แน่นอน ปัญหาเรื่อง ‘ป่าแหว่ง’ ที่เกิดขึ้นเชิงดอยสุเทพ เริ่มจากการเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม
แต่คำถามที่ผมไม่ค่อยเห็นใครพูดถึงนักก็คือ – นี่เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียวหรือเปล่า
ว่ากันว่า ‘ม็อบป่าแหว่ง’ หรือผู้คนที่ไปชุมนุมคัดค้านการสร้างบ้านพักป่าแหว่งที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อปลายเดือนเมษายน 2561 ที่ผ่านมา เป็นม็อบที่สามารถรวมผู้คนได้มากที่สุดนับตั้งแต่รัฐบาลทหารปกครองประเทศเป็นต้นมา แถมยังมีคนของรัฐบาลออกมาบอกด้วยว่า ม็อบคราวนี้ไม่บานปลายแน่ๆ เพราะไม่ได้มี ‘มือที่สาม’ ที่เป็น ‘ฝ่ายการเมือง’ ใดๆ เข้ามาแทรกแซงให้เกิดความวุ่นวาย (ดูข่าวได้ที่นี่ www.matichon.co.th) หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือถือเป็นพลังบริสุทธิ์ของประชาชนทั่วไปจริงๆ
เป็นไปได้ไหมว่า – ที่รัฐบาลทหาร ‘ยอม’ ให้มีการชุมนุม (ทั้งที่การชุมนุมอื่นๆ ที่เล็กกว่านี้มากมายหลายครั้งถูกระงับและบางคราวก็ถึงขั้นถูกจับกุม) ก็เพราะเราเห็นว่าปัญหานี้เป็น ‘แค่’ ปัญหาเรื่องการรุกล้ำพื้นที่ที่ ‘ดูเหมือน’ เป็นป่าเท่านั้นหรือเปล่า แต่ถ้ามีการรื้อทิ้งเมื่อไหร่ เรื่องก็อาจจบลงได้โดยง่าย
ในเวลาเดียวกัน อีกฝ่ายหนึ่งพยายามชี้ให้เห็นว่า พื้นที่ที่มีการก่อสร้างบ้านป่าแหว่งนั้น ไม่ถือเป็น ‘ป่าตามกฎหมาย’ เพราะมีการประกาศเป็นที่ราชพัสดุมานานแล้ว แต่ถ้าดูด้วยตา และดูจากชื่อแคมเปญรณรงค์ ‘ร่วมใจทวงคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ’ เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่าพื้นที่ตรงนี้ซึ่งต่อเนื่องกับอุทยานแห่งชาติ – มีลักษณะเป็น ‘ป่า’ ผืนใหญ่อย่างชัดเจน
ดังนั้น คำถามหนึ่งที่ผุดขึ้นก็คือ กฎหมายและผู้ที่คิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของกฎหมายใช้สายตาแบบไหนมองพื้นที่นี้หรือ ถึงไร้ความสามารถที่จะเห็น ‘ความเป็นป่า’ ของพื้นที่ได้ และหันไปยึดถ้อยคำในกฎหมายเป็นแก่นแกนในการตัดสินใจแทนภาพที่เห็นด้วยตา
ผมคิดว่าคำถามนี้สำคัญและจะนำเราไปสู่มิติของปัญหาอีกเรื่องหนึ่งซึ่งสำคัญไม่แพ้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะในอีกด้านหนึ่ง ปัญหานี้สะท้อนให้เราเห็นถึง ‘ปัญหาเชิงโครงสร้าง’ อย่างหนึ่ง นั่นคือ ‘โครงสร้างความสัมพันธ์’ ระหว่างคนที่ถูกเรียกว่าเป็น ‘ข้าราชการ’ กับคนอีกประเภทหนึ่งที่ถูกเรียกว่าเป็น ‘ประชาชน’
ลำพังข้าราชการเฉยๆ เวลาใส่เครื่องแบบ มีขีดมีบั้งมีเหรียญตราโน่นนั่นนี่ประดับอยู่ตามเนื้อตัว ก็ทรงไว้ซึ่ง ‘อำนาจ’ บางอย่างมากมายอยู่แล้ว ชาวบ้านตาสีตาสาคุ้นเคยกันดีมาเป็นสิบๆ ปี (ถ้าไม่ใช่เป็นร้อยปี) ต่อการต้องไป ‘ติดต่อราชการ’ อย่างระย่อขามเกรงบนอำเภอหรือที่ต่างๆ (เพิ่งมาไม่กี่ปีมานี้เอง ที่สภาพของการติดต่อราชการในเริ่มดีขึ้น) แล้วถ้าไม่ใช่แค่ข้าราชการธรรมดาๆ แต่เป็นข้าราชการตุลาการที่ถือไว้ซึ่งอำนาจในการพิพากษาตัดสินเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตของคนทั่วไปด้วยแล้ว ก็เชื่อแน่ว่าหลายคนน่าจะรู้สึกหวาดหวั่นขามเกรงใน ‘อำนาจ’ มากกว่าข้าราชการทั่วไปด้วยซ้ำ
ในภาวะปกติ เราอาจมองไม่ค่อยเห็น ‘โครงสร้างความสัมพันธ์’ ระหว่างคนที่เป็น ‘ข้าราชการ’ ผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจและเป็นผู้ ‘ใช้’ อำนาจรัฐในด้านต่างๆ ชัดเจนนัก อาจเพราะเราคิดว่าข้าราชการยุคใหม่ไม่เหมือนเดิมแล้ว แต่พอเกิดเหตุการณ์เรื่อง ‘บ้านป่าแหว่ง’ ขึ้น สารภาพตามตรงว่ามันทำให้ผมต้องย้อนกลับมามองโครงสร้างความสัมพันธ์นี้อีกครั้ง
ปัญหาของ ‘บ้านป่าแหว่ง’ ไม่ใช่แค่ว่า พื้นที่ปลูกบ้านตรงนั้นเป็น ‘ป่า’ หรือ ‘ไม่เป็นป่า’ เท่านั้น แต่นอกเหนือจากมิติสิ่งแวดล้อมแล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่ผมคิดว่าใหญ่โตพอกัน และควรได้รับการพูดถึงเสียที – ก็คือ, พวกเราประชาชนชาวไทย มีความจำเป็นอะไรถึงต้อง ‘เจียด’ ภาษีของเรา เพื่อไปสร้างบ้านที่มีมูลค่าหลังละหลายล้านบาท ให้คนที่มีเงินเดือนสูงๆ อยู่อาศัย
คำถามก็คือ – ข้าราชการตุลาการมีเงินเดือนสูงแค่ไหน?
ถ้าไปดูเงินเดือนของอัยการ (ซึ่งเข้าใจว่ามีเงินเดือนน้อยกว่าผู้พิพากษา) ในพระราชกฤษฎีกาการปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการอัยการ พ.ศ.2554 (ดูได้ที่นี่ www.ago.go.th) เราจะพบว่าข้าราชการอัยการในตอนเริ่มต้น (คือขั้น 1) มีเงินเดือนน้อยก็จริงอยู่ คือที่ 17,560 แต่พอขึ้นไปถึงขั้นที่ 2 ขึ้นไปแล้ว จะมี ‘เงินประจำตำแหน่ง’ ให้ด้วย ในลิงก์ที่ให้ไว้นี้ ถ้าคลิกเข้าไปดูจะพบว่ารายได้ไม่น้อยเลยนะครับ ยิ่งถ้าอยู่ที่ขั้นที่ 3 เมื่อนำเงินเดือนรวมกับเงินประจำตำแหน่งแล้ว จะมีรายได้ตั้งแต่กว่า 55,000 บาท ไปจนถึงกว่า 95,000 บาท คือเฉียดๆ แสนบาทเลยทีเดียว
ถ้าให้ทันสมัยกว่านี้อีก ต้องไปดูรายงานของ Thaipublica (ดูได้ที่นี่ thaipublica.org) เมื่อปี 2557 ซึ่ง คสช. ยุคที่มี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ได้ขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการชั้นผู้น้อย และจ่ายเงินอุดหนุนชาวนานกว่า 3.2 แสนล้านบาท โดยในรายงานนี้ได้ระบุเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของคนที่ทำงานในศาลต่างๆ เอาไว้ด้วย ทำให้เราได้เห็นว่าโครงสร้างเงินเดือนของศาลรัฐธรรมนูญ, ศาลยุติธรรม, ศาลปกครอง และสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นอย่างไร น่าเสียดายที่ตัวเลขในรายงานนี้ของศาลยุติธรรมไม่สมบูรณ์เท่าไหร่ เลยต้องไปพึ่งบทความของคุณ ‘ใบตองแห้ง’ (ที่หลายคนอาจจะมองว่าเป็นฝั่งตรงข้ามรัฐบาล – ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่านะครับ, แต่อย่างน้อยที่สุด ก็เป็นข้อมูลที่ทำให้เราเห็นภาพส่วนที่หายไปได้ดี) ที่ให้ข้อมูลเอาไว้ละเอียดกว่า
คุณใบตองแห้งบอกไว้ในบทความเก่าปี 2555 (ดูบทความได้ที่นี่ prachatai.com) ถึงเงินเดือนของข้าราชการตุลากรทั้งหลาย เราจะพบว่า แม้เป็นเงินเดือนใน พ.ศ. 2555 แต่หากนำมาเทียบกับปัจจุบันก็ยังต้องถือว่าข้าราชการสาย ‘นิติศาสตร์’ นี่มีเงินเดือนค่อนข้างสูงทีเดียว ทั้งเงินเดือนผู้พิพากษา เงินเดือนอัยการ เงินเดือนศาลประเภทอื่นๆ รวมไปถึงนักกฎหมายกฤษฎีกาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอด้วย
นอกจากตัวเลขเงินเดือนแล้ว บทความนี้ยังเล่าเกร็ดให้เราฟังด้วย ว่าการขึ้นเงินเดือนข้าราชการตุลาการ (หรือเรียกเป็นภาษาบ้านๆ ว่า ‘เงินเดือนศาล’) มีการขึ้นช่วงไหนบ้าง โดยเฉพาะการปรับเงินเดือนครั้งใหญ่ในปี 2538 ยุคที่คุณชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้เราเห็น ‘ประวัติศาสตร์การขึ้นเงินเดือน’ และการเปรียบเทียบเงินเดือนในหมู่ข้าราชการตุลาการที่แตกต่างกันได้ชัดเจนมาก
