สามวันก่อนผมได้เริ่มทำการทดลองที่ดูแปลกและท้าทายในเวลาเดียวกัน ในยุคที่ข้อมูลทุกอย่างอยู่แค่ปลายนิ้ว กูเกิล (Google) นั้นมีคำตอบให้แทบจะทุกอย่างบนโลกใบนี้ แต่ผมกลับลองพยายามตัดมันออกจากชีวิต สิ่งที่ต้องการอยากจะรู้ไม่ใช่แค่เพื่อความสนุกและพยายามจินตนาการถึงโลกที่ไม่มีกูเกิล แต่อยากลองย้อนกลับไปคิดถึงช่วงเวลาก่อนที่กูเกิลจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตซะมากกว่า
กูเกิลถูกก่อตั้งในปี ค.ศ.1998 ช่วงเวลาก่อนหน้านั้นผมยังเป็นนักเรียนมัธยมปลาย เวลาหาข้อมูลไม่ว่าอะไรก็ตามยังเดินไปที่ห้องสมุดของโรงเรียนอยู่เสมอ (ไม่ใช่เพราะมันเป็นห้องเดียวในโรงเรียนที่ติดแอร์หรอกนะครับ) ทำรายงานทีก็ต้องไปค้นหนังสือมากองเป็นตั้งๆ แล้วไล่เปิดหาข้อมูลกับเพื่อนในกลุ่ม มีช่วงหนึ่งที่ผมพยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับ บิล เกตส์ (Bill Gates) เพราะมีความฝันอยากเป็นโปรแกรมเมอร์ ใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะหาบทสัมภาษณ์แต่ละชิ้นได้ บ่อยครั้งมาเป็นภาษาอังกฤษเพราะไม่มีใครแปล ต้องมานั่งเปิดพจนานุกรมเล่มหนักพอๆ กับก้อนอิฐ มันเป็นอะไรที่ไม่สะดวกสบายเอาซะเลย
อีกหลายส่วนของความทรงจำในสมัยนั้นก็คือว่าเมื่อไหร่ที่เกิดคำถามระหว่างผมกับเพื่อนๆ ในห้อง ส่วนใหญ่แล้วเมื่อถกเถียงกันไปถึงประเด็นหนึ่งอย่าง “หลุมดำคืออะไร?” “ไดโนเสาร์สูญพันธ์เพราะอุกกาบาตจริงๆเหรอ?” สุดท้ายเราก็มักจะไม่ได้คำตอบที่เป็นชิ้นเป็นอัน บางครั้งเข้าเมืองอยากไปเที่ยวเส้นทางต่างๆ ก็ต้องอาศัยคนที่เคยไปมาแล้ว หรือการคาดเดาว่า ‘น่าจะทางนี้’ ผมเคยหมกมุ่นอยากเรียนรู้ทริกแสดงมายากลอยู่ช่วงหนึ่ง แต่การอ่านขั้นตอนจากหนังสือไม่ใช่วีดีโอเหมือนอย่างตอนนี้ ความทรงจำเหล่านั้นยังคงอยู่ เพียงแต่จำไม่ได้แล้วว่ารู้สึกยังไง
จึงกลายมาเป็นความท้าทายที่จะตัดกูเกิลออกจากชีวิตตัวเองเป็นเวลาสามวัน ซึ่งไม่ใช่งานง่ายๆ เลย อย่างแรกที่ตัดออกก็คือ Google Chrome และ Google Search อีกอย่างคือ Google Maps อันนี้หนักไม่แพ้กัน เพราะผมเป็นคนหนึ่งที่มีเซนส์เรื่องทิศทางต่ำมาก จึงต้องพึ่งพามันอยู่หลายต่อหลายครั้ง แถมไม่พอ ส่วนหนึ่งของงานที่บริษัทก็ต้องใช้แอพพลิเคชั่นตัวนี้ การตัดมันออกไปทำให้ชีวิตวุ่นวายไม่น้อย ส่วน YouTube ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกูเกิลก็ไม่สามารถใช้ได้เหมือนกัน (มีอย่างหนึ่งที่ไม่สามารถตัดได้ก็คือ GMail เพราะต้องใช้สื่อสารในการทำงาน)
