สมัยที่ยังเรียนมหาวิทยาลัย มีเพื่อนผมคนหนึ่งเป็นผู้ชายนิสัยดี ฉลาด และเวลาอยู่กับเพื่อนมักชอบยิงมุกตลกอยู่เสมอ แต่ทุกครั้งที่เขาไปเดทกับผู้หญิงที่เขาชอบ เขากลับทำตัวไม่ค่อยถูก พูดตะกุกตะกัก ขาดความมั่นใจ ส่วนใหญ่แล้วถ้ามื้อค่ำไม่ผ่านไปด้วยความอึดอัด อีกฝ่ายก็มักจะติดธุระและขอตัวกลับบ้านก่อนเสมอ
แล้ววันหนึ่งเขาก็ไปลอง match.com เว็บไซต์หาคู่ที่ใช้อัลกอริทึมเพื่อเฟ้นหาคนที่ ‘น่าจะ’ เข้ากันได้ดีมาให้เลือก ปรากฎว่าได้ข่าวอีกทีคือเขาแต่งงานกับคนที่ทางระบบแมชท์ให้ตั้งแต่คนแรกเลย เพียงแค่ปีเดียวต่อหลังจากนั้น
จากสถิติในปี ค.ศ.2020 พบว่าตลอด 25 ปีตั้งแต่ Match.com ก่อตั้งมานั้นได้ทำให้คนคบหากันไปแล้วกว่า 520,000 คู่ แต่งงานไปแล้ว 92,000 คู่ และมีเด็กที่ถือกำเนิดจากความสัมพันธ์ที่ถูกแมทช์กว่า 1 ล้านคน เมื่อซูมออกมาดูภาพที่ใหญ่กว่านั้นอีกจะพบว่าตอนนี้ทั่วโลกมีบริการแบบนี้กว่า 8,000 แห่ง มีคนที่ใช้บริการหาคู่ออนไลน์รวมทุกแห่งประมาณ 30 ล้านคน ประมาณ 20% ของความสัมพันธ์แบบจริงจังนั้นเริ่มต้นออนไลน์ ประมาณ 1/3 ของประชากรผู้ใหญ่ในอเมริกานั้นเคยใช้บริการหาคู่ออนไลน์มาแล้ว มูลค่าของตลาดอยู่ที่ราวๆ 1,900 ล้านเหรียญ
เทคโนโลยีมีส่วนกระทบกับชีวิตของมนุษย์หลายต่อหลายด้าน แน่นอนว่านั้นรวมถึงเรื่องของการหาคู่ คนรัก การสร้างความสัมพันธ์ และการเลิกราแยกทางกันด้วย
ข้อดีของบริการหาคู่ออนไลน์อย่างที่เรารู้ก็คือมันช่วยเพิ่มโอกาสในการพบเจอคนใหม่ๆ ได้แทบไม่รู้จบและส่วนใหญ่แล้วอยู่ในกลุ่มที่แตกต่างจากตัวเองพอสมควร ก่อนจะมีบริการแบบนี้กระบวนการหาคู่นั้นมีขอบเขตค่อนข้างจำกัด อาจจะเป็นเพื่อนในมหาวิทยาลัย เพื่อนที่ทำงาน เพื่อนของเพื่อนแนะนำมา คนรู้จักในสังคมที่ตัวเองอยู่ ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ก็ยังเกิดขึ้นอยู่ เพียงแต่วิธีนี้โอกาสในการเจอคนนอกเหนือจากนี้จะน้อยมาก ไม่ได้หมายความว่าว่าการได้พบเจอกลุ่มคนที่คุ้นเคยนั้นเป็นเรื่องแย่ในตัวมันเอง เพียงแต่การได้พบเจอคนที่แตกต่างเป็นการเปิดโอกาสในการเรียนรู้ตัวเองและสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อนด้วย
ยกตัวอย่างข้อมูลล่าสุดจากแอพพลิเคชั่นหาคู่มาแรงอย่าง ทินเดอร์ (Tinder) บ่งบอกบางอย่างที่น่าสนใจไม่น้อย หลังจากที่ทินเดอร์เปิดให้ผู้ใช้งานทั่วโลกสามารถใช้บริการฟีเจอร์ Passport ได้ฟรีเพื่อเสิร์ชโลเคชั่น ปักหมุด พูดคุยกับเพื่อนใหม่และหาคู่แมตช์ได้ทั่วโลก ก็มีผู้ใช้งานทั่วโลกเริ่มเข้ามาใช้งาน รวมถึงกลุ่มคนวัย Gen Z ช่วงอายุ 18-25 ปีของไทยเราด้วย โดยสถิติบ่งบอกว่าประเทศที่ประชากรไทยปักหมุดเพื่อหาเพื่อนใหม่มากที่สุดคือเมืองโซล ประเทศเกาหลีใต้ รองลงมาคือลอนดอน ประเทศอังกฤษ ส่วนประเทศที่อยากมาแมทช์กับคนไทยมากที่สุดมาจากเมืองเดลี ประเทศอินเดีย
ข้อมูลตรงนี้แสดงให้เห็นว่าเราพร้อมที่จะเรียนรู้
และอยากรู้จักเพื่อนใหม่ๆ ในวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป
อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
แต่แน่นอนว่าเทคโนโลยีอันสะดวกสบายก็นำมาซึ่งความซับซ้อนในตัวของมันเอง เมื่อทางเลือกมีมากมายเรียกได้ว่านับไม่ถ้วน สิ่งที่หลายๆ คนต้องเผชิญคือเรื่องของ ‘Paradox of Choice’ ที่ทางเลือกมากไปกลับยิ่งทำให้เรากลายเป็นไม่อยากเลือก หรือพอเลือกแล้วกลับไม่มีความสุขเพราะมัวแต่ไปกังวลว่าถ้าเลื่อนขวาคนต่อไปจะเป็นยังไง ไปงุ่นง่านอยู่กับทางเลือกที่ตัวเองไม่ได้เลือก
พฤติกรรมของเราก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกัน เรื่องความรับผิดชอบหรือเฉยเมยกับคนอื่นก็กลายเป็นเรื่องปกติสำหรับแพลตฟอร์มหาคู่ออนไลน์แบบนี้ด้วย เมื่อไม่มีความผูกพันหรือความรู้สึกที่ลึกลงไปกว่าเพียงแค่ชื่อหรือรูปภาพ การที่จะหายไปเลยดื้อๆ ไม่ตอบสนองจึงไม่ใช่เรื่องที่ทำยากอะไรนัก ต่างจากการคบหาในกลุ่มสังคมที่รู้จักกันสมัยก่อน ที่แม้จะเลิกรากันหรือความสัมพันธ์จบลงแล้วก็อาจจะยังต้องพบเจอกันอยู่ การจบแบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่นแบบเมื่อก่อนจึงดูไม่ค่อยจำเป็นอีกต่อไป
ข้อผูกมัดทางความสัมพันธ์เองก็เลือนลางและหมดความสำคัญลงไปไม่น้อย หลายต่อหลายคนคิดว่าเมื่อสามารถเลือกได้ ทำไมต้องลงหลักปักฐานกับคนแรกหรือคนที่สองที่เจอ เมื่อโอกาสในการพบเจอคนที่ ‘ดีกว่า’ นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่มีเหตุผลที่ต้องรีบด่วนตัดสินใจ การเดทครั้งละหลายๆ คนจึงกลายเป็นเรื่องปกติเพราะถือว่ายังไม่ได้ตกลงปลงใจเป็นแฟนหรือคู่รักกัน ก็ไม่จำเป็นต้องผูกมัดตัวเอง มันอาจจะไม่ได้ผิดอะไร เพียงแต่ติดปัญหาอยู่เล็กน้อยตรงที่ว่าบางความสัมพันธ์อาจจะถูกตัดรอนโอกาสเร็วจนเกินไป ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะด่วนสรุปเพราะพร้อมจะเปลี่ยนไปหาคนใหม่ได้ทันที ทั้งที่ยังไม่มีโอกาสได้รู้จักกันจริงๆ ซะด้วยซ้ำ (แต่เรื่องนี้ก็ต้องดูเป้าหมายของการมาใช้แพลตฟอร์มอีกทีด้วย) ยังไม่รวมถึงเรื่องของการปลอมแปลงบัญชีและการหลอกลวงต่างๆ โดยการใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้ที่มีโอกาสเกิดขึ้นตามมาด้วย (ตัวเลขในปี ค.ศ.2019 บอกว่าชาวอเมริกันถูกหลอกเพื่อเอาเงินจาก Romace Scams แบบนี้กว่า 201 ล้านเหรียญ)
แต่ทุกความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อมีพบเจอ รักกัน ก็มีโอกาสเลิกลากันได้เช่นเดียวกัน ในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยข้อมูล เมื่อแยกทางกันไปแล้ว ข้อมูลเก่าจำนวนมหาศาลในช่วงเวลาที่ยังอยู่ด้วยกันของเรากับคู่รักเก่าบนอินเตอร์เน็ต มีโอกาสตามมาหลอกหลอนได้อยู่ในอนาคต ยกตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นจริงของ Lauren