ตั้งแต่ย้ายมาอยู่ญี่ปุ่น กลายเป็นว่าพอมองกลับไปเมืองไทย ปัจจุบันก็มีตัวเลือกในการรับชมอนิเมะญี่ปุ่นแบบถูกกฎหมายเพิ่มมากขึ้นจนผมทึ่งเหมือนกัน มีทั้งแบบเสียเงินและไม่มีค่าใช้จ่าย ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีนะครับ เพราะลดของเถื่อนได้ ทางญี่ปุ่นก็ได้เงิน ทางไทยก็ได้ดูอนิเมะไวแบบไม่ต้องรอนาน บางเรื่องฮิตๆ ก็แย่งกันฉายหลายช่องทางเลยทีเดียว
หนึ่งในเรื่องที่ผมดีใจทีได้เห็นฉายในไทยแบบถูกลิขสิทธิ์ก็คือ Hataraku Saibou หรือชื่อไทยคือ เซลล์ขยันพันธุ์เดือด ซึ่งสร้างกระแสได้ตั้งแต่อนิเมะซีซั่นแรกออกฉาย แต่รอบนี้กลับมาฉายแบบมีช่องทางให้ดูได้แบบถูกกฎหมายทาง IQIYI ก็น่าดีใจมากครับ เพราะจัดว่าเป็นอนิเมะที่มีคุณภาพดี แถมได้ความรู้ด้วย เพราะเป็นการเล่าเรื่องราวของส่วนประกอบของร่างกายเรา โดยจำลองให้ร่างกายเป็นเหมือนสังคมหนึ่ง ซึ่งแต่ละส่วนก็มีบทบาทหน้าที่ของตัวเอง ทำหน้าที่นั้นเพื่อให้สังคมเดินหน้าไปได้
ถ้าใครอายุเกินสามสิบ ก็น่าจะคุ้นกับการ์ตูนทีวีเรื่อง นิทานชีวิต ซึ่งเป็นการ์ตูนฝรั่งเศส (ถ้าผมจำไม่ผิดนะครับ) สอนเรื่องราวเกี่ยวกับระบบต่างๆ ในร่างกาย ซึ่งเรื่องเซลล์ขยันพันธุ์เดือด ก็เหมือนกับเรื่องนี้แต่เป็นเวอร์ชั่นญี่ปุ่น ที่ทำออกมาให้ได้บรรยากาศแบบอนิเมะที่เราคุ้นเคยกันมาก ใส่เนื้อเรื่องและความสัมพันธ์ของตัวละครเข้าไป ทำให้ที่ญี่ปุ่นเองก็ประสบความสำเร็จอย่างสูง กลายเป็นกระแสฮอตฮิต ขนาดมีข่าว เช่น คนทำข้อสอบชีววิทยาได้ เพราะว่าจำรายละเอียดจากอนิเมะได้ ส่วนบ้านเราก็ได้ตีพิมพ์มังงะออกขายด้วย
ความฮอตฮิตของเซลล์ขยันพันธุ์เดือด ก็ถึงขนาดที่ว่ามีทั้งเรื่องสปินออฟ หรือมังงะที่เอาโครงเรื่องคล้ายกันมาแต่เล่าอีกทางหนึ่ง เช่น Hataraku Saibou Black ภาคสายดาร์ค หรือ Hatarakanai Saibou เซลล์ไม่ขยัน รวมไปถึงหนังสือให้ความรู้สำหรับเด็กต่างๆ อีก เรียกได้ว่ากลายเป็นแฟรนไชส์ทำเงินไปโดยเรียบร้อย
ซึ่งที่จะเอามาคุยกันในวันนี้ก็คือ
เรื่องของ Hataraku Saibou Black นั่นเอง
ตัวผมเองก็เห็นเรื่องนี้ตั้งแต่เริ่มตีพิมพ์ลงในนิตยสารมังงะ Morning แต่แรกแล้ว เพียงแต่ว่าก็ไม่ได้สนใจอ่าน เลยปล่อยผ่านไป จนกลายมาเป็นอนิเมะนี่ล่ะครับ ค่อยได้โอกาสดู และพอทราบแนวทางอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องสายดาร์คในแง่ที่ว่า ถ้า Hataraku Saibou คือการเล่าเรื่องราวระบบการทำงานของร่างกาย กับเรื่องที่เราเจอได้บ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น เป็นหวัด จาม หรือเกิดบาดแผลแล้ว Hataraku Saibou Black คือเรื่องราวเมื่อเจ้าของร่างกายไม่ได้รักษาดูแลร่างกายอะไรดีนัก ทำให้ต้องเจออะไรต่อมิอะไร กลายเป็นภาระของร่างกายไปโดยปริยาย
เท่าที่ผมดูมา 5 ตอน ก็มีตั้งแต่ดื่มเหล้า เครียดจนผมร่วงเป็นหย่อม ร่วมเพศ ไปจนถึงได้รับเชื้อกามโรค เรียกได้ว่าต่างกับความใสๆ ของต้นฉบับไม่เบา แต่เขาก็เล่าออกมาได้ดีนะครับ คือในฐานะผู้ใหญ่แล้ว ดูแล้วก็ฮาได้เอาเรื่องเลย แล้วก็ทำให้เรารู้สึกรักร่างกายขึ้นมาอีกเยอะ อย่างตอนที่เล่าเรื่องการเมาเหล้า ผมเองที่ดูไปดื่มไป ก็เล่นเอาสะอึกได้เหมือนกัน
สิ่งที่ทำให้ผมสนใจภาคนี้ตั้งแต่ตอนแรกที่ได้ดูก็คือ การที่ใช้คำว่า Black ที่คงจะต้องการแสดงออกให้คนอ่านหรือดูเข้าใจได้ง่ายว่านี่คือด้านมืดนะ ไม่เหมือนภาคหลัก แต่ที่น่าสนใจคือ เมื่อได้ดูตอนแรกแล้ว ก็ได้คิดเพิ่มว่า Black ในที่นี้ คือการล้อเลียน Black Company รึเปล่า
Black Company (Black Kigyou) คือคำที่ได้ยินบ่อยในสังคมญี่ปุ่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากแต่เดิมที่ค่านิยมในสังคมญี่ปุ่นคือการทำงานแบบถวายตัวให้บริษัท แต่ปัจจุบันที่คนเริ่มมองเรื่อง Work Life Balance มากขึ้น ทำให้การทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำไม่ใช่ค่านิยมอีกต่อไปรวมถึงการที่ตั้งแต่ยุคฟองสบู่แตกมา การทำงานแบบอุทิศชีวิตให้บริษัทก็อาจจะไม่ได้ผลตอบแทนเช่นเคย กลายเป็นความซื่อสัตย์ที่ไม่ได้รับการตอบแทนเหมือนคนรุ่นบูมเมอร์ที่ผ่านมา
และบริษัทหลายแห่ง
ก็ใช้พนักงานราวกับสินค้าใช้แล้วทิ้ง
หมดค่าก็เขี่ยออก
ทำให้บริษัทที่มีลักษณะของการบีบให้พนักงานทำงานหนัก ทำงานล่วงเวลาไม่จ่ายเงิน สภาพแวดล้อมการทำงานแย่ จะถูกเรียกว่า Black Company ซึ่งแต่ละปีก็มีบริษัทดังๆ ถูกประกาศว่าเป็น Black Company เป็นประจำ หลายเจ้าก็เป็นที่รู้จักของชาวไทยดี แต่เพื่อความสุขของผู้เขียน คงขอละไว้เท่านี้ ไปค้นเองได้ ไม่ยากหรอกครับ
ส่วนในภาค Black นี้ เราก็ตามตัวเอกที่เป็นเม็ดเลือดแดงหน้าใหม่ เพิ่งเริ่มทำงานในฐานะเม็ดเลือดแดงเป็นวันแรก ก็ได้รับการบรีฟงานจากบริษัท ก่อนออกไปทำงานจริง ตรงนี้ก็คือการแซะ Black Company ล้วนๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้คนพูดหวานๆ มาบรีฟงาน มีการพูดถึง โครงการพัฒนาสภาพการทำงาน รวมไปถึงการเปิดวิดีโอแนะนำเพื่อนร่วมงานคนละสาย ที่บอกว่า เจอแล้วก็ให้ทักทาย บอกชื่อกันได้ เพราะอยากจะรู้จักกันให้ดี
แต่เมื่อไปหน้างาน เม็ดเลือดแดงของเราก็เจอกับนรกมาเยือน เพราะต้องเริ่มทำงานจริงแบบไม่มีช่วงโปร ทำงานหามรุ่งหามค่ำ รุ่นพี่ก็ได้แต่บอกว่า ก็ทำๆ ไปแบบไม่ต้องคิดอะไร จะสุขใจสุด ลืมตัวตนตัวเองไปซะ ไอ้เรื่องพัฒนาสภาพการทำงานน่ะอย่าไปหวัง แถมเฮียคนในวิดีโอ พอเจอตัวจริงแล้วแนะนำตัวไป ก็ด่ากลับว่า ใครจะไปมีเวลาจำวะ คลิปเก่าขนาดนั้นยังเอามาเปิดให้พนักงานใหม่ดูอีกเหรอ แต่ก็ค่อยๆ เล่าเหตุผลว่า แต่ก่อนมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่พอปัจจุบันคือสภาพการทำงานเปลี่ยนไปมาก ปัญหาเข้ามาตลอด เหมือนจะใบ้ว่าเป็นเพราะตัวเจ้าของร่างกายไม่ดูแลร่างกายนั่นเอง