สามแหล่งข้างต้นนี้แม้จะต่าง พ.ศ. และตัวเลขต่างกันไปบ้าง แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือ เราจะเห็นได้ว่า – รายได้ของข้าราชการตุลาการนั้น ‘สูง’ เอาการทีเดียว
ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดคำถามถึง ‘บ้านป่าแหว่ง’ ขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้ – ในฐานะผู้เสียภาษี, ว่าอะไรหรือคือเหตุผลที่ประชาชนผู้รับภาระภาษีทั้งหลายแหล่ (รวมไปถึงคนที่จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มที่เป็นคนหาเช้ากินค่ำด้วยนะครับ) จึงต้อง ‘เจียด’ ภาษีของตัวเอง ไปมอบให้ข้าราชการที่มีรายได้สูงอยู่แล้ว – ในรูปของ ‘สวัสดิการที่อยู่อาศัย’ หรือ ‘บ้านพัก’ ที่มีราคาสูงขนาดนั้น
พูดแบบบ้านๆ ก็คือ เงินเดือนเยอะอยู่แล้ว แต่ยังได้อยู่บ้านฟรีอีกต่างหาก แถมบ้านฟรีเฉยๆ ไม่พอ ยังเป็นบ้านฟรีที่อยู่ในพื้นที่ที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่ วิวสวยสุดใจขาดดิ้น และมีลักษณะเป็น ‘ป่าเต็งรัง’ ที่เชื่อมกับป่าผืนใหญ่อย่างชัดเจนอีกด้ว
อย่างไรก็ตาม หลายคนออกมาอธิบายว่า อาชีพข้าราชการตุลาการเป็นอาชีพที่เหนื่อยมาก ต้อง ‘เป๊ะ’ กับข้อกฎหมายต่างๆ ต้องร่ำเรียนมาหนักหนาสาหัส บางคนบอกว่าการเป็นผู้พิพากษานี่ ห้ามไปทำอาชีพเสริมต่างๆ เด็ดขาด จะไปเปิดบริษัทส่วนตัวทำโน่นนั่นนี่ไม่ได้ เพราะอาจเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน แม้แต่ญาติสนิทอย่างสามีภรรยาหรือลูก ก็ไปทำอาชีพที่ขัดต่อจรรยาตุลาการไม่ได้ด้วย ดังนั้นข้าราชการเหล่านี้จึงมี ‘ช่องทาง’ รายได้น้อยกว่าคนทั่วไป เงินเดือนและสวัสดิการที่ได้แค่นี้ จึงอาจยังถือว่าน้อยไปด้วยซ้ำ
ถ้าย้อนกลับไปดู ‘ประวัติเงินเดือน’ ของข้าราชการตุลาการ เราจะพบว่าแนวคิดให้เงินเดือนข้าราชการตุลาการสูงกว่าข้าราชการอื่นๆ นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่นะครับ เพราะ ‘พระบิดาแห่งกฎหมายไทย’ คือพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ท่านได้เคยรายงานไว้ในรายงานข้าหลวงพิเศษจัดการศาลยุติธรรมในหัวเมือง ร.ศ.119 ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ร.ศ.120 ว่า
อีกประการหนึ่งซึ่งจะทำให้ราชการตุลาการคงดีไว้นั้น ต้องระฤกถึงเงินเดือนที่จะได้ ราชการตุลาการไม่เหมือนกับธุรการธรรมดา เพราะตามธรรมดาผู้ใดที่มีสติแล้ว ก็มีหน้าที่ได้แต่ยังหนุ่มยังเด็ก ในส่วนตุลาการต้องการความรู้พิเศษหรือที่อังกฤษเรียกว่าเต๊กนิเกล ความรู้นี้ต้องศึกษาถึง 3 ปี เปนอย่างน้อย และมีทั้งที่ที่จะไม่สำเร็จมากกว่าที่จะสำเร็จในสมัยปัตยุบันนี้ คนเช่นนี้ได้รับราชการทีหลังราชการอื่นๆ ที่ไม่ต้องการความรู้พิเศษ เปนที่เสียเปรียบในชั้นต้นและยังเสียเปรียบอีกต่อไปด้วยว่า ตำแหน่งที่จะเลื่อนชั้นนั้นมีน้อย คือจะต้องเลื่อนชั้นจากผู้พิพากษาธรรมดาเปนอธิบดี ผู้พิพากษาศาลมณฑลก็มีอยู่แค่ 11, 12 มณฑล เท่านั้นเอง จะเลื่อนจากมณฑลมายังสนามสถิตย์ยุติธรรม ฤาศาลมณฑลก็มีอยู่ 4 ศาล คือ ศาลพระราชอาญา ศาลแพ่ง ศาลอุทธรณ์ และข้าหลวงพิเศษ เพื่อจะลบล้างการเสียเปรียบเช่นนี้ ก็จำเปนที่จะต้องให้เงินเดือนสูงไว้(จากหนังสือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย เรียบเรียงโดย นิกร ทัสสโร หน้า 148-14)
จะเห็นได้ชัดเจนนะครับ ว่าพระบิดาแห่งกฎหมายไทยได้ทรงธำรง ‘หลักการ’ อย่างหนึ่งเอาไว้เหนียวแน่น นั่นก็คือหลักการแห่ง ‘ความยุติธรรม’ เพราะพระองค์ทรงเห็นว่า ข้าราชการตุลาการนั้นเปนที่เสียเปรียบในชั้นต้นและยังเสียเปรียบอีกต่อไปเมื่อเป็นดังนั้น ใครที่ไหนจะอยากมาเป็นข้าราชการตุลาการกันล่ะครับ เพราะอยู่ในสภาพที่ ‘เสียเปรียบ’ ข้าราชการอื่นๆ ในสังคม ดังนั้น เพื่อลดความได้เปรียบเสียเปรียบซึ่งเท่ากับความเหลื่อมล้ำไม่เสมอภาค เราก็ต้องสร้าง ‘เครื่องมือ’ หรือ ‘กลไก’ ที่จะลดความเสียเปรียบนั้นลง เพื่อ ‘เกลี่ย’ ให้คนที่อยู่ร่วมกันในโครงสร้างสังคมเดียวกัน (ในที่นี้ก็คือโครงสร้างของสังคมข้าราชการ) ไม่ได้ได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันมากเกินไป พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การทำให้ข้าราชการตุลาการ มีเงินเดือนสูงไว้ไม่ใช่เป็นการ ‘ยก’ ข้าราชการตุลาการให้สูงส่งเลอเลิศเหนือข้าราชการ (หรือประชาชน) อื่น แต่เกิดขึ้นเนื่องจาก ‘เหตุ’ เบื้องต้น ที่ข้าราชการตุลาการอยู่ในตำแหน่งแห่งหนที่ ‘เสียเปรียบ’ มาก่อน
นี่คือหลักการของ ‘ความยุติธรรม’ โดยแท้!
อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกดำเนินมาถึงปัจจุบัน ก็เกิดคำถามใหม่ๆ ขึ้นมากมายหลายข้อ เช่น
1. คำถามก็คือ – ถ้าทอดตามองดูโลกในยุคปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะดูจาก ‘โครงสร้างรายได้’ ที่หยิบยกมาให้ดูก่อนหน้านี้ คุณคิดว่าข้าราชการตุลาการยังตกอยู่ในฐานะที่ ‘เสียเปรียบ’ ข้าราชการหรือประชาชนอื่นๆ อยู่หรือเปล่า
2. คำถามก็คือ – ‘สวัสดิการ’ ในรูปของบ้านป่าแหว่งราคาหลังละหลายล้านบาทนั่น สร้างไว้ให้ข้าราชการตุลาการชั้นผู้น้อยที่มีรายได้น้อย ยังไม่มีรายได้อื่นๆ เช่น เงินประจำตำแหน่ง ฯลฯ และไม่มีที่อยู่ได้มาพำนักอาศัยหรือเปล่า หรือว่าบ้านแพงขนาดนั้น วิวสวยขนาดนั้น เป็นการสร้างไว้ให้ข้าราชการตุลาการระดับสูงได้มาอาศัย ถ้าเป็นอย่างหลัง ก็แปลว่าสังคมกำลัง ‘ให้’ กับคนที่ ‘มีมาก’ อยู่แล้ว และนั่นคือจะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำให้กับสังคมที่เหลื่อมล้ำสูงอยู่แล้วหรือเปล่า
3. คำถามก็คือ – เมื่อหันมาพิจารณา ‘สวัสดิการ’ ที่ประชาชนทั่วไปในสังคมไทยได้รับ ไม่ว่าจะเป็นสาธารณูปโภคต่างๆ อย่างสาธารณูปโภคทางปัญญา สาธารณูปโภคสาธารณะ เช่น โรงพยาบาลรัฐ ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ที่ให้ความรู้และความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ชาติ สวนสาธารณะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ ไล่เลยไปจนถึงคุณภาพของน้ำประปา, คุณภาพของขนส่งมวลชนอย่างรถเมล์ ฯลฯ อันเป็นสาธารณูปโภคที่ ‘ผู้คนทั่วไป’ สามารถเข้าถึงได้และรู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิมีเสียงเป็นเจ้าของด้วยนั้น เราจะพบว่าล้วนแต่เป็นสาธารณูปโภคที่ยังจำกัดจำเขี่ยในงบประมาณอยู่ไม่น้อย ทำให้พี่ตูนต้องออกมาวิ่งหารายได้ช่วยโรงพยาบาล และคนอื่นๆ ก็ต้องช่วยเหลือกันและกันไปตามอัตภาพเท่าที่จะทำได้ ‘สวัสดิการสังคม’ เหล่านี้ มีอะไรเทียบเท่า ‘สวัสดิการบ้านป่าแหว่ง’ ไหม
4. คำถามก็คือ – ในขณะที่บ้านป่าแหว่งแลดูสวยงามสูงงบฯ ประชาชนทั่วไปกำลังเผชิญกับรายได้ ดัชนีราคา และดัชนีค่าครองชีพแบบไหนอยู่ ภาวะเศรษฐกิจตามตรอกซอกซอยและตลาดสด, ตอนนี้เป็นอย่างไร
5. คำถามก็คือ – เราอยู่ในโลกและสังคมที่เข้าใจนิยามคำว่า ‘ความยุติธรรม’ ต้องตรงกันหรือเปล่า และผู้ที่ยึดกุมความหมายของคำว่า ‘ความยุติธรรม’ คือใครกันแน่ อะไรคือ ‘ความยุติธรรม’ ในระดับมหภาคของสังคม อะไรคือการเกลี่ยความได้เปรียบเสียเปรียบและความชอบธรรมในสายตาของคนที่มาทำหน้าที่ ‘ผดุงความยุติธรรม’ ให้กับคนอื่น
6. คำถามก็คือ – เพราะอะไร เราจึงเลือกมอบ ‘สวัสดิการระดับสูง’ ให้กับคนที่ถูกเรียกว่าเป็น ‘ข้าราชการระดับสูง’ มากถึงเพียงนั้น, ไม่มีใครตะขิดตะขวงใจอะไรเลยหรือ – ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้หรือผู้รับ
7. และคำถามก็คือ – อะไรคือ ‘สำนึก’ ทางประวัติศาสตร์สังคม, ที่ซ่อนอยู่ในคำว่า ‘ระดับสูง’ นั้น
ปัญหาป่าแหว่งที่ว่ามาทั้งหมด ทำให้ผมนึกถึงงานเขียนเล่มล่าสุดของ สตีเวน พิงเคอร์ (Steven Pinker) ซึ่งเป็นอาจารย์ด้านจิตวิทยาและการรับรู้ (Cognitive Psychology) อยู่ที่ฮาร์วาร์ด เขาเขียนหนังสือขายดีติดอันดับโลกว่าด้วย Cognitive Psycology มาแล้วหลายเล่ม เล่มล่าสุดที่เพิ่งออกมามีชื่อว่า Enlightenment Now: The Case for Reason, Science, Humanism and Progress
