เราโชคดีที่ได้เห็นซากุระบานเต็มสวนอุเอโนะครั้งสุดท้ายในรัชศกเฮเซ ก่อนที่ญี่ปุ่นจะเข้าสู่รัชศกเรวะอย่างเป็นทางการในเดือนหน้า
ดอกซากุระที่บานไปทั่วทั้งเมือง คิวเข้าแถวในดิสนีย์แลนด์ที่เรากลายเป็นเด็กโข่ง คนทำงานที่รับผิดชอบหน้าที่ตัวเองได้ดีราวกับว่าอิคิไกเป็นสิ่งปกติในประเทศนี้ ความไม่สนใจคนอื่นในชั่วโมงเร่งด่วนของรถไฟใต้ดิน แต่ก็มีระเบียบและความไม่อยากสร้างปัญหาให้ใคร รวมถึงโชว์ในภัตตาคารหุ่นยนต์ที่รวมป๊อบคัลเจอร์ของญี่ปุ่นอันแน่นจนล้น
นี่คือบทความเดินทางไม่กี่ชิ้นของ The MATTER ที่ชวนสังเกตวิถีชีวิต ผู้คน และความเป็นไปในโตเกียว
มนุษย์โตเกียว โดดเดี่ยวแต่ผูกพันกันด้วยวินัย
ภาพจำในช่วงเวลาเร่งด่วนของสถานีรถไฟในโตเกียวที่เราคุ้นเคยกันดี คือเหล่าคนทำงานในชุดสูทสีดำถือกระเป๋าหนังเบียดเสียดอยู่ในรถไฟอัดแน่นจนเหมือนปลากระป๋อง อีกเรื่องที่เคยเห็นตามสื่อคือพวกเขาจะเดินแบบไม่สนใจคนบ้านนอก หรือนักท่องเที่ยวที่ทำท่างกๆ เงิ่นๆ ว่าจะต้องเดินออกประตูไหนหรือจะต้องขึ้นรถไฟสายไหน ไม่ต้องคาดหวังจะว่าได้รับน้ำใจใดๆ ประสบการณ์เหล่านี้อาจทำให้คนที่ไปโตเกียวครั้งแรกรู้สึกแย่กับชาวเมืองนี้ และเราก็รู้สึกว่ามันช่างโดดเดี่ยวเสียเหลือเกิน
ภายใต้ความโดดเดี่ยวและเร่งรีบของเมืองหลวง เรากลับเห็นสายสัมพันธ์บางอย่างที่ผูกโยงพวกเขาเข้าด้วยกัน นั่นคือระเบียบวินัย และการไม่เป็นภาระให้ผู้อื่นที่พวกเขายึดมั่น ผ่านการใช้ระบบขนส่งมวลชน ในประเทศที่วัฒนธรรมการทำงานจริงจังมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ทุกก้าวเดิน การแตะบัตรขึ้นรถไฟ การออกแบบทางเดิน การต่อคิว ล้วนเกิดขึ้นมาเพื่อกำหนดพฤติกรรมของชาวโตเกียว ที่หลายคนอาจมองว่าแล้งน้ำใจ แต่ความเป็นจริงการเบียดเบียนคนอื่นให้น้อยที่สุด นั่นคือสิ่งที่พวกเขายึดถือ
ส่วนเราคนไทยที่ไปเที่ยวโตเกียวครั้งแรกและจองตั๋วรถไฟแบบเหมารอบไว้แล้ว ทำให้หลงได้หลายรอบ โดนเขาเดินชนกลางสถานี จนเข้าใจได้ว่า เออ เราคงเกะกะจริงๆ นั่นแหละ
ซื้อบัตรโดยสารรถไฟใต้ดินโตเกียว (Tokyo Subway) แบบไม่จำกัดจำนวนเที่ยว ล่วงหน้าผ่าน Klook ได้ที่ https://www.klook.com/th/activity/1552-subway-ticket-tokyo/
การรอคอยและอิคิไกในดิสนีย์แลนด์
เราเดินทางไปถึง ‘โตเกียวดิสนีย์แลนด์’ ประมาณเก้าโมงเช้า ซึ่งถ้าเป็นวันหยุด อาจเป็นช่วงเวลาที่เราอยากจะนอนต่อบนเตียง ทว่าภาพที่เราเห็นคือหมู่มวลมหาศาลของนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่พร้อมใจกันต่อคิวซื้อตั๋วที่หน้าทางเข้า ทำเอาเราที่ถึงแม้จะเป็นแฟนการ์ตูนของดิสนีย์หรือมีความฝันว่าอยากจะมาเที่ยวสวนสนุกแห่งนี้ขนาดไหน ก็ทำให้รู้สึกท้อตั้งแต่ยังไม่ทันได้ต่อคิวด้วยซ้ำ
