เชื่อว่า หลายคนน่าจะงงๆ อยู่ไม่น้อย – ว่าเอาเข้าจริงแล้ว, คำว่ารัฏฐาธิปัตย์คืออะไรกันแน่
เรื่องมันสืบเนื่องมาจากคำพูดของคุณประวิตร วงษ์สุวรรณ – ชายผู้ขอยืมนาฬิกาเพื่อนมาใส่, ที่ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับขบวนการ We Walk เดินมิตรภาพ ว่าประเทศต้องการความสงบ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคงที่จะต้องดูแล โดยตอนหนึ่งมีรายงานข่าวว่า
เมื่อถามว่าทางกลุ่มนัดกันจะเคลื่อนไหวทุกวันเสาร์นั้น พล.อ.ประวิตรตอบว่า “สามารถทำได้ภายใต้กรอบของกฎหมายทุกอย่าง และคำสั่งของคสช. ก็ตอนนี้เราเป็นรัฏฐาธิปัตย์ จะเอาอะไร” (ดูรายละเอียดได้ที่นี่ www.prachachat.net)
ที่จริง คุณประวิตรจะดูแลอะไรก็คงไม่มีใครว่าอะไร ถ้าเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย แต่พอคุณประวิตรหยิบ ‘คำใหญ่’ ระดับ ‘รัฏฐาธิปัตย์’ ขึ้นมาเป็นอาวุธ ก็เลยชวนให้สงสัยขึ้นมาครามครัน ว่าคำคำนี้มันหมายถึงอะไรกันแน่
เคยมีคนเล่าประวัติการใช้คำนี้เอาไว้ในรายงานหนึ่ง (อ่านได้ที่ www.bangkokbiznews.com) ว่าครั้งแรกที่มีคนใช้คำนี้ ก็คือ คุณประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ที่ประกาศแถลงการณ์ยึดอำนาจจากรัฐบาลชาติชายในปี 2532 แต่ลงเอยพ่ายแพ้กลายเป็นขบถ แต่ที่หลายคนอาจยังจำได้ดี ก็คือ ‘ลุงกำนัน’ อย่างคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ แห่ง กปปส. ที่ประกาศ ‘ปฏิวัติประชาชน’ โดยเสนอว่า กปปส. มีความเป็น ‘รัฏฐาธิปัตย์’ สามารถตั้งรัฐบาลและสภาประชาชนขึ้นมาได้เอง และถัดจากนั้นก็มีคุณประยุทธ์อีกคนหนึ่งที่พูดเรื่องนี้
ดังนั้น คำว่า ‘รัฏฐาธิปัตย์’ ที่คุณประวิตรพูดขึ้นมา จึงเป็นคำที่มีการพูดถึงกันบ่อยครั้งในการเมืองไทยยุคใหม่ และแม้ว่า อ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล จะออกมาบอกว่า คสช. ไม่ได้เป็นรัฏฐาธิป่งธิปัตย์อะไรแล้ว เพราะมีรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว (ดูรายละเอียดในข่าวนี้ www.matichon.co.th) แต่เชื่อว่าหลายคนก็ยังงงๆ กันอยู่ดี ว่าเอ๊ะ! ไอ้เจ้ารัฏฐาธิปัตย์อะไรนี่ – มันคืออะไรกันแน่ เรียนวิชาสังคมตอนเด็กๆ ก็ไม่เห็นครูเคยสอน แถมตัวคำก็ยังฟังดูอลังการ เหมือนเป็นคาถาบาลีสันสกฤตที่แปลไม่ออก เอาไว้เป็นคำเอาไว้ขู่คนไร้อำนาจให้กลัวๆ หงอๆ ยังไงชอบกล
แล้วที่สำคัญ – รัฏฐาธิปัตย์กับประชาธิปไตยมันสัมพันธ์กันยังไงหรือเปล่า แล้วสากลโลกเขามองคำว่ารัฏฐาธิปัตย์อย่างไรกันแน่ หรือว่าคำคำนี้มันจะลงเอยแปะเอี้ยเป็น ‘รัฏฐาธิปัตย์แบบไทยนิยมยั่งยืน’ เหมือนเรื่องอื่นๆ ที่หลุดหล่นออกมาในระยะหลังๆ
