หากเกิดและเติบโตมาในครอบครัวที่เชื่อในหลักศาสนาว่าการเป็น LGBTQ+ เป็นเรื่องผิดบาป แต่การเป็นเพศหลากหลายก็หาใช่ ‘ทางเลือก’ หาใช่สิ่งที่สามารถแก้ไขกันได้ แล้วจะมีชีวิตอยู่อย่างไร?
ธงสีรุ้งโบกสะบัดอยู่ทั่วเมือง ขบวนไพรด์เดินแห่เด่นสง่า สะท้อนถึงกระแสของการเปิดรับความหลากหลายทางเพศที่มีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน (แม้ในเรื่องสิทธิทางกฎหมายต่างๆ ยังขาดหายไปอยู่) แต่การมีตัวตนของเพศหลากหลายในบางพื้นที่ก็ยังเป็นเรื่องต้องห้าม อย่างในความเชื่อทางศาสนาอิสลาม ที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่า การเป็น LGBTQ+ นั้นเป็นเรื่องผิดบาป
ขณะที่หลักบัญญัติทางศาสนาบอกว่าผิดบาป ตัวตนของ LGBTQ+ ก็ยังผลิบานในกลุ่มชาวมุสลิม The MATTER เลยชวนมาทำความเข้าใจกับ LGBTQ+ ที่นับถือศาสนาอิสลาม เพื่อให้รับรู้ถึงประสบการณ์ที่พวกเขาเคยพบเจอ และตอบข้อสงสัยว่า หากตัวตนของเขาถูกมองว่าผิดบาป ทำไมถึงยังคงเชื่อและนับถือในศาสนาอิสามอยู่
การเป็น LGBTQ+ ในศาสนาอิสลาม
“เริ่มจำความได้ เราก็รู้สึกว่าเราเป็นผู้หญิงเลย” อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ หรืออัสรี่ ผู้หญิงทรานส์ที่นับถือศาสนาอิสลามกล่าว
เธอเล่าว่า เธอคิดเสมอว่า ตัวเองเหมือนแม่ แม้คนในบ้านจะพยายามบอกว่าเธอเป็นผู้ชาย ไม่ใช่ผู้หญิง แต่เธอกลับไม่มีความรู้สึกเช่นนั้น จนกระทั่งช่วงวัยรุ่น อัสรี่เริ่มถูกถามจากผู้คนมากหน้าหลายตาว่า ‘ตกลงแล้วเป็นเพศอะไรกันแน่’
“แรกๆ เขาก็ถามเฉยๆ ถามขำๆ สักพักเริ่มถามจริงจัง แล้วฉันพูดอะไรได้เหรอ เพราะมั่นใจว่าพอพูดไปแล้ว ถ้าไม่ถูกใจเขาจะต้องว่าเรา ก็เลยเลือกที่จะไม่พูด แล้วก็ทำให้เห็นว่า ไม่ว่าฉันจะเป็นอะไรก็ตาม ฉันจะไม่ทำให้พวกคุณรู้สึกว่าลำบากใจ หรือทำให้พวกคุณรู้สึกว่าฉันใช้ชีวิตในสังคมยาก ฉันจะอยู่ในสังคมนี้ให้ได้”
จากนั้น อัสรี่ก็พยายามพัฒนาตัวเองในด้านต่างๆ เธอค่อยๆ แทรกซึมความเป็นตัวตนของตัวเองให้คนที่บ้านรับรู้ เริ่มจากการแต่งหน้าเบาๆ ไว้ผมยาว มาจนถึงช่วงเรียนมหาวิทยาลัยที่แต่งชุดนักศึกษาตามเพศสภาพได้ เธอจึงเลือกแต่งเครื่องแบบนักศึกษาหญิง และคำพูดที่ได้รับกลับมาจากพ่อของตัวเองก็คือ “จะแต่งอะไรก็แต่งไป แต่อย่าแต่งให้พ่อเห็น”
ถึงอย่างนั้น เธอก็ยังยืนหยัดในตัวตนของตัวเอง และเมื่อเวลาผ่านไป พ่อที่เคยกล่าวว่า อย่าแต่งหญิงให้พ่อเห็น ก็เริ่มยอมรับเธอมากขึ้น จนถึงจุดที่แนะนำเธอกับคนอื่นๆ ว่า อัสรี่เป็น ‘ลูกสาว’ ของเขาเอง
อย่างไรก็ดี การพยายามพิสูจน์ตัวเองของเธอสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดว่า การเป็น LGBTQ+ สามารถทำได้อย่างมีเงื่อนไข นั่นคือ ต้องเป็นคนดี มีความสามารถ พิสูจน์ตนได้ว่ามีคุณค่ามากกว่าใครในสังคม เพื่อให้ได้รับการยอมรับ
“มันมีเงื่อนไขจริงๆ และเราคิดว่าเงื่อนไขนั้นก็ยังคงมีอยู่ คืออยู่ยังไงให้สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ แล้วไม่ใช้ชีวิตลำบาก เขาคงกลัวว่าถ้ามีใครสักคนเข้ามาในชีวิตเรา คนนั้นจะรับได้ไหม เพราะเขารู้ว่าเราไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิมอีกแล้ว เราไม่สามารถมีแฟนเป็นผู้หญิงหรือกลับไปเป็นผู้ชายได้ ดังนั้น ในชีวิตคู่ของเรา หมายความว่าเราต้องมีผู้ชายสักคนเข้ามา แล้วผู้ชายคนนั้นจะรับได้รึเปล่า”
แต่ละครอบครัว ต่างก็มีความแตกต่างกันออกไป อย่างครอบครัวของ มนูญ วงษ์มะเซาะห์ หรือนุ่น ซึ่งเติบโตมาในบ้านที่ยึดมั่นในหลักคำสอนของศาสนาอิสลามเป็นอย่างมาก ด้วยคุณพ่อที่เคยเป็นครูสอนศาสนา คุณลุงเคยเป็นโต๊ะอิหม่าม ลูกพี่ลูกน้องเองก็เป็นผู้นำทางศาสนาในระดับหนึ่ง
นุ่นเล่าว่า คนในครอบครัวยังไม่ยอมรับการมีตัวตนของคนเพศหลากหลายในช่วงที่เธอเป็นเด็ก ดังนั้น ตั้งแต่ที่เริ่มรู้ความ และนุ่นรับรู้ว่าตัวเองเพศกำเนิดของเธอไม่ตรงกับตัวตนของตัวเอง จึงเป็นช่วงวัยที่ลำบาก เมื่อเธอแสดงออกตามพฤติกรรมที่ถูกมองว่าเป็นพฤติกรรมของ ‘เพศหญิง’ แล้วคนในครอบครัวก็จะห้ามอยู่เสมอ
“เลยกลายเป็นว่า เราต้องแสดงตัวตนหลายบุคลิก เวลาอยู่กับครอบครัว เราจะแสดงตัวตนที่เรียบร้อย พยายามเล่นในสิ่งที่ไม่ได้ชอบ เด็กผู้หญิงหลายคนชอบเล่นขายของ เราก็เป็นคนที่ชอบเล่นขายของ แต่แม่บอกว่า ‘ทำไมไม่ไปเล่นลูกแก้ว เด็กผู้ชายเขาเล่นลูกแก้วกัน ทำไมไปเล่นขายของกับผู้หญิง’”
นุ่นเล่าอีกว่า พอช่วงเข้าเรียนแล้วได้รับรู้ถึงทัศนคติของสังคมที่มีต่อความหลากหลายทางเพศ เธอก็เริ่มเข้าใจมากขึ้น จนช่วงหนึ่ง พ่อกับแม่พยายามให้เธอได้ไปเรียนโรงเรียนศาสนา เพื่อให้เธอได้รู้ซึ้งถึงหลักการของอิสลาม และเข้าใจว่าการเป็นกะเทยเป็นบาปขนาดไหน
“แต่มันกลับเป็นข้อดีสำหรับเราอยู่อย่างนึง เพราะพอเราได้เรียนรู้หลักการจริงๆ เรารู้สึกว่าหลักการมันมีความเมตตากว่าคนเอามาใช้เยอะเลย หลักการบัญญัติไว้ว่า พระเจ้าของเราเป็นพระผู้ทรงเมตตา สิ่งที่ต้องเคารพมากที่สุดก็คือเรื่องของความเป็นคน จะปฏิบัติกับเราอย่างไร หากเขาเป็นมนุษย์ ก็ต้องปฏิบัติกับเขาเฉกเช่นมนุษย์คนหนึ่ง”
ถึงอย่างนั้น สถานการณ์ที่นุ่นต้องพบเจอในช่วงเรียนที่โรงเรียนศาสนาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เธอกล่าวว่า ตัวเธอและเพื่อนที่เป็นเพศหลากหลายเหมือนกันนั้น ต่างถูกเลือกปฏิบัติจากครูบางท่าน ทั้งทางคำพูด การกระทำ และการตัดคะแนน
จนเมื่อวันหนึ่ง นุ่นและเพื่อนเข้าเรียนคาบวิชาพลศึกษา แล้วเพื่อนของเธอก็นำดอกไม้มาทัดหูพร้อมพูดคุยด้วยความสนุกสนานตามประสา ซึ่งการกระทำแบบนี้สร้างความไม่พอใจให้กับนักเรียนชายร่วมชั้นเรียนบางคน ที่ไม่ชอบท่าทีของคนเพศหลากหลาย และนักเรียนชายเหล่านี้มักใช้คำพูดด่าทอกลุ่มของเธออยู่เสมอ แต่จุดพลิกผันอยู่ที่การกระทำของครูผู้สอน ที่บอกให้นักเรียนชาย กระทืบเพื่อนของนุ่นได้
“ครูพูดว่า ‘ใครกระทืบอีกะเทยนี้ได้ กูให้ 10 คะแนน’ แล้วผู้ชายก็ทำจริงไง มันก็นึกว่าครูพูดแล้วให้จริง มันก็กระทืบๆ เพื่อนเรา จนเสื้อเพื่อนจากสีขาวกลายเป็นสีดำหมดเลย”
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้นุ่นรู้สึกว่า ยอมไม่ได้ จึงจูงมือกันพาเพื่อนไปห้องปกครอง เรียกร้องความเป็นธรรมกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ ณ เวลานั้น โรงเรียนก็ยังไม่ได้มีท่าทีอะไรมากนัก
เหตุการณ์ไม่ได้จบเพียงเท่านี้ และการเลือกปฏิบัติยังคงดำเนินต่อไป นุ่นเล่าว่า เธอและกลุ่มเพื่อนอยากเล่นวอลเลย์บอลกัน แต่วอลเลย์บอลกลับเป็นกีฬาที่สงวนให้นักเรียนหญิง ขณะที่นักเรียนชายก็จะเป็นฟุตบอล ดังนั้น ถ้าผู้ชายขอเล่นฟุตบอล หรือผู้หญิงขอเล่นวอลเลย์บอล ก็จะได้รับการอนุมัติโดยง่าย แต่เมื่อพวกเธอ ซึ่งมีอัตลักษณ์ทางเพศไม่ตรงกรอบหญิงชายตามที่สังคมกำหนด อยากไปเล่นวอลเลย์บอลบ้าง กลับไม่ได้รับสิทธิ์นั้น
นุ่นและเพื่อนจึงรวมเงินกันซื้อเน็ตกีฬาและลูกวอลเลย์บอลมาเพื่อเล่นกันเอง แต่สิ่งที่ตามมาก็คือ เน็ตที่พวกเธอรวมใจกันซื้อมา ถูกใครบางคนตัดขาด ลูกวอลเลย์บอลที่พวกเธอรวมใจกันซื้อมาก็หายสาบสูญ ซ้ำครูยังกล่าวอีกว่า นุ่นและเพื่อนเป็นคนขโมยลูกวอลเลย์บอลไป
“เขาหาว่าเราขโมย เราก็บอกว่า เราไม่ได้ขโมย แล้วในแก๊งจะมีรุ่นน้องคนนึง รุ่นน้องคนนั้นก็ตะโกนมาว่า ‘ถ้าหาว่าพวกหนูขโมย ก็เอาอัลกุรอ่านมาเลย เดี๋ยวสาบานให้’ แล้วครูก็หันมองว่า ‘มึงอย่าปากดีนะ’ เราก็หันไปพูดกับครูว่า ‘เฮ้ย ทำไมพูดอย่างงี้’ ครูเลยเอากระดาษชานอ้อนมาฟาดเรา เราเลยชี้หน้าแล้วบอกว่า ‘เดี๋ยวเจอกันที่ห้อง ผอ.’”
ผลของเหตุการณ์นี้ ทำให้ครูคนนั้นถูกตัดเงินเดือน ขณะเดียวกัน นุ่นกับเพื่อนก็รวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น เพื่อช่วยกันยืนหยัดว่า พวกเธอมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่แพ้คนเพศไหน
“เราช่วยกันเองในคอมมูนิตี้ของเรา ที่เขาบอกว่า เอาลูกไปเรียนศาสนาแล้วจะเลิกเป็นตุ๊ด เป็นกะเทย ไม่ใช่เลย เราไม่ได้เป็นไข้ที่จะกินยาพาราฯ แล้วหาย การเป็น LGBTQ+ หรือเพศหลากหลาย คือตัวตนของเราแล้ว คุณไม่มีสิทธิ์และไม่สามารถที่จะบำบัดเพศวิถีให้เราได้”
นอกจากนุ่นและอัสแล้ว นาดา ไชยจิตต์ ยังเป็นอีกหนึ่งคนที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์นี้ เมื่อเธอเกิดมาพร้อมเพศสรีระแบบอินเตอร์เซ็กซ์ (มีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างจากปกติจนไม่สามารถระบุเพศได้อย่างชัดเจน) ในครอบครัวที่มีความเชื่อผสมผสานระหว่างพุทธและอิสลาม ด้วยครอบครัวของพ่อที่เชื่อในศาสนาพุทธ และแม่ที่เชื่อในหลักของอิสลาม
นาดาเล่าว่า บทสนทนาที่เธอได้ยินอยู่บ่อยๆ คือการพูดถึงอวัยวะใต้ล่างของเธอ เช่น ‘มีตูดสองรู’ ‘ไม่มีไข่’ และช่วงวัยเด็กเธอก็เคยไปอาบน้ำด้วยการตักอาบจากกะละมัง ในบ้านที่ภาคใต้ ช่วงเวลานั้นมีเด็กมาเกาะริมรั้วและล้อเลียนเธอว่า ‘มาดูเร็วๆ ตูดสองรู’
“เราไม่ได้รู้สึกอะไรมาก เพราะว่าคนที่อยู่ตรงหน้าเราคือแม่ แล้วแม่ยังมองเราด้วยสายตาที่ให้ความรัก ความอบอุ่นอยู่ เราเลยคิดว่า นี่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ในครอบครัว แต่ก็สงสัยว่า ทำไมเจอหน้าญาติคนไหน เขาก็ชอบพูดถึงกันแต่เรื่องนี้”
นาดาบอกอีกว่า ช่วงที่เธออายุได้สามขวบ เธอชวนแม่ไปเดินเล่นโดยไปคว้ากระโปรงที่คล้ายคลึงกับกางเกงบัลเลย์มาใส่ พอออกจากบ้านปุ๊บ เพื่อนบ้านก็ตกใจว่า ทำไมใส่กระโปรง แล้วถามว่า ‘เป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้ชาย’ ‘เป็นตุ๊ดเหรอ’”
จนมาถึงช่วงที่เธอกำลังจะเข้าเรียนชั้นอนุบาล แม่ก็เรียกเธอไปคุยใต้บันไดบ้าน แล้วบอกว่า ต่อจากนี้ เธอจะแต่งตัวแบบเดิมไม่ได้แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เธอเริ่มรับรู้ตัวตนทางเพศของตัวเอง และได้เข้าใจว่าสังคมนี้ไม่ได้มองเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติแบบที่แม่ของเธอมอง
สำหรับนาดาแล้ว เธอมักใช้เวลาอยู่กับผู้เป็นแม่มากกว่าพ่อ เพราะพ่อของเธอเป็นศิลปิน ทำงานไกลบ้าน นานทีจะได้เห็นหน้าเห็นตากัน แต่เมื่อพ่อกลับบ้าน เธอมักจะได้ยินบทสนทนาที่โต้แย้งกันระหว่างพ่อกับแม่ว่า เลี้ยงเธอมาอย่างไร ทำไมเธอถึงแสดงออกแบบนั้น โดยพ่อพยายามจะให้เธอแสดงออกอย่างสมชายให้ได้
“เราอยากจะบอกพ่อเรามากตอนนั้นว่าไม่ได้เกี่ยวกับแม่เลย ฉันเลือกเอง ฉันเป็นของฉันเอง ไม่ได้เกี่ยวกับแม่ แม่ไม่ได้เป็นคนไปคว้ากระโปรงอันนั้นมาให้เราค่ะ แม่ไม่ได้เป็นคนเลือก เราเป็นคนเลือก”
เพศหลากหลายคือความผิดบาปตามหลักศาสนา
“เขาบอกว่า เกิดมาควรเป็นคนตรงเพศ ดังนั้น ในศาสนาบอกแน่นอนว่าเราบาป” นาดาตอบทันที เมื่อถามถึงบทบัญญัติทางศาสนาที่มีต่อเพศหลากหลาย
“ขณะเดียวกันศาสนาก็บอกว่า มนุษย์ทำบาปทุกวัน มนุษย์แต่ละคนมีบาปเป็นของตัวเอง มีแต้มบุญเป็นของตัวเอง ไปจัดการตัวเองเสีย ถ้าเรารู้ว่าเรา จุดอ่อนตรงไหน เราก็ไปสร้างจุดแข็ง เราไม่มีวันรู้เลยว่า พระเจ้าจะพิพากษาเราอย่างไรไม่รู้ด้วยว่าบาปนี้จะให้อภัย หรือบาปไหนจะให้อภัย เราไม่มีวันรู้ ไม่มีมนุษย์คนไหนรู้ เพราะฉะนั้น นาดาก็ถือว่าอันนี้เป็นบททดสอบของตัวเรา”
แต่แม้บทบัญญัติจะระบุไว้ชัดเจนว่า ตัวตนของเธอคือบาป นาดาก็ยังเลือกที่จะเชื่อในอัลลอฮ์และศาสนาอิสลาม พร้อมเดินหน้าเป็นมุสลิมต่อไป
“เราเคยเกือบละทิ้งนะ เพราะรู้สึกว่า ทำไมมันไม่มีที่ทางอะไรให้เราในศาสนาเลย แต่มันเหมือนกับมีเสียงบางอย่างเรียกเรา เราจำได้ตอนนั้นว่า จู่ๆ เราก็อยากถือศีลอด อยากไปมัสยิด เราเลยถามแม่ว่า แถวบ้านมีมัสยิดไหม แล้วเราก็ไป”
สำหรับคนที่เป็นอินเตอร์เซ็กซ์นั้น อาจพบภาวะกำกวมได้ทั้งตอนเกิดและตอนโต ซึ่ง ณ เวลานั้น นาดาเล่าว่าร่างกายของเธอค่อนข้างเอนไปทางผู้หญิงมาก เพราะไม่มีลูกกระเดือก ไม่มีหนวดเครา แต่ก็มีความแปรเปลี่ยนหนัก ด้วยหลายอาการ เช่น บางวันมีขน บางวันขนร่วง มีเต้านมเพียงหนึ่งข้าง เป็นต้น ทำให้ครอบครัวพยายามหาทางบำบัดให้เธอ
ด้วยสภาวะที่เธอเผชิญในตอนนั้น ทำให้เธอคิดว่า อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พระเจ้าเรียกหาเธอ เธอจึงไปมัสยิด ในช่วงเดือนถือศีลอด เธอเข้าไปสลามและละหมาดในแถวเดียวกับผู้ชาย ทำให้คนในมัสยิดเข้ามาพูดคุยกับเธอ เพราะรับรู้ว่ามีบางอย่างผิดแปลกไป แต่ก็ไม่อยากตัดสินตัวของเธอ
นาดาประทับใจกับการที่ผู้คนไม่ได้กีดกันเธอออกจากศาสนา ซ้ำยังเป็นห่วงในความปลอดภัยของเธอ ขณะเดียวกัน นาดาก็ได้คุยกับป้าของเธอ เมื่อครั้งที่เธอเดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่นครศรีธรรมราช ซึ่งตอนนั้น ทุกคนต่างตกใจที่เห็นเธอเป็นผู้หญิง แต่คุณป้าของเธอกล่าวว่า เขาสังเกตเห็นความแตกต่างของเธอตั้งแต่ตอนที่ทำแผลจากการสุหนัตให้เธอแล้ว และเมื่อได้รู้ว่าเธอเป็นอินเตอร์เซ็กซ์ คุณป้าก็ไปเปิดตำราเพื่อหาเรื่องราวของอินเตอร์เซ็กซ์ในหลักคำสอนเพิ่มเติม
“เขาเจอทั้งในอัลกุรอาน เจอทั้งกิตาบ ที่บอกว่า พระประสงค์ของพระเจ้าชัดเจนมากว่า ถ้าเราจักให้เจ้าได้ลูกชาย เจ้าจักได้ลูกชาย หากเราจักให้เจ้าได้ลูกสาว เจ้าจักได้ลูกสาว หากเราอยากได้ทั้งสองเป็นหนึ่ง เจ้าจักได้อะไร และในกิตาบยังบอกด้วยว่า เด็กที่เกิดเป็นอินเตอร์เซ็กซ์ต้องดูแลให้อย่างไร”
ด้วยเหตุนี้ ทำให้นาดาได้พบกับความสวยงามบางอย่างในศาสนาที่ทำให้เธอรู้สึกมีตัวตน และเลือกที่จะนับถือศาสนาอิสลามต่อ และเมื่อเป็นเช่นนี้ ก็มีหลายครั้งที่คนนอกศาสนาจะตั้งคำถามกับเธอว่า เมื่อศาสนาบอกว่าตัวตนของเธอคือบาป เหตุใดถึงยังเลือกนับถือศาสนาอิสลามอยู่
“เราเจอบ่อยมาก มีคนมาบอกว่า กล้าดียังไงมาเป็นมุสลิม เหมือนเขาพยายามจะบอกว่า เขาจะฆ่ามึงตาย มึงยังจะไปเป็นมุสลิมอีก มึงต้องไม่เป็น คือตกลงมึงจะให้กูเป็นอะไรวะ เราก็ถาม เป็นเกย์กะเทยก็ไม่ให้เป็น เป็นมุสลิมก็ไม่ให้เป็น”
นาดาย้ำว่า เธอโชคดีที่เติบโตมาในครอบครัวที่เข้าใจว่าการเป็นกะเทยไม่ใช่แค่บาปเดียว ไม่ใช่ว่าจะหมดสิทธิ์ทำความดีอย่างอื่น ขณะที่บางคนมองว่าในวันกียามัตหรือวันที่พระเจ้าจะพิพากษาความดีความชอบของมนุษย์นั้น ความเป็นกะเทยจะมีน้ำหนักมากกว่าอย่างอื่น และผู้ที่เป็นเพศหลากหลายก็ต้องตกนรกตายไป แต่ความเชื่อนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในครอบครัวเธอ
นาดาเล่าอีกว่า หน้าที่ในการตัดสินโทษนั้น เป็นของพระเจ้า พร้อมกล่าวด้วยว่า อย่าเอาความเป็นกะเทย เกย์ เลสเบี้ยน หญิงรักหญิง นอนไบนารี่ มาตัดสินพวกเธอเลย แต่ขอให้ไปทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด แล้วก็มอบหมายหน้าที่ในการพิพากษาให้พระเจ้าเสีย
ความเชื่อ ความศรัทธา เป็นสิ่งที่ยังไม่คลายหายไปจากนาดา เช่นเดียวกับอัสรี่ ที่มีผ้าสีครามปกปิดเส้นผมเอาไว้ โดยเธอยืนยันว่า ‘ฮิญาบ’ คือสิ่งที่ยืนยันความเป็นตัวตนของเธอ
“บ้านเราไม่ได้บังคับหรอกว่าจะคลุมหรือไม่ เพราะเราก็ไม่ได้มีเพศกำเนิดเป็นหญิงมาตั้งแต่ต้น” อัสรี่กล่าว
แต่ถึงที่บ้านจะไม่บังคับ อัสรี่ก็อธิบายมุมมองของเธอว่า เมื่อเธอเลือกที่จะเป็นมุสลิม หากฮิญาบคือการบอกอัตลักษณ์ตัวตนของตัวเองแล้ว ก็อยากจะสวมฮิญาบเพื่อให้คนภายนอกรู้ว่า เธอคือมุสลิม แล้วสิ่งที่ผู้อื่นควรคำนึงก็คือ เธอกระทำบางสิ่งไม่ได้ ฉะนั้น ก็อยากให้คนอื่นๆ เคารพเธอในส่วนนี้ด้วย
“ถ้าคุณบอกว่าสังคมนี้เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่ไม่ว่าใครก็มีสิทธิ์เชื่อ มีสิทธิ์ที่จะใช้ชีวิตแบบไหนก็ได้ เพราะงั้นแล้วมันผิดอะไรที่เราจะมาใส่ฮิญาบในวันที่เราเป็นทรานสเจนเดอร์ แล้วเราเลือกที่จะเป็นมุสลิมอยู่ แล้วเราต้องการแสดงอัตลักษณ์ตัวตนนี้ออกมาให้ชัด เพื่อที่ทุกคนจะได้รับรู้ รับทราบ และเข้าใจความเป็นเรา”
อัสรี่กล่าวว่า แม้ศาสนาจะบอกว่าการเป็นปอแนนั้นเป็นเรื่องผิดบาป แต่อีกสิ่งที่ศาสนาระบุถึงก็คือ การโกหกหลอกลวงผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เธอยิ่งมองว่า เช่นนั้นแล้ว ถ้าเธอปกปิดอัตลักษณ์ของตัวเอง ก็ถือว่าเป็นการโกหกไม่ใช่หรือ
บางครอบครัวของชาวเพศหลากหลายที่นับถือศาสนาอิสลาม จะสั่งห้ามคนเพศหลากหลายละหมาด ซึ่งอัสรี่เล่าว่า การไม่ละหมาด ถือเป็นบาปที่สุดแล้ว คล้ายกับว่า ‘ตกศาสนา’ ไปแล้ว
“แต่จริงๆ การเป็น LGBTQ+ ไม่ได้เท่ากับตกศาสนา ถ้าคุณยังมีศรัทธาอยู่ มีหะดีษนึงที่บอกว่า สาวกของท่านนบีพาชายที่มีลักษณะแต่งกายเป็นผู้หญิงมาหา แล้วถามว่าให้ไล่ออกไปจากเมืองเลยไหม ทีนี้นบีก็หันไปตอบว่า ถ้าเขายังศรัทธาในอัลลอฮ์เป็นพระเจ้า และมีฉันเป็นศาสดา แล้วเขายังคงละหมาด ก็ให้เขาอยู่ในเมืองนี้ต่อ หมายความว่าถ้าเขาเป็นมุสลิม ก็ให้เขาทำในแบบที่เขาเป็นมุสลิมนั่นแหละ ส่วนนี้เป็นบาปที่แยกกันไปอีกเรื่องนึง เป็นเรื่องที่เขาต้องไปคุยกับพระเจ้าอีกทีนึง”
ขณะเดียวกัน เฉดของ LGBTQ+ ก็มีหลากหลาย ซึ่งอัสรี่กล่าวถึงการยอมรับเพศหลากหลายที่มีระดับต่างกันไป อย่างกรณีที่เป็นเกย์ หากมีความเป็นชายสูง ก็จะได้รับการยอมรับมากกว่า ซึ่งเธอมองว่าเป็นผลสืบเนื่องจากการกำหนดบทบาททางเพศในบทบัญญัติศาสนา ทั้งที่เธอมองว่า ความจริงแล้วพระเจ้าไม่ได้สร้างคนมาลงกล่องเพศ
อีกด้านหนึ่ง นุ่นก็เป็นอีกคนที่เจอกับแรงกดดันหนัก นอกจากในช่วงที่เรียนโรงเรียนศาสนาแล้ว เธอยังมีโอกาสได้ไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งประชากรส่วนมากนับถือศาสนาอิสลาม และทำให้เธอเห็นว่า บริบทของพื้นที่มีความเข้มข้นหนักกว่าที่เธอเคยเจอในกรุงเทพฯ
นุ่นเล่าว่า เธอชอบทำกิจกรรมต่างๆ ในรั้วมหาวิทยาลัย แล้วในช่วงปีสามที่มีการก่อตั้งชมรมสื่อสารมวลชนขึ้นมา แล้วก็เกิดไอเดียกันว่า อยากทำโครงการประกวดสำหรับ LGBTQ+ ซึ่งช่วงแรกที่เกิดรับสมัครก็ยังราบรื่น จนเมื่อมีกระแสต่อต้านจากคนในพื้นที่และนักศึกษาอิสลามด้วยกัน แล้วกระแสนี้ก็เป็นสิ่งที่ทำให้โครงการที่ตอนแรกได้รับการอนุมัติจากฝ่ายกิจการนักศึกษาแล้ว ถูกปัดตกในภายหลัง
ตอนนั้น มีแถลงการณ์จากชมรมศาสนาอิสลาม ซึ่งนุ่นเข้าใจได้ว่า เป็นการตักเตือนถึงสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และเธอก็ยอมรับการตักเตือนนั้น แต่ก็ยังยืนยันจะดำเนินกิจกรรมต่อ แม้กระแสต่อต้านจะยังคงอยู่เช่นกัน
“จนกระทั่งเพื่อนเราคนนึงที่เราสนิทมาก ไปไหนมาไหนด้วยกันตลอด ได้รับข้อความเด้งเข้ามาว่า ‘มึงไม่ใช่คนที่นี่ อย่ามาทำอะไรแบบนี้ ระวังมึงจะหายไปไม่รู้ตัว’ เป็นข้อความที่ทำให้เรากับเพื่อน ขนลุก แล้วเพื่อนก็คือแพนิกมาก คือไม่กล้าไปไหนมาไหนคนเดียวเลย เพราะกลัวจะโดนอุ้ม”
ถึงจะเจอเหตุการณ์มากมาย แต่นุ่นก็ยังยืนหยัดที่จะนับถือศาสนาอิสลามอยู่ เพราะตัวเธอมองว่า หากเธออยู่ในพื้นที่ปลอดภัยของตัวเองแล้ว วันหนึ่งหลายคนก็จะเห็นคุณค่าของเธอ ซึ่งหากย้อนกลับไป เมื่อก่อนไม่มีใครมองเห็นคุณค่าของคนเพศหลากหลายเลย แต่เดี๋ยวนี้สังคมเปิดกว้างมากขึ้นแล้ว เธอจึงอยากยืนหยัดในสิ่งนี้ต่อไป
“การใช้ชีวิตบนโลกใบนี้มันต้องมีอะไรที่เป็นสิ่งสวยงามอย่างหนึ่ง ที่มันยังพอยึดมั่นในจิตใจของเราได้ เรามีหลักความเชื่อที่ว่า ศาสนาอิสลามจริงๆ แล้วมีความสวยงามในตัว มีคําสอนที่ดี มีคําสอนที่เคารพความเป็นมนุษย์อยู่ แต่ขึ้นกับคนนํามาใช้เฉยๆ ว่าจะนํามาใช้เพื่ออะไร”
“ที่เขาบอกว่า ‘การเป็น LGBTQ+ เป็นบาป’ ไม่ต้องมายุ่ง เดี๋ยวเราไปคุยกับพระเจ้าเอง”
ความหลากหลายคือสิ่งที่พระเจ้ารังสรรค์ขึ้น
“ในขณะที่ศาสนาบอกว่าบาป พระองค์ก็ทรงบอกว่า สิ่งที่พระองค์โปรดปรานที่สุด คือการให้อภัยโทษ ตราบใดที่เรายังหายใจอยู่ ประตูแห่งการเตาบัตไม่มีวันปิด ถ้าเราใช้สติปัญญาจะรู้ได้เลยว่า พระองค์ทรงบอกอะไรเราอยู่” นาดากล่าว
ไม่ใช่เพียงแค่ยื่นดาบอย่างเดียว แต่ต้องยื่นดอกไม้ด้วย นี่คือสิ่งที่นาดาต้องการจะสื่อ
นาดาเสริมด้วยว่า ไม่ว่าจะเป็นใคร ในศาสนาอิสลามจะมีคำพูดว่า ‘ซอบา’ ซึ่งหมายถึงการปล่อยวาง เพราะมนุษย์ไม่มีหน้าที่ตัดสินใครได้
เธอยังมองว่า ตัวเธอนั้นไม่สามารถปฏิเสธความเป็นอินเตอร์เซ็กส์ ฉะนั้น เธอก็มีหน้าที่ที่จะทำให้ประสบการณ์ของคนที่เป็นอินเตอร์เซ็กซ์และคนข้ามเพศ สามารถอยู่ได้อย่างสง่าผ่าเผยที่สุด และอยู่อย่างมีคุณค่า มีความหมายที่สุด
“เราเชื่อว่าการที่ทำให้ใครสักคนหนึ่งมีความทุกข์น้อยลง มีความสุขในการใช้ชีวิตมากขึ้น อยากใช้ชีวิตไม่ได้อยากฆ่าตัวตาย ยังคงมีศรัทธาได้อยู่ในหนทางที่ตัวเองเลือก สำหรับนาดา นาดาว่าอันนี้แหละเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับตัวเองในการเกิดแบบเป็นมุสลิมคนนึงแล้ว”
ขณะที่นุ่นมองว่า การเป็น LGBTQ+ นั้นเป็นบททดสอบที่พระเจ้าส่งมาให้กับใครหลายคน และทุกคนก็มีบททดสอบกันหมด ขึ้นอยู่กับว่า แต่ละคนจะรับมือกับบททดสอบเหล่านี้อย่างไร
นอกจากนี้ เธอยังมองว่า การตักเตือนซึ่งเป็นหน้าที่ของชาวมุสลิมนั้น ควรเป็นการตักเตือนที่ไม่สร้างความขัดแย้ง ซึ่งการตักเตือนนี้จะทำได้ก็เมื่อทุกคนยอมรับและปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ เยี่ยงมนุษย์คนหนึ่งจริงๆ
“พระเจ้าไม่ได้สร้างคนมาลงกล่องเพศ คนเป็นอินเตอร์เซ็กซ์พระเจ้าก็ยังระบุถึงเลย” อัสรี่กล่าว
เธอย้ำว่า หลายคนอาจเบลอผ่านจุดนี้ไป ทำให้กลายเป็นว่า ทุกอย่างต้องสุดโต่งในด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ชายก็หญิง ไม่ขาวก็ดำ ทั้งยังเสริมว่า หากชาวมุสลิมเป็นผู้รักสันติจริงๆ ก็ควรเปิดใจเพื่อยอมรับคนหลากหลายด้วย
“เมื่อเราเต็มไปด้วยความหลากหลายทั้งหมดทั้งมวลแล้ว ทำไมเราไม่ลองเปิดใจยอมรับว่าคนอื่นเขาไม่ได้เหมือนเรา และความหลากหลายนี้คือสิ่งที่พระเจ้ารังสรรค์ให้โลกนี้มันสวยงามมากขึ้น ทำไมคุณไม่มองแบบนั้น”