ศาสนาอิสลามมีความเชื่อเรื่องผีหรือเปล่า? ว่าแต่ผีคืออะไร? เท่าที่ผมรู้มา ศาสนาอิสลามมีความคิดเรื่องสิ่งลี้ลับอย่างหนึ่งที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เรียกว่า ‘ผี’ ในความรับรู้ของเรา สิ่งนั้นคือสิ่งที่เรียกว่า ‘ญิน (Jinn / الجن)’ ในภาษาอาหรับ เป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้นมาจากไฟ เป็นเผ่าพันธุ์หนึ่งที่อยู่ในอีกมิติ หรือเรียกได้ว่าเป็น ‘อมนุษย์ (nonhuman)’ รูปแบบหนึ่ง
ตามความเชื่อ ญินอยู่ร่วมกับสังคมมนุษย์เพียงแต่เรามองไม่เห็น แต่ญินสามารถมองเห็นเราทุกอย่าง ผมแปลกใจเพียงอย่างเดียวว่าผมใช้ชีวิตในสังคมมุสลิมมาหลายที่ แต่ทำไมเรื่องญินจึงมีคนเอามาพูดกันบ่อยครั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงเรื่องเล่าประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับญินก็เป็นเรื่องที่ได้รับการเล่าให้ฟังอยู่ตลอด
มันมากับสายลม
ปีที่แล้ว ผมได้ดูหนังเรื่อง Under the Shadow ที่กำกับโดย Babak Anvari เป็นหนังอิหร่านแนวสยองขวัญเกี่ยวกับญิน และเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นว่าญินถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบไหน หน้าตาเป็นอย่างไร ดูจบแล้วผมคิดว่าหนังเรื่องนี้ตรงกับสิ่งที่ผมเคยได้เรียนมาในชั้นเรียนศาสนาสมัยอยู่โรงเรียนปอเนาะ (โรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม) ที่ท่าอิฐ โดยเฉพาะตอนที่ญินเริ่มมายังบ้านของตัวละครหลักในเรื่อง เป็นสายลมแรงๆ ที่พัดเข้ามา
ผมจำได้ว่าญินบางจำพวกเดินทางมากับลม ญินสามารถแปลงกายเป็นอะไรก็ได้ บางครั้งมาในรูปของมนุษย์หรือสัตว์
มีงานทางมานุษยวิทยาที่ศึกษาเรื่องญิน คือเรื่อง Of Children and Jinn (2006) ของ Naveeda Khan ในวารสาร Cultural Anthropology ได้อธิบายถึงบริบทของความซับซ้อนทางศาสนาและการเมืองในปากีสถานระหว่างมุสลิมนิกายชีอะห์และซุนนีจากเหตุการณ์ความรุนแรงจากการปะทะของทั้งสองฝ่าย บทความของ Khan พูดถึงการต่อรองในชีวิตประจำวันผ่านความสัมพันธ์ของมนุษย์ (human relations) กับอมนุษย์ นั่นคือ ญิน ผ่านเรื่องเล่า (narratives) ของผู้คนกลุ่มต่างๆ
ในหนังสือเรื่อง รู้ทันญิน โดย อิบนุตัยมียะฮฺ บอกถึงประเภทต่างๆ ของญินทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ (1) ญินที่มีปีกบินไปในอากาศ (2) ญินในรูปของงู แมงป่อง และสุนัข (3) ญินประจำที่อยู่ตามสถานที่ต่างๆ และเดินทางย้ายไปมา ซึ่งญินมีทั้งดีและไม่ดี มีทั้งนับถือศาสนาอิสลามและประเภทชอบชักชวนมนุษย์ให้ออกไปทำชั่วบ่อยๆ และญินมักย้ายมาสิงสู่อยู่ในสถานที่ที่คนไม่ค่อยอยู่ เพราะญินต้องการที่อยู่อาศัยเหมือนคน
ช่วงที่ผู้เขียนมาอยู่จังหวัดปัตตานีแรกๆ ตอนต้นเดือนมีนาคม 2560 ผู้เขียนนั่งฟังเรื่องญินจากเพื่อนๆ ที่นี่ จนเริ่มมีมโนในความคิดเวลาต้องอยู่คนเดียว โดยเฉพาะเวลาเดินกลับแฟลตที่พักใน มอ.ปัตตานี ห้องพักชั้น 4 แฟลตหมายเลข 17 เป็นแฟลตใหม่และไม่มีคนอยู่หลายห้อง เวลาผมเดินขึ้นชั้น 4 จึงเดินผ่านแต่ละชั้นที่สามารถมองทะลุไปเห็นห้องว่างๆ โล่งๆ และหลอนๆ ความรู้สึกของผมคือเหมือนมีคนมองออกมาจากห้องอยู่ตลอดเวลา รู้มาว่าอาจารย์บางคนในแฟลตนี้ก็รู้สึกแบบเดียวกัน
จนเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2560 เกิดเหตุระเบิดพร้อมกันหลายสิบจุดทั้งสามจังหวัด (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) ตอนช่วงเที่ยงคืน ขณะที่ผู้เขียนและเพื่อนๆ นั่งคุยกันที่ร้านน้ำชา ตอนแรกพวกเราไม่แน่ใจว่าเสียง ตู้ม ที่ได้ยินไกลๆ เป็นเสียงอะไร ระหว่างฟ้าร้องหรือระเบิด เพราะฝนที่ตกทำให้ได้ยินไม่ชัด จนต้องคอยดูเฟสบุ๊กว่าสรุปแล้วเป็นเสียงอะไร
ทุกคนรู้ว่าเสียงนั้นคือ ‘เสียงระเบิด’ ก็เมื่อไฟดับทั้งเมือง
พอไฟดับ ทุกคนต่างกระจายกันกลับบ้าน เพราะถ้าหากยังอยู่ข้างนอก ทหารอาจเข้ามาตรวจสอบทุกคนที่ผ่านไปผ่านมา ผู้เขียนขับรถกลับแฟลตโดยที่ลืมไปว่าไฟดับหมดทั้งจังหวัด และแฟลต 17 ชั้น 4 ที่ตนเองพักอยู่จะทำอย่างไรดี? คิดอยู่ในใจว่า ตอนนี้กลัวอะไรมากกว่ากัน ระหว่างเหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้น กับญินที่อาจต้องกลับไปเจอ คิดว่าเหตุการณ์นี้ dilemma ที่สุด คือเลือกไม่ถูกว่าจะเอาอย่างไรต่อ
ผีเข้านักศึกษา
ผู้เขียนมีข้อสงสัยว่า ทำไมเรื่องของญินที่นี่จึงใช้สลับกับคำว่าผี นักการศาสนาอิสลามหลายคนปฏิเสธอย่างชัดเจนว่าศาสนาอิสลามไม่เชื่อเรื่องผี แน่นอนว่าถ้าแปลความหมายว่า ‘ผี’ คือ วิญญาณของคนที่ตายไปแล้ว ในประเด็นนี้ศาสนาอิสลามปฏิเสธความเชื่อของผีลักษณะนี้ แต่ผู้เขียนมองว่าผีเป็นคำที่มีความหมายมากกว่านั้น คำถามที่ต้องหันกลับมามองว่า สิ่งที่เรียกว่าผีในสังคมมุสลิมเกี่ยวข้องกับเรื่องของอะไรบ้าง
คำสองคำที่ผมได้ยินบ่อยๆ เวลามาลงพื้นที่ภาคสนามที่จังหวัดปัตตานีคือ คำว่า ‘ผีเข้า’ และ หมอผี’
เพื่อนอาจารย์คนหนึ่งในมอ.ปัตตานีเล่าว่าตอนเปิดเทอมแรกของทุกปี นักศึกษาจะถูกผีเข้ากันบ่อยๆ บางคนแย้งว่าเป็นแค่ ‘อุปทานหมู่ (mass hysteria)’ ของนักศึกษามุสลิมหญิงที่นี่มากกว่า ทั้งที่ทุกคนรู้กันว่ามีญินมายุ่งวุ่นวายกับคนได้ในบางกรณี กลับไม่ใช้คำว่า ‘ญินเข้า’ กลับใช้คำว่า ‘ผีเข้า’ แทน ผมได้สัมภาษณ์ครอบครัวหนึ่งในชุมชนรูสะมีแล เรื่องเกี่ยวกับแกะเร่ร่อนที่กำลังทำวิจัยอยู่ นอกจากได้เรื่องราวของชุมชนที่เคยเป็นป่ารกร้าง และชอบมีกรณีของการฆาตกรรมเกิดขึ้น บริเวณพื้นที่ป่าแต่เดิมจึงมีคนพบศพที่ถูกเอามาทิ้งบ่อยๆ ต่อมาพื้นที่ป่าร้างในรูสะมีแลกลายมาเป็นพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ตามตึกต่างๆ ในมอ.ปัตตานีจึงมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเจ้าที่หรือญินที่อยู่ประจำตึกต่างๆ
ลุงแว หัวหน้าครอบครัวนี้เล่าว่ายามในมอ.ปัตตานีมาหาแกบ่อยๆ เวลานักศึกษาผู้หญิงผีเข้า หรือเรียกว่า โดนญินเข้า เพราะบ้านของแกอยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัย แกบอกว่าส่วนใหญ่ผีจะเข้าผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงที่ชอบอ้อร้อ (หรือแรดหน่อยๆ) และห้ามให้ผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดือนไปจับตัวคนที่ถูกผีเข้าเพราะจะยิ่งทำให้ผีเข้าต่อกันไปเรื่อยๆ ผมฟังเรื่องนี้จากลุงแล้วรู้สึกว่าทำไมผีทั้งที่นี่และที่อื่นๆ ชอบมายุ่งวุ่นวายกับผู้หญิงจริงๆ (และเพราะอย่างนี้ ผมจึงได้เรื่องญินกลับไปแทนที่จะเป็นเรื่องแกะ)
หมอผี หรือ ‘บอมอฮาตู’
‘บอมอฮาตู’ คือคนที่ทำหน้าที่ช่วยไล่ผี (ภาษามลายู คือ บอมอ=หมอ และ ฮาตู=ผี) เท่าที่ผมรู้มาในปัตตานีไม่มีใครทำหน้าที่นี้เป็นอาชีพหลัก แต่มักเป็นคนที่ชาวบ้านไปขอความช่วยเหลือเวลาเกิดกรณีที่คนในบ้านผีเข้าเพื่อให้จัดการกับญิน บางคนอาจเป็นชาวบ้านในชุมชน เช่น กรณีลุงแว หรืออาจเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยก็ได้
น้องชายเพื่อนคนหนึ่งชื่อมะนูซีโดนญินเข้า ไม่รู้ว่าโดนจากที่ไหน อย่างไร แต่น้องมีอาการเปลี่ยนไป ชอบอยู่คนเดียว ชอบทำอะไรซ้ำไปซ้ำมา ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง น้องเขาไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน น้องคนนี้เรียนอยู่โรงเรียนปอเนาะ วันหนึ่งเพื่อนมาขอยืมถาดเพื่อเอาไปทำพิธีไล่ญินออกจากตัวน้อง คนที่ไล่ญินเป็นอาจารย์จากวิทยาลัยอิสลาม (กรณีนี้เรียกว่า อัสตาส/บามอ) เพื่อนเล่าว่าพออาจารย์เข้าไปที่บ้าน น้องเขาวิ่งหนีโดยที่ยังไม่รู้เลยว่าอาจารย์คนนี้เขามาทำอะไร เขาบอกว่าการไล่ญินคราวนี้เป็นกรณีที่ยาก เพราะญินนี้อ่านคำภีร์อัลกุรอานได้ ปกติบอมอฮาตูจะไล่ญินด้วยกับอายะห์ (บทต่างๆ) ในอัลกุรอานจนญินสู้ไม่ไหวแล้วจึงออกไป แต่ญินกรณีนี้อ่านอัลกุรอานโต้กลับไปมาใส่บอมอฮาตูได้ด้วย (เขียนมาถึงตอนนี้ ผมนึกถึงฉากในหนังแฮร์รี่ พอตเตอร์ ตอนกำลังร่ายคาถาเวทมนต์ต่อสู้กันอย่างช่วยไม่ได้)
บอมอฮาตูบางคนไม่ใช่แค่มาไล่ญินออกไปอย่างเดียว มีกรณีที่บอมอฮาตูเลี้ยงญินไว้สู้ญินด้วยเช่นกัน
ตอนฟังเรื่องนี้ ผมนึกถึงตอนเรียนปอเนาะขึ้นมาทันที เพราะในโรงเรียนจะมีครูคนหนึ่งแกเป็นคนหน้าดุๆ ขอบตาคล้ำๆ และไม่เคยคุยเล่นกับนักเรียน คนในโรงเรียนบอกว่า แกเลี้ยงญินไว้เยอะ และมีคนมาหาครูเพื่อให้ช่วยรักษาโน้นนี่อยู่บ่อยๆ
คนที่เล่นของ-ทำไสยศาสตร์ ในสามจังหวัดมีหลายกรณี กรณีของการทำเสน่ห์ใส่ผู้หญิงเพื่อให้มาหลงรักหลงชอบเกิดขึ้นเรื่อยๆ และญินที่มาทำงานให้คนบางตัวโดนใช้มาทำงานด้วยภารกิจหนึ่ง เช่น ถ้านายใช้ให้เข้าคนๆ หนึ่ง ญินตัวนี้จะไม่ยอมออกจากร่างง่ายๆ เพราะรับคำสั่งมา จึงเป็นเหตุให้บอมอฮาตูมาทำพิธีไล่ผีอย่างจริงจัง การโดนไล่ให้ออกจากร่างคนนั้น คือการทำภารกิจไม่สำเร็จ ญินที่ทำงานพลาดมักถูกฆ่าทีหลังโดยนายของตัวเองหรือญินที่ใหญ่กว่า (ญินมีเกิดมีตายและขึ้นสวรรค์และลงนรกเหมือนคน ในความเชื่อของศาสนาอิสลาม)
ฟังเรื่องญินกับคนกรณีนี้แล้ว ผมอยากขอทุนสกว. ทำวิจัยเรื่องระบบมาเฟียของญิน ขึ้นมาทันที
ความใกล้ชิด (เสน่หา) ของญิน ผู้เขียนมองว่าญินมีความใกล้ชิดกับคนมาก เพราะเขามองเห็นเราแต่เรามองไม่เห็นเขา และหลายๆ กรณีที่ญินมาชอบคนแต่ฟังดูไม่ค่อยโรแมนติกเท่าไหร่
เรื่องมีอยู่ว่ามีผู้หญิงที่เรียกว่าสวยคนหนึ่งมีผู้ชายพยายามมาสู่ขอ แต่ไม่มีใครมาขอได้สำเร็จจนเป็นที่แปลกใจ คนในบ้านเริ่มสงสัยว่าผู้หญิงคนนี้อาจมีญินมาชอบ ญินจึงกันไม่ให้ผู้หญิงไปหลงชอบใครคนอื่น ญินมาชอบคนได้เพราะญินเห็นเราทุกอิริยาบททั้งตอนอาบน้ำและตอนหลับ ญินคงเริ่มมีมโนและอยากเก็บคนนี้ไว้เป็นของส่วนตัว
กรณีของญินมาชอบเกิดขึ้นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เพราะญินมีเพศทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่ไม่รู้ว่าหลากหลายแบบสังคมบ้านเรามั้ย เพราะไม่มีรู้จริงๆ ว่ามีกรณีญินผู้ชายมาชอบผู้ชายด้วยกันหรือเปล่า? (ถ้าผมรู้ว่ามีกรณีแบบนี้ด้วย ผู้เขียนจะเปลี่ยนไปเขียนนิยายให้สาววายอ่าน หรือเอาไปทำซีรีส์แน่นอน)
หนังมาเลเซียเรื่อง Munafik ที่กำกับโดย Syamsul Yusof พาไปสู่โลกของมุสลิมมลายูที่เกี่ยวข้องกับโลกของญินได้ใกล้เคียงกับบริบทของสามจังหวัดภาคใต้ กรณีของการทำไสยศาสตร์เล่นของใส่ผู้หญิงเพื่อให้มาหลงชอบโดยผู้ชายคนหนึ่ง จนครอบครัวของผู้หญิงต้องขอร้องให้บอมอฮาตูมาช่วยไล่ญินออกไป การเข้าไปในโลกของญินยิ่งทำให้ญินใช้อำนาจของตัวเองที่พิเศษกว่ามนุษย์ทั่วไปเพื่อให้คนหันเหความเชื่อศรัทธาต่อพระเจ้า
เรื่องความสัมพันธ์ของญินกับคนจึงสะท้อนความใกล้ชิด (เสน่หา) หรือ intimacy ที่เกิดขึ้น เช่น น้องลุกมาน ชาวยะลา อายุ 19 ปี เรียนวิทยาลัยเทคนิคปัตตานี เขาบอกว่ามีบางอย่างอยู่กับเขาตลอด และจะตามไปทุกที่ ตอนแรกลุกมานคิดว่าญินที่เข้ามายุ่งกับเขาเป็นญินจากที่อื่น เวลาเขาไปไหนมาไหนตามที่ต่างๆ ภายหลังเขารู้ว่าคือ ญินตัวเดิม เขาเห็นตัวเดิมและมาในลักษณะนี้ คำว่า เห็น หมายถึงสิ่งที่ลุกมาน ‘รู้สึก’ จนเพื่อนเคยถามว่า “ใช่ตัวเดิมหรือเปล่า?” เขาบอกว่า “ตัวนี้แระ อยู่บ้านก็ตัวนี้” ลุกมานไม่กล้านอนปิดไฟ หรือถ้าเขาต้องไปนอนค่ายพักแรม เขาต้องหาที่มีแสงสว่างนอนเท่านั้น ลุกมานรู้สึกว่ามีญินมายุ่งกับเขาตั้งแต่เด็ก
แต่เขาบอกว่าการมีญินเข้ามาไม่ได้กระทบกับชีวิตเขาแล้ว เพราะเริ่มคุ้นชิน และ “กล้าที่จะอยู่ร่วมกัน”
อีกกรณีหนึ่ง อาซวัน เล่าว่า เขามีรุ่นน้องที่โรงเรียนนราธิวาสเรียนมัธยมต้น อายุ 12 ปี เป็นเด็กที่ไม่มีเพื่อน พ่อของเขาบอกว่า “น้องไม่เคยมีเพื่อน” (ที่เป็นคนทั่วไป) น้องบอกว่า “เขามีเพื่อนประจำตัว” นั่นคือญิน และเขาไม่ชอบยุ่งกับใคร เพราะคิดว่าเพื่อนที่เป็นญินเล่นด้วยดีกว่าเพื่อนแถวบ้านหรือที่โรงเรียน พ่อบอกว่า เดี๋ยวอาการแบบนี้ของลูกชายคงหายเมื่อเขา ‘บาเลฆ’ หรือบรรลุศาสนภาวะ (เพศชายเมื่อน้ำอสุจิหลั่ง เพศหญิงเมื่อมีประจำเดือน) น้องบอกว่าเขาชอบเล่นกับญิน และต้องกินข้าวเยอะๆ เพื่อกินเผื่อเพื่อนที่อยู่กับเขา จนกระทั่งวันหนึ่งน้องคนนี้ไม่มาโรงเรียนอีกเลย ญินประจำตัวน้องหายไป พ่อบอกว่าน้องกำลังมีปัญหา เพราะญินตัวนั้นไม่กลับมาแล้ว น้องมีอากาศซึมเศร้า เหงา และเข้าสังคมกับคนอื่นไม่ได้
พื้นที่ของความคลุมเครือ
ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับญินจึงสะท้อนการรับรู้ถึงความสัมพันธ์ที่มากไปกว่าอะไรคือ ‘ของเรา (our)’ ที่ตรงข้ามกับ ‘ของเขา (theirs)’ แต่บอกถึงความจริงที่ไม่ได้มีชุดเดียว หรือ plurality of metaphysics เพื่อเปิดโลกความเข้าใจเรื่องญิน ในฐานะ ‘แบบแผนชีวิต (forms of life)’ ของอมนุษย์ ที่มีในทุกสภาพแวดล้อม (Khan 2006) และหันไปดูวิธีการที่มันถูกกดปราบไว้ ถูกใช้อำนาจ หรือถูกอ้างอิง อยู่ในรูปแบบต่างๆ กันออกไปในสังคม
บันทึกสนามเรื่องญินนี้ยังไม่มีบทสรุปอะไร เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ผู้เขียนกำลังเริ่มศึกษาเกี่ยวกับ ‘อมนุษย์’ ในสามจังหวัดภาคใต้ และเรื่องญินเป็น 1 ใน 4 เรื่องที่ผู้เขียนกำลังลงสนามวิจัยทางมานุษยวิทยาที่ผู้เขียนอยากเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ในการศึกษาเรื่องสังคมวัฒนธรรมของสามจังหวัดที่นี่ ผู้เขียนพยายามข้ามเรื่อง ‘กับดักความรุนแรง’ ที่นักวิจัย นักวิชาการ นักพัฒนา ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ให้ความสนใจกับเรื่องเหตุการณ์ความไม่สงบและกระบวนการสันติภาพที่ยังคงหาเส้นทางแก้ไขในพื้นที่ด้วยกันอยู่
เรื่องของญินจึงเป็นภาพสะท้อนในอีกมิติหนึ่ง อาทิ การเปลี่ยนแปลงภายในพื้นที่ที่ปะทะกันอยู่ข้างใน ทั้งกระแสการปฏิรูปศาสนาอิสลาม (Islamic revival) ในสามจังหวัด การถกเถียงเรื่องการตีความหลักการศาสนาของกลุ่มสายเก่าและสายใหม่ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่มานุษยวิทยาอิสลามต้องหันมาตั้งคำถามที่ขยับมาเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง (interrelations) กลุ่มคนอื่นๆ
ความพยายามลดช่องว่างให้แคบลง และเข้าใจความหลากหลายของสิ่งที่อยู่ภายในของชีวิตและตัวตนของมุสลิมเอง
ผู้เขียนมองเรื่องราวในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ทั้ง คน สัตว์ สิ่งของ และสิ่งลี้ลับ ต่างสัมพันธ์กัน อย่างกรณีของญิน แสดงถึงการอยู่ด้วยกันแบบ ‘คนละมิติ’ สะท้อนว่ามิติของญินยากที่จะเข้าใจ ซับซ้อน แต่ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องที่พูดไม่ได้ ไม่ควรเอามาพูด เหมือนเรื่องอื่นๆ ในสามจังหวัด เช่น เรื่องเพศที่สาม แต่หลายๆ เรื่องต้องหยิบเอามาคุยและอธิบายด้วยเหตุผลจากหลายๆ มุมมอง ถึงแม้ว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนก็ตาม เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าเราซ่อนปัญหาอะไรไว้บ้าง ไม่ใช่เป็นแค่เอาความคิดเรื่อง ‘พหุวัฒนธรรม’ มาขาย เป็นมโนทัศน์สวยๆ ถ้าหากเป็นอย่างนั้น ผู้เขียนจะเป็นคนแรกที่ออกมาเรียกร้องให้เอาเรื่องญินมาเป็นปัจจัยในการพิจารณาการอยู่กันอย่างพหุสังคม ในพื้นที่ที่ติดป้ายว่าด้วยเรื่องความรุนแรงและกระบวนการสันติภาพ
สุดท้ายขอปิดด้วยคำว่า
“ยินดีต้อนรับเข้าสู่ดินแดนมหัศจรรย์แห่งสามจังหวัดชายแดนใต้”