ช่วงนี้ไม่ว่าวันไหน พอเปิดทีวีญี่ปุ่นเพื่อดูข่าวหรือรายการวาไรตี้ อย่างน้อยก็ต้องเจอหนึ่งรายการที่พูดถึงเรื่องการเปลี่ยนรัชสมัยของญี่ปุ่น ซึ่งก็เป็นที่ติดตามกันมาระยะหนึ่งแล้วว่า สมเด็จพระจักรพรรดิอะคิฮิโตะจะสละราชสมบัติในวันที่ 30 เมษายนที่จะถึงนี้ ทำให้พระองค์ทรงเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์แรกในรอบเกือบ 200 ปีที่ทรงสละราชสมบัติ และเจ้าชายนารุฮิโตะ มกุฎราชกุมารจะเสด็จขึ้นครองราชย์ในวันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งก็เหลือเวลาอีกแค่เดือนกว่าๆ
แต่เรื่องหนึ่งที่จะมาถึงก่อนหน้านั้นคือ การประกาศชื่อเรียกศักราชใหม่ ที่จะทำการประกาศในวันที่ 1 เมษายน ที่จะถึงในอีกไม่กี่สัปดาห์นี้ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจมากนัก เพราะวันที่ 1 เมษายนโดยหลักแล้วเป็นวันเปลี่ยนปีงบประมาณของชาวญี่ปุ่นเขาอยู่แล้ว และก็เป็นอีกเรื่องที่อยู่ในความสนใจของชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก เพราะคราวนี้คือมีการประกาศชื่อศักราชก่อนที่จะใช้จริง ทำให้มีเวลาเตรียมการเยอะ และกลายเป็นจุดสนใจของชาวญี่ปุ่นว่าจะเป็นชื่ออะไร เพราะว่าชื่อศักราชก็มีผลต่อความรู้สึกของผู้คนไม่น้อย ดังเช่นชื่อยุค ‘เฮเซ’ ที่มีความหมายในแง่ของความสงบสุขและสันติสุข และญี่ปุ่นก็เป็นประเทศเดียวที่ยังคงใช้ธรรมเนียมโบราณแบบที่นับศักราชตามการขึ้นครองราชย์ของฮ่องเต้ (ในประเทศจีน) ชื่อศักราชจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อพวกเขามากๆ
สำหรับชื่อศักราชที่จะมาถึง ได้มีรายงานแล้วว่า ณ ขณะนี้ได้ตัวเลือกชื่อมาแล้ว 20 ชื่อ ซึ่งก็จะทำการคัดเลือกต่อไป โดยครั้งนี้ที่น่าสนใจคือมีการเลือกใช้คำที่มาจากวรรณกรรมโบราณของญี่ปุ่นด้วย ไม่ใช่แค่เพียงคำจากวรรณกรรมโบราณของจีนแบบที่เคยทำมา แต่ประชาชนทั่วไปก็ยังไม่ทราบว่าชื่อไหนติดในรายชื่อ 20 ชื่อนั้น สื่อต่างๆ จึงได้ไปสอบถามความเห็นของประชาชนว่าต้องการชื่อไหน หรือคาดหวังจะเห็นชื่อไหนบ้าง แต่ละโพลก็ได้ผลต่างกันไป แต่ก็มีหลายโพลที่เสนอชื่อ 平和—Heiwa ที่มีความหมายว่า สันติภาพ ที่กลายมาเป็นชื่อนิยมในโพล แต่จากที่อ่านและฟังมาหลายๆ ที่ ก็คิดว่าไม่น่าจะใช้ชื่อนี้ครับ
ที่พูดแบบนี้เพราะว่า เท่าที่อ่านเจอคือ การเลือกชื่อศักราชใหม่ก็มีเงื่อนไขอยู่เหมือนกัน นั่นคือ
– มีความหมายที่ดี
– ควรค่ากับการเป็นอุดมคติของประชาชน
– เป็นคำที่ประกอบด้วยคันจิสองตัว
– เขียนง่าย
– อ่านง่าย
– ไม่ใช่คำทั่วไปที่พบในชีวิตประจำวัน
ดังนั้น คำที่พบได้ทั่วไปอย่างคำว่า Heiwa นี่คงไม่ถูกนำมาใช้ และยังมีอีกเงื่อนไขหนึ่งคือ การทำเอกสารต่างๆ เพื่อกรอกข้อมูล ถ้าใครเคยกรอกเอกสารของญี่ปุ่น หลายครั้งเราจะพบว่า ในช่องปีที่ให้กรอกด้วยปีศักราชแบบญี่ปุ่น เขาจะมีตัวเลือกให้วงว่า เป็นปีศักราชไหนก่อน ซึ่งที่พบได้ในปัจจุบันนี้คือแบบนี้ครับ