ไปสำรวจคำนี้กันก่อนดีกว่าครับ
อะไรหนอคือรัฏฐาธิปัตย์
คำว่า ‘รัฏฐาธิปัตย์’ นั้น มาจากภาษาอังกฤษว่า Sovereign หรือ Sovereignty ซึ่งก็หมายถึงองคาพยพแห่งการปกครอง (Governing Body) อะไรสักอย่างที่มีอำนาจเต็มในตัวเอง โดยไม่มีอำนาจอื่นๆ จากภายนอก ยื่นมือเข้ามาแทรกแซง
พูดแบบนี้คงยังไม่เห็นภาพ ก็แหม! โนบิตะตอนที่อยู่ในห้องนอนก็เป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์แห่งห้องนอนนั้นๆ ด้วยเหมือนกันนี่นา (ถ้าแม่ของโนบิตะไม่ยื่นมือเข้ามาแทรกแซงบอกให้ทำการบ้าน หรือโดเรมอนไม่ควักของวิเศษออกมาชวนทำโน่นนี่เสียก่อนน่ะนะครับ) จะเรียกว่าเป็นโนบิตะปกครองตัวเองก็เห็นจะได้
จริงๆ แล้ว แนวคิดเรื่องรัฏฐาธิปัตย์ของรัฐ หรือ State Sovereignty (หรือ Sovereign State) หรือเรียกให้ง่ายที่สุด ไม่ต้องไปใช้คำใหญ่คำหลวงอะไร – ก็คือคำว่า ‘รัฐเอกราช’ (ที่ก็ยังไม่ใช่คำไทยอยู่ดีน่ะนะครับ แต่ก็เข้าใจง่ายกว่ากันเยอะเลย) มันเป็นหลักการที่ผุดกำเนิดขึ้นจากประวัติศาสตร์ยุโรปนะครับ คือเกิดการลงนามในสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลีย (Peace of Westphalia) เพื่อยุติสงครามสามสิบปี ซึ่งผลลัพธ์อันหนึ่งก็คือเกิดการ ‘ขีดแบ่ง’ เส้นเขตแดนระหว่างรัฐต่างๆ ขึ้นมา แล้วก็บอกว่า นี่นะ – ตรงนี้คือประตูห้องนอนของโนบิตะ แม่เข้ามายุ่งไม่ได้นะ นับจากตรงนี้ไป โนบิตะคือผู้มีอำนาจเต็มในพื้นที่นี้ แม่เข้ามาแม่ก็ต้องทำตามที่โนบิตะบอก เพราะโนบิตะเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ (เชียวนะ!)
ในสมัยโบราณกาลก่อนโน้น รัฏฐาธิปัตย์ย่อมคือเจ้าผู้ปกครอง ซึ่งก็ได้แก่กษัตริย์ที่ปกครองดินแดนนั้นๆ เป็นผู้มีอำนาจใหญ่ที่สุด (Autonomous Power) มีอำนาจสมบูรณ์สูงสุด หรือเรียกว่าเป็นเจ้าของ ‘อำนาจอธิปไตย’ ก็ได้
แต่นั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคดึกดำบรรพ์ เพราะเมื่อระบอบการปกครองในโลกเริ่มเปลี่ยนไปกลายเป็นประชาธิปไตย กษัตริย์ผู้ปกครองราชอาณาจักร (หรือรัฐในความหมายเดิม) ก็ได้ ‘มอบ’ อำนาจนี้ให้กับประชาชน (ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในรูปแบบไหนก็ตาม) ก็เลยเกิดแนวคิดแบบเดียวกับที่บัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญของไทยว่า – อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย, ซึ่งก็หมายความว่า คนที่เป็นรัฏฐาธิปัตย์นั้น ไม่ใช่ ‘คณะบุคคล’ กลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ต่อให้มีนาฬิกาหรูใส่กี่เรือน ก็ไม่ได้มีสถานะเป็น ‘องค์รัฏฐาธิปัตย์’ เหนือไปกว่าคนเดินดินกินข้าวแกงที่ไหนทั้งสิ้น
แต่…
ใช่แล้ว – งานนี้มันต้องมีแต่,
แต่ – อย่างที่เราก็รู้กันอยู่, ว่าเราไม่ได้อยู่ในสังคมแบบสหรัฐอเมริกา ที่ ‘ความเป็นรัฏฐาธิปัตย์’ มัน ‘แพร่กระจาย’ ไปสู่ผู้คนจนอยู่ในระดับมโนสำนึก ถึงขนาดที่มีคำพูดล้อเล่นกันว่าคนอเมริกันทั้งหลายต่างเป็น The King และ The Queen กันทั้งนั้น เพราะทุกคนต่างเป็นเจ้าของ ‘อำนาจอธิปไตย’ ของประเทศ เนื่องจากปลดแอกสู้รบและประกาศเอกราชจากอังกฤษแล้ว อำนาจอธิปไตยจึงไม่ได้เป็นของคิงหรือควีนแห่งอังกฤษแต่เพียงผู้เดียวเหมือนในสมัยก่อนอีกต่อไป ทว่ามีการปกครองโดยประชาชน ซึ่งก็คือระบอบประชาธิปไตยนั่นเอง
ทว่าเราไม่ใช่สหรัฐอเมริกา (หัวเราะ) เพราะฉะนั้น เอาเข้าจริง ในสังคมไทยจึงไม่ได้มี ‘รัฏฐาธิปัตย์’ แบบเดียว (คือประชาชน) แต่มีอยู่อย่างน้อยสองแบบด้วยกัน ซึ่ง อ.เกษียร เตชะพีระ เคยเขียนเรื่องนี้เอาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 ว่า
พูดอย่างย่นย่อที่สุด ปมปัญหาว่าด้วย รัฏฐาธิปัตย์ ไทยนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมาคือช่วงตกห่างระหว่าง รัฏฐาธิปัตย์ผู้มีประสิทธิผล (effective sovereign อันได้แก่ผู้กุมอำนาจอธิปไตยได้จริงในช่วงจังหวะสถานการณ์หนึ่งๆ) กับ รัฏฐาธิปัตย์ผู้ชอบธรรม (legitimate sovereign อันได้แก่ปวงชนชาวไทย), เงื่อนไขของช่วงตกห่างดังกล่าวคือจินตนากรรมเรื่องชาติ, ทำให้ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของรัฏฐาธิปัตย์ไทยเต็มไปด้วยการทำให้เงียบ, การพูดแทน, การเบียดขับกีดกันออกไปซึ่งประชาชนชายขอบผู้ออกเสียงเลือกตั้งในปัจจุบัน (ดูรายละเอียดได้ที่นี่ www.khaosod.co.th)
รัฏฐาธิปัตย์ผู้มีประสิทธิผล ก็อย่างเช่นคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจได้สำเร็จ ได้ครองอำนาจอธิปไตยในช่วงสั้นๆ ส่วนรัฏฐาธิปัตย์ผู้ชอบธรรม ก็คือประชาชนทั้งหลาย ซึ่งโดยทฤษฎีและหลักการควรจะเป็นผู้ครอบครองอำนาจอธิปไตยทั้งหมดตามรัฐธรรมนูญ
เมื่อสามารถ ‘แบ่ง’ รัฏฐาธิปัตย์ออกมาได้อย่างน้อยๆ ก็สองแบบ ดังนั้นจึงแปลว่า ไอ้เจ้าคำสวยหรูใหญ่หลวงอย่าง ‘รัฏฐาธิปัตย์’ ก็ไม่ได้มี ‘ความหมาย’ เพียงหนึ่งเดียว สูงสุด สัมบูรณ์ อย่างที่หลายคนอาจจะคิด เพราะโลกเปลี่ยนไปแล้ว ระบอบการเมืองก็เปลี่ยนไปแล้ว คำว่ารัฏฐาธิปัตย์จึงเริ่มแตกกอต่อความหมายออกไปได้หลายอย่างตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ – รัฏฐาธิปัตย์แบบต่างๆ ก็อาจ ‘ขัดแย้ง’ กันเองด้วย อย่างเช่น ‘รัฏฐาธิปัตย์ผู้มีประสิทธิผล’ (พูดง่ายๆ ก็คือคณะรัฐประหารยึดอำนาจทั้งหลาย) กับ ‘รัฏฐาธิปัตย์ผู้ชอบธรรม’ (คือชอบธรรมที่จะเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย – เพราะรัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้, ได้แก่ประชาชนตาดำๆ ทั้งหลายนี่แหละครับ) อาจไม่ได้สอดคล้องลงรอยกันก็ได้นะครับ
ข้อเขียนใน ‘รัฐธรรมนูญ’ ที่บอกเอาไว้ว่าประชาชนชาวไทยเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยนี่ อาจจะเป็นแค่กระดาษเปื้อนหมึกก็ได้ เพราะถ้าประชาชนทั่วไปไม่ได้ตระหนักว่าตัวเองเป็น ‘รัฏฐาธิปัตย์ผู้ชอบธรรม’ ที่กำลังถูก ‘รัฏฐาธิปัตย์ผู้มีประสิทธิผล’ เข้ามาชี้นิ้วสั่งการให้ทำโน่นทำนี่โดยกฎหมายพิเศษต่างๆ ข้อเขียนนั้นในรัฐธรรมนูญก็คงไม่ได้มีผลอะไร
แต่ที่อยากจะบอกไว้ตรงนี้ก็คือ ในระบอบประชาธิปไตยนั้น รัฐธรรมนูญไม่ได้เป็น ‘เครื่องมือ’ ของรัฏฐาธิปัตย์ ที่รัฏฐาธิปัตย์จะเอามาปู้ยี่ปู้ยำทำอะไรก็ได้ตามใจชอบนะครับ ทว่าในระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญมีไว้เพื่อ ‘จำกัดอำนาจ’ ในการออกกฎหมายของรัฏฐาธิปัตย์ (โดยเฉพาะ ‘รัฏฐาธิปัตย์ผู้มีประสิทธิผล’ ที่เข้ามายึดครองอำนาจอธิปไตยชั่วครั้งชั่วคราว) โดยแนวคิดของรัฐธรรมนูญแบบนี้มีปรากฏมาตั้งแต่กฎบัตรแมกนาคาร์ต้าแล้วนะครับ แต่สำหรับในสังคมไทย ดูเหมือนการประกาศตัวของคณะรัฐประหารทั้งหลายว่าตัวเองเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์นั้น – จะให้ผลตรงกันข้าม เพราะมักกลายเป็นว่า คณะรัฐประหารเข้ามาเป็นผู้กำหนดรัฐธรรมนูญโดยไม่ได้มีสำนึกเลยว่าตนเองเป็นแค่ ‘รัฏฐาธิปัตย์ผู้มีประสิทธิผล’ เท่านั้น ไม่ใช่ ‘รัฏฐาธิปัตย์ผู้ชอบธรรม’ สักหน่อย
รัฏฐาธิปัตย์เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นต่อประชาธิปไตยหรือเปล่า
มุมมองเรื่องรัฏฐาธิปัตย์หรือ Sovereignty ของนักวิชาการในระดับสากลโลกนั้นมีด้วยกันหลายแบบ
ถ้าเป็นมุมมองแบบเก่า (Conventional Understandings) อย่างมุมมองของคุณ ฟรานซิส ฮินสลีย์ (Francis Hinsley) ที่เขียนหนังสือชื่อ Sovereignty ในปี 1986 จะเห็นว่ารัฏฐาธิปัตย์เป็น ‘เงื่อนไขจำเป็น’ (Prerequisite) ต่อประชาธิปไตย ซึ่งเรื่องนี้เข้าใจได้ง่ายมากเลยนะครับ อย่างที่เราท่องกันมาในวิชาสังคม ว่าอำนาจอธิปไตยหรือรัฏฐาธิปัตย์นั้นต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง (เช่น เขตแดนที่ชัดเจน, ประชากรของประเทศ, การปกครองหรือรัฐบาล