กลายเป็นข่าวกะทันหันที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นตกใจเหมือนกัน เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา เมื่อมีรายงานข่าวด่วนว่า ชินโซ อาเบะ (Abe Shinzō) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นประกาศลาออกจากตำแหน่ง แม้จะมีข่าวลือกันมาก่อนบ้างแต่พอเกิดขึ้นจริงก็แอบตกใจไม่ได้
สาเหตุที่นายกฯ อาเบะตัดสินใจลาออกในครั้งนี้ก็คือ อาการป่วยจากโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังที่เป็นปัญหาคู่กายมานาน เริ่มอาการหนักจนทำให้ตัวอาเบะเองรู้สึกว่าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ แม้อาการจะไม่ถึงชีวิต แต่ก็มีความเสี่ยงและถ้าอาการหนักก็รบกวนการทำงานได้ (บางคนต้องถ่ายเกือบทุกชั่วโมง)
จากที่เดิมอาเบะตั้งใจจะอยู่ให้ครบวาระหัวหน้าพรรคในเดือนสิงหาคมปีหน้าแล้วค่อยวางมือ แต่กลายเป็นว่าต้องลงจากตำแหน่งก่อนกำหนดถึงเกือบปี แต่ถึงอย่างนั้น อาเบะก็ทำลายสถิตินายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่ครองตำแหน่งติดต่อกันยาวนานที่สุด แซงหน้า เอซากุ ซาโต (Satō Eisaku) ลุงของเขาเองไป (ซึ่งถ้านับการครองตำแหน่งสมัยแรกด้วย ก็แซงไปนานแล้ว)
คำถามหนึ่งที่หลีกหนีไม่ได้คือ หลังจากช่วงเวลาการปกครองที่ยาวนานของอาเบะ สังคมญี่ปุ่นจะเป็นอย่างไร เรียนตามตรงว่า คนญี่ปุ่นเองก็คงชินกับการครองตำแหน่งมานานจนพอต้องเปลี่ยนนายกฯ ขึ้นมาแล้ว ก็คงกังวลเรื่องหลุมอากาศที่เกิดขึ้น เพราะหลังจากนายกฯ ที่ได้รับความนิยมและอยู่ในตำแหน่งเป็นเวลานาน หลังจากนั้นมักจะเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่ และเปลี่ยนตัวนายกฯ ถี่ไม่ต่างกับเก้าอี้ดนตรี
ดูง่ายๆ ก็หลังจากยุค จุนอิจิโร่ โคอิซุมิ (Koizumi Junichirō) สิครับ ว่าเปลี่ยนนายกกันกี่คนกว่าจะมาถึงอาเบะ ผมมั่นใจว่าคนญี่ปุ่นเองก็ไล่นายกฯ ในช่วงนั้นไม่ได้ง่ายๆ ทุกคนหรอกครับ (เรียนตามตรงว่าบางคนผมก็จำได้แค่ชื่อ แต่หน้านี่หายไปจากหัวผมไปแล้ว)
มาไล่ดูดีๆ ผมเองก็เริ่มทำงานเขียนเรื่องญี่ปุ่นพร้อมกับ อาเบะรับตำแหน่งรอบที่สอง นับรวมๆ ก็ปาเข้าไป 8 ปีแล้ว ถือว่ายาวนานจริงๆ จนไม่แปลกใจว่าคนจะเป็นห่วงกัน และตลอดเวลาที่ทำงานเขียน ผมก็เขียนงานวิจารณ์อาเบะอยู่ประจำ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ เพราะถ้าไม่วิจารณ์ หรือตั้งคำถามอำนาจปกครองแล้ว จะทำงานเขียนไปทำไมล่ะครับ
ไหนๆ จะไม่อยู่แล้ว ก็คงต้องขอเขียนถึงว่า ที่ผ่านมา อาเบะได้ฝากผลงานอะไรไว้บ้าง แน่นอนว่า ด้วยอายุรัฐบาลที่ยาวนาน ทำให้อาเบะสามารถผลักดันนโยบายเศรษฐกิจในแนวทางของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ด้วย Abenomics ของเขา ที่พยายามลดค่าเงินเยนและการใช้นโยบายทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งออกวัฒนธรรมและเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ การส่งเสริมให้ผู้หญิงทำงานนอกบ้าน นโยบายการเปิดกว้างในการรับแรงงานต่างชาติ ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับมาเติบโตได้ แม้จะไม่ถึง 2% อย่างที่ตั้งใจไว้ แต่ก็เป็นการพลิกฟื้นจาก The Lost Decades ได้อย่างน่าทึ่ง รวมไปถึงอัตราการจ้างงานที่สูงขึ้นอย่างน่าประทับใจ
แต่จุดเด่นที่ต้องยอมรับในตัวอาเบะคือ เป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่ทำให้ญี่ปุ่นกลับมาโดดเด่นในเวทีโลกได้อีกครั้งจริงๆ ในสมัยการดำรงตำแหน่งของอาเบะ ก็มีช่วงเวลาที่น่าชื่นชมหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการมาเยือนฮิโรชิม่าของโอบาม่า การประชุม G20 รวมไปถึงการได้รับเลือกให้จัดโอลิมปิก (ที่ต้องเลื่อนไปก่อน) และการดำเนินนโยบายการเมืองระหว่างประเทศระดับยอดเยี่ยม แม้ TPP จะล่มไปเพราะอเมริกาถอนตัว แต่เขาก็สามารถจัดการผลักดัน FTA กับหลายประเทศได้สำเร็จ
รวมถึงสหภาพยุโรป และเขายังสามารถรักษาความสัมพันธ์กับประธานธิปดี โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ผู้ที่ดูเหมือนอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ตลอดเวลา แต่อาเบะก็ดูจะเป็นมิตรที่ดีและอาศัยความสัมพันธ์ตรงนี้ในการดำเนินธุรกิจระหว่างสองชาติได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงการพยายามต้านการขยายอำนาจของจีน ด้วยการวางหมากที่น่าสนใจหลายจุด โดยเฉพาะการสานสัมพันธ์กับอินเดียเป็นแนวร่วมต้านจีน จนต้องยอมรับจริงๆ ว่า
ผลงานเรื่องความสัมพันธ์และการลงทุนระหว่างประเทศ
คือผลงานเด่นของอาเบะก็ว่าได้
แต่ในทางกลับกัน ความยาวนานก็ทำให้ตัวอาเบะมีแผลได้มากเช่นกัน แม้นโยบายทั้งหลายออกมาดูดี แต่ญี่ปุ่นเองก็ยังมีปัญหาอยู่อีกมากเมื่อมองลงไปในรายละเอียด ผู้หญิงออกมาทำงานมากขึ้น แต่ตำแหน่งงานสายบริหารก็ยังคงเป็นผู้ชายอยู่ดี นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เพิ่มหนี้สาธารณะ ทั้งที่เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ก็ยังอุดตรงนี้ไม่ได้ ซึ่งการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มก็ทำให้เศรษฐกิจเกิดการชะงักตัวช่วงหนึ่งอีกด้วย
ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็หนีเรื่องการไปเยือนศาลเจ้ายาสุคุนิไม่พ้น ซึ่งก็เป็นการสร้างความไม่พอใจให้กับประเทศเพื่อนบ้านไม่น้อย รวมไปถึงปัญหาพื้นที่พิพาท เกาะเซ็นคาคุ ที่ดูเหมือนจะโดนจีนเปิดเกมรุกหนักใส่ ในขณะเดียวกันทางตอนเหนือก็ยังมีปัญหาคาราคาซังกับรัสเซีย ตัวอาเบะเองก็ยอมรับว่ารู้สึกเสียดายที่ไม่สามารถจัดการเรื่องชาวญี่ปุ่นที่ถูกลักพาตัวไปในเกาหลีเหนือให้เสร็จสิ้นได้ในยุคสมัยของเขา
แต่ที่เป็นเหมือนตราบาปของอาเบะคือ คดีการคอรัปชั่นเรื่องที่ดินโรงเรียนโมริโมโตะ ที่นอกจากจะดูเหมือนว่าเขามีส่วนแน่นอนแล้ว การทำลายเอกสารต่างๆ ยังดูมีพิรุธอย่างมาก รวมถึงการรับสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ดูจะชักช้าไปทุกก้าว จนรัฐบาลท้องถิ่นต้องออกมาสวนหนักๆ รวมถึงการใช้งบประมาณไปอย่างไม่คุ้มค่า ทำให้คะแนนความนิยมของตัวนายกฯ อาเบะร่วงลงอย่างหนัก แถมจากที่ตั้งใจว่าจะเป็นตัวแทนประเทศในการจัดโอลิมปิก ก็ต้องเลื่อนออกไป
สุดท้ายก็ต้องปิดฉากตัวเองไป
อย่างไม่ค่อยสวยเท่าไหร่
เมื่อนายกฯ ประกาศลงจากตำแหน่งแบบนี้ แน่นอนว่า ในพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ก็ต้องวุ่นกับการหาตัวแทนมาขึ้นรับตำแหน่งแทน ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าสนใจเอามากๆ เพราะระบบของ LDP นี่คือพรรคการเมืองใหญ่ทรงอำนาจ แต่แบ่งกันเป็นก๊กเป็นเหล่า ขั้วอำนาจใครมัน ใครอยากจะได้ตำแหน่ง ก็ต้องพยายามลอบบี้หาเสียงสนับสนุนตัวเองจากขั้วต่างๆ ให้ได้
และการเลือกประธานพรรคเพื่อมารับตำแหน่งนายกฯ คนต่อไปคราวนี้ ก็ได้มีการเปลี่ยนกติกามาใช้ระบบเสียงโหวตของสมาชิกสภา 394 เสียง และเสียงจากสาขาในแต่ละจังหวัดๆ ละ 3 เสียง เป็น 141 เสียง รวมเป็น 535 เสียง ซึ่งผู้ชนะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งถึงจะขึ้นรับตำแหน่งได้
คนแรกที่แสดงท่าทีว่าต้องการท้าชิงตำแหน่งคือ ฟุมิโอะ คิชิดะ (Kishida Fumio) ประธานฝ่ายนโยบายของพรรค อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งก็เป็นคนที่อาเบะเคยสนับสนุนมาตลอด เคยเป็นนักการเมืองหนุ่มหน้าตาดี มาจากครอบครัวนักการเมือง วางตัวเป็นกลางมาตลอด จนไปๆ มาๆ กลางเกินไปจนดูเหมือนไม่มีความสามารถอะไร แม้จะเคยมีผลงานเด่นคือการเชิญโอบาม่ามาที่ฮิโรชิม่า และแถลงเกี่ยวกับผลกระทบของสงคราม แต่จากการผลักดันนโยบายแจกเงินช่วยเหลือ COVID-19 ครัวเรือนละ 300,000 เยน ที่ชวนงงและจัดการบริหารได้ยาก จนโดนตีตกไป ทำให้ดูเหมือนเขาจะหลุดวงจรไป
และด้วยความพยายามวางตัวเป็นกลางเป็นหลัก ทำให้ดูหลักลอย ไม่กล้าสู้อะไร ไม่มีผลงานเด่นชัด ขนาดที่คนในขั้วของอาเบะยังบอกอาเบะว่า ถ้ายังคิดผลักดันคิชิดะต่อไป ก็จะสะเทือนถึงตัวอาเบะด้วย นอกจากนี้ การพยายามเกาะกระแสอัพรูปตัวเองในบ้านช่วง COVID-19 ระบาด เพื่อให้ดูเป็นคนเข้าถึงได้ แต่การนั่งโต๊ะกินข้าวแล้วมีภรรยาใส่ชุดทำงานบ้านยืนอยู่ข้างๆ ก็ทำให้ภาพออกมาว่าเป็นคนที่ปฏิบัติกับภรรยาเหมือนกับแม่บ้านมากกว่า จนโดนกระแสสังคมตีไปอีกทาง
คนที่สองคือ ชิเกรุ อิชิบะ (Ishiba Shigeru) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม และเลขาธิการทั่วไปของพรรคในสมัยของอาเบะ แต่กลายมาเป็นคนที่ออกมาวิพากย์วิจารณ์อาเบะอย่างเผ็ดร้อนอยู่เสมอ ซึ่งก็ดูเหมือนว่าเขาจะได้รับความนิยมในหมู่สมาชิกพรรคท้องถิ่น จากผลงานที่เคยดูแลเรื่องการพัฒนาท้องถิ่นและแก้ปัญหาประชากรหดตัว และการวิจารณ์อาเบะอยู่เสมอก็ทำให้ได้เสียงหนุนจากประชาชนกลุ่มที่เบื่ออาเบะแต่ก็ไม่อยากเลือกพรรคฝ่ายค้านอีกด้วย
แต่นั่นก็เป็นดาบสองคม เพราะเขาเป็นที่เกลียดขี้หน้าในพรรค และกลุ่มของเขาก็ไม่ได้มีสมาชิกเยอะอะไร เมื่อหลายๆ ขั้วพร้อมใจรุมกันต้านเขา โอกาสที่จะได้เป็นนายกฯ ก็เลือนรางมาก เพราะต่อให้ได้เสียงสนับสนุนจากสมาชิกพรรคในต่างจังหวัด แต่น้ำหนักก็แพ้สมาชิกสภาหลุดลุ่ย ซึ่งระบบการลงคะแนนครั้งนี้ ออกแบบมาเพื่อสกัดเขาอย่างแท้จริง โดนอ้างว่า ตอนนี้ไม่ควรมีสุญญากาศ ต้องรีบหาผู้นำคนต่อไป จะจัดการเลือกหัวหน้าพรรคทั่วประเทศคงไม่ได้ ที่สำคัญคือ ขั้วต่างๆ พร้อมจะดันคนอื่นขึ้นมาสู้ (แต่ไม่เลือกคิชิดะเพราะคงเข็นไม่ขึ้น)
ทีแรกตอนที่อาเบะประกาศลาออก ผมเก็งสองคนว่าจะมาท้าชิงตำแหน่งนี้ คนแรกคือ ทาโร่ โคโนะ (Kono Taro) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ผู้จบจากมหาวิทยาลัย Georgetown และจัดว่าเป็นคนที่หัวสมัยใหม่ วางตัวดี เล่นกับสื่อเป็นผลงานก็เด่น ก่อนนี้ก็เคยรับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ และอยู่ในขั้วของ ทาโร่ อาโซะ (Asō Taro) อดีตนายกรัฐมนตรีที่ยังคงมีบทบาทอยู่มาก แต่ไปๆ มาๆ ท่าทางอาโซะอยากจะเก็บโคโนะไว้ก่อน ให้มีประสบการณ์มากกว่านี้ เลยกลายเป็นว่า หวยจะไปลงที่อีกคนที่ผมเก็งคือ โยชิฮิเดะ สุกะ (Suga Yoshihide) เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นแทน
สุกะ คือคนที่ต่อให้คุณไม่สนใจการเมือง ก็คงต้องเคยเห็นหน้าเขาแน่นอน เพราะเขาคือคนมาออกมาประกาศชื่อรัชสมัยเรวะนั่นเอง จนได้ฉายาว่า คุณลุงเรวะ (เรวะ โอจิซัง) และดูแล้ว เขามีโอกาสที่จะมีเส้นทางเหมือนกับ เคโซ โอบุจิ (Keizō Obuchi) อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผู้ประกาศชื่อรัชสมัยเฮวะ และต่อมาก็ได้เป็นนายกฯ ในภายหลัง
จะว่าไป สุกะก็เป็นตัวเลือกที่เหนือความคาดหมายเหมือนกัน เพราะตัวเขาเองไม่ได้สังกัดขั้วไหนในพรรคเลย เพียงแต่ทำหน้าที่อย่างขยันขันแข็งในฐานสมาชิกพรรค แต่เขาเองก็เป็นผู้ที่เชื่อมั่นในตัวอาเบะมาตลอด และเป็นหนึ่งในแรงหนุนให้อาเบะกลับมาท้าชิงตำแหน่งนายกฯ ในปี ค.ศ.2012
และเขาก็ได้รับความไว้วางใจกลับ
ด้วยการดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอย่างยาวนาน
ตัวสุกะเองก็ถือว่ามีพื้นเพน่าสนใจ เนื่องจากเขาไม่ได้มาจากครอบครัวนักการเมือง แต่มาจากครอบครัวชาวสวนในจังหวัดอาคิตะ และมาโตเกียวเพื่อทำงานไปหาเงินส่งตัวเองเรียนมหาวิทยาลัยโฮเซไป เมื่อจบมาก็ได้ทำงานแวดวงการเมืองจากสายสัมพันธ์ในรั้วมหาวิทยาลัย ถ้าเขาสามารถขึ้นถึงตำแหน่งนายกฯ ได้ ก็ถือเป็นเรื่องราวเหมือนกับนิทานเช่นกัน
ในตอนแรกเขาก็ไม่ได้มีท่าทีสนใจที่จะลงแย่งชิงตำแหน่งนี้ แต่เมื่อขั้วต่างๆ เริ่มหันมาหนุนหลังเขาเข้าสู้กับอิชิบะ ก็ดูจะเป็นโอกาสที่ดีเกินกว่าจะปฏิเสธ จุดเด่นของเขาคือ การ ‘รักษา’ นโยบายของอาเบะให้ดำเนินต่อไปได้ ในช่วงที่สถานการณ์โรคระบาดส่งผลต่อเศรษฐกิจเช่นนี้ พูดง่ายๆ คือ รับช่วงต่อโดยไม่เปลี่ยนอะไร ไม่ต้องเพิ่มความเสี่ยงให้กับประเทศมากไปกว่านี้ และดูแล้วด้วยเสียงหนุนจากขั้วต่างๆ แล้ว ขิงแก่อายุ 71 ปีคนนี้ก็น่าจะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นคนต่อไปได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าหลังจากนั้นมันจะง่ายดายเสมอนะครับ นอกจากสถานการณ์การระบาดที่ตอนนี้ก็ดูดีขึ้นแล้ว ปัญหาหนักที่รอคอยอยู่คือปัญหาเศรษฐกิจ ที่นอกจาก GDP จะติดลบแล้ว ยังมีหนี้สาธารณะ ที่อาเบะก่อไว้ รวมไปถึงจุดอ่อนเรื่องการเมืองระหว่างประเทศที่สุกะดูท่าทางจะไม่มีประสบการณ์เลย (ยิ่งเทียบกับโคโนะแล้วยิ่งต่างกันมาก) และอีกเรื่องสำคัญคือวาระการดำรงตำแหน่งของสุกะก็จะหมดตามวาระของอาเบะในเดือนสิงหาคมปีหน้า เป็นช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกันยายน ซึ่งก็ต้องมาดูกันว่าเขาจะได้โอกาสต่ออายุหรือไม่
แต่ในความคิดหมดคือ สุกะขึ้นมาเพื่อรักษาการระหว่างการเปลี่ยนผ่านเท่านั้น ซึ่งการได้รับตำแหน่งช่วงสั้นๆ ก็ถือว่าเกินความคาดหมายสำหรับคนที่ไม่ได้สังกัดขั้วไหน ส่วนปีหน้า คงต้องรอดูปีหน้า ขั้วต่างๆ จะส่งใครมาแข่งกับเขาบ้าง แน่นอนว่า คิชิดะ กับ อิชิบะ แม้จะแพ้แน่นอนในครั้งนี้ แต่ก็ต้องพยายามให้เต็มที่ เพื่อให้คนได้เห็นว่า พวกเขาไม่ใช่คนยอมแพ้ง่ายๆ เช่นกัน เพื่อสานต่อไปยังโอกาสในปีหน้า แต่ใครจะรู้ว่า ตอนนั้น โคโนะพร้อมที่จะเปิดตัวแล้วหรือยัง
พูดไปแล้ว นี่มันก็ไม่ใช่แค่งานหนักของสุกะเท่านั้น แต่คืองานหนักของประเทศญี่ปุ่นทั้งประเทศ เพราะอย่างที่บอกไปว่า หลังจากรัฐบาลที่ทำผลงานได้ดีเป็นเวลานาน มักจะตามมาด้วยรัฐบาลอายุสั้นหลายชุด ถ้างานนี้กลับมาเป็นแบบเดิมเหมือนหลังโคอิซุมิแล้ว ก็อาจจะทำให้ญี่ปุ่นชะงักอีกรอบก็ได้ครับ ยิ่งอยู่ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้ด้วย
ข้อมูลอ้างอิงจาก