ตอนแรกนี่คือการเอาสภาพการทำงานใน Black Company มายัดใส่เต็มๆ ราวกับเป็นการวิจารณ์บริษัทเหล่านี้ ผ่านตัวละคร ดูไปแล้วก็ทั้งตลก ทั้งเศร้าเมื่อคิดว่ามีคนต้องเจอสภาพการทำงานแบบนี้จริงๆ จนผมเองก็ดีใจว่ากล้าเขียนเรื่องแบบนี้ออกมา
แต่เมื่อตอนสองมา ความรู้สึกนั้นก็ต้องชะงักลงไปเหมือนกัน
เมื่อช่วงครึ่งหลังของตอนที่สอง เล่าเรื่องของเซลล์เม็ดเลือดแดง ที่ทำงานอย่างหนักหน่วง จนล้าไปหมด แล้วมีเซลล์เม็ดเลือดแดงรุ่นใหญ่ ที่มาบอกทุกคนว่า เหนื่อยขนาดนี้ คงต้องไป ‘พักผ่อน’ บ้าง โดยปลายทางคือ ‘ตับ’ ที่ที่เซลล์เม็ดเลือดแดงจะได้รับการทำความสะอาดให้กลับมาสดชื่นอีก
ซึ่งการนำเสนอในเรื่อง ‘ตับ’ คือย่านเริงรมย์ที่จำลองย่านคาบุกิโจออกมา และเหล่าเซลล์เม็ดเลือดแดงก็ได้ไปผ่อนคลายในร้านที่มีสาวนั่งดริงค์คอยให้บริการ แต่ละคน (เซลล์) ก็นั่งโวยวายหงุดหงิดที่ตัวเองเจอสภาพการทำงานที่เลวร้าย ทำงานไปวันๆ ก่อนที่จะได้รับเครื่องดื่มดีทอกซ์ ช่วยให้กลับมาสดชื่นอีกทีได้ ตรงนี้ก็แทบจะเป็นการจำลองสภาพการทำงานแบบญี่ปุ่น ที่ทำงานกันหนัก เสร็จงานก็ไปบ่นคลายเครียดในร้านเหล้าหรือร้านที่มีสาวนั่งดริงค์แบบนี้
ซี่งประเด็นก็ยังไม่จบเท่านั้น เพราะเซลล์เม็ดเลือดแดงรุ่นใหญ่ก็ได้สอนตัวเอกที่โวยวายใส่สาวนั่งดริงค์ว่า อย่าได้มองแต่ว่าตัวเองลำบาก สาวนั่งดริงค์เองก็ทำงานหนักเพื่อให้พวกเราได้ผ่อนคลายเช่นกัน (ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง เพราะสภาพร่างกายแย่แค่ไหน ตับก็ยิ่งต้องทำงานหนักขึ้นเท่านั้น) เป็นฉากดึงสติเด็กใหม่ ให้ได้รู้ว่า อนาคตของร่างกายนี้ต้องหวังพึ่งแรงกายของเด็กรุ่นใหม่แบบพวกเธอนั่นเอง ก่อนที่ตัวเซลล์เม็ดเลือดแดงรุ่นใหญ่จะหลับอย่างสงบไปตลอดกลางที่ร้านเหล้านั่นเอง
เพราะถึงอายุขัยแล้วหลังจากทำงานหนัก
อุทิศให้กับร่างกายมาตลอด
และกลายเป็นสารอาหารให้กับเซลล์อื่นไปแทน
ดูตอนนี้แล้วผมก็ตงิดขึ้นมาทันที เพราะจากที่ตอนแรกเป็นการเสียดสีการทำงานในบริษัท Black อย่างตลก แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นว่าทุกคนมีหน้าที่ของตัวเอง ทุกคนทำงานหนัก ทำงานหนักแล้วก็ต้องผ่อนคลายด้วยการออกไปดื่ม และการทุ่มเททำงานเต็มที่เพื่อให้ร่างกาย ซึ่งแทนด้วยบริษัทหรือสังคม ก็เป็นเรื่องที่ดีงาม จบด้วยฉากซึ้งๆ ที่รุ่นใหญ่จากไปด้วยสีหน้าอิ่มเอิบ พร้อมเพลงประกอบเหมือนกับโฆษณาประกันภัยของไทย แค่สองตอน กลายเป็นว่า เนื้อเรื่องกลับหน้ามือเป็นหลังมือ เสียดสีอยู่ดีๆ กลายเป็นการเชิดชูการทำงานหนักจนตัวตาย แล้วฉาบหน้าสวยๆ ว่า มีความสุขที่ได้ทำงานเต็มที่แล้ว งงสิครับ
แน่นอนว่า เพราะบริบทคือ ระบบของร่างกาย นี่ก็คือความจริงของระบบในร่างกายเราอยู่แล้ว แต่พอนำเสนอออกมาด้วยตัวละครอนิเมะ และแทนร่างกายด้วยระบบสังคมแบบนี้ ก็อดคิดไม่ได้จริงๆ ว่า จะกลายเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับระบบสังคมและการทำงานที่ไม่เป็นธรรม ด้วยการวาดภาพสวยๆ ของการทำงานอุทิศตัวอย่างเต็มที่ ด้วยค่านิยมของการทำงานในฐานะฟันเฟืองตัวหนึ่งของระบบ
อาจจะมองว่าผมคิดมากเกินไปก็ได้ แต่เมื่อมองกลับมาอีกทีในแง่ของแนวคิดแบบชาตินิยม ที่มีหนึ่งแนวคิดคือ ชาติในฐานะองคาพยพ หรือแทน ชาติ เป็น ร่างกาย เช่น ทหารคือเลือดเนื้อของชาติ ทุกพื้นที่ของแผ่นดินไทย ก็เหมือนกับอวัยวะ ขาดอะไรไปไม่ได้ หรือเราต้องกำจัดเนื้อร้ายของสังคม ซึ่งเรามักจะเห็นการอุปมาอุปมัยแบบนี้อยู่เสมอ
ซึ่งแนวคิดแบบนี้ก็คือ ประชาชนทุกคนก็มีหน้าที่ในการทำให้ร่างกายนี้พัฒนาไปได้อย่างสมบูรณ์ ทุกคนจำเป็นต่อชาติ แต่ในขณะเดียวกัน ทุกคนก็ต้องสละอะไรบางอย่าง เพื่อชาติ เพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตนเองอีกด้วย ซึ่งกลายเป็นว่า เซลล์ขยันพันธุ์เดือด ที่แทนร่างกายของเราด้วยระบบสังคม ก็สอดคล้องและกลายเป็นภาพจำลองของแนวคิดแบบนี้ไปโดยปริยายเช่นกัน
ในภาคปกติ เราเองคงไม่รู้สึกอะไรเช่นนี้มากเท่าไหร่ แต่พอเข้าภาค Black ที่เจ้าของร่างกายไม่เคยสนใจร่างกายของตนเอง และสร้างภาระให้กับเซลล์ต่างๆ อย่างหนักหน่วง พอเจอตัวละครที่บอกว่าต้องพยายามเพื่อให้ระบบเดินหน้าไปได้ และให้ตั้งหน้าตั้งตาทำงานของเราไป ทุกคนก็ลำบากเหมือนกัน และมีความสุขที่ได้อุทิศชีวิตให้กับงานแล้ว
ผมก็อดตั้งคำถามขึ้นมาไม่ได้ว่า
นี่มันควรเป็นเช่นนี้จริงเหรอ
ถ้าเป็นระบบของร่างกายจริงๆ เราเองก็คงไม่รู้สึกอะไร เพราะนี่มันคือระบบการทำงานของร่างกาย แต่พอแทนด้วยอนิเมะที่แต่ละส่วนก็มีคาแรคเตอร์ของตัวเอง เป็นคนคนหนึ่ง แล้วเล่าเรื่องออกมาแบบนี้ มันก็เป็นเหมือน Soft Power สอนให้เรายอมรับกับสภาพการทำงานและสังคมที่เลวร้าย โดยทำให้เราเชื่อว่า ทุกคนก็ลำบาก และเราต้องทำเพื่อส่วนรวม ไปโดยที่ตัวผู้เขียนเองอาจจะไม่ได้มีเจตนาก็ได้
แต่เมื่อระบบร่างกายที่มีหน้าที่แบบจำกัด ทำหน้าที่เพียงแค่อย่างสองอย่าง ถูกนำเสนอเป็นมนุษย์ ที่เป็นปัจเจก มีความรู้สึก มีความคิดเป็นของตนเองแบบนี้ มันก็เกิดความอิหลักอิเหลื่อหน่อย เมื่อตัวปัจเจกไม่ว่าจะคิดอย่างไร สุดท้ายก็ต้องทำไปตามระบบ หรือทำแบบที่เขาทำกันมาเท่านั้น
บางทีมันก็ช่วยไม่ได้ ในเมื่อธีมของภาคนี้คือ เจ้าของร่างกายไม่ได้สนใจใยดีกับร่างกายของตัวเองนัก ซึ่งก็น่าเสียดายว่าจากที่เสียดสีสังคม กลับกลายเป็นมีการสร้างความประทับใจจากจุดนี้ออกมาแทน แต่ก็ไม่แน่ใจว่าต่อจากนี้จะมีการพลิกเนื้อเรื่องไปทางไหนหรือไม่