แม้สปีชีส์ของมนุษย์จะถูกเรียกว่า Homo sapiens ในภาษาละติน อันแปลได้ว่า wise man–คนผู้ชาญฉลาด แต่ Martin Seligman ศาสตราจารย์ผู้ริเริ่มจิตวิทยาสาขา Prospective Psychology เสนอว่านี่ยังไม่ตรงกับความเป็นคน คนควรถูกเรียกว่าเป็น Homo Prospectus หรือผู้มองเห็นความเป็นไปได้มากกว่า ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ขึ้นอยู่กับลักษณะนิสัยที่เปิดใจรับความเป็นไปได้ใหม่ๆ (openness to experience)
เราเป็นสัตว์ชนิดพิเศษที่เห็นโอกาสและจินตนาการได้ถึงสิ่งที่ยังไม่มี ยังไม่เกิดขึ้น เราสามารถเหม่อลอย ฝันกลางวัน จำลองอนาคตข้างหน้า แก้ปัญหาด้วยวืธีใหม่ๆ ซึ่งความสามารถในการคิดถึงอนาคตและประเมินความเป็นไปได้ทำให้มนุษย์เป็นสปีชีส์ที่ก้าวหน้า งานศึกษาเรื่องความคิดสร้างสรรค์และการที่สมองของเราจำลองอนาคตอย่างไร จึงเป็นสาขาใหม่ทางจิตวิทยาและประสาทวิทยาที่น่าจับตา
Martin Seligman ผู้บริหารของ The Imagination Institute สถาบันไม่แสวงหาผลกำไรที่รวบรวมงานศึกษาและวิจัยที่เกี่ยวข้องกับจินตนาการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อศึกษาและวัดผลจินตนาการของมนุษย์ อันเป็นรากสำคัญของนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ในเร็วๆนี้ งานวิจัยสาขาจิตวิทยาและประสาทวิทยาของจินตนาการมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ในเรื่องการใจลอย, ฝันกลางวัน, การจำลองในหัว และการแก้ปัญหาเชิงความคิดสร้างสรรค์ เราสามารถวัดผลความคิดสร้างสรรค์ได้ไหม, สามารถจำกัดหรือกระตุ้นได้ไหม
แม้งานศึกษาในสาขาจิตวิทยามักพูดถึงพฤติกรรมอันได้แรงขับจากเหตุการณ์ในอดีต อาจเพราะได้รับอิทธิพลแบบฟรอยด์ที่เชื่อว่าการกระทำของเราเกิดปมหรือจิตใต้สำนึกจากอดีตกับสิ่งเร้าของสถานการณ์ปัจจุบัน แต่มนุษย์นั้นมีสมองที่มีศักยภาพเพื่อจินตนาการและจำลองเหตุการณ์ในอนาคต ทำให้เกิดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ซึ่ง Seligman ยกตัวอย่างไว้ในบทความ We Aren’t Built to Live in the Moment ว่าการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับอนาคตและความรู้สึกที่เราคาดเดาได้ เช่น คนเรามีสัญชาตญาณจะคาดเดาว่าการตอบรับของคนอื่นย่อมส่งผลต่อการกระทำของเรา เช่น เราคิดเผื่อได้ว่าเพื่อนร่วมงานจะรู้สึกอย่างไร หากเราปฏิเสธนัดของเขา เรามีสัญชาตญาณพอจะตอบว่า “โอเค ขอบคุณที่ชวนนะ” เพื่อรักษาความสัมพันธ์เอาไว้
Openness/Intellect ลักษณะนิสัยการเปิดใจรับประสบการณ์ใหม่ (Openness to Experience) มีผลต่อความคิดสร้างสรรค์
