จะมีเรื่องใดในกระแสสังคมปัจจุบัน ที่ถูกพูดถึงมากเท่ากับปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI
ในเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา เสียงการพูดถึงและการถกเถียงเกี่ยวกับ AI เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมัน Generative Models มากมายเข้าถึงมือผู้บริโภคและคนทั่วไป บ้างมองไปยังอนาคตถึงความเป็นไปได้ของ AI ในการนำพาโลกไปข้างหน้า บ้างก็มองไปยังจริยธรรมของมันในแง่มุมต่างๆ มองมายังปัจจุบันเกี่ยวกับวิธีการที่พวกมัน ‘เรียนรู้’ หรือมองไปยังมุมว่ามันจะมาแทนที่วิชาชีพที่ไม่ควรจะทำแทนได้หรือไม่ และอีกหลากหลายแง่มุม
ทว่าหนึ่งในมุมที่เราเห็นไม่บ่อยเมื่อพูดคุยเกี่ยวกับ AI คือการมองในมุมพุทธศาสนาและพุทธปรัชญา ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ เนื่องจากเรากำลังพูดคุยเรื่องนี้กันอยู่ในพื้นที่ที่เราเรียกว่า ‘เมืองพุทธ’ และหากไม่ไปมองในมุมของพิธีกรรมมากมาย ปรัชญาพุทธศาสนาเองก็พูดถึงการตื่นรู้ การมีอยู่ จิตสำนึก ฯลฯ อยู่บ่อยๆ โดยทั้งหมดเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ AI โดยตรง อย่างไรก็ดี สมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทย ก็ได้จัดเสวนาออนไลน์เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวเนื่องในโอกาสวันปรัชญาโลกที่ผ่านมาให้เราได้ฟังกัน
พุทธศาสนา จิตสำนึก ปัญญาประดิษฐ์ เป็นงานเสวนาที่พาเราไปหาที่ทางของ AI ในโลกมนุษย์ผ่านมุมมองพุทธปรัชญากับวิทยากร ศ.ดร.สมภาร พรมทา นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ นายกสมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทย ซึ่งในบทสนทนาตลอดเวลา 2 ชั่วโมง มีแง่มุมน่าสนใจมากมายเกี่ยวกับจิตสำนึกของ AI และความเป็นไปได้ที่ในฐานะเทคโนโลยีของ AI จะเป็นตัวช่วยพาชาวพุทธไปสู่การพ้นทุกข์ได้
AI มีจิตสำนึกในทางพุทธศาสนาหรือเปล่า?
การถามหาจิตสำนึก (Consciousness) เป็นสิ่งที่มาคู่กับการพัฒนา AI ตั้งแต่ต้น ในแง่มุมหนึ่งมนุษย์สร้าง AI ขึ้นมา โดยการเลียนแบบภาพการคิดของพวกเขาเอง และจิตสำนึกกับปัญญาก็เป็นส่วนสำคัญที่เราในฐานะมนุษย์ ยกตัวเองออกมาเหนือจากสัตว์ชนิดอื่นๆ ดังนั้นคำถามคือหากมีบางสิ่งที่สามารถแสดงออกได้ว่า มันมีความคิดคล้ายกับมนุษย์ แล้วต้องคล้ายมากเท่าใดกันที่จะบอกได้ว่าสิ่งนั้นๆ คือมนุษย์? คล้ายมากขนาดไหนถึงจะบอกได้ว่า จิตสำนึกของ AI จะเหมือนกับมนุษย์?
คำถามแรกของงานเสวนาคือ พุทธศาสนามองจิตสำนึกของ AI ว่ายังไง? ศ.ดร.สมภาร ปูพื้นฐานเกี่ยวกับมุมมองของพุทธศาสนาในเรื่องจิตสำนึก โดยกล่าวว่าคอนเซ็ปต์ของจิตสำนึกในศาสนาพุทธนั้นมีวิวัฒนาการเสมอมา “ถ้าเป็นสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าคงยังไม่แย้งคนที่มาบอกว่าเอไอสามารถมีจิตได้ แต่ในสมัยใหม่ที่เราเรียกว่าอภิธรรมเนี่ย นักอภิธรรมจะโต้แย้งทันทีว่าเอไอเป็นสสาร มันเป็นแค่รูปธรรม ไม่มีนามธรรมอยู่ในนั้น ดังนั้นเอไอจะมีจิตไม่ได้” เขาพูด ก่อนขยายความมุมมองส่วนตัวว่า เขาเลือกใช้การตีความของพระพุทธเจ้าเป็นหลักเมื่อพูดคุยเรื่องนี้
ศ.ดร.สมภาร ยังได้อ้างไปถึงงานวิชาการของตัวเอง เมื่อพูดเกี่ยวกับจิตสำนึกได้ว่า มันแบ่งออกเป็น 3 อย่าง นั่นคือ
- Ontological Consciousness จิตสำนึกที่ปรากฏชัดมาก เช่น เมื่อเราคิดอะไรสักอย่าง เราจะรู้ว่าเรากำลังคิดอยู่
- Practical Consciousness จิตสำนึกเชิงใช้งานที่ไม่เด่นชัด แต่มีอยู่และสังเกตได้หากต้องการ เช่น การขับรถจนเคยชิน เราจะไม่จงใจขับรถ แต่นั่นเป็นระบบอัตโนมัติ
- Unconscious Consciousness จิตสำนึกที่ไม่อนุญาตให้เราเห็น เช่น การทำงานของหัวใจที่ทำงานเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ได้โดยที่มันรู้ตัวของมันเองว่าต้องทำอะไร แต่เราไม่อาจรับรู้ได้ว่ามันกำลังทำสิ่งนั้น
เขากล่าวต่อว่าในมุมมองของเขา หากเอไอมีจิต จิตของมันคงทำงานอยู่ในระดับของ Unconscious Consciousness เท่านั้น เพราะ “เอไอไม่รู้ตัวว่ามันคิด และเราไม่รู้ว่าเอไอคิด” ทั้งยังอธิบายที่มาที่ไปของแนวคิดดังกล่าวว่า มาจากการพินิจทดลอง Turing Test โดยอลัน ทัวริง (Alan Turing) นักวิทยาศาสตร์สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ชาวอังกฤษ “ทัวริงบอกว่า หากเราคุยกับคนผ่านคอมพิวเตอร์เหมือนที่คอมพิวเตอร์คุย แล้วเราแยกไม่ออกว่าอันไหนคน อันไหนคอมพิวเตอร์ ก็ให้ถือว่าสิ่งนั้นคิดได้ แต่ผมคิดว่าการคิดได้ของมันอาจไม่รู้ตัวของมันเอง มันไม่มีทางรู้…เมื่อเรามองการทำงานของหัวใจ มันก็คล้ายกับการทำงานของเอไอ เราแยกไม่ออกว่ามันคิดหรือไม่คิด แต่มันแสดงออกว่ามันมีความคิดเหมือนคน”
ในขณะที่เขามองว่า เอไออาจเรียกว่ามีจิตได้ในแง่มุมหนึ่ง แต่จิตของ AI ก็ไม่เท่ากันกับจิตของมนุษย์และสัตว์ “สำหรับผมนี่มันต้องแยกกันครับ” และเล่าต่อว่าเกณฑ์ของทัวริงนั้นพูดคุยอยู่ในระดับผิวชั้นบน ไม่ได้ลึกไปถึงภายใน และการคิดได้ก็ไม่จำเป็นต้องแปลว่า มีจิตเทียบเทียมมนุษย์หรือสัตว์ “ในทรรศนะของพระอภิธรรม ของพุทธศาสนา เอไอก็มีแต่รูปขันธ์อย่างเดียว ไม่มีนามขันธ์ซึ่งคือจิต มันคิดไม่ได้ตั้งแต่ต้น”
ศาสนาพุทธและการวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี
โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต ฯลฯ เราเรียกว่าสิ่งเหล่านี้ว่าจำเป็นต่อการใช้ชีวิตในโลกปัจจุบันก็คงไม่ผิด คำถามถัดมาของงานเสวนาคือ การตั้งคำถามต่อผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับพุทธปรัชญาว่า มีมุมมองอย่างไรกับสังคมที่ดูเหมือนจำต้องเดินทางไปยังที่ที่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้นไปเรื่อยๆ มากขึ้นไปตั้งแต่ภายนอกถึงภายในใจ
“ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่เชื่อในเรื่องวิวัฒนาการนะครับ ในพระไตรปิฎกเองก็บอกว่า ก่อนเราจะเป็นมนุษย์ เราเคยเป็นอย่างอื่นมาก่อน” ศ.ดร.สมภารพูดเกี่ยวกับมุมมองของศาสนาต่อการวิวัฒนาการว่า ทั้ง 2 แนวคิดไปด้วยกันได้ ทว่าในแง่มุมของการวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี อาจต้องอาศัยการพิเคราะห์กันมากขึ้นไปอีกชั้น แต่ในตัวของมันเองก็ไม่ใช่ปัญหา เนื่องจากเขาเชื่อว่าธรรมชาติของศาสนาพุทธ เป็น ‘ศาสนาธรรมชาตินิยม’ โดยอธิบายต่อว่า “ธรรมชาตินิยมคือ เราไม่รู้หรอกครับว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ มนุษย์ต้องทดลองทำก่อน และหากว่ามนุษย์ทำได้ นั่นแหละครับแปลว่าธรรมชาติเปิดทางไว้แล้ว”
เทคโนโลยีในโลกปัจจุบันของเรา เช่น จักรยาน หรือรถยนต์ ถูกออกแบบมาให้ทำหน้าที่เป็นสิ่งทุ่นแรงมนุษย์ โดย ศ.ดร.สมภารมีมุมมองว่า ตัวช่วยเหล่านี้คือการช่วยภายนอก ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ต้องกังขามากว่ามันช่วยเราได้จริงๆ และทำได้หรือไม่ แต่สิ่งที่น่าสนใจและยังเป็นที่คุยกันอยู่คือ เทคโนโลยีที่ทำงานด้วย ‘การช่วยข้างใน’ พุทธศาสนาจะมีมุมมองยังไง หากมีเทคโนโลยีสักอย่างที่พาเราไปยังการดับทุกข์ได้?
ศ.ดร.โสรัจจ์ ยกหนังสือที่มีมุมมองสุดโต่งในเรื่องนี้ขึ้นมา นั่นคือ Unfit for the Future: The Need for Moral Enhancement เขียนโดยอิงมาร์ เพิสสัน (Ingmar Persson) และจูเลียน ซาวัลเลสคู (Julian Savulescu) นักปรัชญาชาวสวีเดนและนักชีวะจริยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ที่เสนอว่ามนุษยชาติใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้คนกลายเป็นคนดีขึ้น หรือที่เรียกว่า “การเพิ่มขีดความสามารถทางศีลธรรม” ซึ่งทำผ่านการกินยา
ที่มาที่ไปของแนวคิดนี้คือ พวกเขาคิดว่าการ ‘เป็นคนดี’ เป็นพฤติกรรมอย่างหนึ่ง เช่นนั้นแล้วการที่เราจะสามารถดัดแปลงการทำงานของสมองด้วยการใช้ยา ก็จะนำมาสู่พฤติกรรมที่ดีขึ้นใช่หรือไม่? แล้วการเดินเส้นทางไปยังการเป็น ‘คนดี’ อาจจะช้าและไม่ได้ผล หากมองโลกปัจจุบันที่แวดล้อมเราอยู่ เช่นนั้นทำไมเราถึงไม่กินยานั้นเสีย? ศ.ดร.โสรัจจ์เชื่อว่าไม่น่าจะมีใครเห็นด้วยเช่นกัน พร้อมให้ความเห็นว่า การมองเช่นนั้นเป็นการบอกว่า มนุษย์เป็นสารประกอบทางเคมีเท่านั้น และพุทธศาสนาไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนั้น
ศ.ดร.สมภาร พูดไปในทางเดียวกัน “ศาสนาพุทธมีหลักว่าเราต้องให้น้ำหนักระหว่าง ‘วิธีการ’ กับ ‘ปลายทาง’ สมดุลกัน หมายความว่ามันไม่ใช่ศาสนาที่บอกว่า ปลายทางเป็นยังไงก็ได้โดยไม่ต้องสนใจวิธีการ” พร้อมกับยกตัวอย่างว่าการไปแข่งฟุตบอลโลกไม่ต้องทำก็ได้ หากสิ่งที่เราอยากได้คือถ้วยรางวัล เราสามารถใช้วิธีการอื่น เช่น จ้างโรงงานมาผลิตถ้วยเหล่านั้นมาวางก็ได้ แต่ส่วนที่สำคัญคือ วิธีการและความพยายามระหว่างทางที่จะไปยังจุดที่ประเทศได้ถ้วยรางวัลนั้นมาต่างหาก
อาจฟังดูเป็นแนวคิดเชยๆ แต่ในแง่หนึ่งเราอาจเรียกได้ว่า พุทธศาสนาเชื่อว่าการเดินทางสำคัญกว่าปลายทาง ศ.ดร.สมภาร ได้อ้างอิงคำพูดของพระพุทธเจ้าว่า ศาสนาพุทธนั้นเป็น ‘ศาสนาแห่งสิกขา’ หรือการศึกษา การเรียนรู้เพื่อจะได้มาซึ่งสิ่งที่เราต้องการ เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าเชื่อว่ามันเป็นสำคัญในตัวของมันเอง
เมื่อพูดถึงประเด็นนี้ เขายังกล่าวต่อไปเกี่ยวกับประเด็นที่มีการถกเถียงมากมาย นั่นคือเรื่อง AI และความเป็นศิลปิน โดยเล่าว่าจากการทดลองให้ AI วาดภาพ ผลลัพธ์ที่ได้ยังคงรู้สึกไม่เป็นห่วงว่า AI จะมาแทนที่ศิลปินได้ เพราะ “เอไอไม่มีอัตลักษณ์ ไม่มีสไตล์เป็นของตัวเอง มันทำงานก็ต่อเมื่อเราป้อนคำสั่งให้มัน” ทั้งยังเชื่อมโยงว่าสิ่งที่นำมาซึ่งอัตลักษณ์คือ สิกขาของศิลปิน หรือประสบการณ์การใช้ชีวิตนั่นเอง “เอไอเขียนรูปได้ครับ แต่มันจะเป็นรูปธรรมดาๆ ไม่มีทางสู้ศิลปินได้” และเขายังขยายความต่อไปถึงเรื่องอื่นๆ เช่น การไม่สามารถสอนคุณธรรมได้ เนื่องจาก AI ไร้ประสบการณ์จึง “ให้ได้เพียงชุดของคำแนะนำทางจริยธรรม มาแทนท่านพุทธทาสไม่ได้”
ฟังๆ ดูแล้ว เมื่อมองผ่านเลนส์ของพุทธปรัชญา ที่ทางของ AI นั้นก็ดูชัดเจนมากขึ้นว่าเป็นอุปกรณ์ช่วยทุ่นแรงที่ดี แต่ต้องอยู่ในขอบเขต ไม่ใช่เพราะความอันตราย แต่ท้ายที่สุดเพราะว่ามันยังไม่ดีพอจะแทนที่มนุษย์ได้นั่นเอง