เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวหนาหูว่า มีคนจับไต๋ได้ว่าศิลปินชั้นครูผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ใช้วิธีการโกงหรือลักไก่ในการสร้างสรรค์ภาพวาดเหมือนจริงอันโด่งดังของเขา ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า โยฮันเนส เวอร์เมียร์ หรือที่อ่านแบบดัตช์ว่า โยฮันเนิส เฟอร์เมร์ (Johannes Vermeer, 1632 – 1675)
จิตรกรชาวดัตช์ผู้เชี่ยวชาญในการวาดภาพที่แสดงถึงชีวิตประจำวันธรรมดาของชนชั้นกลาง ผลงานของเขามีความโดดเด่นในด้านความเหมือนจริงและการใช้แสงอันจัดจ้านแต่ละเมียดละไม ฉากในภาพวาดของเขาเกือบทั้งหมดมักจะอยู่ภายในห้อง ณ บ้านของเขามากกว่ากลางแจ้ง ภาพวาดของเขาส่วนใหญ่มักเป็นภาพของบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิง เขาเป็นจิตรกรที่ประสบความสำเร็จพอสมควรในยุคสมัยของเขา แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เขาเป็นศิลปินที่ร่ำรวยอะไรนัก อันที่จริงเขาเสียชีวิตไปพร้อมกับความยากจนและหนี้สินด้วยซ้ำ เหตุเพราะเขาทำงานช้าและผลิตผลงานออกมาค่อนข้างน้อย (ในปัจจุบันมีภาพวาดที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นผลงานของเวอร์เมียร์จริงๆ เพียง 35 ภาพเท่านั้น) รวมถึงการใช้สีที่มีราคาแพงมากๆ ในการวาดภาพ
ในช่วงที่มีชีวิตอยู่ เวอร์เมียร์ไม่ได้รับการยกย่องเท่าไหร่นัก และดูเหมือนจะถูกนักประวัติศาสตร์ศิลป์มองข้ามไปด้วยซ้ำ จนในอีกกว่าสองร้อยปีให้หลัง ผลงานของเขาก็ถูกค้นพบโดยนักประวัติศาสตร์ศิลป์และนักวิจารณ์ศิลปะ จนทำให้ชื่อเสียงของเขาโด่งดังขึ้นมาอีกครั้ง และได้รับการยกย่องให้เป็นจิตรกรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในสมัยยุคทองของดัตช์ในที่สุด ผลงานของเขาที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด ซึ่งถ้าพูดถึงก็เป็นต้องร้องอ๋อ! ก็คือภาพวาด Girl with a Pearl Earring (1665) หรือ ‘หญิงสาวกับต่างหูมุก’ นั่นเอง (มีคนเอาไปทำเป็นหนังด้วยนะ)
แต่สิ่งที่โดดเด่นที่สุดอีกประการเกี่ยวกับเวอร์เมียร์ คือเทคนิคการวาดภาพอันเป็นปริศนา ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันอย่างเข้มข้นและยาวนาน ด้วยรายละเอียดในภาพวาดที่เหมือนจริงราวกับภาพถ่าย แต่ในขณะเดียวกันไม่เคยมีใครพบหลักฐานที่แน่ชัดเลยว่าเวอร์เมียร์ศึกษาเรียนรู้การวาดภาพมาจากไหน ยิ่งไปกว่านั้นยังไม่ค่อยพบภาพสเก็ตช์ดินสอ หรือหลักฐานว่าเขาทำการร่างภาพก่อนวาดภาพเท่าไหร่ด้วย
หลังจากเสียชีวิต โยฮันเนส เวอร์เมียร์ทิ้งเศษเสี้ยวของหลักฐานการดำรงอยู่ในชีวิตของเขา รวมถึงหลักฐานของกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานของเขาเอาไว้เพียงน้อยนิด ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าศิลปินดัตช์แห่งศตวรรษที่ 17 ผู้นี้วาดภาพด้วยวิธีการใดกันแน่?
