เคล็ดลับและคำแนะนำเพื่อให้ประสบความสำเร็จในชีวิตคือเนื้อหาคลาสสิกที่ใครๆ ก็กระหายอยากจะอ่าน ผมเองก็เพิ่งได้เห็นเทรนด์ใหม่ที่ยกระดับจากข้อเสนอแนะให้พัฒนาตนเองต่างๆ นานา สู่การ ‘กล่าวโทษ’ พฤติกรรมเล่น LINE อ่านข่าวดารา นอนดู Netflix จนทำให้ประชาชนในบางประเทศมีแต่พวกขี้แพ้ เปรียบไม่ได้กับเหล่านวัตกรชาวจีนที่ทำงานหนัก ตื่นเช้า พัฒนาตัวเองทุกวัน และใช้เวลาว่างเพื่ออ่านหนังสือพิมพ์เป็นเล่มๆ
อ่านจนจบแล้วก็อดไม่ได้ที่จะต้องถอนหายใจ อีกครั้งที่เรามองข้ามปัญหาเชิงโครงสร้างทางกฎหมาย เศรษฐกิจ และสังคมอย่างสิ้นเชิง แต่กลับมาเน้นที่พฤติกรรมส่วนบุคคลที่ทำให้คนหนึ่งคนไม่ประสบความสำเร็จ
ในบทความนี้ผมขอไม่กล่าวว่าธุรกิจไทยถูกผูกขาดโดยทุนใหญ่อย่างไรจนบริษัทเกิดใหม่ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด รัฐบาลไทยอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการใหม่มากน้อยแค่ไหน การทำธุรกิจใหม่ต้องขอใบอนุญาตกี่ใบจึงจะถูกกฎหมายแบบ 100% ยังไม่ต้องพูดถึงโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนถ้าไร้เส้นสายและไม่ได้เกิดมาในบ้านที่มีสตางค์
แต่ต่อให้ละเว้นปัจจัยภายนอกทั้งหมด พฤติกรรมเพียงลำพังก็คงไม่ใช่คำอธิบายหนึ่งเดียวที่จะทำให้ใครคนหนึ่งประสบความสำเร็จ โดยการประสบความสำเร็จในที่นี้ผมขอใช้นิยามอย่างง่ายก็คือการได้เป็นคนรวยนั่นแหละครับ
เมื่อสองสามเดือนก่อน ผมเคยเขียนเรื่อง คนจะจน จนเพราะพฤติกรรมจริงหรือ? ซึ่งมีใจความสำคัญว่าคนจะจนหรือรวยนั้นขึ้นอยู่กับโชคเป็นส่วนมากเพราะตั้งแต่วันแรกที่เกิด โรงเรียนที่เข้าศึกษาต่อ ไปจนถึงการงานที่ทำ หลายเหตุการณ์ก็เป็นเรื่องที่เราเลือกหรือคาดเดาไม่ได้
ผมคงไม่หยิบเรื่องนี้มาเขียนซ้ำ หากใครสนใจก็สามารถย้อนกลับไปอ่านบทความเก่าได้เพราะหลักการก็สามารถประยุกต์ใช้ได้กับคนรวยซึ่งเปรียบเสมือนเหรียญอีกหนึ่งด้านของคนจน แต่ประเด็นในบทความนี้เป็นเรื่องของคนที่ประสบความสำเร็จเท่านั้นจะทำได้ นั่นคือการเผยแพร่แนวคิดตามพื้นที่สื่อซึ่งกลายเป็นภาพเหมารวมว่าด้วยพฤติกรรมที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ
สำหรับใครที่ทำตามแล้วไม่ประสบความสำเร็จกับเขาบ้างสักทีก็ไม่ต้องเสียใจไป เพราะหลักการส่วนใหญ่เป็นเพียงคำกล่าวของคนเพียงไม่กี่คน รวมถึงไม่มีหลักฐานงานวิจัยรองรับ และอาจแฝงด้วยอคติที่ผู้พูดเองก็อาจไม่รู้ตัว
สูตรลัดสู่ความสำเร็จที่ไม่มีอยู่จริง
ผมขอชวนทุกคนลองนึกย้อนทวนถึงเนื้อหาว่า ‘สูตรแห่งความสำเร็จ’ ทั้งหลายซึ่งเผยแพร่อยู่บนโลกออนไลน์นั้นมาจากไหน
ความเป็นไปได้แรก คือ เคล็ดลับที่มาจากคนที่ประสบความสำเร็จขณะให้สัมภาษณ์ ความเป็นไปได้ที่สอง คือ คนที่ใช้ประสบการณ์ส่วนตัวผนวกกับข้อมูลที่อ่านเพื่อกลั่นกรองเป็นสูตรลัดสู่ความสำเร็จ แต่ทั้งสองแหล่งข้อมูลนี้ต่างมีอคติหนึ่งซึ่งทำให้ผลลัพธ์ไม่ได้เที่ยงตรงนักนั่นคือความผิดพลาดในการคาดคะเนสาเหตุ (fundamental attribution error)