ฯลฯ) ฮินสลีย์เห็นว่า รัฏฐาธิปัตย์จึงเป็นเงื่อนไขเริ่มต้นก่อน โดยมีที่มาย้อนกลับไปได้ถึงเวสต์ฟาเลียที่เกิดการขีดเส้นเขตแดนเพื่อประกอบสร้างขึ้นมาเป็นรัฐ (Territorial Entity) ที่รัฐอื่นเข้ามาแทรกแซงไม่ได้ เมื่อเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้ว ประชาธิปไตยถึงค่อยเกิดตามมาทีหลัง แต่ประชาธิปไตยจะเกิดก่อนการมีรัฏฐาธิปัตย์ไม่ได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป สังคมโลกซับซ้อนมากขึ้น การมองว่ารัฏฐาธิปัตย์เป็นสิ่งที่สัมบูรณ์ สถิตย์นิ่งตายตัว (Fixed and Indivisible) แบบที่เคยเป็นในช่วงเวสต์ฟาเลียเริ่มถูกท้าทายมากขึ้น เพราะเมื่อโลกเข้าสู่ยุคใหม่ ก็เกิดคำถามใหม่ๆ ขึ้นมากมาย
เดวิด เลค (David Lake) เขียนไว้ในบทความชื่อ Reflection, Evaluation, Integration: The New Sovereignty in International Relations’ ใน International Studies Review เมื่อปี 2003 ว่า ไอ้เจ้าคำว่า ‘รัฏฐาธิปัตย์’ (เขาใช้คำว่า Problematic Sovereignty หรือรัฏฐาธิปัตย์ที่มีปัญหาในตัวเอง) นั้น มันมี ‘การเคลื่อน’ (Shift) ของความหมายอย่างน้อยๆ ก็สองอย่าง
อย่างแรกก็คือ มุมมองแบบเก่าๆ มักจะมองว่า รัฏฐาธิปัตย์นั้นเป็นสิ่งที่ ‘ถูกมอบให้’ คือมาจากอะไรสักอย่างที่สูงส่งอยู่ด้านบนของโครงสร้างสังคม (ซึ่งสมัยก่อนก็คือกษัตริย์หรือผู้ปกครอง) รัฏฐาธิปัตย์จึงเป็นเรื่องที่แน่นอนตายตัว เป็นเหมือน ‘ของขวัญ’ ที่ผู้ปกครองมอบให้กับผู้ถูกปกครอง เราสามารถแบ่งสังคมออกเป็นฝ่ายที่เป็นรัฏฐาธิปัตย์ (หรือผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย) กับผู้ที่อยู่ใต้ปกครองได้ เพราะฉะนั้น ‘อำนาจ’ ที่เกิดขึ้นจึงเป็นอำนาจสำเร็จรูปที่มีความแน่นอนตายตัวสถิตนิ่ง ที่คนข้างบนมอบลงมาให้กับคนข้างล่าง
แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงสมัยใหม่ รัฏฐาธิปัตย์เป็นสิ่งที่ ‘ถูกประกอบสร้าง’ (Constructed) ขึ้นจากคนที่อยู่ ‘ข้างใน’ ระบอบการปกครองนั้นๆ ด้วยเหมือนกัน (เลคใช้คำว่า Endogenous) โดยเฉพาะเมื่อผ่านการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่รัฏฐาธิปัตย์ไม่ได้ถูกจำกัดวงอยู่แค่ใน ‘คณะบุคคล’ แคบๆ เท่านั้น เมื่อเป็นอย่างนี้ รัฏฐาธิปัตย์จึงไม่ได้สถิตนิ่ง เป็นแบบไหนก็เป็นแบบนั้น แต่มีการกระเพื่อมเปลี่ยนแปลงไปมาตลอดเวลา
ส่วนอย่างที่สองเป็นผลต่อเนื่องจากอย่างแรก เลคพูดคล้ายๆ อ.เกษียร นั่นคือรัฏฐาธิปัตย์ไม่ได้มีรูปแบบเดียว แต่ว่ามันแบ่งแยกได้หลายรูปแบบมาก ซึ่งในเรื่องนี้ สตีเฟน คราสเนอร์ (Stephen Krasner) จากสแตนฟอร์ด บอกว่ารัฏฐาธิปัตย์จะมีมิติพื้นฐานอยู่สี่อย่าง คือ
1) International Legal Sovereignty พูดง่ายๆ ก็คือ นานาชาติต้องยอมรับ (คือมี Mutual Recognition)
2) Domestic Sovereignty อันนี้หมายถึงโครงสร้างทางการเมืองการปกครองภายใน และสัมฤทธิผลของสถาบันต่างๆ ในรัฐนั้นๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ ก็แปลว่าคนในรัฐนั้นๆ ต้องตระหนักและยอมรับ โดยรัฏฐาธิปัตย์สองอย่างที่ อ.เกษียร พูดถึง ก็น่าจะอยู่ในมิตินี้
3) Westphalian Sovereignty อันนี้หมายถึงปราศจากการเข้ามาแทรกแซงจากรัฐอื่นๆ ซึ่งเป็นเป้าหมายของเวสต์ฟาเลีย แต่ในปัจจุบัน เราคงเห็นกันอยู่กว่าการแทรกแซงนั้นซับซ้อนแนบเนียนได้มากแค่ไหน จนจะบอกว่าปราศจากการแทรกแซงจากรัฐอื่นเลยคงเป็นไปไม่ได้
4) Interdependence Sovereignty ซึ่งก็คือความสามารถของรัฐนั้นๆ ที่จะใช้อำนาจควบคุมการผ่านเขตแดน
จะเห็นว่า มิติทั้งสี่อย่างนี้ จะมองว่าแยกขาดจากกันก็ได้ หรือแยกจากกันไม่ขาดก็ได้เหมือนกัน ในบางรัฐ อาจมีรัฏฐาธิปัตย์บางแบบเด่นชัดหรือแข็งแรงกว่าแบบอื่น ซึ่งออยซิน แทนซีย์ (Oisin Tansey) ได้วิเคราะห์ไว้ในบทความ Does Democracy Need Sovereignty? (ตีพิมพ์ใน Review of International Studies ดูรายละเอียดได้ที่นี่ centaur.reading.ac.uk) โดยบอกว่าในประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแรงนั้น รัฏฐาธิปัตย์ทั้งสี่มิติมักจะแข็งแรงเด่นชัด โดยรัฏฐาธิปัตย์จะทำหน้าที่ ‘ค้ำจุน’ (Support) การปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ในกรณีที่มิติใดมิติหนึ่งขาดหายไป ก็อาจเป็นเรื่องยากที่จะรักษาความเป็นประชาธิปไตยของรัฐนั้นๆ เอาไว้ได้
แทนซีย์บอกว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ประชาธิปไตย’ กับ ‘รัฏฐาธิปัตย์’ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แม้ดูเผินๆ แบบเดิมๆ เราอาจคิดว่าต้องมีรัฏฐาธิปัตย์ก่อนสิ ถึงจะมีประชาธิปไตยได้ แต่ในปัจจุบันไม่ได้เป็นแบบนั้นอีกต่อไปแล้ว เขาเสนอด้วยว่า ในปัจจุบันนี้ การยอมรับถึง ‘สภาวะความเป็นรัฐ’ (Statehood) ผ่านรัฏฐาธิปัตย์ในมิติที่หนึ่ง (International Legal Sovereignty) เป็นเรื่องที่มีความสำคัญน้อยมาก และไม่ควรมองว่ารัฏฐาธิปัตย์เป็นเรื่องจำเป็นต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยด้วยซ้ำ
อย่างที่บอก รัฏฐาธิปัตย์แต่ละมิติอาจขัดแย้งกันเองได้ด้วย อย่างในสังคมไทยตอนนี้ เราจะเห็นได้ชัดว่ารัฏฐาธิปัตย์ในมิติที่หนึ่ง ยังพร่องอยู่ (เพราะเรามีการปกครองโดยรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกต้ัง ซึ่งถ้าไม่หลอกตัวเองเกินไป ก็จะเห็นว่านานาชาติไม่ได้ยอมรับถึงรัฏฐาธิปัตย์ของผู้ปกครองในตอนนี้อย่างเต็มที่นัก) ส่วนมิติที่สองก็มีปัญหาอยู่ เพราะน่าจะกำลังเกิดความขัดแย้งระหว่างรัฏฐาธิปัตย์ผู้มีประสิทธิผลกับรัฏฐาธิปัตย์ผู้ชอบธรรม ทำให้เกิดการใช้คำว่ารัฏฐาธิปัตย์ที่ย้อนแย้งในตัวเองจนแลดูประหลาดพิสดาร
ในมุมกลับกัน ถ้าใครมองว่ารัฏฐาธิปัตย์ (อย่างน้อยก็บางมิติ) เป็นเรื่องจำเป็นต่อประชาธิปไตย ก็ต้องรู้จักมองในมุมกลับด้วยเหมือนกัน ว่าประชาธิปไตยก็จำเป็นต่อการดำรงอยู่ของ ‘สภาพรัฏฐาธิปัตย์’ (โดยเฉพาะรัฏฐาธิปัตย์แบบผู้มีประสิทธิผล) ด้วย เพื่อให้ทั้งสองอย่างนี้เกื้อหนุนกันและกัน
แต่กระนั้น แม้ในระดับโลก การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรัฏฐาธิปัตย์กับประชาธิปไตย – ว่าในโลกสมัยใหม่, สองอย่างนี้จำเป็นต่อกันและกันมากขึ้นหรือน้อยลงอย่างไร หรือกระทั่งว่าสามารถแยกขาดจากกันได้หรือเปล่า ยังเป็นเรื่องที่มีการศึกษาอยู่น้อย แถมทุกวันนี้ยังมีสิ่งที่เป็น ‘องค์กรที่ไม่ใช่รัฐ’ (Non-State Entities) ที่บางครั้งใหญ่กว่ารัฐเสียอีก (เช่น เฟซบุ๊ก) ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปตำหนิกันหรอกนะครับ หากเราพบว่ามีใครใช้คำว่ารัฏฐาธิปัตย์แบบโพล่งพล่อยไร้การศึกษา (ก็เพราะการศึกษาเรื่องนี้มันมีน้อยนี่ครับ) แต่สิ่งที่เราควรทำ ก็คือต้องกลับมาตั้งสติดีๆ เพื่อ ‘แยกส่วน’ (Disaggregating) คำว่า ‘รัฏฐาธิปัตย์’ ที่เราปล่อยให้มันหลุดร่วงจากปากของเราเองให้ได้ – ว่าเรากำลังพูดถึงมันใน ‘ความหมาย’ หรือ ‘มิติ’ แบบไหน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนงวยงง – ว่าสิ่งที่พูด สิ่งที่ทำ และสิ่งที่คิด, มันสอดคล้องต้องกันออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมไหม
คำถามที่ว่า – ประชาธิปไตยสมัยใหม่ต้องการ ‘รัฏฐาธิปัตย์’ หรือเปล่า – เป็นคำถามที่น่าจะพอตอบได้ว่า – ต้องการสิ ยังต้องการอยู่, แต่คำถามถัดไปก็คือ เรารู้ตัวหรือเปล่าว่าเราต้องการ ‘รัฏฐาธิปัตย์’ แบบไหนในโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และมีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงเร็วยิ่งขึ้นเรื่อยๆ – ใบนี้
รัฏฐาธิปัตย์แบบเก่าก่อนคอนเวนชั่นนอลและรัฏฐาธิปัตย์ผู้มีประสิทธิผล ถือเป็นรัฏฐาธิปัตย์ที่เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกหรือเปล่า?