1.
ราวบ่ายแก่ๆ ของวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ผมยืนรอรถไฟฟ้าใต้ดินอยู่ที่สถานีศูนย์สิริกิติ์กับคุณน้าที่เดินทางมาเยี่ยมจากต่างจังหวัด เราเพิ่งกลับจากการเดินงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ต่างก็หอบหิ้วหนังสือที่ซื้อมาอย่างพะรุงพะรัง ด้วยเพราะไปเบียดเสียด สู้รบปรบมือกับผู้คนจำนวนมากในงานสัปดาห์หนังสือฯ ไปหมาดๆ น้าของผมมีทีท่าเหนื่อยอ่อนเล็กน้อยซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ระหว่างที่รถไฟยังมาไม่ถึงจู่ๆ ก็มีโทรศัพท์สายหนึ่งโทรเข้ามาหาน้า หากไม่ทันที่จะกล่าวสวัสดีปลายสายอย่างเป็นรูปคำดี ในชั่วไม่กี่วินาทีผมก็เห็นร่างของน้าคล้ายมีอาการโซเซพร้อมกันกับที่ได้เห็นว่าน้ากำลังร้องไห้ “ในหลวงสวรรคตแล้ว” น้าบอกกับผมด้วยเสียงอันสั่นเครือ
2.
เจ้าของเบอร์โทรศัพท์ที่โทรเข้ามานั้น น้าบอกกับผมว่าเป็นเพื่อนคนหนึ่งที่ – น้าใช้คำว่า ‘วงใน’ แม้จะไม่ค่อยเชื่อกับใครก็ตามที่ถูกเอ่ยอ้างด้วยชื่อนี้นัก แต่พูดตรงๆ ว่าในตอนนั้นผมก็พาจะเชื่อชุดข้อมูลที่ได้รับจากคนวงในของน้าอยู่ไม่น้อย อาจเพราะหนึ่งวันก่อนหน้ามีข่าวลักษณะคล้ายกันนี้ให้พอได้ยินอยู่บ้างแล้ว ข่าวลือที่โบกสะพัดกรรโชกแรงดั่งพายุกระหน่ำที่นำเอาความตึงเครียดและหวาดระแวงให้กระจายไปทั่วทุกหยาดหย่อม
อาจจะกล่าวได้ว่า เพราะเกิดข่าวลือล่วงหน้าเช่นนี้ เราถึงพอจะมีเวลาได้ตระเตรียมใจต่อสิ่งที่ใกล้จะมาถึง พอจะมีเวลาได้สำรองพลังใจล่วงหน้าต่อความโศกเศร้าที่รู้แน่ว่าจะบังเกิดแม้ยังไม่รู้ถึงกาลที่แน่นอน
กระนั้นแล้ว แม้ในบ่ายวันพฤหัสบดี, จากคำบอกเล่าทางโทรศัพท์ที่ส่งตรงถึงหน้าจะช่วยยืนยันว่าข่าวลือได้แปรเปลี่ยนเป็นความจริง หากแต่เมื่อเวลาทุ่มตรงในวันเดียวกันนั้นเมื่อได้มีแถลงการณ์ของสำนักพระราชวังถึงการสิ้นพระชนม์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แม้จะเชื่อว่าตัวเองได้จัดการความรู้สึกมาแล้วดีพอ แต่ความจริงเมื่อได้รับรู้กับตัวนั้นไม่ง่ายเลยที่จะทำใจยอมรับ
มันอาจไม่ใช่ความเศร้าที่เห็นเป็นรูปร่างอันชัดเจนนัก แต่เช่นกันที่บ่อยครั้งความรู้สึกเองก็ใช่ว่าจะอธิบายได้ด้วยคำอธิบายที่รวบรัดและกระชับจำพวกว่า รู้สึกเคว้งคว้าง รู้สึกเศร้า หรือไม่รู้สึกอะไร
ในวินาทีนั้นผมเชื่อว่าหลายๆ คน ไม่เพียงแค่ผมที่ไม่อาจสรุปความรู้สึกของตัวเองได้อย่างทันท่วงที แน่นอนล่ะว่าเราย่อมถูกสั่งสอนมาว่าต่อเหตุการณ์เช่นนี้ เราควรจะรู้สึกอย่างไร เพียงแต่กับบางเรื่องมันไม่ได้ง่ายถึงเพียงนั้น กับบางร่างมันไม่ใช่จะปุบปับและแสดงออกได้ในทันทีทันใด สารภาพตามตรงว่าตอนที่ได้เห็นข่าวผมชาไปทั้งร่าง ทั้งก็ยังรู้สึกโหวงเหวงขึ้นมาโดยไม่อาจอธิบาย
ความรู้สึกเช่นนี้คืออะไร ผมถามกับตัวเองอย่างไม่แน่ใจนัก มันความเศร้าหรือเปล่าที่เรากำลังสัมผัสอยู่ ณ ขณะนี้
3.
ใน The Lord of the Rings: The Fellowship of the Rings มีบทสนทนาระหว่างฮอบบิทโฟรโดกับพ่อมดแกนดัล์ฟที่ว่า
“I wish it need not have happened in my time,” said Frodo.
“So do I,” said Gandalf, “and so do all who live to see such times. But that is not for them to decide. All we have to decide is what to do with the time that is given us.”
“ข้าไม่อยากให้เรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของข้าเลย” โฟรโดกล่าว
“ข้าก็เช่นกัน” แกนดัล์ฟว่า “เช่นเดียวกับทุกๆ คนที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลานี้ แต่มันก็ไม่ใช่อะไรที่พวกเขาจะเลือกได้ ซึ่งทั้งหมดที่เราทำได้ก็คือจะทำอะไรกับช่วงเวลาที่เรามีชีวิตอยู่นี้”
แม้ฉากเหตุการณ์ที่ผมยกมานี้จะเป็นคนละบริบทกับความโศกเศร้าของประเทศเราโดยสิ้นเชิง หากผมก็ยังรู้สึกกับบทสนทนาสั้นๆ นี้ว่า มันได้ส่งผ่านถ้อยคำอันทรงพลังต่อความรู้สึกของใครหลายๆ คนในตอนนี้
นับแต่ถือกำเนิดมา ผมก็เห็นในหลวงมาตั้งแต่ไหนแต่ไร และแม้จะไม่เคยได้เห็นท่านมากเกินไปกว่าพระบรมฉายาลักษณ์ หากเพียงเท่านั้นที่ผมหรือใครอีกหลายคนกลับรู้สึกผูกพันกับท่านยิ่งกว่าความสัมพันธ์ที่เรามีกับใครหลายๆ คน
อาจเรียกว่าเป็นรูปแบบความผูกพันอีกแบบหนึ่ง ที่โดยไม่จำเป็นต้องเคยได้พบเจอหรือสนทนากัน แต่เรากลับมีความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นมาได้
ซึ่งคงด้วยเหตุนี้เองกระมังที่ก็เหมือนกับในยามที่ใครสักคนหนึ่งซึ่งเห็นหน้าค่าตากันมาทั้งก็รู้ว่ามีอยู่มาแต่ไหนแต่ไร หากเมื่อใครคนนั้นได้จากเราไป มันจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะกำหนดความรู้สึกได้อย่างทันท่วงทีนัก
ผมเชื่อว่าใครหลายๆ คนก็คงไม่ต่างจากโฟรโด ที่ไม่อยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เขาเหล่านั้นมีชีวิตอยู่ ไม่อยากต้องเห็นหรือรับรู้ต่อการจากการของบุคคลหนึ่งที่เขารัก และเชื่อว่าจะอยู่กับเขาตลอดไป แต่นั่นล่ะครับ ความเป็นจริงโหดร้ายกับเราอยู่เสมอ และสิ่งเดียวที่เราพอจะทำได้ก็เป็นเช่นดั่งคำกล่าวของแกนดัล์ฟ ว่าเราจะเลือกดำเนินชีวิตในช่วงเวลานี้อย่างไร ว่าเราจะจัดการกับความโศกเศร้าตอนนี้ด้วยวิธีการไหน และเพื่อที่เราจะได้ก้าวต่อไป แม้ว่าอนาคตที่มองตรงไปจะถูกปกคลุมไว้ด้วยเมฆหมอกอันหนาทึบก็ตาม