แม้ชื่อเรียกอาจจะยาวเหยียดและชวนงง แต่ความจริงแล้วอคติดังกล่าวคือสิ่งที่เราใช้กันอยู่แทบทุกวัน มนุษย์โดยทั่วไปมักจะด่วนสรุปสาเหตุของพฤติกรรมคนอื่นๆ ว่า เกิดจากพฤติกรรมส่วนบุคคลโดยมองข้ามปัจจัยแวดล้อม นี่คือตัวอย่างคลาสสิกของการที่เรามักจะมองว่าสภาพสังคมแทบไม่ส่งผลต่อพฤติกรรม ทั้งที่ความจริงกลับตรงกันข้าม จึงไม่น่าแปลกใจนักที่ไม่ว่าตัวคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตหรือคนที่อ่านเรื่องราวดังกล่าวแล้วมาถ่ายทอด ก็ย่อมมองเห็นแต่ ‘พฤติกรรม’ ของตัวเอง แต่กลับมองข้ามบริบทแวดล้อมที่หนุนเสริมให้เขาหรือเธอประสบความสำเร็จ
อคติอีกหนึ่งประการจากการถอดบทเรียนเรื่องราวของคนที่ประสบความสำเร็จ คือ อคติคิดเข้าข้างตนเอง (self-serving bias) นี่เป็นเรื่องสามัญธรรมดาของเราทุกคนที่จะบอกว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นย่อมมาจากพฤติกรรมหรือการกระทำของเรา ในประสบการณ์การอ่านของผม คนรวยน้อยคนที่บอกว่าที่วันนี้รวยได้เพราะเกิดในครอบครัวที่พ่อแม่ร่ำรวยอยู่แล้ว มีเส้นสายกับนักการเมือง หรือดวงดีที่เริ่มธุรกิจก่อนที่เทรนด์กำลังจะมา แต่ส่วนใหญ่มีแต่เรื่องเล่าเคล้าน้ำตาว่าตื่นตั้งแต่ตีห้าทุกวันบ้าง ทำงานเป็นกรรมกรหาเงินเรียนตั้งแต่เด็กบ้าง กระเสือกกระสนไต่เต้าจนได้ดิบได้ดีบ้าง ฯลฯ
เคราะห์ซ้ำกรรมซัดเพราะคนที่ประสบความสำเร็จนั้นแตกต่างจากคนเดินถนนธรรมดา เพราะพวกเขามักจะเป็นกลุ่มคน ‘เสียงดัง’ ที่มีพื้นที่สื่อของตัวเอง มีสื่อต่อคิวรอสัมภาษณ์ และแต่ละคำที่เล่ามาก็น่าเชื่อถือเนื่องจากเราต่างคิดว่านี่คือ ‘ตัวจริง’ ในวงการธุรกิจ ซึ่งหนึ่งในสูตรลัดสู่ความสำเร็จยอดนิยมไม่พ้นการทำงานหนัก
แต่สงสัยไหมครับว่าประเทศไทยมีคนที่ทำงานหนักอยู่กี่ล้านคน บางคนตื่นแต่เช้าขับรถไปทำงานกว่าจะกลับบ้านก็ดึกดื่น บางคนทำงานควบกะวันละ 18 ชั่วโมง บางคนใช้เวลาหลังเลิกเรียนมาทำงานเสริมหาเลี้ยงชีพ นี่คือชีวิตดาษๆ ของคนหาเช้ากินค่ำที่พบเห็นได้ทุกหัวมุมถนน แต่ทำไมคนพวกนี้ถึงไม่ร่ำรวยทั้งที่ทำงานหนักไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าคนที่ประสบความสำเร็จ
นี่แหละครับคือสาเหตุที่ผมอยากให้สื่อทุกแห่งควรกาดอกจันโตๆ ไว้บนพาดหัวบทความเรื่องเล่าของคนที่ประสบความสำเร็จ โดยระบุหมายเหตุตัวใหญ่ว่า เรื่องราวของความสำเร็จ จะมีคนอีกจำนวนมากซึ่งทำในสิ่งที่คล้ายๆ กันแต่กลับล้มเหลว แต่เรื่องราวที่ถูกหยิบมาบอกเล่ากลับเป็นเรื่องของคนหยิบมือที่ประสบความสำเร็จ จึงเกิดเป็นอคติที่เรียกว่าอคติของการอยู่รอด (survivorship bias)
อคติของการอยู่รอดหมายถึงความเข้าใจผิดที่เกิดจากการให้ความสนใจเฉพาะคนที่ผ่านกระบวนการคัดเลือกบางอย่าง โดยมองข้ามคนที่ตกรอบเนื่องจาก ‘มองไม่เห็น’ คนเหล่านั้น นำไปสู่การสรุปผลที่ผิดพลาด ตัวอย่างเช่นชีวิตของ มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้ลาออกจากมหาวิทยาลัยกลางคันเพื่อวิ่งไล่ตามความฝันและประสบความสำเร็จเป็นมหาเศรษฐีตั้งแต่ยังหนุ่มจากการก่อตั้ง Facebook
หลังจากอ่านเรื่องราวของเขาจบ สมองที่มีกำลังในการประมวลผลอย่างจำกัดตามธรรมชาติอาจเข้าใจว่า คนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่จะต้องเป็นคนหนุ่มสาวที่ลาออกจากมหาวิทยาลัยกลางคันเพื่อทำตามฝัน แต่ความจริงกลับตรงกันข้ามเพราะมีงานวิจัยบอกว่า คนที่ประสบความสำเร็จ 94% เรียนจบมหาวิทยาลัยหรือได้เข้าเรียนในวิทยาลัยชั้นนำขณะที่สัดส่วนคนที่ลาออกกลางคันและประสบความสำเร็จมีน้อยมากๆ นอกจากนี้บริษัทสตาร์ทอัพที่เติบโตรวดเร็วที่สุด 0.1% แรกในสหรัฐอเมริกามีอายุเฉลี่ยของผู้ก่อตั้งเท่ากับ 45 ปี นี่คือตัวอย่างความแตกต่างราวฟ้ากับเหวระหว่างเรื่องเล่าความสำเร็จของคนหนึ่งคนกับการศึกษาอย่างเป็นระบบ
ผมจึงบอกได้อย่างเต็มปากเต็มคำครับว่า สูตรลัดสู่ความสำเร็จนั้นไม่มีอยู่จริง แต่เป็นเพียงผลลัพธ์ของสมองที่พยายามอธิบายปรากฏการณ์โดยการอ้างอิงลักษณะส่วนบุคคลโดยมองข้ามบริบทแวดล้อมหรือพิจารณาข้อมูลอย่างเป็นระบบ
ทำไมทุกคนถึง ‘รวย’ ไม่ได้?
ใครอยากเป็นเศรษฐี!
ฉันน่ะสิ! ฉันน่ะสิ!
แน่นอนครับว่ามนุษย์ปุถุชนย่อมอยากเป็นคนมีอันจะกิน แต่น่าเสียดายที่ความจริงทางคณิตศาสตร์บอกเราว่า มันเป็นไปได้แค่ในความฝัน เพราะต่อให้ทุกคนอยากจะรวย แต่คนที่มีรายได้มากกว่าค่าเฉลี่ยย่อมไม่มีทางเกินกว่า 50% กล่าวคือต่อให้ทุกคนทำทุกอย่างตามสูตรรวยทางลัด แต่ก็ไม่มีทางที่จำนวนคนประสบความสำเร็จจะเกินครึ่งหนึ่ง
ลองจินตนาการว่าทรัพยากรของประเทศคือเค้กก้อนใหญ่ ในเมื่อมีเศรษฐีที่ประสบความสำเร็จจำนวนหยิบมือกินเค้กมากกว่าคนอื่น ส่วนแบ่งของคนที่เหลือก็ย่อมน้อยลงเป็นเงาตามตัว สุดท้ายคนที่เชื่องช้ากว่าคนอื่นก็อาจได้เค้กชิ้นจิ๋วที่ไม่พอเลี้ยงปากท้องของตัวเอง
นี่คือข้อเท็จจริงที่ไม่ได้บรรจุอยู่ในเรื่องราวความสำเร็จที่พยายามปลอบประโลมเราว่าใครๆ ก็สามารถหลายเป็นเศรษฐีได้หากพยายามมากพอ เบี่ยงเบนความสนใจเราจากภาวะที่ถูกเอารัดเอาเปรียบโดยไม่ได้ตั้งคำถามว่าสังคมแบบไหนกันที่พวกเราต้องการ
ผมขอทิ้งท้ายบทความนี้ด้วยคำถามที่ว่า สังคมในฝันของเราคือสังคมที่คนจำนวนหยิบมือจับพลัดจับผลูประสบความสำเร็จแล้วร่ำรวยมหาศาล ขายฝันว่าทุกคนมีโอกาสเช่นนี้ได้หากพยายามมากพอ ขณะที่คนจำนวนมากทำงานหนักแต่กลับมีรายรับแบบเดือนชนเดือน … หรือเราต้องการสังคมที่คนประสบความสำเร็จมีรายได้มากกว่าคนที่โชคร้าย แต่ก็ไม่ได้มากในระดับที่เกินจินตนาการ ส่วนคนที่เหลือแม้ไม่ได้ร่ำรวยแต่ก็ไม่ได้ยากจน มีอาหารครบทุกมื้อ เข้าถึงบริการทางสุขภาพที่มีคุณภาพ ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าเล่าเรียน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างที่มนุษย์คนหนึ่งพึงจะมี
Illustration by Waragorn Keeranan