ผมเชื่อว่าหลายคนคงรู้จัก พร้อมเพย์ (PromptPay) บริการโอนเงินที่ภาครัฐไทยผลักดันมาตั้งแต่กลางปีที่แล้วร่วมกับธนาคารพาณิชย์ 15 แห่งและสถาบันการเงินของรัฐอีก 4 แห่ง พร้อมเพย์จะผูก ‘บัญชีเงินฝาก’ ที่เรามีเข้ากับเลขที่บัตรประจำตัวประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์มือถือ ทำให้สามารถโอนเงินให้กันได้โดยไม่จำเป็นต้องรู้เลขที่บัญชี
ทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาครัฐ หวังว่าพร้อมเพย์จะช่วยกรุยทางประเทศไทยไปสู่การเป็นสังคมไร้เงินสด หรือ cashless society เฉกเช่นที่ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศในยุโรปเป็นการเป็นสังคมไร้เงินสดมีข้อดีหลายอย่าง ที่ใกล้ตัวที่สุดคือเพิ่มความสะดวกสบายให้กับเราในฐานะผู้ใช้เงิน ช่วยลด ‘ต้นทุน’ ในการได้มาซึ่งเงินสดลงได้ ใครเคยต่อคิวยาวเหยียดหน้าตู้เอทีเอ็มตามห้างก็คงจะพอนึกออกว่าต้นทุนที่ผมว่าหมายถึงอะไร นี่ยังไม่รวมค่าธรรมเนียมการกดเงินข้ามแบงก์และข้ามเขตที่บางทีผมก็งงว่ามันจะแพงอะไรนักหนา
ในขณะเดียวกันธนาคารเองก็ได้ประโยชน์ด้วย การส่งเงินสดไปให้ถึงมือลูกค้าทุกคนหมายถึงการที่ธนาคารต้องมีตู้เอทีเอ็มกระจายอยู่ทั่วประเทศ การขนส่งเงินสดไปยังตู้เอทีเอ็มเหล่านี้มีต้นทุนไม่น้อย มิหนำซ้ำการผลิต รักษา และทำลายตัวธนบัตรเองก็มีต้นทุนเกิดขึ้น สมาคมธนาคารไทยเคยประเมินเอาไว้ว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์จะช่วยประหยัดต้นทุนทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากเงินสดได้ถึงปีละ 100,000 ล้านบาท[1]
ส่วนภาครัฐเองก็หวังว่า หากคนไทยหันมาใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งทุกธุรกรรมถูกบันทึกไว้หมดมากกว่านี้ ภาษีที่เก็บได้จะมากขึ้น และธุรกิจใต้ดินรวมถึงการใช้เงินแบบผิดกฎหมายจะลดลง
นอกจากนี้ การหันมาใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ยังทำให้เศรษฐกิจขยายตัวขึ้นด้วย การวิเคราะห์จาก Moody’s พบว่า การชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในไทยที่เพิ่มขึ้นในช่วงปี 2011-2015 ไม่ว่าจะผ่านการใช้บัตรเครดิตและบัตรเดบิต หรือบัตรเติมเงิน ช่วยให้ GDP ของไทยเพิ่มขึ้นกว่า 3.18 พันล้านดอลลาร์[2] (ประมาณ 1 แสนล้านบาท)
แม้จะมีประโยชน์มากมายหลายด้าน รวมถึงข้อได้เปรียบของพร้อมเพย์ที่ปัจจุบันคิดค่าธรรมเนียมการโอนเงินน้อยกว่าการโอนผ่านระบบธนาคารปกติ แต่ปัจจุบันคนไทยจำนวนมากก็ยังไม่ตกลงปลงใจสมัครใช้บริการดังกล่าว
หลายคนยกเหตุผลเรื่องความปลอดภัย เพราะเชื่อว่าการใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์และการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ยังไม่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่ไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมาย 25 อันดับแรกที่มีโอกาสถูกโจมตีด้วยมัลแวร์มากที่สุด[3] การโจมตีผ่านมัลแวร์ Wannacry เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมาสะท้อนความเสี่ยงในเรื่องนี้ได้อย่างดี
ในขณะเดียวกันก็มีคนอีกจำนวนหนึ่งที่รู้สึกว่าการใช้พร้อมเพย์จะทำให้ภาครัฐสามารถเข้ามาล้วงข้อมูลพฤติกรรมการใช้จ่ายของเราไปได้ เนื่องจากเราต้องผูก ‘เลขที่ประจำตัวประชนชน’ หรือเบอร์โทรศัพท์มือถือเข้ากับบัญชีธนาคาร หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ได้สัมภาษณ์คนในอุตสาหกรรมรักษาความปลอดภัยคนหนึ่งซึ่งระบุว่า “รัฐบาลมีพาสเวิร์ดพิเศษที่ทำให้สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ทั้งหมดได้”[4] เมื่อบวกกับข้อเท็จจริงที่ว่าในปัจจุบันกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลยังไม่ได้ประกาศใช้ ความกังวลว่าจะถูกเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดข้อมูลที่ควรเป็นเรื่องส่วนตัวจึงมีมูลอยู่ไม่น้อย
แต่นอกจากจุดอ่อน 2 เรื่องนี้แล้ว จุดอ่อนอีกข้อหนึ่งของพร้อมเพย์ที่ดูเหมือนจะยังไม่ค่อยมีการพูดถึงกันนักคือ
พร้อมเพย์ไม่ได้ช่วยให้ผู้ที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น
เนื่องจากผู้ที่จะใช้บริการพร้อมเพย์จะต้องมี ‘บัญชีเงินฝาก’ อยู่ก่อนแล้ว หากไม่มีก็ไม่สามารถใช้บริการได้
งานสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2556 พบว่า มีคนไทยเกือบ 25% ที่ไม่ได้ใช้บริการเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ[5]
นั่นหมายความว่า ต่อให้โครงการพร้อมเพย์ได้รับการตอบรับเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ นั่นคือคนไทยทุกคนที่มีบัญชีเงินฝากสมัครใช้พร้อมเพย์ ก็ยังจะมีคนไทยอีกกว่าเกือบ 1 ใน 4 ที่ไม่ได้รับประโยชน์จากการ go cashless ของประเทศไทยในครั้งนี้
นอกจากนี้ หากดูข้อมูลเปรียบเทียบข้ามระดับรายได้ยังพบด้วยว่า กลุ่มคนที่จนที่สุดมีแนวโน้มจะถูกทอดทิ้งไม่ให้ได้รับประโยชน์จากการการมุ่งสู่สังคมไร้เงินสดครั้งนี้มากที่สุดด้วย งานสำรวจของ ADB เมื่อปี 2011 พบว่าครัวเรือนรายได้น้อยกว่า 28% เข้าไม่ถึงบริการเงินฝากของธนาคาร เปรียบเทียบกับเพียง 6% ในกลุ่มครอบครัวรายได้ปานกลางและรายได้สูง[6]
ดังนั้นแล้ว หากประเทศไทยอยากได้ประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากการมุ่งสู่การเป็นสังคมไร้เงินสด การใช้พร้อมเพย์เป็นเครื่องมือเพียงอย่างเดียวจึงยังไม่ใช่คำตอบทั้งหมด เราควรส่งเสริมการใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-money) ที่ไม่ต้องผ่านธนาคารด้วย ทั้งนี้เพื่อให้คนไทยอีกหลายล้านคนที่ยังไม่มีบัญชีเงินฝาก สามารถได้ประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจไร้เงินสดที่จะเกิดขึ้น
เงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ว่านี้มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่อยู่ในรูปบัตรเงินสดที่มีมูลค่าในตัวเอง เช่น บัตรเงินสดทรูมันนี่, Rabbit card หรือที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบันคือการใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ผ่านโทรศัพท์มือถือ เช่น True Wallet, Rabbit Line Pay ธนาคารพาณิชย์บางแห่งเองก็เริ่มพัฒนาระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์ผ่านโทรศัพท์มือถือแล้ว เช่น K-Pay ของธนาคารกสิกรไทย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยยังค่อนข้างน้อย Marketbuzzz ได้ทำการสำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 และพบว่าปัจจุบันมีคนไทยเพียง 17% เท่านั้นที่ใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ผ่านโทรศัพท์มือถือ อีกทั้งยังใช้ในความถี่ที่ค่อนข้างต่ำ คือเฉลี่ยเดือนละ 5 ครั้งเท่านั้น[7]
ด้วยปัจจุบันที่คนไทยกว่า 96% มีโทรศัพท์มือถือ[8] ผมคิดว่าการส่งเสริมให้เกิดการใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ผ่านโทรศัพท์มือถือมากขึ้น น่าจะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้ไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมไร้เงินสดได้จริง อย่างครอบคลุม (inclusive) และไม่ทอดทิ้งคนบางกลุ่มไว้เบื้องหลัง
ภาคเอกชนและธนาคารพาณิชย์เริ่มเดินมาในทิศทางนี้แล้ว โจทย์จึงเหลือแค่ว่าภาครัฐจะมองเห็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้นอยู่ต่อหน้าต่อตาไหม
หรือจะยังคงถูกบังตาด้วยมิจฉาทิฐิ และคิดว่าพร้อมเพย์เป็นคำตอบของทุกสิ่ง
[1] www.scbeic.com
[3] www.thetechrevolutionist.com