(1)
อันที่จริง หากไม่มีเรื่องวุ่นวายล่าสุด อดีตกษัตริย์ ฮวน คาร์ลอส (Juan Carlos) ของสเปน น่าจะได้รับการจดจำจากทั้งคนสเปน และคนทั่วโลกในด้านดี ในฐานะ ‘เสาหลัก’ ประชาธิปไตย
เพราะถ้าย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ 50 ปีให้หลัง จะพบว่า ยุค ‘เปลี่ยนผ่าน’ จากระบอบเผด็จการ ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปเป็น ‘ประชาธิปไตย’ นั้น ก็เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ ที่อยู่เบื้องหลัง ประกาศ ‘เลือกข้าง’ ประชาธิปไตย ทำให้สเปนพ้นจากยุคเผด็จการอันยาวนาน
ย้อนกลับไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ใหม่ๆ สเปน เป็นประเทศเดียวที่ผู้นำเผด็จการอำนาจนิยมยังเข้มแข็ง แน่นอนเป็นผลมาจากนายพลฟรันซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco) นายพลผู้ ‘รักชาติ’ ผู้พาประเทศหลุดจากทั้งสงครามกลางเมือง และหลุดจากวิกฤตสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงเอาประเทศนี้เข้าไปเคียงบ่าเคียงไหล่กับประเทศตะวันตก ในการจัดการกับคอมมิวนิสต์อย่างแข็งขัน
ณ เวลานั้น สเปน ว่างเว้นจากการมีกษัตริย์มายาวนาน กษัตริย์อัลฟองโซที่ 13 (Alfonso XIII) ของราชวงศ์บูร์บง สมเด็จปู่ของเจ้าชายฮวน คาร์ลอส ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ เพราะเลือกฝั่งผิด นำมาซึ่งสงครามกลางเมืองกินระยะเวลายาวนาน ฝ่ายที่ชนะ กลายเป็นฝั่ง ‘ตรงข้าม’ ประเทศนี้มีประมุขสูงสุดเพียง ‘ประธานาธิบดี’ และตัวประธานาธิบดีก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่คือนายพลฟรังโกนั่นเอง
หลังนายพลฟรังโกเริ่มชรา เขาวางแผนว่าจะฟื้น ‘ระบบกษัตริย์’ ขึ้นมาปกครองประเทศขึ้นอีกครั้ง โดยแต่งตั้งเจ้าชายฮวน คาร์ลอส ขึ้นเป็นกษัตริย์ทันทีที่เขาตาย ข้ามพระบิดาของฮวน คาร์ลอสอย่าง ดอน ฮวน เดอบูร์บง เคานต์แห่งบาร์เซโลนาไป (Infante Juan, Count of Barcelona) เพราะเห็นว่าเป็นพวก ‘เอียงซ้าย’
เหตุผลที่หันไปสนับสนุนเจ้าชายหนุ่ม ฮวน คาร์ลอส นั้นไม่มีเรื่องอะไรอื่น นอกจากเชื่อว่า เจ้าชายผู้ซึ่งเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิ ที่เขา ‘ปั้น’ มากับมือ จะเชื่อฟังมากกว่า จะรักษาความเป็นอนุรักษ์นิยม และอำนาจนิยมสุดขั้วได้มากกว่า
แต่การฟื้นระบบกษัตริย์กลับมาใหม่ก็ไม่ได้ง่ายนัก ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้นำเผด็จการหลายประเทศในยุโรปเริ่มพังลงไปทีละประเทศ กระแสประชาธิปไตยกำลังเบ่งบาน ประเทศเพื่อนบ้านอย่างโปรตุเกส เพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองจากการปฏิวัติดอกคาร์เนชั่นเป็นประชาธิปไตย โดยกลุ่มนายทหารหนุ่มยังเติร์ก ขณะที่ในสเปนเอง กลุ่มนิยม ‘สาธารณรัฐ’ ก็เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ระบบอำนาจนิยม–เผด็จการเบ็ดเสร็จนั้นค่อยๆ ตายลงไปพร้อมกับสุขภาพของนายพลชราอย่างฟรังโก…
ทั้งหมดนี้ ทำให้กษัตริย์ฮวน คาร์ลอส ซึ่งขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ.1975 รู้ดีว่า หากวางตัวเองเป็นกษัตริย์ แบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ โดยมีกองทัพหนุนหลัง จะต้องเจอกับอะไรบ้าง…
(2)
นั่นทำให้ ปี ค.ศ.1976 หลังจากฟรังโกเสียชีวิตไม่นาน ช่วงเวลาเดียวกับที่ในไทยเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ กษัตริย์ ฮวน คาร์ลอส ผู้ซึ่งมีอำนาจเต็มในมือ เริ่มสละอิทธิพลจากระบอบฟรังโก เพราะรู้ว่า ‘เผด็จการ’ แบบฟาสซิสต์เต็มรูปแบบ โดยมีกองทัพเป็นผู้อุดหนุน น่าจะมีอายุอยู่ได้ไม่นานนัก ในที่สุด กษัตริย์ฮวน คาร์ลอส ก็ทำสิ่งที่คนทั่วไปคิดไม่ถึง คือหันหัวออกจากการเป็น ‘อำนาจนิยม’ ค่อยๆ เปลี่ยนสเปน ให้เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ
ส่วนสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่เพิ่งฟื้นขึ้นมาใหม่ ก็ปรับตัวเองกลายเป็น ‘ราชาธิปไตยภายใต้ธรรมนูญ’ หรือ Constitutional Monarchy ค่อยๆ ลดอิทธิพลของพลพรรคฟรังโกลง กล่าวคือ แม้พระมหากษัตริย์จะมีพระราชอำนาจเต็ม แต่ก็เลือก ‘ผู้นำ’ ที่หัวก้าวหน้า สายปฏิรูป เพื่อผลักดันร่างรัฐธรรมนูญ ผลักดันระบบการเมืองแบบใหม่ ให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจน้อยที่สุด เกี่ยวพันกับการเมืองน้อยที่สุด ก่อร่างสร้างระบอบประชาธิปไตย เช่นเดียวกับประเทศอื่นในยุโรป
ในที่สุด ผลงานของกษัตริย์หนุ่มแห่งราชวงศ์บูร์บง ก็ผลิดอกออกผล พรรคการเมืองเริ่มเคลื่อนไหวได้เสรี ประชาชนชุมนุมทางการเมืองได้ ขณะเดียวกัน นักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังในช่วงระบอบฟรังโก ก็ได้รับการปล่อยตัว ในที่สุด ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ.1978 ที่วางรากฐานประชาธิปไตยให้สเปน ก็ผ่านฉลุยทั้งการโหวตในสภาของสส. และการลงประชามติโดยประชาชน ทำให้ชื่อของกษัตริย์ฮวน คาร์ลอส ถูกบรรจุลงไปในหนังสือประวัติศาสตร์ ในฐานะผู้ที่เปลี่ยนสเปนไปตลอดกาล
อย่างไรก็ตาม จุดสูงสุดของกษัตริย์ ฮวน คาร์ลอส ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เมื่อทหาร ‘ฝ่ายขวา’ อดีตที่ปรึกษาของกษัตริย์ จับมือกับพวกฟรังโกเดิมพยายามทำรัฐประหารในอีก 3 ปีให้หลัง ระหว่างที่รัฐบาลกำลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ด้วยการจับกุมสมาชิกสภาและรัฐมนตรี เป็นตัวประกันนานกว่า 18 ชั่วโมง
ที่น่าสนใจก็คือ คณะรัฐประหารนั้นไป ‘เคลม’ กับบรรดาขุนทหารไปด้วยว่า กษัตริย์ ฮวน คาร์ลอส ‘ไฟเขียว’ โดยเชื่อว่าพระมหากษัตริย์จะเอาด้วย จากสภาพเศรษฐกิจที่ง่อนแง่น การประท้วงแบ่งแยกดินแดน การก่อการร้าย และการสูญเสียอำนาจไปเรื่อยๆ ของฝั่งกองทัพ แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดก็คือ กษัตริย์กลับสวมเครื่องแบบทหารเต็มยศออกโทรทัศน์ ปฏิเสธการรัฐประหารอย่างไม่ใยดี พร้อมกับร้องขอให้ประชาชนออกมาปกป้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญ แทนที่จะยอมรับการใช้อำนาจนอกระบบ
“สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความอดทนและความสามัคคีของชาติ
จะไม่ยอมรับการกระทำพฤติกรรมของผู้ใดก็ตาม
ที่พยายามใช้กำลังขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตย
ซึ่งชาวสเปนรับรองผ่านการออกเสียงประชามติไปก่อนหน้านี้”
กษัตริย์หนุ่มแถลงผ่านทีวี
พระราชดำรัสผ่านโทรทัศน์ ส่งให้กษัตริย์ ฮวน คาร์ลอส กลายเป็น ‘ผู้พิทักษ์’ รัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตยในสเปนอย่างสมบูรณ์แบบ แม้แต่ขบวนการคอมมิวนิสต์เดิม ก็ออกตัวสนับสนุนพระมหากษัตริย์ ในฐานะผู้ที่แก้วิกฤตภายใต้ระบบ
นายทหาร ผู้ก่อรัฐประหาร ซึ่งกลายเป็นกบฏ ถูกจำคุกนาน 30 ปี ส่วนสเปน ก็ไม่ต้องเผชิญกับการทำรัฐประหารอีกเลย การตัดสินใจของกษัตริย์ ฮวน คาร์ลอส เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง พาสเปนไปยัง ‘ยุคใหม่’ เต็มที่
ส่วนบทบาทของราชวงศ์บูร์บงก็ค่อยๆ ลดลง โดยเฉพาะเมื่อการเมืองเริ่มนิ่ง กษัตริย์ฮวน คาร์ลอส ดำรงตำแหน่งในฐานะ ‘สัญลักษณ์’ เฉกเช่นเดียวกับราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญในประเทศอื่น ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหา แต่สุดท้ายก็มี…
(3)
เพราะแม้สถาบันฯ จะเป็นที่เทิดทูนของประชาชน ผ่านผลงานชิ้นเอก อย่างการเปลี่ยนสเปนให้เป็นประชาธิปไตย แต่ในอีกแง่หนึ่งความศักดิ์สิทธิ์ ก็ดำรงอยู่ผ่านสถานะทางกฎหมายด้วยเช่นกัน
กฎหมายอาญา มาตรา 440 ของสเปน ยังคงกำหนดความผิดฐาน ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์’ โดยมีโทษจำคุก และยังถูกหยิบยกมาใช้ช่วงที่สถาบันพระมหากษัตริย์ ยังได้รับความนิยมสูง โดยมีการใช้กฎหมายดังกล่าวจับกุมนักกิจกรรมกลุ่มชาตินิยมแคว้นบาสก์ 2 คน เมื่อปี ค.ศ.2003 หลังจากแสดงความคิดเห็นว่ากษัตริย์ ไปร่วมงานเปิดโรงไฟฟ้ากับผู้นำแคว้นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการ ‘ซ้อมทรมาน’ ก็อาจแปลได้ว่า กษัตริย์สนับสนุนการซ้อมทรมาน จนทำให้ทั้ง 2 คนถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุก 1 ปี
ทั้ง 2 ยื่นเรื่องไปที่ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป ขอให้พิจารณาว่าขัดต่ออนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรปหรือไม่ ซึ่งศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป เห็นว่าโทษจำคุกนั้น ‘ไม่ได้สัดส่วน’ และละเมิดอนุสัญญาฯ จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคำตัดสินเดิม แต่ก็เซ็ตมาตรฐานใหม่ ทำให้ชาติสมาชิกเริ่มกังวล หากมีการตัดสินลักษณะนี้อีก และทำให้กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ในชาติสมาชิกอื่นๆ ของสหภาพยุโรปที่ยังคงมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ‘ฝ่อ’ ไปด้วย
เมื่อทศวรรษที่ 2010 เริ่มต้น ราชวงศ์บูร์บง ก็เผชิญกับความท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากเรื่อง ‘คอร์รัปชั่น’ ของ ‘ลูกเขย’ สามีของเจ้าหญิงกริสตินา (Infanta Cristina of Spain) ลูกสาวคนเล็กของของกษัตริย์ฮวน คาร์ลอส จนถูกศาลตัดสินว่าใช้เส้นสายในราชวงศ์ เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจ รับงานจากรัฐบาลท้องถิ่น จนถูกศาลตัดสินจำคุก และทำให้เจ้าหญิง ไม่สามารถปรากฏตัวร่วมกับราชวงศ์ ได้อีกเลยตั้งแต่ปี ค.ศ.2013
ขณะเดียวกัน กษัตริย์ที่มีภาพลักษณ์ดีมาตลอดชีวิต ก็ถูกสาธารณชน ‘แหก’ หลังมีพระอาการบาดเจ็บ จากการไปร่วมทริปล่าช้างในบอทสวานา แม้รัฐบาลสเปนจะแถลงว่า กษัตริย์ ฮวน คาร์ลอส ไม่ได้ใช้เงินภาษีไปล่าช้าง แต่เมื่อพบว่ามีนักธุรกิจชาวซีเรีย ออกเงินให้ถึง 44,000 ยูโร (ประมาณ 1.6 ล้านบาท) ชาวสเปน ก็ยิ่งไม่พอใจมากขึ้นไปอีก ทำให้เริ่มมีการล่ารายชื่อ ขอให้กษัตริย์สละราชสมบัติ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์
หลังจากนั้น กษัตริย์ฮวน คาร์ลอส ก็ค่อยๆ หลบฉาก ออกจากงานสังคม พร้อมกับตัดสินใจ ‘สละราชสมบัติ’ ในวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ.2014 เพื่อแสดงความรับผิดชอบ ทั้งเรื่องของลูกสาว และเรื่องทริปล่าสัตว์ โดยมีพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 (Felipe VI) ลูกชาย เป็นผู้สืบทอดราชบัลลังก์
เป็นการปิดฉาก 39 ปี บนบัลลังก์ ที่ไม่สวยงามเท่าไหร่นัก..
(4)
อย่างไรก็ตาม เคราะห์กรรมยังตามราชวงศ์นี้ไม่จบสิ้น เมื่อหนังสือพิมพ์ของสวิตเซอร์แลนด์ ไปแกะเจอว่ามีทรัพย์สินของอดีตกษัตริย์แห่งราชวงศ์บูร์บงพระองค์นี้ ‘ซุก’ ไว้ในสวิสจำนวนหนึ่ง ขณะเดียวกัน ก็พบว่ากษัตริย์ของซาอุดิอาระเบียนั้น พระราชทานเงินให้กษัตริย์ฮวน คาร์ลอสผู้นี้ มากกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ผ่านนักธุรกิจหญิงคนสนิท ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการที่บริษัทสเปน ได้สัญญาก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจากเมดินา ไปยังนครเมกกะ เมื่อปี ค.ศ.2011
นอกจากนี้ ยังมีกองทุนต่างประเทศอีก 2 กองทุน มีเงินหมุนเวียนหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่พัวพันระหว่างราชวงศ์ซาอุดิอาระเบีย และอดีตกษัตริย์ เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ของพระองค์ กับผู้หญิงในเชิงชู้สาวอีกจำนวนมากถูกเปิดโปงออกมามากขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งหมดนี้ นำมาซึ่งการที่กษัตริย์เฟลิเป ‘ตัดเงิน’ รายปี ของพ่อ ปีละกว่า 194,000 ยูโร (ประมาณ 7.1 ล้านบาท) ไปจนถึงการที่อดีตกษัตริย์ ฮวน คาร์ลอส ตัดสินใจย้ายไปพำนักในต่างประเทศ เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ช่วงเวลาที่คนสเปนกำลังพักผ่อน สนใจข่าวสารน้อยที่สุด ด้วยเหตุผลว่าต้องการให้กษัตริย์พระองค์ปัจจุบัน สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกษัตริย์ได้อย่างเต็มที่
การสอบสวนโดยรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ และรัฐบาลสเปนยังคงดำเนินต่อไป แม้กษัตริย์เฟลิเป ยืนยันว่าจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่แน่นอน ความเสียหายได้เกิดขึ้นกับพระราชวงศ์แล้ว ด้วยผลกระทบที่ไม่อาจประเมินค่าได้..
จากอดีต ‘ฮีโร่’ คนสเปนในปัจจุบันจำนวนไม่น้อย สะท้อนผ่านสื่อมวลชนของสเปนว่า อดีตกษัตริย์ ฮวน คาร์ลอส ว่าคือความอับอาย คนสเปนเพิ่งผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากจากช่วง COVID–19 จนมีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เมื่อผนวกกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ตกต่ำ ไม่อาจฟื้นง่ายๆ และความง่อนแง่นของรัฐบาลสเปนเอง ข่าวของอดีตกษัตริย์ที่ยังเคลียร์ตัวเองไม่พ้นคดีคอร์รัปชั่น อาศัยช่วงเวลาดังกล่าว ออกจากประเทศไปใช้ชีวิตหรูหราในอาบู ดาบี จึงสร้างความเดือดดาลให้กับคนสเปนไม่น้อยว่าในที่สุดเสาหลักของประชาธิปไตย เมื่อ 40 กว่าปีก่อนนั้น มีไว้ทำไม ยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ และมีความจำเป็นอย่างไรในปัจจุบัน
และหากคำตอบคือยังคงมีความจำเป็นในฐานะ ‘สัญลักษณ์’ ของชาติ ระบอบกษัตริย์ จะต้องจัดวางสถานะตัวเองใหม่อย่างไร ให้เข้ากับความเป็นประชาธิปไตยในโลกสมัยใหม่มากที่สุด