1
เช้าแรกที่มาถึงลอนดอน ผมออกไปวิ่งบนถนน และได้พบสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อน

โตมร ศุขปรีชา
รถหรูคันหนึ่งขับเก้ๆ กังๆ อยู่บนถนนแคบๆ แล่นช้าๆราวกับพยายามมองหาจุดหมายบางอย่าง ความที่ถนนแคบ รถคันนั้นจึง ‘บล็อก’ การจราจร นักปั่นจักรยานคนหนึ่งที่ปั่นอยู่ด้านหลังคงรำคาญเต็มที จึงแซงขึ้นมาแล้วตะโกนลั่นถนนใส่รถหรูที่ไม่ได้ปิดกระจกรถ, ว่า
“Get off, you fucking fuck!”
มันคือการ ‘ไล่’ รถยนต์ออกไปจากถนน!
คนในรถหรูมองหน้า แล้วตะโกนสวนกลับมาเสียงดังไม่แพ้กันว่า
“Fuck off!”
จากนั้นจักรยานก็ปั่นแซงไป รถหรูเร่งความเร็วขึ้นอีกนิด แต่ก็ยังทำท่าเหมือนมองหาอะไรบางอย่างอยู่
ไม่มีใครหยิบปืนขึ้นมา ‘ฆ่า’ ใคร
2
แปลกดี-ที่เรื่องราวบนท้องถนนลอนดอนทำให้ผมนึกถึงสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นที่เมืองไทย หรือพูดให้เฉพาะเจาะจงลงไป ก็คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในห้องห้องหนึ่งบนคอนโดฯ ที่ผมอาศัยอยู่ ผมอยู่ชั้น 5 แต่เหตุการณ์นั้นเกิดที่ชั้นหก
เหตุการณ์นี้เป็นข่าวค่อนข้างดัง ลงหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่ง แต่ผมไม่รู้เรื่องเลย จนกระทั่งไปซื้อของที่ร้านในละแวกบ้าน แล้วคนที่ร้านบอก
“มีคนถูกฆ่าที่คอนโดฯ คุณ ได้ข่าวมั้ยคะ” คนในร้านถาม และกระวีกระวาดเอาหนังสือพิมพ์มาให้ดู “แกชื่อ…” สมมุติว่าชื่อเอก็แล้วกันนะครับ “แกชื่อเจ๊เอ เป็นกะเทยอายุเกือบหกสิบปีแล้วละ ไปเก็บเด็กมาเลี้ยงจากวัด เด็กอายุสิบเก้า โอ๊ย หน้าตาดีเลยแหละ วันก่อนเจ๊แกยังมาคุยแถวนี้เลย คุณรู้จักเจ๊เอไหม” ผมส่ายหน้า ผมไม่แน่ใจนักหรอกว่ารู้จักเธอหรือเปล่า ในหนังสือพิมพ์ไม่มีรูปของเธอ
เมื่อเห็นผมทำท่านึก คนที่ร้านนั้นจึงควักโทรศัพท์มือถือออกมา “นี่ไงคะ นี่ไง รูปของเจ๊เอ ดูสิ ถึงจะหกสิบแล้วแต่ยังสาวยังสวยอยู่เลยนะคะ ไม่น่าเล้ย ว่าแต่คุณเถอะค่ะ อยู่ชั้นเดียวกับเจ๊แกหรือเปล่า นี่ไงคะ เลขห้อง” แล้วเธอก็บรรยายรายละเอียดการฆาตกรรมให้ฟังว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร พร้อมให้ความเห็นไปต่างๆ นานา โดยเฉพาะการที่ข่าวลงว่า เจ๊เอให้เงินเด็กหนุ่มใช้เดือนละสามหมื่นบาท แต่เด็กหนุ่มไม่อยากอยู่กับเธออีกต่อไป การคะยั้นคะยอขอร้องให้เด็กหนุ่มอยู่ต่อ คงทำให้เขารำคาญถึงขั้นทำให้เขาฆ่าเธอ
“เงินมันซื้อความรักไม่ได้จริงๆ เลยนะคะ” เธอสรุป
3
