ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงพึ่งจะเกิดขึ้นและเห็นได้ทั่วทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา ทุกๆคนรวมทั้งประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ต่างพากันไปชมปรากฏการณ์นี้กันล้นหลาม
ผู้เขียนยังคงจำได้ว่า เคยมีปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงเกิดขึ้นตอนผู้เขียนยังเด็กๆ นักวิชาการออกมาอธิบายกันใหญ่ว่าต้องใช้กระจกรมควันให้มืดๆ หรือแว่นพิเศษเพื่อมองดูปรากฏการณ์ธรรมชาติครั้งนี้ บางช่องยิ่งย้ำใหญ่เลยว่าต้องดู ไม่ดูไม่ได้ ปราฏกการณ์แบบนี้ไม่เกิดอีกแล้วในรอบกี่ปี ปีอะไรก็ว่าไป และเมื่อมีวิทยาศาสตร์ก็ต้องมีไสยศาสตร์ เข้าคู่กันในบ้านเรา บางช่องก็เชิญซินแสหมอดูมาอธิบายวิธีบูชาราหูด้วยของดำเจ็ดอย่างเก้าอย่างอะไรก็ว่าไป บางช่องก็ให้โหรมาทำนายว่าราศีต่างๆ จะได้ผลกระทบอย่างไรบ้าง จะแก้ดวงอย่างไร รวมไปถึง ดวงบ้านดวงเมืองจะเป็นอย่างไร
ปรากฏการณ์สุริยคราส จันทรคราส เป็นสิ่งที่สังคมมนุษย์ให้ความสนใจมาเนิ่นนานแล้ว มีคำอธิบายในเทวตำนานให้แก่ปรากฏการณ์นี้ต่างๆ กัน ชาวอียิปต์โบราณจะอธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า สุริยเทพรา (Ra) เพลี่ยงพล้ำต่องูแห่งความมืดระหว่างล่องเรือผ่านมตภพดูอัต (Duat) ในยามราตรี บนเรือจะมีเทพีไอซิส (Isis) เทพีแห่งกฤตยาคม และเทพีบาสเตต (Bastet) เทพีแห่งบ้านเรือนผู้มีเศียรเป็นแมว คอยช่วยต่อสู้กับพญางูแห่งความมืด หากคืนใดพ่ายแพ้ เทพราก็จะไม่ออกมายังฟากฟ้า
ส่วนตำนานพราหมณ์ฮินดูที่หลายๆคนน่าจะรู้จักคือตำนานของอสุรินทราหู ผู้ยิ่งใหญ่ ที่เทวดานำโดยพระอินทร์ มาขอสงบศึกระหว่างเทวดาและอสูร และชวนให้หาสมุนไพรต่างๆ นำมากวนเกษียรสมุทรร่วมกัน เพื่อสร้างน้ำอมฤต ใครไปสุวรรณภูมิแล้วเห็นเห็นเทวดากับยักษ์ชักนาคที่พันอยู่กับภูเขาตรงกลาง นั่นแหละค่ะ กวนเกษียรสมุทร เกษียรสมุทรมันคือทั้งทะเลเนาะ ใครจะไปเอาไม้กวนมากวนป่านนี้คงยังไม่เสร็จนะคะ ก็ต้องใช้วิธีดึงนาคจากสองทาง ทำให้ภูเขาหมุนเหมือนสว่าน น้ำทะเลจะได้ผสมผสานกับสมุนไพร การแสดงตำนานตอนนี้ เขาจะเรียกว่า ‘ชักนาคดึกดำบรรพ์’ แต่เทวดาก็โกงทุกอย่าง ให้ยักษ์ดึงส่วนหัวนาค เวลานาคเจ็บ นาคก็จะพ่นพิษ พ่นไฟใส่ ฝั่งเทวดา พระวิษณุบันดาลฝนให้ตกสวยๆ เย็นๆ พอของวิเศษผุดขึ้นจากการผสมผสานสมุนไพรกับท้องทะเล แทตย์ (อมนุษย์กึ่งเทพจำพวกหนึ่ง) ชื่อ ธันวันตริ ผุดขึ้นมาพร้อมผอบน้ำอมฤต เทวดาได้หาทางกีดกันยักษ์ทั้งหลายออกไป แต่ราหูแปลงกายเป็นพราหมณ์แฝงตัวเข้ามา พระอาทิตย์และพระจันทร์ (ซึ่งพึ่งเกิดจากการกวนเกษียรสมุทร) เห็นเข้าก็ทูลพระวิษณุ พระวิษณุจึงใช้จักรตัดราหูขาดเป็นสองท่อน ท่อนล่างซึ่งมีลักษณะคล้ายหางนาคกลายเป็นพระเกตุ ซึ่งเป็นแสงสว่างระยิบระยับบนฟากฟ้า ราหูแค้นใจมาก ครั้งใดที่เจอพระอาทิตย์พระจันทร์ก็จะอมไว้ในปากบ้าง เอารักแร้หนีบบ้าง สุริยคราสกับจันทรคราสจึงเกิดขึ้น ยังมีตำนานทำนองนี้อีกมาก เงามืดมักถูกอธิบายด้วยปีศาจหรือสัตว์ประหลาดต่างๆ
หลายๆ ครั้งที่เกิดคราส หลายคนอาจมองว่าเป็นอาเพศ ดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ซึ่งเป็นดาวที่อยู่ใกล้โลกมนุษย์และมีความสำคัญกับการอธิบายเวลาในแต่ละวัน คราสจึงเป็นตัวแทนของกาลเวลาอันผิดปกติ เชื่อว่าคงมีหลายคนอดคิดไม่ได้ว่า ตายๆๆๆ สุริยคราสทั่วสหรัฐเกิดขึ้นในสมัยทรัมป์ อาเพศแน่ๆ หรืออะไรแบบนั้น หลายๆ คนอาจจะบอกว่า งมงาย คราสมันก็เกิดของมันเอง เกี่ยวอะไรกับทรัมป์ ไม่ว่าอย่างไรก็แล้วแต่ คราสถือเป็นปรากฏการณ์มหัศจรรย์ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนได้เสมอๆ โดยเฉพาะในวงการวิทยาศาสตร์และไสยศาสตร์ ซึ่งทั้งสองสายนั้น ไม่อาจแยกออกจากบริบทสังคมและการเมืองได้
แน่นอนว่าทั้งวิทยาศาสตร์และไสยศาสตร์ไม่ค่อยจะถูกกัน แต่ทั้งสองศาสตร์เกิดขึ้นร่วมกันในฐานะคำอธิบายธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของการศึกษาดวงดาว
การสร้างแผนที่ดาวและการศึกษาปรากฏการณ์ของเทหวัตถุฟากฟ้า (ไอ้ที่มันลอยๆ อยู่บนฟ้านั่นแหละค่ะ แหม… ทำมาใช้คำ) เป็นส่วนหนึ่งของการพยากรณ์อนาคตและดวงชะตา คราสเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่สำคัญเพราะส่งผลต่อเวลาและวัฒนธรรม ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่จะมีพิธีกรรมต่างๆ เกิดขึ้นจากสุริยคราสหรือจันทรคราส
ในบทความนี้ ดิฉันต้องการจะเล่าโครงเรื่องเกี่ยวกับคราสในวรรณกรรมที่แสดงให้เห็นรอยแยกระหว่างวิทยาศาสตร์และสิ่งเหนือธรรมชาติ รวมถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่แฝงอยู่ในการอธิบายปรากฏการณ์สุริยคราสหรือจันทรคราส ไม่ว่าจะเป็นประเด็นธรรมชาติ ชาติ การล่าอาณานิคม รวมถึงความงมงาย บทความนี้ ขออนุญาตพูดถึงวรรณกรรมอังกฤษ ตามความถนัดของตัวเองนะคะ
วรรณกรรมชิ้นแรกที่ดิฉันขอยกมา มีฉากพูดถึงคราสอยู่นิดเดียว ว่ากันว่ามาจากคราสที่น่าจะเกิดขึ้นจริงในช่วงราวๆ ที่ผู้เขียนได้เขียนงานชิ้นนี้ขึ้น ถึงแม้ว่างานเขียนจะเป็นงานย้อนยุคจากสมัยที่เขียนก็ตาม งานชิ้นนี้ก็คือ พระเจ้าเลียร์ (King Lear) ของ วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) นั่นเอง แม้ทุกคนจะรู้จักเรื่องนี้จากฉากลมพายุฝนฟ้ากระหน่ำพระเจ้าเลียร์ แต่ฉากที่พูดถึงคราสตอนต้นเรื่องนั้นไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะเหมือนจะเป็นลางบอกเหตุว่าด้วยเหตุการณ์ในเรื่องจะเกิดอะไรขึ้น แต่ความคิดเกี่ยวกับลางบอกเหตุก็ถูกตั้งคำถาม
พระเจ้าเลียร์เป็นเรื่องราวของพระเจ้าเลียร์ กษัตริย์แห่งแผ่นดินอังกฤษโบราณ มีธิดาสามคนนาม กอนอริล (Gonoril), รีแกน (Regan) และคอร์ดีเลีย (Cordelia) วันหนึ่งเลียร์ตัดสินพระทัยจะแบ่งแผ่นดินให้ธิดาทั้งสาม แต่จะขอเป็นกษัตริย์อยู่อย่างเดิม ก่อนจะแบ่งให้นั้น เลียร์ขอให้ธิดาทั้งสามบอกตนว่ารักตนมากเพียงใด ในขณะที่พี่สาวทั้งสองบอกรักพ่อด้วยคำหวาน คอร์ดีเลียพูดคำหวานไม่เป็นและตัดสินใจพูดความจริงว่าตนจะต้องสยุมพรแล้ว หัวใจครึ่งหนึ่งก็ต้องแบ่งให้สามี พี่สาวทั้งสองจะแต่งงานทำไม ถ้าจะแต่งเพื่อรักพ่อ เลียร์รับไม่ได้ ไล่ลูกสาวออกจากวังและไม่ให้สินสอดอะไรติดตัว (สมัยก่อนผู้หญิงให้สินสอดผู้ชาย) พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสเห็นใจและหลงรักคอร์ดีเลีย (ทั้งที่จริงมาทำหน้าที่เป็นเถ้าแก่ให้ดยุคแห่งเบอร์กันดี) จึงพาคอร์ดีเลียไปเป็นราชินีอยู่ฝรั่งเศส เอิร์ลแห่งเคนท์ ขุนนางคนสนิทของพระเจ้าเลียร์ได้พยายามเตือนให้สงบสติอารมณ์ แต่เลียร์ไม่ฟัง ไล่เอิร์ลแห่งเคนท์ออกไปอีกคน โดยหารู้ไม่ว่าปัญหากำลังจะก่อตัวขึ้น ในขณะเดียวกัน ดยุคแห่งกลอสเตอร์กำลังจะถูกลูกนอกสมรส (ลูกติดเมียก่อนจะแต่งงาน) ที่ชื่อเอ็ดมันด์ (Edmund) หาทางแก้แค้นพ่อและน้องชาย เพราะพ่อไม่เคยรักตัวเอง แต่รักเอ็ดการ์ (Edgar) ลูกชายเชื้อสายตนเองมากกว่า เอ็ดมันด์จึงทำเรื่องโกหกหลอกพ่อว่าพี่ชายมีท่าทีกระด้างกระเดื่อง เหมือนจะยึดอำนาจพ่อ พ่อเลยรำพึงขึ้นมาว่า สุริยคราสจันทรคราสที่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นอาเพศ แม้แต่เคนท์ยังถูกเนรเทศ รำพึงแล้วพ่อก็ออกจากฉากไป เอ็ดมันด์เห็นแล้วก็ยิ้มเยาะพ่อ ก่อนจะกล่าวว่า
โลกนี้ ช่างมีเรื่องโง่งมยิ่งยวดนักหากจะกล่าวว่า เมื่อเราอับโชค เพราะมาจากพฤติกรรมเกินงามของตนเอง เรากลับกล่าวโทษการเล็งลัคน์ของพระอาทิตย์ พระจันทร์ และดวงดาว ราวกับว่าเราเป็นคนสามานย์เพราะจำต้องเป็น เราเป็นคนโง่เพราะสวรรค์ลิขิต เป็นพวกกักขฬะ กเฬวราก ทำการทุรยศเพราะดาวย้ายเรือน เป็นพวกขี้เมา โป้ปดมดเท็จ หรือมากชู้หลายเมีย ก็เพราะดาวเคราะห์กระทำให้จำยอม หรือสรุปได้ว่าเราชั่วช้าเพราะฟากฟ้ากำหนดและยัดเยียดให้ ไอ้คนมักมากคงกล่าวเลี่ยงได้งามนัก คงจะบอกว่าที่หื่นกระหายเพราะอิทธิพลของดาว พ่อข้าสมสองครองคู่กับแม่ ณ ยามที่ดาวเกตุกุมลัคน์ ข้าเกิดใต้ฤกษ์ดาวจระเข้ ข้าจึงเป็นคนหยาบช้าและมักมาก เออ ข้าว่า ข้าเองน่าจะได้เป็นสิ่งที่ข้าเป็น ถ้าดาวอันเป็นพรหมจรรย์ยิ่งในฟากฟ้ากะพริบยามที่ข้าถือกำเนิดอย่างลูกนอกสมรส…
(แปลจากพระเจ้าเลียร์โดยวิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) ฉบับ Stanley Wells ฉากที่สอง บรรทัดที่ 110 – 124)
เชกสเปียร์มักจะแสดงให้เห็นว่าการปฏิเสธโหราศาสตร์อันงมงาย แต่สุดท้ายก็ชี้ให้เห็นว่า ธรรมชาติของมนุษย์และธรรมชาติของสรรพสิ่ง (โลกธรรมชาติ) นั้นไม่อาจคาดเดา หรือสรุปตายตัวได้ หลายคนอาจจะเคยดูภาพยนตร์เรื่อง The Fault in Our Stars หรือเคยอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ดิฉันเข้าใจว่าที่มาของชื่อหนังสือมาจากเรื่องจูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) ในตอนที่จูเลียส ซีซาร์บอกบรูทัส (Brutus) ว่า “The fault, dear Brutus, is not in our star.” เชกสเปียร์เลือกจะปฏิเสธการพยากรณ์ด้วยดวงดาว เพราะไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลกับการกระทำของคน สุริยคราสจันทรคราสไม่ได้เป็นอาเพศ ไม่ได้เป็นสัญญาณเตือนของหายนะที่จะเกิดขึ้นภายหลัง ฉากนี้อาจสอดคล้องกับเหตุการณ์ตอนหลังที่เลียร์ขอให้ฝนไปตกใส่ลูกสาวที่กลั่นแกล้งยึดอำนาจตนเอง ในขณะที่พายุฝนโหมกระหน่ำใส่ตัวเอง เหตุการณ์หายนะที่เกิดขึ้นกับเลียร์หรือดยุคแห่งกลอสเตอร์นั้นมีสาเหตุจากอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นความลำเอียงหรือความหลงตัวเองของตัวละครทั้งสองตัว หรือแม้แต่ระบบการเมืองที่สอดแทรกอยู่ในความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว
ยิ่งไปกว่านั้น หากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่คนกลุ่มหนึ่งมองว่าเป็นอาเพศกลายเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับพฤติกรรมมนุษย์ในสายตาอีกกลุ่ม ทัศนะเกี่ยวกับความเป็นปกติของธรรมชาติ หรือแม้แต่มนุษย์ก็อาจถูกตั้งคำถามด้วยเช่นกัน
การมองว่าสุริยคราสหรือจันทรคราสนั้นวิปริตก็เป็นเพราะเรากำหนดรูปแบบธรรมชาติไว้เพียงแบบเดียว และมองว่าธรรมชาตินั้นมีระบบระเบียบ สวยงาม เพลินตาเพลินใจ ทั้งๆ ที่ธรรมชาติก็ไม่ได้มีระบบที่อาจเข้าใจได้ชัดเจน
เช่นเดียวกันกับมนุษย์ที่บิดเบี้ยวและโหดร้ายได้ด้วยวัฒนธรรมการปกครองที่ตัวเองสร้างขึ้นเพื่อสถาปนาความเหนือกว่าธรรมชาติ (ฉากที่เลียร์สั่งฟ้าสั่งฝนอาจมองได้ว่าเป็นฉากที่น่าสมเพช สะท้อนความไร้อำนาจเหนือธรรมชาติของมนุษย์)
ความเชื่อทางโหราศาสตร์ที่ถือกันว่าดาวจะนำเคราะห์เพราะดาวอยู่ในฤกษ์อันวิปริตนั้นผิด เพราะดาวก็อยู่ส่วนดาว คนก็อยู่ส่วนคน มัวแต่หลงเชื่อดาว ก็จะมองข้ามความรุนแรงที่ตนทำ บทละครทำให้เราแทบจะสิ้นหวังว่ามนุษย์จะไม่อาจรักกันได้จริงหรือ ตอนจบจะเป็นอย่างไรก็ขอให้หาชมหาอ่านกันเอาเองนะคะ ดูหนังก็ได้ค่ะ
ทีนี้ขอพาเปลี่ยนศตวรรษ เปลี่ยนแนวคิดกันบ้าง หากพระเจ้าเลียร์ชี้ให้เห็นว่าความไม่ปกติคือความปกติ คราสอันเป็นอาเพศไม่ได้เกี่ยวกับความชั่วร้ายเกินคาดของมนุษย์ แต่วรรณกรรมชุดต่อไปจะชี้ให้เห็นว่า คราสจะต้องถูกสร้างให้ไม่ปกติ ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าปกติ เพื่อบรรลุจุดประสงค์ทางอำนาจบางอย่าง วรรณกรรมชุดนี้คือวรรณกรรมผจญภัยในยุคล่าอาณานิคมค่ะ
โครงเรื่องเกี่ยวกับคราสที่พบในวรรณกรรมชุดนี้เป็นโครงเรื่องที่ทุกคนน่าจะพอทราบดีอยู่ หรืออย่างน้อยน่าจะเคยได้ยินบ้าง โครงเรื่องมีอยู่ว่า ตัวละครเอกจากชาติเจ้าอาณานิคมออกผจญภัยในดินแดนใต้อาณานิคม และได้ท้าทายตัวละครในดินแดนใต้อาณานิคมด้วย ‘เวทมนตร์’ การหยั่งรู้คราสของตนเอง (ทั้งๆ ที่ใช้ปฏิทินทางดาราศาสตร์ช่วย) ทำให้ตัวละครเจ้าอาณานิคมดูทรงพลังและน่าเกรงขาม ในขณะที่คนในดินแดนใต้อาณานิคมต้องศิโรราบให้กับเวทมนตร์ของเจ้าอาณานิคม
ดิฉันได้พบข้อมูลว่า โครงเรื่องแบบนี้มีอยู่หลายเรื่องมาก แต่เรื่องที่น่าจะเป็นต้นกำเนิดของโครงเรื่องนี้คือนวนิยายเรื่อง Pharaoh ของนักเขียนชาวโปแลนด์ บอเลสวอฟ พรุส (Bolesław Prus) ที่เล่าเรื่องให้ศัตรูหมายเลขหนึ่งของพระเจ้ารามเสส รอเวลาให้เกิดสุริยคราสแล้วอ้างว่าตนเองมีอำนาจเหนือดวงอาทิตย์ โครงเรื่องนี้ไปอยู่ในนวนิยายของ มาร์ก ทเวน (Mark Twain) ที่ชื่อ A Connecticut Yankee in King Arthur’s Court ตัวละครไอ้กันเกือบถูกประหารชีวิต แต่ดันจำได้ว่า ณ สงครามประวัติศาสตร์สมัยพระเจ้าอาร์เธอร์จะมีสุริยคราส เลยอ้างตัวเป็นผู้วิเศษ และรอดพ้นจากอันตรายไปได้
โครงเรื่องทำนองนี้ปรากฏในนวนิยายผจญภัยแนวอาณานิคมเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นใน The Secret Mountain ของ อีนิด ไบลตัน (Enid Blyton) หรือ การ์ตูนชุดแตงแตง (Tintin) ผจญภัยตอน Le Temple du Soleil (หรือวิหารสุริยะ แต่ฉบับภาษาอังกฤษแปลว่า Prisoners of The Sun หรือนักโทษสุริยะ) ของ แอร์เช (Hergé) ทั้งสองเรื่องมีตัวละครเด็กผจญภัยเหมือนกัน จะถูกประหารโดยชนเผ่าที่บูชาพระอาทิตย์เหมือนกัน (กรณีของแตงแตงคืออินคา) แต่ตัวละครเด็กเหล่านั้นหาทางหลอกว่าจะดับพระอาทิตย์ให้ดู เพราะรู้ว่าจะมีสุริยคราสจากปฏิทินดาราศาสตร์ของตัวเอง พอเกิดสุริยคราส ชนเผ่าเหล่านั้นก็เกิดหวาดกลัวและเห็นเด็กๆ เป็นผู้วิเศษขึ้นมา จึงปล่อยให้เป็นอิสระ
นวนิยายที่จะยกตัวอย่างนี่แบบเดียวกันเปี๊ยบ แต่เป็นจันทรคราสแทน เรื่องที่ดิฉันจะพูดถึงก็คือ King Solomon’s Mines ของ เอช ไรเดอร์ แฮ็กการ์ด นวนิยายเรื่องนี้ฉบับแปลไทยชื่อว่า สมบัติพระศุลี และถูกดัดแปลงให้ยาวกว่าและละเอียดกว่า กลายเป็น เพชรพระอุมา (ภาคแรก) โครงเรื่องสั้นๆ ประมาณว่า คณะนักเดินทางชาวอังกฤษอันประกอบด้วย เซอร์เฮนรี เคอร์ติส (Sir Henry Curtis) กัปตัน จอห์น กู้ด (Captain John Good) และ อลัน ควอเทอร์เมน (Alan Quatermain) เดินทางมาตามหาน้องชายของเคอร์ติสที่มาผจญภัยและตามรอยมาจนถึงเมืองของชาวแอฟริกันเผ่าคุควานา (Kukuana) ในป่าใหญ่หลังถันพระนางชีบา (Sheba’s breasts) ชาวอังกฤษทั้งสามได้รู้ความจริงว่า แท้จริงแล้ว อุมโบพา (Umbopa) คนรับใช้คนสนิทนั้นเป็นเจ้าชายนามว่าอิกโนซี (Ignosi) ที่ปลอมตัวมาเพื่อหาคนช่วยเขาขับไล่กษัตริย์ผู้ชั่วร้าย ที่ยึดบัลลังก์ของเขาไป เหตุการณ์ที่เกี่ยวกับคราสในเรื่องคือกัปตันจอห์น กูด และเซอร์เฮนรี เคอร์ติส คิดว่าควรจะหาโอกาสประกาศศึกกับกษัติย์ผู้ชั่วร้ายซะ พวกนักเดินทางได้หลอกชาวคุควานาว่าตัวเองเป็นคนขาวที่มาจากดวงดาว อิกโนซีเลยขอให้บรรดานักเดินทางทั้งหลาย หาโอกาสส่งสัญญาณอะไรบางอย่าง เพื่อให้คนแปรพักตร์มาอยู่ฝั่งเดียวกับตน เพราะชนเผ่านี้บูชาพระอาทิตย์และไม่ได้ไยดีดวงดาว กัปตันจอห์น กูดจึงเปิดสมุดบันทึกและดูปฏิทินดาราศาสตร์ในปกหน้า พบว่า จะมีจันทรคราสมองเห็นได้จากแอฟริกาใต้ จึงเสนอให้หลอกพวกคุควานาว่าดับพระจันทร์ได้ พอพวกคุควานาเห็นก็ตกใจ เชื่อว่าพวกอังกฤษมีเวทมนตร์จริงๆ
โครงเรื่องตอนนี้ของ King Solomon’s Mines ชี้ให้เห็นว่า ตะวันตกใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสริมอำนาจให้แก่ตนเองเพื่อสร้างความชอบธรรมในการต่อสู้กับชนพื้นเมือง
ดาราศาสตร์ การบันทึกวันเวลา และปฏิทินแบบสุริยคติตามแบบตะวันตกกลายเป็นเครื่องมือแสดงความเหนือกว่า และช่วยตอกย้ำว่าชนพื้นถิ่นนั้นเบาปัญญาและหลงเชื่อคนอื่นได้ง่าย การนำเสนอคู่ตรงข้ามระหว่างวิทยาศาสตร์และไสยศาสตร์ดำเนินควบคู่ไปกับชาวอังกฤษและชาวแอฟริกัน หากอ่านหนังสือในบทแรกๆ จะเห็นกัปตันจอห์นปรากฏตัวในเรื่องด้วยการอธิบายกลไกของเรือ การอธิบายกลไกของเรือและความเชื่อมั่นในการคำนวณทางดาราศาสตร์เป็นเครื่องเน้นย้ำความรู้ความสามารถและหลักเหตุผลตามแบบวิทยาศาสตร์ที่กัปตันจอห์นมี ตอนที่เปิดสมุดบันทึกนั้น เขาได้ถามทุกคนว่าวันรุ่งขึ้นเป็นวันที่ 4 มิถุนายนหรือไม่ อลัน ควอเทอร์เมนตอบได้ว่าใช่ เพราะทุกคนบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวันและระบุวันที่ชัดเจน การระบุวันที่นั้นอาจมองได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมเวลาในพื้นที่ที่แตกต่างและแปลกแยก สร้างระบบให้กับพื้นที่ที่ไม่รู้จัก การเขียนบันทึกประจำวันอาจมองได้ว่าเป็นการพยายามจัดการพื้นที่แปลกประหลาดให้อยู่ในภาษาของตัวเอง การระบุเวลาโดยละเอียดอาจเป็นการสะท้อนความกลัวการอยู่ในพื้นที่ที่ไม่อาจใช้ระบบระเบียบใดๆ จัดการได้
นอกจากนี้ ปฏิทินดาราศาสตร์ที่แนบอยู่ในสมุดบันทึกของกัปตันจอห์น ยังชี้ให้เห็นว่า การสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับดาราศาสตร์ อาจเป็นส่วนหนึ่งของการพยายามสร้างแผนที่โลกและอ่านตำแหน่งแห่งที่ต่างๆ ปฏิทินของกัปตันจอห์นเขียนว่า “4 มิถุนา จันทรคราสเต็มดวงเริ่มยี่สิบนาฬิกาสิบห้านาที ตามเวลากรีนิช มองเห็นได้ที่เตเนริฟ อัฟริกาใต้ ฯลฯ” การระบุรายละเอียดพร้อมกำกับเวลาที่ชัดเจนแสดงให้เห็นถึงวิทยาการที่รุดหน้า แสดงอำนาจของมนุษย์เหนือธรรมชาติ คนตะวันตกเหนือคนแอฟริกัน ความเชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจน เมื่อเซอร์เฮนรีถามกัปตันจอห์นเผื่อๆ ว่า ถ้าปฏิทินมันไม่แม่นขึ้นมาจะทำยังไง กัปตันจอห์นกลับตอบว่า “ผมไม่เห็นเหตุผลอะไรที่เราจะต้องคาดการณ์แบบนั้นเลย” เขาตอบ “คราสเกิดตามเวลาเสมอ อย่างน้อยก็ตามประสบการณ์ของผม แล้วปฏิทินก็บอกไว้เป็นพิเศษว่าจันทรคราสครั้งนี้จะเห็นได้ในแอฟริกาใต้” ความมั่นใจนี้ตอกย้ำว่าธรรมชาตินั้นเป็นระบบระเบียบ และชาวตะวันตกสามารถเข้าใจธรรมชาติได้อยู่ฝ่ายเดียว ความคิดข้อนี้กลายเป็นการเพิกเฉยและดูถูกองค์ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของคนพื้นถิ่นว่าไม่ครบถ้วน ทั้งที่จริงๆ แล้ว ชนชาติต่างๆ มากมายรู้จักคราส ถึงแม้จะมีคำอธิบายที่แตกต่างกันไป และแตกต่างจากวิทยาศาสตร์แบบตะวันตก (กรณีนี้ทำให้แอร์เชต้องออกมาขอโทษ เพราะวิหารสุริยาที่แอร์เชเขียนนั้นเล่าเรื่องเผ่าอินคา ซึ่งมีความรู้เรื่องคราสเป็นอย่างดี) ความงมงายหรือความเบาปัญญาของชนพื้นเมืองต้องถูกสร้างขึ้นในนวนิยายเรื่องนี้เพื่อสนับสนุนวิทยาการจากตะวันตก ซึ่งเป็นเครื่องตอกย้ำและเสริมอำนาจของจักรวรรดิ
คราส สำหรับเจ้าอาณานิคมผู้มีวิทยาการ จึงเป็นความเป็นปกติของธรรมชาติ ที่มหัศจรรย์มากพอที่จะใช้หลอกชนพื้นเมืองให้เชื่อและศิโรราบ ที่บอกว่าปกติเพราะในสายตาตะวันตก คราสนั้นคำนวณเวลาเกิดได้ เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่น่าแปลกใจเพราะอธิบายได้แบบวิทยาศาสตร์ ในวรรณกรรมที่สนับสนุนการล่าอาณานิคม การนำเสนอว่าคราสเป็นเรื่องปกติที่อธิบายได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ มักสอดคล้องกับการนำเสนอชนพื้นเมืองให้ดูงมงายและเบาปัญญา (เรื่องตลกก็คือ ข้อมูลจากการสัมภาษณ์อาจารย์ลิซา ยาสเส็ก (Lisa Yazsek) จากมหาวิทยาลัยจอร์เจียเทค (Georgia Tech University) ได้ชี้ให้เห็นว่า จริงๆ แล้ว ฉบับที่พิมพ์ครั้งแรกพูดถึงสุริยคราส ไม่ใช่จันทรคราส แต่โดนท้วงติงจากผู้อ่านและนักวิชาการว่า สุริยคราสไม่น่าจะเกิดได้นานเท่าในเรื่อง จึงแก้และกลายเป็นฉบับปัจจุบัน (ผู้เขียนพยายามจะอ้างวิทยาการ แต่ความรู้วิทยาศาสตร์กลับไม่แน่น)
ทั้งพระเจ้าเลียร์และสมบัติพระศุลีแสดงให้เห็นว่าการมองคราสในฐานะความผิดประหลาดหรือลางร้าย อันนำมาซึ่งความผิดประหลาดนั้นเป็นความงมงายอย่างหนึ่ง
อย่างไรเสีย ในการมองว่างมงายนั้น ก็กลับมีปัญหาซ่อนอยู่ สำหรับสมบัติพระศุลีหรือ King Solomon’s Mines นั้น เราเห็นชัดว่าความงมงายคือการเหยียดและตอกย้ำอำนาจของจักรวรรดิตะวันตก แต่ในพระเจ้าเลียร์ ความงมงายเหมือนจะกลายเป็นเรื่องจริง แต่กระนั้น ตัวเรื่องก็ยังเน้นย้ำว่า ธรรมชาติไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจการใดๆ ของมนุษย์ ไม่ได้มีหลักการ ไม่ได้มีความยุติธรรมอะไรที่จะเข้าใจได้ ฝนจะตก ฟ้าจะร้อง คราสจะกินดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ ก็ไม่ได้ไยดีกับมนุษย์ด้วยซ้ำ ความงมงายจึงเป็นเหมือนความพยายามจะถามหาหลักการเกี่ยวกับมนุษย์ที่ไม่มีทางหาเจอ คนทรยศ คนที่ควรรักกลับไม่รัก มันไม่เกี่ยวกับคราสอยู่แล้ว แต่ว่าเราโบ้ยคราสเพื่อจะเลี่ยงไม่อยากตั้งคำถามกับสภาวะที่เป็นอยู่บางอย่าง เช่น โครงสร้างอำนาจ หรือผลประโยชน์
ดิฉันสนับสนุนที่หลายๆ คนจะชวนให้คนอื่นเลิกงมงาย ความงมงายหลายๆ ครั้งก็นำไปสู่อันตรายต่อตนเองและผู้อื่น เช่น การดื่มน้ำที่เชื่อมกับส้วม หรือการทำลายบ้านคนอื่นเพื่อหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ดิฉันไม่อยากให้แปะป้ายใครว่างมงายไปล่วงหน้า หรือด่าว่าคนอื่นว่างมงายโดยที่ไม่ได้เข้าใจบริบท ดิฉันไม่ได้อยากให้ใครหลงอยู่กับอะไรอยู่แล้ว การหลงไม่ว่าจะหลงใครสักคนหรือตัวเองจนมากเกินมันมีผลเสีย แต่ดิฉันก็อยากชี้ให้เห็นว่า ถ้าคุณไม่ชอบความงมงายจริง และอยากจะแก้ปัญหาความงมงาย คุณคงจะไม่แก้ด้วยการไปด่าๆๆๆ บอกเขาว่า งมงายๆๆๆ เลิกซะเดี๋ยวนี้ หรือไปล้อเลียนเขาว่าโง่เซ่อ ดิฉันว่ามันไม่ได้แก้ปัญหาอะไร แต่เราอาจจะต้องถามตัวเองว่าทำไมเขาถึงงมงาย ทำไมเขาถึงขูดต้นไม้ ทำไมเขาถึงตามหาบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เราอาจจะพอเดาได้ว่าเขาทำแบบนั้นเพราะเขาไม่ได้เข้าถึงเงิน หรือสุขภาพที่ดีได้โดยง่าย การที่เขานับถือบูชาอะไรต่างๆ นั้น อาจเป็นเพราะเขาต้องการที่พึ่ง เขาไม่ได้มีเงินมากพอที่จะเข้าถึงสินค้าอุปโภคบริโภคหรือแม้แต่บริการทางการแพทย์ได้อย่างเรา ถ้าไม่ใช่เรื่องโครงสร้างสังคม เขาก็อาจจะนับถือศรัทธาอะไรบางอย่างเพื่อให้เขามีจิตใจสงบร่มเย็นได้ ใครจะเชื่ออะไร ไม่เชื่ออะไร ก็คงไปห้ามกันไม่ได้ แต่ละคนคงขีดเส้นว่าอะไรงมงายไม่งมงายต่างกัน แต่ไม่ว่าจะขีดเส้นไว้สักแค่ไหน เราก็ควรจะยอมรับทางเลือกของคนอื่น ตราบเท่าที่มันจะไม่ทำลายสวัสดิภาพและความสงบสุขในสังคม
สำหรับดิฉัน ธรรมชาติไม่เคยปกติ สังคมมนุษย์เราไม่เคยปกติ เราไม่อาจคาดเดาอะไรได้ถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ และไม่อาจกำหนดได้ชัดเจนว่าความเป็นปกติคืออะไรกันแน่ และจะอยู่ได้นานแค่ไหน จะไหว้พระขอพร หรือเกรงกลัวอะไรกันบ้าง ดิฉันว่ามันก็คงไม่แปลก ดิฉันว่าเราหลายๆ คนก็คงต้องการที่พึ่งและปลงไม่ตก จะไหว้พระ จะแก้บนอะไรก็ทำไป ตราบใดที่ไม่ทำร้ายกัน ชีวิตจริงของเราไม่ได้มีแต่อะไรที่อ่านได้ ชัดแจ้ง มองแล้วผ่านตลอดเสมอไป เพราะสักที่ใดที่หนึ่ง ในโลกใบนี้ ในใจของเรา ในชีวิตของเรา
มันก็มีเงาดำทาบทับอยู่เสมอนั่นแหละ