บทที่ 14 ในหนังสือเล่มนี้ พิงเคอร์ เขียนถึง ‘ภาพใหญ่’ ของวิวัฒนาการระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ แต่ที่น่าสนใจคือตอนใกล้จบบท เขาเลี้ยวมาเล่าถึงวิวัฒนาการของ ‘ความคิด’ ของผู้คนในยุครู้แจ้ง ซึ่งเป็นยุคแห่งการใช้เหตุผลที่แท้จริง, ยุคแห่งวิทยาศาสตร์ที่มีการพิสูจน์, ยุคแห่งมนุษยนิยมที่เห็นว่า ‘มนุษย์’ คือศูนย์กลาง ไม่ใช่พระเจ้า และยุคแห่งความคิดก้าวหน้า
ในยุคนี้ เหล่านักปรัชญา นักคิด และปัญญาชนในยุโรป รวมไปถึง ‘คนชั้นสูง’ ที่มีการศึกษา เริ่มเกิดแนวคิดก้าวหน้าใหม่ๆ เช่น การจัดระบบการศึกษาให้ประชาชน การเลือกตั้งอย่างทั่วถึง สิทธิของกรรมกรหรือคนทำงานที่ต้องเสมอภาคเท่าเทียมกับคนชั้นสูงอื่นๆ รวมไปถึงโทษประหารด้วย เรื่องเหล่านี้จึงถูกทำให้กลายเป็น ‘ของศักดิ์สิทธิ์’ (เขาใช้คำว่า Sacralized) อยู่ใต้คำหนึ่งคำ
คำคำนั้นก็คือคำว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ หรือ Human Rights นั่นเอง
พิงเคอร์เขียนว่า สิทธิมนุษยชน คือสัญลักษณ์ของ the kind of society we choose to live in and the kind of people we choose to be หรือ สังคมชนิดที่เราเลือกจะอาศัยอยู่ และ ประเภทของผู้คนที่เราเลือกจะเป็น
ผมคิดว่าสังคมไทยมีอะไรเหมือนยุโรปยุคก่อนรู้แจ้งไม่น้อย โดยเฉพาะช่วงชั้นทางสังคมที่มีคน ‘ระดับสูง’ ไล่ลงมาจนถึงคนระดับล่าง
พิงเคอร์บอกว่า ในยุครู้แจ้ง การเปลี่ยนแปลงทางสังคมเริ่มต้นจากคนระดับสูงก่อน แล้วจึงค่อยๆ สร้างการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่ดีกว่า ทำให้การอยู่ร่วมของมนุษย์กับมนุษย์ค่อยๆ ‘ก้าวหน้า’ มากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งถึงปัจจุบัน
‘บ้านป่าแหว่ง’ ชวนให้ตั้งคำถามว่า คน ‘ระดับสูง’ ในสังคมไทย เป็นคนประเภทไหนได้บ้าง พวกเขาสูงทางสถานะ, สูงทางรายได้ และสูงทางปัญญา – แบบเดียวกับที่ปัญญาชนและคนชั้นสูงในยุครู้แจ้งของยุโรปเป็นหรือเปล่า
ถ้าเป็น – เราก็ยังพอมีความหวัง แม้เป็นความหวังที่ต้องยอมรับอย่างผิดหวัง, ว่าสังคมนี้จะเปลี่ยนแปลงได้ก็จากผู้มีอำนาจเท่านั้น – ก็ตามที
ดังนั้น เหนือพ้นไปจากการเถียงว่าป่าแหว่งใช่หรือไม่ใช่ป่าในสายตาของกฎหมาย เหนือพ้นไปจากการรื้อหรือไม่รื้อบ้านเหล่านั้น คำถามของพิงเคอร์ที่ว่า – เราเลือกอยู่ในสังคมชนิดไหน และเราเลือกจะเป็น ‘มนุษย์’ ชนิดไหน, จึงน่าจะยังเป็นคำถามสำคัญอยู่เสมอ
เพียงแต่ – มันอาจเป็นคำถามที่เรายัง ‘กล้า’ เอ่ยถามกันและกันน้อยเกินไปก็ได้
และนั่นเอง – ที่จะเป็นอุปสรรคต่อความรู้แจ้งของสังคมในที่สุด