เมื่อมีธุระให้ต้องเดินทางมาลอนดอน ผมน่าจะลืมเรื่องที่เกิดขึ้นไปแล้ว แต่ให้บังเอิญว่า มีเพื่อนส่งข้อความในเพจหนึ่งมาให้ดู เพจนั้นสรุปเรื่องราวเหตุการณ์ฆาตกรรมที่เกิดขึ้นด้วย ‘วิธีคิด’ คล้ายๆ กับของเจ้าของร้านในละแวกบ้าน โดยขึ้นต้นข้อความในสเตตัสของเพจนั้นราวกับเป็นสัจธรรมหรือ manifesto, ว่า
เงินอาจจะซื้อคนให้มาอยู่ข้างๆเราได้ ไปไหนมาไหนกับเราได้ หรือแม้กระทั่งจ้างให้มามี sex กับเราได้ แม้จะจ้างไม่ได้ทุกคน แต่ก็อาจจะจ้างได้หลายคน แต่ในความเป็นจริงแล้ว พื้นฐานความต้องการของมนุษย์น่าจะเป็นความสบายใจ การอยากมีความสุข และสิ่งสำคัญที่สุด พื้นฐานของมนุษย์ รวมไปถึงสัตว์โลกทั้งหลายแหล่ ที่ต้องการสูงสุดก็คือ ‘อิสรภาพ’
จากนั้นสเตตัสของเพจนั้นก็เล่าต่อไปว่า คอนโดฯ ที่เจ๊เออยู่ (ซึ่งก็คือคอนโดฯ ที่ผมอยู่) นั้น เป็น คอนโดที่หรูมากและแพงมาก กับ คอนโดฯ ที่อาศัยอยู่นี่มีแต่ระดับเศรษฐีอยู่ทั้งนั้น
อ่านข้อความนี้แล้วผมได้แต่หัวเราะขำ เพราะคอนโดฯ ที่เจ๊เอ (และผม) อยู่นั้น จริงๆเป็นคอนโดฯ เก่าอายุหลายสิบปี (อย่างน้อยผมก็อยู่มาแล้วเกือบยี่สิบปี) ไม่ใช่คอนโดฯ หรูหราราคาแพงอะไร คนที่อยู่ก็ไม่ได้มีใครเป็นเศรษฐีร้อยล้านพันล้าน เพราะราคาของคอนโดฯ นี้ สู้คอนโดฯ ใหม่ๆ ไม่ได้ เรียกว่าถูกกว่ากันน่าจะสองเท่าเป็นอย่างน้อย เพราะฉะนั้นจะใช้คำว่า ‘คอนโดฯ ที่หรูมากและแพงมาก’ นั้น-ไม่ใช่แค่ไม่น่าจะถูกต้องเท่านั้น แต่ ‘ผิด’ มหันต์เลยทีเดียวครับ
ดังนั้น ผมจึงคิดว่าน่าสนใจทีเดียวนะครับ ที่คนเขียนสเตตัสนี้ ‘วาดภาพ’ ให้คอนโดฯ แห่งนี้ มี ‘ความแพง’ ขนาดนั้น
ถ้าให้อธิบาย ผมคิดว่าไม่มีอะไรมากไปกว่าการที่ ‘ความแพง’ นั้นสอดรับกันดีกับมายาคติที่ว่า คนที่จะเลี้ยงเด็กด้วยเงินเดือนแพงๆ หรือข้าวของมากมายปรนเปรอเช่นนั้น จะต้องเป็นคนที่ ‘รวยมาก’ และเมื่อรวยมาก ก็แปลว่าจะต้องอยู่ในสถานที่ที่ ‘หรูมาก’ และดังนั้น ต่อให้เป็นคอนโดฯ โทรมๆ สีภายนอกหลุดร่อนเพราะไม่ได้ทาสีใหม่มาห้าปีแล้ว ก็ถือเป็น ‘ไฟท์บังคับ’ (compulsary) ที่จะต้อง ‘บรรยาย’ ออกมาให้ได้ว่า คอนโดฯแห่งนั้นมัน ‘หรู’
ทีนี้ อยากชวนคุณพักเรื่องความหรูไม่หรูของคอนโดฯ เอาไว้ก่อนนะครับ ให้เรื่องนี้เป็น ‘มายาคติ’ เรื่องที่หนึ่ง เพราะอยากชวนคุณมาดู ‘มายาคติ’ อีกเรื่องหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในคอมเมนต์หนึ่งของสเตตัสนั้น
คอมเมนต์นี้บอกในทำนองที่ว่า-ถ้ามีพินัยกรรมยกสมบัติให้ อาจมีปัญหาหนักกว่านี้ โดยเฉพาะหากเกิด ‘พรบ. ชีวิตคู่’ ที่อนุญาตให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ ก็อาจเกิดการ ‘หลอกแต่งงาน’ ระหว่างคนที่เป็นแบบนี้มากขึ้น และปัญหาก็จะซับซ้อนขึ้น
ผมคิดว่า คอมเมนต์นี้น่าสนใจมากอีกเช่นกัน เพราะสิ่งที่แฝงอยู่ในความเห็นแบบนี้ ก็คือ ‘มายาคติ’ ที่ ‘สอดรับ’ กับสมมุติฐานตั้งต้นของสเตตัส และสอดรับกับความเห็นของหญิงเจ้าของร้านผู้ ‘เล่าข่าว’ ให้ผมฟังเป็นคนแรก นั่นคือ-เงินไม่มีทางซื้อความรักได้
มายาคติที่หนึ่ง-คือคนที่รวยมากขนาดเลี้ยงเด็กได้ จะต้องอยู่คอนโดฯ ที่ ‘หรูมาก’ (ซึ่งไม่เป็นจริง) มายาคติที่สอง-คือการเชื่อว่าความสัมพันธ์แบบนี้มีปัญหา และหากกฎหมายอนุญาตให้คนเหล่านี้อยู่ด้วยกันได้จะยิ่งทำให้ปัญหาสลับซับซ้อนหนักหนามากขึ้น, เราจะเห็นว่า มายาคติทั้งสองมี ‘ฐาน’ อยู่ตรงความเชื่อที่ว่า ‘เงินซื้อความรักไม่ได้’ ด้วยกันทั้งคู่ โดยมายาคติแรกนั้นตรงไปตรงมา ส่วนมายาคติที่สองนั้นซับซ้อนขึ้นมาอีกนิด
การเชื่อว่า หากเกิด พรบ.ชีวิตคู่ ที่ทำให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้แล้วจะสร้างปัญหาให้สลับซับซ้อนมากขึ้น เป็นความเชื่อที่วางตัวเอง (ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวนะครับ) อยู่บน ‘ฐาน’ ของความคิดที่ว่า คนรักเพศเดียวกัน (ซึ่งในกรณีนี้ก็คือกะเทยกับเด็กหนุ่ม) มีความสามารถที่จะมีความสัมพันธ์อันยั่งยืนและจริงแท้ ‘ต่ำ’ กว่าความสามารถนี้ของคนรักต่างเพศ ดังนั้น การที่กฎหมายอนุญาตให้คนเหล่านี้แต่งงานอยู่กินกันได้ ปัญหาจึงจะเกิด ‘หนักขึ้น’
หลายคนคงรู้ว่าวิธีคิดแบบนี้มีปัญหาอยู่ไม่น้อย เพราะมันเป็นวิธีคิดที่เอาเรื่องหลายเรื่องมาพัวพันกันไปหมด และเป็นการนำเอาคดีฆาตกรรมเรื่องเดียวมา ‘ตีขลุม’ คลุมไปหมดทุกเรื่องด้วยวิธีคิดแบบเอาตัวอย่างเรื่องเล็กมาสรุปภาพรวม ซึ่งไม่ได้แปลว่าภาพใหญ่จะต้องเป็นอย่างนั้นเสมอไป ยกตัวอย่างแย้งเช่น เราจะพบเห็นได้ทั่วไปว่า ต่อให้เป็นคนรักต่างเพศที่แต่งงานกันก็มีปัญหาเรื่องแย่งชิงทรัพย์สินอยู่ไม่น้อย ในขณะเดียวกัน ก็มีคนรักเพศเดียวกันอีกมากมายที่อยู่ร่วมกันได้โดยไร้ปัญหาเหล่านี้ หรือหากจะมีปัญหา ก็อาจเป็นปัญหาที่เกิดจาก ‘คนอื่น’ ก้าวล่วงเข้ามามีปัญหากับคู่เหล่านี้ โดยอาศัยเงื้อมมือของกฎหมายที่มีลักษณะ heterosexism อยู่ในตัว ซึ่งแปลความได้อีกชั้นหนึ่งว่า เอาเข้าจริงเรื่องแบบนี้อาจเป็นปัญหาที่มาจาก ‘โครงสร้าง’ พอๆกับที่เป็นเรื่องของปัจเจก