ทั้งนี้ทั้งนั้นอย่างที่บอกไป แม้ว่าจะมีแอพพลิเคชั่นตัวอื่นที่อาจจะพอทดแทนได้ แต่สิ่งที่อยากทำไม่ใช่การหาของมาแทน แต่อยากพยายามไม่ใช้มันเลยมากกว่า เพราะอยากรู้ว่ากูเกิลนั้นมีอิทธิพลต่อตัวเองมากขนาดไหน โดยเฉพาะเรื่องกระบวนการคิดทั้งหมด
ในหนังสือ The Shallows ของ Nicholas Carr เขาอธิบายถึงอาการบางอย่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นนี้โดยเฉพาะเวลาที่เรากำลังทำความเข้าใจข้อมูลอะไรบางอย่างว่า
“ความสามารถในการจดจ่อของผมเริ่มจะถูกเบี่ยงเบนหลังจากหนึ่งหรือสองหน้า ผมเริ่มอยู่ไม่สุข ความคิดไม่ต่อเนื่องและเริ่มมองหาอะไรบางอย่างทำ”
โดยสิ่งที่หนังสือพยายามจะบอกก็คือว่าสมองของเรานั้นถูกปรับแต่งโดยความต้องการที่จะทำหลายๆ อย่างพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องแลกมาด้วยความสามารถในการคิดในระดับที่ลึกแบบเมื่อก่อน และกูเกิลก็เป็นส่วนสำคัญเลยทีเดียว
“กูเกิลในความเป็นจริงแล้วเป็นธุรกิจของสิ่งรบกวนเลยทีเดียว”
Carr ยังบอกเพิ่มอีกว่าการเติบโตของสมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดียทำให้ปัญหานี้เพิ่มมากขึ้นไปอีก “เมื่อสิบปีก่อนคุณสามารถที่บอกความแตกต่างระหว่าง ‘ออนไลน์’ กับ ‘ออฟไลน์’ เราเคยใช้เวลามากมายบนอินเทอร์เน็ต แต่เราไม่ได้อาศัยอยู่ที่นั้น แต่ตอนนี้ไม่ได้เป็นแบบนั้น ทุกคนอยู่ออนไลน์ตลอดเวลา”
ทุกวินาทีจะมีคนหาข้อมูลบนกูเกิล 63,000 ครั้ง หรือประมาณ 2 ล้านล้านครั้งต่อปี คิดเป็นสัดส่วนถึง 90% ของตลาด search engine เวลานี้ คนส่วนใหญ่จะกูเกลิเพื่อค้นหาข้อมูลบางอย่างประมาณ 3-4 ครั้งต่อวัน (แต่จากที่ดู browser history ของตัวเองมีเกิน 20-30 ครั้งต่อวันเลยทีเดียว) บางครั้งใช้มันเพื่อหาร้านอาหารที่อยากไปลอง หลายครั้งใช้เพื่อหาข้อมูลเพื่อเขียนบทความ สองอาทิตย์ก่อนใช้หาข้อมูลเกี่ยวกับหูฟังไร้สายที่อยากซื้อมาแทนตัวเดิมที่เสียไป หรือบางครั้งก็อะไรที่ดูไร้สาระอย่างการหาข้อมูลว่า “ทำไมมะนาวถึงไม่มีเมล็ด?” ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าอะไรคือสิ่งที่กระตุ้นความอยากรู้ ณ เวลานั้น