ความสร้างสรรค์อาจมาในรูปของการปรุงอาหารแบบใหม่ ชีวเคมี เพลงแร็ป เอ็มวี แคมเปญโฆษณา หรืองานออกแบบสถาปัตยกรรม ความสร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องจับต้องได้ อาจเป็นนามธรรม ผลิตภัณฑ์ของความสร้างสรรค์ไม่ถูกจำกัดว่าจำต้องเป็นชิ้นงาน สามารถเป็นแนวคิด กระบวนการ หรือวัตถุ
ก่อนอื่นเราต้องแยกความแปลกกับความคิดสร้างสรรค์ออกจากกัน J.C. Kaufman & Sternberg ได้นิยามว่าความคิดสร้างสรรค์ คือ “ความสามารถผลิตสิ่งใหม่ที่ทั้งใหม่และมีประโยชน์ด้วย” ในแง่นี้ ความคิดสร้างสรรค์ (creativity) กับความประหลาด (eccentricity) จึงถูกแยกออกจากกัน ของบางอย่างแปลกใหม่ แต่ไม่ได้นำไปใช้ต่อได้ เพราะบางพฤติกรรมนั้นแปลกแต่ไม่ได้สร้างคุณประโยชน์ ซึ่งการมีประโยชน์ในที่นี้อาจเป็นประโยชน์ในเชิงความก้าวหน้าทางปัญญาหรือว่าความสวยงาม มีความหมายพิเศษ ไม่จำเป็นต้องเป็นเชิงสอยใช้สอย
มีงานศึกษาวิจัยและสมมติฐานเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์หลายทฤษฎี คำถามสำคัญคือ “ทำไมมนุษย์บางคนถึงสามารถสร้างสรรค์ แนวคิดใหม่ๆ คิดค้นสร้างนวัตกรรมที่ไม่เคยมีมาก่อนได้ ทั้งคนอื่นก็มีทักษะและความรู้พอๆ กัน”
ความสามารถในเชิงการให้เหตุผลหรือวัดสติปัญญา (IQ Test) มักนำไปสู่คำตอบที่ถูกต้องคำตอบเดียว การวัดค่าความคิดสร้างสรรค์มักวัดโดยให้กลุ่มตัวอย่างทำแบบทดสอบเชิง Divergent Thinking หรือความสามารถคิดและสำรวจในการหาทางออกและคำตอบให้กับปัญหาได้หลักแหลมที่สุด จำนวนมากที่สุด หรือน่าสนใจที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
งานวิจัย Openness/Intellect: The Core of the Creative Personality อธิบายลักษณะนิสัย Openness/Intellect เป็นใจกลางสำคัญของคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เกิดศักยภาพที่จะจินตนาการและสงสัย สามารถอธิบายความก้าวหน้าของสปีชีส์ของเราที่ซับซ้อนและพัฒนาเหนือสิ่งมีชีวิตอื่น ความคิดสร้างสรรค์ยังเกี่ยวข้องกับระบบกลไก dopamine เมื่อเราแก้ไขปัญหาออก รางวัลที่ได้คือความรู้สึกดี ความสงสัยใคร่รู้จึงมีรางวัลในแบบของตัวเอง
คนที่มีบุคลิกภาพแบบเปิดใจรับประสบการณ์ใหม่ๆ หรือมีแต้มของ openness to experience สูง ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับความคิดสร้างสรรค์ โดยลักษณะนิสัยนี้มาจากแบบทดสอบ Big Five Personality Test ที่ประกอบไปด้วย 5 ตัวแปร (ความเปิดใจรับประสบการณ์ใหม่ / ความรอบคอบมีระบบระเบียบ / ความเก็บตัวหรือชอบสังสรรค์ / ความว่าง่ายเป็นมิตร / ความขี้รำคาญและอ่อนไหวต่อสิ่งเร้า)
การเปิดใจรับประสบการณ์ใหม่ หรือ Openness to Experience ประกอบไปด้วย 6 ด้านย่อยๆ ได้แก่ จินตนาการหรือแฟนตาซี (imagination/fantasy), ความไวต่อความสวยงาม (aesthetic sensitivity), ความใส่ใจในอารมณ์ภายใน (attentiveness to inner feelings), ความปรารถนาในความหลากหลาย (preference for variety) และความสงสัยในเชิงปัญญา (intellectual curiosity) พวกเขามีแนวโน้มที่จะสงสัยและมีความรู้รอบตัวสูง ทำให้ในหัวของพวกเขาชอบไขปริศนาและแก้ปัญหาบางอย่างอยู่เสมอ
ในบทวิเคราะห์ The New Geography of Personality โดย Jason Rentfrow ได้สำรวจลักษณะนิสัยของคนกับถิ่นฐานที่อยู่อาศัย เขาพบว่าคนที่มีนิสัยเปิดรับประสบการณ์ใหม่มักกระจุกตัวอยู่ในเมือง พวกเขามักหลบหนีจากประสบการณ์อันน่าเบื่อในเมืองเล็กที่จำเจ และเลือกย้ายถิ่นฐานสู่เมืองเพื่อขยายความสนใจ เพื่อพบปะคนที่สนใจเรื่องเดียวกัน มีโอกาสได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ นอกจากนี้ Sam Gosling ยังศึกษาสภาพแวดล้อมและพบว่าคนที่มีความเปิดต่อประสบการณ์ มักจะมีพื้นที่ทำงานและบ้านที่การตกแต่งด้วยชิ้นของไม่เหมือนใคร บนชั้นหนังสือมักมีหนังสือที่หัวข้อและประเด็นหลากหลาย พวกเขามักมีเพลงที่หลากหลายแนวในคลัง และมีงานศิลปะติดตั้งอยู่ในบ้าน
ทำให้เรานึกถึงบ้านของ Matthew Gray Gubler บ้านของเขามีฟัน Wisdom teeth ของเพื่อนซ่อนอยู่ตรงเตาผิง เต็มไปด้วยตุ๊กตาที่เย็บเอง มีตู้เก็บชุดกิโมโน ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็น Eccentric มากกว่า Creative
จากหนังสือ The Genius Checklist โดย Dean Keith Simonton นักจิตวิทยาผู้ศึกษาความฉลาดของมนุษย์มาตลอดชีวิต เล่าย้อนกลับไปในปี 1967 ได้มีงานศึกษาความคิดสร้างสรรค์ชิ้นสำคัญโดย Institute of Personality and Social Research (IPAR) ที่ University of California, Berkeley ค้นหาตัวแปรและลักษณะนิสัยที่ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้คิดริเริ่มสร้างสรรค์ในสาขาต่างๆ สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังในแบบทดสอบประเมินตัวเองก็คือ คนที่หลงตัวเอง (narcissist) มักคิดว่าตัวเองสร้างสรรค์กว่าคนอื่น พวกเขาลงทุนที่จะทำให้ตัวเองแตกต่างจากคนอื่น ทำให้ตัวเองดูน่าสนใจและแตกต่าง พวกเขาเก่งมากในการหลอกคนอื่นว่าตัวเองสร้างสรรค์ เขาอาจนำเสนองานได้อย่างมีเสน่ห์จับใจ ทำให้ดูเหมือนเนื้องานและแนวคิดน่าสนใจ แม้ตัวเนื้อหาและแนวคิดจะไม่น่าสนใจหรือแตกต่างจากที่มีอยู่ก็ตาม การวัดความสร้างสรรค์จึงต้องดูกันยาวๆ ว่ามีอิทธิพลต่อวงการและสังคม เป็นนวัตกรรมจริงไหมเมื่อเวลาผ่านไป
กลับมาที่ IPAR พวกเขาได้ให้ผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาเลือกกลุ่มคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ในสาขาต่างๆ สร้างแนวคิดใหม่ๆ ที่มีอิทธิพลต่อสาขาของเขา ไม่ว่าจะเป็นนักประพันธ์ นักวิทยาศาสตร์ ผู้จัดการ ทหาร นักคณิตศาสตร์ หรือนักศึกษาจบใหม่
งานศึกษาสถาปนิกที่มีผลงานสร้างสรรค์เปรียบเทียบกับคนร่วมอาชีพที่มาจากบริษัทหรือเมืองเดียวกันพบว่าพวกเขามีแนวโน้มที่แสวงหาความยาก ความซับซ้อน ซึ่งความน่าสนใจคือพวกเขาเติบโตมาโดยมีอิสรภาพและการปกครองตัวเอง ทำให้เกิดชุดความคิดและการพึ่งพาตัวเองโดยมีสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างสนับสนุนให้เป็นตัวของตัวเอง
กระบวนการก็คือ IPAR เลือกสถาปนิกที่ขึ้นชื่อว่าสร้างสรรค์ในมาตรฐานของวงการ โดยมี criteria คือ กล่าวคือ พวกเขาต้องเป็นทั้งนักคิดและนักปฏิบัติ วัดจาก
- แนวคิดต้องใหม่ (novel) ในมาตรฐานของ industry
- มีฟอร์มหรือรูปทรงอันเป็นนวัตกรรม
- ได้ถูกนำไปใช้งานจริง
มีกลุ่มตัวอย่างควบคุมเปรียบเทียบเป็นสถาปนิกจากบริษัทหรือเมืองเดียวกันที่ไม่ค่อยสร้างสรรค์เท่าไหร่ พวกเขาถูกสังเกตและให้ทำแบบทดสอบภายใต้ความกดดัน บางคนวิจารณ์ว่าเป็นการทดลองที่สมองแทบจะระเบิด
ในขั้นแรกที่ถูกสำรวจคือความฉลาดเชิงสติปัญญาหรือค่า IQ หรือค่าการให้เหตุผลก็กลับพบว่า ไม่ได้มีความแตกต่างในค่าเฉลี่ยของไอคิวหรือความสามารถในการให้เหตุผล สถาปนิกที่สร้างสรรค์อาจฉลาดหัวดี แต่ไม่ได้ดีไปกว่าคนอาชีพเดียวกันที่ไม่ได้สร้างสรรค์ พวกเขามักไม่ได้เป็นนักเรียนเกรด A อาจจะได้เกรดธรรมดากลางๆ เสียด้วยซํ้า
แต่สิ่งที่งานวิจัยนี้พบก็คือกลุ่มตัวอย่างที่สร้างสรรค์ ในวัยเด็ก มักมีช่วงที่พึ่งพาตัวเองสูง (strong sense of autonomy) พวกเขามีครอบครัวที่ยินยอมให้พวกเขา explore สิ่งที่สนใจ มักไม่ได้ผูกพันกับพ่อแม่มากนัก ไม่ได้มีการลงโทษรุนแรง แต่ก็ไม่ได้รักผูกพันอย่างลึกซึ้ง เมื่อโตมา มักอธิบายความสัมพันธ์ที่มีกับพ่อแม่ว่าเป็นมิตรมากกว่าสนิทใกล้ชิดผูกพัน อาจเคยผ่านช่วงเวลาที่ต้องย้ายถิ่นฐานบ่อยครั้ง ทำให้พวกเขามีทักษะในการปรับตัวและยืดหยุ่นตามสภาพแวดล้อมใหม่มากกว่าหการมีประสบการณ์ที่อยู่ที่เดิมตลอดชีวิต พวกเขามักมีความซับซ้อนในเชิงบุคลิกภาพ การที่ต้องย้ายที่บ่อยๆ ทำให้พวกเขาแยกออกจากคนอื่นๆ เป็นตัวของตัวเอง พวกเขาจึงต้องพึ่งพาวิธีแบบของตัวเอง
พวกเขาถูกสนับสนุนให้เป็นตัวของตัวเองในช่วงแรกของชีวิต และมีอิสระในการตัดสินใจมากกว่าคนที่อาชีพเดียวกันแต่ไม่สร้างสรรค์เท่า มีความสนใจที่หลากหลาย าไม่ได้สนใจแค่ข้อมูลเพียงเพราะมีประโยชน์ในชีวิตประจำวัน แต่สนใจความหมาย ความสำคัญ และความนัยของข้อมูล พวกเขาพยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ธรรมดาทั่วไป หรือกิจกรรมที่ถูกควบคุมอย่างมาก มีความคิดที่ยืดหยุ่น มีชุดคำที่ซับซ้อน และมีความสนใจเรื่องเชิงสติปัญญา ไม่ค่อยควบคุมความคิดตัวเองหรือความหุนหันพลันแล่นของตัวเองนัก สถาปนิกกลุ่มตัวอย่างในปี 1967 ป็นเพศชายทั้งหมด แต่ความสนใจกลับมีความเป็นหญิงสูงกว่ากลุ่มที่ไม่สร้างสรรค์ พวกเขามีความชื่นชอบในความซับซ้อน ของที่ไม่สมมาตร ของที่ทำให้เกิดความตึงเครียด
จุดตรงกลางอันหอมหวาน นักวิทยาศาสตร์ที่มีงานอดิเรกศิลปะนำไปสู่วิธีการคิดที่สร้างสรรค์
J.H. van’t Hoff ผู้ได้รับรางวัลโนเบลคนแรกในสาขาเคมี (1901) กล่าวไว้ว่า “จินตนาการทางวิทยาศาสตร์นั้นเกี่ยวข้องกับกิจกรรมสร้างสรรค์นอกเหนือจากวิทยาศาสตร์ด้วย”
เพื่อทดสอบสมมติฐานนี้ ทีมนักวิจัยจาก Michigan State University จึงวิจัยในหัวข้อ Art Foster Scientific Success ได้วิเคราะห์นักวิทยาศาสตร์ที่ถูกเรียกว่าเป็นอัจฉริยะ โดยสำรวจชีวประวัติ ประวัติ และคำไว้อาลัยของนักวิทยาศาสตร์ผู้ได้รางวัลโนเบล เป็นสมาชิก Royal Society และ U.S National Academy of Science และได้พบว่านักวิทยาศาสตร์ผู้ที่ประสบความสำเร็จกว่าเพื่อนร่วมอาชีพนั้นมีหลักฐานของความสนใจในศิลปะ หากคุณมองว่าความสามารถทางวิทยาศาสตร์และศิลปะนั้นแยกจากกันโดยสิ้นเชิง งานอดิเรกอย่างเล่นดนตรี หรืองานไม้ ดูเหมือนทำให้เสียเวลาแทนที่จะหาความจริงและผลการทดลองในห้องแล็บ แต่งานอดิเรกเหล่านี้อาจช่วยส่งเสริมให้แก้ปัญหาด้วยวิธีใหม่ๆ เห็นความเชื่อมโยง พบความจริงในสิ่งที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อน หรือช่วยเติมความสร้างสรรค์ให้กับนักวิทย์ได้
ความคิดเชิงวิเคราะห์ การหาคำตอบเชิงตัวเลขและปริมาณที่นักวิทยาศาสตร์ถูกสอนอาจไม่เพียงพอให้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ และเกิดความคิดสร้างสรรค์สร้างสิ่งพิเศษ การมีเวลาในงานเหม่อลอย หรือทำกิจกรรมอื่นที่นอกเหนือจากอาชีพหลัก อาจช่วยให้เราคิดอะไรออก การผัดวันประกันพรุ่ง ปล่อยให้ความคิดได้ไหลลอยเหม่อไปอาจทำให้แก้ปัญหาได้ดีขึ้นพรุ่งนี้ก็ได้
จุดที่น่าสนใจ มักอยู่ตรงกลาง เป็นจุดร่วมของหลายสิ่งที่มาประกอบกันเป็นจุดเชื่อมใหม่ๆ จินตนาการฟุ้งซ่านเฉยๆ โดยขาดการะกระทำหรือตรวจสอบอาจไม่พาให้เราไปไหน และความฉลาดไอคิวสูงลํ้าก็ยังไม่มากพอสำหรับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ PAUL BENNETT ผู้เป็น Chief Creative Officer ของ IDEO ได้กว่าไว้ว่า “จุดหอมหวานมักจะอยู่ตรงกลาง ออกแบบมากพอแต่ไม่มากจนเกินไป มีโครงสร้างแต่ไม่รู้สึกว่าแข็งจนเกินไป มีจุดประสงค์แต่ไม่ควบคุมจนเกินไป เราอยากสร้างระบบที่มากพอจะฟังก์ชั่น แต่ก็ไม่มากจนเรารู้สึกแข็งกระด้างมากเกินไป”
ประโยคนี้ถูกบรรจุไว้ในสมุดสำหรับพนักงานเข้าใหม่ของ IDEO บริษัทอันเป็นผู้นำด้าน Design Thinking การนำความคิดสร้างสรรค์มาแก้ปัญหาในผลิตภัณฑ์ บริการ และธุรกิจ
อย่าติดกับคำตอบเดิมและคำตอบเดียว เปิดใจให้กว้างต่อประสบการณ์ใหม่
