หลังวันวาเลนไทน์ 14 กุมภา วันแห่งความรักที่หลายคนมากมายแสดงออกกันซึ่งความรัก ไม่กี่วันถัดมากลับเป็นอีกวันประจักษ์พยานว่า ความรักของคนกลุ่มหนึ่งไม่เพียงไม่ถูกอนุญาตให้แสดงออก แต่ยังถูกประชาทัณฑ์อย่างรุนแรงในประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนเสรีแห่งคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศ
วันที่ 21 กุมภา วันยุติความรุนแรงต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศ
อันเนื่องมาจากวันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2552 เมื่อจะมี Gay Pride ที่เชียงใหม่ งานเดินพาเหรดเพื่อเรียกร้องให้เคารพสิทธิความหลากหลายทางเพศไม่ว่าจะเพศสภาพเพศวิถีใด และแสดงตัวตนว่า LGBT ไม่จำเป็นต้องปกปิดตัวตน แต่สามารถเปิดเผยได้ในที่สาธารณะ ทว่างานนั้นก็ไม่ได้จัด เพราะเกิดม็อบผู้ต่อต้านประมาณ 200 คน เข้าขัดขวางนำรถบรรทุกพร้อมเครื่องขยายเสียงปิดล้อมจุดนัดพบ คณะผู้จัดและผู้ที่เข้ามาร่วมงานถูกกักขัง ผู้ที่จะเข้าร่วมกิจกรรมก็ถูกสกัดกั้นไม่ให้เข้าไปวงล้อม จากพาเหรดจึงกลายเป็นนั่งสมาธิภาวนาอย่างสันติ
ตลอดระยะเวลา 4 ชั่วโมงในวงล้อม กลุ่ม Gay Pride ถูกคุกคามอย่างป่าเถื่อน ทั้งก่นด่าสาปแช่งหยาบๆคายๆ ขว้างปาข้าวของ เศษอาหาร แก้วน้ำและก้อนหินจนได้รับความบาดเจ็บ ผู้จัดงานบางคนถูกทำร้ายร่างกายอย่างไร้มนุษยธรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้พิทักษ์สันติราษฎ์กว่าร้อยนายก็กลายเป็นจ่าเฉย ไม่ได้ห้ามปราม หรืออย่างน้อยที่สุดดูแลรักษาความปลอดภัย ทว่ากลับโน้มน้าวให้คณะจัดพาเหรด ทำตามเงื่อนไขความต้องการของกลุ่มผู้ใช้กำลัง ให้กล่าวขอโทษแล้วกลับบ้านเพื่อให้เรื่องจบๆ ลงไปซะ
ที่ตลกร้าย กล่าวกันว่าชนวนความรุนแรงไม่ได้มาจากใครที่ไหน แต่มาจากนักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศด้วยกันเอง ด้วยความที่เชื่อว่า Gay Pride ไม่มีระเบียบ ไม่เรียบร้อย ซ้ำยังไม่เหมาะสม ทำลายวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิมอันดีงาม และภาพลักษณ์ความเป็นเมืองวัฒนธรรมของเชียงใหม่ จึงยื่นหนังสือคัดค้านต่อนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ สภาวัฒนธรรม และสำนักงานวัฒนธรรมเชียงใหม่ การท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่[1] และม็อบปิดล้อมงาน pride ก็เป็นกลุ่มคนที่อ้างว่ารักประชาธิปไตย และไปปลุกระดมผ่านวิทยุชุมชนว่า Gay Pride นี้คือพรรคพวกของรัฐบาลเผด็จการส่งให้มาเดินขบวน
เหตุการณ์ในวันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ ทำให้เกิดกลุ่ม ‘เสาร์ซาวเอ็ด’ และนำไปสู่การประกาศ ‘วันยุติความรุนแรงต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศ’
เหตุการณ์ครั้งนี้ชวนให้คิดถึงเหตุการณ์จลาจลอีกฟากมุมของโลกอย่าง Stonewall Riots เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1969 คราวตำรวจไปบุกค้นสั่งปิดเกย์บาร์ Stonewall ใน New York ขณะที่เกย์กะเทยกำลังเต้นรำกันอยู่เพลินๆ จนเกิดการปะทะกันรุนแรง เจ้าหน้าที่ตำรวจสนนกำลัง 500-600 นายเข้ามาสมทบปราบปราม จนมีผู้บาดเจ็บจำนวนมากทั้ง 2 ฝ่าย เกย์กะเทยจำนวนมากถูกจับกุม
เพราะนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา คนรักเพศเดียวกันถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐและมีจิตผิดปรกติ เกย์บาร์กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายถูกสั่งปิด นักท่องเที่ยวถูกจับและประจานบนหนังสือพิมพ์บ่อยครั้ง และความอดทนอดกลั้นต่อการถูกข่มเหงรังแกของพวกเขาและเธอมาถึงจุดระเบิด
ในค่ำคืนนั้น ไม่เพียง ‘Gay power’ จะกลายเป็นวลีนึงที่เกิดขึ้นเพื่อแสดงพลังการไม่จำนนต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพทางเพศ แต่ยังเกิดสำนึกของการต่อสู้เคลื่อนไหวจนมีการรวมตัวเป็นสมาคม ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเพศสภาพเท่านั้น แต่ยังต่อสู้เพื่อผิวสีอีกด้วย
ชุมชนเกย์หลายแห่งทั่วโลกซึ่งก็รวมถึงแม่ไทยด้วย ต่างปักหมุดหมายตนเองกับเหตุการณ์นี้เพื่อประกอบสร้างอัตลักษณ์และความภาคภูมิใจในความรักเพศเดียวกันอย่างเป็นสากล ในการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองเพื่อเสรีภาพ อิสรภาพของความหลากหลายทางเพศสมัยใหม่ เช่นเดียวกับเกย์พาเหรดในสหรัฐอเมริกาหลังจากนั้น ที่จัดขึ้นไม่เพียงเพื่อรวมพลังและสร้างอัตลักษณ์ร่วมอย่างภาคภูมิใจ แต่นับตั้งแต่ค.ศ.1970 เป็นต้นมา ยังเป็นการรำลึกถึงการลุกขึ้นสู้ของเกย์กะเทยที่บาร์ Stonewall
ผลให้หลังของ Stonewall riots ต่างกันลิบลับกับเสาร์ซาวเอ็ด 2552 ที่ไม่เป็นที่จดจำแม้แต่ภายในประเทศ
วันยุติความรุนแรงต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศยังคงจัดรำลึกอย่างเงียบๆ แม้แต่ LGBT บางคนก็ไม่ได้รู้แดดรู้ฝนอะไร ห้ะ!! อะไรนะ?? เสาร์ซาวเอ็ดคืออะไรหรา? เหมือนพระเครื่องเสาร์ ๕ ไหม? ข้าวเสาไห้พันธุ์ใหม่? หรือว่าห้างใหม่แข่งกับ terminal 21?
ประเทศไทยยังคงถูกมองและเข้าใจว่าเป็นสรวงสวรรค์ของ LGBT เปิดกว้างความหลากหลายทางเพศต่อไปอย่างสวยงาม
แม้จะมีการฆ่าเกย์กะเทยเลสเบี้ยนในไทย ก็เข้าใจกันว่าเป็นเพียงชิงทรัพย์หรือหึงโหดเท่านั้น แต่ไม่ใช่ Hate Crime และการแซว สัพยอก กระเซ้าเย้าแหย่ทำให้อับอาย ก็เป็นความรุนแรงที่ถูกเลือกให้พอจะมองข้ามกันได้ เพราะมันก็ยังคงดีกว่าเมื่อไปเปรียบเทียบกับรัฐศาสนาเข้มข้น ที่จับเกย์มาเฆี่ยนกลางสี่แยก เผาทั้งเป็น ปาหินจนตาย หรือโยนลงจากตึกสูงเป็นการประชาทัณฑ์ แต่ความรุนแรงก็คือความรุนแรง ที่อ้างวัฒนธรรมความเชื่อประเพณีเก่าแก่ที่หลงเหลืออยูในโลกปัจจุบัน เป็นเครื่องมือในการผลิตจับอาวุธ DIY ใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็น หิน ไม้ หรือคำพูด
การใช้ความรุนแรงเพียงเพราะความแตกต่างเป็นเรื่องที่น่าเศร้า การหลงลืมเหตุการณ์นั้นน่าเศร้ายิ่งกว่า
ในรัฐที่มองไม่เห็น ‘ความเป็นคน’ ของประชาชน นอกจากจะจัดการกับความหลากหลายของประชาชนด้วยความรุนแรงและไม่เรียนรู้จดจำผลลัพธ์ของการกระทำ ยังไม่ให้ความสำคัญกับวันหรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับ ‘ความเป็นคน’ ของประชาชน เมื่อหันไปดูวันสำคัญในปฏิทินจึงมีไม่กี่วันเท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับประชาชนจริงๆ จังๆ
การที่ปล่อยให้วันสำคัญที่ทำให้เราตระหนักถึง ‘ความเป็นคน’ ต้องดำรงอยู่อย่างล่องหนก็เป็นอีกความรุนแรงเช่นกัน ไม่ต่างไปจากการห้ามปรามไม่ให้คนรักเพศเดียวกันคนข้ามเพศแสดงออกเพศสภาพเพศวิถีอย่างเป็นทางการบนที่สาธารณะ
ไม่แปลกที่เราจะจำวันที่เกี่ยวข้องกับเราจริงๆ ไม่ได้ เราถูกให้จดจำ 26 มิถุนายน วันเกิดสุนทรภู่มากกว่า 24 มิถุนายนที่เป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนเกิดประชาชน มีสิทธิเสรีภาพอย่างเสมอภาค และไม่แปลกใจที่สุดท้ายแล้ว เราจะจำไม่ได้ว่า อะไรคือ 6 ตุลา 14 ตุลา หรือ 16 ตุลากันแน่ และด้วยเหตุผลเดียวกัน วันที่ 30 สิงหาคม วันผู้สูญหายสากลก็หายสาบสูญไปจากหน้าปฏิทินแม้ว่าจะเต็มไปด้วยบุคคลสูญหายโดยการกระทำของรัฐสม่ำเสมอ
วันยุติความรุนแรงต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศ ก็เช่นเดียวกับวันเหล่านี้ ที่จะผ่านไปอีกวันของทุกๆ ปี แบบลืมๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ. (2553). ขบวนการเคลื่อนไหวของเกย์ในสังคมไทยภาคปฏิบัติการและกระบวนทัศน์. กรุงเทพฯ : คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, น. 154-155.