明治・大正・昭和・平成 (Meiji / Taisho / Showa / Heisei) หรือย่อเป็น 明・大・昭・平 หรือย่อด้วยตัวโรมันเป็น M・T・S・H ไปเลย ใครจะกรอกอะไร ก็วงๆ แล้วใส่ปีศักราชเข้าไปอีกที
ซึ่งถ้ารัชสมัยถัดไปจะใช้ Heiwa ก็จะทำให้ทั้งตัวย่อคันจิตัวเดียวและตัวย่ออักษรโรมันตัวเดียวไปซ้ำกับ รัชสมัยก่อนหน้า อาจทำให้กรอกเอกสารลำบาก เลยคาดว่าคงไม่ใช่แค่จะไม่ใช้ Heiwa ที่มีโอกาสซ้ำกับ Heisei แล้ว ยังน่าจะใช้คำที่เวลาถอดเสียงแล้วไม่ได้ซ้ำกับ M・T・S・H ครับ ซึ่งจริงๆ ตรงนี้เท่าที่ทราบคือไม่ได้มีกฎเป็นลายลักษณ์อักษรอะไร แต่เพราะตอนที่ประชุมสภาเฟ้นหาชื่อศักราชเฮเซ ตอนแรกมีชื่อที่ถูกเสนอทั้งหมด 3 ชื่อคือ Heisei Shubun และ Seika และในตอนนั้นก็มีผู้เสนอว่า เรียง MTS มาแล้ว ต่อด้วย H แล้วน่าจะดูสมดุลดีกว่า เลยกลายมาเป็นชื่อศักราชเฮเซนี่ล่ะครับ
และเพราะอย่างนั้น ทำให้มีหลายคนมองว่า ชื่อศักราชใหม่น่าจะเป็นชื่อที่นำหน้าด้วยตัวอักษร 安—An ที่แปลว่า ปลอดภัย (แต่ถ้าคนเรียนภาษาญี่ปุ่น จะได้เรียนในความหมายว่า ราคาถูก ก่อน เลยรู้สึกแปลกๆ นิดนึง แบบเมือง 安城 ที่ตอนแรกผมก็นึกว่าแปลว่า ปราสาทราคาถูก ที่ไหนได้ หมายถึง ปราสาทที่ปลอดภัย แหม่)
และในเรื่องของการเลือกชื่อศักราช จนถึงยุคโชวะ ผู้มีอำนาจตัดสินใจสุดท้ายว่าจะเลือกชื่อไหนก็คือสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ครับ แต่ก็ใช่ว่าจะทรงเลือกเองเสมอ ตัวอย่างเช่น ชื่อศักราชเมจิ ที่สุดท้ายแล้วได้ชื่อนี้มาจากการที่สมเด็จพระจักรพรรดิจับสลากได้ชื่อนี้ขึ้นมาครับ
สำหรับประชาชนทั่วไป พอศักราชเฮเซใกล้จะจบลง ก็มีรายการโทรทัศน์ หรือบทความต่างๆ ที่เล่นกับคำว่า XXXสุดท้ายของเฮเซ (เช่นโตเกียวโอลิมปิกครั้งสุดท้ายของเฮเซที่เพิ่งแข่งจบไป) หรือรายการย้อนกลับไปดูสิ่งที่น่าระลึกถึงในยุคเฮเซ เพลงดังแห่งยุคเต็มไปหมด
บางที่ก็เล่นกิจกรรมสนุกๆ เช่น สถานีบนถนน (หรือจุดพักรถบนถนนท้องถิ่นที่มีของเด็ด ของ OTOP ในแต่ละท้องที่วางขาย) ที่ชื่อสถานี Henari ในจังหวัดกิฟุ ซึ่งเขียนคันจิว่า 平成 เหมือนกับเฮเซเป๊ะๆ (ตามสไตล์ภาษาญี่ปุ่นที่มีคำอ่านสองแบบชวนหนักใจคนเรียน) ก็เกาะกระแสนี้ เล่นกับเรื่องปีเฮเซสุดท้าย ทำสินค้าสั่งลา และชวนคนไปเที่ยวกันใหญ่ คงเพราะอยู่ละแวกนี้ด้วยผมเลยเห็นในสื่อบ่อยเชียว แต่ก็ดูเหมือนได้ผลนะครับ คนไปเที่ยวกันไม่น้อยเลยล่ะ ขนาดอยู่ไกลปืนเที่ยงขนาดนี้
เวลาดูอะไรแบบนี้ก็สนุกดีที่ว่าเขาก็มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ชวนให้คิดนั่นนี่ แต่พอใช้ชีวิตในญี่ปุ่น สำหรับชาวต่างชาติก็เป็นเรื่องปวดหัวเหมือนกัน อย่างตัวผมเองนี่ บางครั้งเจอว่าต้องกรอกเอกสารเป็นศักราชญี่ปุ่น ก็ต้องสะดุดไปนิดนึง และคอยนับทวนว่าตกลงต้องใช้ปีอะไร หลักๆ แล้วนอกจากปีเกิดตัวเองก็จำไม่ค่อยได้ล่ะครับว่าปีคริสตศักราชไหน ตรงกับปีศักราชญี่ปุ่นอะไร (อายจังเกิดในศักราชโชวะ) จนบางทีก็งงว่า มันมีข้อดีอะไรนอกจากเป็นสิ่งที่ทำกันอย่างต่อเนื่อง และเป็นเอกลักษณ์
