“…4 ฤดูร้อนที่แล้ว ผมพบคนๆ หนึ่ง ตอนนั้นผมอายุ 19 และเขาก็เช่นกัน เราใช้เวลาฤดูร้อนนั้นและฤดูร้อนถัดมาด้วยกันเกือบทุกวัน ในวันที่เราอยู่ด้วยกันเวลาผ่านไปเร็วเหลือเกิน เกือบทั้งวันสิ่งที่ผมเห็นคือใบหน้าและรอยยิ้มของเขา สิ่งที่ผมได้ยินคือบทสนทนาและความเงียบของเขา…”
หากคุณคุ้นเคยกับ tumblr.com อยู่บ้าง คุณคงพอเข้าใจว่า ข้อความด้านบนเป็นข้อความที่พบเห็นได้ทั่วไปบนเว็บบล็อกยอดนิยมซึ่งดาษดื่นไปด้วยโพสต์เรื่องความรัก สมหวังบ้าง ไม่สมหวังบ้าง เรื่องเพื่อน เรื่องครอบครัว เรื่องความคับข้องใจในร่างกาย ในเชื้อชาติ หรือแม้กระทั่งในเพศสภาพของตน และอื่นๆ อีกมากมาย
แต่หากเราให้ข้อมูลอีกนิดว่า ข้อความด้านบนนั้นมาจากแอคเคาต์ tumblr ของ Frank Ocean ศิลปินฮิปฮอปผู้มีเส้นเสียงทางดนตรีอันโดดเด่นและน่าจับตามองมากที่สุดคนหนึ่งแห่งยุค ความเข้าใจของคุณอาจจะเปลี่ยนไป
ในปี 2012—ท่ามกลางการเชิดชูบูชาความเป็นชายแบบสุดโต่ง (hyper-masculinity) ของวงการ Hip Hop/R&B แฟรงก์ โอเชียน ผู้เพิ่งแจ้งเกิดจากอัลบั้มมิกซ์เทป Nostalgia, Ultra (ซึ่งเขาทำด้วยตัวเองทั้งหมดโดยไม่ง้อค่าย Def Jam ที่ดองเขาไว้หลังจากเซ็นสัญญา) พร้อมประกาศตนเป็นไบเซ็กชวลผ่านโพสต์ใน tumblr ไม่กี่วันก่อนสตูดิโออัลบั้มแรกของเขาอย่าง Channel Orange จะเปิดตัว
สำหรับเรา ข้อความดังกล่าวไม่เพียงเป็นการสื่อสารกับแฟนเพลง แต่ยังเป็นการสำแดงพลังคลื่นลูกใหญ่ของชายหนุ่มนามมหาสมุทรว่า เขาจะเข้าสู่วงการสุดแมนมาโชนี้ในฐานะ LGBT คนหนึ่ง—และหากดูจากเสียงตอบรับแง่บวกจาก Nostalgia, Ultra ในตอนนั้น (P.Diddy และ Sean Puff Daddy ฟังแล้วถึงกับตามหาตัวว่าหมอนี่เป็นใคร) เราก็อดคิดไม่ได้ว่าเขาไม่ใช่เพียงศิลปิน LGBT คนหนึ่ง แต่เขาจะเป็นศิลปิน LGBT ที่เก่งที่สุดคนหนึ่งในวงการเลยทีเดียว
หลังจากเผยแพร่โพสต์นี้ออกไป โอเชียนได้รับทั้งดอกไม้และก้อนหิน โดยหนึ่งในศิลปินและโปรดิวเซอร์ตัวพ่อแห่งวงการอย่าง Jay-Z และ Russel Simmons ได้ออกมาสนับสนุน แต่ก็มีศิลปินบางส่วนเช่น Snoop Dogg ออกมาต่อต้าน รวมทั้งให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ ว่าวงการ Hip Hop/R&B ไม่มีพื้นที่ให้ LGBT แต่อย่างใด
นอกจากนี้ยังมีคนตั้งข้อสังเกตว่า โอเชียนอาจไม่ได้ตั้งใจสร้างหลักไมล์ใหม่ให้ชุมชน LGBT แต่แค่อยากได้พื้นที่สื่อเพื่อโปรโมตอัลบั้มใหม่เท่านั้น ซึ่งศิลปินหนุ่มไม่ได้ตอบรับแต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธ เขาให้สัมภาษณ์กับ MTV ว่า “จะมองว่ามันเป็นความกล้าหาญหรือเป็นการตลาดก็แล้วแต่คุณ เพราะผมโพสต์โดยตั้งใจ มันไม่ใช่อุบัติเหตุ”
ความกำกวมนี้ไม่ได้ทำให้เราชื่นชมโอเชียนน้อยลง เพราะแม้ว่าเขาจะไม่ใช่ศิลปิน LGBT คนแรกในวงการ Hip Hop/R&B แต่ก็เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ประสบความสำเร็จในระดับเมนสตรีม พิสูจน์ได้จากการที่ Channel Orange ทะยานขึ้นสู่อันดับ 2 ของ Billboard Chart ตั้งแต่สัปดาห์แรกที่เปิดตัว อีกทั้งเขายังได้รับรางวัลแกรมมี่ 2 สาขา (จากทั้งหมด 6 สาขาที่ถูกเสนอชื่อ)
ซึ่งต้องนับเป็นหมุดหมายสำคัญหากเราไม่ลืมว่ากรรมการส่วนใหญ่ของแกรมมี่นั้นเป็นชายแก่ผิวขาวซึ่งไม่น่าจะชอบใจ LGBT ผิวสีเท่าไรนัก (คิดดูว่าขนาดขุ่นแม่บียอนเซ่ยังไม่เคยได้รางวัลสูงสุดอย่าง Album of the Year ซักที ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นเพราะ #GrammySoWhite ทำนองเดียวกับ #OscarSoWhite) แปลว่าไก่รองบ่อนที่ปราศจากความเหนือกว่าทางเชื้อชาติหรือเพศสภาพ (แบบที่สังคมส่วนใหญ่ยอมรับ) ต้องคว้าแกรมมี่มาได้ด้วยความเหนือกว่าทางพรสวรรค์ล้วนๆ
ดนตรีของโอเชียนมักพูดถึงเหตุการณ์ที่ผ่านพ้นมาแล้ว ความทรงจำที่สวยงามกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งความรวดร้าวและความสุขสมของความรัก หากเปรียบเทียบกับความหยาบโลนและความเกลียดชังที่แร็ปเปอร์หลายคนมักพ่นออกมา (หลายเพลงเข้าข่าย homophobic—แขยงคนรักเพศเดียวกัน ด้วยซ้ำไป) ในขณะที่เนื้อเพลงของโอเชียนสำหรับเราแล้วคงเทียบชั้นบทกวี เพราะมันทั้งรื่นหูและมีการเปรียบเปรยที่งดงาม
“If it brings me to my knees
It’s a bad religion
This unrequited love
To me it’s nothing but a one-man cult
And cyanide in my styrofoam cup
I can never make him love me
Never make him love me” —Bad Religion (Channel Orange, 2012)
“หากมันทำให้ฉันต้องคุกเข่าลง
นี่คงเป็นศาสนาที่ชั่วร้าย
รักแต่เพียงข้างเดียวครั้งนี้
สำหรับผมแล้วไม่ใช่สิ่งใดนอกจากความคลั่งใคล้โดดเดี่ยว
เป็นเพียงไซยาไนต์ในแก้วพลาสติก
ผมไม่อาจทำให้เขารักตอบ
ไม่อาจทำให้เขารักตอบ”
ในฐานะนักแต่งเพลง เราคิดว่าชายหนุ่มวัย 28 ปีคงดึงประสบการณ์และความรู้สึกส่วนตัวมาใช้ไม่น้อย แต่ต่างจากนักแต่งเพลงคนอื่นๆ ที่มักมีข่าวซุบซิบให้เราเดาว่าเขาหรือเธอแต่งเพลงเกี่ยวกับใคร โอเชียนกลับไม่มีข่าวคราวใดๆ ให้เราได้ปะติดปะต่อเรื่องราวชีวิตของเขาเลยแม้แต่น้อย เป็นที่รู้กันว่าเขามักเก็บตัว ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเดินทางและแต่งเพลง นานๆ เขาถึงจะให้สัมภาษณ์ออกสื่อซักที
แม้เราเองจะอยากรู้เรื่องราวของศิลปินหนุ่มมากกว่านี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความลึกลับนี้ทำให้ตัวตนและบทเพลงของเขาน่าดึงดูดใจยิ่งกว่าเดิมเสียอีก อย่างไรก็ตาม แม้เรื่องราวชีวิตและตัวตนของโอเชียนจะลึกลับ แต่บทเพลงของชายหนุ่มกลับสื่อสารตรงถึงขั้วหัวใจของใครหลายคน
ตอนที่ปล่อยอัลบั้มใหม่ที่แฟนคลับรอคอยมานานถึง 4 ปีอย่าง Blonde เมื่อกลางปีที่แล้ว โอเชียนปรากฏตัวในสื่อน้อยลงกว่าเดิมเสียอีก ต่างจากตอนปล่อยอัลบั้ม Channel Orange ที่ทำกับค่าย Def Jam ซึ่งมีการเดินสายโปรโมทอยู่บ้าง แต่ตอนนี้เขาออกจากค่ายดังกล่าวแล้วเรียบร้อย และปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากรูปแบบธุรกิจที่คนส่วนใหญ่ยอมศิโรราบให้
จะเรียกว่าเป็นการขบถต่อระบบก็คงใช่ หรือจะเรียกว่ามองเกมธุรกิจขาดก็น่าจะใช่อีก แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับโอเชียนบอกกับ Forbes ว่า จากเดิมที่ชายหนุ่มจะได้ส่วนแบ่ง 1-2 เหรียญต่อ 1 อัลบั้ม เมื่อออกจากค่าย เขาจะได้ส่วนแบ่ง 5-7 เหรียญต่ออัลบั้มเลยทีเดียว โดยแค่ในสัปดาห์แรกที่เปิดตัว Blonde ขายได้กว่า 230,000 อัลบั้ม (สถิตินี้เป็นรองแค่ Lemonade ของบียอนเซ่และ Views ของเดรกเท่านั้น) ซึ่งแปลว่าแค่ในสัปดาห์แรกศิลปินหนุ่มก็ทำเงินไปได้แล้วกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ
เรื่องเงินคงเป็นเรื่องเดียวเกี่ยวกับโอเชียนที่ไม่ลึกลับ (หากแหล่งข่าวเชื่อถือได้จริงๆ) เพราะนอกเหนือจากนั้นเราไม่รู้เลยว่าตอนนี้เขากำลังทำอะไรอยู่ เดินทางอยู่ที่ไหน เริ่มแต่งเพลงใหม่หรือยัง กำลังร่วมงานกับใครอยู่ เพราะในยุคที่ทุกคนเชื่อมต่อกันผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ชายหนุ่มกลับไม่มีตัวตนอยู่บนโซเชียลมีเดียใดๆ
สิ่งเดียวที่เราทำได้ตอนนี้คือรอ อย่างที่เคยรอเมื่อ 4 ฤดูร้อนที่แล้วนั่นเอง
อ้างอิง