ยิ่งเมื่อเข้าไปถึง สิ่งที่ยืนยันว่าที่นี่คือสวนสนุกระดับโลกที่ได้รับความนิยมมาตลอด 35 ปี คือแถวต่อคิวของเครื่องเล่นแต่ละชนิดที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อยๆ ร่วมชั่วโมงกว่าจะถึงคิวได้เล่น ถึงแม้จะมีระบบ Fastpass Ticket ที่ช่วยให้เราสามารถเล่นเครื่องเล่นได้ตามเวลาที่กำหนดก็ตาม การรอคอยทำให้เราหมดความสนุกได้เหมือนกัน
แต่ขณะเดียวกันการรอคอยกลับทำให้เราเริ่มมองเห็นรายละเอียดต่างๆ ของผู้คนมากขึ้น รอยยิ้มของเด็กๆ ที่เฝ้ารออย่างไม่มีทีท่าจะเหน็ดเหนื่อย แก๊งเด็กวัยรุ่นที่พูดคุยกันออกรสระหว่างยืนรอ และที่สำคัญคือการทำงานของพนักงานในชุดธีมที่เข้ากับเครื่องเล่น ใบหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม เสียงที่อธิบายข้อแนะนำของเครื่องเล่นอย่างชัดถ้อยชัดคำ ถึงจะเป็นลูปของไดอาล็อคซ้ำๆ แต่เรากลับไม่รู้สึกว่านี่คือการท่องจำเพื่อมาบอก เพราะสัมผัสได้ถึงอารมณ์ร่วมในน้ำเสียงและแววตาของพวกเขา กระทั่งพนักงานที่สวมชุดมาสคอต เรามองไม่เห็นหรอก ว่าภายใต้หน้ากากนั้นเขาจะเหนื่อยล้าแค่ไหน สิ่งที่เราเห็นคือภาพของมาสคอตที่มีคาแรกเตอร์ราวกับหลุดออกมาจากหนังการ์ตูนจริงๆ
หรือนี่จะเป็น ‘อิคิไก’ ของชาวญี่ปุ่นที่เราเคยได้ยินได้อ่านมา ความรักและความสุขในการทำงานที่แท้จริง รูปร่างหน้าตาเป็นแบบนี้นี่เอง
จองตั๋ว โตเกียวดิสนีย์แลนด์พร้อมรถบัสรับส่ง เข้าสวนสนุกได้ทันที ไม่ต้องต่อคิวซื้อตั๋ว ผ่าน Klook ได้ที่ https://www.klook.com/th/activity/6855-tokyo-disneyland-shared-bus-transfer-tokyo/
ซากุระและการเก็บเกี่ยวความงามที่ร่วงโรย
เมื่อเราโพสต์ภาพดอกซากุระที่กำลังบานเต็มต้นลงในอินสตาแกรมส่วนตัว เพื่อนๆ ต่างก็แวะเข้ามาคอมเมนต์ว่า โชคดีจังที่ได้ไปเห็น สำหรับคนที่เติบโตมาพร้อมกับการ์ตูนญี่ปุ่น การได้มาเห็นซากุระบานเต็มต้นคือหนึ่งในความประทับใจ เพราะซากุระเหมือนเป็นการเริ่มต้นของวัยหนุ่มสาวในโรงเรียนมัธยม ภาพที่เราเห็นคือคนญี่ปุ่นในงานเทศกาลชมดอกซากุระในสวนอุเอโนะนำเอาเสื่อมาปู ใช้กล่องลังมาทำเป็นโต๊ะปิกนิกกินดื่มกันใต้ต้นไม้ เพื่อชมความงานที่เกิดขึ้นเพียงปีละครั้ง เฉลิมฉลองหลังสิ้นฤดูหนาวอันยาวนานและเริ่มต้นวันใหม่ในฤดูใบไม้ผลิ
สำหรับคนจากประเทศที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรที่ไม่ได้มีฤดูหนาวอันทรมาน ความงามของฤดูใหม่อาจไม่เด่นชัด ความลำบากในการใช้ชีวิตในแต่ละวันไม่มีความแตกต่างของสภาพอากาศสักเท่าไร ทำให้เราไม่ได้มีความรู้สึกชื่นชมช่วงเวลาเล็กๆ ที่งดงามเหมือนคนญี่ปุ่น แต่การอยู่กับปัจจุบันก็อยู่ในคำสอนของพุทธศาสนา ซึ่งเราหลงลืมมันไปแล้ว
การรอคอยเวลาตลอดทั้งปีให้ดอกซากุระบานเต็มต้น ที่เบ่งบานเพียงหนึ่งสัปดาห์ ได้มอบความหวัง ความฝัน การเริ่มต้นใหม่อีกครั้งของชีวิต และการเวียนว่ายตายเกิด การเก็บเกี่ยวช่วงเวลาแห่งความสุขนี้ แม้เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็เป็นแสงอ่อนๆ ในความทรงจำของเราเสมอ
เมืองเดินได้ เมื่อการออกแบบทำให้คนผอม
ตลอดหลายวันที่เราใช้ชีวิตในฐานะนักท่องเที่ยวอยู่ในโตเกียว สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราแปลกใจสุดๆ คือแทบไม่เห็นคนอ้วนในโตเกียวเลย จะด้วยอาหารการกินไม่อร่อยก็ไม่ใช่ เพราะโตเกียวได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมร้านอาหารที่ดีสุดแห่งหนึ่งของโลก แต่จากที่เราวิเคราะห์เอาเอง ก็น่าจะเป็นการออกแบบเมืองที่ทำให้คนญี่ปุ่นต้องใช้การเดินเพื่อไปไหนมาไหนเป็นหลัก
ถึงแม้ระบบขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟที่เชื่อมต่อไปทุกมุมเมือง ทำให้ชาวญี่ปุ่นสามารถไปไหนมาได้อย่างสะดวกและตรงเวลา แต่การจะไปถึงยังที่หมายจริงๆ ได้นั้น ต้องอาศัยการเดินด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนขบวนรถไฟ หรือการขึ้นจากสถานีไปยังที่หมาย ก็ต้องเดินทั้งหมด ไม่ได้มีวินไปส่งแบบบ้านเราแต่อย่างใด ไม่น่าเชื่อว่า เพียงแค่ครึ่งวันที่เราเดินสำรวจเมืองเพียงแค่ไม่กี่แห่ง นาฬิกานับก้าวเดินของเราก็นับได้กว่าสองหมื่นก้าวแล้ว
สิ่งหนึ่งที่จูงใจให้เราอยากจะเดิน แม้กล้ามเนื้อขาจะอ่อนล้าเพียงใด คือการออกแบบฟุตปาธที่ใส่ใจต่อคนเดินจริงๆ ทั้งแผ่นอิฐบล็อคที่บรรจงปูอย่างประณีตทุกแผ่น ความกว้างที่มากพอจะไม่เดินชนกัน ความสะอาดสะอ้านที่ไม่มีแม้ฝุ่น บล็อคผิวสัมผัสสำหรับผู้พิการทางสายตา สัญญาณจราจรสำหรับข้ามถนนที่ทั้งคนและรถต่างทำตามกฎอย่างเคร่งครัด และไม่มีสิ่งกีดขวางอย่างเช่นป้ายโฆษณาหรือป้ายหาเสียงใดๆ ชวนให้หงุดหงิด เรียกว่าเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่รัฐบาลใหม่ของเราควรจะเอาเยี่ยงอย่างบ้าง
Very Japan in Robot Restaurant
