หลังจากรายการ “พรรคนี้เป็นไงบ้าง?” ของยูทูปเบอร์ชื่อดังอย่างช่อง Farose ออนแอร์เมื่อเกือบหนึ่งเดือนก่อน ดูเหมือนว่า บทสนทนาว่าด้วยภาพลักษณ์ของแต่ละพรรคการเมืองจะถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง ทั้งการนำเสนอตัวตนแคนดิเดต นโยบายเรือธง และจุดยืนทางการเมืองของแต่ละพรรค ในขณะเดียวกัน ก็มีประเด็นหนึ่งที่นำไปสู่การถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนในโซเชียลมีเดีย ซึ่งก็คือการมีอยู่ของ ‘แฟนคลับนักการเมือง’ หรือ ‘แฟนด้อมการเมือง’ ที่ถูกนำเสนอในตอนของพรรคเพื่อไทย จนหลายคนกังวลถึงความเหมาะสมว่า ตกลงแล้วเราควรทรีตนักการเมืองเหมือนแฟนด้อมได้หรือไม่?
แต่ก่อนที่จะไปถกเถียงกันถึงความเหมาะสมของมัน เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าตกลงแล้ว แฟนด้อมการเมืองคืออะไร และเกิดขึ้นมาได้อย่างไรกันก่อน
ด้อมการเมืองคือผลพวงจากการเมืองแบบเซเลบริตี้ (Celebrity Politics)
ความจำกัดความแบบเรียบง่ายที่สุดของแฟนด้อมการเมือง (Political Fandom) ก็คือ กลุ่มแฟนคลับของนักการเมืองและ/หรือแคมเปญทางการเมืองก็ได้ โดยมีลักษณะคล้ายกับแฟนด้อมของป๊อปคัลเจอร์ทั่วไป เช่น แฟนด้อมศิลปินเกาหลี แฟนด้อมซีรีส์ หรือแฟนด้อมทีมกีฬา โดยแต่ละแฟนด้อมก็จะมีพื้นที่ไว้แลกเปลี่ยนพูดคุยถึงเรื่องของแต่ละแฟนด้อมเอง หรือที่นักวิชาการเรียกว่า ‘ชุมชน’ (community) ซึ่งชุมชมของแฟนด้อมทั้งหลายสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งบนพื้นที่ออนไลน์และออฟไลน์ อย่างเช่น การสร้างกระทู้ขึ้นมาพูดคุยถึงทีมฟุตบอลที่ชอบ การพูดถึงการแสดงของดาราในหนังของมาร์เวล การสร้าง hashtag ของแฟนคลับศิลปินเกาหลี หรือการรวมตัวจัดกิจกรรมพบปะระหว่างแฟนซีรีส์ด้วยกันเอง ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นจากความตั้งใจและความสมัครใจของเหล่าแฟนคลับเอง โดยปราศจากองค์กรหรือตัวกลางใดใด
ในขณะที่แฟนด้อมการเมืองเองก็มีลักษณะที่ว่าเช่นเดียวกัน พวกเขาก็มีกิจกรรมที่คล้ายๆ กับแฟนด้อมของป๊อปคัลเจอร์ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยถึงนักการเมืองหรือแคมเปญที่ชอบ การสร้างแฮชแท็กในการพูดคุยแลกเปลี่ยน การนัดกันไปให้กำลังใจนักการเมืองถึงพื้นที่ หรือการผลิตคอนเทนต์ต่างๆ เกี่ยวกับนักการเมือง เช่น มีม คลิปวิดีโอ ซึ่งการทำกิจกรรมแลกแปลี่ยนเหล่านี้ก็ทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันกับนักการเมืองและเหล่าแฟนคลับด้วยกันเอง ส่งเสริมความเป็น ‘ชุมชน’ กันภายในแฟนด้อมการเมืองอย่างเหนียวแน่น
อย่างไรก็ตาม แฟนด้อมการเมืองไม่ใช่เรื่องบังเอิญ (accidental phenomenon) มันไม่ใช่เรื่องที่วันดีคืนดีก็เกิดขึ้นมา แต่แฟนด้อมการเมืองเป็นผลพวงโดยตรงจากปรากฏการณ์ทางการเมืองที่นักวิชาการเรียกกันว่า การเมืองแบบเซเลบริตี้ (Celebrity Politics) อันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก
การเมืองแบบเซเลบริตี้ ถ้าจะให้อธิบายอย่างง่ายที่สุด คือ การทำการเมืองผ่านมุมมองแบบวงการบันเทิง เน้นการสื่อสารและใช้เทคนิคทางการตลาดในการเพิ่มชื่อเสียงและอำนาจทางการเมืองให้แก่ตัวเอง เช่น การชักชวนดารา นักแสดงมาช่วยโปรโมทแคมเปญทางการเมือง เน้นขายรูปลักษณ์ ภาพลักษณ์ของนักการเมืองแทนนโยบายพรรค การหันไปออกรายการวาไรตี้เพื่อพูดคุยเรื่องอื่นที่ไม่ใช่การเมืองมากขึ้น หรือแม้แต่การที่ดาราผันตัวเป็นนักการเมืองโดยใช้ชื่อเสียงของตัวเองมากรุยทางการเมือง
ซึ่งนักการเมืองที่หันมาทำการเมืองแบบนี้ จึงถูกเรียกว่า นักการเมืองแบบเซเลบริตี้ (Celebrity Politician) โดยมีตัวอย่างชัดๆ ให้เห็นทั่วโลกอย่าง อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา (Barack Obama) และ อดีตนักแสดงชื่อดัง อาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ (Arnold Schwarzenegger) ที่ผันตัวมาเป็นผู้ว่าการรัฐฯ
โดยการเกิดขึ้นของการเมืองแบบเซเลบริตี้นี้ก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญอีกเช่นเดียวกัน แต่เกิดจากสองปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสื่อสาร และความเบื่อหน่ายทางการเมือง (anti-political sentiment)
ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เทคโนโลยีสื่อสารของมนุษย์ได้เปลี่ยนรูปร่างหน้าตาไปมาก โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ที่ทำให้การสื่อสารเป็นเรื่องง่าย รวดเร็ว และราคาถูกมากขึ้น รวมไปถึงประเด็นที่ว่ามันยังทำลายอำนาจของสำนักข่าวและช่องโทรทัศน์ลง โอนอำนาจการตัดสินใจว่าจะพูดหรือจะสื่อสารอะไรกลับไปที่ปัจเจกบุคคล รวมถึงนักการเมืองเอง ที่สามารถตัดสินใจได้ว่าอยากจะสื่อสารอะไร เมื่อไร และอย่างไรผ่านโซเชียลมีเดียของตนเองได้เลย ไม่เหมือนกับเมื่อก่อนที่ต้องรอสื่อใหญ่ๆ มาจ่อไมค์สัมภาษณ์ ไม่ก็วันแถลงข่าวของพรรคที นอกจากนี้ โซเชียลมีเดียยังเปิดโอกาสให้นักการเมืองโชว์ความเป็นตัวของตัวเองเพิ่มขึ้น ไม่ยึดติดกับพิธีรีตองแบบเดิมๆ
ในขณะเดียวกัน ความเบื่อหน่ายทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ทั่วโลก ได้ผลักดันให้นักการเมืองหันมาปรับตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการวางตัวที่คนทั่วไปมักจะมองว่า นักการเมืองเข้าถึงได้ยาก เหินห่าง ไม่ค่อยรับฟังและตระหนักถึงความเดือดร้อนของมวลชน ดังนั้นเพื่อดึงดูดคนให้กลับมาสนใจการเมืองมากขึ้น นักการเมืองจึงต้องหันมาแข่งขันกันอย่างหนัก โดยอาศัยการใช้โซเชียลมีเดียและการเสนอภาพลักษณ์ของตัวเองให้แตกต่างจากภาพลักษณ์นักการเมืองแบบเดิมๆ ให้มากที่สุด จึงเกิดเป็นภาพนักการเมืองแบบใหม่ แบบเซเลบรีตี้ที่เน้นภาพลักษณ์ที่เข้าถึงง่าย มีมุมชิลๆ ขายความเป็นตัวเองมากขึ้นอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้
ซึ่งปรากฏการณ์การเมืองแบบเซเลบริตี้และการเพิ่มขึ้นของนักการเมืองแบบเซเลบริตี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลโดยตรงให้เกิดปรากฏการณ์แฟนด้อมการเมืองอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ โดย จอห์น สตรีท (John Street) นักวิชาการผู้เสนอแนวคิดเรื่องนักการเมืองแบบเซเลบริตี้ได้สรุปความคิดเห็นของต่อการเมืองปัจจุบันว่า “การเมืองได้กลายเป็นเรื่องของการแสดงไปแล้ว กล่าวคือนักการเมืองกลายเป็นดารา ส่วนมวลชนก็กลายเป็นผู้ชมโดยสมบูรณ์”
จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าเราจะได้เห็นปรากฏการณ์ที่มวลชนได้กลายเป็นแฟนคลับของนักการเมืองคนใดคนหนึ่ง ในเมื่อนักการเมืองได้กลายเป็นดาราเสียเอง
ส่องปรากฏการณ์แฟนด้อมการเมืองทั่วโลก
จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าการเมืองแบบเซเลบริตี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ สามารถสืบกลับไปได้ตั้งแต่ช่วงปี 1950s แต่การขึ้นของแฟนด้อมการเมืองอย่างที่เห็นในปัจจุบันสามารถย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงปี 2010s โดยกรณีที่โด่งดังที่สุดในโลกตะวันตกก็คือ กรณี Milifandom แฟนด้อมของ เอ็ดเวิร์ด มิลิแบนด์ (Edward Miliband) อดีตหัวหน้าพรรคแรงงานของสหราชอาณาจักรปี 2015
Milifandom กลายเป็นแฮชแท็กยอดนิยมในการเลือกตั้งในสหราชอาณาจักรในปีนั้น โดยแฟนด้อมของ Miliband เกิดขึ้นจากการริเริ่มของ แอบบี้ ทอมอิลสัน (Abby Tomlinson) เด็กสาวชาวอังกฤษอายุ 17 ปี ที่เห็นว่าสื่อหลักในตอนนั้นต่างก็หาเรื่องโจมตีเอ็ดเวิร์ด มิลิแบนด์อยู่เสมอ และอยากนำเสนอว่าเด็กรุ่นใหม่อย่างเธอก็สนใจการเมืองอย่างจริงจัง เธอจึงสร้าง Milifandom ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนเขา จนแฟนด้อมนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว มีเด็กวัยรุ่นจำนวนมากเข้าร่วมเพื่อช่วยสร้างคอนเทนต์ มีม ภาพตัดต่อ และวิดีโอต่างๆ เกี่ยวกับ Miliband จนกลายเป็นกระแสไปทั่วอินเตอร์เนต
แม้ว่าในตอนแรก แอบบี้ตั้งใจจะสร้างแฮชแท็กขึ้นมาสนับสนุนหัวหน้าพรรคอย่างเดียวเท่านั้น แต่ในภายหลัง Milifandom ก็กลายเป็นสื่อกลางในการสื่อสารนโยบายต่างๆ รวมถึงจุดยืนของพรรคแรงงานในการเลือกตั้งในปีนั้นด้วยเช่นกัน ซึ่งเธอก็เคยยืนยันผ่านสื่อ The Guardian ว่า เธออยากให้ทุกคนสนใจนโยบายและสิ่งที่พรรคแรงงานได้สัญญากับทุกคนมากกว่า แต่ที่เธอตัดสินใจสร้างแฟนด้อมนี้ขึ้นมา ก็เพื่อแสดงให้มวลชนเห็นว่า คนรุ่นใหม่อย่างพวกเธอไม่พอใจกับสื่อที่บิดเบือนเรื่องราวของเอ็ดเวิร์ด มิลิแบนด์ เธอต้องการแก้ความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้น แฟนด้อมที่เธอสร้างไม่ใช่เรื่อนล้อเล่น แต่เป็นสิ่งที่จะช่วยย้ำเตือนนักการเมืองว่า พวกเขาจำเป็นต้องฟังเสียงคนรุ่นใหม่อยู่เสมอ
การเกิดขึ้นของ Milifandom ก็ส่งผลให้เกิดแฟนด้อมการเมืองอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นแฟนด้อม Corbynmania ของ เจเรมี คอร์บิน (Jeremy Corbyn) อดีตหัวหน้าพรรคแรงงานเช่นเดียวกัน โดยแฟนด้อมของเขาถือว่าไปไกลกว่า Milifandom เริ่มมีการสร้างแฮชแท็กเฉพาะในกลุ่มแฟนคลับเพื่อพูดถึงการปราศรัยและแลกเปลี่ยนภาพเซลฟี่กัน เริ่มมีการผลิตสินค้า ศิลปะภาพวาด การ์ตูนเกี่ยวกับเจเรมี รวมไปถึงการเกิดขึ้นของเพลงเชียร์ (chant) อย่าง ‘Oh, Jeremy Corbyn’ ที่เหล่าแฟนด้อมใช้ตะโกนส่งเสียงเชียร์ระหว่างการปราศรัยหาเสียงและพบปะผู้คนในงานต่างๆ
และแฟนด้อม Moggmentum ซึ่งเป็นแฟนด้อมแคมเปญสนับสนุน เจคอบ รีส์-ม็อกก์ (Jacob Rees-Mogg) นักการเมืองพรรคอนุรักษ์นิยมให้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมคนใหม่ในปี 2017 โดยเหล่าแฟนๆ ได้ช่วยกันสร้างมีมเกี่ยวกับเขา เกิดเป็นไวรัลทั่วอินเตอร์เนต จนสามารถระดมเงินกว่า 7,000 ปอนด์ และ 13,000 รายชื่อภายในเวลาสองวัน
ขณะเดียวกัน ปรากฏการณ์แฟนด้อมการเมืองในซีกโลกตะวันออกก็มีให้เห็นอยู่เช่นกันในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แฟนด้อม Moonappa ของ มุนแจอิน (Moon Jae-in) อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับ Milifandom และ Corbynmania กล่าวคือ จุดประสงค์คือการสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีและคอยแก้ไขประเด็นที่สื่อโจมตีอยู่เสมอ รวมไปถึงการผลิตสินค้า คอนเทนต์ และมีมต่างๆ เกี่ยวกับเขาเพื่อแลกเปลี่ยนระหว่างแฟนด้อมด้วยกันเองและสื่อสารออกไปให้คนนอกแฟนด้อมได้รับรู้
แฟนด้อมการเมืองคือการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบใหม่
คำถามสำคัญที่หลายคนคงติดใจที่สุดเกี่ยวกับแฟนด้อมการเมืองคงไม่พ้นว่า การเมืองควรมีแฟนด้อมหรือไม่ เอาเป็นว่าสิ่งที่นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นตรงกันคือ แฟนด้อมการเมือง คือ การมีส่วนร่วมทางการเมืองรูปแบบใหม่ (new form of political participation) และควรได้รับการยอมรับและศึกษาในฐานะตัวละครทางการเมืองมากขึ้น
แต่งานวิจัยเบื้องต้นเกี่ยวกับแฟนด้อมการเมืองได้เสนอถึงผลกระทบต่อการเมืองในภาพรวม โดยผลกระทบเชิงบวกที่นักวิจัยเห็นตรงกันขึ้น การมีอยู่ของแฟนด้อมการเมืองส่งผลให้มวลชนที่เลิกสนใจการเมืองหรือไม่เคยสนใจการเมืองเดิม (disengaged citizen) หันมาสนใจการเมืองมากขึ้น เนื่องจากชุมชนของแฟนด้อมมักใช้ภาษาที่เข้าถึงหมู่คนได้มากกว่า เช่น บทความสรุปนโยบายต่างๆ วิดีโอไฮไลต์งานปราศรัย และมีมนักการเมืองต่างๆ รวมไปถึงการเป็นแฟนด้อมการเมืองยังส่งผลต่อการแสวงหาข้อมูลและข่าวสารทางการเมืองอย่างมีนัยยะสำคัญ
นอกจากนี้ แฟนด้อมการเมืองยังส่งผลดีต่อการเรียนรู้วัฒนธรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ เนื่องจากแฟนด้อมคือการรวมตัวของปัจเจกบุคคลที่วางอยู่บนฐานของความสนใจเดียวกัน ไม่ได้เกิดจากสายสัมพันธ์ดั้งเดิม เช่น เพื่อน คนรู้จัก ครอบครัว การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแฟนด้อมการเมือง (รวมถึงแฟนด้อมอื่นๆ) ช่วยส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในการเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น ผ่านการมีส่วนร่วมในชุมชุนหรือแฟนด้อม การเป็นอาสาสมัครในกิจกรรมต่างๆ การวางแผนยุทธศาสตร์ และการแสดงความคิดเห็นในพื้นที่สาธารณะ
ในทางกลับกัน ผลกระทบเชิงลบที่นักวิชาการต่างก็กังวลก็คือ แฟนด้อมการเมืองด้อยค่าการเมืองหรือไม่ (cheapening politics) เพราะการมุ่งความสนใจไปที่ตัวนักการเมืองคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียวอาจจะทำให้ประเด็นทางการเมืองหรือนโยบายของพรรคถูกมองข้ามไป ซึ่งผลวิจัยเบื้องต้นก็ชี้ให้เห็นว่า แฟนด้อมการเมืองส่งผลเสียต่อสถานะพรรคการเมืองและอุดมการณ์ทางการเมือง หากแฟนด้อมไม่สามารถย้ายความสนใจออกจากนักการเมืองหรือแคมเปญไปได้
ดังนั้นคำถามสำคัญต่อสถานะแฟนด้อมการเมืองในปัจจุบัน ไม่ใช่คำถามที่ว่า การเมืองควรมีแฟนด้อมหรือไม่ แต่เป็นคำถามที่ว่า ขอบเขตของแฟนด้อมการเมืองควรสิ้นสุดที่ตรงไหนมากกว่า เช่น แฟนด้อมควรเขียนแฟนฟิคจิ้นนักการเมืองด้วยกันเองหรือไม่ แฟนด้อมควรปกป้องนักการเมืองมากน้อยแค่ไหน หรือ แฟนด้อมควรวางตัวอย่างไรในการหาเสียงเลือกตั้ง
ทิศทางกระแสแฟนด้อมการเมืองในไทย
ปรากฏการณ์แฟนด้อมการเมืองในไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ แม้ว่าเราจะคุ้นกับปรากฏการณ์ ‘ฟ้ารักพ่อ’ ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจในปี 2019 และกระแสแฟนด้อม ส.ส. พรรคเพื่อไทยอย่าง ส.ส. อิ่ม—ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ และ ส.ส. น้ำ—จิราพร สินธุไพร ในปัจจุบัน แต่จริงๆ แล้ว แฟนด้อมการเมืองในไทยเริ่มปรากฏให้เห็นมานานแล้วในรูปแบบ ‘แม่ยก พ่อยก’ ของบรรดานักการเมืองรุ่นเก่าๆ เช่น แม่ยกของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รวมไปถึงปัจจัยทางการเมืองแบบไทยๆ อย่างวัฒนธรรมบูชาตัวบุคคลและท้องถิ่นนิยม ที่ทำให้เกิดการนำเสนอตัวบุคคลมากกว่าพรรคการเมืองในการเลือกตั้งมาโดยตลอด
แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญของแฟนด้อมการเมืองในไทย คือ การนำป๊อปคัลเจอร์และโซเชียลมีเดียมาใช้อย่างจริงจัง ซึ่งทำให้ปรากฏการณ์ฟ้ารักพ่อกลายเป็นจุดแบ่งของแฟนด้อมการเมืองในไทยจากวัฒนธรรมแม่ยก-พ่อยกมาเป็นวัฒนธรรมแฟนด้อมโดยสมบูรณ์ สะท้อนได้อย่างชัดเจนที่สุดก็คือการเลือกใช้ประโยค ‘ฟ้ารักพ่อ’ จากละคร ‘ดอกส้มสีทอง’ ซึ่งเป็นป๊อปคัลเจอร์ มาใช้ในการพูดถึงแฟนด้อมและความนิยมของธนาธรนั้นเอง
นอกจากนี้ ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้วัฒนธรรมแฟนด้อมเติบโตขึ้นมากในในการเมืองไทยในช่วงหลายปีที่ผ่าน คือ วัฒนธรรมแฟนด้อมเกาหลีในหมู่วัยรุ่นไทย และบรรยากาศการเมืองภายใต้ระบอบเผด็จการ เด็กรุ่นใหม่จำนวนมาก (รวมถึงผู้เขียนด้วย) ล้วนเติบโตมาในช่วงที่กระแสเคป๊อปโด่งดังไปทั่วโลก โดยเฉพาะวัฒนธรรมแฟนด้อมศิลปิน
พวกเขาเรียนรู้ที่จะเสพผลงานศิลปินไปพร้อมๆ กับการหวีดกับแฟนคลับคนอื่นผ่านโซเชียลมีเดีย ฝึกฝนการริเริ่มและจัดการโปรเจ็กต์ให้ศิลปินให้สำเร็จด้วยการช่วยเหลือของแฟนๆ สร้างสรรค์ผลงานเกี่ยวกับศิลปินที่เราชอบผ่านแฟนฟิคและงานอาร์ตมากมาย และเรียกร้องความไม่เป็นธรรมที่ศิลปินเราประสบผ่านแฮชแท็กต่างๆ กิจกรรมเหล่านี้ได้หล่อหลอมตัวตนและความเข้าใจต่อการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ที่แตกต่างออกไปจากคนรุ่นเก่า ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่ต้องการแสดงออกทางการเมือง พวกเขาจึงเลือกแสดงออกด้วยวัฒนธรรมที่พวกเขาคุ้นเคย ซึ่งไม่จำกัดอยู่ที่การแสดงออกบนพื้นที่ออฟไลน์เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป
ขณะเดียวกันบรรยาการการเมืองไทยภายใต้ระบอบเผด็จการ ทำให้วัฒนธรรมการแสดงออกทางการเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของไทยไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร กฎหมายและความหวาดกลัวที่ปกคลุมทั่วสังคมส่งผลให้มวลชนไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับอำนาจนำในสังคมได้อย่างเสรีและปลอดภัย
ในสังคมประชาธิปไตยปกติ ประชาชนสามารถออกไปประท้วง วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และสนับสนุนนักการเมืองได้อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งสังคมไทยไม่อนุญาตให้ทำแบบนั้นได้ หลายครั้งที่เรามีการใช้โค้ดลับในการเอ่ยถึงบุคคลที่สาม การอุปมาอุปมัยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความผิดปกติของบรรยาการการเมืองไทย ดังนั้นการเกิดขึ้นของแฟนด้อมการเมืองในสังคมไทย อาจเป็นภาพสะท้อนการเมืองแบบซอฟท์ๆ (soften politics) ที่ทำให้ภาพของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ไม่แข็งกร้าว ไม่เป็นที่จับตามองจากรัฐ โดยใช้วัฒนธรรมแฟนด้อมมาเป็นฉากหน้าของการผลิบานของวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย
แม้ว่ารูปแบบความเป็นแฟนด้อมของนักการเมืองในไทยจะคล้ายคลึงกับความหมายดั้งเดิมของแฟนด้อมการเมืองทั่วไป แต่การเกิดขึ้นและการดำรงอยู่ของมันมีบริบทที่แตกต่างโดยสิ้นเชิง ซึ่งก็ต้องจับตามองและศึกษากันต่อไปในฐานะรูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองและตัวละครทางการเมืองที่สำคัญตัวหนึ่งแห่งยุคสมัยใหม่