วันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในวันสำคัญมากของประเทศญี่ปุ่น เพราะเป็นวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ปัจจุบันคือ สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ ซึ่งก็เป็นพิธีที่สั้นและกระชับดี ส่วนงานฉลองก็มีพระราชอาคันตุกะจากนานาชาติมาร่วมพิธีอย่างสมเกียรติ แต่วันนี้ไม่ขอพูดเรื่องสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ เพราะคิดว่าคงมีหลายสื่อเล่ารายละเอียดกันไปเยอะแล้ว แต่จะขอคุยเรื่องของอีกหนึ่งท่านที่มีตำแหน่งสำคัญเช่นกัน นั่นคือ สมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะ ผู้ซึ่งกลับมาอยู่ในสายตาของชาวญี่ปุ่นอีกครั้ง
สมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะ แม้ในปัจจุบันจะเป็นที่รู้จักในฐานะสมเด็จพระจักรพรรดินีพระองค์ปัจจุบัน แต่จริงๆ แล้ว เส้นทางกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ก็น่าสนใจเป็นอย่างมาก
ก่อนจะมาเป็นเจ้าหญิงมาซาโกะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะ พระองค์ก็เคยเป็นที่รู้จักในพระนามว่า มาซาโกะ โอวาดะ (Masako Owada) สามัญชนชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง ซึ่งจะบอกว่าสามัญชนก็คงพูดได้ไม่เต็มปาก เพราะพ่อของเธอคือ ฮิซาชิ โอวาดะ (Hisashi Owada) อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และศาลประจำศาลนานาชาติที่กรุงเฮก และยังเป็นนักการทูตอีกด้วย และพระองค์เองก็ได้ประโยชน์จากจุดนั้น
ด้วยประสบการณ์ในต่างประเทศทั้งการเติบโตในอเมริกาและอดีตโซเวียต บวกกับฐานครอบครับที่ดี ทำให้ทรงประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษามัธยมปลายที่อเมริกาซึ่งพ่อเธอรับตำแหน่งทูตในตอนนั้น และเข้าศึกษาต่อด้านเศรษฐศาสตร์นานาชาติที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ตามด้วยคณะนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว ก่อนที่จะสอบบรรจุเข้ากระทรวงการต่างประเทศได้ในเวลาต่อมา ดูเส้นทางแล้วเรียกได้ว่าเลือกเดินมาเพื่อสิ่งนี้โดยเฉพาะจริงๆ
หลังจากนั้นพระองค์เสด็จประจำที่อังกฤษ และเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยในเมืองอ๊อกซ์ฟอร์ด ซึ่งก่อนหน้านั้น พระองค์ก็ได้มีโอกาสรู้จักกับเจ้าชายนารุฮิโตะแล้ว แต่ว่าขณะนั้นก็ไม่ได้มีสนพระทัยอะไรมากนัก เพราะต้องการมุ่งหน้าเอาดีเรื่องงานเป็นหลัก ซึ่งด้วยทักษะภาษานอกจากภาษาญี่ปุ่นและอังกฤษแล้ว ยังทรงใช้ภาษาเยอรมันและฝรั่งเศสได้อย่างคล่องแคล่ว ความสามารถและความรู้ขนาดนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าถ้าตั้งใจด้านนี้แล้วจะสามารถก้าวไปข้างหน้าในสายงานนี้ได้ไกลแค่ไหน จึงไม่แปลกที่ต่อให้เจ้าชายพยายามแสดงความสนพระทัยในตัวพระองค์แค่ไหน ก็ไม่อาจจะเปลี่ยนความมุ่งมั่นของหญิงสาวที่เลือกความก้าวหน้าในการงาน
แต่น้ำหยดลงหินทุกวันหินมันยังกร่อน เช่นเดียวกัน
เมื่อเจ้าชายได้ทรงพยายามหลายต่อหลายครั้ง สุดท้ายพระองค์ก็ใจอ่อน
ซึ่งก็เป็นเรื่องเหนือความคาดหมายของทุกคน ขนาดสื่อญี่ปุ่นเองยังกาชื่อพระองค์ออกจากคนที่มีโอกาสเป็นเจ้าหญิงไปเรียบร้อยแล้ว ขนาดที่บรรณาธิการข่าวของญี่ปุ่นยังรู้ข่าวจากคอลัมน์เล็กๆ ในหนังสือพิมพ์ของตะวันตกแทน จนต้องรีบพุ่งไปเกาะรั้วมหาวิทยาลัยที่อังกฤษเพื่อรอพระองค์ แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่ทำให้พระองค์ไม่ประสงค์รับตำแหน่งอันทรงเกียรตินั้น ก็คือภาระหน้าที่อันหนักอึ้งและธรรมเนียมต่างๆ อันเคร่งครัด ตรงกันข้ามกันสิ่งต่างๆ ที่คุ้นเคยและเป้าหมายในอนาคตเป็นอย่างมาก แต่สุดท้าย เจ้าชายก็ทรงเอาชนะใจได้ด้วยการให้สัญญาว่า
“ฉันจะใช้กำลังทั้งหมดที่มีปกป้องเธอไปตลอดชีวิต”
ซึ่งก็เล่นเอาหลายต่อหลายคนคาดการณ์ไปต่างๆ นานา ว่า ที่เจ้าชายทรงต้องการจะปกป้องว่าที่เจ้าหญิงนั้น คือการปกป้องจากอะไรกัน แต่หลายคนก็เชื่อกันว่า น่าจะจากทั้งแรงกดดันในราชสำนัก และสำนักพระราชวังหลวง รวมไปถึงความสนใจของมหาชนอีกด้วย
ซึ่งก็ไม่ผิดคาดจริงๆ เพราะเมื่อมีข่าวว่าพระองค์กลายเป็นคู่หมั้นหมายของเจ้าชายไปแล้ว ไม่ว่าใครก็สนใจอยากจะรู้เรื่องราว และยิ่งระหว่างที่ยังไม่ได้ผ่านพิธีเสกสมรสอย่างเป็นทางการ พระองค์ก็ยังคงเป็นสามัญชนอยู่ (และจะกลายเป็นสามัญชนคนที่สองที่ได้ขึ้นเป็นจักรพรรดินี) ทำให้บรรดากองทัพสื่อคอยตามไปทำข่าว
จากที่ผมได้เห็นคลิปข่าว นักข่าวต่างดักรอสัมภาษณ์อยู่หน้าบ้านตอนเช้า เมื่อพระองค์ออกจากบ้านไปทำงาน นักข่าวก็เดินตามตั้งแต่หน้าบ้านไปจนถึงสถานีรถไฟ เรียกได้ว่าเป็นยุคนี้ ทำแบบนี้คงโดนสังคมรุมด่าไปแล้ว แต่นั่นก็เป็นแง่มุมหนึ่ง เพราะเอาเข้าจริงๆ ก็เกิดกระแสบูมว่าที่เจ้าหญิงคนใหม่ กลายมาเป็นไอคอนของสาวญี่ปุ่นไปโดยปริยาย เพราะนอกจากเรื่องความสามารถแล้ว การแต่งตัวแบบมีสไตล์ และว่าที่ตำแหน่งใหม่ก็กลายเป็นเหมือนกับบุคคลในความฝันที่สาวๆ อยากจะเอาอย่างกัน ทำให้พิธีเสกสมรสในครั้งนี้เป็นที่จับตามองของชาวญี่ปุ่นอย่างแท้จริง
แต่หลังจากพิธีในปี ค.ศ.1993 เสร็จสิ้น ชีวิตของพระองค์ก็เปลี่ยนไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง จากที่มุ่งมั่นเอาดีด้านอาชีพการงาน เดินสายไปต่างประเทศ ก็ได้กลายเป็นชีวิตในรั้ววัง ไม่ได้เสด็จต่างประเทศ ประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ มากไม่ได้ เพราะจะเป็นการชิงความโดดเด่นไปจากเจ้าชาย และต้องเจอกับธรรมเนียมต่างๆ กลายเป็นโลกที่พระองค์ไม่เคยได้เผชิญมาก่อน และผิดกับนิสัยของพระองค์เป็นอย่างมาก
และแรงกดดันที่ถาโถมอย่างหนักที่สุดคือ
ความคาดหวังให้พระองค์ให้กำเนิดรัชาทายาทชาย
เพราะนั่นคือ ‘หน้าที่’ ที่ถูกคาดหวังจากตำแหน่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นสำนักพระราชวังหลวง หรือเหล่าชาวอนุรักษ์นิยม ต่างก็คาดหวัง (กดดัน) ในเรื่องนี้มาตลอด และสังคมญี่ปุ่นก็ตกตะลึงเมื่อทราบข่าวที่พระองค์แท้งในการทรงพระครรภ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1999 บวกกับการมีพระชนมายุมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ยิ่งเป็นแรงกดดันที่มากขึ้น แม้จะให้กำเนิดรัชาทายาทพระองค์แรกคือ เจ้าหญิงไอโกะ ในปี ค.ศ.2001 ซึ่งก็เป็นข่าวดีสำหรับชาวญี่ปุ่น แต่ก็มีคนไม่พอใจที่ไม่ใช่เจ้าชายอยู่ดี เพราะกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์บัญญัติห้ามสตรีขึ้นครองราชย์
สุดท้ายแล้ว ความเครียดต่างๆ ที่ถาโถมมา ก็ส่งผลให้เจ้าหญิงมาซาโกะทรงประชวร และประทับอยู่ในวังเป็นหลักตั้งแต่ปี ค.ศ.2002 ไม่ค่อยได้เสด็จมาพบปะประชาชนเท่าไหร่นัก ทางสำนักงานพระราชวังหลวงก็อธิบายว่า พระองค์ทรงมีปัญหากับการปรับตัว ซึ่งหลังจากนั้นก็แทบจะไม่มีโอกาสได้เห็นพระองค์มากนัก จนมาในช่วงหลังๆ ที่มีการทรงงานการกุศลบ้างเท่านั้น กลายเป็นเรื่องที่รู้กันแต่ไม่ค่อยมีใครพูดกันตรงๆ เท่าไหร่นักว่าพระองค์ทรงเผชิญกับความเครียดจากความคาดหวังของสังคมแค่ไหน
ยังดีที่เมื่อ เจ้าชายฮิซาฮิโตะ บุตรชายของ เจ้าชายอาคิชิโนะ พระอนุชาของเจ้าชายนารุฮิโตะประสูติในปี ค.ศ.2006 สังคมญี่ปุ่นบางส่วนก็เบาใจลงบ้างว่าอย่างน้อยก็ยังมีรัชทายาทชายอยู่ แต่ก็ยังมีคนไม่พอใจและคาดหวังรัชทายาทสายตรงอยู่ดี
แต่เมื่อเข้าสู่ยุคเรวะ และเจ้าชายนารุฮิโตะกลายเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ ดูเหมือนว่าตำแหน่งเจ้าหญิงมาซาโกะเปลี่ยนตามเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะแทนก็มีส่วนช่วยให้พระองค์ทรงคลายความกดดันไปได้บ้าง เพราะเมื่อต้องต้อนรับประธานาธิปดีทรัมป์ที่มาเยือน พระองค์ก็ทรงสนทนากับประธานาธิปดีและภริยาโดยมิต้องใช้ล่าม ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรสำหรับพระองค์ แต่ชาวญี่ปุ่นรุ่นเยาว์อาจจะไม่เคยทราบถึงพระปรีชาตรงนี้มาก่อน จนทำให้เกิด Hashtag #ไม่ต้องมีล่าม ขึ้นในทวิตเตอร์เลยทีเดียว
ดูเหมือนว่าในที่สุด ก็ถึงเวลาที่พระองค์ทรงงานที่ชื่นชอบกับการสนทนาเรื่องราวต่างๆ กับแขกบ้านแขกเมือง และเป็นโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมญี่ปุ่นไปข้างหน้าอีกครั้ง
ที่บอกอย่างนี้เพราะว่า ในตอนนี้ก็ยังคงมีการถกเถียงกันอยู่ว่า ตกลงจะเอาอย่างไรในเรื่องรัชทายาท เพราะเจ้าหญิงไอโกะก็ขัดกฎมณเฑียรบาล ส่วนเจ้าชายฮิซาฮิโตะก็เป็นบุตรของพระอนุชา ฝ่ายอนุรักษนิยมบางคนถึงกับพยายามจะดึงพระมาตุลาของสมเด็จพระจักรพรรดิขึ้นมารับตำแหน่งตรงนี้ (อะไรก็ได้ขอให้เป็นชายไว้ก่อน) กลายเป็นเรื่องราววุ่นๆ ที่ไม่ค่อยมีใครที่มีอำนาจอยากพูดกันตรงๆ มากนัก เพราะมีแต่เปลืองตัว นายกรัฐมนตรีอาเบะก็ดูเหมือนจะปล่อยเรื่องไปเรื่อยๆ ให้พ้นสมัยของตัวเองไป ในขณะเดียวกัน สังคมญี่ปุ่นก็ตอบแบบสอบถามกันและมีความเห็นถึง 80% ที่ให้การสนับสนุนให้จักรพรรดินีขึ้นครองราชย์ ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจเช่นกัน
แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร แต่ ณ ตอนนี้ ดูเหมือนว่าจะเป็นเวลาที่สมเด็จพระจักรพรรดินีกลับมาทรงพระสรวลได้ดังที่เคยอีกครั้งหนึ่ง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Kodchakorn Thammachart