สุดแล้วนำไปสู่คำถามในระดับตัวตน ที่ท้าทายกลับมาให้ตัวเราเองได้ทดลองตอบ
ลิงหิน และเรื่องสั้นอื่นๆ, ภาณุ ตรัยเวช
งานเขียนของภาณุ ตรัยเวช สร้างความประหลาดใจในฐานะนักทดลอง ที่ไม่ได้แค่เล่นสนุก แต่ยังออกแบบผลงานขึ้นอย่างถี่ถ้วนพร้อมกับความหวือหวานั้น ในลิงหินเล่มนี้ ภาณุได้ใช้เสียง สไตล์และตัวบทอื่นๆ โดยที่เจ้าตัวบอกว่าได้หยิบยืมเอารูปแบบและเรื่องราวนั้นกลับมาเล่าใหม่
โดยในลิงหินนี้เราจะได้อ่านเรื่องสั้นที่หลากหลายเป็นอย่างยิ่งทั้งที่ยืมจากนักเขียนตำนานทั้งของไทยและต่างประเทศ ตั้งแต่เชคสเปียร์ น.ม.ส. ไปจนถึงเหม เวชกรณ์ ได้เห็นการกลับมาของสำนวนและวิธีการเล่าเรื่องที่เราคุ้นเคยตั้งแต่เรื่องสืบสวน เรื่องเหนือจริง เรื่องเสียดสี ไปจนถึงนิทานซ้อนแบบนิทานเวตาล งานเขียนชิ้นนี้จึงมีความสอดรับกับกระแสหลังสมัยใหม่ที่เปิดโอกาสให้เราการเล่นและตีความตัวบทไปสู่ความเป็นไปได้อย่างไม่รู้จบ อย่างสนุกสนานและน่าตื่นตาตื่นใจ
อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ และเรื่องราวอื่นๆ, กำพล นิรวรรณ
จุดเด่นหนึ่งของเรื่องสั้นไทยคือชุดเรื่องเล่าเกี่ยวกับป่า เกี่ยวกับความลี้ลับ และบริบทประวัติศาสตร์ของยุคคอมมิวนิสต์ ที่ความขัดแย้งและความคิดบางส่วนยังคงค้างเติ่งมาจนทุกวันนี้ถือ รวมเรื่องสั้นชุดนี้เป็นงานเขียนที่กำพล นิรวรรณ นักเขียนผู้เคยเข้าไปเคลื่อนไหวอยู่ในป่ากับพรรคคอมมิวนิสต์หลังเหตุการณ์เดือนตุลา
โดยหลังป่าแตก และหลังจากใช้ชีวิตในฐานะนักแปลที่ผ่ายบทเรียนอื่นๆ มาแล้ว ก็ได้กลั่นกรองประสบการณ์ ความทรงจำ ความคิด และความเชื่อ กลายเป็นรวมเรื่องสั้นที่มีความเหนือจริงและเหตุการณ์ในอดีตที่หล่อหลอมจนกลายเป็นงานเขียนที่ค้นหาความหมาย และอาจนำไปสู่ความเข้าใจรากเหง้าของปัญหาปัจจุบัน ที่อาจนำไปสู่คำตอบของอนาคต