ระหว่างที่ผมเขียนงานอยู่นี้ก็เป็นช่วงเวลาที่ระทึกใจสำหรับชาวญี่ปุ่นจริงๆ เพราะนี่อยู่ในช่วงระหว่างการแข่งขันรักบี้โลกที่จัดขึ้นในญี่ปุ่น ซึ่งใครจะคิดว่ากระแสมาแรงซะขนาดนี้ จากที่ญี่ปุ่นชนะเกมแรกของรอบแบ่งกลุ่มในรักบี้โลกครั้งก่อน ซึ่งเรียกว่าหักปากกาเซียนก็ได้ เพราะพวกเขาเอาชนะแอฟริกาใต้ แถมยังชนะอีกสองเกมติด แต่ไม่ได้โอกาสผ่านรอบแบ่งกลุ่มเพราะไม่มีคะแนนโบนัส ทำให้รักบี้กลายเป็นกีฬาที่คนสนใจเยอะขึ้น
จากความสำเร็จในครั้งนั้น มาถึงครั้งนี้ที่มาจัดแข่งขันถึงบ้านตัวเอง แถมยังชนะสามเกมติดอีก จะไม่ให้ระทึกได้ไง แต่ที่ทำให้ระทึกเข้าไปอีก คือ ซูเปอร์ไต้ฝุ่นกำลังจะซัดเข้าประเทศญี่ปุ่นจนไม่รู้ชะตากรรมว่าการแข่งจะเอายังไง ซึ่งตอนนี้ก็เลื่อนแข่งไปหลายเกมแล้ว
พอมาดูการเกิดภัยธรรมชาติระหว่างทัวร์นาเมนต์แล้ว ก็ชวนคิดถึงการจัดการเตรียมการต่างๆ ของญี่ปุ่นว่าจะเป็นอย่างไรเมื่อจะต้องจัด ‘โอลิมปิก’ อีเวนต์ระดับสำคัญของโลกในปีหน้า จะว่าไป การจัดรักบี้โลกครั้งนี้ก็เหมือนกับการเตรียมความพร้อมสำหรับประเทศญี่ปุ่นเพื่อปีหน้านั่นเอง เพราะว่างานรักบี้ก็ถือเป็นอีเวนต์ระดับสำคัญ ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีอาเบะเริ่มต้นแนวทางลูกศรสามดอก โดยเปิดประเทศรับการท่องเที่ยวเป็นธุรกิจสำคัญของชาติ ทำให้ชาวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวในญี่ปุ่น เปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไปไม่น้อย มีการปะทะกันของวัฒนธรรมญี่ปุ่นกับวัฒนธรรมของชาติอื่นอยู่เรื่อยๆ จนน่าสนใจว่า ญี่ปุ่นจะยอมงอหรือยอมปรับตัวเพื่อเข้าหาชาวโลกแค่ไหนบ้าง
เรื่องแรกสุดที่เป็นข่าวในแวดวงการท่องเที่ยวญี่ปุ่น คือ เรื่อง ‘รอยสัก’
หลายคนคงจะคุ้นเคยว่า ญี่ปุ่นเป็นชาติที่เข้มงวดกับการสักเหลือเกิน ชนิดที่มีการห้ามคนที่มีรอยสักเข้าใช้บริการต่างๆ เช่น ออนเซ็น หรือปัจจุบันชายหาดบางแห่งก็ห้ามคนที่มีรอยสักโชว์รอยสักถ้าอยากใช้บริการไปเลย ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าสนใจเหมือนกันว่าทำไมถึงได้เข้มงวดขนาดนี้ เอาจริงๆ แล้ว แต่เดิมการมีรอยสักก็ไม่ได้หมายถึงว่าเป็นยากูซ่าแต่เพียงอย่างเดียว แน่นอนว่าในยุคเอโดะก็มีการสักเพื่อเป็นเครื่องหมายว่าบุคคลดังกล่าวได้รับการลงโทษ แต่ในโอกิน่าว่าหรือฮอกไกโดก็มีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีการสักเช่นกัน และเดิมคนทำงานบางประเภทในญีปุ่นเช่นช่างฝีมือก็สักกัน
การเห็นคนมีรอยสักในโรงอาบน้ำก็ไม่ใช่เรื่องแปลกตามากนัก เพียงแต่พอสังคมเริ่มพัฒนา คนมีห้องอาบน้ำในบ้านเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความจำเป็นในการใช้บริการโรงอาบน้ำก็ลดลง คนก็ไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็นร่างกายคนอื่นน้อยลง พูดง่ายๆ คือ ไม่มีโอกาสได้เห็นรอยสักในชีวิตประจำวันเหมือนในอดีต แต่กลายเป็นว่าติดกับภาพจำจากสื่อบันเทิงแทน ยากูซ่าสักลายพร้อยเต็มตัว ออกอาละวาด จนกลายเป็นว่ากลัวรอยสักกันจนต้องห้ามคนมีรอยสักใช้บริการดังกล่าวเพราะลูกค้ากลัว (ทั้งที่จริงๆ ยากูซ่าในปัจจุบันก็เลี่ยงที่จะมีรอยสัก เพราะกลายเป็นการทำตัวเด่นเกินจนขยับตัวทำอะไรลำบากไปแทน)
แต่สำหรับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวตะวันตก รอยสักถือเป็นเรื่องปกติ เป็นแฟชั่นธรรมดา แต่พอมาญี่ปุ่น หลายต่อหลายคนก็ได้แต่บนว่าเข้าแช่ออนเซ็นไม่ได้ เพราะกฎมีไว้อย่างนั้น ทางสถานที่ให้บริการก็ไม่อยากเสี่ยงว่า ปล่อยให้คนมีรอยสักเข้าไป ต่อให้เป็นชาวต่างชาติ ไม่ใช่ยากูซ่าแน่ๆ ก็ไม่รู้ลูกค้าญี่ปุ่นจะคิดยังไง ถ้ากลัวจนเลิกใช้บริการก็อาจจะส่งผลเสียระยะยาวได้
แต่พอเป็นรักบี้โลก ไม่ใช่แค่แฟนๆ ที่น่าจะมีรอยสักเยอะกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปแล้ว (นี่เป็นอคติส่วนตัวล้วนๆ ครับ แต่ผมก็คิดว่าแฟนรักบี้น่าจะสักกันเยอะกว่าจริงๆ นะ) แต่ยังมีนักกีฬาเอง ที่หลายคนก็ไม่ได้สักเป็นแฟชั่น แต่สักเพราะเป็นวัฒนธรรมของเขา เช่นชาวนิวซีแลนด์เชื้อสายเมารี ที่สักกันอย่างสวยงามเป็นความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของพวกเขาเองไม่ว่าจะชายหรือหญิง คนญี่ปุ่นคงจะได้เห็นนักกีฬาและกองเชียร์ที่เต็มไปด้วยรอยสักบนหน้าจอแน่นอน (กองเชียร์เมารีบางคนก็จัดเต็มจริงๆ ครับ) ก็อาจจะช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับรอยสักและวัฒนธรรมอื่นได้บ้าง แต่เท่าที่เห็นคือ สื่อญี่ปุ่นเสนอข่าวกันแต่เรื่องการเต้นฮาก้าของนักกีฬา จนแอบนึกในใจว่า มันน่าจะเป็นอะไรที่รู้จักกันมานานแล้วนะ
ถึงจะว่าเป็นวัฒนธรรม และชาวญี่ปุ่นน่าจะมีโอกาสได้คุ้นเคยมากขึ้น แต่สุดท้ายแล้ว ในเมืองออนเซ็นชื่อดังของญี่ปุ่นอย่าง เบ็ปปุ ในจังหวัดโออิตะ สถานให้บริการออนเซ็นของเอกชนในเมือง ต่างก็ลงความเห็นอย่างเป็นเอกฉันทร์ว่า จะยืนยันไม่ให้บริการต่อคนที่มีรอยสักเหมือนเคย ไม่เปลี่ยนแนวทาง เพราะมองถึงการดำเนินงานระยะยาวมากกว่ารายรับในช่วงสั้นๆ ยังดีที่สถานที่ที่ให้บริการออนเซ็นของรัฐในเมืองยังเปิดรับคนที่มีรอยสักอยู่ ก็ไม่แน่ใจว่าต้องสร้างความคุ้นเคยกับสังคมญี่ปุ่นแค่ไหน ภาพลักษณ์แย่ๆ ถึงจะหายไป และคนมีรอยสักก็สามารถใช้บริการเป็นปกติได้
ปัญหาเรื่องต่อมาที่เจอมาหมาดๆ คือ การให้บริการด้านของกินและของมึนเมา
ญี่ปุ่นเขาก็เตรียมทั้งของกินและเครื่องดื่มไว้ตามสเตเดียมเท่าที่คิดว่าพอ แต่พอเริ่มแข่งได้ไม่นานก็พบว่า ระดับความหนักหน่วงของการบริโภคของแฟนรักบี้เหนือกว่าที่คิดไว้มาก แป๊บเดียวเกลี้ยง ของจานเล็กๆ กระจุ๋มกระจิ๋มมุ้งมิ้งแบบญี่ปุ่นไม่พอกับกระเพราะของแฟนรักบี้ ที่สำคัญ เบียร์ก็หมดอย่างรวดเร็ว จนทำให้คิดถึงคำพูดที่มีคนพูดไว้ว่า “แฟนบอล ดื่มเบียร์แล้วออกอาละวาด แฟนรักบี้ อาละวาดเพราะเบียร์ไม่พอ” เล่นเอาผู้สนับสนุนเรื่องเบียร์ต้องเร่งเพิ่มปริมาณสต๊อกในแต่ละสนาม และการต้องเดินออกไปซื้อแล้ววนกลับมานั่งดูก็ทำให้หลายคนเซ็ง ยังดีที่ญี่ปุ่นมีการใช้ อุริโกะ หรือ สาวขายเบียร์ในสนามกีฬา ที่สะพายถังเบียร์สดไว้ที่หลังแล้วเดินวนไปมาบนสเตเดียม ใครอยากเบียร์ก็เรียกรับเบียร์สดๆ พร้อมดื่มจากพวกเธอได้เลย ถือเป็นการแก้ปัญหาสไตล์ญี่ปุ่นที่ดีเหมือนกัน ส่วนอาหารที่ไม่พอก็จัดการอนุญาตให้นำอาหารตัวเองเข้าไปกินในสนามได้ ถือว่า win-win กันไป
ในขณะเดียวกันปัญหาเรื่องของแฟนรักบี้ที่มาชมการแข่งขันแล้วสนุกเกินขีดไปหน่อย ร้องเพลงตะโกนสนุกโวยวายกันในรถไฟก็เป็นเรื่องเป็นราวให้ได้เห็นในโลกโซเชียลฯ ซึ่งก็ยังดีที่แฟนรักบี้ชาติเดียวกันก็ตักเตือนหรืออย่างน้อยก็พยายามแสดงตัวว่า ไม่ใช่คนชาตินี้ทุกคนที่ทำแบบนี้นะ แต่ก็ทำให้หลายๆ คนเริ่มเป็นห่วงว่าตอนโอลิมปิกที่มีชาวโลกมาเยือนประเทศเยอะกว่าเดิมจะเป็นอย่างไร (หลายคนคงแขยงเพราะเดือนนี้กำลังจะมีงานฮัลโลวีนอีกด้วย) ในทางกลับกัน ปัญหาร้านที่หลอกฟันลูกค้าต่างชาติหัวแบะก็เริ่มเด่นชัดขึ้น เมื่อมีนักท่องเที่ยวตกเป็นเหยื่อร้านกินสบาย ตายตอนจ่ายเงินที่เล็งนักท่องเที่ยวไม่รู้อิโหน่อิเหน่นี่ล่ะครับ
นอกจากนี้ก็ยังมีความเป็นห่วงเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ เมื่อมีผู้คนจากหลายที่ทั่วโลกมาเยือนในพื้นที่เล็กๆ ก็มีโอกาสที่จะมีคนนำพาโรคติดตัวมาด้วย ยิ่งหลังๆ ดันมีกระแสการต่อต้านการฉีดวัคซีน จึงทำให้โรคที่คิดว่าจะหายจากโลกไปแล้วกลับมาโชว์ผลงานได้อีกครั้ง ทางบุคลากรทางการแพทย์ของญี่ปุ่นเลยเริ่มกระตุ้นความสนใจเรื่องนี้กัน และที่สำคัญอีกเรื่องคือ การให้การรักษานักท่องเที่ยวที่เจ็บป่วย ซึ่งแน่นอนว่าหลายคนใช้ภาษาญี่ปุ่นไม่ได้แน่นอน พอมีนักท่องเที่ยวเพิ่มจำนวนมหาศาลในช่วงเวลาสั้นๆ แบบนี้ ความเสี่ยงก็ยิ่งพุ่งสูงขึ้น ก็เป็นสิ่งที่วงการแพทย์ญี่ปุ่นต้องคิดกันให้เยอะๆ เลยทีเดียว (มีคนเริ่มพูดเรื่องนี้กันแล้ว)
ฟังดูก็ชวนให้เป็นห่วงเหมือนกัน ดีที่การจัดรักบี้โลกครั้งนี้เหมือนเป็นการเทสต์รันก่อนโอลิมปิกจะมาถึง จะได้รู้ว่าอะไรต้องปรับปรุง อะไรต้องแก้ไข ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ เวลาสื่อต่างชาติพยายามเสนอความเป็นญี่ปุ่นในรายการของตัวเองแล้วเกิดพลาดขึ้นมา เช่น ใส่รองเท้ายืนบนเสื้อทาทามิ หรือบางทีมก็ให้นักกีฬาตัวเองแต่ชุดซามูไร ที่กลายเป็นดราม่าเรื่อง cultural appropriation ว่าเอาวัฒนธรรมคนอื่นมาใช้แล้วเป็นประเด็นกันในญี่ปุ่น แต่ว่าสำหรับชาวญี่ปุ่นน่ะเหรอครับ ไม่เห็นมีใครสนอะไร ไม่มีดราม่าเลย กลายเป็นคนตะวันตกดราม่าใส่กันแทนคนญี่ปุ่นไป
ก็ไม่รู้ต่อไปจะมีดราม่าอะไรบ้างไหม แต่เท่าที่เห็นตอนนี้คือ ชาวญี่ปุ่นยังแฮปปี้ที่โลกสนใจวัฒนธรรมของตัวเองนะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก