ผู้นำที่ประกาศตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์สร้างและรักษาอำนาจตนไว้ได้อย่างไร?
ถ้าทั้งสังคมมีสมาชิกอยู่เพียงสองสามคนก็คงเข้าใจได้ไม่ยาก หากมีกันแค่นั้นคนที่ได้เป็นลูกพี่และรักษาสถานะไว้ได้เรื่อยๆ คงเป็นคนที่ตัวใหญ่กว่า ฉลาดกว่า หรือไม่ก็เป็นคนที่หาปืนมาถือไว้ได้
แต่สังคมสมัยใหม่มีคนเป็นล้าน ตัวผู้นำเองก็ไม่ได้แบกอาวุธหรือมีอำนาจทางความรู้ความเชี่ยวชาญอะไรเท่ากับลูกสมุนหรือประชาชนรวมกัน ถึงต่อให้ต่อยกันแบบมือเปล่าตัวต่อตัว ดูรูปร่างแล้วท่านคิมก็อาจแพ้คนจำนวนมากเสียด้วยซ้ำ แล้วท่านสั่งการคนเป็นล้านให้เชื่อฟังได้อย่างไร?
บางคนอาจบอกว่า เพราะท่านผู้นำสั่งลูกน้องที่มีปืนหรือลูกสมุนนักกฎหมายมาจัดการกับคนที่ไม่เชื่อฟังได้ แต่นั่นก็ยังพาให้เราทวนคำถามซ้ำอยู่ดี ว่าแล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้เหล่าลูกสมุนเชื่อฟังเจ้านาย
พี่ตูน บอดี้สแลม เคยใบ้ไว้นานแล้วว่าคำตอบของความสำเร็จใดๆ อาจอยู่ที่ ‘ความเชื่อ’
การปกครองเองก็เช่นกัน แม้ปืน หรืออำนาจรูปธรรมต่างๆ จะสำคัญ แต่ในสังคมสมัยใหม่ที่มีขนาดใหญ่ อำนาจเหล่านี้ได้กระจายไปอยู่ในมือคนกลุ่มต่างๆ สุดท้ายแล้วความเชื่อต่างหาก ที่ร้อยรัดให้อำนาจทั้งหมดเข้าสู่สายบังคับบัญชา
ถ้าไม่เชื่อลองสมมติดูนะครับ ถ้าพรุ่งนี้ทุกคนตื่นมาแล้วเกิดลืมว่าใครเป็นผู้นำ ความเชื่อในหัวหายไปแบบนี้ ต่อให้ท่านผู้นำพูดยืนยันสถานะตัวเองไปมันก็เท่านั้น อย่างมากที่สุดก็ได้แค่ถืออำนาจดิบอย่างเงิน ปืน หรือกำปั้นเข้าไปบอกให้ใครๆ เชื่อฟังตน แต่อย่าลืมว่าคนอื่นก็มีอำนาจดิบแบบนี้เหมือนกันคงไม่มีทางยอมง่ายๆ เต็มที่ก็คงได้แค่ตั้งแก๊งเล็กๆ กู้อำนาจกลับมาได้ระดับหนึ่ง แต่จะให้ปกครองทั้งประเทศเหมือนเดิมนั้นคงยาก
ที่ท่านเป็นผู้นำอยู่เพราะคนเชื่อว่าท่านเป็น
แล้วความเชื่อที่ว่านี้มีเนื้อหาอย่างไร? ความเชื่ออาจแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ แบบเชิงบวก คือความเชื่อที่ว่าท่านผู้นำมีความชอบธรรม เช่นเป็นคนดีมีผลงานหรืออย่างน้อยก็ดีกว่าผู้นำคนก่อน หรือไม่ก็ได้รับมอบหมายหน้าที่จากฟ้าเบื้องบนอะไรก็ว่าไป
แต่ในสังคมสมัยใหม่ ท่านผู้นำไม่สามารถทำให้ทุกคนเชื่อในความชอบธรรมของตัวเองได้ และนั่นก็นำมาสู่การใช้และเนื้อหาความเชื่ออีกแบบหนึ่ง คือท่านผู้นำไม่จำเป็นต้องทำให้ทุกคนเชื่อในความชอบธรรมของตัวเอง แต่ต้องทำให้คนที่ไม่เชื่อ นั้นเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ยังคงเชื่อท่านอยู่ก็พอแล้ว! เช่นทุกคนอาจเกลียดท่านผู้นำ แต่ไม่มีใครรู้และยังคงเชื่อว่าทุกคนยังรักท่านอยู่
เทคนิคการใช้ความเชื่อแบบนี้แยบยลและช่วยอธิบายว่าผู้นำรักษาอำนาจของตนไว้ได้อย่างไร ถึงแม้คนส่วนใหญ่จะเกลียดชัง แต่ขอเพียงแค่ไม่มีใครรู้และเชื่อไปในทางตรงกันข้ามก็พอแล้ว เพราะนั่นแปลว่าจะไม่มีใครกล้าออกมาทำอะไร เนื่องจากเห็นว่าออกไปก็ไม่สำเร็จเพราะคนส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย หรือแย่กว่าคืออาจถูกรุมกระทืบด้วยซ้ำ
รัฏฐาธิปัตย์
เงื่อนไขสำคัญของการสร้างความเชื่อดังกล่าวคือการควบคุมข่าวสาร เพื่อเสนอภาพความนิยมของตน เช่นควบคุมผลโพล รวมถึงกดปราบไม่ให้มีการรวมกลุ่มหรือนัดเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะหากคนทยอยออกมากันเยอะก็จะรู้ว่าตัวเองมีแนวร่วมอยู่มาก
นี่คือเหตุผลที่ผู้นำเผด็จการจำนวนมาก เช่นฮิตเลอร์ หรือสตาลิน มีนิสัยคล้ายๆ กัน คือไม่นิยมจัดการประชุมที่เอาคนมีอำนาจในระบอบทั้งหมดมานั่งกองรวมกัน เพื่อป้องกันไม่ให้คนเหล่านี้ได้เจอและแลกเปลี่ยนความเห็น เพราะนั่นอาจทำให้แต่ละคนรู้ว่าคนส่วนใหญ่อยากโค่นท่านผู้นำแล้วไปนัดแนะวางแผนกันขึ้นมา
การเล่นกับความเชื่อนี้จะว่าง่ายก็ง่าย เพราะต่อให้คนส่วนใหญ่ไม่มีความเชื่อมั่นในตัวท่านผู้นำแล้ว ท่านก็ยังสร้างให้ดูราวกับมันมีได้ แต่จะว่ายากก็ยาก เพราะความเชื่อนั้นมีลักษณะเหมือนความรัก เหมือนกับที่พี่ตูนชี้ไว้แล้วว่า ‘มันช่างเปราะบางเหลือเกิน’ หากข้อเท็จจริงที่คนเจอในชีวิตประจำวันมันขัดกับที่ท่านผู้นำสร้างภาพไว้แบบสุดๆ เช่นเดินไปตามตลาดจังหวัดไหนก็มีแต่คนด่าท่านผู้นำ จัดม็อบมาเดินสนับสนุนตนเท่าไหร่ก็ทำให้เชื่อไม่ได้ว่าคนส่วนใหญ่ยังรักท่านผู้นำอยู่
แต่บางครั้งความเชื่อก็อาจล่มสลายได้ด้วยอุบัติเหตุทางประวัติศาสตร์เล็กๆ น้อยๆ ที่คาดไม่ถึงและป้องกันไม่ได้
เมื่อก่อนแม้ชาวเยอรมันตะวันออกในพื้นที่การยึดครองของโซเวียตจะเกลียดรัฐบาลแค่ไหน ก็ไม่กล้าออกมาต่อต้านเพราะไม่เห็นวี่แววว่าคนจะออกมาร่วม แต่วันดีคืนดีคนเป็นแสนก็ออกมารวมตัวกันบนท้องถนนแบบงงๆ เพราะรัฐบาลสื่อสารผิดพลาด เมื่อได้คุยกันจึงเพิ่งรู้ว่าไม่มีใครเอาระบอบคอมมิวนิสต์แล้ว กำแพงเบอร์ลินจึงพังทลายในชั่วข้ามคืนซะอย่างนั้น ในอดีตไทยเองก็มีกรณีซ่อนสัตว์ป่าในเฮลิคอปเตอร์แล้วความแตกเพราะเครื่องตก จนกลายเป็นชนวนให้ล้มรัฐบาลในเวลาต่อมา
และที่เจ็บแสบที่สุด คือฝ่ายต่อต้านเองก็สามารถใช้วิธีการสร้างความเชื่อแบบเดียวกันมาย้อนศรท่านผู้นำได้เช่นกัน กล่าวคือต่อให้ยังมีคนเชื่อในความชอบธรรมของท่านผู้นำอยู่เป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าฝ่ายต่อต้านสามารถทำให้แต่ละคนเชื่อได้ว่าคนส่วนใหญ่ไม่เชื่อในอำนาจของท่านผู้นำอีกต่อไปแล้ว ฝ่ายที่ยังรักท่านก็อาจไม่กล้าออกมาปกป้อง เพราะเข้าใจว่าถ้าออกมาจะโดนคนส่วนใหญ่ที่เกลียดท่านผู้นำ (ที่ไม่มีจริง) กระทืบเอา
การปฏิวัติรัฐประหารจำนวนมากในอดีตก็เกิดขึ้นในลักษณะนี้ คือคนส่วนน้อยยึดอำนาจได้เพราะทำให้คนเชื่อว่าฝ่ายตนเป็นคนส่วนใหญ่ รัฐบาลที่ถูกโค่นจำนวนมากยอมแพ้หรือหนีไปทั้งที่ฝ่ายตนมีกำลังมากกว่า
เมื่ออำนาจตั้งอยู่บนความเชื่อและเปราะบางเช่นนี้ สังคมเสรีประชาธิปไตยสมัยใหม่จึงแก้ปัญหาด้วยการให้คนเชื่อในสถาบันหรือกฎเกณฑ์บางอย่างแทนตัวบุคคล ซึ่งกฎเกณฑ์เหล่านี้มักสร้างช่องทางให้คนสามารถตรวจสอบ ถ่วงดุล หรือต่อต้านรัฐบาลได้อย่างสันติ พอเป็นเช่นนี้ ต่อให้ความเชื่อถือในตัวผู้นำเสื่อม ระบอบก็ยังรองรับความเชื่อมั่นให้คนว่านอกจากการปฏิวัติยึดอำนาจ ยังมีทางเปลี่ยนผ่านอำนาจด้วยวิธีอื่นๆ แต่ระบอบที่วางอำนาจไว้กับตัวบุคคลจะไม่สามารถทำอะไรเช่นนี้ได้ และนี่คือเหตุผลที่ผู้ประกาศตัวเป็นรัฎฐาธิปัตย์มักอยู่ไม่รอดในระยะยาว
Illustration by Waragorn Keeranan