เรายังคงอยู่กับการฉลองให้กับฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิวัติฝรั่งเศสที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีค.ศ. 1789-1799 ที่หลายคนพูดถึงในฐานะการปฏิวัติครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของโลก และหลายประเทศต่อมาได้แต่มองตาปริบๆ ด้วยความอิจฉาและอยากให้เป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะประเทศที่ประชาชนยังคงทนทุกข์กับระบอบที่ขูดรีดเอารัดเอาเปรียบ เต็มไปด้วยอภิสิทธิ์ชน เพื่อเป็นการปลดปล่อยผ่อนคลายความตึงเครียดจากการถูกปกครองที่ไร้ความชอบธรรม
ตอนเขาปฏิวัติฝรั่งเศสกันเป็นปี พ.ศ. 2332 ของสยาม น่าจะยังอกสั่นขวัญแขวนกับเหตุการณ์ฟ้าผ่าพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาทอยู่เลย
เพราะนอกเหนือจากเป็นการประกาศ ‘ความเป็นมนุษย์’ ที่จะไม่ยอมจำนนต่อระบอบการปกครองที่เอารัดเอาเปรียบขูดรีดภาษี เพื่อให้บางชนชั้นอยู่อย่างสุขสบายแล้ว มากไปกว่านั้นยังเป็นหน่ออ่อนของเฟมินิสต์ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ เพราะในการปฏิวัติครั้งสำคัญนี้ผู้หญิงยังเป็นฝ่ายบู๊อีกด้วย ในวันที่ 5 ตุลาคม 1789 ผู้หญิงจำนวนมากในปารีสหลายพันคนซึ่งก็มีผู้ชายเข้ามาร่วมสมทบด้วยตบเท้าพร้อมใจเดินขบวนจากตลาดต่างๆ พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ไปยังแวร์ซาย ด้วยความโกรธแค้นกับราคาที่แพงระยับและความขาดแคลนขนมปังอันเนื่องมาจากการกดขี่ของอภิสิทธิ์ชน พวกเธอล้อมโจมตีพระราชวังและใช้ความรุนแรง การเดินขบวนลุกฮือในครั้งนี้ถือว่าเป็นอีกหนึ่งการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญอย่างยิ่งและถูกกล่าวถึงอย่างมากในการปฏิวัติฝรั่งเศส
นอกจากนี้ผู้หญิงยังก่อตั้งสมาคมสโมสรของพวกเธอในปี 1793 ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Society of Revolutionary and Republican Women ซึ่งไม่เพียงเรียกร้องสิทธิพลเมืองเท่านั้น ยังเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ มีงานวิชาการ งานเขียน และการเคลื่อนไหวมากมายในช่วงเวลานั้นเพื่อตั้งคำถามเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ บทบาทของผู้หญิงในฐานะพลเมือง และบนพื้นที่สาธารณะ
เนื่องจากปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นผลผลิตของวิวัฒนาการทางการเมือง เศรษฐกิจสังคม ยุโรป ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 เข้าสู่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 เริ่มเกิดชนชั้นใหม่ขึ้นระหว่างชนชั้นศักดินากับสามัญชนชั้นล่างคือ ชนชั้นกระฎุมพี ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างความรู้แลกเปลี่ยนข่าวสารแทนราชสำนักและศาสนาที่เคยผูกขาดอย่างแต่ก่อน นำไปสู่การสร้างพื้นที่สาธารณะใหม่ในยุคต้นทุนนิยม ที่เปิดโอกาสให้กระฎุมพีปัจเจกชนได้รวมตัวกันและแสดงตัวตนในการปะทะต่อรองกับชนชั้นกษัตริย์หรือขุนนาง เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดระเบียบบริหารและตรวจสอบรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และปลดแอกตัวเองออกจากระบอบเดิมในที่สุด
ในขณะเดียวกันก็เกิดสิ่งพิมพ์หรือโฆษณาการที่ทำให้ปริมณฑลสาธารณะใหม่กว้างขวางและทรงพลังในการต่อรองกับปริมณฑลสาธารณะดั้งเดิมมากยิ่งขึ้นซึ่งสำหรับ Jürgen Habermas อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่าเป็นการเกิดขึ้นของ ‘ปริมณฑลสาธารณะ’ (public sphere)ในต้นศตวรรษที่ 18 ในอังกฤษและขยายไปทั่วยุโรปตะวันตก คือการก้าวเข้าสู่ภาวะสมัยใหม่ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างปริมณฑลของชีวิตส่วนบุคคลภายในครัวเรือนกับรัฐบาล[1]
กระฎุมพีต่างแสดงเสรีภาพในการพูดและสโมสรสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองเศรษฐกิจสังคม บนพื้นที่นอกบ้านที่ถูกอธิบายว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ พื้นที่เชื่อมระหว่างพื้นที่ส่วนบุคคลที่เป็นครัวเรือนกับรัฐบาล ที่ทำให้ประชาชนถกเถียงอย่างมีตรรกะ สมเหตุสมผล[2]ที่ Habermas กล่าวว่านำไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789
อีกพื้นที่สาธารณะที่มีสำคัญอย่างยิ่งและได้กลายเป็นสถาบันก็คือ โรงกาแฟ (หรืออย่างที่คนไทยนักเคลื่อนไหวชอบใช้คำว่า ‘สภากาแฟ’) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งซาลอน (salon) ที่เป็นปาร์ตี้สังสรรค์สโมสรของกระฎุมพีในฝรั่งเศส
ถือว่าเป็นสถาบันที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการเคลื่อนไหวการปฏิวัติ 1789 และเป็นพื้นที่สำคัญที่ทำให้ผู้หญิงสามารถเล่นบทสำคัญทางการเมืองและบนพื้นที่สาธารณะร่วมกับผู้ชายได้ เพราะในระบบโครงสร้างสังคมปิตาธิปไตยที่ผู้ชายมีอำนาจบทบาทบนพื้นที่สาธารณะมากกว่าผู้หญิง ผู้หญิงจะเป็นเพียงหญิงรับใช้ พนักงานบริการ หรือสร้างความสำราญบันเทิงใจให้กับบรรดาผู้ชาย
ซาลอนเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้กับผู้หญิงจำนวนมากมีตัวตน บทบาทต่อการสร้างปริมณฑลสาธารณะมากกว่าพื้นที่อื่น เพราะตั้งอยู่ในพื้นที่ส่วนบุคคลของของสตรีชั้นสูงเอง ซึ่งพวกเธอก็เป็น salonnière หรือเจ้าภาพในการจัดสมาคมสโมสร เป็นผู้บริการอำนวยความสะดวก เชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างสามัญชนกับอภิสิทธิ์ชน ยกประเด็นถกเถียงในสมาคม สร้างบทสนทนาทางการเมืองได้อย่างชัดเจน เนื่องจากซาลอนมีระบบการจัดลำดับชนชั้นที่ชัดเจน แม้ระบบชนชั้นในซาลอนช่วยธำรงรักษาช่วงชั้นของสังคมในฝรั่งเศส แต่ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้ผู้คนข้ามพรมแดนทางชนชั้น ให้ชนชั้นสูงและกระฎุมพีเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งถือว่าเป็นความสามารถของ salonnière ในการใช้ ‘ความเป็นหญิง’ ทั้งความสวย เสน่ห์ และไหวพริบความประจ๋อประแจ๋ ช่างเอาอกเอาใจ บริหารจัดการความสัมพันธ์ภายในซาลอนที่เต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายทั้งชนชั้นอาชีพและทัศนคติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักปรัชญา นักคิดนักเขียน นักการเมือง ศิลปิน ที่มักจะเข้ามาพบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนประเด็นกัน ภายใต้การควบคุมดูแลของตัวแม่ salonnière [3]
นักวิชาการเฟมินิสต์และนักประวัติศาสตร์ด้านฝรั่งเศสยุคก่อนปฏิวัติ 1789 ได้อธิบายให้ซาลอนเป็นศูนย์กลางของการเข้าสังคมสมาคมในวัฒนธรรมช่วงศตวรรษที่ 18 และต่างยอมรับโดยทั่วกันว่า ผู้หญิงมีบทบาททางการเมืองและส่วนร่วมบนพื้นที่สาธารณะอย่างไม่เป็นทางการ ในศตวรรษที่ 18 ผ่านวัฒนธรรมซาลอน ก่อนจะหายไปในช่วงปฏิวัติ 1789 ที่ส่อเค้าให้เห็นถึงการแยกผู้หญิงออกจากการเมือง และเมื่อวัฒนธรรมเข้าสังคมในซาลอนหลังปฏิวัติกลับมาอีกครั้ง หญิงชนชั้นสูงก็เริ่มเข้าสู่สภาพเดิมในการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะในฐานะเสี้ยวหนึ่งของการบูรณะอำนาจชนชั้นสูงและคณาธิปไตย
นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoléon Bonaparte) เองก็พยายามฟื้นฟูซาลอนในฐานะยุทธศาสตร์สนับสนุนกลุ่มชนชั้นนำดั้งเดิม ทว่าเขาปฏิเสธการมีอำนาจและอิทธิพลของผู้หญิง จึงลดชั้นบรรดา salonnière ให้เป็นเพียงพนักงานบริการ บางนางถูกเนรเทศไป อย่าง Madame de Staël salonnière ที่โด่งดังที่สุดในฝรั่งเศส และพยายามอย่างยิ่งที่จะให้ซาลอนบริหารจัดการอย่างราชการมากขึ้น โดยมีผู้ชายชั้นสูงเป็นศูนย์กลาง[4]
ในระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศสนั้น เส้นแบ่งขอบเขตระหว่างชีวิตส่วนตัวในครัวเรือนกับสาธารณะไม่ได้คงที่ เพราะจิตวิญญาณแห่งสาธารณะได้ทะลุทะลวงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในบ้านทั่วๆ ไป การขยายตัวเพิ่มมากขึ้นของการเมืองหรือการอภิปรายทางการเมืองในแต่ละวัน
เนื่องจากการปฏิวัติไม่ใช่มุ่งเฉพาะการเมืองการปกครองเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงวัฒนธรรม การดำรงอยู่ วิถีชีวิตประจำวัน ศิลปะและจิตใจ ดังนั้น อุดมการณ์และปริมณฑลสาธารณะจึงเข้าไปปรากฏอยู่ในพื้นที่ส่วนบุคคล สิ่งหนึ่งที่บ่งชี้ว่าสำนึกสาธารณะได้เข้าไปบุกรุกบ้านและครอบครัวก็คือ วัตถุข้าวของเครื่องใช้ภายในครัวเรือนต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องกับพื้นที่สาธารณะ เครื่องกระเบื้องหรือของใช้ต่างๆเช่นปฏิทินก็มีลายสัญลักษณ์ หรือภาพวาดที่เกี่ยวกับการปฏิวัติ หรือแม้แต่เตียงนอนที่มีสัญลักษณ์เกี่ยวกับสาธารณรัฐก็ถูกใช้กันในบ้านของพวกชาตินิยม[5]
เช่นเดียวกับเครื่องแต่งกายก็ถูกลากเข้ามาเกี่ยวในทางการเมือง มีการออกกฎควบคุมบังคับชุดแต่งกายทั้งชายและหญิง แต่ก็มีลักษณะมุ่งควบคุมกำกับที่กลุ่มผู้หญิงต่างๆ มากกว่า ซึ่งการควบคุมเครื่องแต่งกายนี้เป็นการท้าทายที่จะโค่นล้มความหมายของความแตกต่างระหว่างชายกับหญิง ทำให้ผู้หญิงกลายเป็นกลุ่มที่สามารถติดอาวุธได้เหมือนผู้ชาย ขณะเดียวกันผู้หญิงติดอาวุธเหล่านี้ก็รวมตัวกันเป็นหมู่คณะ ซึ่งไม่ใช่กลุ่มที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของสมาชิกในครอบครัวเช่นแม่กับลูกสาว พี่สาวกับน้องสาว แต่เป็นพวกนักผจญภัยและนักรบหญิง ตั้งขึ้นเพื่อปลดปล่อยผู้หญิงจากเรื่องครอบครัวของตัวเอง สนับสนุนขับเคลื่อนให้ผู้หญิงทิ้งงานบ้าน ทิ้งเปลลูก ออกมาสู่พื้นที่สาธารณะแล้วมาปราศัยในสภา ทว่าการเคลื่อนไหวนี้ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะผู้หญิงยังคงถูกมองว่าควรจะอยู่กับชีวิตส่วนตัวมากกว่ายุ่งเรื่องการเมืองในที่สาธารณะนอกบ้านอย่างเป็นทางการ
ความไม่แน่นอนของเส้นแบ่งระหว่างพื้นที่ส่วนบุคคลกับพื้นที่สาธารณะยังปรากฏผ่านภาษาและพื้นที่ของรัฐเช่นกัน รัฐพยายามอย่างยิ่งในการกำหนดควบคุมการใช้ภาษาในพื้นที่ส่วนบุคคลด้วยการให้ใช้ภาษาฝรั่งเศสแทนภาษาท้องถิ่น อ้างว่าภาษาสำหรับเสรีชนก็ย่อมต้องเป็นภาษาเดียวกันสำหรับทุกชนชั้น โรงเรียนใหม่ๆ ถูกตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการใช้ภาษาฝรั่งเศส กฎหมายต่างๆ ของรัฐก็ออกเป็นภาษาฝรั่งเศส เช่นเดียวกับสุนทรพจน์ ขณะที่ภาษาท้องถิ่นกลายเป็นของครอบครัวเท่านั้น นำไปสู่การใช้ภาษาแม่เพื่อทดแทนความสูญเสียชีวิตส่วนบุคคลไป เช่นทหารเมื่อถูกเรียกตัวไปประจำการ ก็เท่ากับถูกพรากไปจากครอบครัว จึงกำหนดคำแสลงไปจนถึงคำเรียกสิ่งของใช้กันเอง เพื่อแยกตัวเองออกจากประชาชนธรรมดา กลายเป็นการสร้างอุดมการณ์บ้านและครอบครัวซ้อนทับพื้นที่นอกบ้าน[6]
แม้ว่าเส้นแบ่งระหว่างพื้นที่สาธารณะกับส่วนบุคคลยังลื่นไหลไปมาได้ในช่วงเริ่มต้นการเมืองสมัยใหม่นี้ แต่ ‘ความเป็นหญิง’ ก็ยังคงผูกติดกับบ้านครอบครัวซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล[7]ซึ่งในเวลาที่ผู้หญิงไม่มีสิทธิทางการเมืองชัดเจนและเป็นทางการ ภาพของผู้หญิงกลับกลายเป็นสัญลักษณ์ของสาธารณรัฐ สัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติ คือเทพีโรมันแห่งเสรีภาพ รู้จักกันในนาม ‘Marianne’ [8]
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Peter Hohendahl and Patricia Russian. Jürgen Habermas: “The Public Sphere” (1964), New German Critique, No. 3 (Autumn, 1974), pp. 45-48.; Jürgen Habermas, Sara Lennox, Frank Lennox. The Public Sphere: An Encyclopedia Article (1964). New German Critique, No.3 (Autumn, 1974), pp. 49-55
[2] Michael McKeon. Parsing Habermas’s “Bourgeois Public Sphere”. Criticism, Vol. 46, No. 2, Special Issue: When Is a Public Sphere? (Spring 2004), pp. 273-277.
[3] Steven D. Kale. Women, the Public Sphere, and the Persistence of Salons. French Historical Studies. Vol. 25, No. 1 (Winter, 2002), pp. 115-148.
[4] Steven D. Kale. Women, Salons, and the State in the Aftermath of the French Revolution . Journal of Women’s History Volume 13, Number 4, Winter 2002, pp. 54-80.
[5] Philippe Ariès, Georges Duby (general editors). (c1987-1991). A History of private life, v. 4. From the fires of revolution to the great war. Cambridge, Mass. : Belknap Press of Harvard University Press, p. 21.
[6] Ibid, p.22.
[7] Ibid, p. 18.
[8] Ibid, p.23.