สมาธิถือเป็นสมบัติสำคัญของช่วงอายุ 20 ของผม
แต่ไม่รู้ทำไมเหมือนกันนะครับ – พออายุผมย่างเข้า 30 ก็เหมือนว่าผมทำสมบัติสำคัญชิ้นนี้หายไปเสียดื้อๆ, หากพูดโดยไม่กล่าวโทษอายุ (ที่มากขึ้น) ของตัวเอง สอดส่ายสายตาหาสาเหตุอื่น ก็พอจะได้คำตอบว่า ที่เราทำสมาธิหล่นหายเพราะโลกหยิบยื่นเรื่องน่าสนใจให้ทำมากขึ้นเรื่อยๆ
จากเคยต้องสนใจเรื่องเดียว, อย่างเดียว กลายมาเป็นต้องสนใจทุกอย่าง, ต้องสลับโหมดความสนใจไปมาได้ฉับพลัน – ต้องมัลติทาสก์
แต่อย่างที่หลายคนรู้นั่นแหละครับ – การทำหลายอย่างพร้อมกันใช่ว่าจะมีแต่เรื่องดีไปเสียเมื่อไหร่ ถึงแม้จะมีรายงานออกมาว่าเด็กรุ่นใหม่ (Gen Y และ Gen Z) จะมัลติทาสก์เก่งกว่าคนรุ่นก่อนๆ แต่ผู้เชี่ยวชาญก็เห็นตรงกันว่าจริงๆ แล้วพวกเขาก็ยังต้องจ่ายโหลดสมองไปกับการสวิตซ์โหมดการทำงานจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่งกลับไปกลับมาอยู่ดี (มีการประเมินครั้งหนึ่งว่า ธุรกิจโดยรวมของสหรัฐสูญเสียผลิตภาพคิดเป็น 650,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีให้กับการมัลติทาสก์ – หมายความว่า ถ้าทำทีละอย่างแล้วจะให้ผลิตภาพที่ดีกว่าทำหลายอย่างพร้อมกันตั้งเยอะ!)
ไม่มีอีกแล้ว ที่เคยจมจ่อมกับงานได้ครั้งละนานๆ ไม่มีอีกแล้วที่ทำงานเพลินจนรู้สึกเหมือนไม่ทำ บางครั้งผมก็คิดถึงคืนวันที่ตะลุยเขียนโปรแกรมอย่างเดียวได้คราวละห้าหกชั่วโมงโดยไม่เหนื่อย ไม่หิว คิดถึงการเขียนหนังสือคราวละเป็นวันๆ ที่ตัวหนังสือต่างขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยตัวของพวกมันเอง – ทุกวันนี้ ผมตกอยู่ในภาวะนั้นยากเต็มที
ภาวะที่เราเรียกกันว่าโฟลว (Flow)
ในช่วงสี่ห้าปีหลัง ผมเห็นว่ามีการอ้างถึงภาวะ Flow กันมากขึ้น ถึงแม้ภาวะนี้จะได้รับการบันทึกเป็นหลักเป็นฐานโดย Mihály Csíkszentmihályi นักจิตวิทยาชาวฮังกาเรียนตั้งแต่ปี 1975 (เชื่อเถอะว่า คุณไปพลิกหนังสือเกี่ยวกับปรัชญาการทำงานสมัยใหม่เล่มไหนของฝรั่งก็น่าจะเจอชื่อของคุณคนนี้) แต่โลกบีบบังคับให้เราทำอะไรและสนใจอะไรใหม่ๆ – โลกที่เร่งเร็วขึ้น – ที่เรากลัวจะ ‘ไม่ทัน’ คนอื่นมากขึ้น อาจส่งผลให้คอนเซปท์นี้ถูกหวนรำลึกขึ้นมาอีกครั้งในระยะหลัง
เมื่อพูดถึง Flow คุณอาจเคยเห็นแผนภาพเช่นนี้ นี่เป็นแผนภาพที่อธิบายเรื่อง Flow หรือ “ภาวะในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เพลิดเพลินจนรู้สึกเหมือนอันหนึ่งอันเดียวกันกับสิ่งนั้น” ได้เข้าใจง่ายที่สุด
