วันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ (21 กรกฎาคม) จะเป็นวันเลือกตั้ง ส.ว. ของญี่ปุ่นอีกครั้ง ซึ่งตั้งแต่มาอยู่ญี่ปุ่นนี่ผมก็รู้สึกเหมือนกับว่าเขามีเลือกตั้งนู่นนี่ตลอด ทั้งในการเมืองระดับชาติ และการเมืองระดับท้องถิ่น ซึ่งก็น่ายินดีเหมือนกันเพราะอย่างน้อยท้องถิ่นเขาก็ได้กำหนดทิศทางและอนาคตของเขาเอง ส่วนของไทยเรานั้น ขนาดการเลือกตั้งระดับชาติ ผมก็ยังงงๆ ว่าไม่รู้ตกลงว่าได้กำหนดทิศทางและอนาคตด้วยตัวเองหรือไม่ ยังไม่นับว่าเราไม่ได้เลือก ส.ว. เอง แถมเขายังใช้งบกันซะเยอะเพื่อจิ้มคนกันเองมาด้วยสิครับ
ย้อนกลับมาทางญี่ปุ่น แม้จะมีการเลือกตั้งหลายระดับ แต่ในความรู้สึกลึกๆ ของผม ก็รู้สึกว่า เขาออกจะเฉยชากับการเมืองอยู่เหมือนกัน เรียกได้ว่าไม่ค่อยแอคทีฟกันเรื่องการเมืองเท่าไหร่ แล้วก็ไม่ค่อยเห็นคนคุยกันเรื่องการเมือง ยิ่งกลุ่มวัยรุ่นนี่ยิ่งจัดว่าน้อยเลย ในทางกลับกัน หลายคนก็มองว่า ไปเลือกตั้งก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร อาจเป็นเพราะส่วนหนึ่งมาจากการที่พรรค Liberal Democratic Party ครองอำนาจเป็นรัฐบาลมาได้อย่างยาวนาน แม้จะมีช่วงที่ต้องตกเป็นฝ่ายค้านบ้าง แต่ก็จัดว่าเป็นช่วงเวลาสั้นมากเมื่อเทียบกับเป็นฝ่ายรัฐบาล
หลายต่อหลายครั้งเลยกลายเป็นความรู้สึกว่า เลือกไปสุดท้ายก็เป็นนักการเมืองจัดการกันในพรรคอยู่ดี ทำให้หลายคนรู้สึกเฉื่อยชา มองการเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ (ซึ่งก็คล้ายๆ กับหลายประเทศนั่นล่ะครับ) และอีกส่วนหนึ่งอาจจะเป็นนิสัยของชาวญี่ปุ่นที่ไม่ชอบแสดงออกเรื่องแนวคิดของตัวเอง ต้องการอยู่แบบเป็นกลาง ดาราก็ไม่ค่อยออกมาพูดอะไร องค์กรต่างๆ ก็พยายามวางตัวห่างๆ จากการเมืองเข้าไว้
แต่ในยุคที่ SNS เป็นที่แพร่หลาย ดาราหรือคนดัง รวมไปถึงประชาชนคนทั่วไป ก็มีพื้นที่ในการออกเสียงของตัวเองให้โลกภายนอกได้ยินได้ ไม่ต้องผ่านตัวกลางที่คอยคัดกรองเช่นโทรทัศน์อีกต่อไป ทำให้หลายคนก็เริ่มที่จะส่งเสียงของตัวเองออกมามากขึ้น รวมไปถึงดาราและคนดังหลายต่อหลายคนที่อาศัยทวิตเตอร์เป็นพื้นที่ในการแสดงความเห็นของตัวเองได้อย่างน่าสนใจ
ตัวอย่างที่น่าสนใจก็อย่างเช่น Takei Sou ดาราสายฮาที่ทวีตบอกว่า
แม้จะถูกคนแย้งว่า ถ้าจะพูดเรื่องการเมือง
ก็ให้เข้าวงการการเมืองก่อนค่อยพูด
แต่เขาคิดว่า การเมืองไม่ควรเป็นเรื่องห่างตัว
เพราะอยู่ในประเทศประชาธิปไตย
ทุกคนสามารถพูดเรื่องการเมืองได้ และควรที่จะพูด
Akimoto Sayaka อดีตสมาชิก AKB48 ก็บอกว่า ในโลกนี้มีหลายคนที่ไม่มีสิทธิแม้จะเลือกตั้ง อุตส่าห์มีโอกาสแล้วแต่กลับทิ้งโอกาสนี้ไปมันก็น่าเสียดายมาก และวัยรุ่นนี่ล่ะคือกลุ่มคนที่จะเปลี่ยนอนาคตของญี่ปุ่น อย่าเพิ่งหมดหวังกับประเทศญี่ปุ่นนะ
เช่นเดียวกับ Shirota Yuu นักแสดงหนุ่มที่บอกว่า แม้ตอนเด็กจะคิดว่าการเมืองคือเรื่องไกลตัว แต่พอคิดถึงอนาคตของตนเอง ชีวิตความเป็นอยู่ของคนรอบตัวทุกคน การมีส่วนร่วมกับการเมืองก็เป็นสิ่งสำคัญ และควรจะตรวจสอบแนวทางและนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ให้ดีก่อนลงคะแนนด้วย ขณะเดียวกัน ก็มีคนดังหลายต่อหลายคนออกมาแสดงความเห็นว่าจะไปเลือกตั้ง เช่น Asano Tadanobu นักแสดงชื่อดัง หรือบางคนก็ทวิตว่า ไปเลือกตั้งล่วงหน้ามาแล้ว เช่น Hashimoto Kanna ดาราสาววัยรุ่น และ Sakamoto Ryuichi ศิลปินชื่อดังที่ลงคะแนนล่วงหน้าจากต่างประเทศ ดูเหมือนคนที่ตื่นตัวกับการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีไม่น้อยเลย
ขณะเดียวกัน แม้องค์กรหรือบริษัทต่างๆ มักจะไม่แสดงท่าทีกับการเมืองนัก แต่ก็มีบริษัทที่กล้าแหวกแนวออกมา ตัวอย่างเช่น บริษัท Patagonia แบรนด์สินค้าเดินป่าชื่อดังจากอเมริกา ที่สำนักงานสาขาญี่ปุ่นประกาศว่า จะปิดให้บริการร้านค้าทุกสาขา เพื่อให้พนักงานไปลงคะแนนเลือกตั้งกันอย่างเต็มที่ ซึ่งตัวแทนในญี่ปุ่นก็บอกว่าได้ไอเดียมาจากทางบริษัทแม่ในอเมริกา
และในร้าน Patagonia ยังมีการจัดเวิร์คช็อปเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งและความสำคัญของนโยบายการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายสิ่งแวดล้อม โดยพวกเขาก็มีสโลแกนว่า “I Voted Our Planet” อีกด้วย ก็ถือว่าเป็นการมีส่วนร่วมกับการเลือกตั้งซึ่งจัดว่าแปลกสำหรับสังคมญี่ปุ่น แต่บริษัทก็บอกอีกว่า จะเลือกพรรคไหน เลือกใคร ก็เป็นสิทธิ์ส่วนตัวของพนักงาน บริษัทไม่ไปก้าวก่ายตรงนั้นแน่นอน
ซึ่งกระแสคนดังชวนคนไปเลือกตั้ง หรือบริษัทมีส่วนร่วมกับการเลือกตั้งขนาดนี้ ก็เป็นกระแสที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะที่ผ่านมา เมื่อดูอัตราสัดส่วนการออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งแล้ว ในช่วงอายุ 20 – 30 ปี เป็นกลุ่มอายุที่ออกไปใช้สิทธิ์น้อยที่สุด เรียกได้ว่าอยู่แค่ประมาณ 30% เท่านั้น และเป็นมาแบบนี้ตลอด ในกรณีของญี่ปุ่นแล้ว ดูเหมือนว่า ยิ่งอายุสูงมากขึ้น ก็ยิ่งไปใช้สิทธ์เลือกตั้งสูงมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งอายุเกิน 75 ปีขึ้นไปนั่นล่ะครับ ที่อัตราการใช้สิทธิ์เลือกตั้งค่อยลดลง แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 70% อยู่ดี
เวลาเห็นกราฟแบบนี้แล้ว
ก็ไม่แปลกใจที่คนดังหลายคนที่เป็นห่วงอนาคตของประเทศ
จะออกมาชักชวนให้คนรุ่นใหม่ออกไปเลือกตั้งเพื่ออนาคต
ซึ่งเท่าที่ดูรายการข่าวต่างๆ ก็เป็นปัญหาจริงๆ ล่ะครับ เพราะคนรุ่น 20 ปีหลายต่อหลายคนก็ไม่ได้สนใจเรื่องการเมือง มองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ไม่อยากใช้เวลาวันหยุดไปเลือกตั้ง หลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าถ้าอยากจะเลือกตั้งล่วงหน้า หรือเลือกตั้งนอกเขตต้องทำอย่างไร ฟังดูแล้วก็ชวนให้เป็นห่วงจริงๆ ครับ
และนั่นก็กลายเป็นที่มาของคลิปรณรงค์การเลือกตั้งตัวหนึ่งที่ทำออกมาได้อย่างน่าสนใจ เพราะเป็นคลิปสั้นๆ ที่มีชื่อคลิปว่า “วัยรุ่นเอ๋ย อย่าออกไปเลือกตั้ง” ซึ่งในคลิปก็เป็นลุงๆ ป้าๆ ออกมาพูดว่า “ไม่ต้องไปเลือกตั้งหรอก ญี่ปุ่นสงบดีอยู่แล้ว ออกไปเลือกตั้งมันลำบากจะตาย” แล้วก็ตามด้วยประโยคเจ็บๆ ต่างๆ เช่น “ระบบบำนาญจะล่ม? ไม่ห่วงหรอก ก็พวกชั้นรับเงินบำนาญอยู่แล้วนี่” “งบการศึกษาลดลง ก็เขาเอามาโปะงบรักษาพยาบาลให้พวกฉันนี่ล่ะ” “โลกร้อนเหรอ จะเกี่ยวอะไร พวกชั้นอยู่ไม่ถึงวันนั้นหรอก” แล้วก็ตามด้วยการตอกย้ำอีกว่า วันๆ ก็บ่นใน SNS นั่นนี่ แชร์เรื่องการเมืองบ้าง ทำเป็นว่ารู้เรื่องดี แต่พวกเธอก็ไม่ไปเลือกตั้ง เพราะงั้น พวกฉันนี่ล่ะคือคนที่ขับเคลื่อนการเมืองอยู่ วัยรุ่นแบบพวกเธอน่ะ คือคนไม่มีตัวตน พวกฉันจะไปเลือกตั้ง ก็เป็นวิดีโอที่เจ็บๆ แสบๆ ดีเหมือนกัน เพราะออกมาซัดใส่วัยรุ่นได้ตรงประเด็นเอามากๆ
ผู้อยู่เบื้องหลังของคลิปนี้คือ Takamatsu Nana หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Shoukasonjuku ซึ่งเป็นองค์กรที่มีเป้าหมายส่งเสริมให้วัยรุ่นออกไปเลือกตั้งให้มากขึ้นโดยอาศัยเสียงหัวเราะ ถึงขนาดที่พร้อมจะออกไปช่วยรณรงค์เรื่องการเลือกตั้งให้กับจังหวัดที่มีอัตราการใช้สิทธิ์ต่ำสุด 10 จังหวัด ซึ่งเขาออกคลิปนี้มาก็เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มวัยรุ่นได้สะอึกและคิดเรื่องอนาคตของตัวเองให้มากขึ้น (แม้จะไม่ได้เป็นไอเดียใหม่ เพราะเคยมีคลิปแบบนี้ในอเมริกาในปี ค.ศ. 2018 มาแล้ว) แล้วก็ยังย้ำว่า วัยรุ่นทั้งหลาย เจอแบบนี้แล้วยังจะไม่ไปเลือกตั้งอยู่เหรอ
เขายังทวิตต่ออีกว่า ถ้าออกไปเลือกตั้งไม่ถึง 50% มันก็เหมือนเวลาประชุมว่าจะทำกิจกรรมอะไรในห้องเรียนแล้วมีคนออกเสียงไม่ถึงครึ่ง กลายเป็นต้องทำกิจกรรมอะไรที่ตัวเองไม่อยากทำ แบบนี้มันดีจริงๆ เหรอ จะปล่อยให้คนอื่นมากำหนดเรื่องของตัวเองเหรอ ซึ่งก็คงเป็นข้อความที่กระแทกใจหลายๆ คน และสามารถกระตุ้นให้ออกไปเลือกตั้งบ้าง ทาง Takamatsu Nana ยังได้ทวีตสาระต่างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งอีกมากมาย ตัวอย่างเช่น แผนภูมิว่า ควรเลือกพรรคไหน หากตนเองสนใจนโยบายเช่นไร เช่น นโยบายเกี่ยวกับการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
แต่เอาจริงๆ แล้ว มองอีกที
ก็พอเข้าใจความเหนื่อยใจของหนุ่มสาวญี่ปุ่นได้นะครับ
คือปัญหาประชากรคนละช่วงอายุมีความคิดต่างกันนี่ก็ไม่แปลกใจ
ตัวอย่างที่ชัดคงยกกรณี Brexit ขึ้นมาได้เหมือนกัน แต่ที่ญี่ปุ่นนี่ กำแพงขนาดยักษ์ของวัยรุ่นก็คือ สัดส่วนจำนวนประชากรที่ต่างกันมาก เพราะว่าสังคมญี่ปุ่นกลายเป็นสังคมกลับหัว ทำให้มีประชากรสูงอายุเป็นจำนวนมาก ขนาดที่ว่า ต่อให้ประชากรในช่วงอายุ 20 ถึง 39 ปี ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งแบบ 100% ก็ยังแพ้คนกลุ่มอายุ 40 ปี ขึ้นไป แม้กลุ่มหลังจะออกไปใช้สิทธิ์เพียงแค่ 40% เท่านั้น ฟังดูชวนหดหู่ดีไหมครับ
แต่ก็นั่นแหละครับ การเลือกตั้งมันก็ไม่ใช่การสู้กันระหว่างช่วงอายุ แต่เป็นเรื่องของพรรคการเมือง คนอายุ 40 ที่ห่วงอนาคตคนรุ่นหลังก็มี ดังนั้นสิ่งที่ควรทำไม่ใช่การถอดใจ แต่เป็นการออกไปใช้สิทธิ์ใช้เสียงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แบบในคลิป ‘วัยรุ่นเอ๋ย อย่าออกไปเลือกตั้ง’ นั่นล่ะครับ แทนที่จะเสียเวลาไปกับการเถียงคนนั้นคนนี้ในทวิตเตอร์ ก็ควรลงแรงออกไปใช้สิทธิ์นั่นเอง
ดูๆ แล้ว พลวัตของโลกเปลี่ยนไป สังคมญี่ปุ่นเองก็เปลี่ยนไปไม่น้อยเช่นกัน และต่อไปเราคงจะได้เห็นอะไรแปลกใหม่เพิ่มมากขึ้น จากที่ไม่เคยมีมาก่อน และเราก็อาจจะเอามาเป็นบทเรียนปรับใช้กับบ้านเราได้ด้วย แต่ที่สำคัญคือ สิทธิ์ของเรา อย่าได้ปล่อยให้เสียเปล่า หรือปล่อยให้ใครเอาไปใช้โดยไม่เห็นคุณค่าครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก