จากเด็กชอบวาดรูปสู่นักศึกษาวิชาศิลปะ จากภาพวาดสีน้ำมันสู่การวาดภาพลงแผ่นเซล จากอนิเมเตอร์สู่ผู้กำกับอนิเมชั่น นี่คือเส้นทางโดยคร่าวของ ‘โฮโซดะ มาโมรุ’ ชายชาวญี่ปุ่นที่กลายเป็นผู้กำกับอนิเมชั่นรุ่นปัจจุบันที่คนดูคาดหวังว่าผลงานของเขาจะเป็นการ์ตูนที่ทั้งสนุกและสามารถดูได้ทั้งครอบครัว
ในปี 2018 นี้ โฮโซดะก็กำลังจะกลับมาอีกครั้งกับผลงานภาพยนตร์เรื่อง Mirai No Mirai หรือ ‘MIRAI มิไร มหัศจรรย์วันสองวัย’ ที่ตัวผู้กำกับชาวญี่ปุ่นมองว่ามีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ด้วยความที่ครั้งนี้โฮโซดะเลือกเล่าเรื่องพี่น้องที่เป็นเด็กเล็ก เป็นจังหวะเดียวกับที่เขาเพิ่งจะมีลูกสาวพอดิบพอดี
ในโอกาสที่หนังเรื่องล่าสุดของมาโมรุ โฮโซดะ กำลังจะเข้าฉายในประเทศไทยช่วงเดือนสิงหาคมนี้ The MATTER เลยมาย้อนรอยว่าก่อนที่เขาจะกลายเป็นผู้กำกับอนิเมชั่นที่คนทั่วโลกรอคอยจะเฝ้าชม โฮโซดะผ่านขั้นตอนการทำงานแบบไหนบ้าง ผลงานกำกับเรื่องไหนที่ผ่านมือเขามาบ้าง เพื่อที่จะได้เห็นว่าเขาจะพัฒนางานของตัวเองไปแนวทางไหน และมาเช็กกันว่าคุณเคยดูเรื่องไหนมาบ้างแล้ว
ก้าวแรกกับภาพยนตร์สั้นจาก Digimon Adventures
หลังจากเรียนจบด้านศิลปะจากมหาวิทยาลัย โฮโซดะถูกคัดเลือกให้เป็นนักศึกษาฝึกงานของสตูดิโอจิบลิ แต่ไม่ถูกรับเป็นพนักงานประจำ เขาจึงพยายามทำงานวนเวียนในวงการอนิเมชั่นจนได้เข้าทำงานที่โตเอะ อนิเมชั่น บริษัททำอนิเมชั่นรายใหญ่ในญี่ปุ่นอยู่นาน และได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับซีรีส์ดังหลายต่อหลายเรื่อง นับตั้งแต่เป็นแค่อนิเมเตอร์ธรรมดา ก่อนจะขยับขยายมาเป็นผู้กำกับงานรายตอน (ตอนที่ 4) ของอนิเมชั่นคิทาโร่ (Gegege No Kitaro) และได้มีโอกาสเป็นผู้กำกับของฉากเปิดของอนิเมชั่นหลายเรื่องหลายแนว
กว่าโฮโซดะจะได้นั่งเก้าอี้เป็นผู้กำกับอนิเมชั่นก็เป็นตอนที่เขาได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับอนิเมชั่นเรื่อง ‘ดิจิมอนแอดเวนเจอร์’ การ์ตูนที่เล่าเรื่องของเหล่าเด็กที่ถูกเลือกให้ไปปกป้องโลกดิจิทัลด้วยการจับคู่กับสิ่งมีชีวิตในโลกดิจิทัลอย่างดิจิมอน โฮโซดะมีส่วนร่วมกับดิจิมอนแอดเวนเจอร์หลายชิ้น นับตั้งแต่การกำกับอนิเมชั่นภาคหลักตอนที่ 21 กับภาพยนตร์สั้นหลายตอน ซึ่งตอนที่ทำให้ทั้งคนทำงานภายในบริษัทและคนดูภายนอกเตะตากับสไตล์การทำงานของเขาก็คือ ภาพยนตร์ ‘ดิจิมอนแอดเวนเจอร์ วอร์เกมส์ของพวกเรา’ (Digimon Adventures: Bokura No War Game) ภาพยนตร์ความยาวสี่สิบนาทีที่ออกฉายในปี 2000
และนี่ก็กลายเป็นก้าวแรกที่มั่นคงในฐานะผู้กำกับ แต่ว่ายังมีอุปสรรคอีกมากรอเขาอยู่
ฝันสลายก่อนกลายเป็นผู้กำกับ One Piece ฉบับภาพยนตร์ภาคที่ 6
ผลจากการกำกับดิจิมอนแอดเวนเจอร์ฉบับภาพยนตร์ ทำให้สไตล์งานของโฮโซดะไปเข้าตาสตูดิโอจิบลิที่เขาเคยใฝ่ฝันจะไปให้ถึง การจ้างวานโฮโซดะเพื่อมากำกับผลงานเรื่องใหม่ของจิบลิที่ชื่อว่า ‘ปราสาทเวทมนตร์ของฮาวล์’ จึงเกิดขึ้น แทบจะไม่ต้องเดาต่อเลยว่าโฮโซดะกระโดดคว้าโอกาสนี้ทันที แต่ความฝันนั้นไม่งดงามตามที่คาดคิด ด้วยการทำงานของจิบลิที่ไม่สอดคล้องกับแนวคิดของโฮโซดะ สุดท้ายก็เกิดการปลดทีมงานสร้างอนิเมชั่นเรื่องดังกล่าวชุดใหญ่ ก่อนที่ฮายาโอะ มิยาซากิจะก้าวกลับมากำกับเองในภายหลัง
พอตกงานแบบกะทันหัน โฮโซดะเลยได้วนเวียนฝึกฝนฝีมือในฐานะคนทำงานฟรีแลนซ์อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่เขาจะได้รับข้อเสนอจากถิ่นเก่าอย่าง โตเอะ อนิเมชั่น ให้กลับมากำกับอนิเมชั่นซีรีส์ที่โด่งดังในช่วงต้นยุค 2000 และเขาก็คว้าโอกาสนั้นมาไว้ในมือ ผลก็คือภาพยนตร์ภาคที่ 6 ของอนิเมชั่นจากหนังสือการ์ตูนดังอย่าง One Piece ที่จะฉายในปี 2005 จึงได้โฮโซดะมาเป็นผู้กำกับ
One Piece: Omatsuri Danshaku To Himitsu No Shima หรือที่พอจะแปลชื่อภาคได้ความว่า ‘บารอนโอมัตสึริ และเกาะแห่งความลับ’ เป็นการเดินทางของกลุ่มโจรสลัดหมวกฟางที่ไปติดอยู่ในเกาะลึกลับที่มีของถูกใจสมาชิกกลุุ่มโจรสลัดหมวกฟางทุกอย่าง แต่พวกลูฟี่ต้องผ่านการทดสอบในสไตล์งานวัดญี่ปุ่นขณะที่อยู่บนเกาะ ซึ่ง One Piece ภาคดังกล่าวก็มีความแตกต่างจากภาพยนตร์ภาคอื่นๆ ด้วยการเล่าเรื่องครอบครัวตัวละครสมทบที่มากกว่าปกติ หรือจังหวะภาพที่ก็มีสไตล์ที่ชัดเจนของโฮโซดะแฝงเข้ามาอย่างเต็มพิกัด
หรือถ้าบอกว่าตอนนี้ มาโมรุ โฮโซดะเข้าสู่ภาวะที่ ‘แมสแล้ว’ อย่างจริงจังก็คงได้
กระโดดจัมป์สู่การกำกับภาพยนตร์อนิเมชั่น(เกือบ)ออริจินัล
หลังจากส่งภาพยนตร์ One Piece ภาคที่ 6 ไปถึงฝั่ง โฮโซดะก็กลับมาทำงานฟรีแลนซ์อีกครั้ง เขากระโดดไปรับงานกำกับใหม่ที่มี Kadokawa Herald Pictures เป็นผู้อำนวยการสร้าง และได้ทาง Madhouse เป็นผู้ผลิตอนิเมชั่น ซึ่งโฮโซดะได้มีโอกาสกำกับอนิเมชั่นเกือบออริจินัล ชื่อว่า Toki O Kakeru Shojo หรือชื่อไทยว่า ‘กระโดดจั้มพ์ทะลุข้ามเวลา’ ที่บอกว่าอนิเมชั่นเรื่องนี้แค่ ‘เกือบออริจินัล’ ก็เพราะเนื้อหาของเรื่องเป็นการหยิบเอาโครงเรื่องของนิยายชื่อเหมือนกันที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1967 มาต่อยอดให้กลายเป็นเนื้อเรื่องกึ่งภาคต่อตามแนวทางของทีมสร้างอนิเมชั่น
เนื้อหาของอนิเมชั่นฉบับปี 2006 เป็นการเล่าเรื่องการผจญภัยผ่านมิติเวลาของ มาโคโตะ เด็กสาวที่ได้รับพลังย้อนเวลามาโดยบังเอิญ ในช่วงแรกเธอใช้มันเพื่อย้อนไปในอดีตเพื่อทำตามใจตัวเอง เช่น การช่วยชีวิตเธอจากอุบัติเหตุที่ถึงแก่ชีวิต ไปสอบใหม่เพื่อให้ได้คะแนนเต็ม ไปดูเบสบอลกับเพื่อน ฯลฯ แต่ภายหลังเธอก็พบว่าการย้อนเวลาโดยไม่จำเป็นทำให้เธอต้องพบกับเหตุไม่คาดฝัน และมีการเฉลยให้คนที่อ่านนิยายต้นฉบับได้รู้ว่า นางเอกของภาพยนตร์อนิเมชั่นเป็นหลานสาวของนางเอกในนิยายฉบับดั้งเดิมที่มาปรากฏตัวในฐานะตัวละครสมทบด้วย
เราจะเห็นได้ชัดขึ้นว่าโฮโซดะมีซีนประจำตัวบางอย่างจากหนังเรื่องนี้ ทั้งฉากหน้าตรงที่พุ่งด้วยความเร็วสูง ฉากความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว หรือฉากวิ่งจนมีการหกล้มกลิ้ง และหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่โฮโซดะได้ทำงานร่วมกับโปรดิวเซอร์ ไซโต้ ยูอิจิโร่ คนเขียนบท โอคุเดระ ซาโตโกะ และผู้ออกแบบตัวละครชื่อดังอย่าง ซาดาโมโตะ โยชิยูกิ ที่จะเขาได้ร่วมงานกันอีกหลายครั้ง
กำกับงานออริจินัลครั้งแรกกับ Summer Wars
3 ปีให้หลังจากการฉายกระโดดจั้มพ์ทะลุข้ามเวลา โฮโซดะ, ไซโต้, โอคุเดระ และซาดาโมโตะกลับมารวมทีมกันอีกครั้งกับทาง Madhouse เพื่อสร้างภาพยนตร์อนิเมชั่นออริจินัลของพวกเขาเอง สิ่งที่โฮโซดะอยากจะบอกเล่าในภาพยนตร์เรื่องใหม่คือเนื้อเรื่องที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ ‘ครอบครัวใหญ่’ ซึ่งในปัจจุบันอาจจะหาได้ยากขึ้นในสังคมที่ครอบครัวมีขนาดกระทัดรัดขึ้น ผสมเข้ากับเทรนด์ของยุคสมัยที่ระบบสื่อสังคมออนไลน์ได้รับความนิยมสูง ก่อนที่จะเสริมเนื้อเรื่องแบบละครรักน้ำเน่าเบาๆ ในสไตล์ดอกฟ้ากับหมาวัด เพื่อให้คนดูสามารถถูกดึงเข้าสู่เรื่องราวที่พวกเขาอยากเล่าได้อย่างไม่อยากเย็นนัก
ผลของแนวคิดข้างบนก็คือ ‘ซัมเมอร์ วอร์ส’ อนิเมชั่นที่เล่าเรื่องของ เค็นจิ โคอิโสะ นักเรียนชั้นมัธยมปลายผู้มีพรสวรรค์ด้านคณิตศาสตร์ที่ตอบรับการว่าจ้างของ นัตสึกิ ชิโนฮาระ ที่มาทราบทีหลังว่าถูกหลอกให้มาเป็นคู่หมั้นเพื่อแนะนำตัวกับคุณยายทวดและคนในตระกูลจินโนะอุจิอีกกว่า 20 ชีวิตได้ยอมรับ แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็ได้เกิดขึ้นเมื่อเค็นจิได้ตอบอีเมล์ที่นำพาความวุ่นวายมาสู่ OZ ระบบสื่อสังคมออนไลน์ที่ทรงอิทธิพลในโลก และนี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘จุดจบของโลก’ แบบที่ใครก็คาดไม่ถึง ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับภัยร้ายนี้ก็คือคนในบ้านจินโนะอุจินี่เอง ดังนั้นเค็นจิจึงต้องใช้ความสามารถของเขาร่วมมือกับคนตระกูลจินโนะอุจิที่มีทักษะหลากหลายด้าน และรวมใจกันในฐานะครอบครัวเดียวกันเพื่อปกป้องทั้ง OZ และโลกใบนี้
นอกจากเนื้อหาที่เข้าใจได้ไม่ยาก สิ่งที่ทำให้ภาพยนตร์ความนิยมได้รับความนิยมอย่างมากทั้งในบ้านเกิดและต่างชาติ อาจจะมาจากการที่หนังชวนคุยเรื่องครอบครัวและสื่อสังคมออนไลน์ในจังหวะที่ Facebook เติบโตอย่างเต็มที่ จะคนรุ่นไหนก็ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์คล้ายกับท้องเรื่องอนิเมชั่นพอดิบพอดี ภาพลักษณ์โลกดิจิทัลที่เคยถูกนำเสนอมาบ้างแล้วในภาพยนตร์ดิจิมอนแอดเวนเจอร์ที่ถูกปรับให้เข้ายุคขึ้น กับพล็อตเรื่องที่ไม่ยากจนเกินไปทำให้หลายคนอินและหลั่งน้ำตานี้ให้กับอนิเมชั่นเรื่องนี้ได้ง่ายๆ
เป็นอีกครั้งที่มาโมรุ โฮโซดะ มาโมรุ กับทีมงานช่วยกันตอกย้ำอีกครั้งว่า อนิเมชั่นไม่ว่าจะจากชาติไหนก็ไม่ใช่งานของเด็กอย่างเดียว และอย่างเรื่องนี้พวกเขาก็ทำให้คนทั้งครอบครัวสามารถนั่งดูด้วยกันได้อย่างมีความสุข
สร้างฐานของตัวเองจาก Studio Chizu ด้วยหมาป่า สายฝน และหิมะ
ทำงานใต้ร่มเงาคนอื่นก็นานแล้ว เดินทางไปคว้าฝันก็เคยมาแล้ว ปี 2011 มาโมรุ โฮโซดะ กับ ไซโต้ ยูอิจิโร่ ได้ก่อตั้งสตูดิโอของพวกเขาเองที่ใช้ชื่อว่า สตูดิโอชิซุ (Studio Chizu) สตูดิโอขนาดเล็กที่มุ่งเน้นการทำงานที่ระบุว่าเป็นการ ‘ค้นหาแนวเรื่องที่ยังไม่มีใครไปถึง และธีมเรื่องที่มีความเป็นไปได้ไม่จำกัด’ สอดคล้องกับชื่อสตูดิโอที่แปลว่า ‘แผนที่’ และการเปิดเส้นทางใหม่ของโฮโซดะก็ยังเป็นการก้าวตามเส้นทางที่เขาคุ้นเคยด้วยการคุมธีมให้พูดถึงครอบครัว ที่ยังได้คนคุ้นเคยอย่าง โอคุเดระ ซาโตโกะ มาเขียนบท กับ ซาดาโมโตะ โยชิยูกิ ที่กลับมาออกแบบตัวละครให้ (มีคนแซวว่าเหมือนจะรอการกลับมาของ Evangelion ยาวไปเลยหนีมาทำงานอื่นก่อน) แต่ในหนังเรื่องใหม่นี้จะเป็นการพูดถึง ‘แม่’ แบบเต็มๆ แทน
‘คู่จี๊ดชีวิตอัศจรรย์’ หรือชื่อญี่ปุ่น Okami Kodomo No Ame to Yuki (ลูกของหมาป่า อาเมะ (ฝน) กับ ยูกิ (หิมะ)) ออกฉายในปี 2012 เล่าเรื่องแฟนตาซีเหนือจริงโดยมีพื้นหลังเป็นโลกปัจจุบัน นักศึกษามหาวิทยาลัยสาวอย่าง ฮานะ ได้รู้จักมักจี่กับ โอกามิ ชายหนุ่มเงียบขรึมที่เธอทราบภายหลังว่าไม่ใช่นักศึกษา แต่เธอก็ตัดสินใจช่วยเขาเรียนรู้เรื่องต่างๆ จนวันหนึ่ง โอกามิได้เปิดเผยความลับว่าเขาเป็นมนุษย์ที่สามารถแปลงร่างเป็นหมาป่าได้ แต่หญิงสาวก็ตกหลุมรักเขาไปแล้ว ทั้งสองจึงได้อาศัยอยู่ด้วยกันและมีพยานรักน้อยๆ ที่ทั้งคู่ตัดสินใจคลอดกันเองที่บ้าน ลูกสาวคนแรก อาเมะ คลอดออกมาอย่างปลอดภัย ส่วนลูกชายชื่อว่า ยูกิ ที่มีร่างกายอ่อนแอกว่าพี่สาว และทั้งสองคนสามารถแปลงร่างเป็นหมาป่าได้ กระนั้นจุดเริ่มต้นจริงๆ ของเรื่องเกิดขึ้นหลังจากโอกามิเสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน ฮานะจึงต้องรับบทเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่คอยดูแลสองลูกที่แปลงร่างเป็นหมาป่าได้ ดังนั้นประสบการณ์ที่เธอพบย่อมไม่มีทางเหมือนกับคุณแม่คนไหนเลยบนโลกใบนี้
ถึงแม้ว่าหนังจะเข้าใจได้ง่าย แต่เนื้อแท้ของเรื่องสะท้อนความลำบากของชีวิตแม่เลี้ยงเดี่ยวได้อย่างดีทีเดียว นับตั้งแต่การพยายามรักษาสิทธิ์ในการเลี้ยงดูลูก การที่ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองในสถานที่ใหม่ รวมถึงเรื่องการสูญเสียที่เธอต้องพบเจอ ในส่วนความแฟนตาซีอย่างการที่ลูกทั้งสองคนแปลงร่างเป็นมนุษย์หมาป่าได้นั้น ถ้ามองอีกแง่ก็เหมือนการพยายามแสดงตัวตนของเด็กแต่ละคน และฉากที่ต่างคนต้องยอมรับภาวะ ‘มนุษย์หมาป่า’ ก็ชวนให้คิดถึงการเปิดเพศสภาพหรือเพศวิถีของคนบนโลกจริง ซึ่งทั้งหมดนั้นจะไม่มีอะไรยากเย็น หากผู้คนพร้อมเปิดใจรับความต่างที่พวกเขาอาจจะยังไม่เคยเจอมาก่อน
แล้วสายฝนกับหิมะที่หนังเรื่องนี้ช่วยให้โปรยปรายลงมาก็กลายเป็นรากฐานให้กับสตูดิโอแห่งใหม่ จนคนดูพร้อมใจจะรอดูหนังของโฮโซดะ มาโมรุทุกเมื่อ ไม่ต่างกับผลงานของสตูดิโอดังๆ เจ้าอื่นเลย
มองไปยังฝั่งพ่อ ผ่านสายตาสัตว์อสูร
หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องก่อนของสตูดิโอชิซุยังได้รับความช่วยเหลือด้านการผลิตบางส่วนจากทาง Madhouse ผลงานภาพยนตร์เรื่องต่อมาของสตูดิโอชิซุที่ออกฉายในปี 2015 นั้นถือว่าเป็นงานที่พวกเขาพึ่งพิงตัวเองมากขึ้น อย่างเช่นการเขียนบทที่เคยได้ โอคุเดระ ซาโตโกะมาตลอด ใน ‘ศิษย์มหัศจรรย์กับอาจารย์พันธุ์อสูร’ หรือ Bakemono No Ko เป็นภาพยนตร์ที่ตัวโฮโซดะเขียนบทด้วยตัวเองแบบเต็มตัวและมีความแฟนตาซีมากกว่าภาพยนตร์เรื่องก่อนหน้า เพราะเนื้อเรื่องในโลกมนุษย์นั้นเป็นแค่เนื้อหาช่วงสั้นๆ ของภาพยนตร์เท่านั้น
Bakemono No Ko ยังเล่าเรื่องของครอบครัวอยู่เช่นเดิม และคราวนี้เป็นการพูดถึง ‘พ่อ’ ทั้งในแง่มุมของพ่อผู้ให้กำเนิด พ่อผู้ดูแล หรือแม้แต่พ่อผู้ให้วิชาก็ตาม เรื่องเริ่มต้นในโลกมนุษย์ที่เด็กชายวัยเก้าขวบตัดสินใจหนีออกจากบ้านมาหลังจากแม่เขาเสียชีวิตไป เขาได้บังเอิญพบกับโลกคู่ขนานอันเป็นถิ่นที่อยู่ของเหล่าปีศาจที่มีร่างเหมือนมนุษย์ผสมกับสัตว์ป่า ในโลกแห่งนั้นมีประมุขที่ต้องการสละตำแหน่งตัวเอง ทว่าหนึ่งในผู้ที่เหมาะสมจะสืบทอดตำแหน่งอย่าง คุมะเท็ตสึ กลับไม่มีลูกศิษย์ลูกหา และนั่นหมายความว่าเขายังไม่คู่ควรจะเป็นผู้ชี้นำใคร คุมะเท็ตสึจึงรับเด็กมนุษย์มาเป็นศิษย์และตั้งชื่อให้เขาใหม่ว่า คิวตะ เมื่อสองชีวิตที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องมาผูกพันกัน ความผูกพันแบบหวังผลประโยชน์ในตอนแรกก็ได้แปรเปลี่ยนเป็นความสัมพันธ์ที่แนบแน่นไม่แพ้สายเลือด แล้วใครจะได้เป็นประมุของค์ต่อไปในโลกคู่ขนานนี้
หากเทียบกับภาพยนตร์ก่อนหน้านี้ของโฮโซดะ นี่น่าจะเป็นหนังที่มีความเป็นหนังแอ็กชั่นเยอะที่สุด และอาจจะเพราะเป็นการเขียนบทเองเต็มๆ ครั้งแรกทำให้เนื้อหาบางส่วนเหมือนเล่าข้ามช็อตไป แต่กระนั้นในส่วนเรื่องความสัมพันธ์ของตัวละครก็ยังเป็นส่วนที่ถ่ายทอดออกมาได้ดี เพราะโฮโซดะยังทำให้เรารู้สึกได้ว่าความสัมพันธ์แบบครอบครัวนั้นเกิดขึ้นได้ ทั้งในแง่สายเลือด หรือแง่ความผูกพัน และความสัมพันธ์แบบไหนก็สำคัญไม่แพ้กัน
อนาคตที่รออยู่ภายภาคหน้า
ผลงานกำกับล่าสุดของโฮโซดะคือภาพยนตร์เรื่อง Mirai No Mirai หรือที่ใช้ชื่อไทยว่า ‘มิไร มหัศจรรย์วันสองวัย’ ที่ยังคงเล่าเรื่องของครอบครัวอยู่ แต่คราวนี้จะโยกย้ายมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับ ‘พี่น้อง’ ผ่านมุมมองของ คุนจัง เด็กชายวัย 4 ขวบที่กำลังงอแงและต้องการความสนใจจากพ่อแม่ที่ตอนนี้ง่วนกับการดูแล มิไรจัง น้องสาวที่เพิ่งคลอดได้ไม่นาน สำหรับครอบครัวปกติ การเรียนรู้ว่าการเป็นพี่น้องกันต้องทำตัวอย่างไรนั้นคงต้องใช้เวลาและความเข้าใจกันพอสมควร แต่สำหรับหนังที่โฮโซดะบอกเล่า เขาใช้ความแฟนตาซีพาให้คุนจังได้เจอกับมิไรในอนาคตที่ย้อนเวลากลับมาบอกล่าวกับเขาว่า การเป็นพี่น้องที่ดีต่อกันจะเป็นอย่างไรบ้าง
ภาพยนตร์เปิดตัวในญี่ปุ่นไปในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แม้จะมีข่าวว่าหนังทำรายได้เปิดตัวน้อยกว่าภาพยนตร์ก่อนหน้าของโฮโซดะอยู่มาก แต่ก็มีคำชื่นชมว่าชายผู้นี้ก็ยังพาคนดูไปเห็นมุมอีกมุมของครอบครัวได้ดีอยู่เช่นเดิม
ถึงอนาคตจะยังไม่ชัดเจน และอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แต่ก็น่าติดตามอยู่ว่าในภายภาคหน้าหลังจากนี้เขาจะเปิดแผนที่แล้วเดินไปทิศใดต่อ เพราะเรื่องของครอบครัวนั้นก็เหมือนจะถูกเล่าไปหลายด้านแล้ว และเราก็เชื่อว่าเขาจะสร้างผลงานอนิเมชั่นที่ดีออกมาให้เราได้รับชมต่อไปอย่างแน่นอน
อ้างอิงข้อมูลจาก