หลังจากความรุนแรงของสถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยเรียกได้ว่าเข้าสู่ระดับวิกฤตอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งที่แนวโน้มในระดับสากลเริ่มปรับตัวไปในทิศทางที่เป็นบวกมากขึ้น ประกอบกับความไร้ประสิทธิภาพในการจัดหาจัดการและจัดส่งวัคซีนที่มีคุณภาพ หลากหลายและทั่วถึงสำหรับทุกคนของรัฐบาลไทย นำมาสู่การประกาศจะงดรับเงินเดือน (3 เดือน) โดยคณะรัฐมนตรี รวมไปถึงการโฆษณาความเป็นผู้ปิดทองหลังพระของ นาย ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังการประกาศดังกล่าว กระแสความไม่พอใจและข้อวิพากษ์วิจารณ์ก็ตามมาเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะจากฝั่งประชาชนผู้สมาทานกับคุณค่าแบบประชาธิปไตยสากล อย่างไรก็ดีผมเห็นว่าข้อความทั้งสองนี้เป็นสารที่มีจุดมุ่งหมายถึงผู้รับสาร ‘เฉพาะกลุ่ม’ และสารทั้งสองนั้นทำงานกับผู้รับสารคนละกลุ่มด้วย
กลุ่มเฉพาะดังกล่าวข้างต้นนั้น หาใช่ใครอื่นครับ แต่คือกลุ่มซึ่งถูกเรียกโดยรวมๆ ว่า ‘สลิ่ม’ ในสังคมไทยนั้นเอง อย่างไรก็ดีในบทความนี้ ผมไม่ได้ใช้คำว่า ‘สลิ่ม’ ที่ว่านี้ในความหมายเชิงลบ หรือเป็นคำด่าคำประณาม แต่เป็นการใช้เพื่อระบุหมวดหมู่ของคน ว่ากำลังอภิปรายถึงใครเท่านั้น (‘Salim’ used specifically for categorization not condemnation, like usual) กล่าวอีกอย่างก็คือ สลิ่ม ที่ปกติเป็นคำนาม ที่มักจะเป็นได้ทั้งตัวบุคคลหรือวิถีทางความคิดนั้น ในบทความนี้จะหมายถึงความหมายแรก (ตัวบุคคล) เป็นสำคัญ เว้นแต่จะระบุเป็นอื่น
เมื่อการใช้คำว่าสลิ่มเป็นไปเพื่อจำแนกแยกแยะหมวดหมู่ประชากรแล้ว ในชั้นต้นนี้ก็ต้องเริ่มจากว่า สลิ่มคือใคร? นับจากกระแสของการรวมตัวกันต่อต้านรัฐบาล นาย ประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วงกลางปี ค.ศ.2020 เป็นต้นมา (หรืออาจจะตั้งแต่ก่อนหน้านั้น อย่างช่วงการเลือกตั้งครั้งล่าสุดอันนำมาซึ่งการนับคะแนนเสียงเลือกตั้งที่อุตริพิสดารเป็นที่สุดก็เป็นได้) คำว่าสลิ่มถูกใช้อย่างแพร่หลายและเกร่อขึ้นมาก มากเสียจนเกิดความ ‘เฟ้อในทางนิยาม’ (definitional inflation) พอสมควร
ว่าอีกอย่างก็คือ ในปัจจุบันนี้ การจะถูกจัดว่า ‘ไม่ใช่สลิ่ม’ นั้นดูจะง่ายขึ้นมากแล้ว เพียงแค่แสดงตนหรือมีทัศนะอย่างชัดเจนว่าไม่เอา ไม่นิยมชมชอบ นาย ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพวก ก็เพียงพอแล้วในการ ‘ไม่เป็นสลิ่ม’ หรืออยู่คนละหมวดพวกกับสลิ่ม ซึ่งผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับนิยามในลักษณะดังกล่าว
ฉะนั้น ในที่นี้ผู้เขียนจึงขอนิยามสลิ่มในฐานะหมวดประชากรนี้ชัดๆ ว่า คือ ผู้ซึ่งสมาทานกับชุดตรรกะและเหตุผลที่ไม่เป็นไปตามครรลองของระบบตรรกะและเหตุผลในทางสากล ทั้งยังมีความต้องการ และ/หรือ ความพยายามที่จะบังคับใช้ชุดตรรกะเหตุผลแบบที่ตนเชื่อนั้นเป็นแก่นมาตรฐานกลางในการบังคับใช้ในสังคมที่(พวก)ตนดำรงอยู่
จากนิยามขั้นต้นนี้ มีประเด็นสำคัญอยู่ 2 ส่วน นั่นคือ (1) สิ่งที่เรียกว่า ระบบตรรกะเหตุผลแบบสากล นั้น คือ ระบบตรรกะและเหตุผลแบบที่เรียกว่า hypothetical deductivism กับ hypothetical imperative ซึ่งวางรากฐานมาจากกระแสทางความคิดของวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ และการรื้อถอนระบบการประมวลผลเชิงความคิดในยุครู้แจ้ง (Age of Enlightenment) หรือก็คือ ระบบการให้เหตุผลแบบ ‘เหตุไปสู่ผล อย่างพิสูจน์ได้ ผลิตซ้ำผลลัพธ์เดิมได้และตรวจสอบความถูกผิดได้’ (falsifiable and reproducible) นั่นเองครับ
และ (2) คือการระบุอย่างชัดเจนว่า สลิ่มนั้นไม่ใช่กลุ่มคนซึ่งไร้เหตุผล อย่างที่หลายๆ คนมักจะว่าไว้ ผู้เขียนมองว่าคนกลุ่มนี้มีระบบตรรกะและเหตุผลเช่นกัน และทำงานอย่างทรงประสิทธิภาพด้วย เพียงแค่มันไม่ใช่ระบบตรรกะและเหตุผลแบบสากลอันเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของยุคสมัยใหม่แบบตะวันตกนั่นเอง ซึ่งควรจะลงหมายเหตุไว้ด้วย ณ จุดนี้ว่า นี่คือการข้อสรุปและอภิปรายตรรกะเหตุผลแบบไม่เป็นสากล ด้วยสายตาและโครงสร้างการเล่าเรื่องแบบสากล หรือก็คือ คำว่าสลิ่มในที่นี้เป็นคำที่ไม่ได้มีความหมายบวกหรือลบ (neutral term) และสามารถใช้กับบริบทอื่นนอกเหนือจากกรณีของไทยได้ด้วย (อย่างกรณีคนสหรัฐอเมริกาจำนวนหนึ่งที่เชื่อว่าโลกแบน และพยายามที่จะยัดเยียดข้อสรุปนี้ของตนให้กับผู้อื่น กรณีเช่นนี้ ผู้เขียนก็เรียกว่า สลิ่มอเมริกัน เป็นต้น) เพียงแค่ว่าในกรณีของสลิ่มในไทยนั้น โดยตัวองค์ความคิดแล้วถูกสร้างขึ้นมาอย่างแยกขาดไม่ได้จากตัวสถาบันพระมหากษัตริย์ (ซึ่งผู้เขียนจะไม่ขอลงในรายละเอียดของส่วนนี้)
ด้วยความที่สลิ่มมีระบบตรรกะและเหตุผลนี้เอง ที่ผมจัดแบ่งสลิ่มออกเป็น 2 จำพวกหลักๆ (แม้จะไม่ได้แยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง และสามารถสลับสภาวะหรือกลุ่มประชากรไปมาระหว่างจำพวกนี้ได้) คือ สลิ่มมูลฐาน (Salim Fundamentalist) และสลิ่มก้าวหน้า (Progressive Salim)
โดยเหตุผลที่จัดแบ่งสลิ่มเป็น 2 จำพวกนี้ ก็เนื่องมาจากทั้งสองนั้นมีรากฐานทางตรรกะและความคิดมาจากคนละสายและช่วงเวลา นำมาซึ่งรูปแบบวิธีคิดและลักษณะที่แตกต่างกันบ้าง ซึ่งนำมาซึ่งการตอบรับต่อ ‘สาร’ ของ นาย ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แตกต่างกันไปนั่นเอง ทั้งนี้ รายละเอียดในประเด็นเกี่ยวกับสลิ่มและการกำเนิดรวมไปถึงกลไกการทำงานทางตรรกะเหตุผลของพวกเขานั้นมีความยาว รวมถึงประเด็นสารัตถะมากมายเกินกว่าที่จะอภิปรายได้อย่างครบถ้วน (กล่าวได้ว่าเป็นประเด็นหลักของวิทยานิพนธ์ที่ผู้เขียนกำลังเขียนอยู่) ฉะนั้นในบทความนี้จึงจะขออภิปรายแต่เพียงสังเขปเพื่อให้เห็นภาพรวมแต่โดยกว้างเป็นสำคัญ
กลุ่มสลิ่มมูลฐาน (Salim Fundamentalist) นั้นมีพัฒนาทางความคิดมาจากรากทางความคิดอันเป็นผลสำเร็จของการหลอมรวม ‘เนื้อเรื่องแบบพุทธศาสนา’ เข้ากับโครงสร้างการเล่าเรื่องแบบวิทยาศาสตร์โดยเจ้าฟ้ามงกุฏ (รัชกาลที่ 4 ในกาลต่อมา) ผ่านการตั้งธรรมยุติกนิกายขึ้นมา ผลสำเร็จในการหลอมรวมนี้เป็นหมุดหมายสำคัญในการวางรากฐานทางความคิดของ ‘ยุคสมัยใหม่’ ของไทย เพราะเป็นจุดที่ทำให้เส้นทางทางความคิดของไทยกับโลกตะวันตกแยกออกจากกัน (ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่ามีเฉพาะไทยที่ตกอยู่ในเงื่อนไขลักษณะเดียวกันนี้ ยังมีอีกมากหลายประเทศ ฉะนั้นพร้อมๆ กันไปมันจึงไม่ใช่ ‘ลักษณะเฉพาะ’ อะไรด้วย) ในขณะที่โลกตะวันตกเกิดการปะทะจนถึงจุดแตกหักระหว่างกระแสคิดแบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่กับคริสตศาสนาคาธอลิก อันนำมาซึ่งความสามารถในการแยกขาดรัฐกับศาสนา (secularization) อย่างค่อนข้างสมบูรณ์ได้ในที่สุด ความสำเร็จของเจ้าฟ้ามงกุฏนั้นอยู่ที่การสามารถหลอมรวมเอาสองสิ่งนี้ไว้ด้วยกันได้
กล่าวอีกอย่างก็คือ สิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนานั้น มันไม่เคยได้เป็นระบบระเบียบหรือเป็นเหตุเป็นผลอย่างที่เป็นอยู่นี้ พุทธศาสนามีโครงสร้างการเล่าเรื่องแบบตำนานปาฏิหารย์มากมายผสมโรงอยู่และไม่ได้มีความเป็นเหตุเป็นผลในตัวเรื่องเล่าเองนัก แต่หลังจากการสกัดและสังเคราะห์ (synthesization) แล้ว เจ้าฟ้ามงกุฏนำเรื่องเล่าที่เหลืออยู่จากการสกัดแล้วนั้นมาสวมเข้ากับ ‘โครงสร้างการเล่าเรื่องแบบวิทยาศาสตร์’ (scientific narration) ทำให้เรื่องเล่าที่ฟุ้งกระจายและสะเปะสะปะถูกจัดระเบียบทั้งในทางการเล่าเรื่องและความเป็นเหตุเป็นผลในตัวมันเอง อย่าง การสะสมบุญบารมี กฎแห่งกรรม ต่างๆ ถูกวางอยู่ในระบบของเหตุและผล (causal effect) ทั้งสิ้น อย่างไรก็ดี มันก็ยังคงไม่ใช่วิทยาศาสตร์อยู่ดี ดังเช่นศาสนาอื่นๆ เพราะมันผลิตซ้ำผลลัพธ์เดิมเสมอและพิสูจน์ความถูกผิดไม่ได้
อีกเงื่อนไขทางสังคมการเมืองที่สำคัญที่นำมาซึ่งความสำเร็จนี้ ก็มาจากลักษณะของตัวศาสนาพุทธในไทยก่อนหน้ายุคของเจ้าฟ้ามงกุฏเองนั้นไม่ได้มีลักษณะที่เป็นสถาบัน (not institutionalized) โดยหลักแล้วจะเป็นระบบพระเกจิหรือพระธุดงค์ ที่ค่อนข้างปลีกวิเวก หรือมีเพียงสำนักย่อมๆ ของตนกระจายตัวในชุมชนนั้นๆ ถ่ายถอดความรู้วิชากับลูกศิษย์ในสายของตน ไม่ได้มีลักษณะที่เป็นสถาบันแบบศาสนาคริสต์คาธอลิค (Catholic Church) กล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือ เจ้าฟ้ามงกุฏอยู่ในเงื่อนไขของการเริ่มต้นจากจุดตั้งต้นอันว่างเปล่า (the void) ได้นั่นเอง
ชุดคิดดังกล่าวนี้กลายมาเป็นรากฐานทางความคิด ‘ฉบับทางการ’ ของไทย กล่าวคือ แม้จะไม่ได้ถึงกับแพร่กระจายไปทั่วประเทศแต่ต้น แต่ก็กลายเป็นหมุดหลักทางความคิดที่เป็นตัวแทน ‘ส่วนกลาง’ ของราชสำนักไทยและแก่นกลางประวัติศาสตร์ในการรับรู้ของสังคมไทยไป คุณสมบัติในลักษณะที่ว่านี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘ประวัติศาสตร์ก่อนความเป็นชาติ’ (pre-national history) หรือ ethnie ครับ แต่ในกรณีนี้อาจจะต้องเรียกว่า ‘ก่อนความเป็นสลิ่ม’ มากกว่า ‘ก่อนความเป็นชาติ’ ซึ่ง ethnie นี้เอง ก็ค่อยๆ ขยายฐานทางการรับรู้ไปเรื่อยๆ (กระแสมีขึ้นมีลงตามแต่จังหวะ) หรือเข้าไปสร้างการปรับตัวในหมู่เกจิอาจารย์พระธุดงค์แบบดั้งเดิมทีละเล็กละน้อย จนมาถูกใช้งานและ ‘แพร่กระจายการรับรู้’ อย่างทั่วถึงมากๆ ในช่วงต้นไปจนถึงกลางของสงครามเย็น (ทศวรรษ 1940s–1970s) พระสงฆ์ได้รับการสนับสนุนโดยสหรัฐอเมริกาในฐานะเครื่องมือในการต้านรับอิทธิพลทางความคิดคอมมิวนิสม์ นำมาซึ่งการกระจายตัวของพระสงฆ์ไปทั่วประเทศและแผ่อิทธิพลทางความคิดอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน กลายเป็นการเกิดความรับรู้และจินตนาการร่วมต่อประเด็นเดียวกันภายใต้ห้วงเวลาเดียวกัน หรือที่เรียกว่าสุญกาลสหมิติ (homogeneous, empty time) นั่นเอง
ด้วยความที่เนื้อหาทางความคิดของ ethnie ชุดนี้วางรากฐานอยู่บนเรื่องเล่าแบบพุทธศาสนาดั้งเดิมที่มองเวลาไม่มีที่สิ้นสุด แต่หมุนวนเป็นวงกลม (cyclical time) แต่ต้องถูกจับนำมาวางอยู่ในโครงสร้างการเล่าเรื่องแบบวิทยาศาสตร์ซึ่งมองเวลาแบบเส้นตรงไม่สิ้นสุดจากอดีตไปสู่อนาคต (infinite linear time) ฉะนั้นเพื่อจะยังคงอำนาจและเนื้อหาของเรื่องเล่าแบบเดิมไว้ได้อยู่ภายใต้เส้นเวลาแบบใหม่นี้เอง จึงนำมาซึ่งลักษณะการรับรู้ทางเวลาแบบใหม่ที่อยู่บนฐานของเวลาเส้นตรง นั่นก็คือ การมีเวลาเป็นรูปคลื่น (wave-patterned time) ซึ่งมีส่วนยอดคลื่นแทนจุดสูงสุดของความเป็นไปได้ และส่วนท้องคลื่นแทนจุดต่ำสุดของความเป็นไป สลับกันไปมาไร้ที่สิ้นสุดและหลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นเอง (ผมคงไม่ลงรายละเอียดมากไปกว่านี้นะครับ) ซึ่งลักษณะพิเศษของระบบเหตุผลที่วางฐานอยู่บนเรื่องเล่าแบบหมุนวน หรือที่กลายมาเป็นรูปคลื่นนี้แล้วก็ตามนั้นก็คือ ความเป็นเหตุเป็นผลแบบตายตัว (fixed causal effect) นั่นเองครับ เป็นลักษณะที่เห็นได้ในโลกวิทยาศาสตร์เช่นกัน (เช่น วัฏจักรของน้ำ หรือพลังงาน)
ความเป็นเหตุเป็นผลแบบตายตัว และสภาวะ ‘มีช่วงขึ้นและลงอย่างไม่สิ้นสุดและหลีกเลี่ยงไม่ได้’ นี้เอง ที่กลายมาเป็นฐานสำคัญทางระบบคิดของกลุ่มสลิ่มมูลฐาน กล่าวคือ พวกเขาอยู่ภายใต้ระบบตรรกะที่วนเป็นรอบแบบตายตัว เช่น “ในหลวงเป็นที่สุดของความดี –> คนไม่รักในหลวงคือคนเลว” (วนๆ ไป), “ในหลวงคือคนดีของแผ่นดิน –> คนรักในหลวงคือคนดี” (วนๆ ไป), “ในหลวงมีบุญคุณ –> พวกเราต้องทดแทน” (วนๆ ไป), “สะสมกรรมดีไว้เยอะ –> เพื่ออนาคตและบุญบารมีที่มากขึ้น” (วนๆ ไป), ฯลฯ ลักษณะดังกล่าวนี้คือ เหตุผลแบบตายตัว ไม่มีความเป็นไปได้อื่นๆ ได้ เพราะฉะนั้นสลิ่มมูลฐานนี้ จึงยกย่องเชิดชูในการสะสมคุณความดีเพื่อบุญบารมีที่มากขึ้น การปกป้องสถาบันอย่างไม่สนใจความเป็นไปใดๆ อื่นอีก รวมไปถึงการยอมรับในช่วงเวลาที่มีขึ้นมีลงอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้ในทางประวัติศาสตร์ ฉะนั้นแม้จะเข้าสู่ยุควิกฤต ก็จะเพียงแต่ ‘เฝ้ารอยุคทองที่จะหวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง’ สะสมความดีต่อไป
คนเหล่านี้เองสำหรับผมแล้ว เป็นผู้รับสารหลักของคำโฆษณาแบบการปิดทองหลังพระ เชื่อในการสะสมความดี และเป็นลูกค้าหลักที่เลือกพรรคพลังประชารัฐในฐานะตัวแทนของ ‘คนดี’
กลุ่มต่อมานั้นคือ สลิ่มก้าวหน้า (Progressive Salim) ซึ่งวางรากฐานมาจากการตีความคำสอนทางพุทธศาสนาใหม่อีกครั้งหนึ่งโดยพุทธทาส ให้ ‘มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น ดูมีหลักการ เหมือนจะพิสูจน์ได้มากกว่าเดิม’ โดยคำสอนและการตีความพุทธศาสนาของพุทธทาสนั้น นำมาซึ่งการปรับโฉมการรับรู้ทางเวลาและเหตุผลใหม่อีกครั้งหนึ่ง จากแบบคลื่น ที่มีระบบเหตุผลที่ตายตัว มาเป็นรูปแบบเวลาเส้นตรงโดยแท้จริงๆ โดยลักษณะสำคัญของเหตุและผล (If X, then Y) ในเวลาแบบเส้นตรงนั้น แม้เหตุเหตุหนึ่ง (X) จะนำไปสู่ผลผลหนึ่ง (Y1) แต่ในความเป็นจริงแล้วผล (Y) นั้นไม่จำเป็นต้องตายตัว ปัจเจกแต่ละคนสามารถตัดสินใจใช้เหตุผลที่จะไปสู่ผลลัพธ์แบบที่แตกต่างกันไปได้ เพราะฉะนั้นในช่วงการประมวลจาก X ไปสู่ Y นั้น คนคนหนึ่งมีสิทธิที่จะเลือก Y1, Y2, Y3, …, ไปจนถึง Yn เลย แน่นอนว่าเมื่อเลือกแล้วผลลัพธ์ก็จะเป็น Y ใด Y หนึ่ง แต่ก่อนที่จะเกิดการเลือกที่จะทำอะไรนั้น เรียกได้ว่ามีความเป็นไปได้แทบจะเป็นอนันต์ และการกระทำที่ถูกจัดว่าเป็นเหตุเป็นผลในทางสากลก็คือ การเลือกที่วางอยู่บนฐานของ ‘ความเป็นไปได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์’ (in the realm of scientific possibilities) นั่นเอง ที่บางครั้งเราเรียกกันว่าตัวเลือกที่เป็นเหตุเป็นผล (rational choice)
การตีความและสร้างพุทธใหม่ของพุทธทาสนี้เอง นำพุทธศาสนามาสู่เส้นเวลาและระบบการให้เหตุผลแบบเดียวกัน คือ มีความเป็นไปได้ในการเลือกกระทำมากมาย ไม่จำเป็นต้องนั่งวิปัสนากรรมฐานอะไรก็ได้ เพียงแค่ว่าชุดเหตุผลในฐานคิดนี้ได้แทนที่ ‘ความเป็นไปได้อย่างวิทยาศาสตร์’ ด้วย ‘ความเป็นไปได้แบบพุทธศาสนาเถรวาท’ (realm of Theravada Buddhist possibilities) นั่นเองครับ
บทบาทของพุทธทาสนั้นก็มีอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาตั้งแต่ทศวรรษ 1930s ถึงต้น 1990s ก็ว่าได้ อย่างไรก็ดีผู้เขียนมองว่า อิทธิผลและบทบาทของกระแสคิดแบบพุทธทาสนั้นเบ่งบานและผลิดอกออกผลอย่างชัดเจนในช่วงทศวรรษ 1980s–2000s โดยอิทธิพลอย่างสำคัญของเครือข่ายทางสังคมของ ประเวศ วะสี (และกลุ่มอื่นๆ ในลักษณะเดียวกัน) ประเวศกลายมาเป็นหัวหอกคนสำคัญในการเผยแพร่แนวคิดของพุทธทาส ทั้งยังทำการ ‘งวด’ องค์ความคิดคำสอนของพุทธทาสให้มากยิ่งขึ้นอีก กลายเป็นแก่นกลางทางความคิดอันสำคัญคือเรื่อง ‘ความไม่เห็นแก่ตัว’ (selflessness) ซึ่งในจุดนี้เองมีความต่างจากกลุ่มสลิ่มมูลฐานอยู่บ้าง เพราะการทำบุญสะสมความดี เพื่อให้ตนได้มีบุญบารมีมากๆ ขึ้นไปนั้น ไม่ใช่ความ ‘ไม่เห็นแก่ตัว’ ในความหมายอย่างเข้มงวด
ด้วยความที่พื้นฐานของคำสอนแบบพุทธทาสนี้มีลักษณะที่ ‘อัพเดต’ และอยู่ในโครงเรื่องแบบวิทยาศาสตร์กว่าแบบเดิมมาก จึงเป็นที่นิยมในหมู่ผู้มีการศึกษาและชนชั้นกลางจำนวนมากในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่รับรู้ผ่านเครื่อข่ายและการแพร่กระจายของกลุ่มหมอประเวศ ในช่วงทศวรรษ 1990s นับจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเป็นต้นมานี้เอง ที่ยิ่งกลายเป็นหมุดหมายสำคัญว่า ‘ชนชั้นกลางได้กลายเป็นตัวแสดงหลัก และกำหนดกรอบคุณค่าหลักในสังคมไทยแล้ว’ เช่นกันกับกระแสวิธิคิดและระบบตรรกะชุดนี้ที่ผูกอยู่ด้วย เช่นนั้นเอง สลิ่มกลุ่มก้าวหน้านี้ จึงเชิดชูคนแบบจำลอง ศรีเมือง, ทักษิณ ชินวัตร ในยุคแรกสุด (ที่เป็นเศรษฐีแต่ละทิ้งความสบายส่วนตน และมาลำบากเพื่อชาติ), หรือ สนธิ ลิ้มทองกุล ที่ก่อม็อบ ‘กู้ชาติ’ เป็นต้น
แน่นอนว่าตัวแบบสำคัญสูงสุดของความไม่เห็นแก่ตัวนี้ก็คือสถาบันกษัตริย์นั่นเอง เมื่อมีในหลวงเป็นตัวแบบ (role model) จึงตามมาด้วยวาทกรรม ‘ตามรอยพ่อ’ ที่กลายมาเป็นรีตปฏิบัติหลัก (dogma and credo) ของประชากรกลุ่มนี้ (โดยอิทธิพลอันสำคัญของกลุ่มหมอประเวศ) และอาจจะนับเป็นช่วงแรกด้วยที่เกิดมี dogma (วัตรปฏิบัติ) ที่ผูกอยู่กับความเชื่อซึ่งมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางของภาพแทน
ความไม่เห็นแก่ตัวนี้ได้กลายเป็นเครื่องหมายของ ‘คนดี’ และระบอบการเมืองจึงเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าประสงค์นี้ คือ เป็นพาหนะที่จะนำไปสู่การเมืองของความไม่เห็นแก่ตัว เสียสละ หรือก็คือ ตัวระบอบการเมืองไม่ใช่ ‘ปลายทาง’ ของคนเหล่านี้ และไม่น่าแปลกใจอีกเช่นกันที่คนเหล่านี้จะแสดงออกซึ่งความจงเกลียดจงชังอย่างใหญ่หลวงต่อการคอร์รัปชั่น จนถึงขนาดที่ยินดีละทิ้งระบอบประชาธิปไตยได้ เพื่อคงไว้ซึ่งระบอบของความไม่เห็นแก่ตัว (regime of selflessness) นี้ได้อยู่
กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถึงที่สุดแล้วสำหรับคนกลุ่มนี้ ความเป็นคนดีไม่ได้ถูกวางฐานอยู่บนบุญกรรมที่มากเหลือ หรือกระทั่งระบบการเมืองที่ใสสะอาด แต่อยู่ที่การยอมสละตนเพื่อชาติ เช่นที่พวกเขาพร้อมจะยอมรับคนอย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่พื้นฐานทางการเมืองนั้นห่างไกลจากคำว่าขาวสะอาดอยู่มากได้นั่นเอง
และด้วยความที่คนเหล่านี้มีจุดตั้งต้นจากการสมาทานชุดคำสอนของพุทธทาส ที่ถูกนำมาพัฒนาต่อโดยกลุ่มหมอประเวศ ให้ฟังดูมีเหตุผล มีหลักการ และทันสมัย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่คนกลุ่มนี้จะรักและศรัทธาในพรรคประชาธิปัตย์มาเนิ่นนาน ด้วยคำพูดที่เพราะเสนาะหู และฟังดูเผินๆ เสมือนว่ามีหลักการอันหนักแน่น และไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอีกเช่นกัน ที่เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 9 ผู้เป็นตัวแบบทางความคิดและวัตรปฏิบัติอันสำคัญของความไม่เห็นแก่ตัวที่คนกลุ่มนี้ศรัทธา เราจึงได้เห็น ‘การอพยพย้ายข้างทางการเมืองครั้งใหญ่’ ของกลุ่มสลิ่มก้าวหน้าแต่เดิม มาสู่ชุมชนทางการเมืองอื่นๆ แทน อย่างพรรคภูมิใจไทย เศรษฐกิจใหม่ และแน่นอนว่ารวมไปถึงพรรคอนาคตใหม่ด้วย อยู่ที่ว่าเอนเอียงในเชิงความคิดไปทางระบอบแบบไหน มีคำถามในใจเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด สลิ่มก้าวหน้าอพยพนี้จึงเป็นปรากฏการณ์ของการ ‘หาตัวแบบใหม่’ ในการนำทางความคิดและการกระทำของตนอย่างหนึ่งด้วยนั่นเอง ในแง่นี้มันจึงไม่ใช่การ ‘ล้างเท้า’ จากสภาวะความเป็นสลิ่มในตัวเอง หากแต่ความเป็นไปได้ย่อมมีอยู่ ตราบที่ชุมชนทางการเมืองใหม่ที่พวกเขาเข้าไปสังกัดนั้น สามารถเปลี่ยนปลายทางของเป้าประสงค์จาก ‘ความไม่เห็นแก่ตัวและคนดี’ ทั้งหลายไปสู่การมีระบอบประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งโดยเสรีและเป็นธรรมเป็น ‘ปลายทาง’ โดยสมบูรณ์ได้
ถึงที่สุดแล้ว ผมคิดว่ากุศโลบายในการประกาศงดรับเงินเดือนของ นาย ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรีนั้น คือการส่งสารแสดงความ ‘ไม่เห็นแก่ตัว’ (ในทางหนึ่งการ ‘ปิดทองหลังพระ’ ก็อาจจะนับได้ แต่ผมคิดว่าการปิดทองหลังพระ แล้วประกาศตนว่าปิดทองหลังพระนั้น มันไม่น่าจะนับว่า ‘ไม่ทำเพื่อตัวเอง’ ได้นักก็ตาม) นี้ไปยังเหล่าสลิ่มก้าวหน้าที่ยังคงเหลือรอด และสนับสนุนรัฐบาลนี้อยู่นั่นเอง ซึ่งโดยมากแล้วผมเชื่อว่าน่าจะอยู่ตามพรรคร่วมรัฐบาลที่ตอนต้นทำที ‘เป็นกลาง มีอุดมการณ์’ มากกว่าพรรคพลังประชารัฐนั่นเอง
และ ใช่ครับ ทั้งหมดที่ผมเขียนมานี้ แม้จะขึ้นชื่อว่าเขียนถึงคำประกาศของประยุทธ แต่ไม่ได้เขียนเพื่อตัวคำเหล่านี้โดยตัวมันเอง ผมเพียงใช้มันเพื่อเล่าในสิ่งอื่น ซึ่งก็สุดแท้แต่ที่ท่านผู้อ่านจะจินตนาการ
Illustration by Waragorn Keeranan