เสน่ห์ของปริศนาอันเย้ายวนนี้ ดึงดูดให้นักประวัติศาสตร์ศิลปะเพียรค้นหาความจริงเรื่อยมา เจน เจลลีย์ (Jane Jelley) ผู้เขียนหนังสือ Traces of Vermeer (2017) ที่ทำการค้นหาเงื่อนงำอันคลุมเครือเกี่ยวกับวัตถุดิบและเทคนิคในการวาดภาพของเวอร์เมียร์ เธอทำการทดสอบด้วยการวาดภาพซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยการใช้เทคนิคโบราณแบบเดียวกันกับในยุคสมัยของเขา ถึงขนาดใช้กระเพาะปัสสาวะหมูที่ซื้อจากร้านขายเนื้อหมู (ในศตวรรษที่ 17 กระเพาะปัสสาวะหมูถูกใช้เป็นหลอดใส่สี) เพื่อเปิดเผยกระบวนการทำงานอันลึกลับของศิลปินชั้นครูผู้นี้
“สิ่งนี้เป็นปริศนาชิ้นใหญ่ และผู้คนก็ชอบแก้ปริศนา ศิลปินเหล่านั้นสร้างสรรค์ผลงานของเขาออกมาได้อย่างไร? นั่นเป็นสิ่งที่เราทุกคนอยากจะรู้ และเวอร์เมียร์ไม่ยอมบอกเราด้วย” เจลลีย์ นักประวัติศาสตร์ศิลปะและศิลปินอิสระกล่าว
ซึ่งอันที่จริงประเด็นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรนัก เพราะก่อนหน้านี้ ในปี 1891 ศิลปินภาพพิมพ์หินและภาพพิมพ์โลหะ โจเซฟ เพนเนลล์ (Joseph Pennell) ก็ออกมาตั้งสมมติฐานว่า เวอร์เมียร์ใช้เครื่องมือบางอย่างช่วยในการวาดภาพ แต่ก็ไม่มีหลักฐานอะไรสนับสนุนแน่ชัด จนกระทั่งเวลาผ่านมาถึงศตวรรษปัจจุบัน ด้วยความช่วยเหลือของ เดวิด ฮอกนีย์ (David Hockney) ศิลปินป๊อปอาร์ตชาวอังกฤษชื่อดัง ที่ร่วมด้วยช่วยกันกับผู้เชี่ยวชาญสาขาฟิสิกส์และทัศนศาสตร์ (วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับแสงและการมองเห็น) ชาร์ลส์ เอ็ม. ฟัลโก (Charles M. Falco) ร่วมกันตีพิมพ์ข้อวินิจฉัยที่มีชื่อว่า ’Hockney-Falco thesis’ ขึ้นมาในปี 2001 และตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ Secret Knowledge: Rediscovering the Lost Techniques of the Old Masters ที่ตั้งสมมติฐานว่า ปริศนาของการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของภาพวาดเหมือนจริงที่ปรากฏในงานศิลปะตะวันตกในช่วงศตวรรษที่ 15 – 17 นั้น น่าจะอธิบายได้ด้วยพัฒนาการของเทคโนโลยีของกระจกและเลนส์ อย่าง Camera Obscura*, Camera Lucida**, และกระจกเว้า*** ที่ถูกใช้งานโดยศิลปินชั้นครูผู้ยิ่งใหญ่หลายคนในยุคนั้นอย่าง การาวัจโจ (Caravaggio), เบลัซเกซ (Velázquez), และแน่นอน โยฮันเนส เวอร์เมียร์ นั่นเอง
ฮอกนีย์กล่าวว่า “ช่วงเวลาในการพัฒนาจากภาพวาดที่ไม่ค่อยเหมือนจริงนักไปสู่ภาพวาดที่เหมือนจริงราวกับภาพถ่ายในเวลาเพียงไม่กี่สิบปีนั้น ถ้าจะบอกว่า จู่ๆ ทุกคนก็เกิดวาดภาพดีผิดหูผิดตาขึ้นมาฉับพลันทันใดเสียอย่างงั้น ก็ไม่น่าจะเป็นคำอธิบายที่สมเหตุสมผลนัก”
ฮอกนีย์สันนิษฐานว่าศิลปินในยุคนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวอร์เมียร์ น่าจะใช้อุปกรณ์อย่าง Camera Obscura ในการวาดภาพส่วนใหญ่ของเขาหรือเปล่า? ฮอกนีย์ยังเสริมว่า เขาสังเกตเห็นว่าภาพวาดของศิลปินในศตวรรษที่ 16 และ 17 หลายคน มีลักษณะที่คล้ายกับการวาดภาพด้วยการฉายสไลด์หรือโปรเจกเตอร์ลงบนผนัง, ผ้าใบ, หรือกระดาษแล้ววาดตาม ซึ่งน่าจะเป็นเทคนิคที่เกิดจากการใช้เครื่องมือช่วยนั่นเอง
คำถามอันไร้คำตอบนี้นำไปสู่ข้อกังขาถึงความชอบธรรมในอัจฉริยภาพของศิลปินชั้นครูเหล่านี้ ถ้าเวอร์เมียร์ใช้เครื่องมือทุ่นแรงเหล่านี้จริง มันจะลดทอนความเป็นอัจฉริยะของเขาหรือไม่? นักประวัติศาสตร์ศิลป์บางคนยืนยันอย่างหนักแน่นว่า “เวอร์เมียร์ไม่มีทางใช้เครื่องทุ่นแรงแบบนี้ เขายิ่งใหญ่เกินกว่าจะทำเช่นนี้ เขาไม่จำเป็นต้องใช้มันหรอก” ในขณะที่บางคนบอกว่า “ถ้าเราดูภาพวาดของเวอร์เมียร์ เราจะเห็นหลักฐานของรายละเอียดแปลกๆ บางอย่างบ่งชี้ว่าเขาน่าจะใช้มัน”
ศาสตราจารย์ ฟิลิป สเตดแมน (Prof. Philip Steadman) สถาปนิกผู้เขียนหนังสือ Vermeer’s Camera: Uncovering the Truth Behind the Masterpieces เป็นอีกคนหนึ่งที่สนับสนุนสันนิฐานว่าเวอร์เมียร์ใช้ Camera Obscura หรืออุปกรณ์ที่ฉายภาพผ่านรูเล็กๆ ไปตกบนผนังในห้องมืด (อาจจะเป็นกล่องหรือห้องที่ปิดไม่ให้แสงส่องเข้าไป) ที่อยู่ด้านตรงกันข้าม แล้ววาดตาม สเตดแมนทำการทดลองด้วยการสร้างฉากจำลองของภาพวาด The Music Lesson (1662–1665) ขึ้นมาในขนาดเท่าของจริง และลองใช้อุปกรณ์แบบเดียวกับ Camera Obscura ฉายภาพให้ตกลงบนผนัง ซึ่งปรากฏว่าผลลัพธ์ที่ได้นั้นตรงกันกับภาพวาดภาพนี้ของเวอร์เมียร์อย่างไม่ผิดเพี้ยน เพียงแต่ภาพที่ปรากฏจะเป็นภาพแบบกลับหัวและกลับซ้ายเป็นขวา ซึ่งเขาก็ยังอธิบายไม่ได้ว่าเวอร์เมียร์วาดภาพให้กลับมาอยู่ในด้านปกติได้อย่างไร?
ในขณะที่ เจน เจลลีย์ ทำการทดลองแบบเดียวกัน แต่เธอลอกภาพที่ฉายลงบนกระดาษไข และด้วยความที่เธอไม่อาจแยกแยะสีในที่มืดได้ เธอจึงใช้สีดำในการวาดโดยการลงน้ำหนักเข้มในส่วนที่มืดและลงน้ำหนักอ่อนหรือไม่ลงสีเลยในส่วนที่สว่าง และนำกระดาษไขไปทาบและฝนสีที่วาดถ่ายลงบนเฟรมผ้าใบอีกที ด้วยเทคนิคภาพพิมพ์พื้นฐานง่ายๆ นี้้เอง ที่ช่วยทำให้ภาพกลับมาอยู่ในด้านที่ถูกต้องได้ในที่สุด แล้วเธอจึงค่อยมาลงสีสันอื่นๆ ทีหลัง
การทดลองเหล่านี้เองที่เปิดเผยชิ้นส่วนของปริศนาในกระบวนการทำงานของเวอร์เมียร์ ซึ่งบังเอิญไปพ้องกับกระบวนการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่า ภาพวาดของเวอร์เมียร์ประกอบด้วยชั้นสีเพียงไม่กี่ชั้นเท่านั้น ดังเช่นในภาพ Girl with a Pearl Earring ซึ่งมีเพียงแค่สี่ชั้นสี และชั้นสีชั้นแรกสุดเป็นอะไรที่น่าสนใจที่สุด เพราะมันไม่ใช่ลักษณะของการร่างด้วยลายเส้น หากแต่เป็นการขึ้นโครงด้วยองค์ประกอบของรูปทรงมากกว่า ซึ่งแตกต่างจากที่ศิลปินทั่วไป (ที่วาดภาพจากการเล็งด้วยสายตาปกติ) ทำกัน และชั้นสีแรกสุดของภาพก็ดูเหมือนจะปรากฏขึ้นพร้อมๆ กันบนผืนผ้าใบโดยไม่มีเส้นไกด์ไลน์หรือการมาร์กตำแหน่ง และแทบไม่มีการแก้ไขเลยด้วยซ้ำ (อะไรมันจะเข้าเค้าขนาดนั้น!)
แต่อย่างไรก็ดี เจลลีย์ก็ไม่ได้คิดว่าข้อสันนิฐานของเธอและคนอื่นๆ ที่บ่งชี้ว่าเวอร์เมียร์อาจจะใช้เทคนิคและอุปกรณ์ทุ่นแรงอย่าง Camera Obscura ในการวาดภาพ จะทำให้อัจฉริยภาพของเขาต้องแปดเปื้อนหรือถดถอยลงไปแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม “ฉันคิดว่าศิลปินจิตรกรทั้งหลายมักจะใช้เทคนิคใหม่ๆ ที่จะช่วยให้เขาทำงานได้ดีขึ้น เช่นเดียวกันกับที่พวกเราทำในทุกวันนี้แหละ” และเจลลีย์ก็ไม่ได้คิดว่าสมมติฐานของเธอเป็นการไขปริศนาในผลงานของเวอร์เมียร์อย่างสิ้นเชิงด้วย เธอกล่าวว่า “เรื่องของเรื่องก็คือ สิ่งที่คุณไม่สามารถอธิบายได้คือธรรมชาติของอัจฉริยะน่ะนะ”
ส่วนผมเองก็ไม่ได้คิดว่าเวอร์เมียร์นั้นลักไก่หรือโกงแต่อย่างใด เพราะจะว่าไปจริงๆ มันก็เป็นเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมในการทำงานศิลปะเสียมากกว่า พูดง่ายๆ ก็คือเป็นเครื่องทุ่นแรง (หรืออันที่จริง ‘สายตา’) ไม่ต้องมานั่งเล็งให้เมื่อยลูกกะตา แถมได้ภาพวาดที่เหมือนจริงสุดๆ ออกมาด้วย ถ้าเวอร์เมียร์ใช้เทคนิคนี้จริงๆ ในยุคนั้น ก็ถือว่าเป็นอะไรที่ล้ำมากๆ เลยทีเดียว
ถ้าใครรับไม่ได้เพราะคิดแต่เพียงว่า ศิลปินจิตรกรต้องวาดภาพหรือทำงานศิลปะด้วยสองมือ จากทักษะหรืออัจฉริยภาพอันเลิศล้ำของศิลปินแต่เพียงถ่ายเดียวเท่านั้น ลองมาเจอศิลปินในปัจจุบันที่ไม่ได้ทำงานศิลปะด้วยตัวเอง หากแต่สั่งงานทางโทรศัพท์ อีเมล หรือให้คนอื่นทำให้จนเสร็จสิ้นเป็นชิ้นงาน หรือไม่ก็หยิบเอาข้าวของสำเร็จรูปมาตั้งเป็นงานศิลปะโด่ๆ โดยไม่ได้ลงมือทำเองแม้แต่ปลายก้อยแล้ว ก็อาจจะถึงกับอึ้งทึ่งเสียวไปถึงไหนต่อไหนกันได้ นะจ๊ะนายจ๋า!
*Camera Obscura หรือ กล้องทาบเงา เป็นอุปกรณ์ที่มีลักษณะการทำงานเหมือนห้องมืดที่มีแสงส่องผ่านช่องหรือรูขนาดเล็กเพื่อรวมแสงให้ภาพจากภายนอกไปตกบนฉากแบบกลับหัว (ถ้าใครนึกไม่ออกลองนึกถึง ปรากฏการณ์เงาพระธาตุกลับหัว ในวัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นตัวอย่าง) โดยส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นเครื่องช่วยในการวาดภาพของศิลปินและจิตรกรในศตวรรษที่ 17-18 ต่อมามีการปรับปรุงโดยการนำหลักการของเลนส์ที่่ใช้ในกล้องส่องทางไกลมาใช้เพื่อรวมแสง และสามารถปรับให้มีระยะและความชัด และมีขนาดที่เล็กลงจนสามารถพกพาไปไหนมาไหนได้ โดยมีลักษณะเป็นกล่อง 2 ใบซ้อนกัน เลื่อนเข้าออกได้ กล่องด้านหน้าติดเลนส์สำหรับรับภาพ ภายในกล่องใบหลังมีกระจกเงาวางทำมุม 45 องศาเพื่อสะท้อนภาพขึ้นมาที่กระจกฝ้า จิตรกรและศิลปินจะวางกระดาษและวาดภาพตามภาพที่ปรากฏขึ้น บางครั้งมันถูกทำออกมาในรูปแบบที่พับเก็บเป็นหนังสือได้อย่างแนบเนียน กล้องทาบเงา เป็นต้นแบบของกล้องถ่ายภาพในยุคแรกๆ ก่อนที่จะพัฒนาต่อมาจนกลายเป็นกล้องถ่ายภาพในปัจจุบัน
**Camera Lucida เป็นอุปกรณ์ที่ศิลปินและจิตรกรในศตวรรษที่ 17-18 ใช้สำหรับการร่างภาพ ด้วยความที่มันมีขนาดเล็ก ทำให้นักวาดภาพ สามารถพกภาพไปได้อย่างสะดวก ส่วนใหญ่ใช้ร่างภาพเหมือน หุ่นนิ่ง และทิวทัศน์ โดยมีหลักการทำงานคือ ใช้เลนส์วางเอียงทำมุม 45 องศาสะท้อนภาพจากคน, สิ่งของ, ทิวทัศน์ ไปยังเลนส์วางนอน ที่รับภาพให้ปรากฏขึ้นมาใกล้กับตาของจิตรกรผู้วาด จิตรกรก็วาดภาพลงบนกระดาษตามภาพที่ปรากฏบนเลนส์โดยมองผ่านเล่นนั้นลงไป
***กระจกเว้า (Concave Mirrors) กระจกเงาโค้งที่มีผิวสะท้อนแสงเป็นส่วนโค้งของทรงกลม มีจุดศูนย์กลางความโค้งอยู่ที่ด้านหน้าของกระจก
อ้างอิงข้อมูลจาก
en.wikipedia.org/wiki/Johannes_Vermeer
historyofphotography-kmitl.blogspot.com