ในซอยลึกในย่านคาบุกิโจ ที่คนดำเชิญชวนคุณไปเที่ยวไนท์คลับ ส่วนหนุ่มหล่อเชิญชวนคุณไปนั่งดื่มที่บาร์โฮสต์ บรรยากาศคุ้นเคยเหมือนกำลังเดินในวอล์คกิ้งสตรีทพัทยายามค่ำคืนที่สว่างไสวและมีชีวิตชีวา ย่านที่เย้ายวนให้เราอยากลองเสียเงินดูสักครั้ง เพื่อตอบสนองความต้องการ เหมือนสื่อเพศศึกษาที่เราเรียนรู้ด้วยตัวเองมาตลอด ที่นั่นเป็นที่ตั้งของ ‘ภัตตาคารหุ่นยนต์’ หรือ ‘Robot Restaurant’ สถานที่ที่มีโชว์อันดับต้นๆ ของโตเกียว หลายเว็บไซต์ต่างแนะนำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเราต้องลองไปสัมผัส
ก้าวแรกที่เดินเข้าไป เหมือนถูกพาเดินเข้าไปในโลกต่างมิติ เต็มไปด้วยผีเสื้อ กิ้งก่า และสีสันที่เกินล้น ทางเดินวนไปวนมาเหมือนเขาวงกต แต่จริงๆ เราแค่เดินวนไปวนมาในห้องแถวที่ถูกออกแบบมาเท่านั้น เรานั่งรอในเลานจ์ชั้น 3 ของตึก มีวงดนตรีในชุดหุ่นยนต์เล่นเพลงแจ๊สคลอ ราคาเครื่องดื่มก็แพงเกินกว่านักท่องเที่ยวแบบเราจะกล้าสั่ง เรานั่งรอเวลาก่อนการแสดงจะเริ่มต้นขึ้น การแสดงที่ไม่ได้คาดหวังอะไร เพราะบรรยากาศเหมือนถูกหลอกมาดูปิงปองโชว์อย่างไรอย่างนั้น
สีสันสุดประหลาด แสงสี วงจรอิเล็กทรอนิกส์ ความไม่สมประกอบแบบไซเบอร์ ขบวนการ 5 สี ซามูไร ผีญี่ปุ่น และความคาวาอี้ ที่บอกเล่าเรื่องราวญี่ปุ่นแบบไซเบอร์พังค์ ผสมผสานตำนานพื้นบ้าน ป๊อบคัลเจอร์ที่เข้ากับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แปลกประหลาดราวกับอยู่ในโลกอนาคต คือส่วนผสมอันหลุดโลกของโชว์ที่เวรี่เจแปน ทำให้เรามองข้ามรสชาติเบนโตะอันแสนเย็นชืดไปได้เลย เราไม่สามารถสปอยล์โชว์นี้ได้ เพราะอยากให้คุณมาชมด้วยตาตัวเองมากกว่า ภาพนิ่งที่แนบมาก็ไม่อาจเล่าการแสดงกว่า 90 นาที ในชั้นใต้ดินของตึกย่านคาบุกิโจและความจริงจังของทีมงานได้หมด แต่จากรอยยิ้มและสายตาที่ส่งถึงคนดูทุกคน เป็นสิ่งที่บอกว่า พวกเขาไม่ใช่แค่นักแสดงโชว์ทั่วๆ ไป แต่เป็นศิลปินที่จริงจังกับงานแสดงสุดประหลาด ที่เราอยากให้คุณลองไปดูสักครั้งหนึ่ง
จองบัตรเข้าชมการแสดง Robot Restaurant ล่วงหน้า พร้อมช่องทางพิเศษของ Klook ไม่ต้องเสียเวลาต่อคิว ได้ที่ https://www.klook.com/th/activity/631-robot-restaurant-tokyo/
เคล็ดลับความอร่อยอยู่ที่การเคารพวัตถุดิบ
วัตถุดิบที่ดีทำให้อาหารอร่อย น่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนต่างเข้าใจดี แต่สำหรับชาวไทยที่ชอบรสจัดจ้าน จะกินอะไรก็ปรุงเพิ่ม อาจรู้สึกแปลกลิ้นอยู่บ้าง ถ้ากินอาหารซีฟู้ด แต่ไม่มีน้ำจิ้มรสแซ่บๆ นัวๆ การมากินอาหารทะเลครั้งแรกของเราที่ร้าน ‘Isomaru Suisan Bar’ ร้านอาหารทะเลย่างแบบญี่ปุ่น เหมือนไปนั่งกินทะเลปิ้งย่างแถวหน้ามหา’ลัย มีเบียร์ สูบบุหรี่ได้ สิ่งที่ดีที่สุดคงเป็นความสดและคุณภาพของอาหารทะเลที่ดีกว่าร้านหมูกะทะอยู่หลายขุม แต่สิ่งที่แตกต่างคือไม่มีอะไรให้จิ้มนอกจากโชวยุ จนจิตใต้สำนึกเราเรียกร้องหาน้ำจิ้มซีฟู้ดขึ้นมาเอง
ความเคยชินกับการกินอาหาร โดยมีน้ำจิ้มหรือมีซอสมากลบรสชาติของวัตถุดิบแบบคนไทยนั้น อาจเป็นสิ่งที่เยียวยาคุณภาพวัตถุดิบที่ด้อยให้ดีขึ้นโดยที่ไม่ตั้งใจ ในเมืองไทยเราคงไม่สามารถถามพ่อครัวหรือพนักงานเสิร์ฟได้ว่าวัตถุดิบเหล่านี้มาจากที่ไหน ผ่านกระบวนการมาอย่างไรบ้าง ไม่ใช่ทุกร้านที่จะตอบเราได้ เพราะความเคยชินว่า วัฒนธรรมอาหารไทยต้องตัดทอนรายละเอียดเหลือเพียงแค่ถูกปากกับไม่ถูกปาก ส่วนที่ญี่ปุ่น เราถามหาเรื่องราวของอาหารได้จากพวกเขา (ถ้าคุณสามารถสื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้) การเคารพในวัตถุดิบของคนญี่ปุ่นจึงเป็นอีกเรื่องที่น่าชื่นชม เพราะหลายเมนูผ่านกระบวนการปรุงน้อย และดึงรสอูมามิจากธรรมชาติมาชูวัตถุดิบหลักให้อร่อยขึ้นไปอีก
นอกจากอาหารทะเล เรามีโอกาสได้กินเต้าหู้ที่ร้าน ‘Kioicho Kichiza’ ที่ทำให้เต้าหู้เป็นมากกว่าเต้าหู้ แต่ละจานที่มาเสิร์ฟ เต้าหู้มีรสชาติและผิวสัมผัสที่แตกต่างกันทุกจาน จนอดสงสัยไม่ได้ว่าชาวญี่ปุ่นสั่งสมวัฒนธรรมอาหาร ลองผิดลองถูกมานานเท่าไร ใช้ความหมกหมุ่นกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามากเพียงใด จนทำให้เกิดความพิเศษได้ขนาดนี้
จองที่นั่งพร้อมเมนูอาหารทะเลสุดพิเศษ ที่ร้าน Isomaru Suisan Bar สาขาอาซากุสะ, รปปงหงิ และอิเคบุคุโระ ล่วงหน้าผ่าน Klook ได้ที่ https://www.klook.com/th/activity/5164-isomaru-suisan-bar-tokyo/
จองที่นั่งพร้อมเมนูเต้าหู้ไคเซกิ ที่ร้าน Kioicho Kichiza สาขาห้างเคโอะ ย่านชินจูกุ ล่วงหน้าผ่าน Klook ได้ที่ https://www.klook.com/th/activity/10820-kioicho-kichiza-in-shinjuku-tokyo/
Tokyo Tower X Tokyo Skytree การเปลี่ยนผ่านของช่วงเวลา
มีคนบอกไว้ว่า มาโตเกียวทั้งที ถ้าอยากจะไปสัมผัสแลนด์มาร์กแบบคลาสสิกให้ไป ‘โตเกียวทาวเวอร์’ แต่ถ้าอยากจะไปดูอะไรใหม่ๆ ให้ไป ‘โตเกียวสกายทรี’ ซึ่งก็นับว่าเป็นโชคดีของเราที่การเดินทางครั้งนี้ได้ไปหอคอยทั้งสองแห่ง ซึ่งความรู้สึกที่ได้ก็นับว่าแตกต่างอย่างสิ้นเชิง
ครั้งหนึ่ง หนังเรื่อง Always: Sunset on Third Street เคยเป็นหนังเรื่องโปรดของเรา เรื่องราวของตัวละครบนถนนหมายเลข 3 ที่มีภาพเบื้องหลังเป็นโตเกียวทาวเวอร์ที่กำลังก่อสร้าง ทำหน้าที่เยียวยาบาดแผลของผู้คนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังคงติดตรึงอยู่ในใจเราเสมอ เราเดินทางไปโตเกียวทาวเวอร์ในช่วงเช้า ยอดหอคอยสีแดงส้มปรากฏให้เห็นลิบๆ ระหว่างทางที่กำลังเดินเท้าไป น่าแปลกใจว่า ประวัติศาสตร์ของสถานที่แห่งนี้ที่คนไทยอย่างเราๆ ไม่ได้มีส่วนร่วม กลับทำให้เราขนลุก อาจเป็นเพราะขนาดที่ใหญ่โตและโครงสร้างจากเหล็กกล้าอันน่าเกรงขามของมัน ประกอบกับวันที่เราไปถึง จุดชมวิวบางส่วนกำลังปิดปรับปรุง ทำให้ช่องหน้าต่างที่อยู่บริเวณกลางหอคอยถูกปิดด้วยผ้าใบสีน้ำเงิน ผิดไปจากที่เห็นในภาพอยู่พอสมควร แต่นั่นกลับทำให้เรารู้สึกถึงความเป็นปัจจุบันที่ทุกอย่างกำลังอยู่ในช่วงเตรียมตัวและปรับปรุง
ตัดภาพมาที่ช่วงเวลาเย็นย่ำของอีกวัน เราเดินเท้าไปยัง โตเกียวสกายทรี หอคอยอีกแห่งที่สร้างขึ้นมาภายหลังโตเกียวทาวเวอร์กว่าห้าสิบปี แน่นอนว่าทุกอย่างย่อมเปลี่ยนไป หอคอยแห่งนี้เป็นตัวแทนของความทันสมัยและความสะดวกสบาย ทั้งสีสันของไฟที่ประดับและโครงสร้างที่ดูโมเดิร์นกลับไม่ได้ทำให้เราอินไปกับสิ่งที่เห็นตรงหน้าสักเท่าไร แม้ว่าขนาดของมันจะสูงกว่าโตเกียวทาวเวอร์เกือบเท่าตัว ทำให้เรารู้สึกว่า เมื่อยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่านไปอย่างรวดเร็ว มักไม่ค่อยมีใครจะหวนรำลึกถึงความหลังที่ผ่านไปแล้ว การแข่งขันโอลิมปิก 2020 เป็นการหวนกลับมาจัดยังโตเกียวแห่งนี้เป็นครั้งที่ 2 เชื่อว่าไม่มีชาวญี่ปุ่นคนไหนจดจำถึงการร่วมแรงร่วมใจเมื่อครั้งปี 1964 ได้อย่างชัดเจนอีกแล้ว พวกเขาต่างมองไปข้างหน้า และคาดหวังถึงอนาคตที่มันจะสมบูรณ์แบบกว่าปัจจุบันที่เป็นอยู่
จองตั๋วเข้าชม โตเกียวสกายทรี ล่วงหน้าผ่าน Klook ได้ที่ https://www.klook.com/th/activity/16779-skytree-admission-ticket-tokyo/
สนับสนุนการเดินทางครั้งนี้โดย Klook เว็บไซต์และแอปพลิเคชันสำหรับการจองกิจกรรมท่องเที่ยวทั่วโลก
ความพิเศษของ Klook คือช่วยให้การท่องเที่ยวสะดวกสบาย ด้วยการลดขั้นตอนยุ่งยากในการจองตั๋วสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร และกิจกรรมต่างๆ ผ่านระบบ QR Code ของ Klook จะจองล่วงหน้าหรือจองหน้างานก็ได้ ซึ่งหลายแห่งช่วยให้ไม่ต้องต่อแถวซื้อตั๋วรอคิวนาน สามารถใช้บริการได้ทันที รวมถึงบางแห่งยังมีเลนพิเศษ สำหรับคนที่จองจาก Klook ไม่ต้องต่อคิวธรรมดาในการใช้บริการอีกด้วย และอีกหนึ่งความพิเศษคือการการันตีราคาที่ถูกที่สุด พร้อมด้วย User Review ที่มาจากผู้ที่เคยจองกิจกรรมนั้นๆ แล้วเท่านั้น
สนับสนุนการเดินทางโดย Klook โปรโมชั่นช่วงสงกรานต์ ลด 10% สูงสุด 550 บาท เมื่อใช้โค้ด SONGKRAN จองกิจกรรมท่องเที่ยวกับ Klook วันนี้ – 30 เมษายน 2562 จองได้ที่ https://goo.gl/VZ33xZ
จะไปโตเกียวหรือสถานที่แห่งไหน Klook ก็ช่วยให้ทุกการเดินทางง่ายขึ้น