รู้หรือไม่ว่าเสื้อยืดหนึ่งตัวนั้นมีน้ำอยู่กว่า 2,995 ลิตร
ไม่ใช่ว่าตัวเสื้อยืดเองบิดออกมาจะเป็นน้ำหรอกนะ แต่คือขั้นตอนการผลิตที่ทำให้เราต้องใช้น้ำไปในกระบวนการต่างหาก ตั้งแต่การปลูกฝ้าย การทำเส้นใย ไปจนถึงการถักทอออกมาเป็นเสื้อ
หลายๆ คนอาจเคยได้ยินคำว่า carbon footprint ที่คอยติดตามว่าการกระทำหนึ่งทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีผลกระทบต่อโลกของเราเท่าไหร่ แต่จริงๆ ก็มีอีกคำคำหนึ่งที่เรียกว่า ‘water footprint’ หรือรอยเท้าน้ำ ที่ชวนเราสังเกตและประเมินกันว่า ในแต่ละวันเราใช้น้ำไปเท่าไหร่ วิถีชีวิตเราเกี่ยวข้องกับน้ำแค่ไหน การจะได้มาซึ่งของหนึ่งชิ้นนั้นต้องสูญเสียน้ำไปขนาดไหน
ทำไมต้องแคร์ว่าเราใช้น้ำไปเท่าไหร่ ฝนก็ตกอยู่แล้ว น้ำในแม่น้ำก็มีตลอด เผลอๆ เราก็ทำน้ำจากน้ำทะเลก็ได้…จริงเหรอ?
จริงๆ น้ำที่เราใช้กันอยู่นั้นต้องผ่านกระบวนการมากมาย และกว่าจะเป็นน้ำที่เอามาใช้ได้จริงๆ ก็ทำให้น้ำจำนวนนี้มีจำกัด เราจึงได้ยินข่าวน้ำประปาไม่ไหล น้ำประปาเค็ม น้ำแล้งไม่พอทำพืชสวนไร่นา เพราะน้ำที่เราใช้ได้มันมีอยู่จำกัดยังไงล่ะ
ดังนั้นการย้อนกลับไปดูว่าแต่ละวันเราใช้น้ำเท่าไหร่ หรือรู้ว่าสิ่งของที่เราใช้นั้นต้องผ่านกระบวนการที่ใช้น้ำเพื่อให้ได้มามากน้อยแค่ไหนก็จำเป็นที่จะทำให้เรารู้ว่า ‘น้ำ’ มันสำคัญนะ
เราเลยชวนไปสำรวจว่าในสิ่งของแวดล้อมตัวเราเนี่ย ต้องใช้น้ำไปมากน้อยแค่ไหนกันเชียว
และเมื่อเรารู้ว่าน้ำมันจำเป็น The MATTER ได้ลงพื้นที่ไปกับ ‘พยาบาลลุ่มน้ำ’ ณ จังหวัดพะเยา เพื่อดูว่าพวกเขาดูแลรักษา รวมถึงการจัดการน้ำยังไงให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งที่แรกที่เราไปคือ ‘กว๊านพะเยา’
กว๊านพะเยาเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดทางภาคเหนือ ใช้เวลาเดินทางเพียง 2 ชั่วโมง จากสนามบินเชียงรายมายังจังหวัดพะเยา เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนได้มีโอกาสไปแอ่วที่นี่ ระหว่างการเดินทางคิดเอาไว้ว่ากว๊านพะเยาคงจะเป็นทะเลสาบน้ำจืดปกติ ไม่ได้พิเศษอะไรมากมาย เพราะตัวเราเองแทบไม่มีภาพจำของพะเยาอยู่ในหัว ไม่เหมือนจังหวัดท่องเที่ยวหลักจังหวัดอื่นๆ ที่ภาพประชาสัมพันธ์เพื่อการท่องเที่ยวถูกเผยแพร่ออกมาให้เห็นอยู่เนืองๆ
จังหวะที่รถเลี้ยวเข้ามาในเขตกว๊านเป็นเวลาเกือบ 5 โมงเย็นพอดี บรรยากาศที่นี่ดีเกินกว่าที่คิดไว้มาก จนต้องละสายตาจากโทรศัพท์มามองพื้นที่โดยรอบอย่างตั้งใจ เราลงจากรถไปเดินเล่นรอบๆ กว๊าน น้ำใส สะอาด ไม่มีขยะหรือสิ่งแปลกปลอมเลยแม้แต่ชิ้นเดียว มีคนในชุมชนมานั่งเล่นพูดคุยกันตามที่นั่งรอบๆ กว๊าน มีคนวิ่งออกกำลังกาย และพายเรือคายัค ส่วนชาวประมงในท้องถิ่นก็มาตกกุ้งฝอย แถมยังมีคู่รักมานั่งรอชมพระอาทิตย์ตกด้วยกัน บรรยากาศมันดีขนาดนั้นเลยแหละ
กว๊านพะเยาถือเป็นหนึ่งในปลายทางความสำเร็จในการบริหารและจัดการทรัพยากรน้ำ เป็นต้นแบบการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนที่เรียกว่า ‘บ้านตุ่นโมเดล’ ณ ชุมชนบ้านตุ่น ตำบลบ้านตุ่น จังหวัดพะเยา ทริปนี้เรามีโอกาสได้ศึกษากระบวนการที่ว่าตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำกันเลย
เราออกเดินทางในเช้าวันรุ่งขึ้นด้วยรถอีแต๋นพร้อมกับทีมอาสาสมัครของโครงการ ‘TCP SPIRIT พยาบาลลุ่มน้ำ ชวนก๊วนไปแอ่วกว๊าน Limited’ ที่ทีมบริหารกลุ่ม TCP ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มในไทยเป็นคนริเริ่ม โดยในทริปนี้ คุณสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเล่าว่า วิกฤตภัยแล้งในช่วงหลายปีมานี้รุนแรงมาก และไม่ได้เพียงส่งผลร้ายทำให้การเกษตรเสียหายเท่านั้น แต่ยังทำให้คนในชุมชนขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภคและบริโภคด้วย ทางโครงการจึงชักชวนอาสาสมัครคนรุ่นใหม่ทั้ง 60 คนมาลงพื้นที่ด้วยกัน โดยมีคุณอเล็กซ์ เรนเดลล์ TCP Spirit Brand Ambassador เป็นพี่เลี้ยงให้แก่ทีมอาสาสมัครทุกคนในทริปนี้ โดยตลอดทั้งทริป ทุกคนจะได้เห็นว่า ชุมชนตัวอย่างอย่างชุมชนบ้านตุ่นร่วมกันนำภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างการลอกลำเหมืองและการทำประปาภูเขามาแก้ไขปัญหาภัยแล้งจนนำมาซึ่งความสำเร็จในทุกวันนี้ได้อย่างไร
เมื่อเราลงจากรถและเดินต่อไปอีกไม่ไกลนัก ก็จะพบกับอ่างเก็บน้ำห้วยตุ่น ที่กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ต้นกำเนิดของห้วยตุ่นนี้ ก็มาจากป่าต้นน้ำบนยอดดอยหลวง ที่เราสามารถมองเห็นได้จากตำแหน่งนี้เลย ต้นน้ำจากดอยหลวงไหลลงไปจรดที่อำเภอแม่ใจ โดยอำเภอนี้จะมีลำห้วยต่างๆ ที่นำพาน้ำไหลลงแม่น้ำอิง ไปสู่กว๊านพะเยา และไหลออกผ่านไปยังแม่น้ำโขง
ชุมชนบ้านตุ่นมีการกำหนดระเบียบจัดสรรน้ำ เพื่อให้ทุกชุมชนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ จึงเกิดเป็นการกระจายน้ำแบบบ้านตุ่นโมเดล ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยวิธีการจัดสรรคือต้นน้ำและกลางน้ำจะจ่ายน้ำ 3 วัน และปิดเพื่อสะสมน้ำอีก 10 วัน ในขณะที่ปลายน้ำจะจ่ายน้ำเป็นเวลา 4 วัน
โดยสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ‘แตปากฉลาม’ ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ คุณสม หลวงมะโนชัย หรือ ‘พ่อสม’ คณะกรรมการจัดการน้ำของหมู่บ้าน เป็นผู้ริเริ่มและคิดค้นขึ้นมา แต่เดิมนั้น แตปากฉลามทำจากไม้ที่หาได้ในท้องถิ่น แต่เพราะไม้นั้นไม่แข็งแรงคงทนมากพอ ภายหลังจึงเปลี่ยนวัสดุเป็นปูนแทน แตปากฉลามมีรูปทรงสามเหลี่ยม ตั้งไว้เพื่อกั้นบริเวณรอยต่อของลำเหมืองสองสาย เมื่อกระแสน้ำพัดมา แตปากฉลามจะทำให้เกิดแรงดันน้ำ ทำให้น้ำส่วนหนึ่งไหลไปยังพื้นที่ที่สูงกว่าได้ และช่วยให้เกิดการกระจายน้ำอย่างทั่วถึงในทุกชุมชน
เรามีโอกาสได้พูดคุยกับผู้คนที่อยู่ปลายน้ำ วิถีชีวิตของคนริมกว๊าน และวิถีการประมง คุณสมศักดิ์ เทพตุ่น ประธานชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดพะเยาบอกกับเราว่า ที่นี่อุดมสมบูรณ์มาก วิถีของปลาที่นี่คือพวกมันสามารถขึ้นจากแม่น้ำโขงเพื่อมาวางไข่ได้ นอกจากนั้น ชาวประมงในพื้นที่ก็ยังไม่ได้จับปลาเพียงอย่างเดียว แต่ยังช่วยกันอนุรักษ์พันธุ์ปลา พร้อมปล่อยปลากลับสู่ธรรมชาติอีกด้วย
เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีภูมิประเทศที่แตกต่างกัน วิธีการจัดการน้ำก็ย่อมแตกต่างกันไป ทริปนี้จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้อาสาสมัครได้ศึกษาต้นแบบการจัดการทรัพยากรน้ำที่นี่ และนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของแต่ละคน
เรามีโอกาสได้ไปเดินเล่นริมกว๊านก่อนกลับ แล้วก็พลันสงสัยว่า เหตุใดเมืองหลวงที่ (ควรจะ) พัฒนาแล้วของประเทศไทยอย่างกรุงเทพฯ ถึงมีสถานที่ที่โอบล้อมเราด้วยผืนน้ำให้เราได้พักผ่อนหย่อนใจแบบนี้น้อยนัก หรืออาจจะเรียกว่าแทบไม่มีเลยก็ว่าได้ เมื่อพูดถึงน้ำ เราเห็นเพียงภาพตัวเองนั่งเรือเส้นคลองแสนแสบ มองเห็นผู้คนที่อัดแน่นกันบนเรือเพื่อรีบเดินทางไปทำงานหรือไปยังจุดหมายต่างๆ น้ำสกปรกที่กระเด็นเข้ามาในเรือและโดนเนื้อตัวรวมถึงใบหน้าของเรา และความขุ่นของน้ำที่มองลงไปแทบจะไม่เห็นอะไรเลย พลางคิดว่า หนึ่งในปัญหาเกี่ยวกับน้ำในบ้านเราคือภัยแล้งก็จริง แต่อีกหนึ่งปัญหาที่ใหญ่พอกันหรือมากกว่าคือการจัดการน้ำที่ตกลงมาจากฟ้ามาอยู่ในมือของคนในชุมชนอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และข้อหลังนี้ก็อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ภัยแล้งในไทยรุนแรงหนักข้อเข้าไปอีกเสียด้วยซ้ำ
เราเชื่อว่าหากคนในที่มีอำนาจจัดการระบบน้ำในพื้นที่ต่างๆ ทั้งกรุงเทพฯ และจังหวัดเล็กใหญ่ทั่วประเทศ เปิดใจเรียนรู้ภูมิปัญญาของผู้คนในชุมชนต่างๆ มีความตั้งใจจริงที่จะปรับปรุง แก้ไข และพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนเหมือนผู้คนในชุมชนเหล่านี้ และนำวีธีการอันสร้างสรรค์มาปรับใช้ประสานไปกับเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ เราเชื่อเหลือเกินว่า ‘บ้านตุ่นโมเดล’ จะไม่ใช่โมเดลเดียวที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับอาสาสมัครที่เข้าร่วมกิจกรรม แต่เราจะได้เห็นอีกหลายโมเดลในหลายจังหวัด ที่เมื่อรวมกันแล้วจะเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีในระยะยาว จนคุณภาพน้ำและคุณภาพชีวิตของเราดีขึ้นได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในประเทศนี้