กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย แต่ก็มาเจอกับโรคระบาดเอาซะงั้น แถมพอย้อนกลับไปดูชีวิตที่ผ่านมา ก็เห็นว่าต้องเผชิญอะไรมาหลายๆ อย่างเหมือนกันนะ
กว่าจะอายุครบ 18 แล้วก้าวเข้าสู่อีกช่วงวัยหนึ่ง เหตุการณ์ต่างๆ ที่คนที่เกิดในปี พ.ศ. 2545 (หรือเท่ากับปี ค.ศ.2002) ต้องพบเจอนั้น มีทั้งภัยพิบัติ โรคระบาด วิกฤตทางการเงิน และเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ เรียกได้ว่า เส้นทางการเติบโตสำหรับเด็กยุคนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเอาซะเลย
The MATTER เลยขอมาสำรวจช่วงชีวิตของเด็กที่อายุ 18 ในตอนนี้ ว่าตั้งแต่เกิดมา จนถึงปัจจุบัน เขาต้องเผชิญเหตุการณ์อะไรมาบ้าง?
2545 (แรกเกิด): โรค SARS ระบาด
เริ่มต้นชีวิตกันด้วยโรคระบาดที่มีจุดกำเนิดมาจากมณฑลกวางตุ้งของจีน ก่อนจะแพร่กระจายไป 29 ประเทศ ซึ่งตามรายงานของ WHO ระบุว่า มีผู้ป่วยโรค SARS ทั่วโลก 8,098 ราย และมีผู้เสียชีวิต 774 ราย โดยประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงจากการมีผู้ติดเชื้อ และทางอ้อมการด้านเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน
2547 (อายุ 2 ปี): สึนามิ
หลังจากลืมตาดูโลกมาได้ประมาณ 2 ปี วันที่ 26 ธันวาคม ปี พ.ศ.2547 แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวใต้ท้องทะเล ที่มีศูนย์กลางอยู่บริเวณของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ทำให้เกิดคลื่นยักษ์ที่เรารู้จักกันว่า ‘สึนามิ’ ซัดถล่มทางตอนใต้ของไทยไปหลายจังหวัด ส่งผลให้มีผู้สูญเสีย ผู้บาดเจ็บ และผู้สูญหายเป็นจำนวนมาก
หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ คำว่า ‘สึนามิ’ ซึ่งเคยเป็นสิ่งที่หลายคนมองว่า ไม่ใช่เรื่องใกล้ตัว กลายเป็นสิ่งที่เราต้องมาให้ความสำคัญ และหาทางรับมือให้มากยิ่งขึ้น
2547 (อายุ 2 ปี): ไข้หวัดนก
นอกจากภัยพิบัติทางธรรมชาติแล้ว อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ถาโถมเข้ามาในช่วงวัยเดียวกันของเด็กรุ่นนี้ (ที่แม้จะยังไม่ค่อยรู้ความมากเท่าไหร่) ก็คือ การระบาดของไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ซึ่งแม้จะมีการพบเชื้อกันมาก่อนหน้านั้นแล้ว และเริ่มระบาดหนักขึ้นเรื่อยๆ ในปี พ.ศ.2547 โดยมีผู้เสียชีวิตด้วย โดยการระบาดในครั้งนั้น เป็นการระบาดมาจากสัตว์ปีก ทำให้อุตสาหกรรมสัตว์ปีกได้รับผลกระทบอย่างหนักไปด้วยเช่นกัน
2549 (อายุ 4 ปี): รัฐประหาร 49
พออายุได้ประมาณ 4 ปี เด็กรุ่นนี้ก็ได้พบกับการรัฐประหารครั้งที่ 12 ของไทย ซึ่งเป็นการรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจจากรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 กันยายน ปี พ.ศ.2549 นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน กินเวลาไป 1 ปี 3 เดือน 4 วัน โดยแต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตองคมนตรี มาเป็นนายกรัฐมนตรี
จนกระทั่งมีการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม ปี พ.ศ.2550 และพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนั้น ก็คือ พรรคพลังประชาชน ซึ่งเกิดมาหลังจากที่พรรคไทยรักไทยถูกยุบไป ทำให้ สมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคดังกล่าว มาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของประเทศไทย
2551 (อายุ 6 ปี): กลุ่มพันธมิตรฯ ปิดสนามบิน
หลังจากที่ สมัคร สุนทรเวชเป็นนายกยังไม่ทันครบวาระ 4 ปี ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากตำแหน่งไปเสียก่อน เพราะจัดรายการโทรทัศน์ ‘ชิมไปบ่นไป’ แล้วสภาผู้แทนราษฎรก็มีมติให้ สมชาติ วงศ์สวัสดิ์ ขึ้นเป็นนายกคนต่อไป
มติในครั้งนั้น ทำให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่พอใจอย่างมาก แล้วเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดของการชุมนุมในครั้งนั้น ก็คือ การเข้ายึดท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 24 พฤศจิกายน ปี พ.ศ.2551 ทำให้สนามบินต้องปิดการขึ้นลงของเที่ยวบิน และรัฐบาลทั่วโลกต้องประกาศให้เลี่ยงการเดินทางมาไทย เรียกได้ว่า พอขึ้นชั้นประถมปุ๊ป เด็กรุ่นนี้ก็ได้เจอกับอีกหนึ่งเหตุการณ์ครั้งสำคัญทางการเมืองกันเลย
2551 (อายุ 6 ปี): วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์
ในช่วงเดียวกันนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคของเด็กรุ่นนี้ก็คือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ หรือวิกฤตซับไพรม์ ซึ่งจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์การเงินครั้งใหญ่เกิดขึ้นหลังจากที่ Lehman Brother ธนาคารเพื่อการลุงทุนรายใหญ่ของสหรัฐฯ ยื่นขอล้มละลายอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีสาเหตุมาจากภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ เมื่อธนาคารปล่อยสินเชื่อที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (Subprime) มากเกินไป ทำให้เศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญปัญหาหนัก และกินเวลายาวนานหลายปี
2553 (อายุ 8 ปี): สลายการชุมนุม นปช.
อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง เมื่อการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ประกาศยกระดับในปี พ.ศ. 2553 โดยมีเป้าหมายให้รัฐบาลของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภาและจัดเลือกตั้งใหม่ แต่ก็ไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ จนรัฐบาลอภิสิทธ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และตั้งหน่วยงานศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ขึ้น เพื่อสลายการชุมนุม
จากนั้นก็มีการเจรจากันอีก แต่ข้อเสนอที่กลุ่ม นปช.ยื่นไปนั้น ไม่ได้รับการตอบรับ การชุมนุมจึงดำเนินต่อไป ทำให้รัฐบาลและทหารใช้ยุทธการ ‘กระชับวงล้อม’ ซึ่งเป็นการยุติการชุมนุมด้วยความรุนแรง และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 94 ราย
2554 (อายุ 9 ปี): น้ำท่วมครั้งใหญ่
เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2554 ยังตราตรึงอยู่ในความทรงจำของเรา ซึ่งหากเทียบกับคนที่ตอนนี้อายุ 18 เหตุการณ์นี้ก็คงเกิดในช่วง ป.4-5 โดยสาเหตุของน้ำท่วมในครั้งนี้ มาจากมรสุมที่เข้ามาทางตอนเหนือของเวียดนาม ทำให้ตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของไทยมีฝนตกหนัก จนเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบไปหลายจังหวัด ซึ่งผลจากอุทกภัยในครั้งนั้น ก็ทำให้ผู้คนต้องอพยพเข้าสู่ศูนย์พักพิงชั่วคราวเป็นจำนวนมากเป็นประวัติการณ์
2555 (อายุ 10 ปี): ปฏิทินมายาทำนายวันสิ้นโลก
เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งใน talk of the world ที่ลือลั่นกันมากๆ กับความเชื่อว่า โลกจะถึงจุดจบแล้ว เมื่อชนเผ่าโบราณ ‘มายา’ เขียนปฏิทินเอาไปไว้ถึงแค่วันที่ 21 ธันวาคม ปี พ.ศ.2555 เท่านั้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็เขียนปฏิทินมานานกว่า 5,125 ปี (เริ่มตั้งแต่ 3,114 ปีก่อนคริสตศักราช) ประกอบกับภาพยนตร์เรื่อง 2012 ที่เล่าเรื่องราววันสิ้นโลกเอาไว้ซะน่ากลัว จนหลายคนเชื่อกันจริงๆ ว่า โลกของเราจะสิ้นสุดแค่ปีนั้นแล้วแน่ๆ .. แต่สุดท้าย เราก็ยังอยู่กันมาถึงปีนี้แล้วเนอะ
2557 (อายุ 12 ปี): ชัตดาวน์ กทม.โดย กปปส.
ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเข้าสู่ชั้นมัธยม เสียงนกหวีดของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ก็ดังขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ…ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับทักษิณ ชินวัตร และยังเรียกร้องให้ยิ่งลักษณ์ ลาออกจากการเป็นนายกฯ อีกด้วย โดยแกนนำในครั้งนั้น คือ สุเทพ เทือกสุบรรณ
จุดพีคสุดของการชุมนุมในครั้งนั้นนำไปสู่การชัตดาวน์ กทม. ในวันที่ 13 มกราคม ปี พ.ศ.2557 และปิดสถานที่สำคัญ 7 แห่ง ได้แก่ แจ้งวัฒนะ ห้าแยกลาดพร้าว อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แยกปทุมวัน สวนลุมพินี แยกอโศก แยกราชประสงค์ ทั้งยังกินเวลาในการชุมนุมไปกว่า 1 เดือนครึ่ง และนำไปสู่เหตุการณ์ต่อไป
2557 (อายุ 12 ปี): รัฐประหาร 57
ความอัศจรรย์(?)ในชีวิตของเด็กรุ่นนี้คือ แม้จะอายุเพียง 12 ปี แต่ก็ได้เป็นสักขีพยานการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง โดยการรัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม ปี พ.ศ. 2557 และถือเป็นเหตุรัฐประหารครั้งที่ 13 ของประเทศไทย โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำเพื่อยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล (รัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)
แม้ พล.อ.ประยุทธ์และพวกพ้องจะบอกว่าขอเวลาอีกไม่นาน แต่ก็อยู่ในอำนาจยาวถึง 4 ปี 10 เดือน 2 วัน กว่าจะได้เลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม ปี พ.ศ.2562 (แล้วก็ใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าจะจัดตั้งรัฐบาล) นับเป็นการรัฐประหารที่ยาวนานเป็นอันดับที่ 2 รองจากการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ปี พ.ศ.2501
2562 (อายุ 17 ปี): พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ (อีกรอบ)
หลังจากอยู่ในตำแหน่งมา 4 ปี กว่าจะมีการเลือกตั้ง แต่สุดท้าย ในวันที่ 28 มีนาคม ปี พ.ศ.2562 กกต.ก็แถลงผลการนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตอย่างเป็นทางการครบ 100% ว่า พรรคพลังประชารัฐได้คะแนนเสียงไป 8.4 ล้านเสียง ทิ้งห่างพรรคเพื่อไทยไป 5 แสนกว่าเสียง จากตอนแรกที่ได้คะแนนไป 7.9 ล้านเสียง ซึ่งผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ถูกตังคำถามและมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะข้อสังเกตหลายอย่าง เช่น ความไม่ชัดเจนของเกณฑ์การนับคะแนน การทิ้งช่วงเวลาในการนับคะแนน เป็นต้น
อย่างไรก็ดี บทสรุปจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ (ที่เด็กรุ่นนี้โตไม่ทัน เลยยังไม่ได้ใช้สิทธิ์) ทำให้ก่อนที่เด็กรุ่นนี้จะจบ ม.ปลาย ก็ยังมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีของไทยต่อมาจนถึงปัจจุบันนั่นเอง
2563 (อายุ 18 ปี): โรค COVID-19 ระบาด
เริ่มต้นปีมาด้วยข่าวว่า มีโรคที่คล้ายคลึงกับ SARS กำลังแพร่ระบาดในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยของจีน ต่อมาพบว่า โรคดังกล่าวเป็นผลมาจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่ในช่วงแรกๆ นั้นก็ยังไม่มีการยืนยันว่าสามารถแพร่ระบาดจากคนสู่คนได้ และคนที่ป่วยด้วยโรคนี้ ก็ล้วนเกี่ยวข้องกับตลาดค้าสัตว์ป่าในเมืองเท่านั้น
แต่แล้ว สัญญาณการแพร่ระบาดก็เริ่มรุนแรงขึ้น เมื่อมีรายงานผู้เสียชีวิตรายแรก ในวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา แล้วการแพร่ระบาดก็เริ่มกระจายหนักไปทั่วโลก พร้อมด้วยชื่ออย่างเป็นทางการว่า COVID-19 โดยล่าสุด (29 เมษายน) มียอดผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกทะลุ 3 ล้านราย และยอดผู้เสียชีวิตอีก 200,000 กว่าราย ทำให้หลายประเทศต้องล็อกดาวน์ โดยการห้ามคนออกจากบ้าน และปิดกิจการต่างๆ เช่นเดียวกับสถานศึกษา ซึ่งทำให้เด็กที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัยในปีนี้เผชิญกับอาการ ‘เคว้ง’ ขั้นรุนแรงเลยทีเดียว
อ้างอิงจาก