Goode คอลัมนิสต์บนเว็บไซต์ wired.com ที่เล่าเอาไว้ เธอบอกว่าบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลายในตอนนี้สามารถที่จะแนะนำคอนเทนต์แบบเจาะจงมาให้เราได้จากพฤติกรรมต่างๆ ที่เราทำ แต่กลับไม่ค่อยเก่งเรื่องของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิต สิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอก็คือหลังจากที่คบหากับแฟนเก่ามาได้หลายปี ก็ตัดสินใจหมั้นหมายกันและกำลังเตรียมตัวจัดงานแต่งงาน แต่ด้วยสาเหตุบางอย่าง สุดท้ายงานแต่งงานก็ไม่ได้เกิดขึ้น แต่ Google Photos ยังแสดงภาพเก่าๆ ของวันนี้เมื่อสามปีก่อนของแฟนเก่าขึ้นมาทั้งๆ ที่ไม่ได้อยากเห็น หรืออย่าง Pinterest ก็อาจจะแสดงรูปเกี่ยวกับงานแต่งที่ไปค้นหาไว้เป็นเวลาหลายเดือน
อัลกอริทึมเหล่านี้ก็ยังไม่ได้ฉลาดมากพอที่จะรู้ว่า
ความทรงจำอันไหนสวยงามหรือเจ็บปวด
ความพยายามที่จะลบรูปหรือบอกบริษัทเทคโนโลยีเหล่านั้นเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ก็มักจะใช้เวลานานหรือบางทีก็ไม่เป็นผลอย่างที่ต้องการเลย แม้ว่าบางที่จะสามารถระบุได้ว่าไม่อยากเห็นภาพของช่วงเวลาไหน Lauren ก็บอกว่ามันก็พอจะใช้งานได้บ้าง แต่บางสถานการณ์มันก็ซับซ้อนไปกว่านั้น เธอคบหากับคนรักเก่าเป็นเวลาหลายปี ช่วงเวลานั้นก็มีภาพถ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับแฟน อย่างครอบครัวหรือเพื่อนที่เธอก็ยังอยากเห็นอยู่ เพราะมันเป็นความทรงจำที่ดี หรือแม้แต่ตอนที่เธอไปลองชุดแต่งงานกับแม่ ก็เป็นช่วงเวลาที่มีความหมายต่อเธอเอง แม้ว่าจะไม่มีโอกาสได้ใส่ชุดนั้นจริงๆก็ตาม
ประเด็นหนึ่งที่น่าติดตามต่อไปเกี่ยวกับบริการหาคู่ออนไลน์ก็คือเรื่องของผลกระทบจาก COVID-19 และสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ สิ่งที่เราอาจจะคิดก็คือว่าโรคระบาดทำให้เราต้องเว้นระยะห่างเพื่อความปลอดภัยแบบนี้คงสร้างปัญหาให้ธุรกิจหาคู่ออนไลน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันกลับไม่เป็นแบบนั้นซะทีเดียว เพราะก่อนหน้า COVID-19 ระบาด ยอดดาวน์โหลดของแอพพลิเคชั่นหาคู่ออนไลน์นั้นกำลังหดตัวลงอย่างมีนัยสำคัญทั่วโลก แต่ภายหลังบริษัทใหญ่ๆ อย่าง eHarmony, Match.com หรือ Bumble ต่างรายงานว่าลูกค้าของพวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับแอพพลิเคชั่นสูงมากขึ้นตลอดช่วงการระบาดเมื่อปีก่อน โดย Arielle Pardes หนึ่งในคอลัมนิสต์ของ wired.com อธิบายว่า
“ฉันคิดว่าในช่วงเวลาที่คนรู้สึกโดดเดี่ยว ช่วงเวลาที่เรารู้สึกถูกตัดขาดจากภายนอก บริการเหล่านี้เป็นหนทางที่จะสร้างการเชื่อมต่อ ไม่ว่ามันจะจริงหรือไม่จริง และจะกลายเป็นความสัมพันธ์หรือไม่ก็ตาม”
