งานนวราตรีที่วัดพระศรีมหาอุมาเทวีปีนี้ น่าจะคึกคักจัดหนักจัดเต็ม เพราะซีรีส์ ‘มหากาลีเทวีพิทักษ์โลก’ ผ่านมา 60 กว่า EP แล้ว ก็น่าจะมีอิทธิพลกับคนที่อินละครบ้าง
โดยเฉพาะบรรดา LGBT ต่างนับวันถอยหลังไปร่วมเทศกาลแห่เจ้าแม่วัดแขกสีลมเป็นพิเศษ เพื่อนสาวตัวแม่หลายนางจับจองพื้นที่ตระเตรียมอุปกรณ์แต่งซุ้มโต๊ะหมู่บูชาต้อนรับขบวนแห่อย่างอลังการ บางนางสาละวนเลือกชุด cosplay เป็นมหาเทวี มหารานี หญิงอินเดีย หาสไบส่าหรีเครื่องมงสวมหัวราวกับว่าถ้าไม่ปังพระแม่จะไม่ประทานพร บางนางออกกำลังฟิตซ้อมเต้นโชว์ถวายเจ้าแม่และประทับทรง ในคืนนวราตรีจะคลาคล่ำไปด้วยเก้งกวางกะเทยตลอดถนนที่ขบวนแห่จะเคลื่อนผ่าน
เพราะการไปร่วมงานแห่พระแม่นี้เป็นทั้งพิธีกรรมและพื้นที่สื่อสารระหว่างสาวกผู้ศรัทธาในระดับปัจเจกกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนบูชา ขณะเดียวกันก็มีพิธีกรรมและพื้นที่ที่ซ้อนพิธีกรรมอีกที ก็คือกลุ่มเกย์และหญิงข้ามเพศโดยเฉพาะอย่างยิ่งร่างทรงและศิษยานุศิษย์ซึ่งก็เป็นอีกวัฒนธรรมย่อย (subculture) หนึ่งของเก้งกวางกะเทย จะสื่อสารกันเองระหว่างกันผ่านซุ้มต้อนรับขบวนแห่ตลอดสองข้างทางว่าใครสังกัดอยู่กลุ่มไหน ตำหนักไหน สนิทสนมกับใคร ศรัทธาร่างทรงคนไหนเป็นพิเศษ
ไม่เพียงแต่เป็นการบ่งบอกถึงเครือข่ายสังกัด แต่ยังเป็นการประกวดประชันผ่านการประดับประดาซุ้มตกแต่งเทวรูปรับเสด็จพระแม่ หรือโชว์อภินิหารองค์ลงฆ่าเวลารอรถแห่พระศรีมหาอุมาเทวีเคลื่อนผ่านใครวิจิตรพิสดารอลังการกว่ากัน ใครรุ่นใหญ่ไฟกระพริบใครมหัศจรรย์พันลึกกว่า ถือว่าเป็นผู้อุทิศตัวให้พระแม่มากกว่า มีทรัพยากรมากกว่า ซึ่งก็บอกเป็นนัยๆ ว่า ได้รับบารมี เข้าถึงใกล้ชิดพระแม่มากกว่า
แต่ละซุ้มรับขบวนเสด็จจึงมีป้ายชื่อแบรนด์ต่างๆ ทั้งบริษัทและตำหนักร่างทรง โฆษณาไปในตัว
ส่วนเรื่องที่เก้งกวางกะเทยไทย สื่อสารกับพระแม่จากอินเดียรู้เรื่องกว่านั้น ถูกอธิบายว่าส่วนหนี่งเป็นเพราะศาสนาฮินดูนิกายศักติในไทยยืดหยุ่นอะลุ้มอล่วยกับความหลากหลายทางเพศ LGBT เข้าถึงสัมผัสได้ทางตรง สื่อสารได้เอง และรู้สึกปลอดภัยและสบายใจกว่าที่จะสมาทานไม่เหมือนศาสนาอื่นๆ ที่ตีตราว่าบาป ให้คนข้ามเพศคนรักเพศเดียวกันเป็นกรรมเวรจากชาติภพเก่า หรือเป็นความชั่วร้ายที่ทำให้พระเจ้าพิโรธและจะต้องโดนลงโทษ ต่อให้ LGBT อุทิศตัวมากแค่ไหนก็ถูกลดทอนคุณค่าความเป็นคนอยู่ดี
แถมพระแม่ก็เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปรากฏในร่างเทวนารี ที่มีทั้งความดุดัน แข็งแกร่ง fierce ศรี เป็นตัวแม่ สง่างาม มีกฤษดาภินิหาร จึงเข้ากันได้ดีกับอัตลักษณ์และสร้างศรัทธาให้กับเก้งกวางกะเทยได้มากกว่า โดยเฉพาะเมื่อไปเทียบกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มาในรูปผู้ชายแก่ๆ นั่งหลังค่อม ดูกระเสาะกระแสะ ไม่ได้แสดง action ใดๆ
การแสดงตัวเป็นผู้อุทิศตัวแด่พระศรีมหาอุมาเทวี จึงเป็นการประกาศตัวตนใจกลางเมืองหลวง ทั้งเพศสภาพ เพศวิถี และความเชื่อไปพร้อมกัน ภายใต้สังคมและสิ่งแวดล้อมที่พร่ำบอกว่าเป็นสังคมพุทธเมืองพุทธ ซึ่งก็เป็นศาสนาปิตาธิปไตยที่รักต่างเพศนิยมเป็นใหญ่ ทั้ง ๆ ที่ศาสนาพุทธหรือศาสนาใดๆ ก็เป็นความเชื่อส่วนบุคคล ไม่ใช่คำนิยามเมืองใดเมืองหนึ่งโดยเฉพาะ หรือจะเอามาเป็นธรรมนูญของเมืองนั้นๆ
อย่างไรก็ตาม ขณะที่เควียร์ไทยเลือกขบวนแห่เทพเจ้าจากอินเดียเพื่อสร้างพื้นที่ประกาศคุณค่าในตัวเอง เควียร์อินเดียใช้การเดินขบวนพาเหรดทางการเมืองหรือ ‘เกย์ไพรด์’
เกย์พาเหรดเป็นกิจกรรมที่มีความหมายถึงเสรีภาพ อิสรภาพ ภาคภูมิใจในเพศสภาพเพศวิถีตนเองด้วยการเชื้อเชิญคนรักเพศเดียวกันเปิดตัวและออกมาประกาศตนเองอย่างหาญกล้าบนพื้นที่สาธารณะ ตั้งแต่ 1955 กระทั่งเกิดเหตุการณ์ Stonewall Riots1969 เกย์พาเหรดตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมาก็จัดขึ้นในเดือนมิถุนายนเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์จลาจลในครั้งนั้นและการต่อสู้ครั้งใหญ่ของคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศต่อการคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐ
เกย์ไพรด์ครั้งแรกแห่งเอเชียใต้คือ Kolkata Rainbow Pride Walk ในปี 1999 ที่เมืองโกลกาตา (ชื่อเก่าคือกัลกัตตา-Calcutta ) โดยการรวมตัวของขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมสาระที่ต้องการจะสื่อสารคือ สิทธิ LGBT ความเสมอภาค ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ความรัก การยอมรับ ไม่เฉพาะประเด็นเพศสภาพเพศวิถี แต่รวมถึงศาสนา เด็กเยาวชน และสถานภาพสตรี เป็นปีเดียวกับที่ประเทศไทยจัดเกย์พาเหรดครั้งแรกเช่นกัน ที่สีลม พ.ศ. 2542 ทว่ามีความหมายเพื่อการค้าการท่องเที่ยว ปาร์ตี้แต่งแฟนซีเพื่อความสนุกสนานของคนกรุงเทพชนชั้นกลางมากกว่าเรื่องสิทธิเสรีภาพ ด้วยเหตุเกย์พาเหรดแรกของชาวไทยจัดในวันฮาโลวีน[1]และเช่นเดียวกับที่ LGBT บูชาฮินดูนิกายศักติ เกย์พาเหรดกลายเป็นเพียงอีกวัฒนธรรมย่อยของชาวเกย์ไทย และไม่ค่อยได้รับความสนใจจาก LGBT มากนัก ซ้ำร้ายมีอยู่ปีหนึ่งนำไปสู่ความรุนแรงในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 กลางเมืองเชียงใหม่มีการปิดล้อมขว้างปาข้าวของตะโกนด่าทอ
เมื่อแรกมีเกย์ไพรด์ในอินเดียนั้น ผู้ร่วมกิจกรรมยังคงสวมหน้ากากสีสันสดใสหรือแต่งหน้าแปลงโฉม เป็นการอำพรางตัวเพื่อเลี่ยงไม่ให้ใครรู้ กลัวพ่อแม่รู้ และดักทุบตีทำร้ายร่างกายภายหลัง ต่อมาจึงเริ่มมีการขอร้องให้กล้าเปิดหน้าเดินพาเหรด เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงบนพื้นที่สาธารณะ
ขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมเพื่อสิทธิเสรีภาพเกย์ชายในอินเดียก่อตัวกันขึ้นโดยองค์กรทำงานด้าน HIV ที่ชื่อ AIDS Bhedbhav Virodhi Andolan ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม ABVA ก่อตั้งในปี 1989 ที่นิวเดลี เริ่มมีบทบาทใน 1992 เดินขบวนในเดลีเรียกร้องเรื่องที่ตำรวจคุกคามเกย์ชาย ต่อมาในปี 1994 เคลื่อนไหวให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 377 ที่คาดโทษคนรักเพศเดียวกันในฐานะอาชญากรจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี ด้วยการยื่นฟ้องร้องศาลสูงเดลี และเรียกร้องให้ยุติการห้ามแจกจ่ายถุงยางอนามัยในทัณฑสถาน
ขณะที่กลุ่มหญิงรักหญิงก่อตัวเป็นองค์กรที่เดลีเช่นกันในปี 1991 ชื่อ ‘ศักติ’ (Sakti) แต่บทบาทที่โดดเด่นของขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนเพื่อเกย์หญิงเกิดขึ้นในปลาย 90’s เป็นผลสืบเนื่องจากหนังบอลลีวูดกระแสหลักเรื่อง ‘Fire’ (ฉายครั้งแรกที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโทรอนโตปี 1996 ที่อินเดียปี1998) ที่พูดถึงชีวิตรันทดของผู้หญิงภายใต้โครงสร้างปิตาธิปไตยเข้มข้นตามขนบอินเดียและความรักเพศเดียวกันอย่างเปิดเผย หนังเรื่องนี้โดนกระแสสังคมปิตาธิปไตยรักต่างเพศนิยมถล่มอย่างกักขฬะ ป่าเถื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกพรรคการเมืองระดับภูมิภาคขวาจัด ‘Shiv Sena’ ที่เป็นแกนนำตบเท้าถล่มโรงหนังเผาโปสเตอร์ทุบกระจก บังคับให้คืนเงินค่าตั๋วหนัง และตั้งป้อมโจมตีหนังเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ด่าว่าเป็น “การก่อการร้ายทางวัฒนธรรม” และหญิงรักหญิงก็คือ “แหล่งเพาะเชื้อเอดส์ทางสังคม” ที่แพร่กระจายเหมือนเชื้อโรค[2]นำไปสู่แคมเปญเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีและสิทธิหญิงรักหญิงที่กว้างขวาง
อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าก่อนหน้านี้ไม่มีการต่อสู้ต้านทานการเลือกปฏิบัติการคุกคาม LGBT ในอินเดีย หากแต่การรวมกลุ่มกันเคลื่อนไหวแทนระดับปัจเจกทำให้ถูกมองเห็นและมีตัวตนบนพื้นที่สาธารณะ และการเกิดขึ้นที่แตกต่างกันของขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนระหว่างเกย์และเลสเบี้ยนก็ทำให้องค์กรมีหนทางเป็นของตัวเอง ของชายรักชายเป็นเรื่องสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน เซ็กส์ปลอดภัย กลุ่มเคลื่อนไหวหญิงรักหญิงเป็นส่วนหนึ่งกับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีและเฟมินิสต์ที่ตั้งคำถามถึงเพศวิถีและอำนาจในการตัดสินใจจัดการเนื้อตัวร่างกายของพวกเธอเอง[3]
จากนั้นองค์กรและกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมก็เพิ่มและหลาหลายขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการเดินพาเหรดเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งในการเคลื่อนไหวเพื่อสื่อสารเกี่ยวกับอัตลักษณ์เกย์เลสเบียนและคนข้ามเพศ LGBT ในหนังบอลลีวูดค่อยๆ เปลี่ยนจากตัวตลกและผู้ที่ถูกทารุณกรรมกลายเป็นเพื่อนพระเอกนางเอกและตัวรอง นักกิจกรรมเคลื่อนไหวในอินเดียหลายๆเมืองเชื่อว่างาน gay pride ที่ประกาศกร้าวถึงเพศสภาพเพศวิถีที่หลากหลายที่จะต้องได้รับสิทธิศักดิ์ศรีอย่างเสมอภาค มีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการสถานภาพของชายรักชายหญิงรักหญิง[4]ขณะที่กะเทยคนข้ามเพศในนามของ ‘ฮิจรา’ ได้รับการยอมรับในฐานะ ‘เพศที่3’ และชนชายขอบ ภายใต้ความเชื่อศาสนาฮินดูดั้งเดิมหลายศตวรรษเกี่ยวกับพลังอำนาจลึกลับศักดิ์สิทธิ์ของฮิจรา
ในหลายๆ รัฐของอินเดียก็มีพัฒนาการและยอมรับความหลากหลายมากขึ้นแม้แต่ในชนบทที่เคร่งจารีตห่างไกลจากตัวเมือง
อันเนื่องมาจากอินเทอร์เน็ตราคาไม่แพงและสมาร์ทโฟนได้ทำให้พวกเขาและเธอสร้างเครือข่าย ตัวตน ภาคภูมิใจ ไปจนถึงหาประสบการณ์ทางเพศ และสร้างอำนาจได้ด้วยตนเองผ่านการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจในระดับปัจเจก พึ่งพิงผู้อื่นน้อยลง
หนังบอลลีวูดที่เป็นอุตสาหกรรมใหญ่ของประเทศก็เช่นกัน หนังอินเดียที่เล่าถึงความรักความสัมพันธ์ของเกย์เลสเบี้ยนต่างทยอยเพิ่มขึ้นโดยไม่มีอันธพาลไปถล่ม และเริ่มมีการจัด Queer Film Festival หลายๆ ครั้ง BQFF ตั้งแต่ 2008 งาน KASHISH ในปี 2010
แม้ว่าสิทธิขั้นพื้นฐานของความหลากหลายทางเพศในอินเดียเป็นไปอย่างลักปิดลักเปิด ในปี 2009 ศาลสูงแห่งเดลีได้ยกเลิกกฎหมายอาญาห้ามเพศสัมพันธ์ที่ ‘ผิดธรรมชาติ’ อันเป็นมรดกจักรวรรดินิยมอังกฤษ ทำให้รักเพศเดียวกันไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไปจนกระทั่ง 2013 การตัดสินนี้ถูกคว่ำไปโดยศาลฎีกา นักกิจกรรมจึงขยายการเคลื่อนไหวมากขึ้น เพราะแม้จะไม่ค่อยพบการฟ้องร้องดำเนินคดีคนรักเพศเดียวกันแต่ที่พบสม่ำเสมอคือตำรวจและพวกใช้ศาลเตี้ยข่มขู่คุกคามและแบล็คเมล์ การเปิดเผยกับคนในครอบครัวยังคงนำไปสู่ความรุนแรง ถูกจับไปหาจิตแพทย์ การรักษาด้วยการช็อกไฟฟ้า ให้หมอเถื่อนหรือโยคีรักษา เพราะเชื่อว่าทำให้เสื่อมเสียวงศ์ตระกูล คนรักเพศเดียวกันหอมหรือจุ๊บกันในที่สาธารณะสามารถทำให้ประชาชีโกรธได้ เกย์พาเหรดในหลายๆ ที่ LGBT ยังคงต้องแอบไปไม่ให้พ่อแม่รู้[5]
อย่างไรก็ตามในวันที่ 6 กันยายน 2018 ที่ผ่านมา ศาลสูงสุดของอินเดียก็ได้ยกเลิกกฎหมายนี้อีกครั้ง
สำหรับประเทศไทย แม้ขบวนแห่เกย์ไพรด์จะไม่ได้จัดมานานหลายปีแล้วแต่ก็ยังดีที่ยังมีงานขบวนแห่พระแม่วัดแขกเปิดกว้างพอที่คนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศแสดงความภาคภูมิใจในตนเองแฝงไปกับเทศกาลอื่นได้บ้าง แต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยยกระดับสถานภาพเควียร์ไทย หรือสร้างความยอมรับในเชิงโครงสร้างได้ เป็นเพียงการสร้างความยอมรับในระดับปัจเจกฐานะร่างทรงให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กลายเป็นการสร้างคุณค่าที่ต้องอิงกับบุคคลอื่นอีกที เหมือนกับการหาพื้นที่ประกาศตัวตนบนที่สาธารณะต้องไปแฝงกับพื้นที่งานสาธารณะอื่นอีกที
บางทีการที่ขบวนเห่พระแม่วัดแขกสีลมดึงดูด LGBT ไทยไปร่วมงานมากกว่าขบวนเกย์พาเหรดบนถนนสีลมอาจจะเป็นภาพสะท้อนกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของ LGBT ในประเทศเอง
เพราะขณะที่อินเดียเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตย มีรัฐบาลท้องถิ่นที่ปกครองตัวเอง มีประชาธิปไตยที่มั่นคง พลเมืองก็ไม่เชื้อเชิญทหารมารัฐประหาร ซึ่งก็ทำให้เป็นฆราวาสวิสัย (secularism) ที่รัฐปฏิบัติต่อทุกศาสนาอย่างเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ กฎหมายไม่คุ้มครองศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะ ไม่เรียกเก็บเงินหรือให้เงินบำรุงศาสนาหนึ่งมากกว่าอีกศาสนาหนึ่ง และไม่ได้ให้อภิสิทธิ์กับนักบวชศาสนาใดโดยเฉพาะ[6]
แต่ประเทศไทยนั้นไม่เพียงประชาธิปไตยจะไม่มั่นคง ทหารเข้ามารัฐประหารเสมอ ปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการมากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ยังเอาศาสนาตัดสิน ร่ำๆ จะให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ อ้างเมืองพุทธเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวทางสังคมและก็อ้างเมืองพุทธเป็นเครื่องมือขจัดขบวนการเคลื่อนไหวเช่นกัน
เควียร์ไทยจึงง่ายที่จะจำนนต่อการถูกตีตราว่าเป็นอื่น มีสถานะต่ำกว่า เพราะเป็นกรรมเก่าหรือมีบาป จึงต้องพึ่งศาสนาไหว้พระมูเตลู ดิ้นรนในระดับปัจเจกมากกว่าจะแก้ไขเชิงโครงสร้าง ลำพังเป็นแบบนี้ก็แย่อยู่แล้วจะไปร้องแรกแหกกระเชอปิดถนนทำไม คนยิ่งเกลียดเข้าไปใหญ่ หมั่นเข้าวัดทำบุญไถ่บาปดีกว่า แล้วปล่อยให้ขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมเท่าที่มีอยู่เขาต่อสู้กันไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ. ขบวนการเคลื่อนไหวของเกย์ในสังคมไทยภาคปฏิบัติการและกระบวนทัศน์. คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2553.
[2] Bearak, Barry. “A Lesbian Idyll, and the Movie Theaters Surrender”, New York Times (24 December1998).
[3] Shraddha Chatterjee. Queer Politics in India : Towards Sexual Subaltern Subjects. Abingdon, U.K. : Routledge, 2018.