จากแผนภาพ แกนนอนคือระดับความสามารถ แกนตั้งคือระดับความท้าทาย หากคุณมีความสามารถต่ำกว่าความท้าทาย สิ่งที่คุณอาจรู้สึกก็คือความกังวล (Worry) หรือความวิตก (Anxiety) ในขณะที่หากคุณมีความสามารถสูง แต่พบกับงานที่มีความท้าทายต่ำ คุณก็อาจรู้สึกตั้งแต่เบื่อ (เพราะงานไม่ท้าทาย) รู้สึกผ่อนคลาย หรือรู้สึกควบคุมงานนั้นได้
แต่ถ้าทั้งงานและความสามารถอยู่ในระดับที่สูงทั้งคู่แล้วละก็ (หมายถึงว่าคุณก็มีทักษะที่สูง และงานก็ท้าทายสมกับทักษะของคุณ) นั่นเองที่คณจะไปถึงภาวะ Flow ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่คุณเข้าไปในภาวะนี้ได้แล้ว คุณจะรู้สึกราวกับว่าเวลาเคลื่อนผ่านไปโดยที่คุณไม่รู้สึกตัว
ทฤษฎี Flow บอกว่าเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดภาวะ Flow มีอยู่สามข้อหลักๆ คือ
- เราจะต้องทำงานนั้นโดยมีเป้าหมายและการวัดความก้าวหน้ากำหนดไว้อย่างแน่นอน (เช่น เป็นงานที่อาจมีเช็คพอยนต์ หรือมีความคืบหน้าชัดเจน เช่น เขียนหนังสือ ก็จะมีความก้าวหน้าเป็นจำนวนคำ จำนวนบท หรือเรื่องราวที่คืบหน้าไป ถ้าเป็นงานที่ทำเท่าไรๆ ก็วนอยู่ที่เดิม ก็จะไม่เข้าข่ายเงื่อนไขนี้)
- งานจะต้องให้การตอบสนองทันที ทำให้เราสามารถโต้ตอบหรือเปลี่ยนแปลงกลยุทธในการทำงานเพื่อคงอยู่ในสถานะโฟลวได้
- งานและทักษะต้องสมดุลกัน (อันที่จริงแล้ว ทักษะและงานอาจไม่สมดุลกันก็ได้ แค่ “รู้สึก” (perceived) ว่าสมดุลกันก็พอ)
ต่อมาโอเว่น ชาฟเฟอร์ เสนอเงื่อนไขที่ทำให้เกิดภาวะโฟลวไว้ 7 ข้อ ที่ดูเข้าใจง่ายกว่าเดิม ไว้ในปี 2013 ว่า เพื่อที่จะให้เกิดภาวะ Flow
- คุณจะต้องรู้ว่าคุณกำลังทำอะไร
- คุณจะต้องรู้ว่าคุณจะทำมันอย่างไร
- คุณจะต้องวัดผลได้ว่าคุณทำสิ่งดังกล่าวได้ดีหรือไม่
- คุณจะต้องรู้ว่าคุณกำลังจะไปที่ไหน (หากเป็นงานที่มีการนำทาง, ผมเข้าใจว่าในเชิงงานทั่วไป การ “ไปที่ไหน” คล้ายกับการรู้แผนที่ ว่าเรากำลังไม่หลง ไม่เดินผิดทาง)
- งานที่อยู่ตรงหน้าจะต้องดูมีความท้าทาย
- ทักษะของคุณจะต้องอยู่ในระดับสูง
- ไม่มีสิ่งรบกวน (Freedom from Distractions)
Deep Work
คุณอาจเคยเห็นหนังสือปี 2016 ที่ชื่อ Deep Work : Rules for focused success in a distracted world (การทำงานเชิงลึก: กฎแห่งการความสำเร็จในโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งรบกวน) ของ Cal Newport นี่เป็นหนังสือขายดีติดอันดับอยู่หลายสัปดาห์ ซึ่งอาจบอกกับเราได้ว่า ในปัจจุบัน คนต้องการไกด์บุ๊ก หรือฮาวทู เพื่อขจัดสิ่งรบกวนรอบข้าง และโฟกัสกับงานตรงหน้าได้จริงๆ
มีผู้อ้างว่าวิธีการของ Cal Newport ในหนังสือ Deep Work ช่วยให้พวกเขาทำงานจำนวนมากเสร็จได้อย่างรวดเร็ว (หากจะวัดจากจำนวนที่นับได้ ก็มีตัวเลขน่าทึ่งมากมาย ตั้งแต่มีคนอ้างว่า เขียนต้นฉบับความยาว 45,000 คำเสร็จใน 6 เดือน อ่านหนังสือ 100 เล่มในหนึ่งปี หรือเขียนบทความได้ 100 ชิ้น ฯลฯ) ทั้งที่หลักการของ Deep Work ก็ไม่ได้ยากเย็นอะไรนัก มันแทบจะอยู่ในสามัญสำนึกของเราด้วยซ้ำ มีผู้สรุปวิธีการทำงานแบบ Deep Work ไว้คร่าวๆ ดังนี้
เราต้องกันช่วงเวลาไว้เพื่อทำงาน : คาลแนะนำว่าช่วงเวลาที่เรากั้นไว้ควรมีความยาวไม่ต่ำกว่า 90 นาที และเราควรบล็อกเวลานั้นไว้ในปฏิทินเลย และควรเคร่งครัดกับเวลานั้นด้วย หากมีใครจะนัดเราในช่วงเวลาที่กั้นไว้ เราก็ควรจะปฏิเสธเขา หรือขอให้เขานัดในช่วงเวลาอื่น
เราต้องโอเคกับความเบื่อ : คาลบอกว่าถ้าเราไม่ฝึกสมองให้ชินกับความเบื่อ สมองเราก็จะทนทานต่อความเบื่อได้น้อยลงเรื่อยๆ และเบื่อง่ายขึ้นเรื่อยๆ เขาแนะนำว่าเราอาจลองฝึกให้อดทนกับความเบื่อได้โดยลองกลั้นใจไม่หยิบมือถือออกมาเล่นในตอนที่รอใครสักคนสัก 5-10 นาที
ทำสมาธิอย่างมีประสิทธิภาพ : ลองพยายามตั้งจิตอยู่กับปัญหาใดปัญหาหนึ่งเท่านั้นในช่วงเวลาหนึ่งๆ โดยไม่วอกแวก คล้ายกับการทำสมาธิ แต่โฟกัสที่ปัญหาที่เราต้องการแก้ไข
ไม่โอนอ่อน : ในช่วงที่ทำงานแบบ Deep Work เราต้องอดทนไม่เช็คอีเมล ไม่เช็คแมสเสจ ไม่อดทนต่อการรบกวนใดๆ ทั้งสิ้น ให้ตัดขาดจากโลกไปในช่วงนั้น
เตรียมตัวสำหรับ Deep Work : บางคนอาจต้องการ “พิธีกรรม” บางอย่างก่อนจะเข้าสู่ภาวะ Deep Work เช่น ทำความสะอาดโต๊ะ หรือแขวนป้ายห้ามรบกวนไว้ที่ประตูห้อง
กฎ ‘ลดลง 20 เปอร์เซนต์’ : หากเราตั้งเดดไลน์ไว้ตอนไหน ให้ลดเวลาลง 20% คาลบอกว่า “เมื่อมีเวลาน้อยลง เราก็จะทำงานอย่างเข้มข้นมากขึ้น” (เช่น หากกำหนดเวลาเดิมไว้ 30 วัน ให้ตัดลง 20% เหลือ 24 วัน เป็นต้น)
Deeper Work, Flow-er Work
พอค้นเรื่อง Deep Work หรือ Flow ลึกลงไป ผมก็เจอ ‘การแฮ็ก’ ต่างๆ มากมาย – อย่างที่ทราบแหละครับ – ปัจจุบันสังคมอเมริกัน (ผมเข้าใจว่าโดยเฉพาะพวกที่ทำงานในสายเทคโนโลยี) มักบ้าการแฮ็กนั่น แฮ็กนี่ ซึ่งคำว่า ‘แฮ็ก’ ในที่นี้ก็มีความหมายอย่างหลวมๆ ว่าคือการมองสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นระบบ แล้วพยายามหาวิธีการต่างๆ เพื่อปรับจูนระบบนั้นให้มีผลิตผลดีขึ้นด้วยความพยายามที่น้อยที่สุด หรือ Optimal ที่สุดนั่นเอง
กับการทำงานก็เช่นกัน พวกเขาพยายามหาวิธี “แฮ็ก” ตัวเอง ให้เกิดภาวะ Flow ได้อย่างรวดเร็วที่สุด (ซึ่งผมก็ยังไม่ได้ลอง เลยบอกไม่ได้ว่าได้ผลจริงหรือไม่อย่างไร แต่ก็เห็นว่าเป็นความพยายามที่น่าสนใจดี) ความพยายามที่ผมอ่านแล้วทึ่งที่สุดอันหนึ่งเป็นของคุณ Andy McCune เขาเขียนไว้ในเว็บไซต์ Hackernoon ถึงการ ‘แฮ็กสถานะ Flow’ ของตัวเองผ่านวิธีการต่างๆ ซึ่งสำหรับตัวเขาเองแล้วได้ผลขนาดที่ ‘ทำงานแล้วรู้สึกเหมือนกับหลุดจากโลกแห่งความเป็นจริง’ และรู้สึกลอยละล่อง (sense of ecstasy) เลยทีเดียว
อะไรมันจะขนาดนั้น!
วิธีการของเขาประกอบด้วยหลายขั้นตอน ซึ่งผมคิดว่าซับซ้อนกว่าวิธีการที่ Cal Newport เสนอไว้ใน Deep Work มากทีเดียว
- ก่อนทำงาน เขาจะกินวิตามินและอาหารเสริมอย่าง L-Theanine, Lithium Orotate และ Ora Organic Energy Booster เพราะเขาบอกว่ามันช่วยเคลียร์สมองให้โล่ง และทำให้เขาทำงานได้ด้วยพลังสมองสูงสุด (cognitive peak)
- สถานที่ทำงาน เขาเลือกใช้บริการ (ที่ผมคิดว่าน่าสนใจมาก) อย่าง Spacious ซึ่งมีโมเดลธุรกิจคือใช้พื้นที่ในร้านอาหารตอนที่ร้านไม่ได้เปิดให้บริการ มาดัดแปลงเป็นที่ทำงานให้ชาวฟรีแลนซ์ (หรือชาวบริษัทที่เบื่อที่ทำงานเดิมๆ) เช่า ด้วยราคาสมาชิกราวสามพันบาทต่อเดือน (น่าจะมีคนเอาโมเดลนี้มาทำในไทยนะครับ แต่อาจจะซับซ้อนตรงที่ร้านอาหารไทยมักไม่เปิดบริการเป็นรอบๆ เหมือนร้านอาหารในต่างประเทศ แต่เปิดทั้งวัน)
- ดนตรี เขาจัดเพลงทำงานโดยเฉพาะ โดยต้องเป็นเพลงที่ไม่มีเนื้อร้อง (ข้อนี้คล้ายกับผม, คือฟังเพลงที่มีเนื้อร้องแล้วทำงานไม่ได้ โดยเฉพาะงานเขียน เพราะเนื้อร้องมันจะมาตีกับสิ่งที่ทำ) โดยส่วนตัว คุณแอนดี้เขาชอบเพลงแนวเฮ้าส์ เขาจัดเพลย์ลิสท์ไว้เผื่อใครจะเอาไปฟังไปด้วยทำงานไปด้วยเหมือนกัน (ดูตามลิงก์อ้างอิงด้านล่าง)
- การเซตอัพ เขาตั้งท่านั่งให้ดีก่อนทำงาน เท้าต้องติดพื้น ก้นต้องนั่งเต็มเก้าอี้ (แต่ก็บอกว่าท่าคงต่างกันไปในแต่ละคน การหาท่าที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตัวเราน่าจะเป็นเรื่องสำคัญที่สุด)
- ฟังเสียงร่างกายตัวเอง คือการวอร์ม เขาต้องยืดตัวก่อนทำงานด้วยท่าทางต่างๆ หายใจเข้าลึกๆ หมุนคอไปมา
- และขั้นสุดท้าย ก็คือ ทำงาน ทำงานเสียทีโดยไม่ให้มีสิ่งใดมารบกวน
สุดท้ายก็เก็บไปเท่าที่ใช้ได้
หลายต่อหลายครั้งที่ผมอ่านบทความเกี่ยวกับการทำงาน เพื่อเป็นการคั่นเวลาระหว่างทำงานจริง (เป็นการผัดวันประกันพรุ่งประเภทหนึ่งที่ทำให้ตัวเองไม่รู้สึกแย่เกินไป คือ ถึงฉันจะไม่ได้ทำงาน แต่ฉันก็อ่านบทความเกี่ยวกับการทำงานนะโว้ย) หลายครั้งหลังอ่านจบ ผมก็ไม่ได้นำสิ่งที่บทความเหล่านั้นแนะนำไปปฏิบัติทั้งหมด แต่ก็เก็บไปเท่าที่ตัวเองได้ใช้ อย่างวิธีของคุณ Andy Mccune ผมก็เก็บไปเฉพาะเพลย์ลิสท์เพลงเฮ้าส์ของเขา และการวอร์มก่อนทำงานเท่านั้น ไม่ได้เอาการกินวิตามินหรืออาหารเสริมไปใช้ด้วย
ผมคิดว่าสุดท้ายเราก็ต้องทดลอง – เราก็ต้องหาสภาพแวดล้อม, หาวิธีการที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตัวเองอยู่ดี คำแนะนำของคนอื่นก็เป็นเพียงแนวทางคร่าวๆ ที่รู้ไว้ก็ดีว่ามีคนปฏิบัติแล้วสำเร็จเท่านั้น
หวังว่าทุกคนจะแฮ็กการทำงานของตัวเอง และทำงานอย่างมีความสุขจนลืมโลกไปเลยได้ในเร็ววัน
กลับไปทำงานกันได้แล้วครับ 😀
อ้างอิง / ที่มา
ธุรกิจโดยรวมของสหรัฐสูญเสียผลิตภาพคิดเป็น 650,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีให้กับการมัลติทาสก์
http://www.nytimes.com/2008/06/14/technology/14email.html
โอเว่น ชาฟเฟอร์ เสนอเงื่อนไขที่ทำให้เกิดภาวะโฟลวไว้ 7 ข้อ
http://web.cs.wpi.edu/~gogo/courses/imgd5100/papers/FlowQuestionnaire.pdf
คนอ้างว่าเขียนต้นฉบับ…
https://medium.com/the-mission/why-deep-work-helps-you-get-more-done-in-less-time-39de3f5e9ae6
มีผู้สรุปวิธีการทำงานแบบ Deep Work…
https://www.entrepreneur.com/article/269805
ความพยายามที่ผมอ่านแล้วทึ่งที่สุดอันหนึ่งเป็นของคุณ Andy McCune
https://hackernoon.com/flow-state-hacking-your-productivity-95b28668e280
เพลงลิสท์ที่คุณ Andy McCune แนะนำ
The Anjunadeep: Edition 176 with Lane 8
EMOTIONAL — A Collection of Mixes by Addal
Kaskade — Diplo And Friends 2015
K is strange (Official Stranger Things Mix)