ค่อนข้างสรุปได้ในระดับหนึ่งแล้วว่าพรรคเพื่อไทยจะได้ที่นั่งในสภาล่างสูงสุด ซึ่งตามมารยาทแล้ว พรรคที่ได้ ส.ส. อันดับหนึ่งจะได้สิทธิลองจัดตั้งรัฐบาลเป็นพรรคแรก แต่สถานการณ์ล่าสุดกลับดุเดือดขึ้นเมื่อพรรคพลังประชารัฐประกาศตัวว่าจะชิงเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดตั้งรัฐบาล โดยอ้างว่าแม้ตนจะได้ที่นั่งน้อยกว่า แต่คะแนน popular vote นั้นชนะ คือได้ไป 7.9 ล้านเสียง ในขณะที่พรรคเพื่อไทยได้ 7.5 ล้านเสียงโดยประมาณ
เมื่อได้ข่าวเช่นนี้ หลายคนก็ออกมาค้านว่านี่มันละเมิดประเพณีการปกครองของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาชัดๆ ซึ่งข้อนี้ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่ควรขยายความเพิ่มให้ชัดขึ้นไปอีกก็คือในบริบทการเลือกตั้งครั้งนี้ สิ่งที่พรรคลุงตู่พยายามทำไมได้แค่ฟังไม่ขึ้นหรือผิดผีผิดมารยาท แต่เป็นการโกงเลยทีเดียว
หลายคนอาจงงว่าทำไมการกระทำของพรรคพลังประชารัฐถึงแย่ขนาดนั้น ในเมื่อมันก็จริงว่าพรรคของเขาได้คะแนนสูงสุด แล้วระบอบประชาธิปไตยก็ชอบฟังเสียงประชาชน ประเด็นของผมก็คือหากเอาบริบทการเลือกตั้งที่เพิ่งเสร็จไปมาเป็นตัวประกอบ การทำเช่นนี้มันโกงแน่ๆ ในสองลักษณะ
โกงข้อแรกคือการโกงแบบเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น
การอ้าง popular vote นั้นเปรียบได้กับการแก้กติกาย้อนหลังเพื่อทำให้พรรคอื่นเสียเปรียบในเกมการเลือกตั้ง ถ้าจะถามว่าไปเปลี่ยนกติกาย้อนหลังอย่างไร? ประเด็นคือโดยปกติแล้วในการเลือกตั้งทุกครั้ง พรรคการเมืองแต่ละพรรคก็จะกำหนดแผนจัดสรรทรัพยากรในการหาเสียง ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละพรรคก็มีทรัพยากรที่ว่าอยู่จำกัด เช่น จะเอาคนดังไปลงเดินไหว้คนที่ไหนภายใต้เวลาและแรงอันจำกัด จะเน้นติดป้ายอย่างไร ซึ่งการวางแผนจัดสรรทรัพยากรนี้จะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของเกม เน้นที่นั่ง ส.ส. ก็วางแผนแบบหนึ่ง เน้น popular vote ก็ทำอีกแบบ
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ รวมถึงทุกครั้งที่ผ่านมาในบ้านเรา ทุกพรรคก็วางแผนการจัดสรรทรัพยากรบนฐานข้อตกลงร่วมว่าพรรคที่ได้จำนวน ส.ส. สูงสุดจะได้ลองจัดตั้งรัฐบาลเป็นพรรคแรก ซึ่งภายใต้เป้าหมายนี้แผนก็จะเป็นแบบหนึ่ง
ตัวอย่างที่ง่ายที่สุดก็เช่น เพื่อให้ชนะจำนวนที่นั่งสูงสุด พรรคการเมืองมักจะไม่ทุ่มทรัพยากรหาเสียงในพื้นที่ที่คาดว่าตัวเองจะชนะแน่นอนหรือแพ้แน่นอน เพราะลงพื้นที่ไปก็เพิ่มที่นั่ง ส.ส. ไม่ได้ แต่จะหันไปเทคนดังและทรัพยากรลงในที่ที่มีการแข่งขันกันดุเดือดสูง อย่างถ้าพื้นที่หนึ่งมีผู้สมัครพรรคป้า มีคะแนนอยู่ประมาณสองหมื่นคะแนน พรรคลุง สองหมื่นหนึ่งพัน พรรคป้า ก็ทุ่มหาเสียงในพื้นที่นี้เพื่อหวังว่าจะหาคะแนนเพิ่มให้ผู้สมัครของตนเพิ่มอีกซักพันสองพัน เพื่อช่วยผู้สมัครของตนให้เบียดชนะได้ ส่วนพรรคลุง ก็ต้องทุ่มทรัพยากรลงมาปกป้องฝั่งตัวเองเหมือนกัน
การจัดสรรทรัพยากรหาเสียงแบบนี้
ไม่ได้มุ่งหวัง popular vote
แต่มุ่งเพิ่มคะแนนหลักร้อยหลักพัน
ในพื้นที่เพื่อชิงที่นั่ง ส.ส. ในเขตนั้น
กลับกัน ถ้าเป้าหมายที่ตกลงร่วมกันกลายเป็นว่าพรรคที่ได้ popular vote ได้จัดตั้งรัฐบาล ยุทธศาสตร์การหาเสียงก็จะเปลี่ยน เช่นพรรคป้า อาจหันไปเน้นทุ่มทรัพยากรการหาเสียงลงในพื้นที่ที่คนเลือกจะเลือกพรรคตัวเองทั้งจังหวัด เอาแบบส่งเสาไฟฟ้าลงยังชนะ ที่ทำแบบนี้เพราะปกติในพื้นที่ลักษณะดังกล่าวคนแทบทั้งหมดจะนิยมตน แต่จะออกมาเลือกตั้งน้อย (เพราะคิดว่าออกไปเลือกหรือไม่ออกไปเลือก พรรคที่ตนเชียร์ก็ชนะอยู่ดี) ดังนั้นป้าจึงอาจเน้นส่งคนดังของพรรคลงพื้นที่อ้อนวอนให้คนที่เชียร์ออกไปกาบัตรให้ตนเยอะๆ การทำแบบนี้ไม่ได้ช่วยเพิ่มจำนวน ส.ส. เพราะเป็นพื้นที่ที่ยังไงตัวเองก็ได้อยู่แล้ว แต่อาจเพิ่ม popular vote ได้หลายพันหลายหมื่น
สรุปคือกติกาไม่เหมือนกันจะนำไปสู่วิธีเล่นเกมของแต่ละพรรคที่ไม่เหมือนเดิม และเมื่อมันมีกติกาอันเป็นสิ่งที่แม้จะไม่ได้เขียนไว้ แต่ทุกคนยึดถือมาตลอด การมาเปลี่ยนเกมเอาทีหลังจึงเป็นการทำเพื่อให้ตัวเองได้เปรียบ และทำให้พรรคอื่นเสียโอกาสที่จะวางแผนหาเสียงอีกแบบก่อนหน้านี้
นึกถึงเวลาเราเตะฟุตบอลกับเพื่อน ไม่ต้องพูด ทุกคนก็รู้ว่าทีมที่ชนะคือทีมที่ยิงประตูได้มากกว่า เมื่อกฎเป็นเช่นนี้ ถ้าเราอยากชนะ เราก็อาจจะเล่นฟุตบอลที่ไม่สวยงามแต่หวังผลอย่างการเน้นอุดตั้งรับแล้วโต้กลับ สุดท้ายพอจบเกมยิงประตูได้มากกว่า อีกทีมกลับมาบอกว่า การแข่งครั้งนี้ ผู้ชนะคือทีมที่ต่อบอลไปมาได้สวยงามที่สุด นี่มันดูยังไงก็โกงใช่มั้ยครับ
โกงข้อที่สองก็คือ การหันไปอ้างอิง popular vote เป็นการสร้างความไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวนมาก
เหตุผลก็ทำนองเดียวกับข้อแรก คือในขณะที่พรรคการเมืองเขาวางแผนคิดคำนวณการจัดสรรทรัพยากรสำหรับหาเสียง คนไปเลือกตั้งจำนวนมากก็คิดคำนวณเช่นกันว่าจะใช้ทรัพยากรหนึ่งเสียงของตนอย่างไรดี
แล้วบางคนเขาก็คิดคำนวณและเลือกวิธีกาบัตรไป
บนพื้นฐานความคาดหวังที่ว่าพรรคที่ได้ ส.ส. มากที่สุด
จะได้ตั้งรัฐบาล ถ้ากติกาไม่เป็นแบบนี้ เขาก็จะกาอีกแบบ
ตัวอย่างเช่น คนในพื้นที่หนึ่งส่วนใหญ่อาจมีเป้าหมายอันดับหนึ่งคือการเชียร์ให้พรรคป้าได้เป็นรัฐบาล แต่ในเขตของตนกลับชอบผู้สมัครจากพรรคลุง ทีนี้คนในเขตคุยกันแล้วคาดการณ์ไว้ว่าพรรคป้าจะได้ ส.ส. มาอันดับหนึ่งแล้วได้จัดตั้งรัฐบาลตามประเพณีอยู่ดี แม้ว่าพรรคป้าจะไม่ชนะการเลือกตั้งในเขตของตัวเอง พอคิดแบบบนี้ พวกเขาเลยเดินไปกาผู้สมัครพรรคลุงกัน เพราะหวังจะดันทั้งผู้สมัครและรัฐบาลที่ตนชอบ
ทีนี้พอจบเกม พรรคลุงกลับมาบอกว่าจะใช้ popular vote เป็นหลักในการจัดตั้งรัฐบาล เขาก็จะร้อง อ้าว? ที่ร้องก็เพราะถ้ารู้ว่าจะเปลี่ยนมาเอาแบบนี้ เขาจะไปกาให้พรรคป้าเพื่อเพิ่ม popular vote ให้พรรค
นอกจากสองข้อนี้จริงๆ ยังมีเรื่องที่น่ากังวลคือหากเราไปยึด popular vote เป็นหลักในการจัดตั้งรัฐบาล ในระยะยาว หลักนี้จะสร้างแรงจูงใจให้พรรคการเมืองลดความสำคัญของเขตพื้นที่ที่มีคนน้อยลง เพราะต่อให้ชนะที่นั่งได้ ก็ได้ popular vote น้อย เรื่องนี้ถกเถียงกันได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าน่าเป็นห่วงไม่น้อย
ภายใต้กติกาการเลือกตั้งและบริบทปัจจุบัน การใช้ popular vote นั้นเป็นการโกงในลักษณะที่กล่าวไปแน่ๆ ดังนั้นจึงอยากจะบอกกับพวกที่ชอบมั่วชอบตู่ว่า ถ้าโกงตั้งแต่ตอนร่างกติกามาจนกระทั่งตั้งพรรคหาเสียงโดยใช้ทรัพยากรรัฐอุดหนุนแล้วยังชนะชาวบ้านเขาไม่ได้ ถึงตอนนี้ก็ควรละอายใจได้แล้ว อย่าพยายามมั่วและโกงเพิ่มอีกเลยครับ