มายาคติและฐานคิดที่ว่ามานี้ เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า preconceptions หรือความคิดที่เซ็ตตัวล่วงหน้าอยู่ในมโนสำนึก ทำให้เราไม่สามารถ ‘มอง’ เรื่องที่เกิดขึ้นด้วยวิธีคิดอื่นๆได้ นอกจากเห็นว่านี่คือ ‘เรื่องเล่า’ (story) ตาม ‘แพทเทิร์น’ เดิม คือกะเทยแก่เก็บเด็กเอามาเลี้ยง แล้วเด็กเบื่อที่ต้องมีเพศสัมพันธ์กับกะเทยแก่ ก็เลยฆ่าเอา ดังนั้น คอนโดฯ ที่กะเทยแก่อยู่จึงต้องหรู และการอนุญาตให้คนรักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้จะยิ่งเป็นปัญหา
preconceptions ทำนองนี้ ทำให้เราไม่มีวันเห็นแง่มุมอื่นของความสัมพันธ์ของสองคนนี้ เราไม่มีวันเผื่อใจมองเห็นได้ว่า กะเทยแก่เป็นสิ่งมีชีวิตที่อาจงดงามหรือเปราะบางอ่อนไหวได้เหมือนเด็กสาวที่ไม่เคยรู้จักความรัก เราจะไม่อาจคิดว่า-เป็นไปได้ไหมว่าอาจมีบางมุมในบางวัน ที่เด็กหนุ่มก็มีความรู้สึกดีๆในความสัมพันธ์นอกเหนือไปจากเงินทองที่เขาได้รับการหยิบยื่นให้ รวมไปถึงความเป็นไปได้อื่นๆ อีกมากมาย ที่อาจจะดีงามหรือแม้เลวทรามกว่าที่เราคิดเอาไว้ตาม ‘แพทเทิร์น’ เดิมๆ ในความคิดของเรา
4
แล้วเรื่องของจักรยานกับรถหรูในลอนดอน กับเรื่องราวของฆาตกรรมในคอนโดฯ มาเกี่ยวพันกันได้อย่างไร ทำไมเรื่องแรกถึงทำให้ผมนึกถึงเรื่องที่สอง?
คำตอบก็คือ ในทั้งสองเรื่อง เราจะเห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจบางอย่างในสองเทศะ สองกาละ และสองสังคม
บนถนนในลอนดอน จักรยานที่สังคมไทยโดยทั่วไปมองว่าเป็นยานพาหนะราคาถูกกว่า และน่าจะมี ‘อำนาจ’ บนท้องถนนน้อยกว่า กลับมีความสามารถที่จะ ‘ไล่’ รถยนต์หรูที่กำลัง ‘ขวางถนน’ ออกไปได้ด้วยการใช้คำที่หยาบแสนหยาบ
นั่นแสดงให้เราเห็นว่า ‘ความหรู’ ของรถยนต์ไม่ได้ ‘ทรงอำนาจ’ อะไรบนท้องถนนลอนดอนเลย แต่ถ้าเป็นถนนในสังคมไทย เราจะเห็นว่า ‘โครงสร้าง’ ของถนนไม่เคยเอื้อให้จักรยานได้ปั่นอย่างมีอำนาจทัดเทียมกับรถยนต์ในฐานะยานพาหนะที่ใช้สัญจร ดังนั้น การที่จักรยานจะไล่รถยนต์ออกไปจากถนน จึงเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้เลยในจักรวาลท้องถนนไทย
เรายังคุยกันต่อได้อีกมากนะครับ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นบนถนนลอนดอนนั้นเกิดขึ้นจากอะไร เช่น ความเป็นประชาธิปไตยที่มากกว่า การให้ความสำคัญกับเสรีภาพและความเสมอภาคที่มากกว่า ไล่ไปถึงกระทั่งการทำงานของ Free Speech กับ Hate Speech ที่แตกต่าง
แต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับผม ณ ขณะนาทีนั้น และทำให้ผมหวนคิดกลับมากถึงเรื่องฆาตกรรมในคอนโดฯ เป็นความรู้สึกแปลกประหลาดยิ่ง