สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ไปนั่งคุยระหว่างมื้อค่ำกับฝ่ายการท่องเที่ยวของจังหวัดแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น เพราะเขาต้องการความเห็นว่า จะทำอย่างไรถึงจะดึงนักท่องเที่ยวไปเที่ยวในจังหวัดของเขาให้ได้ และอยากทราบเรื่องความสนใจของคนไทย ซึ่งที่ผ่านมา หลังจากได้ทำงานร่วมกับฝ่ายส่งเสริมการท่องเที่ยวของแต่ละจังหวัดในญี่ปุ่น ก็ได้เห็นความมุ่งมั่นที่จะดึงนักท่องเที่ยวไทยไปเที่ยวในประเทศของเขาเป็นอย่างมาก
แต่ในขณะเดียวกัน เมื่ออ่านข่าวจากสื่อญี่ปุ่น ก็พบสัญญาณความไม่พอใจจากประชาชนชาวญี่ปุ่นที่มีต่อปัญหาการที่นักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นในประเทศของตัวเอง จนบางทีก็เริ่มสับสนระหว่างทัศนคติของประชาชนกับแนวทางสนับสนุนการท่องเที่ยวของรัฐบาล
เอาจริงๆ ก็พอเข้าใจความรู้สึกของชาวเกาะนะครับ เพราะที่ผ่านมา ประเทศญี่ปุ่นก็คือประเทศที่แยกตัวออกจากชาวโลก เคยปิดประเทศอย่างจริงจังในสมัยที่ตระกูลโตกุกาวะมีอำนาจ และถึงจะเปิดประเทศคบหากับชาวต่างชาติมาจนถึงปัจจุบัน แต่ด้วยความที่เป็นประเทศเกาะ จึงไม่แปลกอะไรที่จะรู้สึกแปลกแยกกับชาวต่างชาติที่มาอยู่หรือเข้ามาเที่ยวในประเทศตัวเอง บวกกับในอดีตยุคหลังสงครามที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นรุ่งเรืองจากการบริโภคภายในประเทศ เป็นตลาดใหญ่ไม่ต้องง้อชาติอื่น ทำให้พวกเขาไม่ได้มองออกไปข้างนอกนัก (ยกเว้นธุรกิจเจ้าใหญ่ที่พยายามออกไปค้าขายนอกประเทศ) พอหลังจากเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ก็ยังไม่ได้ปรับตัวอะไรมากนัก
ผมยังจำการไปเที่ยวญี่ปุ่นครั้งแรกเมื่อตอนปีใหม่ปี 2002 ได้เลยครับ ตอนนั้นสังเกตได้เลยว่า นักท่องเที่ยวยังน้อยอยู่ ไปตามแหล่งท่องเที่ยวก็ไม่ค่อยเจอนักท่องเที่ยวต่างชาตินัก (อาจจะเพราะไปเมืองไม่ป๊อปอย่างนาโกย่า) คู่มือท่องเที่ยวก็ไม่มีอะไรมาก มีแค่หนังสือแจกฟรีภาษาอังกฤษแนะนำแหล่งท่องเที่ยวในเมืองเพียงเล่มเดียว ซึ่งก็เปิดวนไปมาจนจะขาด ตอนไปเรียนก็ไม่ได้มีนักท่องเที่ยวมากนัก ที่สำคัญ ป้ายร้านค้า บริการ และการอธิบายต่างๆ ยังหาที่เป็นภาษาอังกฤษได้ยาก
ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน ดูเหมือนว่าความพยายามดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศของญี่ปุ่นนั้นประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม เพราะจริงๆ ประเทศเขามีของดีอยู่แล้ว เพียงแค่เปิดทางและพยายามขายหน่อย คนก็แห่กันเข้ามาแล้ว ดูจากสถิติปี 2003 ที่มีนักท่องเที่ยวแค่ประมาณ 5 ล้านคน แต่พอปี 2013 ก็มียอดถึง 10 ล้านคน ตั้งแต่ยังไม่หมดปี หลังจากนั้นปี 2016 ตัวเลขก็ถีบขึ้นไปเป็น 20 ล้านคน เลยทีเดียว เรียกได้ว่ากราฟพุ่งแบบไม่หยุดไม่หย่อน แถมบริการห้างร้านต่างๆ ก็พบภาษาต่างประเทศได้เยอะขึ้นแบบไม่น่าเชื่อเลย
แม้ประเทศญี่ปุ่นจะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวแค่ไหน แต่สำหรับ ชาวญี่ปุ่น ที่ไม่ได้มีธุรกิจหากินกับการท่องเที่ยว ก็จัดว่าเป็นเรื่องชวนปวดหัวสำหรับพวกเขา เพราะสำหรับชนชาติที่มีระเบียบปฏิบัติเข้มงวด และกฎมากมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งพวกเขายึดถือเพื่อคงความเรียบร้อยไว้ หากใครทำอะไรแปลกๆ ก็มักจะโดนจัดการด้วยแรงกดดันทางสังคม
กลายเป็นว่าคนญี่ปุ่นต้องมาปะทะกับชาวต่างชาติ ที่ไม่ได้สนใจเรื่องกฎระเบียบจุกจิกหยุมหยิมแบบชาวญี่ปุ่น การปะทะทางวัฒนธรรมนี้ ก็ชวนให้คนญี่ปุ่นปวดหัวได้ไม่น้อย
ปัญหาจากนักท่องเที่ยวก็มีหลากหลาย ตั้งแต่เรื่องเบาๆ เช่นการไม่เข้าใจการใช้ห้องน้ำ การส่งเสียงดังในสถานที่ต่างๆ หรือการจัดงานสนุกสนานโดยก่อความลำบากให้คนในพื้นที่ ตัวอย่างเช่นเทศกาลฮัลโลวีน ที่แต่ก่อนก็ไม่ได้มีการจัดงานเอิกเกริก แต่ปัจจุบันชิบุยะกลายเป็นแหล่งจัดงานแบบไม่มีแม่งาน มีแต่คนไปรวมตัวกันสนุกสนาน ขัดขวางการจราจร และทำให้พื้นที่สกปก รวมไปถึงการจัดปาร์ตี้แบบกองโจรในรถไฟใต้ดินอีกที่สร้างความเอือมระอาให้คนในท้องถิ่น
ที่พูดไปเมื่อครู่ยังเป็นแค่ปัญหาความรำคาญ แต่ปัญหาที่น่าห่วงกว่าคือ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากนักท่องเที่ยวไม่รักษากฎหมายการจราจรในญี่ปุ่น ซึ่งก็มีตั้งแต่กรณีเล็กๆ อย่างเช่นบริษัทให้เช่ารถโกคาร์ตที่ได้รับความนิยม เพราะนักท่องเที่ยวสามารถยืมชุดมาแต่งเป็นมาริโอและผองเพื่อนได้ แต่กลับกลายเป็นปัญหาเพราะเหมือนกับว่า กฎหมายที่เกี่ยวกับพาหนะแบบนี้ยังไม่ชัดเจนนัก และดูเหมือนจะมีเคสที่มีขับรถโกคาร์ตเล่นกันเป็นกลุ่มตามถนนในเมือง แน่นอนว่าอันตราย อีกทั้งยังมีกรณีที่นักท่องเที่ยวไทย เมาแล้วขับจนเกิดอุบัติเหตุทำให้คนเสียชีวิตมาแล้ว พอมีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้น ก็ไปกระตุ้นความกลัวชาวต่างชาติของชาวญี่ปุ่นไปอีก
นอกจากนี้ยังมีปัญหาการซื้อของแบบถล่มทลายของนักท่องเที่ยวจีน ที่นิยมสินค้าญี่ปุ่นมาก ฟังดูเหมือนเรื่องดี แต่พี่แกเล่นเหมาไปหมดนี่สิครับ ถึงกับทำให้คำว่า บะคุไก (爆買い) หรือซื้อแบบระเบิด กลายเป็นคำโด่งดังในสังคมญี่ปุ่น บางคนเล่นซื้อหม้อหุงข้าวกลับไปทีละ 4-5 ตัว เล่นเอาคนญี่ปุ่นซื้อไม่ทัน พวกเครื่องสำอางก็เช่นกันครับ ผมเคยไปซื้อของในย่านท่องเที่ยวที่โอซาก้า กะจะซื้อเครื่องประทินผิวหน่อย ระหว่างยืนหาก็เจอคนจีนมาถาม (ผมไม่ใช่จีนน่อ) พอเลือกได้ จะไปจ่ายเงิน ก็เจอคิวคนจีนรอจ่ายเงินไป 20 กว่าคน ถึงกับทำใจ เลิกซื้อเลยครับ โอ่ย เจอแบบนี้
อีกปัญหาหนึ่งที่ชวนปวดหัวสำหรับชาวญี่ปุ่น คือเรื่องสถานที่พัก หรือโรงแรมนั่นล่ะครับ เพราะว่า นักท่องเที่ยวแห่กันเข้ามา แต่ปริมาณโรงแรมดูเหมือนจะโตตามนักท่องเที่ยวไม่ทัน ทำให้ช่วงเวลาพีคของการท่องเที่ยว ราคาโรงแรมก็ถีบตัวสูงขึ้นไปอีก เพราะต้องแย่งกันเที่ยวครับ บางทีผมเจอโรงแรมที่ราคาปกติแค่ประมาณ 8,000 เยน แต่พอช่วงคนเยอะ ราคาก็สวิงขึ้นไปถึงคืนละ 20,000 เยนเลยทีเดียวครับ คนในท้องที่ก็พลอยซวยต้องแข่งขันแย่งกับนักท่องเที่ยวไปด้วย
ซึ่งหลายคนก็บอกว่า ยุคนี้ก็มี AirBNB ไงล่ะ แต่ก็ใช่ว่าตลาดญี่ปุ่นมันง่ายดายครับ อย่างแรกเลยคือ ทางรัฐบาลญี่ปุ่นก็พยายามกีดกัน AirBNB เพื่อปกป้องสมาคมธุรกิจโรงแรม (ก็แน่นอนว่าเขาเสียภาษีชัดเจนกว่า)
แต่สำหรับชาวญี่ปุ่นทั่วไปแล้ว AirBNB ก็เป็นสิ่งที่พวกเขาไม่ชินกับคอนเซ็ปต์นี้เอาเสียเลย เพราะเรื่องความเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องใหญ่ของคนญี่ปุ่นครับ ดังนั้นการที่จะมีคนแปลกหน้า สลับสับเปลี่ยนเข้ามาพักในอพาร์ตเมนต์ห้องข้างๆ ก็เป็นเรื่องไม่น่าไว้ใจสำหรับเขา ขนาดบางอพาร์ตเมนต์มีประตูหลักที่ต้องใช้การ์ดเปิดเข้าก่อน ชาว AirBNB ก็ยังหาทาซิกแซ็กส่งการ์ดและกุญแจให้คนเข้าพักได้ คนที่พักอยู่ปกติก็รู้สึกว่าความปลอดภัยของเขาลดลงแน่นอนครับ
ยังมีปัญหากรณีห้องพักเกินครึ่งของอพาร์ตเมนต์เดียวกัน ถูกกว้านเช่าภายในวันเดียว เพื่อไปทำห้องเช่า AirBNB ปล่อยให้คนต่างชาติเข้ามา ซึ่งบางกรณีก็เป็นคนต่างชาติที่มาลงทุนเช่าเพื่อทำธุรกิจรับคนชาติตัวเอง …ถ้าจู่ๆ อพาร์ตเมนต์ตัวเองก็กลายเป็นโรงแรมมีที่คนต่างชาติเดินเข้าออกทุกวัน ที่จอดรถก็กลายมาเป็นจุดสูบบุหรี่ไป แบบนี้ไม่สนุกแน่ เล่นเอาชาวบ้านปวดหัวอีก
เอาจริงๆ สำหรับนักท่องเที่ยว ส่วนหนึ่งก็แน่นอนว่า ควรให้ความสำคัญในการปรับตัวเข้าให้กับสถานที่ที่เราไปเที่ยว ไม่งั้นก็ถือว่าไม่ให้เกียรติเขา อีกส่วนหนึ่งก็ต้องพึ่งการเตรียมความพร้อมของทางประเทศนั้นๆ ด้วย ถ้าหากอยากรับจำนวนนักท่องเที่ยวให้ได้มาก แต่โครงสร้างพื้นฐานหลายอย่างยังไม่พร้อมที่จะรับมือกับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นพุ่งพรวดแบบนี้ และการที่เจ้าบ้านไม่ได้พยายามให้ความรู้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมของตนเองมากนัก ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องปรับตัว เพื่อให้ทันกับความเร็วของปริมาณนักท่องเที่ยวอยู่นะครับ