ในวันที่ผู้คนทั่วโลกต่างตระหนักถึงความสำคัญและน้ำหนักของปัญหาภาวะโลกร้อนกันมากขึ้น หลายคนอาจมีคำถามว่า เหตุใดปัญหาสิ่งแวดล้อมดูจะเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยากและโดยมากมักทำกันแบบขอไปที มีผลงานของนักคิดและนักวิจัยที่พยายามอธิบายปรากฏการณ์นี้ออกมาอยู่หลายชุดด้วยกัน และหนึ่งในผลงานที่โด่งดังและเป็นที่ยอมรับกันมาอย่างยาวนานที่สุดก็คือ แนวคิด ‘Tragedy of the Commons’ หรือโศกนาฏกรรมของการใช้ทรัพยากรร่วม ของ การ์เร็ต ฮาร์ดิน (Garrett Hardin) [1]
บทความ ‘The Tragedy of the Commons’ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Science ในปี ค.ศ. 1968 โดยมีบทคัดย่อสั้นๆ แค่เพียงว่า “ปัญหาจากประชากร (ที่มีจำนวนมากเกินไป) ไม่มีทางแก้ไขได้ในเชิงเทคนิค แต่ต้องทำการปลูกฝังความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเป็นพื้นฐาน” [2] ฮาร์ดินเชื่อว่า ทรัพยากรของโลกที่มีอยู่อย่างจำกัด จะสามารถรองรับประชากรได้เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น [3] และการบริหารจัดการทรัพยากรที่ล้มเหลวจะนำไปสู่จุดจบของประชากรกลุ่มนั้นอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง
ตัวอย่างของการใช้ทรัพยากรที่ไม่มีเจ้าของชัดเจน โดยที่ต่างคนก็ต่างตักตวงเพื่อตัวเองให้มากที่สุดโดยไม่สนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับส่วนรวมนั้น เห็นได้ชัดในการประมงแบบ open access ในเขตน่านน้ำสากลที่ไม่มีการกำหนดโควต้าจับปลาหรือข้อจำกัดใดๆ เนื่องจากไม่มีชาติใดเป็นเจ้าของ ทำให้ทะเลของน่านน้ำสากลนั้นเปิดกว้างสำหรับทุกคนที่ต้องการจับปลา สุดท้ายแล้วเจ้าของเรือประมงทุกลำก็จะพยายามจับปลาให้มากที่สุดเพื่อกำไรส่วนตน (ถ้าเราไม่จับ เรือลำอื่นก็จะจับอยู่ดี ดังนั้นให้เป็นเราจับ ยังจะดีกว่าเป็นคนอื่น) นำไปสู่การประมงแบบล้างผลาญในที่สุด
แพขยะในมหาสมุทร (ocean garbage gyres) ก็เป็นอีกตัวอย่างที่ดี เพราะไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นเจ้าของมหาสมุทรอย่างแท้จริง ไม่มีองค์กรใดที่สามารถออกกฎคุ้มครองทะเลทั้งโลกได้ ขยะที่ไม่ได้รับการจัดการที่ดีและไหลลงทะเลจากนานาชาติ (และจากไทยเป็นอันดับที่ 5 ของโลก[4]) จึงถูกเขี่ยไปเขี่ยมาระหว่างผู้นำประเทศ และลงท้ายว่าไม่มีชาติใดรับผิดชอบอยู่อย่างนั้นต่อไป
โศกนาฏกรรมของการใช้ทรัพยากรร่วม
เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกมาช้านาน
ในเขตตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกายุคบุกเบิก มีพื้นที่ที่เรียกว่า ‘บิ๊ก ทิกเก็ต’ (big thicket) ซึ่งเป็นป่าไม้ไม่ผลัดใบขนาดใหญ่ที่อาจถูกเผาทีละหลายร้อยไร่เพียงเพื่อรมควันไล่ล่าตัวแร็กคูนเท่านั้น โดยบรรดาพรานรู้สึกแค่ว่า ป่าถูกทำลายเพียงเล็กน้อยและสามารถฟื้นตัวได้เองในเวลาอันสั้น เช่นเดียวกันกับคนทำไม้ซุงที่รู้สึกว่าอาจตัดทำลายต้นไม้ไปเท่าใดก็ได้ แต่ในที่ไกลออกไปอีกก็จะยังคงมีต้นไม้ใหญ่รอคอยให้พวกเขาไปตัดทำไม้ซุงอยู่อีกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ภายใต้ความเชื่อว่าสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศสามารถทนต่อการทำลายได้ตลอดไป [5]
การเกิดความคิดเช่นนี้ เป็นเพราะไม่ได้มองว่าธรรมชาตินั้นมีความเชื่อมโยงต่อกันอย่างละเอียดอ่อนอย่างที่สิ่งมีชีวิตพึงเป็น แต่เป็นคลังสมบัติทรัพยากรโดยชอบธรรมของมนุษย์ที่ไม่มีวันหมดไป และแข็งแกร่งทนทานต่อการล่วงละเมิดเพื่อขูดรีดเอาประโยชน์อย่างไรก็ได้ [5]โดยสรุปคือ เพราะผลประโยชน์ระยะสั้นนั้นจับต้องและตักตวงได้ง่ายกว่าผลประโยชน์ส่วนรวมของใครก็ไม่รู้ที่ไม่ใช่เรา จึงทำให้ทรัพยากรร่วมต่างๆ ถูกใช้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนฟื้นตัวเองไม่ทันและพังพินาศไปในที่สุด
การบริหารจัดการทรัพยากรร่วมเป็นเรื่องโต้เถียงกันมาอย่างยาวนานในแวดวงเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากความไม่ชัดเจนของสิทธิความเป็นเจ้าของ (property rights) [6] อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน เอลินอร์ ออสตรอม (Elinor Ostrom, ได้รับรางวัลโนเบลในปี 2009 เธอเป็นผู้หญิงคนแรกและยังคงเป็นคนเดียวในปัจจุบันที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์) ได้แย้งว่า แนวคิดโศกนาฏกรรมของการใช้ทรัพยากรร่วมของฮาร์ดิน จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้เอาประโยชน์นั้น 1. เห็นแก่ประโยชน์ปัจจุบันมากกว่าอนาคตมากๆ (high discount rate) 2. มีความไว้ใจและได้รับความไว้ใจจากคนอื่นในสังคมของตนเองต่ำ (little mutual trust) 3. ไม่มีความสามารถจะทำข้อตกลงร่วมกับผู้อื่น (no capacity to communicate or to enter into binding agreements) และ 4. ไม่มีโอกาสร่วมสร้างกลไกการกำกับดูแลทรัพยากรด้วยตัวเอง (not arrange for monitoring and enforcing mechanisms to avoid overinvestment and overuse) [6] กล่าวคือ ความเห็นแก่ตัวของผู้เอาประโยชน์เช่นนี้ เกิดขึ้นเมื่อมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของทรัพยากรร่วมและผู้ใช้ทรัพยากรคนอื่นต่ำ
ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่สามารถเรียนรู้
เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีขึ้นได้ [7]
สิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นของตนเริ่มปรากฏในระเบียบกฎหมายตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540[8]แต่ไม่ได้รับการตอบรับท่ีดีนักจากหลายภาคส่วนที่ถือวิสาสะวางตัวเป็นเจ้าของทรัพยากรนั้นอยู่ และในขณะที่ร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ…กำลังเป็นที่กังขาว่า ลิดรอนสิทธิของคนอยู่ป่าอย่างสมเหตุสมผลหรือไม่อย่างไรนั้น ก็เป็นที่น่าชื่นชมว่าหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ได้พยายามเปิดเวทีรับฟังความเห็นและข้อโต้เถียงจากหลายฝ่าย
แต่ยังคงน่าสงสัยว่า ในเมื่อมีการจัดโซนเพื่อใช้ประโยชน์จากป่าในรูปแบบของป่าชุมชน ป่าเศรษฐกิจ ฯลฯ แล้ว เหตุใดจึงยังมีข้อขัดแย้งว่าพื้นที่อุทยานแห่งชาติ (ซึ่งรวมกันทั้งหมดแล้วยังมีปริมาณน้อยกว่า 15% ของพื้นท่ีประเทศ หรือ ประมาณ 71,400 ตร.กม. จาก 513, 120 ตร.กม.) จะถูกสงวนไว้เพื่อสิ่งมีชีวิตอื่นโดยไม่ถูกแสวงหาผลประโยชน์บ้างไม่ได้หรือ? อะไรคือความจำเป็นที่ต้องเปิดพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์จากป่าทั้งผืน แทนที่จะกันอาณาเขตส่วนหนึ่งไว้เป็นพื้นที่อนุรักษ์โดยเฉพาะ? (หรือเป็นเพราะว่าข้างนอกเขตอุทยานฯ นั้นกลายเป็นโศกนาฏกรรมไปหมดแล้ว?)
แนวคิดของป่าชุมชนนั้นรับกับหลักการของเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิมที่ว่าเจ้าของที่มีกรรมสิทธิ์อย่างสมบูรณ์ (excludable) ย่อมดูแลทรัพย์สินของตัวได้ดีที่สุด เนื่องจากมีแรงจูงใจในการบำรุงรักษาเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไปได้อีกนานๆ ซึ่งในอดีตนั้น แนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรจากหลักการนี้มักออกมาในรูป 1. การควบคุมโดยตรงจากรัฐ หรือ 2. การให้สัมปทานกับเอกชน (privatisation) [9] ป่าชุมชนจึงเป็นการประนีประนอมระหว่างสองทางเลือกดังกล่าว (ทางภาครัฐขาดความสามารถในการดูแลจัดการในระดับที่ละเอียดอ่อน แต่ในขณะเดียวกันป่าก็ไม่สามารถูก privatise ได้) แต่ถ้าหากชุมชนไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันและไม่มีความรู้สึกหวงแหนเป็นเจ้าของทรัพยากรร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดสภาพแออัด (congestion) [9] และขอบเขตของสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์และความรับผิดชอบดูแลทรัพยากรที่ถูกตั้งขึ้นภายใต้การกำกับของภาครัฐนั้นไม่ชัดเจน[7]
แนวคิดของป่าชุมชนก็อาจเป็นดาบสองคมที่ย้อนกลับมา
ฆาตกรรมทรัพยากรนั้นเสียเอง
ยังมีกรณีสัมปทานบริษัทปูนใหญ่แห่งหนึ่งที่มักโฆษณาว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในหัวใจ (Corporate Social Responsibility, หรือ CSR) ที่แน่นอนว่าเป็นสัมปทานที่ไม่ผิดกฎหมายและได้มาอย่างถูกต้องทุกประการ แต่เหตุใดใน EIA ของโครงการที่ได้รับการอนุมัติโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จึงไม่ปรากฏรายชื่อของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศเขาหินปูนที่สำคัญ [10] เช่น เลียงผา (Sumatran serow Capricornis sumatraensis ซึ่งเป็นสัตว์สงวน[11]) เขาหินปูนที่สระบุรียังนับว่าเป็น ‘endemic hotspot’ เนื่องจากสามารถพบสิ่งมีชีวิตถิ่นเดียว (endemic species) หลากหลายชนิดพันธุ์ เช่น หนูขนเสี้ยนเขาหินปูน (limestone niviventer Niviventer hinpoon จัดเป็นสัตว์คุ้มครอง[12]) ค้างคาว หอยทาก กิ้งกือ หรือแม้แต่พืชอย่าง ปรง [13]
แต่ในรายงานกลับไม่พบรายชื่อของชนิดพันธุ์เหล่านี้แต่อย่างใด จนเกิดเสียงเรียกร้องให้จัดสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มเติม [14] ชวนให้ตั้งคำถามว่า ผู้ที่เข้ามาใช้ประโยชน์ (กรณีนี้คือเอกชนที่ได้รับสัมปทานจากภาครัฐ) มีความใส่ใจและความสามารถที่จะบริหารจัดการทรัพยากรร่วมได้ดีและยั่งยืนเพียงใด และธุรกิจที่มีรายได้จากการนำทรัพยากรร่วมมาแปรรูปเป็นสินค้า (private goods) พึงต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่มีต่อทั้งสภาพแวดล้อมและมนุษย์ด้วยกันเองในระดับใด
ในท้ายสุดแล้ว ปทัสถาน (social norm) ของแต่ละสังคมมีส่วนกำหนดความสำเร็จในการพยายามบริหารจัดการทรัพยากรร่วมของสังคมนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สังคมที่ให้ความสำคัญกับการรักษาคำพูด ปฏิบัติตามกติกา และไม่ฉวยโอกาส ย่อมมีโอกาสที่จะบริหารจัดการทรัพยากรร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าดังที่ฮาร์ดินเสนอว่าต้องมี ‘ความรู้ผิดชอบชั่วดีเป็นพื้นฐาน’ แต่ทั้งนี้ แต่ละบุคคลย่อมมีวิจารณญาณในการตัดสินใจและมาตรฐานทางศีลธรรมไม่เท่ากัน กลไกการกำกับดูแล (monitoring) ที่ตั้งขึ้นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบได้ เหมาะสมกับบริบท และผู้เอาประโยชน์ไปใช้ต้องมีความสมัครใจที่จะปฏิบัติตาม [7] จึงจะประสบความสำเร็จ
การล่มสลายเชิงระบบนิเวศ หรือ Ecological Armageddon ไม่ได้เกิดขึ้นจากการกระทำของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ในวันที่โลกหมุนไปสู่จุดสมดุลจุดใหม่ที่อาจจะไม่ได้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับมนุษย์อีกต่อไปแล้ว วันนั้นย่อมกลายเป็นการเปิดฉากโศกนาฏกรรมของเราทุกคนเท่าๆ กัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
[2] “The population problem has no technical solution; it requires a fundamental extension in morality.” (Hardin, G., 1968)
[3] “A finite world can support only a finite population.” (Hardin, G., 1968)
[4] งานวิจัยของ Ocean Conservanc
[5] นิเวศวิทยากับศาสนา : จิตวิญญาณเชิงนิเวศในมุมมองต่างวัฒนธรรม, เดวิด คินส์ลีย์ (เขียน), ลภาพรรณ ศุภมันตรา (แปล), สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา