สัปดาห์ที่แล้ว มีข่าวสะเทือนขวัญที่เป็นข่าวใหญ่ทั้งในญี่ปุ่นและรวมไปถึงทั่วโลก นั่นคือคดีการวางเพลิงบริษัท Kyoto Animation บริษัทผลิตอนิเมะชื่อดังอันเป็นที่รักในวงการอนิเมะ และยังมีแฟนอยู่ทั่วโลก การวางเพลิงครั้งที่ผ่านมานำไปสู่โศกนาฏกรรม เมื่อเพลิงได้คร่าชีวิตพนักงานของบริษัทไปถึง 34 คน รวมถึงทำให้ต้นฉบับและบันทึกผลงานต่างๆ ของบริษัทสูญหายไปกับเปลวเพลิง เรียกได้ว่าเสียหายอย่างไม่สามารถประเมินได้ และสร้างความเสียใจให้กับแฟนๆ รวมถึงคนนอกวงการที่ตามข่าวอีกด้วย
สำหรับรายละเอียดของเหตุการณ์ คิดว่ามีการสรุปในหลายที่แล้ว ผมเองก็คงจะไม่ขอเขียนอะไรซ้ำๆ เดิมอีก เพราะไม่อยากจะเขียนเรื่องเศร้ามากนัก แต่ในครั้งนี้ อยากจะให้เป็นการยกย่องกับความดีงามของ Kyoto Animation หรือที่แฟนๆ ชอบเรียกย่อกันว่า KyoAni ว่าทำไมถึงเป็นที่รักในวงการ และแตกต่างจากสตูดิโออื่นๆ อย่างไร
จุดเริ่มต้นของ KyoAni ก็คือ อดีตอนิเมเตอร์หญิงชื่อ ฮัตตะ โยโกะ (Hatta Yoko) ที่เคยทำงานใน Mushi Production สตูดิโอผลิตอนิเมะของ เทะสึกะ โอซามุ (Tezuka Osamu) ผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการมังงะของญี่ปุ่น เธอแต่งงานแล้วย้ายจากโตเกียวมาอยู่ที่เมืองอูจิในเกียวโต และตั้งบริษัทกับสามีในปี ค.ศ. 1981 เปิดรับแม่บ้านในท้องถิ่นทั้งหลายมาเป็นอนิเมเตอร์ในบริษัทของตัวเอง นั่นคือจุดเริ่มต้นอันเรียบง่ายของบริษัทที่จะกลายมาเป็นยักษ์ใหญ่ของวงการต่อไป
ในช่วงแรก KyoAni ไม่ต่างกับสตูดิโอผลิตอนิเมะเจ้าเล็กอื่นๆ
KyoAni คอยรับช่วงงานจากบริษัทใหญ่ๆ รับงานทำภาพในส่วนที่เป็นช่วงเติมเต็ม งานระหว่างการเคลื่อนไหวต่างๆ ก่อนจะค่อยๆ ยกระดับผลงานมาเรื่อย จนต่อมาได้จับงานใหญ่เช่นอนิเมะ Pokémon แล้วค่อยมาเริ่มสร้างอนิเมะของตัวเองในปี ค.ศ. 2003 โดยผลงานอนิเมะทางโทรทัศน์เรื่องแรกคือ Full Metal Panic? Fumoffu ก่อนจะค่อยๆ สร้างชื่อจากผลงานเด่นหลายต่อหลายเรื่อง ตั้งแต่ Melancholy of Haruhi Suzumiya, Lucky Star, K-On!, Free! และล่าสุดก็เรื่อง Violet Evergarden ซึ่งแทบทุกชิ้นเป็นผลงานฮิตและได้รับการยกย่องในแวดวงอนิเมะเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าหลายต่อหลายชิ้นถึงกับเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมของญี่ปุ่นก็คงไม่ผิดอะไร ว่าแต่ ทำไม KyoAni ถึงได้โดดเด่นต่างจากสตูดิโออื่นๆ และมีสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ได้?
ก่อนอื่นคงต้องขอพูดถึงปัญหาของวงการอนิเมะของญี่ปุ่น ที่แม้ปัจจุบัน อนิเมะจะสามารถสร้างฐานแฟนได้ทั่วโลก และเจาะได้กระทั่งตลาดตะวันตก แต่ในส่วนของการผลิตแล้ว อนิเมเตอร์ชาวญี่ปุ่นทั้งหลายก็ยังคงทำงานโดยแลกกับค่าตอบแทนที่เล็กน้อยจนไม่สามารถเลี้ยงชีพได้ เพราะส่วนใหญ่แล้ว บริษัทสตูดิโอต่างๆ นิยมจ้างอนิเมเตอร์เหล่านี้ในลักษณะของพนักงานทำงานพิเศษ ไม่ใช่พนักงานประจำ จ่ายตามจำนวนงานที่ทำได้ ไม่มีงานก็ไม่ต้องจ่าย และไม่ต้องห่วงเรื่องสวัสดิการต่างๆ ซึ่งค่าตอบแทนก็น้อยนิดขนาดที่ว่า วาดแผ่นหนึ่งได้ค่าตอบแทนแค่ 200 เยนเท่านั้น มันคงจะดีถ้าอนิเมะมันมีลายเส้นเรียบง่าย ไม่ได้มีมิติซับซ้อนมากนักแบบอนิเมะในอดีต แต่อนิเมะในปัจจุบันถูกคาดหวังให้มีรายละเอียดต่างๆ ที่สวยงามเต็มที่ ยิ่งในยุคที่ภาพคมชัดยิ่งกว่าเดิม ความละเอียดก็ต้องเพิ่มมากขึ้น ทำให้งานอนิเมเตอร์เป็นงานที่ดูไม่คุ้มค่าเลย (ทำงานพิเศษทั่วไปอย่างน้อยก็ได้ประมาณ 800 เยนต่อชั่วโมง) ที่เป็นเช่นนี้เพราะระบบการทำงานของ Mushi Production ในอดีตนั่ที่เลือกที่จะประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำอนิเมะและไปหวังกำไรกับการขายสินค้าพ่วงนั่นเอง ซึ่งก็เป็นไปได้ถ้าคุณสร้างผลงานที่เป็นที่นิยมอย่างเช่น เจ้าหนูปรมณู (Testuwan Atom) แต่มันก็กลายเป็นการสร้างมาตรฐานที่บิดเบี้ยวให้กับวงการอนิเมะจนกลายเป็นปัญหาจนถึงทุกวันนี้
ในทางกลับกัน KyoAni เลือกแนวทางที่ต่างออกไป
KyoAni จ้างอนิเมเตอร์เป็นพนักงานประจำ แน่นอนว่ามันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ถือว่าเป็นการหว่านเมล็ดพันธุ์ที่ดีเลย แม้ในช่วงแรกอาจจะลำบาก แต่เมื่อ KyoAni ตัดสินใจผลิตอนิเมะของตัวเอง พวกเขาก็ไม่ต้องไปคอยไล่หาคนมาช่วยงาน เพราะมีทุกตำแหน่งพร้อมอยู่แล้วในบริษัท ต่างกับสตูดิโอทั่วไปที่เมื่อได้งานมาชิ้นนึงก็ต้องคอยไล่หาคนมาทำงานในส่วนต่างๆ บางทีเกิดปัญหาคนที่อยากได้ไม่ว่างจำต้องเอาคนอื่นมาแทน และไม่สามารถควบคุมคุณภาพได้อย่างเต็มที่ การทำงานแบบ KyoAni ทำให้สามารถรักษาคุณภาพของตัวเองได้ และยังรวมถึงความเร็วในการทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว KyoAni สามารถที่จะผลิตอนิเมะของตัวเองเสร็จสิ้นก่อนจะออกฉายเสียด้วยซ้ำ แถมยังมีความประณีตในทุกชิ้นงาน การที่อนิเมเตอร์เป็นพนักงานประจำ ทำงานอยู่ที่เดียวกันหมด ก็ช่วยให้ทุกคนสามารถแลกเปลี่ยนความคิด และทำงานไปในทิศทางเดียวกันได้ดียิ่งขึ้น จะสังเกตได้ว่างานของ KyoAni จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอยู่ (งานภาพที่ละเอียดและเรื่องราวของชีวิตวัยรุ่น) ที่สำคัญคือ ทำให้อนิเมเตอร์สามารถทำงานได้เต็มที่โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการเลี้ยงชีพ เพราะงานที่ทำได้ผลตอบแทนคุ้มค่า
อีกหนึ่งความฉลาดของ KyoAni ก็คือ การเปิดสำนักพิมพ์ของตัวเอง ตีพิมพ์งาน light novel ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่น โดยมีการเปิดการประกวดนิยาย ซึ่งเรื่องที่ได้รับรางวัลก็กลายเป็นแหล่งวัตถุดิบในการทำอนิเมะชั้นดีอีก พวกเขาไม่ต้องรอให้สำนักพิมพ์มังงะติดต่อมาให้ทำอนิเมะหรือคอยไปแย่งประมูลงานกับสตูดิโออื่น (คล้ายกับการรับเหมาก่อสร้าง ประมูลไม่ได้ก็ไม่มีเงินเข้า บริษัทเจ๊ง) แต่พวกเขามีวัตถุดิบดีๆ รออยู่แล้ว และสามารถเช็กความนิยมได้จากยอดขายได้ตัวเอง ซึ่งทั้ง Free! และ Violet Evergarden ก็เกิดมาจากแนวทางนี้ แฟน light novel หันมาตามดูอนิเมะ คนที่ดูอนิเมะก่อนก็อาจจะอยากตามไปอ่าน light novel ด้วย กลายเป็นการตลาดที่ส่งเสริมกันและกัน จนบางทีเราอาจจะบอกว่า KyoAni คือสตูดิโอที่วางระบบให้สามารถพัฒนางานของตัวเองได้อย่างยั่งยืน ไม่มีการสะดุด และสามารถทำรายได้จากงานสร้างสรรค์อย่างครอบคลุม ควบคู่ไปกับการดูและพนักงานให้ทำงานได้อย่างมีคุณภาพ
KyoAni ยังได้รับคำชมเป็นอย่างมากจากการที่บริษัทตั้งอยู่ในเกียวโต ต่างจากบริษัทอื่นที่ตั้งอยู่ในโตเกียวกันหมด การแยกออกมาตั้งบริษัทในเกียวโต ทำให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น และสามารถพิสูจน์ได้ว่า หากผลงานคุณดีพอ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปกระจุกกันอยู่ในโตเกียว รวมไปถึงการที่บริษัทจ้างอนิเมเตอร์หญิงเป็นจำนวนมาก เป็นการสร้างโอกาสให้ผู้หญิงได้ทำงานสายนี้ได้อย่างทัดเทียมผู้ชาย (และได้รับค่าตอบแทนที่เท่าเทียม) ถือเป็นบริษัทที่หัวก้าวหน้า บริษัทยังคอยหาดาวรุ่งที่มีทักษะดีๆ เพื่อดึงเข้ามาเป็นพนักงานของบริษัท และช่วยอบรมเรื่องงานช่วยพัฒนาฝีมือ เพื่อจะได้เข้าใจแนวทางของบริษัท
ด้วยการรักษาคุณภาพงาน และแนวทางการทำงานของ KyoAni ตลอดเวลาที่ผ่านมา
ไม่แปลกใจว่าทำไมถึงมีแฟนที่เสียใจกับโศกนาฏกรรมในครั้งนี้มากนัก บางคนบอกว่า ที่มีทุกวันนี้ได้เพราะได้อนิเมะของ KyoAni ช่วยไว้ บางคนเคยเป็นคนเงียบๆ ไม่มีเพื่อน แต่พอเจอคนที่ชอบอนิเมะค่ายนี้เหมือนกันก็ทำให้ได้เพื่อนใหม่ๆ ซึ่งถือเป็นความดีงามจากอนิเมะของ KyoAni เพราะผลงานหลายชิ้นมักจะเป็นเรื่องราวของชีวิตประจำวันในโรงเรียนมัธยม ทำให้คนดูกลุ่มวัยรุ่นสามารถที่จะเชื่อมโยงได้ง่าย ในอนิเมะมักจะมีกิจกรรมต่างๆ คล้ายกับที่เหล่าแฟนๆ ต้องเจอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากเทศกาลโรงเรียนที่มักจะปรากฎในงานหลายชิ้น และตัวละครดูจะสนุกสนานไปกับกิจกรรมเหล่านั้น ทำให้หลายคนรู้สึกว่า ถ้าเกิดชีวิตมัธยมของตนเองเป็นแบบนี้บ้างก็คงจะดีนะ KyoAni จึงสามารถสร้างฐานแฟนได้กว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตัวเอกในอนิเมะมักเป็นเด็กสาวมัธยมที่สนุกกับชีวิตวัยรุ่น ทำให้เด็กสาวหลายต่อหลายคนกลายมาเป็นแฟนอนิเมะของ KyoAni จนสร้างภาพลักษณ์ใหม่ได้ว่า คนที่ชื่นชอบอนิเมะไม่จำเป็นจะต้องเป็นเด็กเล็กหรือโอตาคุอีกต่อไป (พร้อมกับเป็นช่วงที่อนิเมะเริ่มเปิดกว้างและกลายมาเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักได้) รวมไปถึงการที่ผลงานของสตูดิโอเริ่มปรากฎในช่วงเดียวกับที่เว็บไซต์แชร์คลิปวิดีโอเป็นที่นิยม การทำเพลงปิดที่มีตัวละครออกมาเต้นอย่างเพลงปิดของ Haruhi ก็ทำให้เกิดกระแส Haruhi Dance คนเต้นตามแล้วอัพคลิปโชว์ กลายเป็นไวรัลดึงให้เกิดความสนใจในวงกว้างได้อีกด้วย ไม่แปลกที่ถ้าไปดูงานคอสเพลย์ต่างๆ ก็สามารถพบเด็กสาวแต่คอสเพลย์เป็นตัวละครจากผลงานต่างๆ ของ KyoAni เป็นจำนวนมาก
อีกเอกลักษณ์หนึ่งของงานของ KyoAni ก็คือ การนำเอาสถานที่ที่มีอยู่จริงใส่เข้ามาในเรื่องอย่างเต็มที่ แน่นอนว่า KyoAni ไม่ใช่เจ้าแรกที่ทำเช่นนี้ แต่การนำเอาสถานที่ต่างๆ ที่มีอยู่จริงมามีบทบาทสำคัญในการเล่าเรื่องราว ก็ทำให้แฟนๆ อยากจะตามไปดูสถานที่จริง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือศาลเจ้า Washinomiya ในจังหวัดไซตามะ ที่กลายเป็นสถานที่ที่แฟนอนิเมะเรื่อง Lucky Star อยากจะแวะเวียนไปดู จนสร้างรายได้ให้ท้องถิ่น และทำให้การตามรอยอนิเมะกลายเป็นกิจกรรมนิยมขนาดที่ทางหน่วยงานการท่องเที่ยวของทั้งระดับรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นหยิบมาเป็นกิมมิกในการดึงนักท่องเที่ยวอีกด้วย
ด้วยแนวทางการทำงานที่ผ่านมา ไม่แปลกอะไรที่ KyoAni จะสามารถสร้างผลงานที่มีคุณภาพและเป็นที่รักของแฟนๆ รวมไปถึงคนในแวดวงอนิเมะ โศกนาฏกรรมในครั้งนี้จึงไม่ได้เป็นแค่การสูญเสียของบริษัทหนึ่งบริษัทเดียว แต่เป็นการสูญเสียครั้งสำคัญของวงการอนิเมะเลยทีเดียว น่าเสียดายที่เหล่าคนหนุ่มสาวที่มีความสุขกับงานที่ทำ และสร้างผลงานอันเป็นที่รักของผู้คน ต้องมาจบชีวิตลงก่อนเวลาอันควรอย่างน่าเศร้า
สิ่งที่พวกเราทำได้ในตอนนี้ นอกจากการไว้อาลัย ก็คือ การสนับสนุนผลงานของสตูดิโอ หรือร่วมบริจาคช่วยเหลือ เพราะนี่ไม่ใช่แค่การช่วยเหลือบริษัท แต่ยังเป็นการส่งเสริมศิลปะแขนงหนึ่งที่ช่วยเยียวยาจิตใจคนจำนวนไม่น้อย
อ้างอิงข้อมูลจาก