ตั้งแต่ย้ายกลับมาอยู่ญี่ปุ่น ชีวิตผมก็พบว่า มีสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการใช้ชีวิตระยะยาวที่นี่จริงๆ นั่นก็คือ ‘ตราประทับ’ ที่สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว คือสิ่งสำคัญในการใช้ชีวิตประจำวันแบบที่ถ้าหายไปก็คงเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อมองว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่พัฒนาไปไกลแค่ไหนแล้ว แต่ยังคงติดอยู่กับระบบที่ไม่เปลี่ยนแปลงมาเป็นพันปี ก็น่าทึ่งเหมือนกัน แต่ก็น่าสนใจว่า เทคโนโลยีสมัยใหม่ จะสามารถต่อกรกับฟอสซิลชนิดนี้ได้หรือไม่
ตราประทับ สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว จะมีคำเรียกสองคำคือ ‘ฮังโคะ’ (はんこ) และ ‘อิงคัง’ (印鑑) ซึ่งชาวญี่ปุ่นทั่วไปก็จะใช้รวมๆ กัน สลับกันไปมา พอถามตรงๆ ว่า ตกลงสองอย่างนี้ต่างกันอย่างไร ก็จะผงะไปจังหวะหนึ่ง ก่อนที่จะค่อยคิดอย่างจริงจังว่าต่างกันอย่างไร ผมเองก็เหมือนกันล่ะครับ ใช้สองคำนี้ปนๆ กันไป จนต้องมาเช็กความหมายจริงๆ ว่า ต่างกันอย่างไร
จริงๆ แล้ว ฮังโคะ หมายถึง ตัวของตราประทับ ที่มีลักษณะเป็นแท่งยาวๆ หรือบางที่ก็เหลี่ยมๆ ป้อมๆ หน่อย แล้วปลายด้านหนึ่งสลักลวดลายไว้ เอาไว้ทำรอยประทับด้วยการกดไปที่หมึก ซึ่งหมึกของชาวญี่ปุ่นจะไม่ได้ใช้แผ่นหมึกแบบเรา แต่จะเป็นเนื้อหมึกลักษณะคล้ายครีมข้นๆ สีแดงชาด ก่อนนำไปกดประทับบนกระดาษอีกที ส่วน อิงคัง หมายถึง ตราประทับบนกระดาษ ที่เกิดจากการนำเอา ฮังโคะ ไปกดบนกระดาษนั่นล่ะครับ คนญี่ปุ่นเองก็ใช้สองคำนี้แบบปนเปกันจนแยกไม่ค่อยออก ก็มันต่างกันเท่านี้เอง แต่เอาจริงๆ จะเลือกใช้คำไหนก็สื่อความหมายได้เหมือนกันในสังคมญี่ปุ่นตอนนี้
นอกจากนี้แล้ว ฮังโคะ ของญี่ปุ่น ก็ยังแบ่งเป็นสามประเภทตามการใช้งาน นั่นคือ ‘จิตซึอิง’ (実印) ฮังโคะประเภทนี้สำคัญมาก เป็นฮังโคะที่เอาไว้ใช้ในเอกสารสำคัญต่างๆ เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ ติดต่อราชการ ซึ่งฮังโคะชนิดนี้ ต้องเอาไปขึ้นทะเบียนกับทางหน่วยงานท้องถิ่นของรัฐตามทะเบียนบ้าน และส่วนใหญ่ก็จะออกแบบเฉพาะตัว ต้องให้ร้านที่ไว้ใจได้จัดทำให้เพื่อที่จะได้เลี่ยงการปลอมแปลงได้ และวัสุดที่ใช้ทำส่วนใหญ่ก็จะเลือกที่ทนทานใช้ได้นานปีเช่นหิน
