งานหนังสือเพิ่งผ่านพ้นไป แต่ละคนก็ได้อะไรติดไม้ติดมากลับมาบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งระหว่างที่เดินงานหนังสือ เราก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า ในตลาดหนังสือของไทยมีวรรณกรรมที่เรียกว่า Young Adult ในบริบทไทยๆ อยู่บ้างหรือเปล่า เพราะในต่างประเทศเมื่อช่วงหลายปีที่ผ่านมา วรรณกรรมประเภทนี้ได้รับกระแสความนิยมพุ่งขึ้นสูงมากจนเป็นเรื่องที่น่าสนใจ
นอกจากการตามหาหนังสือ Young Adult แล้ว อีกคำถามที่ตามมาก็คือ การที่ตลาดหนังสือบ้านเราจะมีหรือไม่มี Young Adult Literature สำคัญมากขนาดไหนกัน?
วรรณกรรม Young Adult คืออะไร
จริงๆ การนิยามวรรณกรรม Young Adult (หลังจากนี้จะขอเรียกสั้นๆ ว่า YA) เป็นอะไรที่ยังหาจุดลงตัวแน่นอนไม่ได้ มีการแบ่งนิยามเป็น 2 ความหมาย ความหมายแรกคือ หมวดหมู่ (category) ของวรรณกรรมที่มีเป้าหมายเป็นกลุ่มผู้อ่านอยู่ในช่วงอายุ 12-18 ปี กับอีกความหมายหนึ่งคือวรรณกรรมที่ผู้เล่าเรื่อง (narrative) เป็นวัยรุ่น และต้องเผชิญปัญหาหรือสถานการณ์บางอย่างที่จะทำให้ตัวละครเหล่านั้นเรียนรู้และเติบโตขึ้น หรือจะเรียกว่าเป็นหนังสือที่พูดเรื่องการก้าวผ่านวัย (coming of age) ของกลุ่มวัยรุ่นได้เช่นกัน
จุดกำเนิดของคำว่า YA เริ่มในปีค.ศ. 1802 เมื่อ Sarah Trimmer นักเขียนวรรณกรรมเด็กแยกประเภทของหนังสือเด็กเป็น ‘Books for Children’ สำหรับคนที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี และ ‘Books for Young Persons’ สำหรับคนที่มีอายุ 14-21 ปี แต่ YA ก็ยังไม่บูมมากเท่าไหร่นัก วรรณกรรมที่น่าจะเข้าเค้ามากที่สุดช่วงแรกๆ ก็คือ The Catcher in the Rye (ฉบับแปลภาษาไทยคือจะเป็นผู้คอยรับไว้ไม่ให้ร่วงหล่น — ไลต์เฮาส์พับลิชชิ่ง) กับ Lord of the Flies (ฉบับแปลภาษาไทยคือ จ้าวแห่งแมลงวัน) ก่อนจะเริ่มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นเมื่อสำนักพิมพ์หนึ่งได้ตีพิมพ์เรื่อง The Outsiders ของ S.E. Hinton และใช้คำว่า YA ในการเจาะกลุ่มตลาดวัยรุ่น หรืออีกความหมายหนึ่งก็คือเพื่อทำการตลาดนั่นเอง
YA จึงไม่ใช่ ประเภท (genre)ในทางวรรณกรรม แต่เป็นการแบ่งหมวดหมู่ (category) ของวรรณกรรมผ่านอายุ (ซึ่งก็แล้วแต่ว่าจะเป็นอายุของคนอ่าน หรืออายุของตัวละคร) เพราะ YA นั้นสามารถเล่าผ่านความโรแมนซ์แบบ To all the boys I’ve love before แนวแฟนตาซีแบบ Percy Jackson and the Olympians เป็นแนวไซไฟ-ดิสโทเปียแบบ The Hunger Games หรือแนวสืบสวนสอบสวนแบบ Paper Town ก็ได้ทั้งหมด
ดังนั้นธีมสำคัญของการเป็นวรรณกรรม YA คือ การที่ผู้เล่า
ซึ่งอยู่ในช่วงวัยรุ่นต้องเผชิญกับปัญหาและแก้ไขมันด้วยตัวเอง
อาจจะมีเพื่อนๆ หรือครอบครัวคอยสนับสนุน
แต่ท้ายที่สุดการตัดสินใจก็ขึ้นอยู่กับตัวละครวัยรุ่นคนนั้น
มีการสำรวจมาว่าธีมที่เจอในปี 1980-2000 จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ มิตรภาพ การเผชิญปัญหาทั้งเรื่องความสัมพันธ์ ความรัก เซ็กซ์ การรับมือกับชื่อเสียงที่จู่โจมเข้ามาอย่างไม่ทันตั้งตัว หรือแม้แต่การพูดถึงเรื่องความตายก็ปรากฏในวรรณกรรมหมวดหมู่นี้ด้วย และจากที่สังเกตเพิ่มเติม ในปัจจุบันสิ่งที่ได้รับการพูดถึงเพิ่มมากขึ้นก็คือเรื่องของปัญหาโรคซึมเศร้า และการแสดงอัตลักษณ์ของตัวเอง เราจะเห็นวรรณกรรม YA พูดถึงวัยรุ่นที่อยากจะ come out ออกมามากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน
ทำไม YA ถึงได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น
มีรายงานว่าในช่วง 10 ปี จำนวนหนังสือของ YA เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว โดยในปี 2002 วรรณกรรม YA ตีพิมพ์ประมาณ 4,700 เรื่อง แต่ในปี 2012 ได้รับการตีพิมพ์มากกว่า 10,000 เรื่อง โดยในตลาดต่างประเทศมีการสำรวจด้วยว่าคนที่ซื้อวรรณกรรม YA ไปอ่านคือผู้ใหญ่ในช่วงอายุตั้งแต่ 18-64 ปี (ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างกว้างเลยทีเดียว)
นอกจากกลุ่มคนอ่านที่ใหญ่มากๆ แล้ว วรรณกรรม YA ยังสามารถขยายตลาดไปยังสื่ออื่นๆ ได้ง่ายและได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ อย่างที่เห็นกันบ่อยๆ ในช่วงปีที่ผ่านมา เช่น The Fault In Our Stars, Everything Everything หรือ Love, Simon (ดัดแปลงจากหนังสือ Simon vs. the Homo Sapiens Agenda)
การมีกลุ่มตลาดที่รองรับใหญ่มากขนาดนี้จึงทำให้เห็นความนิยมที่เพิ่มสูงขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งสาเหตุที่ผู้คนให้การตอบรับวรรณกรรม YA อาจเป็นไปได้ว่าความจริงจังของเรื่องที่ไม่ทำให้ต้องถึงกุมขมับตอนอ่าน ยังคงความสนุกสนานและบันเทิงเอาไว้ได้อยู่ เพราะความสนุกคือจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะทำให้คนอ่านเลือกหรือไม่เลือกหนังสือ อีกทั้งตัวละครก็มีลักษณะที่อาจจะเหมือนใครหลายๆ คนจนทำให้คนอ่านสามาถเข้าใจและอินไปด้วยได้ง่ายกว่า
YA กับ วรรณกรรมเยาวชน
กลับมามองบ้านเราที่มีหมวดหมู่หนังสือที่เรียกว่า‘วรรณกรรมเยาวชน’ ซึ่งก็อาจจะยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าจะสามารถเอามาเทียบกันตรงตัวกับคำว่า Young Adults Literature ได้หรือไม่ ซึ่งเมื่อได้ลองคุยกับคนในแวดวงหนังสือ ดูเหมือนว่าการนิยามคำว่า ‘วรรณกรรมเยาวชน’ กับ Young Adults Literatures ก็มีความเห็นที่หลากหลายกันไปอยู่บ้าง
ผศ.ดร. ศิริพร ศรีวรกานต์ อาจารย์ประจำภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความเห็นไว้ว่า คำว่า ‘เยาวชน’ เองก็ยังไม่สามารถสรุปได้เป็นสากล เพราะแต่ละประเทศก็จะมีการระบุอายุของเยาวชนแตกต่างกันไป แต่วรรณกรรมเยาวชนก็อาจจะเทียบกับ YA ได้อยู่ เพราะมันก็จะมีวรรณกรรมเด็กแยกออกไปอีกที่เราสามารถเทียบกับภาษาอังกฤษว่าเป็น Children Literature
สำหรับวรรณกรรมเยาวชนเองก็อาจมีข้อสรุปว่าเป็นหนังสือที่เขียนให้เด็กหรือเยาวชนอ่านโดยเฉพาะ โดยมักจะจัดประเภทผ่านลักษณะตัวละคร เช่น ตัวละครมีอายุ 11 ปีขึ้นไปก็จะถูกนับว่าเป็นวรรณกรรมเยาวชน แต่บางทีก็ดูตามแก่นเรื่องว่ามีการนำเสนอปัญหาของวัยรุ่นมากขึ้น มีความซับซ้อนของปัญหามากขึ้น อาจพูดถึงปัญหาการข่มขืน ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน หรือการที่ตัวละครวัยรุ่นต้องประสบกับความเจ็บป่วย อย่างเช่น The Fault in Our Stars (ดาวบันดาล — สำนักพิมพ์คลาสแอคท์)
ซึ่งทางสมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ก็มองไปในทิศทางเดียวกันว่าสามารถเทียบ YA กับ วรรณกรรมเยาวชนในบ้านเราได้อยู่ โดยมองว่าวรรณกรรมเยาวชนนั้นก็คือวรรณกรรมสำหรับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งต่างจากวรรณกรรมเด็กที่เหมาะกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี
ส่วนสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์วรรณกรรมเยาวชนทั้งของไทยและต่างประเทศได้ให้นิยามวรรณกรรมเยาวชนไว้ว่าเป็นทั้งหนังสือนิทาน นิยาย สารคดีที่ตั้งใจเขียนขึ้นเพื่อให้เยาวชนอ่าน ซึ่งคนส่วนใหญ่จะเข้าใจแค่ว่า วรรณกรรมเยาวชนคือนิยายสำหรับเด็กอายุ 9 ขวบขึ้นไปเสียมากกว่า แต่จริงๆ แล้ววรรณกรรมเยาวชนค่อนข้างกว้างกว่านั้น โดยเกณฑ์ของทางสำนักพิมพ์ที่จะแบ่งว่าเรื่องนี้เป็นวรรณกรรมเยาวชนไหม หลักๆ ก็คือแบ่งตามกลุ่มอายุของผู้อ่าน และต้องไม่มีฉากความรุนแรงเกินไป นอกจากนี้เพราะ YA เป็นคำใหม่มากในสังคมไทย แต่ละสำนักพิมพ์จึงอาจจะมีขอบเขตการจัดประเภทไม่เท่ากัน เลยอยากให้มองว่ามันคือ subjective ของวรรณกรรมเยาวชนมากกว่า เพื่อไม่ให้สับสนมากไปนัก อยากให้มองว่างาน YA เป็นวรรณกรรมเยาวชนที่เชื่อมระหว่างวรรณกรรมเด็กไปสู่วรรณกรรมผู้ใหญ่ก็ได้
ในขณะเดียวกัน จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท นักเขียนรุ่นใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมก็ได้นิยามงานของตัวเองว่าเป็นงานประเภท YA ซึ่งมองว่าในไทยยังไม่มีคำแปลที่แน่ชัด แต่อาจจะพูดได้ว่าเป็นวรรณกรรมวัยรุ่น ซึ่งแตกต่างจากวรรณกรรมเยาวชน เพราะจิดานันท์มองว่าวรรณกรรมเยาวชนเป็นงานเขียนที่สร้างให้เด็กอ่าน แต่งาน YA สร้างมาเพื่อเป็นสะพานเชื่อมระหว่างโลกของเด็กกับผู้ใหญ่ เพื่อให้นักอ่านซึ่งเป็นวัยรุ่นค่อยๆ ปรับตัวได้ ซึ่งหนังสือที่ทำขึ้นมาเพื่อให้กลุ่มนักอ่านที่เป็นวัยรุ่น ไม่ว่าจะมาจากสำนักพิมพ์แจ่มใส หรือสำนักพิมพ์พูนิก้า ก็อาจเรียกได้ว่าเป็น YA ด้วยเช่นกัน
จากความเห็นของคนในแวดวงหนังสือนี้ เราก็พอจะมองเห็นว่า แม้แต่วรรณกรรมเยาวชน ก็ยังไม่มีนิยามที่ตายตัวชัดเจน บางคนมองว่าเป็นวรรณกรรมของเด็กวัยรุ่น ซึ่งเทียบได้กับ YA ของต่างประเทศ แต่ในขณะที่บางคนมองว่ามันคือวรรณกรรมเด็กแบบ children literature ซึ่งปัญหาการนิยามประเภทวรรณกรรมนี้อาจจะมองไปถึงการให้ความหมายของคำหนึ่งคำก็ได้เช่นกัน
มีความเห็นที่น่าสนใจจาก โตมร ศุขปรีชา กรรมการตัดสินรางวัลแว่นแก้ว สาขาสารคดี บอกไว้ว่าอาจจะเป็นที่การนิยามคำที่ทำให้เรายังสับสนกันอยู่ เพราะถ้าเราดูความหมายของคำที่ใช้เรียก ก็พอจะเห็นความแตกต่างแล้วบ้าง คือ ‘Young Adult’ หมายถึง ผู้ใหญ่ที่อยู่ในวัยแรกเริ่ม ส่วน ‘เยาวชน’ คือ คนที่ยังเยาว์ หรือคนที่ยังเด็ก
จากความเห็นของคุณโตมรก็อาจสะท้อนแนวคิดของสังคมด้วยว่า การที่เรายังไม่มีวรรณกรรมประเภท YA ที่ชัดเจน เพราะเรายังมองเยาวชนว่าเป็น ‘เด็ก’ ในขณะที่ต่างประเทศมีวรรณกรรมประเภทนี้แยกออกมา เพราะวัยรุ่นสำหรับพวกเขาคือวัยที่กำลังจะเริ่มเป็นผู้ใหญ่ดังนั้น บนพื้นฐานความคิดที่แตกต่างกันอาจทำให้เราสร้าง‘งาน’ แตกต่างกันไปด้วย ซึ่งจากเรื่องนี้จะนำไปสู่คำถามที่ว่า เรามอง ‘เด็ก’ ในสังคมกันอย่างไรบ้าง
สำรวจหมวดหมู่หนังสือในร้านหนังสือ
นอกจากถามไปยังผู้คนในแวดวงหนังสือแล้ว การสำรวจผ่านร้านหนังสือว่าแต่ละร้านแบ่งประเภทหนังสืออย่างไรบ้างก็น่าจะพอบอกอะไรเราได้บ้าง ซึ่งเมื่อลองเข้าไปดูในร้านหนังสือใหญ่ๆ ของไทยและต่างประเทศทั้งหมด 6 ร้าน คือ se-ed books, นายอินทร์, b2s, Asia books, Kinokuniya และ Amazon โดยลองหยิบยกหนังสือที่เป็น YA ในต่างประเทศมาทำตารางเปรียบเทียบออกมาก็ได้ข้อมูลที่น่าสนใจ
จะเห็นว่าการจัดประเภทหนังสือของร้านหนังสือไทยไม่มีการจัดประเภท YA แต่จะเปลี่ยนเป็นประเภทอื่นๆ แทน ซึ่งการสำรวจเบื้องต้นก็พอจะช่วยยืนยันว่า ในไทยยังไม่มีประเภท YA ชัดเจน ส่วนวรรณกรรมไทยที่มีลักษณะเข้าข่าย YA มากที่สุดอย่าง เวลาในขวดแก้ว ของ ประภัสสร เสวิกุลก็ถูกจัดให้เป็นนิยายทั่วไปหรือวรรณกรรมร่วมสมัยแทน ไม่ใช่แม้แต่วรรณกรรมเยาวชนหรือนิยายวัยรุ่นเลยด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่ตัวละครอยู่ในช่วงวัยรุ่น
การมี YA สำคัญขนาดนั้นเลยหรือเปล่า
จากที่พูดมาทั้งหมด ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า แล้วการมี YA สำคัญมากขนาดนั้นเลยรึเปล่า ถ้าไม่มีแล้วจะแย่ขนาดนั้นเลยเหรอ ซึ่งคำตอบก็อาจจะเป็นทั้งใช่และไม่ใช่ บางคนมองว่าไม่ว่าจะอ่านอะไรก็สำคัญเหมือนกัน ขอแค่อ่านแล้วตีความได้ อ่านแล้วเข้าใจ
แต่สำหรับบางคน YA อาจจะกลายเป็นเพื่อนข้างกายที่คอยเข้าใจชีวิตของวัยรุ่นในยามที่เกิดเหตุการณ์ต่างๆ เพราะ YA คือหนังสือที่เล่าเกี่ยวกับชีวิตของวัยรุ่นที่เผชิญ ซึ่งมีปัญหาหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการต้องดีลกับชีวิตที่ครอบครัวแตกแยก การออกมา come out การเป็น LGBTQ การโดน Bullying การเสพยา การติดเอดส์จากเซ็กส์
‘วัยรุ่น’ คือช่วงชีวิตที่ผู้ใหญ่บอกว่าเป็นวัย‘หัวเลี้ยวหัวต่อ’ บางที การมี YA มาช่วยเล่าประสบการณ์ก่อนที่พวกเขาจะเดินไปหาประสบการณ์นั้นเองก็น่าจะทำให้เกิดผลลัพธ์ใหม่ๆ การอ่านหนังสือทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ที่อาจจะไม่ถูกต้อง 100% แต่ก็ทำให้เราได้ลองคิดเหตุผลและความเป็นไปได้บ้างไม่มากก็น้อย
ถึงอย่างนั้น จะพูดว่าในไทยไม่มี YA เลยหรือ ก็อาจจะไม่ใช่ เพียงแต่ในตลาดหนังสือเราอาจจะขาดความหลากหลายเวลาพูดถึงเรื่องของ ‘วัยรุ่น’ หรือ ‘เยาวชน’ เพราะในสังคมไทยยังมองว่าวัยรุ่นคือ ‘ผู้ที่ยังเยาว์’ ต้องมีกฎระเบียบ ต้องคอยสั่งสอน และให้ทำตามสิ่งที่ผู้ใหญ่บอก เป็นผ้าขาวที่ต้องคอยปกป้องไม่ให้แปดเปื้อน สิ่งเหล่านี้กลายเป็นทัศนคติของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็กซึ่งดูจะแตกต่างจากต่างประเทศที่เด็กวัยรุ่นจะได้ลองออกไปเผชิญโลกด้วยตัวเองมากกว่า เป็นความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้วยส่วนหนึ่ง
ดังนั้นแล้วการตั้งคำถามผ่านการมีอยู่ของ YA ก็เหมือนการตั้งคำถามว่า มีอะไรที่สังคมเราขาดไปบ้าง? วรรณกรรมเยาวชนที่มีอยู่ในไทยตอนนี้เพียงพอต่อความต้องการของกลุ่มคนอ่านวัยรุ่นหรือเปล่า?
เพราะวัยรุ่นมีความขบถอยู่ในตัวเสมอ และเมื่อการสอนตรงๆ อาจใช้ไม่ได้ผล ทำไมเราไม่ลองสร้าง YA ขึ้นมาเพื่อเป็นเพื่อนที่อยู่เคียงข้างเขา ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้โดดเดี่ยวและต้องเผชิญปัญหาคนเดียว ให้เรื่องเล่าจากประสบการณ์บนหน้ากระดาษของวัยรุ่นคนหนึ่งได้ปล่อยให้วัยรุ่นในโลกจริง ได้ลองคิดเรียนรู้ และตัดสินใจด้วยตัวเอง
ถ้าการเป็นวัยรุ่นมันเจ็บปวด ทำไมเราไม่ลองให้ความสำคัญกับวรรณกรรมที่พยายามเข้าใจวัยรุ่นบ้างล่ะ
ขอบคุณ
ผศ.ดร. ศิริพร ศรีวรกานต์อาจารย์ประจำภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คุณสุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย
คุณอนุรักษ์ กิจไพบูลทวี (TRC)
คุณแคทรียา ล้อเจริญ สำนักพิมพ์ DEXPRESS
คุณอาจารีย์ สุทธิโรจน์ บรรณาธิการบริหาร บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด
คุณณัฐชา กฤตนิรัติศัย บรรณาธิการกองบันเทิงคดี บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด
คุณวริษฐา ศรีธัญรัตน์ บรรณาธิการกองบันเทิงคดี บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด
คุณจิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท
อ้างอิงข้อมูลจาก
The Anatomy Of The Explosive YA Genre
Young Adult and New Adult Book Markets
Before The Hunger Games: How Young Adult Books First Became a Category