หากมีเวลา ลองหลุดออกมุมมองและกรอบจากวิชาชีพของเรา ออกไปสอดส่องหาประสบการณ์ใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ ซึ่งอาจไม่ได้มีประโยชน์เห็นผลทันใด ส่องงานศิลปะ หางานอดิเรก อ่านในหัวข้อและประเด็นใหม่ๆ สำรวจมุมที่เราเคยไม่สนใจ มีความรู้กว้างๆ สำคัญมากๆ ต่อการเติบโตทางความคิด มุมมอง ชีวิตและอาชีพของเรา
ออกจากมุมซอกความรู้ที่คุ้นเคย ลองสัมผัสสิ่งใหม่ๆ เรียนรู้หัวข้อใหม่ หากไม่เปิดใจรับความหลากหลายและความเป็นไปได้ใหม่ๆ เพราะมนุษย์นั้นเกิดมาเพื่อไม่ให้ทนอยู่กับปัจจุบัน ประเทศที่สร้างสรรค์คือประเทศที่เปิดโอกาสชับเคลื่อนสู่อนาคตข้างหน้าที่ไม่ควรเล่นวนซํ้าประวัติศาสตร์ไม่ไปไหน
หากอยากเห็นความก้าวหน้าของเรา ทีม องค์กร หรือประเทศ อยากให้เกิดสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเมื่อวาน ต้องเกิดสังคมและค่านิยมที่สนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ กล้าให้อิสระให้คนหนุ่มสาวลองคิดและแสดงออก เราต้องหลุดจากวิธีคิดและคำตอบเดิมที่ติดจมอยู่ในอดีตไม่ไปไหน และมองให้กว้างไปออกจากสิ่งที่เราคุ้นเคย กล้าหวังในอนาคตแบบใหม่ๆ ให้สมกับการเกิดมาเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถมองไปข้างหน้าได้ไกลๆ ไม่วนเวียนกับวิธีการและคำตอบแบบเดิมในอดีต
เราควรหลุดจากวิธีคิดและคำตอบเดิมที่ติดจมอยู่ในอดีตไม่ไปไหน และมองให้กว้างไปออกจากสิ่งที่เราคุ้นเคย กล้าหวังในอนาคตแบบใหม่ๆ ให้สมกับการเกิดมาเป็น Homo Prospectus สิ่งมีชีวิตที่สามารถมองไปข้างหน้าได้ไกลๆ ไม่วนเวียนกับวิธีการและคำตอบแบบเดิมในอดีต
อ้างอิงข้องมูลจาก
THE IMAGINATION INSTITUTE
We Aren’t Built to Live in the Moment
Openness/Intellect: The Core of the Creative Personality
scottbarrykaufman.com/Oleynick-et-al.-2017.pdf
Openness to Experience and Intellect Differentially Predict Creative Achievement in the Arts and Sciences
scottbarrykaufman.com/Kaufman-et-al.-2015.pdf
The Genius Checklist: Nine Paradoxical Tips on How You can Become a Creative Genius (The MIT Press) By Dean Keith Simonton
The new geography of personality
THE LITTLE BOOK OF IDEO
Art Foster Scientific Success: Avocations of Nobel, National Academy, Royal Society and Sigma Xi Members
psychologytoday.com/arts-foster-scientific-success.pdf
Creativity and Aging: What We Can Make With What We Have Left by Martin Seligman with Marie Forgeard and Scott Barry Kauf
scottbarrykaufman.com/Seligman-Forgeard-Kaufman-2016.pdf
Illustration by Yanin Jomwong