ซึ่งเอาจริงๆ แล้วก็มีคนญี่ปุ่นที่มีความเห็นว่า ยกเลิกศักราชไปก็ดีนะ
เพราะเขาเองก็งงและเหนื่อยกับการใช้เหลือเกิน
หรือไม่ก็ คงไว้เหมือนเดิมก็ได้ แต่ว่าขอให้ใช้คริสตศักราชเป็นหลักจะเข้าใจง่ายกว่า และมีความเป็นสากลมากกว่าด้วย ก็เป็นกระแสที่หมุนไปตามโลกนั่นล่ะครับ ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับความเห็นหลังนะครับ เพราะการมีชื่อศักราชก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง เพียงแต่มันไม่ค่อยเหมาะกับการใช้ในชีวิตประจำวันแล้วนี่ล่ะครับ
และการเปลี่ยนศักราช ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ประชาชนที่ต้องจำศักราชใหม่นะครับ แต่ยังมีผลกระทบในแวดวงอื่นอีกด้วย ตัวอย่างก็เช่น ธนบัตรและเหรียญ ที่ก็ต้องเปลี่ยนศักราชตาม ทำแม่พิมพ์ใหม่ รวมถึงสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่ต้องทำบล็อกใหม่ด้วย และเรื่องธนบัตรนี่ก็ส่งผลกระทบต่ออีกส่วนคือ เครื่องอ่านธนบัตรอัตโนมัติ ที่มักจะอยู่ในตู้กดต่างๆ ทั้งตู้กดน้ำ ทั้งตู้ซื้อบัตรรถไฟนั่นล่ะครับ ต้องมาอัพเดทระบบใหม่ให้อ่านค่าให้ได้ตรงอีก
และมีโอกาที่จะเกิดความเสี่ยงอีกเรื่องหนึ่งคือ ระบบคอมพิวเตอร์ เพราะเขาก็ต้องเตรียมระบบ เพิ่มศักราชใหม่เข้าไปให้ทันกับการใช้งานจริงอีกด้วย ก็เกิดความเป็นห่วงกันว่าจะทันหรือไม่ เวลาคุยกับหน่วยงานต่างๆ ก็จะได้ยินว่า “ก็ไม่แน่ว่าตอนเปลี่ยนศักราช จะมีปัญหาอะไรรึเปล่า” อยู่เรื่อยๆ ครับ
และด้วยความกังวลอย่างหลังนี่ล่ะครับ ทำให้ตอนนี้ก็เริ่มมีการต้มตุ๋นที่อาศัยการเปลี่ยนศักราชมาหลอกคน ด้วยการสวมรอยเป็นธนาคาร แล้วส่งจดหมายแจ้งไปยังผู้ใช้บริการของธนาคารว่า “เพราะจะมีการเปลี่ยนศักราช ทำให้ระบบของธนาคารอาจะมีปัญหาและเบิกเงินไม่ได้ หรือข้อมูลของบัญชีสูญหาย ต้องทำการเตรียมข้อมูลใหม่ จึงขอให้กรอกเอกสารปรับปรุงข้อมูลธนาคาร ใส่ชื่อบัญชี เลขที่บัญชี รหัสของบัญชี รหัสบัตรเงินสด และแนบบัตรเงินสดใส่ซองส่งกลับมาด้วย” ก็ยังดีที่คนที่ออกอุบายนี้โดนจับไปเรียบร้อยนะครับ (ก็ควรล่ะครับ ไม่ทันคิดว่าจะโดนตามรอยได้จากที่อยู่ที่ส่งกลับเลยเหรอ) แต่คิดว่าก็คงจะมีการต้มตุ๋นแบบนี้อีกไม่น้อย เพราะช่วงนี้รายการโทรทัศน์หรือรายการข่าวก็พูดเตือนอยู่ประจำเลยล่ะครับ
ถึงจะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่การเปลี่ยนศักราชครั้งนี้ก็ดูจะเป็นที่คาดหวังของประชาชนในแง่บวก ดูเป็นการพบกับสิ่งใหม่ๆ เป็นการเริ่มต้นครั้งใหม่อย่างสดชื่นอีกครั้ง ซึ่งก็มาคอยดูกันว่า เขาจะใช้ชื่อศักราชว่าอย่างไรกันนั่นล่ะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก