มานุษยวิทยาว่าด้วยอมนุษย์ (Anthropology of Nonhuman) จากงานศึกษาเรื่อง ‘แกะ’ (بيريڠ – บีรี บีรี) ในสังคมมุสลิมมลายูภาคใต้ ที่ต้องการข้ามมาศึกษาเรื่องสัตว์ในฐานะผู้กระทำการ (agents) ในสังคมที่อยู่ร่วมกันและมีปฏิสัมพันธ์ในชุมชน/สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ และเหนือพ้นไปจาก ‘กับดักความรุนแรง’ ในบริบทพื้นที่ นอกเหนือไปจากเรื่องความไม่สงบเพียงอย่างเดียว ด้วยการสลับเปลี่ยนผู้เล่าเรื่องสังคมผ่าน ‘ตัวแสดง’ (social actor) อื่นๆ ที่ไม่ใช่เพียงผู้คนหรือมนุษย์ที่อยู่ในสังคมเท่านั้น และสะท้อนสภาพสังคมที่เกิดขึ้นในมุมมองที่ต่างออกไป
สิ่งที่ผมเลือกมาศึกษาช่วงลงพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ในปีแรก ได้แก่ ด่าน, ญิน, แกะ, และคลื่น ซึ่งต่างเป็น อมนุษย์ และอธิบายสิ่งต่างๆ เหล่านี้ภายใต้กรอบ Anthropocene หรือที่ เกษม เพ็ญภินันท์ ใช้คำภาษาไทยว่า ‘มนุษยสมัย’
สำหรับผมแล้ว กรอบคิดนี้ช่วยให้เราเลิกมองคนเป็นศูนย์กลางในการทำความเข้าใจสังคม สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัว เหมือนถ้าผมอยากเข้าใจภาพรวมของสังคมริมทะเลตะโล๊ะกาโปร์ การศึกษากลุ่มแม่ค้า ชาวบ้านที่มาท่องเที่ยว หรือคนที่ชายหาด ก็คงไม่ช่วยให้เห็นภาพรวมได้ เพราะเวลาผมไปหาดนี้ ผมเห็นแกะที่ดูสกปรกคุ้ยหาอาหารในกองขยะ ผมเห็นด่านตรวจอยู่ตลอดเส้นทาง ผมเห็นคลื่นทะเลที่คนนั่งดูเพื่อผ่อนคลาย สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสมาชิกหรือองค์ประกอบในสิ่งแวดล้อมของหาดนี้ ที่ไม่ใช่แค่ตัวคน แต่เป็นอมนุษย์ต่างๆ ด้วย
อมนุษย์ศึกษา
งานเรื่อง Sheep ของ Philip Armstrong (2016) เสนอประวัติศาสตร์ธรรมชาติของแกะจากโลกในอดีตและร่วมสมัย เพื่อสำรวจถึงบทบาทของแกะในวัฒนธรรมของมนุษย์ ความเข้าใจที่มีต่อสายพันธุ์แกะ โลกของแกะที่ Armstrong อธิบายถึงวิวัฒนาการและลักษณะพฤติกรรมของ ‘ความเป็นแกะ’ (Sheepliness) ทั้งที่ได้รับการหล่อหลอมจากน้ำมือของมนุษย์ และปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของสายพันธุ์แกะกับสายพันธุ์อื่นๆ
ยกตัวอย่างงานของ Piers Locke (2017) นักมานุษยวิทยาที่สนใจด้านพหุสายพันธุ์ศึกษา (multispecies studies) พูดถึง ‘ช้าง’ ในเนปาล พูดถึงความสัมพันธ์ของคนกับช้างในอุทยานแห่งชาติชิตวัน ทำให้ Locke ตั้งคำถามกับความเป็นบุคคล (personhood) ของอมนุษย์ จากความสัมพันธ์ทางสังคม ประวัติศาสตร์ นิเวศวิทยา ของมนุษย์กับสัตว์ มากไปกว่าการมองแค่ด้านพฤติกรรมศาสตร์ของสัตว์ เขามองช้างในฐานะ ‘บุคคล’ ที่ช้างมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด (intimacy) มีบทบาทและการปะทะกับสังคมของคนด้วย
เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ตอนที่ผมได้มาเป็นอาจารย์พิเศษสอนมานุษยวิทยาที่ มอ.ปัตตานี ลูกศิษย์คนหนึ่งพาไปกินก๋วยเตี๋ยวที่ชุมชนรูสะมิแล ที่อยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัย ฮาซันชี้ไปที่กองขยะฝั่งตรงข้ามพร้อมกับถามผมว่า “เคยเห็นแกะจรจัดมั้ย?” ภาพที่อยู่ตรงหน้าคือฝูงแกะจำนวน 5-7 ตัว เป็นแกะที่ถ้าสกปรกอีกนิดอาจจะเรียกได้ว่าขี้เรื้อน เพราะภาพจำของทุกคนที่มีต่อแกะคือมีขนปุยขาวๆ หน้าตาน่ารัก วิ่งเล่นกินหญ้าเขียวๆ แต่ภาพนี้เป็นสิ่งตรงข้ามทั้งหมดเมื่อมาเห็นแกะที่สามจังหวัด เพราะแกะที่ผมเห็นครั้งแรกคือ ขนของมันแกะเป็นสังกะตัง เหมือนมีเศษดินเกาะตามขนตามตัว และขนหลุดเป็นขยุ้มๆ แกะกำลังคุ้ยขยะจากถังหน้าอนามัย เลยเกิดคำถามว่า แกะพวกนี้มาจากไหน ทำไมคนที่นี่ถึงเลี้ยงแกะ เพราะผมเคยเห็นแต่แพะและวัวที่เลี้ยงตามชุมชนมุสลิมในไทย มีแต่ภาคใต้ในสามจังหวัดที่เลี้ยงแกะด้วย
แกะเร่ร่อน
ทีนี้เรื่องของแกะในรูสะมิแล ผมสังเกตเห็นว่า แกะพวกนี้เดินไปมาทั่วเมืองไปหมดในสภาพ ‘เร่ร่อน’ บางคนเองก็ไม่รู้แน่ชัดว่า แกะพวกนี้มีเจ้าของไหม? จนมารู้ทีหลังเมื่อเริ่มเดินสำรวจและคุยกับชาวบ้าน จึงรู้ว่าแกะที่เห็นเดินเหมือนเร่ร่อนไปมาในชุมชน “เป็นแกะที่มีเจ้าของ แต่ไม่มีใครรู้ว่าใคร” กะเยาะห์ขายเนื้อสาเต (สะเต๊ะ) ฝั่งข้างเดียวกับอนามัยบอกว่า
“คนในรูสะมิแลเลี้ยงแกะมานานแล้ว เลี้ยงให้เป็น ‘แกะบ้าน’ แต่ไม่มีใครปล่อยให้หาอาหารเองแบบนี้” บางคนตั้งข้อสังเกตุว่า ถ้าอยากรู้ว่าแกะมีเจ้าของหรือเปล่า ต้องรอให้มีแกะหายไป เจ้าของจะออกตามหา แต่ถ้าเกิดมีอุบัติเหตุรถชนกับแกะ/แพะ จะไม่มีใครกล้าแสดงตัวว่าเป็นเจ้าของ เพราะอาจโดนค่าปรับที่ปล่อยให้แกะออกมาเดินเร่ร่อนแบบนี้ กะเยาะห์จึงเสริมว่า “ตอนนี้ไม่เลี้ยงแกะแล้ว เพราะขี้เกียจไปทะเลาะกับเจ้าของ(ที่)ถ้าแกะไปกินของในที่คนอื่น”
ในทุกวันอาทิตย์มีตลาดนัดขายเสื้อผ้ามือสอง ของเก่า อาหารสด อาหารท้องถิ่น และของหลายๆ อย่างเรียงรายตลอดเส้นทางในหมู่บ้านรูสะมิแลประมาณ 2 กิโลเมตร ท่ามกลางแดดที่ร้อนจัด และความวุ่นวายที่ผู้คนทั้งเดินและขี่รถมอเตอร์ไซค์สัญจรไปมา แต่ถ้าหากมองด้วยมุมระดับล่างลงมา เราจะเห็นแกะเร่ร่อนพยายามคุ้ยหาเศษอาหารที่เหลือทิ้งตามร้านแผงลอย ส่วนใหญ่แกะเน้นมารวมกันที่ร้านขายน้ำอ้อยที่มีกากหล่นทิ้งบนถนน เศษผักที่บางร้านโยนทิ้งที่ด้านหลัง แต่ที่เห็นบ่อยๆ คือ เศษขยะ บางทีแกะก็ขย้ำถุงพลาสติกกินเป็นอาหาร ช่วงระหว่างอาทิตย์ที่ไม่มีตลาดนัด
การศึกษาเรื่องนี้จึงเน้นการเดินตามว่า แกะพวกนี้พาเราไปดูอะไรบ้างในชุมชน แกะประมาณ 2-3 กลุ่มเดินตั้งแต่มัสยิดรูสะมีแล (หลังเล็ก) เดินผ่านศาลาแม่บ้านที่มารวมตัวกันเลาะเนื้อปู บางกลุ่มจะเดินผ่านกุโบร์ (สุสานมุสลิม) ถ้าหากว่าแดดร้อนจัด ถัดจากนั้นเป็นโรงเรียนตาดีกา (สำหรับสอนพื้นฐานศาสนาให้กับเด็ก) อนามัยชุมชน สี่แยกตลาดที่เป็นจุดกึ่งกลางของตลาดนัด โรงเรียนรูสะมีแล และด่านทหารเล็กๆ ก่อนถึงวงเวียนหน้า มอ.ปัตตานี
การเดินตามแกะ เป็นการ ‘แกะรอย’ วิธีวิทยาที่ผมใช้ในการสังเกตการณ์แบบ ‘ไม่มี’ ส่วนร่วมกับแกะ (แน่นอนว่าผมไม่ได้ลงไปคุ้ยขยะด้วย) การสังเกตเส้นทางของแกะแต่ละกลุ่มเพื่อดูว่า แกะพาเราไปดูอะไรบ้างในแต่ละวัน และที่ไหนเป็นจุดซ้ำๆ ที่แกะหยุดบ่อยๆ เช่น กองถังขยะ และสนามหญ้าในที่ดินประกาศขาย แกะจะไม่พยายามเดินเข้าไปในพื้นที่ของคน ถ้าหากว่ามีคนอยู่ตรงนั้น (ซึ่งต่างจากแพะที่โนสนโนแคร์) เหมือนมันไม่ค่อยอยากยุ่งหรือข้องแวะกับใคร แกะจะเดินหนีคนบ่อยๆ ต่างจากแพะที่เน้นวิ่งเข้าชน หากเจอถุงอาหารแขวนที่มอเตอร์ไซค์ แพะจะกัดถุงเอามากิน แต่แกะไม่ทำแบบนั้น ชาวบ้านหลายคนตั้งข้อสังเกตเปรียบเทียบระหว่างแกะกับแพะ เพราะแกะไม่ค่อยชอบยุ่งกับคน จนคิดว่าเป็นไปได้ที่แกะจะเป็น introvert ชอบเก็บตัว
การเชือดแกะ ‘กุรบ่าน’ และ ‘แก้บน’
มุสลิมมีความเชื่อว่า นบีอิรอฮีม (อ.ซ.) เชือดพลี (sacrifice) ลูกชายเพื่อแสดงความศรัทธาต่อพระเจ้า และท่านเองเคารพที่จะทำตาม ลูกชายของท่านเองยินยอมให้เชือดพลีตนเองพร้อมกับบอกให้ผู้เป็นพ่อยอมรับตามที่พระเจ้าประสงค์ และกำชับให้พ่อปิดตาของตัวเองให้สนิทพร้อมกับลับมีดให้คม ในขณะที่นบีอิบรอฮีมกำลังจะเชือด พระเจ้าได้ส่งฑูตสวรรค์มาพร้อมกับให้แกะหนึ่งตัว เพื่อให้นบีอิบรอฮีมเชือดแกะตัวนั้นแทน เพราะพระเจ้าเพียงต้องการทดสอบความศรัทธา จากนั้นเป็นต้นมา มุสลิมจึงมีวัฒนธรรมการเชือดสัตว์พลีทาน หรือ ‘กุรบ่าน’ เพื่อแจกจ่ายเนื้อสัตว์ให้แก่คนยากจน
ชาวบ้านเน้นการเชือดวัวสำหรับพิธีกุรบ่าน แต่สัตว์สำหรับกุรบ่านยังรวมถึง อูฐ แพะ แกะ ด้วย พิธีกรรมอื่นๆ ของอิสลามที่เกี่ยวกับการเชือดสัตว์พลีทาน เช่น การเชือดแพะ/แกะในพิธีอากีเกาะห์ สำหรับเด็กแรกเกิด ชาวบ้านในรูสะมีแลบอกว่า เวลามีลูกชายต้องเชือดแพะอายุ 2 ปี จำนวน 2 ตัว กรณีได้ลูกสาว จะเชือดแพะ 1 ตัว ตอนนี้ราคาตัวละประมาณ 5,000 บาท
นอกจากการเชือดแพะสำหรับพิธีอากีเกาะห์ ชาวบ้านยังเชือดแพะ/แกะสำหรับ ‘การแก้บน’ ด้วย เรื่องที่ชาวบ้านแก้บนในชุมชน เช่น อยากได้ลูกสาว ให้หาของที่หายไปเจอ การไปทำงานต่างจังหวัด (ให้ได้งานและเดินทางปลอดภัย) ให้ขายที่ดินได้ การไปขอสาวแต่งงาน เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย โดยทั้งหมดเป็นการบนกับพระเจ้า หรือเรียกว่า ‘นะซัร’
บางครั้งชาวบ้านในชุมชนจะให้ค่ากับสัตว์ที่ใช้แก้บนต่างกัน บางคนบนว่าเชือดแพะในกรณีที่เป็นเรื่องสำคัญมาก หลายคนเลยมองว่า แกะเป็นสัตว์แก้บนไว้ลำดับท้ายสุด เพราะว่าแกะราคาถูกกว่าและหาได้ง่ายกว่า และภายหลังผมได้รู้ว่า มีที่เฉพาะสำหรับไปเชือดแกะ/แพะสำหรับการแก้บนด้วย นั่นคือ หมู่บ้านดาโต๊ะ
ชาวบ้านหลายคนมักเดินทางไปชุมชนบ้านดาโต๊ะ เพราะมีสุสานของผู้ที่ชาวบ้านเชื่อว่ามีศรัทธาที่สูงมาก จนเรียกได้ว่าเป็น ‘โต๊ะวาลี’ แต่ว่าการไปนับถือและนำแกะไปเชือดที่ดาโต๊ะกลายเป็นข้อถกเถียง และสะท้อนถึงความขัดแย้งระหว่างความคิดทางศาสนาของคนมลายูที่ฝ่ายหนึ่งมองว่าเป็นประเพณีของชาวบ้าน และอีกฝ่ายมองว่าเป็นความเชื่อที่ผิดเพี้ยนไปจากศาสนาอิสลาม (บิดอะห์)
การแก้บนด้วยแกะ/แพะทำได้ด้วย 2 วิธีคือ การเชือดและการปล่อย บางคนใช้วิธีปล่อยแกะให้อาศัยอยู่ตามธรรมชาติริมทะเลและในชุมชนบริเวณนั้นไป จนบางคนเรียกแกะเหล่านี้ว่า ‘แกะป่า’ หรือแกะที่ปล่อยให้อยู่เองอย่างอิสระ ไม่มีเจ้าของผูกมัดเหมือนเมื่อก่อน
แกะที่มีมลทิน
แกะเร่ร่อนในหมู่บ้านเป็นแกะที่คนไม่อยากซื้อมาทำพิธีทางศาสนา เพราะเค้ามองว่า แกะพวกนี้เป็น ‘แกะที่มีมลทิน’ จนบางทีก็น่าคิดว่า คนในสามจังหวัดเองก็ถูกป้ายมลทินว่าเป็นพวกใช้ความรุนแรง หรือเป็นโจรใต้แล้ว แกะในสามจังหวัดก็โดนกล่าวหาว่าเป็น สัตว์ที่มีมลทินอีก ผมจึงขอเล่าว่า แกะพวกนี้โดนป้ายมลทินอย่างไร
กรณีที่ 1 ‘แกะโดนแช่ง’ เพราะไปกินของคนอื่น กะห์นาเล่าให้ผมเป็นฉากๆ ว่า สมมติว่า บ้านกะห์ปลูกดอกไม้ไว้สวยงามมาก อยู่มาวันนึง แกะตัวนี้เดินดุ่มๆ มากินดอกไม้จนเสียหาย เจ้าของบ้านก็โกรธ แล้วไปสาปแช่งแกะตัวนั้น เหมือนแกะไปทำบาปเอาไว้ ชาวบ้านเลยมองว่า แกะพวกนี้มีมลทินแปะเปื้อน ถ้าเอาไปเชือดทำพิธีกรรมทางศาสนาจะไม่บรรลุผล
กรณีที่ 2 ‘แกะที่ถูกหมาเอา’ เพราะหมาเป็นสัตว์ที่มุสลิมมองว่า สกปรก หรือ ‘นายิส’ ฉะนั้นสัตว์นายิสไปพัวผันกับสัตว์พิธีกรรมอย่างแกะ ก็น่าสังเวทที่แกะมีมลทินไปด้วย แบลีเล่าว่า ครูสอนศาสนาได้เล่าในห้องเรียนครั้งหนึ่งว่า มีเหตุการณ์ที่หมาไปเอากับแกะ แล้วมีคนเห็น จึงไปบอกกับคนในหมู่บ้านและเจ้าของแกะว่า “แกะตัวนี้เอาไปทำพิธีไม่ได้แล้ว มันมีมลทิน” ถ้ายังนำแกะตัวนั้นไปพิธีกรรมเพื่อเชือดพลีทาน ก็ไม่ได้ช่วยให้คนได้บุญขึ้นมา สิ่งที่น่าเศร้าคือ แกะที่ถูกพบเห็นว่าโดนหมาเอาแล้วจะถูกปล่อยแบบที่เรียกว่า ‘ตัดหางปล่อยแกะ’ เอาแกะไปปล่อยในเมืองโดดเดียวตัวเดียว ที่ไม่มีฝูงให้เดินตาม จนกลายเป็น ‘แกะจรจัด’ ขึ้นมาจริงๆ
ภาพแทนของแกะ/แพะ กับ สังคมสามจังหวัดภาคใต้
ประเด็นคร่าวๆ ข้างต้น โดยเฉพาะภาพของแกะที่มีมลทิน จึงเป็นภาพสะท้อนของแกะที่ไม่ต่างจากชีวิตของคนในสามจังหวัดที่ถูกสร้างให้มีมลทิน แกะต่างอาศัยอยู่ในวัฒนธรรมร่วมกับคน จึงไม่แปลกที่แกะมีกระบวนการรับรู้ถึงสภาพความย่ำแย่ที่อยู่ในชีวิตของผู้คนที่นี่ได้พบเจอทุกวัน
นอกจากการศึกษาเรื่องแกะที่ใช้เสนอเป็นภาพแทนชีวิตของมนุษย์และอมนุษย์ในสังคมมลายูนี้แล้ว งานของศิลปินรุ่นใหม่ในพื้นที่ยังสะท้อน ‘ภาพแทน’ ของแพะที่ถูกแปะป้ายว่าเป็นพวกใช้ความรุนแรง ตลอดจนถูกกระทำเยี่ยง ‘ผู้ร้าย’ จากที่เห็นในงานศิลปะงานภาพพิมพ์แกะไม้ในปี 2551 ที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ เช่น งานชื่อภาพ “แพะกับปืน” และ “นวดแผนไทย”