ชีวิตในโลกดิจิทัลแต่ละวันต้องเจอกับอะไรบ้าง? หลายคนอาจเริ่มต้นวันด้วยการเปิดมือถืออ่านข่าวจากทวิตเตอร์ เช็กอีเมลจากเพื่อนร่วมงาน หรือระหว่างทางก็ไถหน้าจอมือถือ ไล่เรียงดูนิวฟีดส์เฟซบุ๊กว่ามีอะไรที่น่าสนใจเกิดขึ้นบ้างในรอบวัน
ที่น่าสนใจคือ ในหลายๆ ครั้งการเข้าไปอยู่ในโลกดิจิทัลยังเรียกร้อง ‘ข้อมูลส่วนตัว’ ของพวกเราหลายอย่าง หรือบางครั้งเราเองก็เผลออาจลืมไปว่า เราได้ทิ้งข้อมูลส่วนตัวเอาไว้ในโลกดิจิทัลใบนี้แค่ไหนบ้าง?
ประเด็นเรื่องการรู้เท่าทันโลกดิจิทัล หรือ digital literacy จึงดูเหมือนว่าจะสำคัญมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในแง่ของการทำความเข้าใจว่า ในโลกดิจิทัลที่พวกเราเข้ามาอยู่นั้นถูกรายล้อมด้วยความเสี่ยงในเรื่องใด และเราควรจะปรับตัวเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวได้อย่างไรบ้าง
The MATTER คุยกับ อ.ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล จากคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้ที่ติดตามความเปลี่ยนแปลงในโลกดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง นี่คือบทสัมภาษณ์ที่ว่าด้วย การรู้เท่าทันโลกดิจิทัล ที่ไม่ใช่แค่เรื่องการปกป้องความเป็นส่วนตัว แต่ยังรวมถึงการตั้งข้อสงสัยต่อข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน
-1-
digital literacy
ในมุมของอาจารย์แล้ว digital literacy มันคืออะไร
มันมีความเข้าใจหลายแบบนะ สำหรับเรา literacy มันเหมือนกันรู้ภาษา ซึ่งการอ่านออกเขียนได้ในภาษาหนึ่งมันไม่ใช่แค่รู้แกรมม่า หรือเขียนเป็นอ่านเป็นเฉยๆ แต่มันต้องรู้คอนเซ็ปต์ของมัน
digital literacy มันคือการเข้าใจตัวเทคโนโลยีพื้นฐานที่เราใช้ เข้าใจไวยากรณ์ของมัน เข้าใจว่ามันถูกใช้ในบริบทไหนได้บ้าง digital literacy มันมีความหมายดั้งเดิมกับคำว่า literacy แบบดั้งเดิม นั่นคือการอ่านออกเขียนได้ในโลกดิจิทัล
digital literacy ต่างจาก literacy แบบที่เราเคยรู้จักกันยังไงบ้าง
ตัวอย่างของแบบเดิมคือ การอ่านหนังสือแล้วเข้าใจว่า การใช้ฉายานามเพื่อเรียกนักการเมืองมันมีความหมายแบบหนึ่ง มันมีเซ้นส์ของอารมณ์ขัน มีความเสียดสี สุภาพในแบบที่ยังรับได้ อันนี้คือภาษา
literacy แบบเดิมที่เป็นการอ่านออกเขียนได้ มันคือการเห็นข้อความหรือเนื้อหาแล้วเข้าใจมันได้ และเข้าใจอย่างถูกต้องแค่นั้น ส่วนจะเอาไปใช้ยังไงมันก็ไม่ได้เกี่ยวกับเรามากขนาดนั้น อย่างมากก็คือในกรณีที่เขียนแล้วมันไปมีผลว่าร้ายคนอื่น คุณก็อาจจะต้องรับผิดชอบกับมัน
แต่ digital literacy มันไม่ใช่แค่เรื่องเนื้อหาของตัวข้อความที่สื่อสารอย่างเดียว มันรวมไปถึงเรื่องดิจิทัลและเทคโนโลยีด้วย เช่น เราแชร์เนื้อหานั้นเฉพาะในกลุ่มเพื่อน หรือแชร์เฉพาะในกลุ่มบางกลุ่ม แต่เมื่อมันไปปรากฎในที่สาธารณะมันก็จะมีลักษณะอีกแบบหนึ่ง
เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราต้องเข้าใจคือ เช่น privacy setting มันมีความหมายว่าอะไร privacy setting สำหรับเราที่มีเพื่อนพันคน กับคนที่มีเพื่อนร้อยคนก็ไม่เหมือนกัน ลักษณะของการเป็นสาธารณะก็ไม่เท่ากันอีก คือความต่างมันเยอะมาก บริบทมันเยอะมาก และเทคโนโลยีมันก็เยอะมาก บางคนก็ไม่รู้ว่าการส่งข้อความจากเราไปหาอีกคนผ่านอีเมล กับส่งด้วยแอพฯ ต่างๆ มันก็มีความปลอดภัยไม่เท่ากัน ซึ่ง digital literacy มันรวมถึงเรื่องพวกนี้ทั้งหมดเลย
การจะเข้าใจโลกดิจิทัลที่มันซับซ้อนมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน อย่างนี้เราจะเริ่มต้นจากอะไรดี
ไม่ใช่เรื่องง่ายและมันต้องเกิดจากการฝึกฝน มันเหมือนเราหัดขี่จักรยาน การขี่จักรยานให้เป็นนั้นเราอาจจะไม่ต้องรู้หรอกว่า จักรยานมันถูกประกอบขึ้นมาจากอะไร แต่เราต้องรู้ว่าการทรงตัวอยู่บนจักรยานต้องใช้ร่างกายส่วนไหนบ้าง ต่อให้เรารู้ทฤษฏีแล้ว แต่ขี่ไม่คล่อง เราก็ขี่ไม่ได้อยู่ดี
นั่นแปลว่า เราควรจะรู้ว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นโลกดิจิทัลนั้นมันสามารถมีความหมายอะไรได้บ้าง สิ่งที่เกิดขึ้นในบริบทหนึ่งอาจจะมีอีกความหมายในอีกบริบทก็ได้
อยากให้ลองยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้น อย่างในกรณีการใช้เฟซบุ๊ก
ง่ายๆ เลยคือเรื่องการตั้งค่า privacy setting ต้องเข้าใจก่อนว่าเฟซบุ๊กที่เราใช้อยู่มันเปิดค่าสาธารณะไว้แค่ไหน เช่น เราตั้งค่าให้ชื่อของเราสามารถค้นหาได้โดยคนที่ไม่ใช่เพื่อนรึเปล่า ซึ่งถ้าเราตั้งค่าให้ชื่อเราไม่สามารถค้นหาให้เจอได้จากคนที่ไม่รู้จัก มันก็แปลว่าความเป็นสาธารณะของเฟซบุ๊กเราแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน
การรู้ว่าเฟซบุ๊กของเรามันสามารถถูกค้นหาได้ หรือรู้ว่าถ้าคนอื่นเอารูปที่เราโพสต์ไว้ไปค้นหาใน google image เขาก็อาจจะหาตัวเราเจอได้เหมือนกัน รวมถึงการรู้ว่าข้อมูลส่วนตัวบางอย่างควรเปิดเผยบนเฟซบุ๊กไหม เช่น เบอร์โทรศัพท์ควรใส่ไว้ในเฟซบุ๊กรึเปล่า เรื่องทำนองนี้ก็เป็น digital literacy นะ
หรือถ้าเราตั้งให้โพสต์ของเราเห็นได้แค่เพื่อนเท่านั้น แต่ถ้าเพื่อนของคุณบางส่วนเป็นนักข่าว อะไรแบบนี้ สิ่งที่โพสต์ไปก็อาจจะเป็นข่าวได้นะ ซึ่งเราก็ควรรู้นะว่า privacy setting ของเรามันตั้งค่าต่างๆ ได้ หรือจะตั้งให้แบ่งแยกบางคนออกไปก็ได้
ในแง่นี้ digital literacy มันเลยรวมถึงการรู้ว่าสิ่งที่เราเปิดเผยในโซเชียลมีเดียจะมีผลอย่างไรกับตัวเราได้บ้าง
ใช่ คือเมื่อคุณมีความสามารถเรื่องอ่านออกเขียนได้บนโลกดิจิทัลแล้ว ที่เหลือมันก็เป็นวิจารณญาณของตัวคุณแล้วว่าคุณจะใช้มันยังไง แต่ปัญหาของเราในตอนนี้ก็คือว่า หลายคนยังไม่รู้เลยว่ามันทำแบบนี้ได้นะ
จากที่คุยกันมา digital literacy ไม่ใช่แค่ media literacy
มันต่างกัน แต่ก็มีความเชื่อมโยงอยู่นะ เพราะเดี๋ยวนี้สื่อมันอยู่บนโลกดิจิทัลหมดแล้ว แม้คุณจะรู้เท่าทันสื่อในความหมายแบบดั้งเดิม คือรู้ว่าควรจะต้องตรวจสอบแหล่งที่มาข่าวจากหลายๆ แห่ง หรือต้องไม่ใช่เชื่อทุกอย่างที่สื่อพูด ซึ่งต่อให้คุณรู้พวกนั้นเรื่องแบบนั้น แต่เมื่อมันอยู่ในโลกดิจิทัล คุณอาจจะไม่รู้อีกต่อไปแล้วก็ได้นะ เพราะบริบทในโลกดิจิทัลมันอาจจะมีเว็บปลอม หรือเว็บที่ไม่ใช่ข่าวจริงก็ได้
ในขณะเดียวกัน คุณต้องรู้ด้วยว่าของแบบนี้มันปลอมกันได้ หรือเนื้อหานั้นต้องการล้อเลียนหรือมีวัตถุประสงค์อะไรที่ทำสิ่งนั้นขึ้นมา
กำลังจะบอกว่าในยุคนี้ media literacy ไม่พออีกต่อไป
ใช่ ไม่มีทางพออีกต่อไป
แล้วเราจะเริ่มต้นยังไงดี
เริ่มได้จากเข้าไปปรับ default setting (ค่าตั้งต้นของโปรแกรมต่างๆ) ของพวกเราเองก่อนเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนไม่ได้ทำ หรือยังไม่ปรับก็ได้ อย่างน้อยเข้าไปรับรู้ว่า default setting มันเป็นยังไง ในขณะเดียวกัน literacy มันเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ มันไม่ใช่เรื่องที่สอนปุ๊ปแล้วก็รู้ในทันที
เหมือนต้องลองผิดลองถูกกันไปก่อนรึเปล่า
จริงๆ แล้วถ้าเราอ่านพวกเงื่อนไขต่างๆ ที่ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียให้เราอ่าน เราก็จะรู้เกือบหมดเลยนะ แต่มันก็ใช่ความผิดของเราขนาดนั้นหรอกถ้าเราจะไม่อ่าน เพราะเนื้อหามันเยอะมาก มันเคยมีคนทำวิจัยว่า ถ้าเราต้องอ่านนโยบายเรื่องความเป็นส่วนตัวของทุกบริการที่ใช้บนอินเทอร์เน็ต เราก็อาจจะต้องใช้เวลาทั้งหมดเกิน 1 ปี ขณะที่คนที่ให้ข้อมูลกับเรา เขาก็ต้องทำให้มันอ่านได้ง่ายขึ้น ซึ่งผู้ให้บริการก็ทำได้ดีขึ้นแล้ว คือคนใช้ต้องอ่าน ส่วนคนให้บริการก็ต้องทำเนื้อหาให้ง่ายกับการอ่าน
นอกจากนี้ เมื่อมันมีความเสียหายต่างๆ เกิดขึ้นเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน มันต้องมีการตีข่าวออกไปนะ ซึ่งสื่อแบบดั้งเดิมและสื่อในโซเชียลมีเดียช่วยเรื่องนี้ได้ เพื่อกดดันผู้ให้บริการอีกทางหนึ่ง และเพื่อให้เราได้ลองผิดลองถูก โดยไม่ต้องลองจากประสบการณ์ส่วนตัว แต่เรียนรู้จากประสบการ์ของเพื่อนร่วมสังคมก็ได้
digital literacy มันมีมากๆ เท่ากับว่าเรามีประชาธิปไตยได้มากขึ้นไหม
เราคิดว่ามันสัมพันธ์ แล้วสัมพันธ์แปรผันตรงด้วยนะ โอเคมันอาจจะไม่ใช่เรื่อง literacy อย่างเดียวนะ เช่น ถ้าคนรู้ทันหมดเลยแต่มันมีกฎหมายที่มาปิดปากคุณ หรือมันมีอำนาจมืดมาปิดมากคุณ ประชาธิปไตยมันก็ไปไหนอยู่ดี สิ่งที่ literacy ให้กับเราคือ มันทำให้เกิดการแข่งขันที่มีคุณภาพทั้งเทคโนโลยีดิจิทัลและสื่อดิจิทัล
เพราะเมื่อเรารู้ทันแล้ว ผู้ให้บริการก็จะต้องทำตัวแบบที่มีคุณภาพด้วย มันก็จะทำให้เกิดการแข่งขันที่มีคุณภาพมากขึ้น มันก็ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนไอเดียที่หลากหลายในแง่คอนเทนต์ขึ้น ส่วนในแง่เทคโนโลยีนั้น การไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารในสังคมก็จะมากขึ้น ทำให้เราคุยกับคนที่แตกต่างได้มากขึ้น สิ่งเหล่านี้มันส่งเสริมประชาธิปไตยมากๆ
เราคิดว่า digital literacy ในตัวมันเอง มันทำให้เกิดการแข่งขันที่มีคุณภาพและหลากหลายของทั้งเนื้อหาและเทคโนโลยี ซึ่งนำไปสู่สังคมประชาธิปไตยได้ แต่ในขณะเดียวกัน เรามีแค่นี้ไม่ได้ เพราะต้องมีหลักประกันทางกฎหมายและเรื่องสิทธิด้วย มันถึงจะไปด้วยกัน
มองอย่างไรกับการเถียงกันเพื่อเอาชนะกันในโลกออนไลน์
การเถียงกันบนอินเทอร์เน็ตมันสำคัญนะ และเราสามารถมีเครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่ช่วยให้การเถียงกันมันดีขึ้นได้ อย่างในไต้หวันเขามีแพลตฟอร์มที่ให้คนมาเถียงมาโหวตกันเรื่องนโยบายต่างๆ คือแค่บอกมาว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เพื่อให้คนเห็นแนวโน้มของประเด็นว่ามันไปทางไหนแล้ว
ในฐานะคนใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไป เราสามารถทำอะไรให้บทสนทนาที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องมันดีขึ้นได้กว่าเดิม
อย่างแรกคือพยายามยั้งใจไม่ด่าพ่อแม่กันเนอะ ซึ่งเราก็เข้าใจนะว่ามันคือการปลดปล่อยอารมณ์ เพราะการใช้คำแรงๆ มันก็แปลว่ามันมีอะไรที่ทำให้เขารู้สึกได้รุนแรงแบบนั้น แต่แน่นอนการโจมตีตัวบุคคลมันก็ทำให้การคุยกันไม่สร้างสรรค์เท่าไหร่ ต้องคุยกันที่ตัวเนื้อหามากกว่า
ทุกคนมีอคติและจุดยืนของตัวเองอีกแล้ว ถ้าพูดแบบคลีเชหน่อย ก็คือต้องเรียนรู้ที่จะ agree to disagree แต่ก็จะมีคนที่เชื่อว่าเรื่องนี้มัน disagree ไม่ได้แล้วนะ ซึ่งเมื่อถึงบางจุดเราอาจจะต้องยอมรับว่า เราคงอยู่ด้วยกันไม่ได้จริงๆ (หัวเราะ)
อีกอย่างนึงคือเลิกเอา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาขู่กันสักที อีกทั้งการที่ประชาชนขู่กันเอง หรือเอกชนขู่กันเอง ไม่ได้น่ากลัวเท่ากับรัฐออกมาขู่เอง เพราะว่ารัฐอยู่ในระนาบที่ต่างออกไป แล้วเวลารัฐพูดแบบนี้ ใครจะอยากไปคุยกับคุณถ้าคุณเอากฎหมายไปขู่ตลอดเวลา
–2-
Digital Footprint
นอกจากคำว่า digital literacy แล้ว ที่ผ่านมาก็มีการพูดกันเรื่อง digital footprint กันค่อนข้างเยอะ เราควรเข้าใจเรื่องนี้แบบพื้นฐานว่ายังไงดี
เคยมีคนพูดว่าเรื่อง digital literacy มันเหมือนเรื่องสุขอนามัย คือเหมือนเรากินข้าว เราก็ต้องรู้ว่าถ้าอาหารมันตกกับพื้นแล้วก็ต้องไม่หยิบขึ้นมากิน ต้องรู้ว่าถ้ากินเข้าไปแล้วมันอันตรายอะไรบ้าง
การรู้จัก digital footprint คือการรู้จักว่ามันมีความเสี่ยงอะไรเกิดขึ้นกับเราได้บ้างในการที่เราใช้ชีวิตอยู่ในโลกดิจิทัล พอรู้ว่ามีความเสี่ยงแล้ว เราก็ต้องหาเครื่องมือมาจัดการกับความเสี่ยงนั้นๆ เช่น การเข้ารหัสต่างๆ เราก็ต้องรู้ว่าไม่ควรตั้งรหัสเป็น 1234 หรือเป็นวันเดือนปีเกิด เพราะมันก็มีความเสี่ยงที่คนอื่นจะรู้รหัสเราเยอะนะ
การไม่ทิ้ง digital footprint เอาไว้มันก็คือการลดความเสี่ยง ความเสี่ยงแต่ละคนไม่เท่ากัน ถ้าคุณเป็นนักการเมือง เป็นดารา หรือเป็นคนธรรมดาที่อยู่ในบริษัทด้านการเงิน หรือความมั่นคงไซเบอร์ ความเสี่ยงของแต่ละคนก็ไม่เท่ากันแล้ว รวมถึงวิธีที่จะจัดการ digital footprint ยังไงก็ไม่เหมือนกันด้วย
เราควรจัดการกับ digital footprint ยังไง หรือเข้าใจเรื่องนี้บนโลกโซเชียลมีเดียยังไงบ้าง
เราพูดกันมานานแล้ว ให้เลิกคิดกันสักทีว่าหน้าเฟซบุ๊กของตัวเองเป็นมันพื้นที่ส่วนตัว มันไม่ใช่ มันเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะมาตลอด อันนี้เราก็ต้องรู้ มันเหมือนคุณคุยกับเพื่อนในที่เปิดก็รู้ว่า อาจจะมีใครสักคนเดินมา ซึ่งอาจมีคนเดินมาได้ยินก็ได้ คุณไม่ได้อยู่ในห้องปิดตายตลอดเวลา
ส่วนที่คุณคิดจะทำอะไรก็ได้ในโลกดิจิทัลนั้น ก็เป็นเพราะคุณไม่รู้ความเสี่ยงของตัวเอง เพราะไม่รู้ว่าพื้นที่ที่คุณอยู่มันเป็นพื้นที่แบบไหน
แต่บางคนเขาก็ไม่รู้จริงๆ รึเปล่า
ถ้าเป็นยุคที่เทคโนโลยีเพิ่งเข้ามาใหม่ๆ มันก็พูดได้ แต่นี่สิบกว่าปีแล้วเรายังไม่รู้อีกหรอ เหมือนคุณขับรถอยู่ทุกวันแต่ไม่รู้ว่าใช้น้ำมันยี่ห้ออะไร ต้องเช็คลมยางเมื่อไหร่
ความเสี่ยงที่เกิดจาก digital footprint มันมีมากกว่าแค่สเตตัสที่เราทิ้งเฟซบุ๊กรึเปล่า
ใช่ มันรวมไปถึงพฤติกรรมการค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตของเรา คุณใช้ google ค้นหาสิ่งต่างๆ ยังไง ผลการค้นหาเหล่านั้นก็บ่งบอกถึงลักษณะและรสนิยมของเราได้ด้วย
ถ้าเป็นรูปธรรมหน่อย เราควรทำอะไรบ้างกับการควบคุมเรื่อง digital footprint
เอาตัวเราเองเป็นตัวอย่างก็ได้ เมื่อก่อนเราไม่คิดว่าจะเป็นคนที่กังวลมากเกินไปนะ แต่หลังๆ เริ่มคิดว่าตัวเองเป็นแล้ว
อย่างเช่น เราเปิดฟีเจอร์ do not track ในมือถือ หรือเราไปตั้งค่าจำกัดการเก็บ cookies จากเว็บไซต์ต่างๆ เราไม่โพสต์หน้าพาสปอร์ตกับบอร์ดดิ้งพาส ไม่โพสต์สลิปเอทีเอ็มลงบนอินเทอร์เน็ต อีกอันนึงคือเราไม่โพสต์รูปชูนิ้วที่เห็นลายนิ้วมือ เราปิดไม่ให้เฟซบุ๊กแท็กเราโดยอัตโนมัติ เราเลือกว่าจะให้แอพฯ ไหนบ้างที่แชร์โลเคชั่นเราโดยอัตโนมัติ เราไม่แชร์โลเคชั่นตลอดเวลา ถ้าไม่ใช้ก็ปิด เราตั้งค่าการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของเราในแอพต่างๆ ไม่เล่นแอพฯ แปลกๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเขาจะทำตาม privacy policy ที่บอกเอาไว้ไหม ไม่เช็คอินแบบ realtime บ่อยๆ
คือเราอาจจะต้องมองเรื่องนี้ด้วยสายตาที่ตั้งคำถามเอาไว้ก่อนรึเปล่า
ใช่ ต้องตั้งคำถามว่าสิ่งเหล่านี้มันทำอะไรกับเราได้บ้าง คือเราขึ้นรถลงเรือ เรายังตั้งคำถามเรื่องความปลอดภัยเลย อย่างเวลาเราขึ้นแท็กซี่เวลากลางคืน เราก็จะโทรบอกพ่อแม่หรือคนที่บ้าน หรือถ่ายทะเบียนรถแท็กซี่ส่งให้คนอื่นดู มันเป็นการระมัดระวังนะ แต่ทำไมเราไม่ตั้งคำถามเวลาเราใช้อุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ นึกออกไหม เราจะตั้งคำถามต่อเมื่อเราระแวงถึงความเสี่ยง ที่เราไม่ค่อยตั้งคำถามกันเพราะเราไม่รู้กระทั่งว่ามันมีความเสี่ยงแค่ไหน
หมายถึงความเสี่ยงที่ข้อมูลเราถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ดี
หนักสุดในแง่ของภาคประชาชนด้วยกัน คือการถูกนำข้อมูลไปใช้สวมรอย เน็ตไอดอลที่โดยเรื่องนี้กันเยอะๆ ส่วนหนึ่งก็เพราะว่ามีรูปของเขาเต็มไปหมดในโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งถ้าคุณเป็นดาราหรือบุคคลสาธารณะจริงๆ ตัวเฟซบุ๊กหรือโซเชียลเขาก็มีวิธี verifiy ให้ว่านี่เป็นบัญชีจริง แต่ถ้าคุณเป็นคนธรรมดาก็อาจจะต้องระวังตัวเองเพิ่มขึ้นอีกหน่อย หรือก็ต้องชั่งใจว่า คนอาจจะรู้จักหน้าตาเรา แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกเอาตัวตนไปสวมรอยได้เหมือนกัน
ส่วนในแง่ความเสี่ยงจากภาครัฐหรือองค์กรอื่นๆ นั้น ถ้าคุณเป็นนักกิจกรรม เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือเป็นคนที่ถูกนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามจับตามองอยู่ คุณก็ต้องรู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงอะไรบ้าง สิ่งที่คุณโพสต์อาจจะไม่ได้กระทบกับแค่ตัวของคุณเอง
การพูดแบบนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องทนให้คนเอาข้อมูลของเราไปทำปู้ยี้ปูยำอย่างไรก็ได้นะ แม้ว่าข้อมูลที่มันหลุดรั่วออกไป อาจจะเป็นตัวเราที่พลาดไม่ได้ดูแลมันให้ดีเอง แต่นั่นไม่ได้เป็นใบอนุญาตให้คนอื่นเอาข้อมูลของเราไปใช้ในทางที่เป็นอันตราย เช่น กลั่นแกล้ง หลอกลวง หรือล่าแม่มด ตรงนั้นเราก็ต้องยืนยันว่ามันผิด และใช้มาตรการต่างๆ จัดการให้เหมาะสม เหมือนกับบอกว่า เราส่งเสริมให้คนระมัดระวังตัวเมื่อเดินในที่เปลี่ยวๆ มืดๆ ให้ตระหนักถึงความเสี่ยงของตัวเอง ก็ไม่ได้หมายความว่าเราให้ท้ายคนที่ทำร้ายคนอื่นในสถานการณ์เสี่ยงแบบนั้น
แล้วเฟซบุ๊กมันมีวิธีติดตามเราแบบที่ไม่รู้ตัวยังไงบ้าง
เวลาเราพูดเรื่องนึงกับเพื่อนบนเฟซบุ๊ก ก็ทำให้เฟซบุ๊กได้ข้อมูลที่จับเราไปอยู่ในกล่องของบุคคลที่ควรทำโฆษณาประเภทหนึ่งด้วยอะไรแบบนี้ ซึ่งบางทีเราอาจจะไม่ได้พูดตรงๆ แค่เราอาจจะหลุดมีคีย์เวิร์ดบางอย่างที่มันเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นที่ทำให้ถูกตามได้ คือวงจรวิธีคิดของมนุษย์มันซับซ้อน และบางทีเราก็ไม่รู้ตัวนะ
เราไม่มีทางลบมันได้หมดนะ แต่อะไรที่มันเสี่ยงเช่นหน้าบัตรประชาชน บอร์ดดิ้งพาส พาสปอร์ต ก็ควรจะระวังกันแหละ เรื่องพวกนี้มันชัดมากอยู่แล้วว่ามันเสี่ยง
ตอนเราอยู่ญี่ปุ่นเขาก็มีป้ายเตือนที่ตู้เอทีเอ็มนะว่า อย่าทิ้งสลิปเอทีเอ็มลงในถังขยะ หรือเวลาเราจะทิ้งเอกสารที่ระบุตัวตนเรา เราก็ต้องพยายามฉีกมันหรือทำลายมันก่อน ไม่ใช่ทิ้งมันไปเฉยๆ โดยไม่ทำอะไรเลย อันนี้ก็เป็นการระมัดระวังตัวในโลกกายภาพ
ในโลกดิจิทัลแล้ว การกลับไปลบอะไรบางอย่างมันช่วยได้แค่ไหน
เราก็ลบได้นะ แต่คงไม่ได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ คือเฟซบุ๊กมันก็อาจจะยังจำอยู่นะ มันไม่ทิ้งไปจากระบบที่เก็บข้อมูลไว้ของเซิฟเวอร์ใดเซิฟเวอร์หนึ่ง แต่ก็มีกฎหมายบางตัวที่ช่วยเรา เช่นกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่ถ้าหากเราอยากให้ผู้ให้บริการลบข้อมูลบางอย่างออก แล้วถ้าเขาไม่มีความจำเป็นต้องเก็บข้อมูลนั้นไว้จริงๆ เขาก็ต้องลบหรือทำให้คนอื่นไม่เห็น กฎหมายเองก็กำลังพยายามส่งเสริมและกำกับให้แพลตฟอร์มทำเรื่องพวกนี้อยู่
หรือถ้าทำไม่ได้ เราเองก็ต้องกดดันให้แพลตฟอร์มเขาทำให้เรา ในฐานะผู้บริโภคที่เขาได้เงินเราไปหรือได้ประโยชน์จากการใช้ของเราไปไม่รู้เท่าไหร่ เราเองก็ต้องเรียกร้องได้บ้าง
อาจารย์มองเรื่องการขุดอดีตในโลกออนไลน์มาโจมตีกันยังไงบ้าง
มันเป็นตัวอย่างที่สะท้อนลักษณะเด่นของอินเทอร์เน็ตมากเลย เขามักจะบอกกันว่าอินเทอร์เน็ตมีลักษณะเด่นสี่อย่าง คือ persistent ข้อมูลมันอยู่ตรงนั้นตลอด, visibie มันมองเห็นได้ง่ายเข้าถึงได้ง่าย, spreadable มันถูกเผยแพร่ต่อไปได้ง่าย แล้วก็ searchable คือถูกค้นหาได้แม้เวลาจะผ่านไปนานแล้วหรือเราไม่รู้แน่ใจว่าข้อมูลมันคืออะไรและอยู่ตรงไหนก็ตาม เรื่องการขุดเอาตัวตนขึ้นมาแชร์กันอีกครั้ง มันบอกสิ่งเหล่านี้หมดเลย เพราะใครๆ ก็มีโอกาสเห็นมันได้ ไม่ใช่เฉพาะคนที่ไปค้นพบหรือขุดขึ้นมา แล้วพอเห็นก็แชร์ได้ง่าย มันก็อยู่ตรงนั้นตลอดไป มันเอาออกยาก มันค้นหาง่ายด้วย สมัยก่อนเรามีวิธีตามหาข้อมูลเหมือนกันแหละแต่ยากกว่านี้เยอะ
ลักษณะเด่นในอินเทอร์เน็ตพวกนี้มันมีประโยชน์ต่อการเข้าถึงข้อมูล เพราะมันทำให้เราค้นหาได้ง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันมันก็ถูกนำไปใช้ในแง่อื่นได้ด้วย
ในแง่ของการขุดเอาเรื่องเก่าๆ มาพูด อันนี้พูดถึงในแง่บริบทนอกดิจิทัลนิดหน่อย เราคิดว่ามันเป็นเรื่องปกตินะ คือคนเรามันถามหาความคงเส้นคงวา ความซื่อสัตย์ ความสม่ำเสมอ อันนี้มันเป็นคุณค่าพื้นฐานที่เราต่างก็ถามหาในความเป็นมนุษย์อยู่แล้ว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในบริบทอินเทอร์เน็ต คือพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะมันพร่าเลือนมากเลย มันไม่ชัด บางคนอยู่ในที่สาธารณะเป็นคนแบบหนึ่ง แต่กับเพื่อนก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมันก็ไม่ผิดที่เขาจะเป็นแบบนั้น ทีนี้พอเมื่อเส้นมันเลือนปุ๊ป คนก็จะไปตัดสินสิ่งที่เขาเป็นในพื้นที่อีกแบบหนึ่งซึ่งเขาอาจไม่ได้ตั้งใจจะเปิดเผยตัวตนต่อคนทั่วไปขนาดนั้น
คือเวลาเราจะไปตัดสินเขา ก็ต้องดูว่าเขาทำในบริบทแบบไหน ขณะที่คนที่เป็นผู้กระทำสิ่งต่างๆ นั้นก็ต้องรู้ด้วยว่าเรากำลังทำในบริบทแบบไหน สิ่งที่เราโพสต์ลงไปมันเป็นส่วนตัวแบบที่เราคิดรึเปล่า หรือวันนี้มันอาจจะส่วนตัว แต่ถ้าวันนึงเรากลายเป็นที่รู้จักขึ้นมา เราจะรับต้นทุนนั้นไหวไหม หรือสังคมมันจะเป็นผู้ใหญ่ (matured) พอจะเข้าใจได้ไหมว่า คนเราต่างก็มีอดีต คนเรามันเปลี่ยนได้
เราต้องเข้าใจว่า กฎหมายมันไม่ได้บังคับข้างในจิตใจ กฎหมายไม่ได้กำกับสิ่งที่คุณคิดนะ แต่กำกับสิ่งที่คุณทำ ดังนั้นอะไรที่มันไม่ได้ไปกระทบกับคนอื่น หรือกระทบกับกฎหมาย ส่วนนี้เราก็ต้องเข้าใจมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เราวิพากษ์วิจารณ์เขาได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องลากเขาไปลงทัณฑ์แค่เพราะสิ่งที่เขาคิด
มีสิ่งที่พูดกันบ่อยๆ ว่าอินเทอร์เน็ตมันทำให้เราเป็น someone ได้ แต่ตอนนี้บางคนก็เริ่มหวาดกลัวการเป็น someone มากเกินไป จนนำไปสู่การปกปิดตัวตนต่างๆ อาจารย์คิดเรื่องนี้ยังไง
มันแล้วแต่คนเลยนะ บางคนเขาก็อยากเป็น anonymous (นิรนาม) ไปเรื่อยๆ นะ บางคนต้องการเป็น someone ในเรื่องนึง แต่เขาก็อยากเป็น anonymous ในอีกเรื่องนึงก็ได้
ในยุคที่อินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นแรกๆ มันเป็นยุคที่เคยมองกันว่า เราสามารถพูดอะไรก็ได้โดยไม่ถูกผูกมัดโดยกรอบของสังคมหรือชนชั้น การศึกษา ความสามารถ บนอินเทอร์เน็ตที่เราเป็น anonymous เนี่ย ความเห็นของคนแต่ละคนมันมีค่าเท่ากับคนอื่นๆ แต่ถ้ามาดูในบริบทของโซเชียลมีเดียที่โดยโครงสร้างมันเล่นกับตัวตนและอัตลักษณะคน มันก็ทำให้เราเป็น someone ได้มากขึ้น ความเป็น anonymous อาจจะไม่ได้ถูกให้ค่าขนาดนั้นแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นในยุคนนี้การเป็น someone ก็อาจจะมีข้อดีนะ เช่น มันเป็นแรงจูงใจที่ทำให้เรากล้าลงชื่อร่วมแคมเปญอะไรบางอย่างที่เราเชื่อว่าจะเปลี่ยนแปลงสังคม
ความเป็น anonymous มันมีความหมายในแง่ที่ทำให้เราเห็นภาพรวมของสังคมง่ายขึ้น เมื่อก่อนปัจเจกมันติดต่อกันยาก เสียงของปัจเจกไม่ได้มีค่าเท่าสื่อหรือเท่ากับชนชั้นนำ แต่ทุกวันนี้เสียงของปัจเจกมันดังขึ้นก็เลยทำให้สื่อต้องปรับตัวเข้าหาคนมากขึ้น ในทางกลับกันมันก็เป็นอันตรายด้วยเหมือนกัน มันนำไปสู่สถานการณ์ที่น่ากลัวได้ เช่น การสวมสิทธิ์คนอื่น การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ การรวมคนไปฆ่าตัวตาย การหลอกเอาเงิน มันมีความเป็นไปได้เยอะไปหมด
-3-
Fake News (Center)
ปัญหาหนึ่งที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันคือเรื่องข่าวปลอม หรือ fake news อาจารย์คิดว่าเราควรจะรับมือกับมันยังไงดี
ข่าวลือข่าวปลอมเป็นสิ่งที่คู่กับมนุษยชาติมานานแล้ว เมื่อก่อนเราดีลกับมันด้วยการเช็คผ่านหลายๆ แหล่งข่าว หรือเช็คผ่านคนที่อยู่ในแวดวงนั้นๆ เราก็สามารถแอบถามเขาได้ว่ามันจริงไหม
เมื่อก่อน fact checker คือคนรู้จักของคุณที่อยู่ในแวดวง ดังนั้นก็จะมีคนที่มีอภิสิทธิ์ที่จะสามารถเข้าถึง fact checker ได้มากกว่าคนอื่น แต่ตอนนี้อภิสิทธิ์แบบนั้นมันกำลังจะหายไปเพราะคุณมีเครื่องมือตรวจสอบได้มากมาย หรือมีคนที่เสนอตัวเป็น fact checker อยู่บนอินเทอร์เน็ต ซึ่งทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ง่ายขึ้น หรือยกตัวอย่างข้อมูลในเสิร์ชเอนจิ้นของ google เองก็เป็น fact checker ให้กับเราได้
อีกหนทางหนึ่งก็คือ ในวันนี้เรามีสื่อให้เลือกเสพมากมาย การมีทางเลือกมาก เราก็เลือกเสพจากสื่อที่เราคิดว่าเชื่อถือได้ แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีสื่อใหม่ๆ ที่คุณภาพน้อยเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน แม้เราจะได้เห็นสื่อใหม่ที่เริ่มสะสมชื่อเสียงและได้รับความน่าเชื่อถือมากขึ้น แต่ก็ยังมีบางเจ้ากลับเสนอข้อมูลที่มีลักษณะเป็นข่าวปลอมขึ้นมาเสียเอง
แล้วเราจะจัดการยังไงในแง่ของ digital literacy
เราก็ใช้สิ่งที่เรามีใน media literacy นี่แหละในบริบทดิจิทัล เพราะทุกวันนี้เราก็มี fact checker ที่เยอะขึ้น มีแหล่งข้อมูลจากสื่อให้เราใช้เยอะขึ้นด้วย
เอาจริงๆ แล้ว ในบริบทดิจิทัลมันต่อสู้กับข่าวปลอมได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะมันมี fact checker เยอะมาก พอมีแหล่งข้อมูลเยอะ มันก็จะเกิดการแข่งขันกันระหว่างแหล่งข้อมูลต่างๆ ซึ่งจะส่งผลต่อสื่อที่ให้แต่ข้อมูลผิดๆ หรือให้แต่ข่าวปลอมก็จะค่อยๆ ตายไป แต่โอเค มันก็อาจจะมีปัญหาที่โลกอินเทอร์เน็ตมันใหญ่มาก แม้บางเจ้าจะตายไปแต่ก็อาจจะเกิดเจ้าใหม่ขึ้นมาอีกได้เรื่อยๆ
ในแง่นี้มันจะไม่เกิดปัญหาที่เรามักจะเสพแต่ข่าวที่เราชอบ ฟังแต่คนในพวกของตัวเองตามแนวคิดเรื่อง echo chamber (การรับข้อมูลและข่าวสารจากในกลุ่มที่ตัวเองชื่นชอบเท่านั้น) เหรอ
บางคนอาจจะบอกว่า echo chamber มันไม่เป็นปัญหา เพราะเราอาจจะชอบอยู่กับคนที่เชื่อคล้ายๆ เรา และอุ่นใจที่จะแลกเปลี่ยนหรือโต้เถียงกับคนที่คล้ายๆ กันมากกว่า
เราคิดว่ามันก็เป็นปัญหานะ แต่เทคโนโลยีอย่างอัลกอริทึมช่วยเราได้ ยกตัวอย่างสิ่งที่ Yahoo! Japan ทำเพื่อแก้ปัญหา echo chamber ถ้าเราเข้าไปหน้าแรกของ Yahoo! Japan ก็จะมีข่าวที่เราสามารถเลือก หรือปรับชนิดของข่าวที่เราอ่านได้ แต่ที่น่าสนใจอยู่ตรงที่เขาพยายามจับคู่ข่าวที่เป็นคู่ตรงกันข้ามมานำเสนอด้วย เพื่อช่วยบาลานซ์จุดยืนของการเสนอข่าวการเสพข่าวอีกทางหนึ่ง
มันคิดได้สองแบบนะ อย่างเฟซบุ๊กรู้ว่าถ้าเราชอบอ่านข่าวพรรค Democrat เฟซบุ๊กก็จะเลือกข่าวจาก Democrat มาให้เราอ่าน เพื่อให้เรารู้สึกสบายใจและอยู่ในพื้นที่นั้นนานๆ แต่ Yahoo! Japan อาจจะมองต่างไป ซึ่งมีจุดยืนว่าเขาจะทำให้คนอ่านรู้สึกว่า Yahoo! Japan เป็นสื่อเอียงข้างไม่ได้ สิ่งนี้เป็นคุณค่าที่เขาเลือกที่จะเข้ามาลดภาวะของ echo chamber ลงไปผ่านการทำให้คนอ่านได้รับรู้ข่าวจากจุดยืนอื่นๆ หรือข้อมูลที่มันหลากหลายมากขึ้น
อย่างนี้แปลว่า เทคโนโลยีอย่างอัลกอริทึมเป็นเครื่องมือช่วยเราจัดการกับข่าวปลอม นอกเหนือไปจากการใช้กฎหมายจัดการเพียงอย่างเดียว
ใช่ อัลกอริทึมเป็นเครื่องมือแบบหนึ่ง กฎหมายก็อาจเป็นเครื่องมือแบบหนึ่ง และเราคิดว่าต่อให้ใช้กฎหมายก็จัดการไม่ได้หมดหรอก ไม่มีทาง เพราะโดยธรรมชาติของกฎหมายแล้ว มันเป็นเครื่องมือที่ค่อนข้างนามธรรม เนื่องด้วยมันต้องการเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ในหลายๆ สถานการณ์ ดังนั้นเมื่อกฎหมายมันเขียนละเอียดเกินไป มันก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน แถมยังขึ้นกับวิธีการบังคับใช้กฎหมายด้วยนะ นี่ยังไม่ได้พูดถึงว่าแล้วมันสามารถบังคับใช้เต็มที่ หรือได้มากน้อยแค่ไหนบ้าง หรือบังคับใช้โดยเท่าเทียม ไม่เลือกข้างได้จริงรึเปล่า
เพราะจับคนพันคนจากโลกออนไลน์คงเป็นไปได้ยากมาก
เรารู้สึกว่า มันประหลาดมากเลยกับการที่คนนึกถึงกฎหมายเป็นเครื่องมือแรกๆ เพราะเรารู้ว่าการโกหกเป็นสิ่งไม่ดี แต่เราไม่เคยมีกฎหมายลงโทษคนโกหก กฎหมายไม่ได้ควบคุมการโกหกโดยตัวมันเองตั้งนานแล้ว เราลงโทษคนโกหกต่อเมื่อเขาสร้างความเสียหายกับคนอื่น เช่น ถ้าคุณโกหกแล้วไปหลอกฉ้อโกง หรือถ้าคุณทำแบงค์ปลอมเพื่อไปเล่นเกมเศรษฐีมันก็ไม่ได้ผิด แต่มันจะผิดต่อเมื่อมันไปรุกล้ำอำนาจเฉพาะบางอย่างของรัฐ สิ่งที่เราช่วยกันได้ก็คือ ทำให้คนรู้ได้ง่ายขึ้นว่าอะไรปลอม อะไรไม่ปลอม
เวลาเราจะทำอะไร เราต้องชั่งน้ำหนักกันเสมอ เช่น ถ้าเราอยากจะควบคุมไม่ให้มีคนทำแบงค์ปลอมขึ้น เราเลยไปสั่งให้ทำลายปรินเตอร์ เพื่อไม่ให้พิมพ์แบงค์ได้ สิ่งที่ตามมาคือ โอเค คุณกำจัดแบงค์ปลอมได้ แต่คุณได้สร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก แล้วเวลาคนจะปรินต์สิ่งอื่นๆ เขาจะปรินต์กันยังไง คือการเผาบ้านไล่หนู นโยบายของรัฐมันเป็นแบบเผาบ้านไล่หนูไม่ได้ ภารกิจของรัฐคือการทำให้ทุกคนได้อยู่กันอย่างมีความสุข เขาสามารถหากาวดักหนูได้ด้วยตัวเอง รัฐไม่ต้องไปช่วยขนาดนั้น
อาจารย์กำลังจะบอกว่า ทางเลือกที่ดีกว่าอาจจะหมายถึงการสร้างระบบนิเวศที่มันเกิดการแข่งขันทางข้อมูล
ใช่ คือส่งเสริมคนทำกาวดักหนูของตัวเองได้ เพื่อดักหนูกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และถ้าคนแข่งขันกันเยอะๆ เขาก็ดักหนูได้เอง เลือกได้เองว่าจะใช้เครื่องมืออะไร รวมถึงคนที่ปล่อยหนูก็จะรู้แล้วว่าปล่อยมาแล้วไม่มีประโยชน์เพราะคนฉลาด
ในบริบทที่เราต้องต่อสู้กับข่าวปลอมจริงๆ อย่างข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับเรื่องยาเรื่องสุขภาพ มันเป็นเรื่องที่หลายคนไม่ได้มีความรู้เฉพาะทาง ต่อให้คุณอ่านก็อาจจะไม่เข้าใจอยู่ดี ในแง่นี้องค์กรของรัฐสามารถให้เครื่องมือได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ อย. และองค์กรอื่นๆ ทำอยู่แล้ว
แล้วสังคมไทยในตอนนี้เป็นยังไงบ้าง
หนึ่งคือคนก็ระวังตัวกันมากขึ้น ยกตัวอย่างสมัยก่อนที่มีคนแชร์อีเมลลูกโซ่กัน แต่ทุกวันนี้เราก็ไม่ได้อีเมลแบบนั้นแล้ว หนึ่งคือคนเรียนรู้แล้วว่าจะไม่ส่ง สองคือวันนี้เรามีอัลกอริทึมที่ช่วยป้องกันเรื่องนี้ เช่น ถ้าคุณส่งเมลไปหาคนเกินสิบคนในเมลเดียว อัลกอริทึมก็สามารถตรวจจับได้ว่าอันนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นสแปม คือเขาไม่ได้ห้ามไม่ให้ส่งนะ แต่เอาไปอยู่ในประเภทสแปมแทน
เราคิดว่าสังคมเรียนรู้อยู่นะ เพียงแต่ว่าแนวโน้มที่หลายๆ คนพูดถึงตอนนี้คือ อยากให้ใครสักคนมาบอกเราว่าสิ่งไหนปลอมหรือไม่ปลอม ทีเดียวจบเลย ขี้เกียจคิดต่อ แต่ถามว่าแล้วเราพร้อมที่จะเชื่อไหม เราจะเชื่อคนที่บอกให้เราเชื่อได้แค่ไหน บางทีหน่วยงานรัฐเองก็ต้องการคนมาบอกเพื่อสร้างความมั่นใจด้วยเหมือนกัน
คิดยังไงกับการเสนอให้มอบอำนาจให้รัฐเป็นคนนิยามว่าอะไรคือข่าวปลอมหรือไม่ปลอม
เป็นความคิดที่ไม่ฉลาดเลย ซึ่งต่อให้รัฐมีประสิทธิภาพนะ เราก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไว้ใจรัฐกันขนาดนั้น ทำไมคุณถึงมอบอำนาจ มอบวิจารณญาณไปให้รัฐ ขนาดพ่อแม่ คุณยังไม่เชื่อเขาร้อยเปอร์เซนต์เลย แล้วทำไมคุณต้องเชื่อรัฐล่ะ ถามว่ารัฐมีหน้าที่ต้องให้ข้อมูลประชาชนรึเปล่า คำตอบคือมี แต่รัฐไม่มีหน้าที่มาบอกว่าเราควรเชื่อหรือไม่เชื่ออะไร และถ้าเราปล่อยให้ใครมาคอยบอกตลอดว่าเราควรคิดยังไง เราก็จะไม่ได้พัฒนาการใช้วิจารณญาณของเรา กลายเป็นว่าสมองก็ไม่ได้ใช้งาน ชินกับการโดนสั่ง คราวนี้ก็ขาดทักษะความคิดเชิงวิพากษ์ไปอีก
ส่วนคนที่อยากเป็น fact checker ก็ต้องระวังตัวระวังขอบเขตหน้าที่ของตัวเองที่ควรทำ คือควรเช็คข้อเท็จจริง ไม่ใช่คอยเช็คความคิดเห็น ถ้าหาก fact checker ไปเช็คความคิดเห็นมากๆ ตั้งตัวเป็นคนแปะป้ายคนอื่นว่าใครเป็นคนโกหก ใครเป็นฝั่งนั้นฝั่งนี้มากกว่าจะเสนอข้อเท็จจริงให้คนไปตัดสินใจต่อ คนก็จะเริ่มไม่เชื่อมั่นคุณอีกต่อไปก็ได้นะ เพราะสิ่งที่ทำให้ fact checker อยู่ได้คือความเป็นกลางและการนำเสนอข้อมูล
เป็นกลางในความหมายแบบไหน
มันคือเรื่องที่ว่าคุณไม่ถูกอิทธิพลของอะไรบางอย่างเข้าครอบงำการประเมินข้อเท็จจริงนั้นๆ สมมติว่าเรามี อย. มาคอยบอกเราว่า ผลิตภัณฑ์ยาใหม่ๆ มันโอเคกับเราจริงไหม ถ้าองค์กรนี้มันถูกสปอนเซอร์โดยบริษัทยา เราก็จะเริ่มตั้งคำถามแล้วว่า แล้วสิ่งที่เขาบอกเรา มันจะไม่ใช่ข้อมูลที่เขาได้รับอิทธิพลจากคนที่ต้องการหากำไรจากข้อมูลนี้ด้วยใช่ไหม
เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวเรื่องที่กระทรวงดิจิทัลจะตั้งศูนย์จัดการข่าวปลอมขึ้นมา อาจารย์มีความเห็นต่อเรื่องนี้ยังไงบ้าง มีข้อกังวลอะไรไหม
หากภาครัฐอยากจะมีบทบาทในการช่วยเหลือให้ fact checker ทำงานได้ สร้าง center อะไรขึ้นมาสักอย่างในการช่วยประสานบริหารจัดการข้อมูลมันก็เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ ถ้าเขาสามารถนำทรัพยากรของรัฐมาเอื้อให้เอกชนและประชาชนทั่วไปเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลได้ง่ายขึ้น เชื่อมโยงฐานข้อมูลขององค์กรต่างๆ ให้สื่อนำไปตรวจสอบกับแหล่งข่าวของเขาได้
แต่เราไม่เห็นด้วยนะหากรัฐจะมาทำหน้าที่เป็นคนชี้ว่าอะไรเท็จอะไรจริงเสียเอง เพราะมันมีหลายเรื่องที่สื่อและประชาชนเขาจะต้องตั้งคำถามกับการทำงานของภาครัฐ ภาครัฐก็มีหน้าที่ที่จะชี้แจง ไม่ใช่มาบอกว่าสื่อที่นำเสนอข้อมูลเขาพูดเท็จหรือจริง เช่น สื่อเขาได้ข้อมูลมาว่ากฎหมายหนึ่งที่รัฐจะผลักดันนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้อำนาจเจ้าหน้าที่สอดส่องประชาชน รัฐก็มีหน้าที่ชี้แจงไปว่ามันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเพราะอะไร ไม่ใช่มาแปะป้ายว่าสื่อนั้นๆ เป็นคนผลิตข่าวปลอม คนถูกวิพากษ์วิจารณ์จะมาตั้งตัวเป็นคนชี้ขาดเองได้ยังไง
สิ่งสำคัญคือว่ารัฐต้องระมัดระวังมากๆ ที่จะไม่ใช้ center แบบนี้ไปในทางที่ผูกขาดความจริง แบ่งพรรคแบ่งพวกระหว่างสื่อว่าเจ้าไหนอยู่ข้างรัฐเจ้าไหนต่อต้าน และที่สำคัญต้องไม่ใช้มันในการสร้างวาทกรรมที่ชี้นำสังคม หรือลดทอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือไปลดศักยภาพในการแข่งขันเชิงข้อมูลของเอกชน
จำเป็นแค่ไหนที่กระทรวงดิจิทัล หรือรัฐบาลต้องจัดตั้งศูนย์เช่นนี้ขึ้นมา
ไม่ได้จำเป็นมาก แต่ก็คิดว่าถ้าจะทำไม่ใช่เรื่องผิดหากจำกัดบทบาทหน้าที่ไว้เฉพาะการประสานงานข้อมูล และไม่ใช้ anti-fake news center มาทำ propaganda เสียเอง ที่ควรทำคือส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันระหว่างข้อมูล เช่น ให้ทุนเอกชนแข่งสร้างอัลกอริทึมมาช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือเปิด open data ให้เชื่อมโยงข้อมูลกันได้
ในยุคที่เราพร้อมจับผิดกันและกันตลอดเวลา มันน่ากังวลไหม
ไม่ค่อยน่ากังวล ถ้าคุณบอกว่าคนอื่นผิดแล้ว และคุณให้คนอื่นมาเถียงคุณได้ว่าจริงๆ มันไม่ผิด คือถ้าคุณบอกว่าผิด แล้วคนอื่นบอกว่าไม่ผิด มันก็ขึ้นอยู่กับคนเสพข่าวแล้วว่าจะเชื่อฝั่งไหน มันมีปัญหาตรงที่บางคนที่ไปแปะป้ายว่าคนอื่นผิด ดันเป็นคนที่มีอำนาจ สามารถปิดปากไม่ให้คนอื่นมาเถียงต่อได้ อันนั้นก็จะเป็นสิ่งที่อันตรายพอสมควร
ในยุคที่เราอยู่บนโลกที่ทุกคนนำเสนอความจริงของตัวเอง เราจะอยู่กันยังไง
ตอนนี้คนบริโภคข่าวแยกได้ยากว่า อันไหนเรื่องจริง อันไหนจงใจไม่จงใจ มันจะมี fake news ในหลายระดับ ทั้งนำเสนอเพราะผิดพลาด เช่นสื่อรู้ไม่เท่าทันข้อมูล ซึ่งวิธีรับมือก็คือสื่อต้องรู้เท่าทันกว่านี้ มีช่องคอมเมนต์ให้คนมาบอกว่าผิดนะ หรือมีเทคโนโลยีมาช่วยให้เข้าถึงการตรวจสอบข้อมูลได้เร็วขึ้นง่ายขึ้น
สิ่งที่เป็นปัญหาจริงๆ มันคือการสร้าง fake news โดยจงใจหรือมีเจตนาร้าย ซึ่งอาจเป็นส่วนน้อย แต่เราต้องยืนยันนะว่า การล้อเลียนหรือเสียดสีต้องทำได้ มันเป็น free speech แบบหนึ่ง แต่ต้องทำให้คนพอรู้ว่านี่คือการล้อเลียนนะ ไม่ใช่ของจริง
หรือพวกข่าวคลิกเบตเพื่อเพิ่มยอดไลก์อันนี้ ไม่ต้องทำอะไรมาก เดี๋ยวมันก็ตายไปเอง รวมถึงก็จะมีเทคโนโลยีหรืออัลกอริทึมต่างๆ เข้ามาช่วยจัดการด้วย
ส่วนข้อมูลที่ส่งออกมาเพื่อสร้างกระแสทางการเมือง ในกรณีนี้กฎหมายอาจจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องแล้วในสถานการณ์ที่มันอ่อนไหวมากๆ เช่นช่วงก่อนเลือกตั้งที่บางประเทศกำหนดว่า คุณต้องเปิดเผยแหล่งที่มาของแหล่งทุนต่างๆ ในแคมเปญหาเสียง แต่จริงๆ เรายังคิดว่า ถ้าการแข่งขันของข้อมูลมันมีเพียงพอ มันก็อาจจะช่วยได้โดยไม่ต้องไปจำกัดเสรีภาพกันมากนัก เพราะการใช้กฎหมายจำกัดเสรีภาพเพื่อเป้าหมายหนึ่ง ที่สุดแล้วมันอาจแก้ปัญหาหนึ่ง แต่ไปสร้างปัญหาอื่นๆ ตามมาด้วย
แต่มันจะมีบางอันที่ตัวแพลตฟอร์มเป็นคน dominate ข้อมูล เป็นคนมีอำนาจในการจัดการข้อมูล อย่างเช่นเฟซบุ๊กที่ถูกตั้งคำถามมากๆ ว่าบริษัทที่คุณใช้จัดการข้อมูลรับเงินจากใคร ที่มันเป็นปัญหาในเมืองนอกมากๆ เพราะการเลือกตั้งมันเป็นเรื่องของคนในประเทศ แต่อิทธิพลบางอย่างมันมาจากข้างนอก จนทำให้ความหมายของการเลือกตั้งมันเปลี่ยนไป เลยนำมาสู่คำถามต่อแพลตฟอร์มเกี่ยวกับเรื่องความโปร่งใส ซึ่งไม่ได้แปลว่าต้องไปจำกัดแหล่งทุนเหล่านั้นเสมอไปนะ แค่เปิดเผยตัวเองออกมาสู่สาธารณะ มันก็ทำให้คนตั้งคำถามกับเขาแล้ว และถ้าเขาต้องทำงานกับผู้บริโภค เขาก็ทำงานแบบไม่สนใจผู้บริโภคไม่ได้อยู่แล้ว แรงกดดันเหล่านี้มันทำให้เขาต้องปรับตัว โดยไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายไปจำกัดเสรีภาพหรือบังคับพฤติกรรมเขาโดยตรง
การปล่อยให้มีการแข่งขันกันในเรื่องข้อมูลเยอะๆ ถือว่าเป็นทางออกไหม
การแข่งขันกันเรื่องข้อมูลมันเป็นทางออกแรกในการแก้ปัญหา แต่มันต้องอยู่บนฐานว่าข้อมูลเหล่านั้นมันเป็นอิสระนะ คือกฎหมายต้องไม่จำกัดการแสดงความคิดเห็นโดยไร้เหตุผลจำเป็นและหากจำเป็นต้องทำจริงๆ ต้องทำให้น้อยที่สุด ได้สัดส่วนที่สุด คุณต้องไม่ถูกเซ็นเซอร์ง่ายๆ คุณต้องไม่ถูกโทรมาคุกคาม มันต้องมีเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูล ซึ่งถ้าไม่อิสระจริง เรื่องพวกนี้มันก็จะถูกจำกัดอยู่กับแค่บางคนเท่านั้นที่สามารถเสนอข้อมูลได้ การแข่งขันมันก็ไม่เกิดขึ้นจริง
เราคิดว่าแนวคิดที่ต้องการจัดการข่าวปลอมด้วยการลดเสรีภาพทางการพูด มันเป็นเรื่องที่ประหลาดมาก ผิดฝาผิดตัวอย่างมาก
คิดอย่างไรกับการแปะป้ายกันว่าเป็นพวกนั้นพวกนี้ในโลกออนไลน์
เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เรารู้สึกอึดอัดนะ คือถ้าเราไม่อยากถูกแปะป้ายว่าเราเป็นสลิ่มหรือเป็นควายแดง เราก็อาจจะต้องระวังเรื่องการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แต่ถ้าถามตอนนี้ เราว่ามันเปลี่ยนไปเยอะเหมือนกันนะ
อาจจะเพราะว่า เวลามันด่ากันเยอะๆ เราเลยเริ่มชินมั้ง เริ่มรู้สึกว่าเราก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป แต่เราอาจจะต้องอดทนต่อความรู้สึกขุ่นค้องหมองใจหรืออึดอัดนิดนึง เราเชื่อในความสามารถการปรับตัวของมนุษย์มากเลยนะ คือถ้ารู้ว่ามันเริ่มด่าจนคุยกันไม่ได้ สุดท้ายก็จะหาวิธีที่ซอฟต์ลงในการคุยกันได้ สุดท้ายเดี๋ยวมันก็หาทางจนได้เอง ไม่กว่าจะเป็นการปรับท่าที ปรับวิธีการสื่อสาร หรือเลือก priority ของการสื่อสาร มันต้องพยายามอธิบายตัวเองกันมากขึ้น เช่น “จะบอกว่าฉันเป็นสลิ่มก็ได้ แต่ฉันก็ไม่ได้เห็นด้วยกับเรื่องนี้นะ” อะไรทำนองนั้น
เราก็จะเริ่มเห็นว่า สุดท้ายแล้วมันไม่ได้มีแค่ 2 ฝั่งขนาดนั้น การอธิบายว่าตัวเองอยู่ตรงไหนที่ไม่ใช่สุดโต่งในแต่ละขั้ว จะทำให้คนได้แลกเปลี่ยนกัน กระบวนการนี้มันเกิดขึ้นได้ แต่อาจจะต้องผ่านช่วงเวลาที่ด่ากันไปเยอะๆ สักพักแล้ว
ในทางกลับกัน สถานการณ์แบบนั้นก็อาจจะทำให้คนเบื่อจนไม่อยากทะเลาะแล้วก็ได้นะ และกลายเป็นว่าทุกคนกลับมาอยู่ใน echo chamber ของตัวเอง
ถึงอย่างนั้น เราก็ไม่น่าจะอยู่ใน echo chamber ได้ตลอดไป มันก็มีอะไรบางอย่างที่มากระตุกให้เราออกไปได้เหมือนกันนะ ยกตัวอย่างกรณีประชามติเรื่อง Brexit และชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่หลายคนไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น เพราะเชื่อว่าตัวเองเป็นเสียงส่วนใหญ่มาโดยตลอด
สิ่งที่ตามมาคือ คนพยายามคุยกับคนที่ความคิดไม่เหมือนตัวเองมากขึ้น เพื่ออยากเข้าใจว่าตอนนี้มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่นอกโลก echo chamber ที่ตัวเองเคยอยู่
แล้วถ้าพูดในบริบทของการเลือกตั้งไทยที่ผ่านมาล่ะ
ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่มันอาจจะเป็นสิ่งที่พิเศษสำหรับบ้านเรา คือการที่มีหลายคนตั้งแง่ว่าพลังประชารัฐชนะเลือกตั้งได้ เพราะกฎเกณฑ์มันเอื้อคุณไง ซึ่งการตั้งคำถามแบบนี้นี่คือผลของการที่คนไม่เชื่อมั่นในกฎเกณฑ์ที่กำกับการเลือกตั้งอยู่ว่ามันเท่าเทียมกันสำหรับทุกคน พอคนไม่เชื่อว่ามันใสสะอาด คนก็ไม่เชื่อผลของการบังคับใช้ หรือผลของการสอบถามความเห็นคน มันไม่เกิดการแลกเปลี่ยนกัน มันยิ่งผลักให้คนออกห่างจากกันมากขึ้น
เราเลยต้องกลับมาทำให้กฎเป็นที่ยอมรับ เพื่อให้คนได้รู้สึกอยากคุยกันมากขึ้น
ถูก เพราะถ้าคนไม่เชื่อในกฎแล้ว ผลมันก็ไม่เปลี่ยนใจคน อย่าง Brexit คนถึงไม่เถียงกันว่าพรรคไหนโกง เพราะทุกคนเชื่อว่า เมื่อเราใช้กฎที่แฟร์ในการถามความเห็น แล้วผลเสียงส่วนใหญ่ของเพื่อนร่วมชาติเราออกมาอีกทางหนึ่ง มันก็กลายเป็นคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วเราจะแก้ปัญหานี้ หรือมีอะไรที่เราพลาด และมีอะไรที่ต้องเข้าใจเพิ่มเติมไหม แต่ถ้ากฎมันทำให้คนรู้สึกว่าไม่แฟร์ คนมันก็ไปไม่ถึงขั้นตอนการคุยกัน
อาจารย์คิดว่ากฎหมายไม่ใช่เครื่องมือแรกในการจัดการข่าวปลอม
สิ่งที่เราคิดว่ากฎหมายควรจะทำ คือลดเพดานในการท้าทายข้อมูล ว่าสิ่งที่เราเห็นอยู่นี้มันคือข้อมูลที่ถูกต้องจริงเท็จแค่ไหน แต่เราจะรู้ได้ยังไงว่ามันถูกไม่ถูก แต่ถ้ากฎหมายมันตั้งเพดานของการตรวจสอบไว้ มันก็ทำอะไรไม่ได้มาก
ชอบมีข่าวเรื่องเจเนอเรชั่นเบบี้บูมเมอร์มักแชร์ข่าวปลอมมากกว่าคนทั่วไป อาจารย์คิดยังไงกับเรื่องนี้
เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นเพราะ literacy มันเกิดขึ้นจากประสบการณ์ มันเกิดขึ้นจากทักษะบนโลกดิจิทัล ชั่วโมงบินของการใช้ดิจิทัล เด็กเขามีชั่วโมงบินเยอะกว่าผู้ใหญ่ เด็กเขาโตมากับโลกดิจิทัลเขาก็เลยเข้าใจอะไรพวกนี้อยู่แล้ว ในโลกดิจิทัล คนที่อาบน้ำร้อนมาก่อนอาจไม่ใช่ผู้ใหญ่เสมอไป มันก็เลยไม่แปลกที่เราจะเห็นปรากฏการณ์แบบนี้ ดังนั้นคนที่ประสบการณ์น้อยกว่าก็ต้องหัดเรียนรู้จากคนที่มีประสบการณ์มากกว่า เป็นเรื่องธรรมดา
แล้วมองคาแรคเตอร์หรือการใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัลของคนรุ่นใหม่ๆ เป็นยังไงบ้าง
เขาใช้ตลอดเวลา มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา บางคนเขาไม่ได้มานั่งแบ่งแล้วว่านี่คือโลกออฟไลน์ นี่โลกออนไลน์ มันคือโลกที่จริงแท้สำหรับเขาทั้งนั้นแหละ
ข้อดีของเด็กคือความเสี่ยงยังน้อย ในแง่ว่าเขายังไม่มีบัญชีธนาคาร ยังไม่ต้องจ่ายภาษี เรื่องชื่อเสียงก็น้อยกว่า แต่ความเสี่ยงในฐานะที่เป็นเด็กมีมากกว่า เช่น เขาปกป้องตัวเองได้น้อยกว่าในแง่กายภาพ และสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขามันอาจจะคงอยู่ไปทั้งชีวิต
ทั้งที่ตอนที่เขาตัดสินใจเขายังไม่ได้รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบสิ่งนั้นจริงๆ หรือไม่ หรือยังไม่ได้พัฒนาทักษะในการใช้วิจารณญาณให้มากพอ