เพราะฉะนั้นการห่างจากกูเกิลสักพักอาจจะทำให้เรียนรู้อะไรบางอย่างที่น่าสนใจก็ได้
วันแรก
งานของผมส่วนหนึ่งต้องใช้ Google Maps เป็นส่วนประกอบ เพราะบริษัทของผมเป็นบริษัทเมสเซนเจอร์ และต้องใช้ Google Maps เพื่อหาโลเคชั่นคอนเฟิร์มกับลูกค้าตามจุดรับส่งของ
“ลูกพี่จะส่งโลเคชั่นให้ลูกค้ายังไง?” น้องในออฟฟิศถาม
“นั้นสิ น่าจะทำไม่ได้วะ ฝากด้วยละกัน” ผมตอบแบบนั้นเพราะไม่สามารถช่วยอะไรได้จริงๆ
ผมเดินทางไปยังที่ต่างๆ ในเมืองโดยพยายามใช้แผนที่ที่อยู่ในหัว ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่ลำบากมากกว่าที่คิด สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือผมมีภาพถนนคร่าวๆ พอจะรู้ว่าสถานที่ปลายทางอยู่ตรงไหน แต่ระหว่างทางกลับรู้สึกไม่มั่นใจขึ้นมาเอาซะดื้อๆ คลับคล้ายคลับคลาว่ามันอยู่แถวนี้ ถนนเส้นไหนไปตัดกับเส้นไหน กลายเป็นต้องขับรถอย่างระมัดระวังและแทบจะคลานไปเพราะกลัวขับเลยเป้าหมาย
เย็นวันนั้น ลูกสาววัยสามขวบที่กำลังอยู่ในวัยอยากรู้อยากเห็นช่างสงสัยก็ถามคำถามที่เขาเองก็อยากรู้เหมือนกับทุกวัน แต่ตอนที่ผมบอกเขาว่าอีกสามวันจะกลับมาตอบ สิ่งที่ทำให้ตระหนักว่า กูเกิลมีส่วนสำคัญมากแค่ไหนคือเขาถามกลับมาว่า “ปะป๊าก็ลองกูเกิลดูสิคะ” ผมยิ้มแล้วตอบกลับไปว่า “ป๊าจะไม่ใช้กูเกิลอีกสามวันลูก” เธอถามต่อว่า “แล้วป๊าจะหาข้อมูลยังไงล่ะคะ?” ผมนิ่งไปสักพัก….ก่อนจะตอบว่า “นั้นสิ…คงไปห้องสมุดมั้ง?” ลูกสาวถามต่อ “แล้ว…ห้องสมุดอยู่ไหนล่ะคะ?” ผมหยิบมือถือขึ้นมาเลื่อนนิ้วหา Google Maps ก่อนจะนึกขึ้นได้แล้วมันไม่มีอยู่บนเครื่องแล้ว คิดในใจว่า “เออ…นั้นสิ จะหายังไงวะ?”
วันที่สอง
ผ่านมาหนึ่งวันหลังจากที่พยายามใช้ชีวิตโดยไร้กูเกิล ตื่นมาทำอาหารให้ลูกสาวทาน เพราะวันนี้โรงเรียนหยุด ซึ่งเมื่อวานเราเลือกเมนูด้วยกันว่าอยากทาน ‘breakfast roll’ ซึ่งก็คือการเอาขนมปังมาตัดขอบแล้วเรียงซ้อนเป็นแผ่นกว้างๆ เอาไข่ เบคอน ไส้กรอก ซอสมะเขือเทศราดแล้วม้วนเป็นก้อนกลมๆ เหมือนเบอริโต เป็นอาหารเช้าง่ายๆ แต่ที่ยากก็คือว่าผมจำเทคนิคการทอดเบคอนให้กรอบแต่ไม่แห้งไม่ได้
มือขวาล้วงเข้าไปหยิบมือถือออกมาโดยอัตโนมัติ ปลดล็อกหน้าจอเรียบร้อย ตากวาดมองหา Google Chrome แล้วก็จำได้ว่า ลบไปแล้วเมื่อวานซืนเพราะจะลองใช้ชีวิตโดยไม่มีกูเกิล…เอามือกุมขมับ ในใจคิดว่าบนชั้นหนังสือน่าจะมีสูตรทำอาหารอยู่ แต่จะมาพลิกหาดูตอนเจ็ดโมงเช้า เที่ยงไม่รู้ลูกจะได้ทานไหม สุดท้ายก็เลย “ทอดๆ ไปแบบนี้แหละ” มันก็ทานได้ แต่เบคอนก็ไม่ได้กรอบเหมือนอย่างที่ต้องการ
ชีวิตยังเยินอย่างต่อเนื่อง เช้าวันนั้นอยากดูไฮไลต์ฟุตบอล ซึ่งปกติแล้วจะไปค้นหาบน YouTube และเมื่อ YouTube เป็นส่วนหนึ่งของกูเกิล ผมก็ดูไม่ได้เช่นเดียวกัน
บ่ายวันเดียวกันมีงานที่ต้องใช้ปรินเตอร์ แต่พอเสียบเข้ากับคอมพิวเตอร์ที่บ้านกลับไม่มีไดร์ฟเวอร์ (ซอฟแวร์ที่ทำให้คอมพิวเตอร์สื่อสารกับอุปกรณ์อื่นๆ ได้) รองรับ เมื่อใช้กูเกลิไม่ได้ ก็พยายามหา CD ที่มาพร้อมกับตัวปรินเตอร์ ไปเปิดค้นกล่อง แทบจะเทออกมาเลยก็ว่าได้ แต่ก็ไร้วี่แวว สุดท้ายเลยคิดว่าหาทางลัดลองพึ่งพา Bing อีกครั้ง คราวนี้เมื่อพิมพ์ “Driver Canon g3000 Mac” ลงไป สิ่งที่ได้กลับมาก็คือลิงก์ไปเพจต่างประเทศที่ไม่ใช่ของ Canon ซึ่งไม่รู้เลยว่าถ้าโหลดมาจะมีอะไรติดมาด้วย (ไวรัส, มัลแวร์ ฯลฯ) รึเปล่า Bing ไม่ได้ช่วยทำให้ชีวิตง่ายขึ้นเลย ดูจะทำให้งงมากขึ้นอีกด้วยซ้ำ สุดท้ายนึกวิธีหนึ่งออกคือ เข้าเว็บไซต์ Canon คลิ๊กหน้าช่วยเหลือ เสร็จค้นหาภายในเว็บเอง กว่าจะหาเจอปาเข้าไปเกือบ 30 นาที (หลังจากที่ใช้กูเกิลได้ ลิงก์แรกที่เจอคือลิงก์ไดร์ฟเวอร์ ที่ใช้เวลาครึ่งชั่วโมงหาด้วยตัวเองนั่นแหละครับ) อย่างเดียวที่ต่างจากปี ค.ศ.1997 ในการหาไดร์ฟเวอวันนั้นก็คงเป็นความเร็วของอินเทอร์เน็ต นอกจากเสน่ห์ของความทรงจำในอดีตแล้ว กระบวนการทั้งหมดช่างชวนน่าหงุดหงิดใจ
วันที่สาม
วันสุดท้ายของชีวิตที่ไม่มีกูเกิล มีความท้าทายมากขึ้นไปอีกนิด มีแพคเกจจาก FEDEX ที่จะมาส่งที่บ้าน แต่ว่าผมต้องเดินทางไปต่างประเทศและไม่สะดวกอยู่รับของ เพราะฉะนั้นต้องให้เขาเลื่อนวันส่งเป็นหลังจากเดินทาง ปัญหาคือ จะไปหาเบอร์ FEDEX ของเชียงใหม่จากที่ไหน? ผมลองโทรหาเพื่อนหลายคนเพื่อถามว่า “เฮ้ย…รู้เบอร์ FEDEX เชียงใหม่ไหม?” คำตอบที่ได้ 100% เลยคือ “ไม่รู้ มึงกูเกิลเอาดิวะ” แล้วผมก็อธิบายเหตุการณ์ทั้งหมดให้ฟัง ทุกคนหัวเราะบอกว่ามันเป็นการทรมานตัวเองที่โหดร้าย จังหวะนั้นผมเริ่มเห็นด้วยกับทุกคน
แต่มีวิธีหนึ่ง…ขับรถไปที่ FEDEX แล้วให้เจ้าหน้าที่ที่นั้นจัดการเลย แต่ออฟฟิศอยู่ไหนกัน? ผมลองโทรหาภรรยา ครั้งนี้อย่างน้อยผมก็โชคดี ภรรยาบอกทางไปที่ออฟฟิศ FEDEX ได้เพราะเธอเคยไปรับของที่นั่นมาก่อน เธอยังถามผมต่อว่า “นี่ยังไม่เลิกทดลองอีกเหรอ?” ผมบอก “วันนี้วันสุดท้ายแล้ว ท้าทายสุดๆ” เธอก็หัวเราะ “นี่เธอเสียค่าโทรศัพท์เดือนนี้หลายร้อยเลยนะ ไล่โทรหาคนนั้นคนนี้เพื่อหาข้อมูล” ผมคิดในใจว่าในมุมหนึ่งมันก็จริง…แต่อีกมุมหนึ่งมันก็ไม่ได้ฟรีจริงๆหรอก
ในหนังสือ Offline ที่เขียนโดย Imran Rashid และ Soren Kenner ที่อธิบายว่ากูเกิลนั้นเป็นเครื่องมือชั้นเยี่ยมในการหาข้อมูลต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต แต่ว่าเป้าหมายหลักของกูเกิลจริงๆ ก็คือการยิงโฆษณาใส่ผู้ใช้งาน เพื่อเพิ่มยอดขายให้กับบริษัทเหล่านั้นให้มีเงินกลับมาโฆษณากับพวกเขามากขึ้นไปอีก อย่างสองอาทิตย์ก่อนที่ผมหาข้อมูลของหูฟังไร้สาย แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจยังไม่ซื้อเพราะราคาแพงเกินไป ตอนนี้มันก็ตามหลอกหลอนไปทุกหน้าเว็บไซต์
ผู้เขียน Offline ยังชี้ให้เห็นอีกจุดหนึ่งที่บอกว่ามีเหตุผลของที่ทำไมเรามีเครื่องมือที่หาคำตอบได้ทุกอย่างบนอินเทอร์เน็ตให้ใช้แบบฟรีๆ อยู่แค่ปลายนิ้ว เพราะที่จริงแล้วข้อมูลเหล่านี้ไม่ใช่ของฟรี แต่เราซื้อมันมาด้วยสกุลเงินที่เรียกว่า ‘ความสนใจ’ หรือ ‘attention’ นั้นเอง เนื้อหาในหนังสือยังบอกอีกว่า ก่อนที่จะมีสมาร์ทโฟน มนุษย์ปกติจะจำเบอร์โทรศัพท์ได้ประมาณ 20-50 หมายเลข แต่วันนี้ถ้าให้ทุกคนลองคิดดูมีเบอร์โทรศัพท์ใครบ้างที่เราจำได้อย่างขึ้นใจ? ผมมีแค่สี่หมายเลข—ตัวเอง, ภรรยา, เตี่ย และบริษัท
สุดท้ายผมก็ขับมาถึงออฟฟิศของ FEDEX และทำธุระทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย ใช้เวลาไปทั้งหมดเกือบครึ่งวันเลยทีเดียว
วันที่สี่ (กลับมาสู่ปกติ)
บอกได้คำเดียวเลยว่า กูเกิลนั้นทำให้ชีวิตดีขึ้นมา หลังการทำการทดลองทำให้รู้ว่าหลายๆ ครั้งเราต้องการคำตอบอย่างรวดเร็วแล้วมันหาไม่ได้ ปัญหาที่เคยแก้ได้ง่ายๆ กลับใช้เวลานานขึ้นหลายเท่าตัว
แต่มันก็ไม่ได้แย่ไปทั้งหมดซะทีเดียว อย่างหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็คือมันทำให้สมองผมคิดเยอะขึ้น ยกตัวอย่างเวลาขับรถ ผมต้องคอยคิดอยู่เสมอว่ากำลังจะไปไหน หรืออย่างหูฟังไร้สายที่อยากได้ ก็ไปลองที่ร้านแล้วก็รู้สึกว่ามันไม่ได้ดีเหมือนอย่างที่ข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตบอกเอาไว้เลย ตอนนี้เวลาเห็นโฆษณาก็ผ่านได้อย่างสบายใจเพราะรู้ว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ ช่วงสามวันผมหยิบหนังสือมาอ่านบ่อยขึ้น นานขึ้น คุยกับภรรยาและลูกสาวมากขึ้นเพราะถกเถียงกันเรื่องต่างๆ ที่บางครั้งก็ดูไร้สาระอย่าง “ทำไมสตรอว์เบอร์รีถึงมีเมล็ดอยู่ข้างนอก?” ในเมื่อไม่มีกูเกิลมาตอบคำถาม สิ่งที่เราทั้งสามคนทำคือคาดเดาและคุยกันอย่างออกรสออกชาติ แม้จะไม่ได้คำตอบแต่กลับรู้สึกสนุกไม่น้อย แถมยังได้พบปะคนมากขึ้นด้วยอย่างเจ้าหน้าที่ FEDEX ที่ทำหน้าตางงๆ ว่าทำไมผมถึงดั้นด้นมาถึงออฟฟิศทั้งๆ ที่โทรมาก็หมดเรื่อง
กูเกิลและแพลตฟอร์มต่างๆ นั้นพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ในการดึงดูดความสนใจของเรา
สิ่งที่เราต้องจ่ายคือความสนใจที่ยึดติดกับสิ่งเหล่านี้จนลืมโลกที่กำลังหมุนผ่านไปรอบๆ ตัวเรา
แต่นั้นก็ไม่ใช่ความผิดของกูเกิลไปซะทั้งหมด เหมือนอย่างที่ Carr บอกว่า
“มันเป็นส่วนประกอบของความขี้เกียจ ความใสซื่อ และความภูมิใจในตัวเองที่มากเกินไป เราได้พิสูจน์กับตัวเองแล้วว่าเราพร้อมที่จะโอบรับวัฒนธรรมของสิ่งรบกวนและการพึ่งพา ทั้งๆ ที่เราก็บอกได้ว่า ‘ไม่เอา’”
ส่วนตัวผมเองไม่ได้ยึดติดกับอดีตหรือพยายามลุกมาต่อต้านว่า อย่าไปใช้กูเกิลหรือเทคโนโลยีเพราะมันจะดึงความสนใจของเราไปซะหมด กลับน่าดีใจที่เรามีทางเลือก หลายครั้งการมีข้อมูลในเวลาที่เร่งด่วนเป็นสิ่งจำเป็น การจะโทรหาคนนั้นคนนี้เพื่อสอบถามข้อมูลไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นขึ้น รังแต่จะไปรบกวนคนอื่นๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว แต่การที่เราสามารถถอยออกมาแล้วตัดมันออกบ้างก็ช่วยดึงความสนใจของกลับมาอยู่กับสิ่งตรงหน้ามากขึ้น สมองได้ทำงานในแบบที่มันควรจะเป็น นั่นก็คือการ ‘คิด’ ไม่ใช่ติดอยู่ในโหมด autopilot แล้วทำตามกูเกิลบอกทุกอย่าง
อีกอย่างหนึ่งที่เราต้องรู้คือทุกสิ่งที่กูเกิลได้มอบให้ เราไม่ได้รับมาอย่างฟรีๆ