เอาจริงๆ ที่ช่วงนี้เขียนเรื่องไอดอลญี่ปุ่นบ่อยๆ นอกจากคนเขียนจะอินเองแล้ว ช่วงนี้ยังมีเรื่องอะไรน่าสนใจเยอะแยะจนอยากจะเอามาเล่าสู่กันฟังนี่ล่ะครับ เพราะตั้งแต่ AKB48 เบิกโรงให้ยุคไอดอลกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง หลายต่อหลายบริษัทก็หันมาจับตลาดไอดอล เพื่อเข้ามาแย่งตลาดตรงนี้ด้วย ซึ่งก็มีทั้งไอดอลแบบมาตรฐาน ขายความน่ารักแบบสาวข้างบ้าน แต่ในเมื่อมันเป็นตลาดที่มีการแข่งขันกันสูง ทำให้หลายต่อหลายวงถ้าจะให้เลือกขายแนวทางเดิมก็คงลำบาก เลยต้องพยายามหาแนวทางใหม่ๆ ในการสร้างแบรนด์
ซึ่งก็มีสารพัดไอเดียจนจริงๆ ให้เขียนแยกเป็นอีกบทความหนึ่งเลยก็ได้ ทั้งวงที่ขายความบ้าพลังในการแสดงสด (Momoiro Clover Z) วงที่เน้นสายกล้าม (Up Up Girls (Kari)) ไอดอลสายสาวท้วม ไอดอลปลดหนี้ หรือถ้าไปสายไอดอลอันเดอร์กราวด์ ยิ่งเต็มไปด้วยความบ้าบอคอแตก ไอดอลใส่หน้ากากทั้งวง ไอดอลที่เอาเพลงแบล็กเมทัลมาเป็นฐานในการทำเพลง ซึ่งถ้าเสิร์ชหาไปเรื่อยๆ ก็คงเจอของแปลกได้ไม่มีวันหมดตามประสาญี่ปุ่น
แต่เมื่อเป็นสังกัดค่ายเพลงใหญ่ บางทีการจะทำอะไรที่แปลกออกไปก็ถือเป็นความเสี่ยงมาก แต่ก็มีวงไอดอลวงหนึ่ง ที่อยู่ใต้สังกัดใหญ่อย่างค่าย Sony แท้ๆ แต่กลับสามารถฉีกแนวออกจากไอดอลรุ่นพี่ที่ผ่านมา ด้วยการวางคอนเซ็ปต์เป็นไอดอลต่อต้านสังคม ท้าชนผู้ใหญ่ เนื้อเพลงจัดว่าดุเดือด จนกลายเป็นไอดอลสายขบถ ขวัญใจของเด็กเจเนอเรชั่นใหม่ไปได้ พวกเธอคือ Keyakizaka46
ในตอนแรกที่ประกาศรับสมัคร วงยังใช้ชื่อว่า Toriizaka46 อยู่ และมีคนมาสมัครถึง 22,509 คน จนสุดท้ายแล้วคัดเหลือเพียง 22 คนก่อนที่จะถอนตัว 1 คน พร้อมทั้งประกาศเปลี่ยนชื่อวงเป็น Keyakizaka46
การจะอธิบายความเป็นมาของ Keyakizaka46 โดยไม่กล่าวถึง Nogizaka46 วงพี่สาว (ในดวงใจผม) ก็คงไม่ได้ เพราะมีวงรุ่นพี่แผ้วถางทางมาก่อน Nogizaka46 จริงๆ แล้วเกิดขึ้นเพราะความเสียดาย ที่ค่าย Sony ปล่อยให้ AKB48 ที่โปรดิวซ์โดย Akimoto Yasushi หลุดมือไปอยู่ค่ายใหม่ แล้วกลายเป็นวงดังระเบิด ทำให้ Sony อยากจะลองใหม่ทำวงไอดอลใหม่อีกครั้ง จึงไปติดต่อให้ Akimoto Yasushi กลับมาร่วมงาน (ซึ่งบางสื่อก็มองว่า จริงๆ แล้ว Akimoto ก็ยินดี เพราะก็อยากทำงานกับค่ายใหญ่อย่าง Sony อีกครั้งอยู่แล้ว ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์) จึงตั้งวง Nogizaka46 ขึ้นมา โดย Nogizaka คือชื่อย่านที่บริษัท Sony Music Entertainment ตั้งอยู่ ส่วนตัวเลข 46 ก็หมายความว่า ถึงน้อยกว่า 2 แต่ก็จะไม่ยอมแพ้ให้กับ AKB48 ที่เป็นวงคู่แข่งอย่างเป็นทางการ กลายเป็นวงแรกของ Sakamichi series ไป (Saka แปลว่า เนิน Michi แปลว่า ถนน)
ซึ่งแนวทางการนำเสนอของ Nogizaka46 ก็ต่างไปจากวงตระกูล 48 เพราะจะมาในทางสายสาวอนุรักษนิยม เหมือนคุณหนูเรียนโรงเรียนเอกชนหรูหรา แนวทางการทำเพลงช่วงแรกก็จะใช้แนวเพลงเฟรนช์ป๊อปเป็นหลัก แต่ในคอนเสิร์ตครบรอบ 3 ปีของวงในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2015 ก็มีประกาศเซอร์ไพรส์ท้ายคอนเสิร์ตว่า ประกาศรับสมัครสมาชิกโปรเจ็กต์ใหม่ของ Sakamichi series เล่นเอาคนงงกันหมด แต่นั่นล่ะครับ คือจุดกำเนิดของ Keyakizaka46
ในตอนแรกที่ประกาศรับสมัคร วงยังใช้ชื่อว่า Toriizaka46 อยู่ และมีคนมาสมัครถึง 22,509 คน จนสุดท้ายแล้วคัดเหลือเพียง 22 คนก่อนที่จะถอนตัว 1 คน พร้อมทั้งประกาศเปลี่ยนชื่อวงเป็น Keyakizaka46 ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน และก็เริ่มรายการวาไรตี้ของวงก่อนที่จะมีผลงานเพลง เป็นแนวทางเดียวกับวงรุ่นพี่ (และค่อยถอนตัวอีกไป 1 คน) แต่สิ่งที่ทำให้พวกเธอเป็นที่จับตามองทันทีคือการเปิดตัวซิงเกิลแรกของวง Silent Majority พร้อมทั้งเซ็นเตอร์ Hirate Yurina เด็กสาวอายุยังไม่ครบ 15 ปี จากจังหวัดไอจิ
คอนเซ็ปต์เพลงหลักของ Keyakizaka46 ถูกวางให้ออกมาเป็นเพลงที่เน้น ความเท่ ฉีกออกมาจากรุ่นพี่ ซึ่งในเพลง Silent Majority การเรียบเรียงเพลงก็ตรงตามคอนเซ็ปต์ ไม่ใช่เพลงเร็ว แต่ก็ไม่ใช่เพลงช้า จังหวะกลางๆ เน้นให้เต้นได้อย่างเต็มพลัง
Silent Majority ออกวางขายในวันที่ 6 เมษายน 2016 หรือ 2016/4/6 นั่นเอง และมันก็กลายเป็นซิงเกิลสร้างปรากฎการณ์ ทำยอดขายในสัปดาห์แรก 284,460 แผ่น กลายเป็นซิงเกิลเปิดของศิลปินกลุ่มหญิงที่ทำยอดจำหน่ายในสัปดาห์แรกสูงสุดแซง HKT48 ซึ่งเบื้องหลังของความสำเร็จคงต้องยกให้ส่วนผสมหลายต่อหลายอย่างที่ออกมาลงตัวพอดี
เริ่มตั้งแต่ตัวเพลง ที่หลังจากวงรุ่นพี่ทำเพลงสนุกๆ รื่นเริงแบบสาวข้างบ้าน แบบสาย 48 หรือสไตล์เรียบร้อยเริดหรูแบบ Nogizaka46 คอนเซ็ปต์เพลงหลักของ Keyakizaka46 ถูกวางให้ออกมาเป็นเพลงที่เน้น ความเท่ ฉีกออกมาจากรุ่นพี่ ซึ่งในเพลง Silent Majority การเรียบเรียงเพลงก็ตรงตามคอนเซ็ปต์ ไม่ใช่เพลงเร็ว แต่ก็ไม่ใช่เพลงช้า จังหวะกลางๆ เน้นให้เต้นได้อย่างเต็มพลัง และแต่งออกมาให้ใช้คีย์ต่ำ ต่างกับเพลงไอดอลทั่วไปที่เน้นคีย์สูงชวนสนุก ทำให้เพลงฟังดูมีความจริงจังอยู่ในตัว
จุดที่สำคัญคือ เนื้อเพลง ที่ฟังแล้วอาจจะอึ้งว่า นี่หรือคือเพลงไอดอล เพราะเนื้อเพลงชวนต่อต้านสังคม ต่อต้านผู้ใหญ่ ไม่ทำตัวตามกระแส มีกระทั่งอ้างอิงคำพูดของ Richard Nixon เลยทีเดียว
ฟังแล้วก็เหมาะกับเด็กสาววัยต่อต้าน ไม่ต้องการทำตามที่ผู้ใหญ่กำหนด ไม่อยากจะทำตัวเหมือนคนอื่น ซึ่งก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ และเนื้อเพลงนี้ก็น่าจะไปตรงใจเด็กสาวหลายคน และเป็นกระบอกเสียงให้กับเจเนอเรชั่นนี้ ที่แต่ละคนไม่ได้ต้องการเหมือนใคร ต้องการมีแนวทางของตัวเอง
และทีเด็ดชิ้นสุดท้ายคือ MV ที่ทำให้คนที่ได้ชมถึงกับอึ้ง เพราะปกติแล้ว เวลาพูดถึง MV ไอดอล เรามักจะได้ชม MV ที่สดใส ร่าเริง หรือไม่ก็บรรยากาศสวยงาม แต่กับ MV เพลง Silent Majority กลับกลายเป็นว่า โลเคชั่นที่ถ่ายพาร์ตเต้น คือไซต์งานก่อสร้างที่ชิบุยะ ส่วนพาร์ตอื่นก็เป็นคลิปของเม็มเบอร์แต่ละคนตั้งใจทำอะไรบางอย่าง (แถมย้อมสีคลิปให้ชืดลง) ซึ่งในส่วนพาร์ตเต้นคือส่วนที่เด่นเหลือเกิน เพราะพวกเธอแต่งเครื่องแบบที่ดูแล้วคล้ายกับเครื่องแบบทหาร เรียงแถวเต้นกันอย่างพร้อมเพรียง โดยมีหัวหอกก็คือ Hirate Yurina เด็กสาวที่มีพลังในแววตายืนอยู่ตรงกลาง ท่าเต้นที่ทะมัดทะแมง และในบางจังหวะสมาชิกคนอื่นก็ตั้งแถวให้เธอเดินแหวกตรงกลางราวกับโมเซสแหวกทะเลแดง ทุกคนทำสีหน้าจริงจังและไม่ยิ้มแม้แต่น้อย เมื่อได้ชม MV นี้ ไม่ว่าใครก็คงมีอะไรติดค้างในใจไม่มากก็น้อย เพราะมันคือ MV ที่ทรงพลัง ทำให้พวกเธอกลายเป็นเด็กสาวที่พยายามลุกขึ้นสู้กับผู้ใหญ่และระบบที่ขัดขวางพวกเธอไว้
Silent Majority เป็นเพลงดังระเบิด ส่งให้พวกเธอกลายเป็นขวัญใจวัยรุ่นและไอดอลที่มาแรงที่สุดอีกวงหนึ่ง ทำให้สปอตไลต์พุ่งมาหาพวกเธอในทันที และความแรงก็ยังไม่หยุดเมื่อซิงเกิลถัดมา แม้เนื้อหาจะไม่ได้ดุเดือดอย่างเพลงแรก แต่ก็ยังคงเนื้อหาเรื่องความไม่ไว้วางใจผู้ใหญ่อยู่ และก็ทำยอดขายได้พุ่งแรงเหมือนเคย จนซิงเกิลที่ 4 Fukyouwaon (Discord) ได้กลับมายืนยันภาพลักษณ์ของเด็กสาวขบถอีกครั้ง เมื่อพวกเธอประกาศว่าจะไม่ยอมไหลไปตามกระแส ไม่ยอมตกปากรับคำใคร จะใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการ บวกกับการแสดงที่ทรงพลัง พร้อมท่อนเบรกที่ Hirate ตะโกนว่า Boku wa Yada! (ฉันไม่ชอบ!) กลายเป็นอีกหนึ่งซิงเกิลที่ร้อนแรงเอามากๆ
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ความขัดแย้งในตัวตนของพวกเธอ แม้จะเป็นไอดอลสายขบถ วางตัวให้ต่อต้านผู้ใหญ่ ต่อต้านการทำอะไรเหมือนๆ กัน แต่เมื่อมองลงไป พวกเธอเองก็เป็นผลจากการผลิตของเหล่าผู้ใหญ่ทั้งหลาย
และพอพวกเธอจะเปิดตัวอัลบั้มเต็มชุดแรก Masshiro na Mono ha Yokoshitakunaru (อยากจะทำให้สิ่งที่ขาวสะอาดแปดเปื้อน) ก็มีเพลงนำเพื่อขายอัลบั้มสองเพลงคือ Eccentric ที่นอกจากจะประกาศว่าตัวเองเป็นคนแปลกแล้ว ยังมีท่าเต้นปารองเท้าให้เป็นที่ฮือฮา และอีกเพลงคือ Getsuyoubi no Asa, Sukaato wo Kirareta หรือ “เช้าวันจันทร์ กระโปรงถูกกรีด” ที่คงอ้างอิงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงกับเด็กสาวในสังคมญี่ปุ่น ซึ่งแฟนก็ลือกันว่าคือเรื่องราวก่อนเพลง Silent Majority ส่วนเนื้อเพลงก็ยังคงวิพากษ์วิจารณ์สังคมเช่นเคย กลายเป็นไอดอลที่เป็นกระบอกเสียงให้กับวัยรุ่นที่อัดอั้นกับสังคมที่ปกครองโดยผู้ใหญ่ไปโดยปริยาย
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ความขัดแย้งในตัวตนของพวกเธอ แม้จะเป็นไอดอลสายขบถ วางตัวให้ต่อต้านผู้ใหญ่ ต่อต้านการทำอะไรเหมือนๆ กัน แต่เมื่อมองลงไป พวกเธอเองก็เป็นผลจากการผลิตของเหล่าผู้ใหญ่ทั้งหลาย ที่วางคอนเซ็ปต์ให้พวกเธอ ออกแบบเครื่องแต่งกายให้เหมือนกันหมด รวมถึงการออกแบบท่าเต้นและทำเพลงให้ ซึ่งพอคิดดูแล้วมันก็เป็นเรื่องที่ย้อนแย้งไม่น้อยเลยจริงๆ ที่ผู้ใหญ่ปั้นเด็กกลุ่มหนึ่งขึ้นมาเพื่อให้เป็นตัวแทนของการต่อต้านผู้ใหญ่
หรือเอาจริงๆ แล้ว มันก็เป็นความจริงของยุคสมัยนี้ว่า แม้เด็กวัยรุ่นจะเป็นพยายามขบถ แต่ก็เป็นได้แค่ขบถแค่ในกรอบที่ผู้ใหญ่วางไว้ ไม่ต่างการกับการตั้งแคมเปญในเฟซบุ๊ก เพื่อรณรงค์ต่อต้านการใช้ social network น่าคิดดีว่า ความขบถ ของ Keyakizaka46 จะสามารถที่จะถูกผลักดันให้ไปได้ไกลอีกแค่ไหนกัน