เราเห็นบริการหาคู่ออนไลน์ขนาดเล็กและขนาดกลางเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงเวลายากลำบากและโรคระบาดได้จำกัดพื้นที่ให้เราต้องอยู่กับบ้านซะเป็นส่วนใหญ่ บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้พยายามเปิดบริการใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องของผู้ใช้งานอย่าง video dating หรือ การออกเดทผ่านหน้าจอ โดยผลตอบรับที่ออกมาก็ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ คนอยากหาเพื่อนคุย เพื่อนใหม่ อยากออกเดินทางไปเห็นที่ใหม่ๆ (อย่าง Tinder Passport) ก็สามารถใช้บริการแบบนี้ได้เช่นเดียวกัน แถมไม่พอ การเดตเสมือนผ่านวีดีโอแบบนี้นอกจากจะลดความเสี่ยงเรื่องของโรคระบาดแล้ว ยังเพิ่มความมั่นใจให้ด้วยว่าคนที่เราคุยด้วยนั้นมีเคมีที่ตรงกัน มีเรื่องคุยกัน ลดความขัดเขินมากกว่าการพบกันซึ่งๆ หน้า และโปรไฟล์ที่เขียนนั้นตรงกับตัวจริง แถมยังประหยัดเงินจากการเดินทางต่างๆ ได้อีกด้วย
จริงอยู่ว่าสุดท้ายแล้วการสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนต้องอาศัยการสัมผัสและอยู่ด้วยกัน เราอยากให้คนที่เรารักอยู่ใกล้ๆ อยากสวมกอด อยากจับมือ อยากมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งไม่ใช่แค่การพูดคุยกันผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟน Helen Fisher นักมานุษยวิทยาชีวภาพที่ทุ่มเทชีวิตกว่า 20 ปีเพื่อศึกษาภาพถ่ายแสกนสมองของคนที่มีความรักบอกว่าเราสามารถที่จะตกหลุมรักหรือรู้สึกรักแม้จะไม่ได้สัมผัสร่างกายกันได้ก็จริง เพียงแต่ว่าการเดทแบบเสมือนนั้นไม่ได้สามารถสร้าง Oxytocin หรือที่เรียกกันอีกอย่างว่า ‘Love Hormone’ ที่ถูกกระตุ้นให้ผลิตจากการสัมผัส และเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสายสัมพันธ์และความผูกพันกับมนุษย์คนอื่นๆด้วย
เมื่อสถานการณ์ของ COVID-19 คลี่คลายลง เชื่อว่าคนจะกลับมาเดตกันแบบเจอตัวต่อตัวมากขึ้น แต่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากที่เมื่อก่อน การเดตโดยใช้วีดีโอจะกลายเป็นขั้นตอนมาตรฐานก่อนจะเจอตัวกัน “วิดีโอคอลกันไหม” มันสะดวกสบายและลดความเสี่ยงหลายๆ อย่างมากกว่า “คืนนี้เจอกันสองทุ่ม” เป็นอย่างมาก
การมาเจอกันจริงๆ ทุกคนก็ยังจะระมัดระวังตัวกันอยู่ การสอมกอดหรือจับมืออาจจะกลายเป็นสิ่งที่หายไป คนจะระแวงกันมากขึ้น คิดเยอะมากขึ้นในการเจอใครแต่ละครั้ง อาจจะมีฟีเจอร์ใหม่บนแอพพลิเคชั่นที่แสดงให้เห็นว่าคนไหนที่ได้รับวัคซีนแล้วบ้าง ก็คงช่วยให้อุ่นใจได้ไม่น้อย
เทคโนโลยีอาจจะทำให้การ ‘คบหา’ และ ‘เลิกรา’ เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ความรักในโลกของข้อมูลและทางเลือกที่ไม่รู้จบอาจจะมีทั้งด้านที่ดีและไม่ดี การแต่งงานกลายเป็นเหมือนเป้าหมายปลายทาง จากที่เมื่อก่อนมันคือการเริ่มต้นของชีวิตคู่ แต่เราผู้เป็นมนุษย์ก็ยังต้องการสิ่งที่เรียกว่า ‘ความรัก’ อยู่ดี แม้ว่าโลกนี้จะเปลี่ยนไปยังไงก็ตาม
อ้างอิงข้อมูลจาก