แบบที่สอง คือ ‘กิงโคอิง’ (銀行印) หรือฮังโคะที่เอาไว้ใช้กับการทำธุรกรรมกับธนาคาร (กิงโค (銀行) แปลว่า ธนาคาร) ซึ่งระบบธนาคารของญี่ปุ่นเวลาจะเปิดบัญชีก็ยังต้องใช้เจ้าฮังโคะนี่ล่ะครับ (อาจจะเว้นสำหรับบางกรณีหรือบางธนาคาร เพราะผมเองตอนเรียนที่ญี่ปุ่น มาถึงใหม่ๆ ทางมหาวิทยาลัยก็เปิดบัญชีให้โดยไม่ต้องมีฮังโคะ แค่เซ็นเอกสารก็พอ ซึ่งอาจจะเฉพาะชาวต่างชาติก็ได้) และเวลาจะเบิกถอนด้วยสมุดบัญชี ก็ต้องพกเจ้ากิงโคอิงไปด้วย ทำให้การเบิกเงินด้วยบัตรเอทีเอ็มเป็นเรื่องสะดวกกว่ากันเยอะเลยครับ
แบบสุดท้ายคือ มิโตะเมะอิง (認印) ฮังโคะประเภทนี้จะใช้งานทั่วไปในการรับทราบต่างๆ เช่น เอาไว้ประทับเวลารับพัสดุที่ส่งมาที่บ้าน ประทับรับทราบเรื่องจดหมายเวียน ประทับรับทราบเรื่องเอกสารในที่ทำงาน หรือกระทั่งอาจารย์ประทับรับรองผลการเรียนของนักเรียน ส่วนใหญ่จะเป็นแบบที่ทำออกมาง่ายๆ ไม่ซับซ้อน และผู้คนส่วนใหญ่มักจะเลือกตราประทับสำเร็จรูปมาใช้ในกรณีนี้ ซึ่งก็หาได้ตามร้านตราประทับทั่วไป หรือกระทั่งในร้านร้อยเยนก็มีขาย ขอแค่นามสกุลของคุณไม่ได้แปลกแหวกแนวอะไรนักหนา
และจริงๆ แล้ว คนญี่ปุ่นเองก็อาจจะไม่ได้ใช้ครบทั้งสามชนิด
แต่อาจจะมีแค่ จิตซึอิง และอาจใช้กิงโคอิงควบไปกับ
มิโตะเมะอิงไปเลย
ก็ถือว่าไม่ได้เป็นเรื่องแปลกอะไร คนต่างชาติอย่างผมเองก็ยังมีแค่กิงโคอิงที่ใช้ควบกับมิโตะเมะอิงไปด้วย แถมของผมนี่ทำไว้ตั้งแต่สมัยเรียนต่อที่นี่ อายุอานามก็เกินสิบปีแล้ว ที่ต้องทำเพราะตอนนั้นจะเช่าอพาร์ตเมนต์ และเขาไม่ยอมให้เซ็นชื่อ ก็ต้องรีบวิ่งไปหาร้านทำฮังโคะแบบด่วน
แถมตอนนั้นก็คิดว่า จะทำแบบชื่อเต็มเหมือนคนญี่ปุ่นทำ เลยบอกเขาเอาเป็น チャイワニッポン・ナタポン (ไชยวานิชย์ผล・ณัฐพงศ์ ) เต็มตัว คำตอบที่ได้คือ ค่าทำ 18,000 เยน แถมขนาดจะใหญ่มาก ตอนนั้นก็ได้แต่ เช้ดดดด เอาไงดี เลยถามไปว่า ถ้าตัดเหลือแค่ชื่อตัว ナタポン(ณัฐพงศ์) จะเท่าไหร่ คำตอบคือ 500 เยน ก็เลือกอันหลังสิครับ สุดท้ายก็เป็นตราประทับที่ผมใช้มานาน ยังไม่ได้ทำใหม่เพื่อนำมาใช้ในการอื่นอีกเลย
และด้วยความที่เป็นสังคมที่ใช้ตราประทับฮังโคะ ซึ่งปัจจุบันก็คิดว่ามีน้อยที่ที่ใช้นี่ล่ะครับ ทำให้มีธรรมเนียมเฉพาะของเขาในการใช้เหมือนกัน แต่ที่แปลกสุดที่เคยได้ยินมาคือ ในแวดวงการเงินของญี่ปุ่น บางบริษัทมีมารยาทในการประทับฮังโคะในบริษัท ซึ่งปกติแล้ว ในเอกสารต่างๆ ก็จะมีช่องให้พนักงานลำดับต่างๆ มาประทับรับทราบหรือรับรองเอกสารนั้น
