เมื่อเราก้าวเข้าสู่ยุคสมัยแห่งการสื่อสารไร้พรมแดนและมาตรฐาน ที่ผู้ประกาศข่าวสามารถก่นด่าออกสื่อได้อย่างหยาบๆ คายๆ ดังที่อัญชะลี ไพรีรักไปด่าบุคคลในข่าวว่าพ่อแม่ไม่สั่งสอน แล้วพีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสทช. (กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ซึ่งมีตำแหน่งประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ก็เข้ามาปกป้องคุ้มครองว่า เท่าที่ตรวจสอบยังไม่มีอะไรที่เกินเลย[1] เช่นเดียวกับนิพนธ์ นาคสมภพ นายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) เสนอว่าพฤติกรรมของเธออาจเป็นมิติใหม่ในการเสนอข่าว จรรยาบรรณมันขึ้นอยู่กับว่าเป็นจรรยาบรรณของใคร ถ้าไม่ชอบให้เปลี่ยนช่อง นอกเสียจากว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามที่จ้องจับผิด[2]
การด่าพ่อล่อแม่จึงกลายเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมในการเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนไทย แม้ว่าการหมิ่นประมาทว่าร้ายบุพการีเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโตถึงขั้นฟ้องหย่าได้ในมิติของกฎหมาย หรือเป็นเรื่องคอขาดบาดตายในสังคมนอกจอทีวี ไม่เพียงว่าร้ายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงล้อชื่อพ่อชื่อแม่ด้วย[3]
เนื่องจากครอบครัวถูกอธิบายว่าคือพื้นฐานสร้างอัตลักษณ์ของบุคคลนั้น เป็นแหล่งกำเนิด กำพืดของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และไม่เพียงบุพการีจะเป็นบุคคลที่เรารักผูกพันสนิทสนม แต่ด้วยโครงสร้างครอบครัว พ่อแม่ยังเป็น role model สามารถชี้นำทางจิตวิญญาณ ให้คุณให้โทษ เป็น superhero ที่เรามักจะพึ่งพิงอ้อนวอน สั่งสอนอบรม ให้ความรู้ พ่อแม่จึงเปรียบได้กับศาสดาหรือศาสนานึง มันถึงมีคำพูดประเภทที่ว่า ‘พ่อแม่คือพระคือพรหมของลูก’ ไง ยิ่งภายใต้ระบบอาวุโสนิยม พ่อแม่บุพการียิ่งมีสถานะสูงส่ง ศักดิ์สิทธิ์ต้องเคารพ แตะต้องเอื่อมอาจไม่ได้
เวลาโดนด่าว่า “ลูกพ่อแม่ไม่สั่งสอน” จึงกระเทือนซาง เพราะมันไม่ใช่คำด่าแค่เรา หากแต่ด่าแบบมี reference คือพ่อแม่ครอบครัวว่าบกพร่อง ไม่มีประสิทธิภาพ กำพืดไม่ดี แหล่งกำเนิดห่วย นำไปสู่ผลผลิตที่ผิดพลาด
ดังนั้นในยุคนึงที่ยังมีสำนึกว่ามนุษย์ต้องเป็นรักต่างเพศเป็นเพศวิถีทางธรรมชาติ แล้วคนรักเพศเดียวกันคือความเบี่ยงเบน ตรงกันข้ามกับความ ‘ปกติ’ ก็มีการศึกษาพยายามอธิบายเพศวิถีรักเพศเดียวกันภายใต้วาทกรรมทางการแพทย์ว่าเกิดจากการเลี้ยงดูของครอบครัวหรือความผิดปกติทางชีวภาพ
มีการศึกษาความแตกต่างระหว่างสมองของคนรักต่างเพศ กับคนรักเพศเดียวกันและคนที่ต้องการข้ามเพศมากมาย หลายงานศึกษาอธิบายว่าโรคภัยไข้เจ็บในวัยเด็กนำไปสู่ระดับฮอร์โมนที่ผิดปรกติและส่งต่อรสนิยมทางเพศตอนโต บ้างก็บอกว่าระดับฮอร์โมนที่ผิดปรกติในช่วงพัฒนาร่างกายส่งผลต่อศูนย์สมองส่วนกลางซึ่งส่งผลต่อเพศวิถีมนุษย์ และศูนย์สมองส่วนกลางที่ความแตกต่างกันไปนั้นมีผลต่อเพศวิถีต่ละปัจเจกบุคค คนรักต่างเพศมักมีศูนย์สมองส่วนกลางคล้ายคลึงกันมาก ขณะที่คนรักเพศเดียวกันและข้ามเพศมีลักษณะแตกต่างกันออกไป แต่ทุกอย่างของพวกแพทย์ก็เป็นสมมติฐานและยังหาข้อสรุปไม่ได้ ภายใต้ความเชื่อของแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ที่ว่ารักเพศเดียวกันและข้ามเพศคือความเบี่ยงเบน[4]
สำหรับประเทศไทยมักอธิบายทางจิตแพทย์ ที่มักออกคู่มือเช่น หนังสือ ‘เลี้ยงลูกอย่างไร ไม่ให้เป็นเกย์’ โดยแพทย์หญิง ลลิตา ธีระสิริ[5] เช่นเดียวกับหนังสือของ น.พ.สิงหนาท อุสาโห และพรรณิภา ต่วนโสภณ ในปี 2526 ชื่อ ‘ความรู้เรื่องเกย์สำหรับคนที่ไม่ใช่เกย์’[6] แล้วพิมพ์ซ้ำในปี 2547 โดยใช้ชื่อว่า ‘เกย์’ ที่ทำหน้าที่คู่มือ ‘การแก้ไขคนเป็นเกย์’ ‘การป้องกันไม่ให้เป็นเกย์’ และรวมไปถึง ‘เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้เป็นเกย์’ นำเสนอว่า เกย์เกิดจากพ่อแม่เอาใจมากเกินไปบ้าง ทอดทิ้งมากเกินไปบ้าง พ่อแม่สั่งห้ามคบผู้หญิงบ้าง ครอบครัวไม่พร้อมหน้าบ้าง นอกจากนี้ยังบอกอีกว่า เด็กผู้ชายที่อยู่กับแม่ ขาดพ่อ จะกลายเป็นเกย์ควีน แต่ถ้าอยู่กับแม่ที่มีนิสัยเกรี้ยวกราดข่มขู่ลูก ลูกจะกลายเป็นเกย์คิง หรือถ้าครอบครัวพร้อมหน้าแต่พ่อเกรี้ยวกราด แล้วแม่ช่างเอาอกเอาใจลูก ลูกก็จะกลายเป็นเกย์ควีน แต่ถ้าพ่อเป็นผู้ชายกลัวเมีย ให้เมียเป็นผู้นำ ลูกก็จะกลายเป็นเกย์คิง หาแฟนเกย์ควีนเพราะกลัวมีแฟนหญิงแล้วจะเหมือนแม่ตนเอง[7] รวมทั้งกรมสุขภาพจิตที่เผยแพร่บทความ ‘การเลี้ยงลูกไม่ให้ผิดเพศ’ โดยศาสตราจารย์แพทย์หญิง นงพงา ลิ้มสุวรรณ ที่ล้วนแล้วอธิบายว่าการรักเพศเดียวกันเป็นความผิดปรกติเบี่ยงเบน และผลลัพท์จากการเลี้ยงลูกแบบผิดๆ[8]
ไม่เฉพาะในกลุ่มจิตแพทย์ ความคิดเช่นนี้ยังไปปรากฏในละครทีวีอย่าง ‘รูปทอง’ (2561) ทางช่อง GMM25 ที่เล่าเรื่องความโกลาหลของครอบครัวหนึ่ง ภายใต้อำนาจนิยมของคุณแม่จอมเกรี้ยวกราดร้ายกาจ ทำให้ลูกชายที่โตมากับคุณแม่เจ้าบงการ กลายเป็นคนรักเพศเดียวกัน แต่ละครเรื่องนี้ก็มาจากนวนิยายเก่าของ กฤษณา อโศกสิน ที่ตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสาร ‘ขวัญเรือน’ ระหว่างปี 2530-2531
การรักเพศเดียวกันจึงกลายเป็นความวิตกกังวลของพ่อแม่ในบางครอบครัว พอๆ กับลูกติดยาหรือท้องในวัยเรียน เพราะพาลไปเชื่อว่าตนเองเลี้ยงลูกไม่ดี มากกว่าจะเข้าใจว่าเพศสภาพเพศวิถีเป็นสิ่งประกอบสร้างที่ปัจเจกบุคคลสามารถเลือกได้เอง และลื่นไหล เป็นเรื่องส่วนบุคคลที่คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็ไม่อาจจะเข้าไปมีอิทธิพลแทรกแซงได้ โดยเฉพาะในโลกหลัง-สมัยใหม่ เช่นเดียวกับการคลุมถุงชนที่กลายเป็นความป่าเถื่อนโหดร้ายไปแล้วในสำนึกปัจจุบัน
การที่พ่อแม่ถูกตั้งคำถามว่า ลูกตัวเองเป็นเกย์หรือกะเทยหรือไม่ จึงมักมีปฏิกิริยารุนแรงทันที
เช่นครอบครัวดารา เจ ปิ่นและลูกๆ ที่ใช้วงการบันเทิงเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนจนนำไปสู่กระแสสังคมมากมาย เช่นโพสต์ในทวิตเตอร์ที่ว่า “ลูกนักร้องดัง ฉายาเบคแฮมเซินเจิ้น ซื้อบริการสาวประเภทสอง” ซึ่งตัวพ่อก็ออกมาอธิบายแทนตัวลูกชายว่า ถ้าลูกเป็นเกย์เป็นกะเทยคนทั้งประเทศก็เป็นเกย์ได้เลย[9] กลายเป็นการประกาศว่าลูกชายตนเองมี ‘ความเป็นชาย’ สูงมากกว่าประชากรชายหลายๆ คนในประเทศนี้
และเพื่อโต้ตอบโพสต์ในทวิตเตอร์ดังกล่าว พ่อลูกวรรธนะสินจึงทำคลิป จำลองบทบาทสมมติว่าลูกโทรศัพท์หาพ่อเปิดเผยว่าเป็นกะเทย พ่อรับไม่ได้อย่างรุนแรงเลยจะให้กลับไปบวช ลูกก็เลยกรีดร้องไม่พอใจ ซึ่งตัวพ่อก็โพสต์พร้อมแคปชั่น “ใครบอกว่าเจ้าขุนเป็นกะเทยคะ? #jaokhun #เจ้าขุน #สายบวก #สายแข็งเชิญทางนี้ #เล่นกรูนักจัดให้ซักดอก TIKTOK : imjetrin”
ส่วนตัวแม่และเมียเองก็ลงคลิปเดียวกันในอินสตาแกรม แคปชั่นว่า “ใครมาหาว่าลูกชายชั้นเป็นกะเทยยะ ?! ดูซิ ว่าไปเรื่อย”
ข่าวลือจากทวิตเตอร์จะจริงหรือไม่นั้นกลายเป็นเรื่องไม่สำคัญไปเสียฉิบ และการเที่ยวไปถามคนนั้นคนนี้หรือยื่นไมค์ใส่ปากให้ตอบว่ามีเพศสภาพเพศวิถีเช่นไร หรือลูกมีรสนิยมทางเพศเช่นไร ก็กลายเป็นการคุกคามทางเพศที่ดูเบาบางไปทันที เมื่อเทียบกับครอบครัววรรธนะสินในฐานะสถาบันครอบครัวและสถาบันบันเทิงที่กำลังส่งมอบและผลิตซ้ำความเข้าใจผิด ทัศนคติต่อเกย์กะเทยอย่างเย้ยหยัน
ไม่เพียงความเข้าใจผิดที่ว่า เอากับกะเทยแล้วเท่ากับเป็นเกย์ เพราะเพศวิถีลื่นไหลได้ ไม่ว่าใครก็สามารถมีเพศสัมพันธ์มีความหฤหรรษ์ทางเพศอย่างไรก็ได้ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง คนที่นิยามตนเองว่าเป็นเกย์หรือชายรักชายอาจจะหมายความว่า ตนเองมีความต้องการทางเพศกับเพศสภาพหรือเพศสรีระที่เป็นชาย และกะเทยก็เป็นมีเพศสรีระและอัตลักษณ์ที่ต่างออกไป เธออาจจะนิยามตนเองเป็นกะเทย สาวประเภทสองหรือผู้หญิง การที่ผู้ชายไปมีเพศสัมพันธ์กับเธอจึงไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการเป็นเกย์ ซ้ำร้ายยังการบอกว่าเอากับกะเทยคือเป็นเกย์จึงเป็นการไม่เคารพเพศสภาพเพศสรีระของเธอ แต่ยังยัดใส่ความหมายเพศชายที่เธอไม่ได้ต้องการ เช่นเดียวกับการบวชพระก็ไม่ใช่หนทางในการเทิร์นเพศสภาพเพศวิถี เพียงแต่ในประเทศที่กีดกันผู้หญิงบวชภิกษุณี ผูกขาดให้ผู้ชายเป็นเพศที่บวชได้เท่านั้น ก็ทำให้การบวชพระเป็นเครื่องมือแสดงออกถึง ‘ความเป็นชาย’
บางทีงานศึกษาพฤติกรรมเหยียดคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศว่าเป็นเพราะพันธุกรรม หรือเพราะการขัดเกลาเลี้ยงดู ก็เป็นประเด็นที่น่าศึกษาว่า พ่อแม่ไม่สั่งสอนหรือเพราะพ่อแม่สั่งสอนถึงเป็นเช่นนี้
เอาเป็นว่า #เล่นกรูนักจัดให้ซักดอกครั้งนื้ สัมฤทธิ์ผล แทงถึงขั้วหัวใจคนเป็นเกย์และกะเทยสมใจสมาชิกครอบครัววรรธนะสินจริงๆ ไม่ใช่เพียงการล้อเลียนเกย์และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกะเทยให้เป็นตัวตลกอย่างที่สื่อบันเทิงมากมายกระทำเป็นนิจสิน หากแต่กำลังนำ trauma และปมในจิตใจของเขาและเธอมาเย้ยหยัน
เพราะสถาบันที่เรียกว่า ‘ครอบครัว’ นี่แหละ ที่คนเป็นพ่อเป็นแม่มีอิทธิพลต่อลูกสูงมาก การเปิดเผยว่าตนเองเป็น LGBTQ ให้พ่อแม่รับรู้ หรือว่าบังเอิญพ่อแม่ไปรู้เข้า จึงกลายเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในชีวิต และบางรายก็ถึงกับชีวิต เพราะบางคนถูกทุบตี เตะ ทำร้าย ตัดขาด ไล่ออกจากบ้าน[10] การเปิดเผยเพศวิถีเพศสภาพของ LGBTQ จึงเป็นเรื่องคอคาดบาดตายในโลก heteronormative เพราะมันไม่ได้มีหลายครอบครัวที่โชคดี พ่อแม่ยอมรับได้เรื่องเพศสภาพเพศวิถีส่วนบุคคลลูก
ลำพังการปกปิดเพศสภาพเพศวิถีของลูกที่เป็น LGBTQ ไม่ให้พ่อแม่รับรู้ก็ทุกข์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หลายคนแม้บ้านจะเป็นพื้นที่ที่ผูกพันที่สุด แต่กลับเป็นพื้นที่ที่ไม่เป็นตัวของตัวเองที่สุด ต้องระมัดระวังมากที่สุด และอึดอัดที่สุด บางคนเลือกที่จะปกปิดไปตลอดชีวิต
ระหว่างความพยายามที่จะบอกครอบครัวก็เต็มไปด้วยความกังวล ทุกข์ใจ กลัดกลุ้มสับสนระหว่างความต้องการส่วนตัว ตัวตนภายในจิตใจกับความคิดที่ว่าทำให้พ่อแม่เสียใจ ทำบาป ลูกอกตัญญู ที่ถาโถมเข้ามา กลัวทั้งความรู้สึกของเขา และความสัมพันธ์ อนาคตของเรา และการทำให้สิ่งแวดล้อม คนที่เรารัก คนใกล้ตัว ยอมรับในตัวตนของ LGBTQ มันเป็นเรื่องที่ต้องใช้กระบวนการและระยะเวลาทำความเข้าใจ
การเปิดเผยเพศสภาพเพศวิถีให้ครอบครัวรับรู้หลายคนมีประสบการณ์ที่เจ็บปวด พ่อแม่บางคนรับรู้แล้วแต่รับไม่ได้ ก็พยายามให้ลูกเทิร์น จับแต่งงาน พาไปดูตัว พาไปหาหมอเพราะเชื่อว่าวาทกรรมทางการแพทย์พวกนั้น ไปจนถึงทำร้ายร่างกาย ด่าทอ ประจาน ไล่ออกจากบ้าน ตัดเยื่อใย
แม้แต่คนในวงการบันเทิงบางคน ที่นักข่าวไม่ใช่พ่อใช่แม่ ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัว ยังปกปิดเช่นกัน ดาราพิธีกรคนนึงต้องพยายามเก็บซ่อนชีวิตรักเพศเดียวกันของตนเองออกจากสื่อ แม้จะอยู่ในวงการมา 10 กว่าปีแล้ว แม้จะเคยมีภาพข่าวปาปารัสซี่เดินควงกับหนุ่ม เจ้าตัวก็ยังตอบเพียงว่าเป็นแค่เพื่อนสนิท แม้ว่านักข่าวจะเผือกเรื่องส่วนตัว หมั่นถามถึงเพศวิถีของเขา แค่เขาพยายามเลี่ยงไม่ตอบ ตอบไม่ตรงคำถามบ้าง แม้ว่าจะคบกับแฟนหนุ่มมาแล้ว 9 ปี จนแต่งงานกันแล้ว แต่ก็ยังแต่งเงียบๆ ไม่ให้สื่อรับรู้ กว่าจะออกมาเปิดเผยตัวตนให้สังคมได้รับรู้ในปี 2558 ในรายการทีวีว่า “ผมเป็นเกย์ ผมไม่ได้ชอบผู้หญิง” ซึ่งพอได้เปิดเผยกับสื่อแล้ว เขาให้สัมภาษณ์ว่า “รู้สึกโล่งและสบายใจขึ้นมา อีกทั้งยังบอกอีกว่า ทำให้แฟนของตนเองมีที่ยืนในสังคมมากขึ้น”[11] และ “ทำให้ความรักเรามันแน่นขึ้นอีก ทำให้เราสามารถจะจับมือกันได้ในที่สาธารณะเราจะได้ไม่ต้องงง”[12]
อ่อ…ดาราคนนี้แหละที่เข้าไปคอมเมนต์ชื่นชอบคลิปพ่อเจกับลูกเจ้าขุนล้อเลียนกะเทย
ดังนั้นจึงไม่แปลกใจอะไรกับดารานักร้องที่อ้างตนเองเป็น ‘ตัวแม่’ ขวัญใจชาวเกย์ จัดคอนเสิร์ตหากินกับชาวเกย์ ก็ยังไปคอมเมนต์ร่วมหัวเราะไปกับการเย้ยหยันครั้งนี้ เผยให้เห็นว่าเอาเข้าจริงแล้ว พวกเธอก็เป็นแต่แม่ปลอมๆ (ปลอมพอๆ กับที่จิกตาไปมาเต้นยักแย่ยักยันบนเวที แล้วบอกว่าตนเองเป็น ’Dancing Queen’) เป็นมิตรกับ LGBT ในฐานะตลาดที่มีอำนาจในการจับจ่ายมากพอที่จะทำให้พวกเธอเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้ในช่วงบั้นปลายชีวิตวงการบันเทิงก็เท่านั้น
ฉะนั้นการที่ดาราประเภทนี้จะกลับลำ ออกมาแก้ตัวว่าแค่ขำๆ ไม่ได้เหยียด เพราะอยู่ในวงการบันเทิงมี LGBT ตั้งมากมาย มีเพื่อนเป็น LGBT ตั้งเยอะแยะ จะเหยียดทำไมก็ยิ่งเผยให้เห็นความปลอม ความไม่เข้าใจอะไรเลยเกี่ยวกับ LGBT
อ้างอิงข้อมูลจาก
[2] www.khaosod.co.th/politics
[4] Francis Mark Mondimore. A Natural History of Homosexuality. London: The Johns Hopkins University Press, 1996, p. 120-121.
[5] ลลิตา ธีระสิริ. เลี้ยงลูกอย่างไร ไม่ให้เป็นเกย์. กรุงเทพ: รวมทรรศน์, 2530,
[6] สิงหนาท อุสาโห และ พรรณิภา ต่วนโสภณ. ความรู้เรื่องเกย์ สำหรับคนที่ไม่ใช่เกย์ โดย กรุงเทพฯ, โรงพิมพ์แสงรุ้งการพิมพ์,2526.
[7] สิงหนาท อุสาโห ; พรรณิภา ต่วนโสภณ. เกย์. กรุงเทพ:ดอกหญ้า, 2547, น. 65.
[9] www.khaosod.co.th/entertainment
[10] อ่านเพิ่มเติม thematter.co