ในภูมิภาคที่แห้งแล้งที่สุดของพื้นผิวโลก สถานที่ที่ ‘ฝนตก’ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ปีหนึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งหรือแทบไม่มีอยู่เลย แต่ถึงอย่างนั้น ยังมีพืชและแมลงบางชนิดที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านั้นได้ แม้ไม่มีแหล่งน้ำบนพื้นดิน วิวัฒนาการทำให้พวกมันปรับตัวหาหนทางอันชาญฉลาดเพื่อความอยู่รอด สิ่งมีชีวิตเหล่านี้เลยต้องดึงเอาความชื้นในอากาศออกมาเป็นน้ำ จากหมอกที่ลอยมาจากมหาสมุทรใกล้เคียง บริษัทสตาร์ทอัพชื่อ FreshWater ได้ค้นหาวิธีที่จะใช้เทคนิคเดียวกันนี้ในขนาดที่ใหญ่ขึ้น เพื่อจะเป็นหนทางในการสร้างแหล่งน้ำสะอาดในถิ่นทุรกันดารที่ไม่มีทางเลือกมากมาย
Hector Pino เคยเป็นวิศวกรที่ใช้ชีวิตค่อนข้างดีในเมือง Santiago ประเทศชิลี แต่สิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อลูกสาวเกิดอาการแพ้แร่ธาตุในน้ำดื่มในเมืองที่เขาอยู่ ต่อมาไตของเธอค่อยๆ ทำงานเสื่อมลงและฟันเริ่มผุกร่อน เขาจึงต้องลุกขึ้นมาหาทางแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของ FreshWater
FreshWater ถูกก่อตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2015 โดยเป็นการร่วมมือระหว่างนักวิจัยของ MIT และ Pontifical Catholic University in Santiago ประเทศชิลี พวกเขามองเห็นถึงปัญหาใหญ่ในการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ ไม่ว่าเทคโนโลยีทุกอย่างในโลกใบนี้จะก้าวไปไกลขนาดไหน มนุษย์ก็ยังคงเป็นมนุษย์ที่ต้องดำรงชีวิตด้วยอาหาร อากาศ และน้ำ เพราะฉะนั้นสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่ตอนนี้ไม่ใช่เพียงแค่เทคโนโลยีผลิตน้ำรูปแบบใหม่ แต่เป็นไอเดียในการสร้างผลงานที่ยั่งยืนคู่กับมนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้อีกด้วย
ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา แหล่งน้ำสะอาดสำหรับบริโภคได้กลายเป็นทรัพยากรที่หายากขึ้นเรื่อยๆ การเติบโตของเมืองใหญ่ ทำให้ต้องขนถ่ายน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ, ทะเลสาบ, การสร้างเขื่อนกักเก็บ
นอกจากนี้ประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บวกรวมกับสภาพอากาศที่แปรปรวนเนื่องจากสภาวะโลกร้อน สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ใช้พลังงานและทรัพยากรมากมายเพื่อให้บ้านในเมืองแต่ละหลังมีน้ำดื่มน้ำใช้ ทำให้เมืองและผู้คนที่อยู่ไกลจากแหล่งน้ำเข้าถึงได้ยากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะน้ำสะอาดสำหรับดื่มในแต่ละวัน จากสถิติแล้ว 1 ใน 10 ของมนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำดื่มสะอาดได้ คิดเป็นตัวเลขแล้วมากถึง 760 ล้านคนเลยทีเดียว
เทคนิคการกลั่นน้ำจากหมอก (Fog harvesting) ไม่ใช่เรื่องใหม่ ปัจจุบันมีระบบที่สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำที่อยู่ในอากาศแล้วประมาณ 17 ประเทศทั่วโลก แต่การทดลองชิ้นใหม่นี้แสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพในการการทำงานในช่วงหมอกบางสามารถถูกปรับเพิ่มขึ้นได้อีกกว่า 5 เท่า ซึ่งจะทำให้ระบบใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นโดย FreshWater นั้นเหมาะกับสภาพอากาศที่กว้างกว่าและสามารถใช้งานได้ในหลายพื้นที่ของโลกมากกว่าระบบปัจจุบัน
โดยปกติแล้วระบบการกลั่นน้ำจากหมอกประกอบด้วยตาข่ายแนวตั้ง (ลองคิดถึงตาข่ายของไม้เทนนิส) เพื่อจับอนุภาคของน้ำที่อยู่ในอากาศ บีบอัดออกมาเป็นหยด (คล้ายกับการทำงานของเมฆบนท้องฟ้า) ปัจจัยสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพของการเก็บกักน้ำจากอากาศมีอยู่สามตัวแปร หนึ่งคือขนาดเส้นใยของตาข่าย สองคือช่องว่างระหว่างเส้นใยในตาข่าย และสุดท้ายคือสารเคลือบเส้นใย ซึ่งผลลัพธ์ของระบบในตอนนี้ห่างไกลจากคำว่าน่าพอใจ ส่วนมากแล้วตาข่ายถูกสร้างขึ้นจากพลาสติกประเภทโพลิโอเลฟินส์ (Polyolefins) ที่ราคาถูกและหาได้ง่าย โดยเส้นใยและช่องว่างด้านในของเส้นพลาสติกชนิดนี้ค่อนข้างใหญ่ จึงทำให้สามารถกักน้ำได้เพียงแค่ 2% จากหมอกที่ผ่านเข้ามา โดยระบบใหม่ใช้ตาข่ายที่เส้นใยถี่กว่าสามารถเก็บได้ถึง 10% และสามารถวางซ้อนกันหลายชั้นเพื่อกักน้ำให้มากขึ้นได้อีกถ้าต้องการ
ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาเรื่องการใช้พื้นผิวแบบแข็งเพื่อกักเก็บน้ำ (คล้ายกับแผ่นหลังของ Namib Beetle ที่อยู่ในทะเลทรายนามิบ ประเทศแอฟริกาใต้) แต่จากการศึกษาแล้วพบว่าการใช้ตัวเก็บกักเป็นตาข่ายนั้นสามารถทำงานได้ดีกว่า เพราะบนพื้นผิวแบบแข็งเมื่อเกิดลมพัดแรงๆ จะทำให้หยดน้ำกระจายตัวและไม่หยดลงข้างล่าง ไม่เหมือนที่ตัวกักเก็บที่เป็นตาข่ายที่ถักเป็นรูปทรงคล้ายหน้าต่าง
นักวิจัยของ FreshWater พบว่าการควบคุมขนาดและรูปทรงของตาข่าย รวมไปถึงส่วนประกอบทางเคมีของสารเคลือบเส้นใยล้วนสำคัญต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำทั้งสิ้น โดยล่าสุดจากการคำนวณโดยละเอียดพบว่าการสร้างตาข่ายจากสแตนเลสที่มีความหนาประมาณ 3-4 เท่าของเส้นผมมนุษย์ เว้นช่องว่างระหว่างเส้นใยประมาณสองเท่าของความหนา หลังจากนั้นชุบเส้นใยเหล่านี้ลงในสารเคมีที่ช่วยทำให้หยดน้ำไหลรวมตัวได้ทันทีหลังจากก่อตัวแล้ว ก่อนที่ลมจะมีโอกาสพัดเอาพวกมันกลับคืนสู่อากาศอีกครั้ง
ในตอนนี้ เมื่อทดลองวางอุปกรณ์บนภูเขาทางด้านติดกับทะเลบริเวณชายขอบทะเลทรายอาตากามา ได้ผลลัพท์เป็นน้ำดื่มประมาณ 2-3 ลิตรต่อวัน/ตารางเมตรของพื้นที่ตาข่าย แต่ถ้ายึดจากทฤษฎีการคำนวณแล้วพบว่าในระบบใหม่นั้นถ้าวางไว้สภาวะหมอกหนาและลมแรงอย่างเช่นชายฝั่งของประเทศชิลี อุปกรณ์เครื่องนี้จะสามารถในการผลิตน้ำดื่มสะอาดได้กว่า 12 ลิตรต่อวันเลยทีเดียว ซึ่งตอนนี้ทีมของนักวิจัยกำลังทำการทดลองเพิ่มเติม เก็บข้อมูลตลอดทั้งปี ใช้วัสดุอีกหลายๆ อย่างเพื่อทดสอบผลลัพธ์และความทนทานของอุปกรณ์ในสภาวะอากาศทั่วไป
เมื่อได้ส่วนประกอบที่มีประสิทธิภาพแล้ว พวกเขาวางแผนที่จะสร้างระบบที่ใหญ่ขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำให้ได้มากขึ้น อาจจะใหญ่หลายร้อยตารางเมตร เพราะที่จริงแล้วระบบของพวกเขาแทบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำงานเลยด้วยซ้ำ สามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ได้ มีค่าใช้จ่ายในการดูแลค่อนข้างต่ำ แค่คอยหมั่นทำความสะอาดตาข่ายเพื่อเอาเศษดินเศษหญ้าและแมลงที่ลอยมาในอากาศออกเท่านั้น หนึ่งในนักวิจัยกล่าวว่า
“ธรรมชาติได้ทำงานในส่วนที่ยากไว้แล้วโดยระเหยน้ำให้กลายเป็นไอในอากาศ แยกเกลือออกจากน้ำ และกลั่นออกมาเป็นหยด เราแค่ทำหน้าที่รวบรวมมันเท่านั้นเอง”
มีการคาดคะเนเอาไว้ว่าถ้าแค่ 4% ของน้ำในหมอกของประเทศชิลีสามารถถูกกลั่นออกมาเป็นหยดน้ำได้ มันจะเพียงพอต่อประชากรส่วนที่ขาดแคลนทั้งหมดของประเทศ ด้วยระบบใหม่ที่คิดค้นโดย FreshWater ที่ทางทฤษฎีแล้วสามารถเก็บได้ถึง 10% ก็ถือว่ามากพอสำหรับพื้นที่ส่วนทุรกันดารเหล่านั้นแล้ว
Pino ได้ให้สัมภาษณ์ว่าตอนนี้พวกเขากำลังติดต่อกับ UN (United Nations) เพื่อโปรโมตแผนงานของบริษัทขอสร้างระบบน้ำดื่มที่ยั่งยืนให้กับท้องถิ่นทุรกันดาร เขาบอกว่า “ตอนนี้พวกเรากำลังเริ่มโปรแกรมที่เมือง La Guajira ประเทศ Colombia และขณะเดียวกันก็ขยายออกไปถึง Paraguay, Haiti, El Salvador และ Guatemala ด้วย”
เจ้าอุปกรณ์เครื่องนี้มีต้นทุนประมาณ 1,600 ดอลลาร์ (ประมาณ 52,000 บาท) และ Pino หวังว่าเมื่อเทคโนโลยีถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยไปๆ รวมกับจำนวนการผลิตที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายในการผลิตต่อชิ้นก็จะถูกลง และตอนนี้กำลังเริ่มต้นออกแบบเวอร์ชั่นพกพาที่มีขนาดเล็กลงเอาไว้สำหรับนักเดินทางอีกด้วย
ในปีเดียวกันพวกเขาพยายามสร้างแคมเปญบนเว็บระดมทุน Indiegogo เพื่อนำไปสร้างอุปกรณ์รุ่นพกพาที่สามารถเข็นไปมาได้ตามพื้นที่ต่างๆ มีแผงโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เป็นตัวกักเก็บพลังงานสามารถผลิตน้ำได้ประมาณวันละ 9 – 30 ลิตรต่อวัน ซึ่งเพียงพอสำหรับครอบครัวหนึ่งๆ ในพื้นที่แห้งแล้ง
แต่ทุกบริษัทสตาร์ทอัพไม่ได้มีเรื่องราวที่สวยหรูเสมอไป เพราะเมื่อสิ้นสุดลงแคมเปญ พวกเขาไม่สามารถระดมทุนได้สำเร็จ ทำได้เพียง 1% ของเป้า 500,000 ดอลลาร์ เท่านั้น แต่อย่างน้อยๆ สิ่งที่พวกเขาทำนั้นเป็นไอเดียที่พยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับผู้คนที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ พยายามทำให้ความเป็นอยู่ของกลุ่มคนที่กำลังลำบากนั้นดีขึ้น แต่ความจริงที่โหดร้ายของโลกทุนนิยม…เมื่อไม่มีผลประโยชน์ทางการเงินที่หอมหวน ไอเดียที่ดี บางทีก็อาจจะไม่เพียงพอ