หัวแถวก็มักจะเป็นคนที่ตำแหน่งสูงสุดในเอกสารนั้นแล้วค่อยลดหลั่นกันไป ซึ่งคนที่ตำแหน่งสูงสุดก็จะประทับก่อน แล้วลำดับต่อมาก็ค่อยนำไปประทับเรียงกัน และตรงจุดนี้ล่ะครับ ที่เขาจะแสดงความเคารพกันตามลำดับ ด้วยการค่อยๆ ประทับตราแบบเอียงๆ คล้ายกับการโค้งทำความเคารพคนที่ตำแหน่งสูงสุด เรียงกันไปเรื่อยๆ คนแรกก็อาจจะเอียงนิดนึง แล้วยิ่งตำแหน่งต่ำลงไปก็เอียงมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าประทับหลายคนนี่คนสุดท้ายแทบจะนอนเลยทีเดียวครับ
เรื่องนี้เป็นประเด็นครั้งแรกก็ตอนถูกนำเสนอในรายการ School Kakumei แต่ต่อมาชาวเน็ตก็ถกเถียงกันว่าจริงเหรอ แต่เท่าที่อ่านมาก็พบว่า มีจริงๆ แต่เป็นแค่ในบริษัททางการเงินกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่มารยาทโดยรวมของแวดวงนี้ แต่ก็น่าสนใจอยู่ดีว่า ขนาดในพื้นที่แบบนี้ยังพยายามหามารยาทมาใช้กันได้ (อย่างล้นเหลือเกิน)
ฟังดูแล้ว ตราประทับฮังโคะ ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในสังคมญี่ปุ่น แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป ความจำเป็นของมันก็ค่อยๆ ถูกสั่นคลอน แน่นอนว่า จิตซึอิงหรือมิโตเมะอิง ก็คงจะไม่ได้หายไปไหน แต่ว่า กิงโคอิง นี่สิครับ ที่ต่อไปอาจจะลดความจำเป็นลงได้ เพราะวงการธนาคารญี่ปุ่นเองก็ต้องการความเปลี่ยนแปลง อย่างที่ผมเคยเขียนถึงไปแล้ว ว่า Fintech ของญี่ปุ่น เพราะว่าพัฒนาไปก่อนเขา เลยกลายเป็นมีระบบของตัวเอง แต่พอโลกไปอีกทางก็เลยกลายเป็นว่าล้าหลังไป และพึ่งพาคนมากไป จนตอนนี้ต้องพยายามนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้มากขึ้น
ธนาคารเครือใหญ่เช่น Mitsubishi UFJ จึงกำลังเริ่มต้นเสนอการเปิดบัญชีแบบไม่ต้องใช้ตราประทับฮังโคะ เพื่อความสะดวกในการใช้บริการ และทางธนาคารเองก็สามารถลดจำนวนพนักงานได้ด้วย เช่นเดียวกับเครือ Resona ที่วางแผนอย่างเดียวกัน ซึ่งมาคิดดู ก็เป็นเรื่องจำเป็นของพวกเขาในการที่จะวางระบบธนาคารเพื่อให้สะดวกและเข้ากับยุคสมัยของ Fintech และ Cashless Society รวมไปถึง Mobile Banking ที่กลุ่มทุนต่างชาติก็เข้ามาแข่งกับทุนญี่ปุ่นอย่างดุเดือดเช่นกัน ถ้าจะยังมัวแต่ยึดติดกับของที่ไม่เปลี่ยนแปลงมาเป็นร้อยกว่าปี ก็คงจะยากอยู่ดี
แต่ก็นั่นและครับ นิสัยเดิมๆ นี่กำจัดยาก การจะให้สังคมญี่ปุ่นปราศจากตราประทับฮังโคะก็คงเป็นเรื่องยาก และก็ต้องยอมรับว่า มันเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งเช่นกัน แต่ถ้ามีทางเลือกหรือปรับให้สะดวกมากขึ้นก็คงดีกว่านี้ครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก