หลังจากโดนมิสไซล์จากคิมน้อยยิงข้ามหัวให้หวาดหวั่นไปสองเพลา ชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นก็ได้ตัดสินใจยุบสภาและจัดเลือกตั้งด่วนในเวลา 1 เดือน เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจอนาคตของชาติในช่วงเวลาสุ่มเสี่ยงเช่นนี้
ฟังดูเหมือนจะดี แต่ส่วนหนึ่งผมก็มองว่าเป็นการเลือกจัดเลือกตั้งด่วนในช่วงเวลาที่อาเบะและพรรค Liberal Democratic Party (LDP) ของตัวเองได้เปรียบ เพราะคะแนนนิยมกลับมาดีอีกครั้ง และเมื่อจัดเลือกตั้งด่วน ก็ทำให้คู่แข่งที่น่ากลัวเป็นอย่างมากตั้งตัวไม่ทัน ซึ่งคู่แข่งที่ว่าก็หาใช่พรรค Democratic Party แกนนำพรรคฝ่ายค้านในตอนนี้ แต่เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ครองตำแหน่งผู้ว่าการกรุงโตเกียวที่ชื่อว่า ยูริโกะ โคอิเคะ
เส้นทางการเมืองของสุภาพสตรีที่มีอิทธพลในวงการการเมืองสูงสุดในตอนนี้ เธอคนนี้มีที่มาที่ไปน่าสนใจมาก และด้วยความที่เธอเป็นที่จับตามองในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ ทำให้ต้องเอาเรื่องราวของเธอมาเล่าสู่กันฟังนี่ล่ะครับ
ยูริโกะ โคอิเคะ (Koike Yuriko หรือขอเรียกว่าโคอิเคะ) พื้นฐานมาจากครอบครัวที่ร่ำรวยในจังหวัดเฮียวโกะ พ่อของเธอที่เป็นพ่อค้าระหว่างประเทศนั้น เป็นผู้สนับสนุนแนวทางการเมืองของนายชินทาโระ อิชิฮาระ (เป็นผู้ว่าการโตเกียวในภายหลัง) แต่เขาก็ไม่ชนะการเลือกตั้งระดับประเทศ แต่ถึงกระนั้นก็ยังพร่ำสอนลูกสาวถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ของประเทศญี่ปุ่นต่อกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ซึ่งก็ทำให้เธอเชื่อมั่นขนาดที่เลิกเรียนที่มหาวิทยาลัย Kwansei Gakuin เพื่อไปศึกษาต่อที่ประเทศอียิปต์ เรียนรู้ภาษาอารบิคและจบปริญญาจาก University of Cairo ก่อนจะกลับมาทำงานล่ามภาษาอารบิคและต่อด้วยการทำงานเป็นผู้ประกาศข่าว ฝึกฝนให้เธอได้ชินกับการยืนในตำแหน่งหน้ากล้องและการใช้งานสื่อ
หลังจากประสบความสำเร็จจากการทำงานสื่อ เธอก็หันมาวงการการเมืองและลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาผ่านพรรค Japan New Party และก็ได้รับการเลือกตั้ง ซึ่งเธอก็ประสบความสำเร็จในแวดวงการเมือง ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผ่านพรรคการเมืองต่างๆ จนมาถึงโอกาสครั้งใหญ่ของเธอ เมื่อเธอเข้าร่วมพรรค LDP ในสมัยของจุนอิจิโร่ โคอิซุมิ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แล้วเธอก็ได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม และต่อมาก็เป็นรัฐมนตรีดูแลกิจการในโอกินาว่าและเขตแดนทางตอนเหนือควบไปด้วย
เธอถูกเรียกว่าเป็น ‘นักฆ่า’ ที่ถูกเลือกมาโดยโคอิซุมิเพื่อจัดการคู่แข่ง
ในช่วงการเลือกตั้งครั้งสำคัญในปี 2005 ซึ่งโคอิซุมิจัดเลือกตั้งโดยประเด็นหลักคือ เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจว่าเห็นด้วยกับการแปรรูปกิจการไปรษณีย์ญี่ปุ่นหรือไม่ ซึ่งโคอิเคะก็เป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มนักการเมืองรุ่นใหม่ในพรรค LDP ที่ถูกเรียกว่า Koizumi Children เป็นกลุ่มที่ขึ้นมาท้าทายอำนาจของผู้บริหารพรรครุ่นใหญ่ (ต่อมาจะเรียกตัวเองว่ากลุ่ม 83 ตามจำนวน สส. ในกลุ่ม) ซึ่งการเลือกตั้งปี 2005 ก็แทบจะเป็นการแข่งขันกันในพรรค LDP เองอย่างเดียวเสียด้วยซ้ำ
ด้วยแรงหนุนจากแฟนๆ ของโคอิซุมิ ทำให้เธอเอาชนะคู่แข่งจากพรรคเดียวกันที่ต่อต้านแนวทางปฏิรูปของโคอิซุมิได้ ทำให้เธอได้เป็น สส. ท้องถิ่นโตเกียวแทน เธอถูกเรียกว่าเป็น ‘นักฆ่า’ ที่ถูกเลือกมาโดยโคอิซุมิเพื่อจัดการคู่แข่ง และยังไปไกลถึงได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์และเป็นผู้หญิงคนแรกด้วย แต่ก็อยู่ในตำแหน่งได้ไม่นานนัก เพราะความขัดแย้งกันภายในพรรค
หลังหมดสมัยของโคอิซุมิ เมื่อขาดผู้นำ กลุ่ม Koizumi Children ก็ระส่ำระสาย แม้เธอจะพยายามเสนอตัวเองเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ในการเลือกหัวหน้าพรรคภายในปี 2008 ซึ่งจะทำให้เธอเป็นหัวหน้าพรรคหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ แต่สุดท้ายเธอก็พ่ายแพ้ให้กับ ทาโร่ อาโซะ อย่างราบคาบ และในการเลือกตั้งปี 2009 ที่ DPJ พรรคฝ่ายค้านพลิกมาชนะได้ กลุ่ม 83 ก็ได้รับเลือกตั้งแค่ 10 รายเท่านั้น ซึ่งโคอิเคะก็แพ้เลือกตั้งในเขตตัวเอง แต่ก็ยังได้เป็นสส. ผ่านระบบ Block ของพรรค (คล้ายกับปาร์ตี้ลิสต์) แต่ก็ใช่ว่าเส้นทางการเมืองของเธอจะจบแค่นั้น
ครั้งแรกที่ชื่อของเธอเกี่ยวพันกับการเลือกตั้งผู้ว่าการกรุงโตเกียวคือปี 2013 ที่มีการเสนอชื่อเธอขึ้นมา แต่สุดท้ายแล้วเธอก็ไม่ได้ลงสมัคร และกลายเป็น โยอิจิ มะซุโซเอะ อดีตนักวิเคราะห์การเมืองชื่อดังที่ได้รับเลือกเป็นผู้ว่า ก่อนที่จะต้องลงจากตำแหน่งจากปัญหาการใช้งบหลวงไปกับเรื่องส่วนตัวอย่างฟุ้งเฟ้อ ส่งให้อันดับความนิยมตกลงแบบกราวรูด และเป็นการเลือตั้งผู้ว่าการกรุงโตเกียวปี 2016 นี่เองที่เธอสนใจจะลงสมัครอย่างจริงจัง
แต่ปัญหาก็คือ เธอไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคต้นสังกัดของตนเอง ซึ่งหันไปสนับสนุนนายฮิโรยะ มะซุดะ ทำให้เธอตัดสินใจออกมาเป็นผู้สมัครอิสระแทน แต่ LDP ก็ยังพยายามเตะตัดขาเธอด้วยการประกาศว่าจะลงโทษสส. ในพรรคที่หันไปให้ความสนับสนุนเธอ จะว่าเธอเป็น ‘นกรู้’ ก็ว่าได้ เพราะกระแสความนิยมของพรรค LDP ตกต่ำจากปัญหาของนายมะซุโซเอะนั่นเอง ทำให้คนที่หันกลับมาสู้กับพรรคของตัวเองอย่างโคอิเคะกลายเป็นผู้ที่ได้รับคะแนนความนิยมอย่างสูง ชนะการเลือกตั้งแบบทิ้งห่าง กลายเป็นผู้ว่าการกรุงโตเกียวหญิงคนแรก
ดูเหมือนว่า กระแสของโคอิเคะจะมาแรงเหลือเกิน เธอกลายเป็นที่จับตามองของสื่อและสาธารณชน ซึ่งเธอก็บริหารการสื่อสารได้ดีสมกับที่เคยทำงานสื่อมาก่อน และถึงเธอจะเป็นนักการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยม แนวทางขวาจัด ทั้งสนับสนุนการเข้าเคารพศาลเจ้ายาสุคุนิ การประกาศจะทวงคืนดินแดนที่มีข้อพิพาทกับทางรัซเซีย แต่ในขณะเดียวกัน เธอเองก็สนับสนุนแนวทางการปฏิรูปในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือการบริหารงานของรัฐ และเธอยังพยายามสนับสนุนบทบาทของสตรีอีกด้วย เช่น เคยสนับสนุนการยกเลิกการบังคับให้สตรีเปลี่ยนนามสกุลเมื่อแต่งงานหรือการสนับสนุนให้มีจักรพรรดินีได้ เธอยังได้ใจคนรุ่นใหม่ด้วยการเล่นกับวัฒนธรรมคนรุ่นใหมที่เป็นที่นิยมทั้งอนิเมะ มังงะ และเกม ที่เธอมองว่าเป็นเสน่ห์ของประเทศญี่ปุ่นและต้องการทำให้โตเกียวกลายเป็นแดนของอนิเมะ
ภาพลักษณ์ในแง่บวกเหล่านี้ทำให้เธอเป็นที่นิยม และในการเลือกตั้งสภากรุงโตเกียวกลางปีนี้ เธอก็ลาออกจากพรรค LDP และเป็นหัวหน้าพรรค Tomin First หรือแปลง่ายๆ ว่า “ชาวกรุงมาก่อน” นั่นเอง (หมายถึงให้ความสำคัญกับชาวเมืองนะครับ ไม่ใช่ว่าจะไปเหยียดเมืองอื่น เพราะนี่คือพรรคสำหรับเลือกตั้งท้องถิ่น) เธอก็ได้จับมือกับพรรค Komeito พรรคที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มโซคะกัคไค หนึ่งในกลุ่มศาสนาพุทธนิกายนิจิเร็น ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลของ LDP ในการเมืองระดับประเทศ แต่ในระดับกรุงโตเกียว พรรค Tomin First ได้ 55 เสียง รวมกับ 24 เสียงของ Komeito กลายเป็นเสียงข้างมากในสภากรุงโตเกียว 79 เสียงจาก 127 เสียง ส่งให้เธอยิ่งเป็นที่จับตามองมากขึ้นไปอีก
สิ่งที่เธอเตรียมไว้ก็คือ พรรคการเมืองพรรคใหม่ที่ชื่อว่า “Kibou no Tou” หรือ พรรคแห่งความหวัง
ด้วยความนิยมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เธอกลายเป็นที่พรั่นพรึงของเหล่าคู่แข่งในวงการการเมือง และแน่นอนว่า ถ้าหากมีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เธอก็คงกลับมาลงในสนามใหญ่แน่นอน และคงไม่ได้หยุดแค่ตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะจุดขายของเธอคือการปฏิรูปและการต่อกรกับโครงสร้างเดิมๆ ของวงการการเมืองญี่ปุ่น การตัดสินใจยุบสภาเพื่อเลือกตั้งด่วนของอาเบะ ก็ถูกมองว่าเป้าหมายหนึ่งคือการไม่ให้เวลาโคอิเคะเตรียมตัวจัดทีมเลือกตั้งได้ทัน ซึ่งสิ่งที่เธอเตรียมไว้ก็คือ พรรคการเมืองพรรคใหม่ที่ชื่อว่า “Kibou no Tou” หรือ พรรคแห่งความหวัง ที่เปิดตัวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานี้ ไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่อาเบะจะประกาศยุบสภาเสียอีก แถมยังประกาศหลังจากที่เธอประกาศข่าวชื่อลูกแพนด้าตัวใหม่ในสวนสัตว์อุเอโนะซะด้วย จะบอกว่าแย่งซีนกันอย่างสวยงามก็ได้
การเปิดตัวพรรคการเมืองระดับชาติของเธอ สร้างทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจให้กับคนสองกลุ่มใหญ่คือ กลุ่มที่เบื่อการครองอำนาจอย่างยาวนานของ LDP ที่เรียกได้ว่า ใหญ่เกินไปและอยู่มายาวนานเกินไป จนกลายเป็นเหมือนบรรษัทใหญ่ที่ครองประเทศอยู่ และอีกกลุ่มคือ กลุ่มพรรคฝ่ายค้านที่ไม่สามารถต่อกรกับ LDP ได้ ช่วงที่ได้เป็นรัฐบาลก็ไม่ได้มีผลงานอะไรโดดเด่น และอาจจะรวมไปถึงคนรุ่นใหม่ที่กำลังเบื่อการเมืองที่เป็นเรื่องของคนแก่รุ่นเบบี้บูมเมอร์ต่อสู้กัน
แต่ก็แน่นอนว่าไม่ได้มีอะไรง่ายดายไปหมด ปัญหาที่เธอต้องเจอคือ เวลาในการเตรียมการจัดทีมเลือกตั้งที่น้อยเกินไป ถึงแม้จะมีนักการเมืองชื่อดังหลายต่อหลายรายเข้ามาร่วมพรรคกับเธอ แต่การจัดทีมที่ดีที่สุดก็ต้องใช้เวลาอยู่ไม่น้อย ซึ่งยากจะทำได้ในเวลาแค่ 2 สัปดาห์ อีกเรื่องคือการจับมือกับพรรคการเมืองอื่นว่าจะร่วมงานกันได้แค่ไหน เท่าที่ติดตามข่าว ตอนนี้พรรค DP ก็อาจจะตัดสินใจไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง แต่จะทำหน้าที่สนับสนุนพรรค Kibou no Tou แทน และปัญหาสุดท้ายคือ ความรู้สึกของชาวโตเกียว ที่อาจจะมองว่าเธอเห็นโตเกียวเป็นแค่ฐานส่งเธอไปสู่การเมืองระดับประเทศ (ไหนล่ะ ชาวกรุงมาก่อน) ซึ่ง ณ ตอนนี้ก็ยังไม่ชัดว่า ตกลงเธอจะเป็นหัวหน้าพรรคอย่างเดียวหรือจะลงไปสมัครรับเลือกตั้งเป็นสส. ด้วยหรือไม่ เพราะเธอก็เพิ่งรับตำแหน่งได้แค่ 1 ใน 3 ของวาระเท่านั้น การบริหารกระแสตรงนี้ก็อาจชี้เป็นชี้ตายได้เช่นเดียวกัน
คลิปเปิดตัวโปรโมตพรรค Kibou no Tou ของโคอิเคะ ฉายภาพเธอเดินผ่านชายสูงวัยในชุดสูท แต่ก่นด่าเธอว่า จะหันมาสู้เหรอ อย่าได้ดูถูกพลังขององค์กร และจะมาเปลี่ยนอะไรให้วุ่นทำไม ซึ่งเธอก็ไม่สนใจ และเดินหน้าต่อไป บอกลาการเมืองที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด และขึ้นวลีว่า “จะทนต่อไป หรือจะมาร่วมมือกันเปลี่ยน” ซึ่งในเวลาอีกไม่นาน เราก็จะได้รู้กันว่า “การเปลี่ยนแปลง” ของเธอนั้นคืออะไร และจะสำเร็จหรือไม่ ผมก็ได้แต่จับตามองแบบพลาดไม่ได้เท่านั้นเองครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
www.japantimes.co.jp/opinion/2017/07/12
www.japantimes.co.jp/opinion/2017/09/28
thediplomat.com/2017/09/yuriko-koikes-new-party-a-real-game-changer-for-japanese-politics/
www.abc.net.au/news/2017-09-27